ในปัจจุบัน เทคโนโลยีของเราก้าวหน้าไปมาก และหนึ่งในคุณประโยชน์ของมันคือช่วยยกระดับชีวิตของผู้พิการให้ดีขึ้น 

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่วันนี้เราจะเห็นกลุ่มผู้พิการอย่างคนตาบอดเล่นโซเชียลมีเดีย รับข่าวสารได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป

แต่ในอดีต ทุกอย่างไม่ได้ง่ายอย่างนั้น ในประเทศทันสมัยอย่างญี่ปุ่น เคยมียุคหนึ่งที่แม้แต่วิทยุก็ยังไม่แพร่หลาย ผู้บกพร่องทางการมองเห็นในวันนั้นแทบจะถูกตัดขาดออกจากสังคม ไม่อาจรับรู้ข่าวสารที่สำคัญต่อชีวิต

ในวันนั้นเอง ที่งานออกแบบชิ้นหนึ่งถือกำเนิดขึ้นค่ะ

‘Braille Mainichi’ คือชื่อของหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของญี่ปุ่นซึ่งมีหน้าตาต่างจากหนังสือพิมพ์ทั่วไป เพราะได้รับการออกแบบให้บอกเล่าข่าวสารด้วยอักษรเบรลล์ล้วน ๆ เพื่อเชื่อมผู้บกพร่องทางการมองเห็นกับสังคม

ด้านล่างนี้คือเรื่องราวของหนังสือพิมพ์อักษรเบรลล์หนึ่งเดียวของญี่ปุ่น ที่เดินทางมายาวนานถึงปีที่ 100 แล้ว

Braille Mainichi หนังสือพิมพ์อักษรเบรลล์ญี่ปุ่น สื่อการอ่านของคนตาบอดมาตลอด 100 ปี

หนังสือพิมพ์จากคนตาบอด เพื่อคนตาบอด

ก่อนหน้าที่ Braille Mainichi ก็ถือกำเนิดขึ้น กลุ่มผู้บกพร่องทางการมองเห็นในญี่ปุ่นเข้าถึงข่าวสารที่จำเป็นต่อชีวิตได้อย่างยากเย็น วิทยุยังไม่แพร่หลาย คนอ่านอักษรเบรลล์ออกก็ยังมีน้อย 

ทางเดียวที่พวกเขาจะรู้ความเป็นไปของสังคมได้คือ การมีคนตาดีช่วยอ่านหนังสือพิมพ์แบบออกเสียงให้ฟัง

แต่ระหว่างนั้นเอง เด็กชายชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งชื่อ Nakamura Kyotaro ก็ลืมตาดูโลก เขาตาบอดตั้งแต่อายุ 7 ขวบ แต่มีโอกาสเรียนหนังสือและกลายเป็นคนตาบอดคนแรกของญี่ปุ่นที่ได้ไปเรียนต่อยังประเทศอังกฤษ 

ที่ประเทศนั้น Nakamura ได้เห็นสวัสดิการสำหรับคนตาบอด หลังจากนั้น เขาก็ฝันอยากทำบางอย่างที่สำคัญให้ผู้บกพร่องทางการมองเห็นในบ้านเกิด 

เขาอยากจัดทำหนังสือพิมพ์อักษรเบรลล์ 

Braille Mainichi หนังสือพิมพ์อักษรเบรลล์ญี่ปุ่น สื่อการอ่านของคนตาบอดมาตลอด 100 ปี
Braille Mainichi หนังสือพิมพ์อักษรเบรลล์ญี่ปุ่น สื่อการอ่านของคนตาบอดมาตลอด 100 ปี

ไม่ยากเกินคาดเดา เมื่อไอเดียนี้ไปถึงหนังสือพิมพ์อย่าง Mainichi มันก็ได้รับการคัดค้านจากทั้งในและนอกองค์กร ญี่ปุ่นในตอนนั้นยังไม่ได้มีสวัสดิการที่ดีสำหรับคนตาบอด และอย่างที่บอกคือมีคนอ่านอักษรเบรลล์ได้น้อย ผู้คนต่างมองว่าหนังสือพิมพ์ที่ Nakamura อยากทำสร้างเม็ดเงินให้บริษัทไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์เช่นนั้น ก็มีคนสำคัญคนหนึ่งที่มองโลกต่างออกไปและยื่นมือมา

“นี่เป็นไอเดียที่ดี เรามาทำสิ่งนี้กันเถอะ ไม่สำคัญหรอกว่าจะกำไรหรือขาดทุน” Hikoichi Motoyama ประธานของ Osaka Mainichi Shimbun ในเวลานั้นกล่าว

ด้วยเหตุนี้ Braille Mainichi จึงได้ถือกำเนิดขึ้นบนโลก โดยมี Nakamura Kyotaro เป็นบรรณาธิการคนแรก

หนังสือพิมพ์ที่เป็นสะพานสู่สังคม

 Braille Mainichi ฉบับแรกได้รับการตีพิมพ์ในปี 1922 (ปีไทโชที่ 11)

ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ Mainichi Shimbun เวอร์ชันอักษรเบรลล์ แต่รวบรวม เรียบเรียง และตีพิมพ์ข่าวในหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น เช่น สวัสดิการ การศึกษา และวัฒนธรรม 

Braille Mainichi หนังสือพิมพ์อักษรเบรลล์ญี่ปุ่น สื่อการอ่านของคนตาบอดมาตลอด 100 ปี

ในแง่หนึ่ง คนตาบอดได้รับความรู้ ความกล้าหาญ และความสบายใจที่จะอยู่ในสังคมในฐานะพลเมืองอิสระคนหนึ่ง และในอีกแง่หนึ่ง สังคมที่เคยเพิกเฉยคนตาบอดก็ได้ถูกปลุกให้ตื่นขึ้น – บทบรรณาธิการของ Nakamura เขียนไว้เช่นนั้น

แล้วจากวันแรก Braille Manichi ก็เริ่มต้นการเดินทางที่ยิ่งใหญ่และยาวนาน โดยมาพบปะผู้อ่านเป็นรายสัปดาห์อย่างสม่ำเสมอ แม้แต่ในช่วงเวลาเลวร้ายอย่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และในสถานการณ์ภัยพิบัติมากมายของยุค Heisei (1989 – 2019) อีกทั้งเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ระดับที่ เฮเลน เคลเลอร์ (Helen keller) เคยแวะเวียนมาเยี่ยมโรงพิมพ์

Braille Mainichi หนังสือพิมพ์อักษรเบรลล์หนึ่งเดียวของญี่ปุ่น เชื่อมผู้บกพร่องการมองเห็นกับสังคมมา 1 ศตวรรษ

ไม่ใช่แค่ทำให้งานออกแบบชิ้นนี้เกิดขึ้น Nakamura และทีมงานยังออกแบบกิจกรรมอื่นขึ้นมารายรอบเพื่อทำให้อักษรเบรลล์แพร่หลาย เช่น สัมมนาและการพิมพ์ตำราอักษรเบรลล์ส่งให้โรงเรียนคนตาบอด 

ไม่หมดเท่านั้น Braille Mainichi ได้ลงมือขับเคลื่อนให้ความสามารถ และความสำเร็จของผู้บกพร่องทางการมองเห็นเป็นที่ประจักษ์ เช่น ในปี 1928 หนังสือพิมพ์ก่อตั้งการประกวดสุนทรพจน์ระดับชาติสำหรับนักเรียนจากโรงเรียนสอนคนตาบอด และในปี 1964 ได้ก่อตั้งรางวัลวัฒนธรรม Braille Mainichi สำหรับคนที่ประสบความสำเร็จในด้านวัฒนธรรม การศึกษา และงานเพื่อสังคม

ตลอด 1 ศตวรรษ หนังสือพิมพ์เล็ก ๆ เล่มนี้จึงไม่ใช่แค่หนังสือพิมพ์ 

แต่คือสะพานที่ช่วยให้ผู้บกพร่องทางการมองเห็นและสังคมเดินมาพบกัน

หนังสือพิมพ์อายุร้อยปีที่ยังไม่หยุดเดิน

 ในปี 2020 Braille Mainichi ได้รับ Silver Award จากเวที International Design Awards ที่สนับสนุนโดย International Association for Universal Design (IAUD)

คณะกรรมการชื่นชมหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ในฐานะหลักฐานของคำมั่นสัญญาที่ยาวนานหลายสิบปีกับสังคมผู้บกพร่องทางการมองเห็นของญี่ปุ่น 

แม้ผู้บกพร่องทางการมองเห็นอาจพึ่งพาหนังสือพิมพ์กระดาษน้อยลง Braille Mainichi ที่ตีพิมพ์มาแล้วมากกว่า 5,000 ฉบับก็ยังคงเดินทางต่อไป โดยปัจจุบันได้มีการเพิ่มรูปแบบที่ตอบรับกับยุคสมัย เช่น หนังสือเสียงและหนังสือพิมพ์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ 

Braille Mainichi หนังสือพิมพ์อักษรเบรลล์หนึ่งเดียวของญี่ปุ่น เชื่อมผู้บกพร่องการมองเห็นกับสังคมมา 1 ศตวรรษ
Braille Mainichi หนังสือพิมพ์อักษรเบรลล์หนึ่งเดียวของญี่ปุ่น เชื่อมผู้บกพร่องการมองเห็นกับสังคมมา 1 ศตวรรษ

ที่ออฟฟิศของ Braille Mainichi บรรณาธิการและเหล่ากองบรรณาธิการยังคงตั้งอกตั้งใจคัดสรรข่าวสารสำคัญเพื่อส่งถึงผู้บกพร่องทางการมองเห็นทุกสัปดาห์ 

จากปี 1922 สู่ปี 2022 และยังคงไม่หยุดเดิน 

ข้อมูลอ้างอิง :

mainichi.jp/english/articles/20201218/p2a/00m/0na/016000c

www.mainichi.co.jp/co-act/tenji.html

mainichi.jp/english/articles/20170511/p2a/00m/0na/006000c?fbclid=IwAR32PGA_DaEIEEMX68Xf4aio6oul9t9LC2k1_dh_1G0InNlySxXW9vXd11I

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN