กลับมา, พื้นที่เล็กๆ, ผูกพัน, ชั่วโมงต้องมนต์, เผลอ, เปลี่ยนไปทุกอย่าง,​ ความลับ, เหนื่อย ฯลฯ เหล่านี้คือชื่อเพลงฮิตบางเพลงที่มาจากฝีมือการแต่งของ บอย-ตรัย ภูมิรัตน โดยบางเพลงถูกปล่อยในนามวง Friday บางเพลงเป็นผลงานของเขาในฐานะศิลปินเดี่ยว และบางเพลงถูกขับร้องโดยศิลปินคนอื่นๆ

เล่าสั้นๆ แค่ย่อหน้าข้างต้น ก็พอจะบอกได้ว่าบอยอยู่ในแวดวงดนตรีไทยมานาน…ให้เจาะจงขึ้นหน่อยก็คือมากกว่า 20 ปีแล้ว (อัลบั้มชุดแรกของวงฟรายเดย์ออกเมื่อ พ.ศ. 2540-ปีที่มีวิกฤตต้มยำกุ้ง) เขาผ่านบทบาทหลากหลายในวงการทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ผ่านการมีเพลงฮิตที่ร้องกันทั่วบ้านทั่วเมือง ไปจนถึงการปล่อยเพลงแบบสบายๆ ที่หวังเพียงตอบสนองความฝันส่วนตัวบางอย่าง

หากลองไล่เรียงเรื่องราวในบทเพลงของบอย เราจะพบว่ามีความหลากหลายและเติบโตมากขึ้นตามวันเวลา มีทั้งเรื่องความรักในวัยหนุ่มสาว ความรักแบบผู้ใหญ่ ความฝัน การเปลี่ยนแปลงในชีวิต การยึดติดกับอดีต และวัยเยาว์อันงดงาม มิตรภาพที่เติบโตคลี่คลาย และมีกระทั่งเพลงที่พยายามสรุปสิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากชีวิต (คุณเคยลองฟังเพลง ไม่มีสิ่งไหน ในอัลบั้มของ The BOYKOR ที่เขาทำร่วมกับ ก้อ-ณฐพล ศรีจอมขวัญ หรือยัง) ผลงานเพลงหลายร้อยชิ้นของบอยพิสูจน์ว่า เขาเป็นนักแต่งเพลงที่มีแนวทางของตัวเอง มีลายเซ็นชัดเจน แต่ก็ไม่เคยหยุดนิ่ง เพราะผลงานเพลงของเขาก็เป็นเหมือนบทบันทึกมุมมองที่เติบโตไปตามชีวิตเช่นกัน

หลังจากอัลบั้ม Colorfication ของวงฟรายเดย์ที่ออกมาเมื่อ พ.ศ. 2554 และอัลบั้มเดี่ยวของเขาชุด ขุนเขาแห่งหมี ที่ออกมาเมื่อ พ.ศ. 2560 ผ่านมาถึงปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 บอยก็มีงานใหม่ แต่คราวนี้ไม่ใช่ในนามวง ไม่ใช่ในนามศิลปินเดี่ยว แต่เป็นในฐานะนักแต่งเพลงที่ชื่อว่า Zentrady ซึ่งเป็นนามปากกาที่เขาใช้แต่งเพลงให้กับศิลปินต่างๆ มาเนิ่นนาน (เป็นนามปากกาที่เขาได้แรงบันดาลใจจากแอนิเมชันญี่ปุ่นยุค 80 เรื่อง Macross) โดยคราวนี้เขาไม่ได้ทำอัลบั้มเพื่อวางขายทั่วไป แต่จะใช้วิธีบอกรับสมาชิก!

ไม่ใช่แค่จะมีงานเพลงใหม่ในฐานะคนดนตรีเท่านั้น แต่มาถึงวันนี้ บอยยังเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นคุณพ่อลูกสอง และเป็นคนหนึ่งผ่านเรื่องราวอะไรๆ มาไม่น้อย ทั้งสุขและเศร้า เท่าที่ชีวิตคนคนหนึ่งได้ผ่านพบเมื่อมาถึงวัยปลาย 40 ไปแล้ว

คงไม่ใช่แค่เรื่องความผูกพัน และไม่ควรจะเป็นความลับอะไร ถ้าเราจะกลับมาหาพื้นที่เล็กๆ ให้บทสนทนาของผู้ชายคนนี้อีกสักครั้ง

บอย-ตรัย ภูมิรัตน นักร้อง นักแต่งเพลง และนักฝัน ในวันที่เป็นคุณพ่อลูกสอง

ชีวิตช่วงนี้ของคุณเป็นอย่างไรบ้าง

ชีวิตรวมๆ ตอนนี้ก็ปกติสุข คือก็แฮปปี้ดี แต่อาจจะแฮปปี้ไม่สุดนะ แต่เวลาทุกข์ก็จะรู้ว่าทุกข์นานไม่ได้ (หัวเราะ) ต้องหาทางออก เหมือนคนทั่วไปมั้ง เผชิญปัญหากันอยู่ตอนนี้ไม่ใช่สภาวะที่เป็นปกตินัก ถ้ารวมๆ ก็คือผมมีชีวิตที่มีความสุขดี อยู่พร้อมหน้ากับครอบครัว มีปัญหาบ้างอะไรบ้าง เราก็เผชิญปัญหาไปด้วยกัน หาทางออกไปด้วยกัน มันก็คือเป็นปุถุชนน่ะ

ตอนนี้คุณทำงานอะไร แบบไหนอยู่บ้าง

พูดสั้นๆ ก็คือ รับทุกอย่างที่จ้าง (หัวเราะ) ทุกอย่างที่ทำเป็น แต่ก็ยังทำเพลงเป็นหลัก ก็คือยังเป็นนักดนตรีอยู่และมีงานด้านอื่นด้วย คือเป็นอาจารย์พิเศษ ซึ่งเป็นมาปีที่เจ็ดแล้ว ที่คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สอนเรื่องการแต่งเพลง เป็นดีเจรายการวิทยุที่ Cat Radio เขียนบทละครทีวีด้วย อันนี้ที่เป็นงานหลักๆ นะ นอกนั้นคืองานจ้างอะไรก็รับหมดครับ ไปเล่นละครก็มี (หัวเราะ)

มีงานที่ติดต่อมาแล้วเรายังไม่รับบ้างไหม

ไม่มี จริงๆ ก็คือรับหมด แต่ว่าเวลาทำไปแล้วก็มีคิดอยู่เหมือนกันว่า ‘เราทำไรอยู่วะ’ (หัวเราะ)

อย่างเช่นงานแสดงใช่ไหม

ใช่ๆ (หัวเราะ) งานแสดงนี่แบบ ‘เฮ้ย มันจริงเหรอวะ’ (หัวเราะ) มันก็มีมุมที่ท้าทายตัวเองที่รู้สึกว่า เออ เขาอุตส่าห์ให้โอกาส เราก็ลองดูหน่อย อะไรอย่างนี้ ผมชอบคิดแบบนี้ ชอบคิดว่ามีโอกาสก็ลองทำดู เป็นประสบการณ์ ถ้าทำออกมาไม่ดีอย่างมากก็โดนเพื่อนแซว แต่ทุกอย่างที่ทำก็ไม่รู้สึกว่า ไม่น่าไปทำเลย อย่างนั้นไม่มี

บอย-ตรัย ภูมิรัตน นักร้อง นักแต่งเพลง และนักฝัน ในวันที่เป็นคุณพ่อลูกสอง

เคยสัมภาษณ์คุณเมื่อหลายปีก่อนตอนที่คุณมีลูกคนแรก คุณบอกว่า ‘การมีลูกทำให้เป็นคนที่ใช้ได้มากขึ้น’ อยากรู้ว่าตอนนี้มีลูก 2 คนแล้ว เป็นอย่างไรบ้าง

ไอ้ครั้งแรกที่ตอบไป ประโยคนั้นก็จำเขามา (หัวเราะ) คนที่บอกผมคือ พี่บอย โกสิยพงษ์ ตอนนี้ถ้าถามผมที่มีลูกสองแล้วเนี่ย (หัวเราะ) ก็ไม่รู้ว่าเป็นคนที่ใช้ได้มากขึ้นหรือเปล่า แต่เชื่อว่าเป็นคนที่ถูกคาดหวังว่าจะต้องทำอะไรให้มันอยู่กับร่องกับรอยนะ เป็นพ่อแม่ลูกกันนี่ สามเหลี่ยมพันผูก พ่อคาดหวังแม่ แม่ก็คาดหวังพ่อ ลูกก็คาดหวังพ่อแม่ ในบทบาทที่เราควรจะเป็น เราก็ไม่อยากทำให้ใครผิดหวัง ทำให้คนในครอบครัวผิดหวัง เรารู้สึกมากขึ้นทีละนิดว่าเราอยากจะพยายามให้มากกว่านี้ ผิดชอบชั่วดีที่ไม่อยากทำให้คนที่เรารักผิดหวัง มันเป็นความรู้สึกที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นเองมั้ง เวลาที่เป็นครอบครัว แล้วมันต้องเดินไปในทิศทางเดียวกัน ประคับประคองกันไป

คุณมีวิธีการสอนลูกอย่างไร

(หยุดคิด) ผมไม่ได้สอนแบบสอนๆๆ นะ แต่จะพยายามเรียนรู้ไปด้วยกันนี่แหละ เอาสิ่งที่พบเจอเรียนรู้ไปด้วยกัน ผมเรียนรู้ว่าการสอนสั่งไม่ได้ประโยชน์อะไรเท่าไหร่ อย่างการบ่นเนี่ย แรกๆ ผมก็เป็น ชื่นใจ เคยโดนผมบ่นนู่นบ่นนี่ตอนเขายังเด็กๆ คือเราไม่เข้าใจเขาว่าทำไมเขาไม่ทำอย่างที่เรานึกภาพไว้ เราโตกว่า เราเห็นภาพแล้วทำอย่างนี้มันจะง่ายกว่านะ หรือมันจะตรงประเด็นกว่า ทำไมลูกไม่ทำอย่างนี้ บอกบทไปก่อนทุกที ผมไปเห็นภาพของตัวเอง แล้วอยากให้ลูกทำแบบนั้น 

บ่นมากๆ เสียงเราจะกลายเป็นอากาศที่เขาฟังผ่านไป พูดให้คอแห้งก็เท่านั้น แต่พอเรียนรู้การอยู่ด้วยกันกับเด็กๆ ไปเรื่อยๆ ก็พบว่าการบ่น การดุ หรือบังคับให้ทำมันไม่เกิดประโยชน์ การเรียนรู้ต่างหากที่เกิดประโยชน์ คือทั้งผิดทั้งถูกน่ะทำไปเถอะ แล้วเขาจะค่อยๆ ตักเอาส่วนที่มันใช้ได้มาเป็นประสบการณ์ของตัวเองได้เอง 

ก็เลยพบว่า อ๋อ เด็กๆ เขาไม่ได้ต้องการคนมาบอกให้ทำอะไร แต่ว่าการมีคนไปอยู่ข้างๆ เป็นเพื่อนเขา ทำไปด้วยกันกับเขา หรือเราจะไม่ทำก็ได้ แค่เฝ้ามองเขาอยู่ก็ได้ ให้เขารู้สึกอุ่นใจ แล้วให้เขาทำของเขาเอง เรียนรู้ด้วยตัวเอง มีความเห็นของตัวเอง อย่างเรื่องการเรียนออนไลน์นี่ ตั้งแต่ชื่นใจอยู่ ป.2 ผมแทบไม่ต้องช่วยดูอะไรเลย คือเข้าเรียนกี่โมง เขาดูตารางสอนปุ๊บ ดูนาฬิกา ไปหยิบไอแพด หยิบสายชาร์จมานั่งรอ พร้อมเองเสร็จสรรพ เขานั่งอยู่กับที่ นั่งเรียนไปจนจบ เรียนเสร็จแล้วก็ไปเล่น คือหลายๆ เรื่อง เราแทบไม่ต้องไปคอยบอกว่าทำอย่างนี้สิ นั่งอยู่ตรงนี้ก่อน อย่าเพิ่งไปโดดโซฟาอะไรแบบนั้น เขาไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว

บอย-ตรัย ภูมิรัตน นักร้อง นักแต่งเพลง และนักฝัน ในวันที่เป็นคุณพ่อลูกสอง

คุณเรียนรู้เรื่องอะไรจากการเป็นพ่อคนอีกบ้าง

(นิ่งคิด) เรียนรู้ว่าเราผิดได้ เราเป็นพ่อ ไม่ใช่แปลว่าต้องถูกต้องเสมอ หรือคำพูดเราจะเป็นประกาศิตเด็ดขาด ไม่ใช่อย่างนั้น เหมือนกับว่าพ่อเป็นหลายๆ บทบาทนะ พ่อเป็นพ่อ บางทีพ่อก็เป็นเพื่อน บางทีพ่อก็เป็นคนที่เล่นอะไรกับเขาแล้วแพ้เขาก็ได้ หรือพ่อเล่นไม่เป็น จะให้เขาสอนก็ได้ หรือว่าพ่อบางทีเข้าใจผิด พ่อก็ขอโทษได้ มันไม่ได้เป็นอะไรที่ใหญ่โตสูงส่งไปกว่ากัน ก็แค่เป็นพ่อลูกกัน แล้วก็ใช้ชีวิตแบบอะลุ่มอล่วยนิดหนึ่ง 

ฉะนั้น พอเราลดความใหญ่ของคำว่า ‘พ่อ’ ลงไป การที่เราจะพยายามทำความเข้าใจกัน มันก็เหมือนจะง่ายขึ้น มันอาจจะมีผิดบ้าง ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย ผิดก็ขอโทษ อ่าว มันต้องยังไงนะ ไหนอธิบายพ่อหน่อยสิ ก็แค่นั้นเอง

แต่อย่าผิดบ่อย ผิดบ่อยๆ ก็ไม่ดี (หัวเราะ)

ที่สำคัญคือ พ่อกับแม่อย่างน้อยควรจะไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อที่ลูกจะไม่งง ลูกก็จะเห็นว่าทิศทางที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าพ่อกับแม่ขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา ลูกก็คงจะเครียดที่ต้องคอยเลือกว่าไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่งใช่ไหม เราคิดว่าพ่อกับแม่ต้องตกลงกันก่อนว่า นโยบายทิศทางต่างๆ ของบ้านจะเป็นอย่างไร

การเป็นพ่อคนส่งผลยังไงกับการทำงานเพลงของคุณบ้างไหม

ส่งผลมากในแง่อิสระของเวลาหรือสมาธิที่น้อยลง แต่ก็เป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง พอเวลาในการทำเพลงมีจำกัด เวลาที่เราได้ใช้ก็จะใช้อย่างมีความสุขมาก ตอนได้ทำเพลงมันเป็นโลกของเรา เป็นเวลาของเรานะ เราเห็นคุณค่าของเวลามากขึ้น ผมชอบมองแบบนี้นะ ผมจะไม่ชอบคิดแบบว่า ‘มีเวลาเหลือแค่นี้ จะไปคิดออกได้ไง’ (หัวเราะ) 

การมีเงื่อนไขให้ไม่สะดวกหรือง่ายเกินไป ก็มองให้มันท้าทายตัวเองไปซะ แต่การเป็นพ่อคนก็ส่งผลในแง่ของการมองโลกด้วย คือก่อนมีลูกผมพยายามมองโลกด้วยความเข้าใจ พยายามจะมีเพลงรักที่เข้าใจ๊เข้าใจจังเลย แต่มาตอนนี้พอหลังจากที่มีลูก ลูกโตพอจะฟังเพลงเราได้แล้ว ผมก็เจอกับคำวิจารณ์เพลงจากลูกด้วยนะ เออ มันก็เริ่มรู้สึกว่า ทำอย่างไรถึงจะมีเพลงที่สื่อสารกับเขาได้นะ

บอย-ตรัย ภูมิรัตน นักร้อง นักแต่งเพลง และนักฝัน ในวันที่เป็นคุณพ่อลูกสอง

เขาวิจารณ์ว่าอย่างไร

‘เพลงพ่อเศร้าอะ’ ‘เพลงพ่อหดหู่จังเลย ไม่หนุกเลย’ อะไรอย่างนี้ เยอะแยะไปหมด หรือไม่บางทีก็บอกสั้นๆ ว่า ‘ไม่ชอบ!’ (หัวเราะ) 

ชื่นใจเขาเป็นคนร่าเริง เขาก็จะชอบอะไรที่มีความเบิกบาน หรือเพลงที่มันวัยรุ่นๆ น่ะ ผมก็อยากจะทำเพลงให้สื่อสารกับเขานะ มันอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงที่เบิกบานก็ได้ แต่มันควรเป็นเพลงที่เขาเอ็นจอยไปด้วยได้ หรือเป็นสะพานระหว่างเราได้ ผมก็พยายามแต่งหลายเพลงนะ แต่งเพลงสอนใจในวันที่เขาเป็นวัยรุ่นหรืออะไรอย่างนี้ ก็มีแต่งเก็บไว้ เรียกว่าการมีลูกก็เป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงได้เหมือนกัน

อัลบั้มเดี่ยวชุดก่อนหน้านี้ของคุณคือ ‘ขุนเขาแห่งหมี’ (2017) มีลักษณะปกอัลบั้มคล้ายหนังสือนิทาน เรื่องนี้เกี่ยวกับความเป็นพ่อคนด้วยไหม

ถ้าเรื่องราวในอัลบั้มอาจจะไม่ค่อยเกี่ยว เพลงในอัลบั้มนั้นเขียนไปตามสภาวะจิตใจของผมในช่วงเวลานั้น เป็นวัยที่ผมรู้สึกว่าการทำอัลบั้มมันยากจัง คำถามในใจเยอะ โลกเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเมื่อก่อน มันเหมือนขึ้นภูเขาน่ะ รู้สึกว่าทำไมเราต้องมาวัดกันที่ยอดวิว ทำไมเราต้องมีเพลงตัดซิงเกิ้ล ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนผมชอบทำเพลงเป็นอัลบั้ม แล้วเพลงเพราะๆ ที่เราชอบมักจะเป็นเพลงประกอบในอัลบั้มไง ไม่ใช่เพลงโปรโมตเสมอไป ซึ่งในสมัยนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้น สมัยนี้มันคือการตัดซิงเกิ้ล ทำเพลงทีละเพลง แล้วต้องโดนทุกเพลง ต้องเรียกร้องความสนใจให้ได้เร็วที่สุด มีเวลาให้น้อยที่สุด ซึ่งจะว่าไปการคิดแบบนั้นก็เป็นการที่ผมตีโพยตีพายไปเองในวันนั้นแหละ (หัวเราะ) 

อัลบั้มนั้นเป็นบทบันทึกของชายในวัยสี่สิบกว่าคนหนึ่ง แต่ว่าการทำให้เป็นรูปเล่มนิทาน ก็อาจเป็นเพราะว่าเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับตัวเองในช่วงเวลานั้นมั้ง เป็นวัยที่อ่านนิทานให้ลูกฟัง

ทำไมงานใหม่ของคุณถึงทำในนาม Zentrady

พยายามจะหาแง่มุมที่ตัวเองยังไม่ได้ทำ แล้วก็ท้าทายตัวเองว่า ลองทำแบบนี้จะไหวไหม ลองอะไรในมุมอื่นๆ บ้าง Zentrady เป็นมุมหนึ่งที่ผมรู้สึกว่า ตลอดการทำงานเพลงผมค่อนข้างจะเป็นคนขี้อาย เป็นคนที่ไม่ค่อยไปนู่นไปนี่อะไรกับใคร งานชุดนี้เลยเป็นชุดที่ผมอยากตั้งโจทย์กับตัวเองเลยว่า อยากจะไปยุ่งกับคนอื่นเยอะๆ เราจะทำส่วนที่ใช้ความคิดจริงๆ คือเรื่องแต่งเพลงกับการโปรดิวซ์ ส่วนงานนอกนั้น ถ้าเราชวนใครได้ก็จะไปชวน

งานนี้ชื่อชุดว่า Zentrady Galaxy เป็นกาแล็กซี่ของมนุษย์ Zentrady ครับ ตั้งใจจะแบ่งเป็นสามชุด ชุดละห้าเพลง ศิลปินที่ชวนๆ ก็มี พี่ก้อง (สหรัถ สังคปรีชา) มี แสตมป์ (อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข) มี พี่เล็ก Greasy Cafe บอกประมาณนี้ก่อนนะ พยายามชวนคนที่เราชื่นชอบชื่นชมหลายๆ คนน่ะ แต่ว่าเขายอมมาหรือไม่มานั่นอีกเรื่องหนึ่ง

ทำเป็นอัลบั้มแบบปกตินี่แหละ มีให้ฟังทุกช่องทาง แต่จะเพิ่มส่วนที่เป็นสมาชิกขึ้นมา จริงๆ แล้วมันไม่ได้อะไรซับซ้อน ผมรู้สึกว่าตัวเองทำงานมาถึงจุดที่อยากใกล้ชิดกับแฟนๆ บ้าง เมื่อก่อนนี้ก็ทำตัวไม่เป็น ถ้าเป็นไปได้ ถ้ารู้ว่าใครเป็นแฟน ก็อยากเอาใจเขาเยอะๆ อยากทำอะไรพิเศษให้เขา หาของขวัญให้เขา เรื่องการปล่อยเพลงก็คงจะปล่อยไปเรื่อยๆ ทีละเพลงนะ แต่จะรวมเป็นอัลบั้มหรือเปล่าก็ยังไม่แน่ใจ แต่สำหรับสมาชิก เราจะให้สมัครเป็นเซ็ต เซ็ตแรกมีห้าเพลง ทั้งโปรเจกต์น่าจะมีสิบห้า 15 เพลง ก็รวมเป็นสามเซ็ต แต่สมาชิกจะได้ซีดีเพลงและได้ของขวัญที่เราคิดว่าเหมาะกับเพลงนั้นๆ เป็นเซอร์ไพรซ์บ็อกซ์ส่งให้ด้วย รวมทั้งโอกาสที่จะได้เจอกัน ได้มาร่วมกิจกรรมกัน 

นอกเหนือจากทั้งหมดทั้งมวล คือผมก็อาจจะแค่หาเหตุผลที่จะให้ตัวเองยังได้ทำเพลงน่ะ (หัวเราะ)

คุณจะรับสมาชิกรับกี่คน

แหม กี่คนก็รับครับ (หัวเราะ) แต่มีสองร้อยถึงสามร้อยคน ผมก็แฮปปี้แล้วนะ คือเรื่องจุดคุ้มทุนนี่ผมไม่รู้หรอก (หัวเราะ) แต่ว่าทั้งหมดทั้งมวลผมได้แรงบันดาลใจมาจาก ตุ๊กตา (พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล-ภรรยา) เขาทำหนังสือที่ให้คนบอกรับเป็นสมาชิกชื่อ Smileplease:-) ซึ่งก็ทำให้เขาได้ใช้ไอเดียเต็มที่ สนุกกับการทำหนังสือของเขาได้ แล้วผมก็รู้สึกว่ามันน่าสนุกดีนะ มันทำให้กลับมามีแพสชันในการทำงาน จริงใจกับงาน ได้เห็นหน้าเห็นตาแฟนๆ ที่สนับสนุนเราจริงๆ เราก็ทำเต็มที่ไปเลย วันหนึ่งก็เลยถามตุ๊กตาไปว่า นี่เราทำแบบนี้กับเพลงบ้างได้ไหม จากนั้นก็เลยมาช่วยกันทำเป็นโปรเจกต์นี้นี่แหละ

เวลาทำงานในนาม Zentrady ซึ่งเป็นการชวนเพื่อนๆ มาร้องเพลงที่คุณแต่ง คุณเริ่มแต่งเพลงจากอะไร จากตัวเพลงก่อน หรือจากตัวคนของคนที่ชวนมาร้อง

นี่แหละปัญหา (หัวเราะ) จริงๆ ทุกเพลงที่แต่งไปก็แต่งจากตัวเอง จากแง่มุมอะไร บางอย่างในตัวเองนะ พอเสร็จแล้ว ผมก็จะนึกภาพว่าใครจะมาช่วยเราถ่ายทอดเพลงนั้นๆ ได้ แต่ก็มีบางเพลงที่แต่งๆ ไปแล้วรู้สึกว่า เออ อยากชวนคนนี้นะ แล้วผมก็แต่งสำหรับเขาเลย โดยที่ยังไม่ได้ไปชวน นี่ก็กังวลว่าเดี๋ยวไปชวนแล้วเขาไม่มาจะทำไง (หัวเราะ)

แต่จริงๆ อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น มันแปลกดี พอผมเริ่มทำโปรเจกต์นี้แล้ว ก็เริ่มรู้สึกว่าหลายๆ อย่างมันสนุกจัง มันกลับมาสนุกจากที่เมื่อก่อนนี้ จะเริ่มอะไรมันจะมีเงื่อนไขในใจไปหมด กระบวนการมันต้องอย่างนี้ ระบบมันต้องอย่างนี้ แต่ว่าพอทำเป็นโปรเจกต์ของตัวเอง ก็คิดว่าทำอย่างที่ตัวเองอยากทำนี่แหละ จะบาดเจ็บก็ด้วยตัวเอง ไม่เดือดร้อนลำบากใคร มันก็จะลดความกลัวทั้งหลายไปได้เยอะ จะทำได้หรือไม่ได้ก็ยังไม่รู้ แต่รู้สึกว่า นี่แหละ สนุกแล้ว

พื้นที่เล็กๆ ที่บอย-ตรัย ภูมิรัตน บอกเล่าชีวิตในฐานะนักร้อง นักแต่งเพลง อาจารย์มหาวิทยาลัย คุณพ่อลูกสอง และชายวัยปลาย 40
พื้นที่เล็กๆ ที่บอย-ตรัย ภูมิรัตน บอกเล่าชีวิตในฐานะนักร้อง นักแต่งเพลง อาจารย์มหาวิทยาลัย คุณพ่อลูกสอง และชายวัยปลาย 40

ตั้งแต่อัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของคุณ ‘My Diary Original Soundtrack’ (2004) เพลงของคุณเหมือนจะมีความเป็นบทบันทึกชีวิตอยู่ไม่น้อย แม้กระทั่งชุด ‘ขุนเขาแห่งหมี’ ก็ยังให้ความรู้สึกแบบนั้น อยากรู้ว่าพอมาเป็นโปรเจกต์ที่เน้นความเป็นนักแต่งเพลงแบบ Zentrady Galaxy มันเป็นบทบันทึกของคุณตอนนี้ไหม หรือเป็นเรื่องที่คุณอยากสื่อสารตอนนี้ด้วยใช่ไหม  

ตอนที่เริ่มชุดนี้ไม่คิดไว้ว่าจะเป็นแบบนั้นเลยนะ คิดว่าเป็นเหมือนกับเน้นด้านที่เป็นนักแต่งเพลงของเรา ชวนคนอื่นมาร้องเพลงกัน แต่ช่วงเวลาที่แต่งเพลงชุดนี้ เริ่มแต่งช่วง ค.ศ. 2019 ก็คือช่วงโควิด-19 นี่เอง ปรากฏว่าพอย้อนๆ ไปฟังก็มีการบันทึกความรู้สึกในช่วงเวลาอยู่เหมือนกัน เป็นในแง่มุมของความอ่อนไหวที่ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ตัวนะ 

มันมีเหตุการณ์อะไรหลายๆ อย่าง ที่เราหวั่นไหวไปกับการไม่เห็นอนาคตข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร หรือเป็นเรื่องที่ให้กำลังใจ หรือเรื่องของคนที่อยู่ข้างๆ คนที่เป็นอัลไซเมอร์ ซึ่งทุกเรื่องราวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวของผมในช่วงที่ผ่านมา แล้วผมอยากจะพูดถึงมัน คือสุดท้ายพอมันมารวมๆ กัน ดูเหมือนจะกลายเป็นอัลบั้มสีเทาๆ อีกชุดหนึ่ง (หัวเราะ) แต่ว่ามันเป็นสีเทาอีกเฉดนะ เป็นสีเทาที่เรายังมีความหวังมั้ง เรายังมองหาความหวังอยู่ตลอดในความมืดหม่นนี้

คุณเปิดโปรเจกต์ด้วยเพลง ‘โอเครึเปล่า’ ซึ่งได้คนที่มีชื่อเสียงมากๆ มาร่วมงานหมดเลย ทั้ง ก้อง สหรัถ​, โบว์ (เมลดา สุศรี), อาเล็ก (ธีรเดช เมธาวรายุทธ) รวมทั้งได้โดนัท (มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์กุล) มากำกับมิวสิกวิดีโอด้วย คุณทำได้อย่างไร

ฟลุ๊กทั้งนั้นเลยครับ (หัวเราะ) เหมือนงานชุดนี้เป็นการทำงานที่แปลกประหลาด ดวงดาวโคจรมาเรียงกันพอดี คือผมไม่ได้มีทีมวางแผนอะ เราทำกันเองสองคนกับตุ๊กตา ไม่ได้มีแผนมาร์เก็ตติ้งอะไรที่สลับซับซ้อน พี่ก้องนี่ก็คือเราก็ทำงานละคร Cat Radio Tv เลยรู้จักกัน วันหนึ่งได้คุมร้องพี่เขามาร้องเพลงละคร พอร้องเสร็จก็ถามเขาเลยว่า ‘พี่ก้องครับ ถ้าผมทำเพลง อยากชวนพี่มาร้องด้วยได้มั้ยครับ’ พี่เขาก็ตอบว่า ‘เอาเลย’ แค่นี้เลย ง่ายๆ แล้วคือตอนนั้นเราอาจจะดูไม่ค่อยน่าไว้ใจด้วยนะทีแรกน่ะ แต่เขาก็ยอม (หัวเราะ)

ส่วนน้องโดนัทนี่จริงๆ เราเคยร่วมงานกันมาก่อน เขาเคยทำเอ็มวีให้วง Friday อยู่สองเพลงแล้วก็หายกันไปหลายปี อยู่ดีๆ ผมก็นึกถึงขึ้นมาว่าแบบเพลงนี้มันน่าจะเหมาะกับโดนัทนะ เขามีความละเอียดอ่อนบางอย่าง และก็มีความเท่แบบที่เราคิดว่า ต้องเป็นการเล่าเรื่องที่ใช่ ก็ส่งไปให้โดนัทฟัง พอเขาได้ฟังเพลงก็หายไปวันสองวัน แล้วก็กลับมาพร้อมกับพล็อตที่แบบ โอ้โห เรานึกไม่ถึงว่าจะมาในมุมนี้ เพลงมันอาจจะตีความไปได้หลายอย่าง แต่เขาตีความมาแบบนี้ ผมอึ้งเลย มันเจ๋งมาก ไม่ได้เล่าไปตามเนื้อเพลง แต่เป็นการตีความอีกแบบ 

คิดในใจเลยว่า โห โดนัทไม่เจอกันสักพัก นี่เธอไปอีกขั้นแล้วนะ คือเมื่อก่อนเขาก็จะงานสไตล์นี้แหละ มีความหมาย มีนัยยะ มีองค์ประกอบเท่ๆ แต่วันนี้ความเหงาเท่ของเขากลมกล่อม ทำได้จริง และที่สำคัญ มันอยู่ในงบประมาณด้วย (หัวเราะ) ผมโชคดีมากจริงๆ ที่ได้เจอโดนัท

โดนัทมีดารามาให้เลือกหลายคน ผมก็ไม่รู้ว่าจะเลือกใครเหมือนกัน มีบิ๊กเนมมาด้วยนะ ผมก็ ‘โห จะมาแย่งชีนพี่ก้องไหม’ สุดท้ายผมก็เอาให้ตุ๊กตาดู ต้องพึ่งพาสายตาของบรรณาธิการเก่า นิตยสาร Knock Knock ซะหน่อย ตุ๊กตาก็จิ้มเลยว่าเอานักแสดงสองคนนี้ ผมก็รู้สึกว่าทั้งสองคนเคมีดูเขาเข้ากันดี น่ารัก ดูแล้วมันเข้ากับมู้ดโทนที่โดนัทเขาวางไว้

จากเอ็มวีเพลงนี้ แสดงว่าเพลงต่อๆ ไปเราก็จะไม่ได้เห็นหน้าคุณในเอ็มวีของโปรเจกต์นี้ใช่ไหม

ใช่ ผมก็รู้สึกเสียดายเหมือนกันนะ แต่นี่มันเป็นโปรเจกต์ของ Zentrady เป็นคนเบื้องหลังเนอะ ผมก็เสียดายนะ ตอนที่ผมส่งเพลงไปที่บริษัทที่เขาดูแลเรื่องการสตรีมมิ่ง เขาก็บอกว่าต้องเปิดแอคเคาต์ใหม่ขึ้นมานะ เพราะว่าเป็นศิลปินใหม่ ไม่มีประวัติมาก่อน ไม่มีการลิงก์ไปเพลงบอยตรัย ฟรายเดย์ หรือเพลงใดๆ เป็นนิวอาร์ติสต์ ก็เสียดายเหมือนกัน แต่ไม่เป็นไรหรอกมั้ง มันเรียกว่าเริ่มใหม่หรือเปล่าไม่รู้ แต่รู้สึกว่าพอเราไม่สวมบทบาท เออ ทั้งๆ ที่มันเป็นการสวมบทบาทนะ (หัวเราะ) มันเหมือนกับเราได้วางตัวเองลงไป ทิ้งตัวตนไป ทิ้งความเป็นหัวโขนของเรา ทิ้งชื่อเสียง หรือความเป็นอะไรต่อมิอะไรที่เรามีมาก่อน มันก็ทำให้รู้สึกอิสระดี มันเบา ตรงที่ว่าคราวนี้อยากจะทำอะไรก็ทำเลย

พื้นที่เล็กๆ ที่บอย-ตรัย ภูมิรัตน บอกเล่าชีวิตในฐานะนักร้อง นักแต่งเพลง อาจารย์มหาวิทยาลัย คุณพ่อลูกสอง และชายวัยปลาย 40

อยากคุยเรื่องที่คุณสอนแต่งเพลงบ้าง อยากรู้ว่าอาจารย์บอยสอนสอนแต่งเพลงอย่างไร

ผมสอนแบบเป็นโค้ชมากกว่า ให้เอาเพลงมาแชร์กัน ผมก็บอกนักศึกษาอย่างนี้ทุกปี ‘เอาเพลงมาแชร์กันนะ’ ผมก็พอจะมีสูตรของตัวเองอยู่บ้าง ผมก็จะบอกสูตรของผมว่า วิธีของผมมันคือแบบนี้ ขั้นตอนแบบนี้ แต่ถ้าใครส่งเพลงมาแบบเสร็จหมดแล้ว จะไม่ได้เห็นกระบวนการนะ ผมอยากดูกระบวนการ ก็ให้เขาค่อยๆ ปั้น แล้วก็มาแชร์กัน ตกผลึกความคิดตั้งแต่ก่อนจะเริ่มเพลงให้นานๆ ว่าเราจะแต่งอะไร 

ส่วนใหญ่ก็เหมือนเป็นพี่เลี้ยงมากกว่า แล้วก็แนะนำว่าอันนี้ผิดประเด็น บางทีคุณมีสองเรื่องอยู่ในเพลงนะ คุณทำให้มันชัดเจนจะดีกว่า แต่ผมก็ไม่ได้สอนทฤษฎีอะไร ผมไม่ได้มีทฤษฎี ไม่ได้ร่ำเรียนมา ไม่ได้มีอะไรที่มันมีศาสตร์ซะทีเดียว มีแต่ประสบการณ์ ก็จะบอกนักเรียนไปทุกครั้งว่า สิ่งที่ผมมีคือประสบการณ์ ถ้าคุณยิ่งอยากรู้ ผมก็น่าจะมีอะไรมาแชร์กับคุณได้เยอะนะ แต่ว่าผมไม่มีอะไรมาสอนนะ (หัวเราะ)

คุณสอนมาตั้ง 7 ปี แสดงว่าชอบการสอนเหมือนกันนะ

ปีแรกก็กลัวมาก ว่าคนอย่างเรานี่นะจะไปสอนใคร เหมือนตอนเป็นพ่อเลย กลัวไปก่อน แต่เอาเข้าจริง ทุกอย่างนั้นเรียนรู้ได้ ก็เรียนรู้ไปด้วยกันกับนักเรียนนี่แหละ แล้วก็ดูว่าถ้าเป็นเราอายุเท่าเขา ตอนนั้นเราอยากได้คำแนะนำอะไร เราอาจจะยังงงกับอะไรอยู่ไหม พยายามเป็นพี่เลี้ยงเท่านั้นเอง แล้วก็แชร์สิ่งที่พอจะมีไปให้หมด ใครเอาอะไรไปได้ก็เอาไปเลย

เวลาเห็นลูกศิษย์แต่งเพลง คุณมีความคิดอย่างไรบ้าง

พวกเขาเก่งกว่าผมมากๆ นะ ผมบอกได้เลยว่าไม่ต้องห่วง วงการเพลงไทยจะมีแต่งนักแต่งเพลงที่เก่งๆ เพิ่มขึ้นอีกเยอะ พวกเขาเร็วมาก แล้วมันคือการมาต่อยอด ถ้าเขารู้นะว่าต้องการอะไร เขาจะไปเร็วมาก บางคนอยากแต่งเพลงฮิต เขาก็จะโฟกัสได้ชัดเจน ไม่เหมือนคนยุคเรา ที่ถ้าจิตวิญญาณเราไม่ได้เป็นเฮฟวีเมทัล เป็นเรกเก้ เราก็คงไม่กล้าแต่งตัวเป็นชาวร็อกหรือบุปผาชนใช่ไหม แต่เด็กสมัยนี้เขาเห็นแนวทางแล้วกล้าหยิบองค์ประกอบต่างๆ มาใช้ได้อย่างแม่นยำ เพราะเขามีตัวอย่างให้เห็นหมดแล้ว 

ปีหนึ่งๆ จะมีสองสามคนที่ผมเห็นงานแล้วรู้สึกว่า ‘โห ออกไปท่องยุทธจักรได้แล้วเนี่ย’ คือมีเพลงที่น่าสนใจแล้วน่ะ เหมือนเขาหาตัวเองเจอเร็ว แต่ก็จะมีหลายคนเหมือนกันที่ได้รับอิทธิจากเพลงที่เขาชอบแล้วพยายามจะเป็นอย่างนั้น มีคนที่ยังบาลานซ์ไม่ได้ว่าจะตกผลึกให้เป็นตัวเองยังไง ผมจะได้ยินเพลงแบบ Greasy Cafe แบบ Hugo หรือ Boy Imagine อยู่บ่อยๆ พอใครชอบอะไร เขาก็จะซึมซับเป็นอย่างนั้น เขาต้องระวังและใช้เวลาตกผลึกเพื่อเป็นตัวเองอีกสักหน่อย

คิดว่าจะสอนไปเรื่อยๆ ไหม

ยังไม่รู้นะ แต่ตอนนี้ไม่มีปัญหาอะไร คงยังสอนต่อไปได้ หลายเดือนก่อนมีช่วงที่ชีวิตผมเจออะไรหนักๆ โดนทัวร์ลง ตอนนั้นคือเสียศูนย์ไปเหมือนกัน ความรู้สึกที่หลงเหลือหลังจากนั้นก็จะกลัวผู้คนนะ มีความคิดแวบๆ เข้ามาเหมือนกันว่าจะเลิก ไปทำอย่างอื่นดีไหม ไปทำอะไรที่ไม่ต้องเจอใครดีกว่า อยู่สงบๆ ดีกว่า แต่ก็มีคนแนะนำว่า ถ้าอยากหาย ควรจะออกมาเจอคนเยอะๆ แล้วจะดีขึ้น ความคิดนี้ทำให้ผมคิดว่าสอนต่อไปก่อนแล้วกัน แล้วก็พบว่ามันเป็นเรื่องที่ตัดสินใจถูกนะ บางครั้งความกลัวก็เป็นเรื่องที่เราคิดไปเองทั้งนั้น

ถามเรื่องเหตุการณ์หลังจากที่คุณโดนทัวร์ลงได้ไหม

จะพูดได้แค่ไหนนะ (หัวเราะเบาๆ ) ผมโดนทัวร์ลงตอนนั้น มันก็มีเรื่องที่เป็นแผล สำหรับผม คือคนมาด่าอะไรผมรับฟังได้หมดนะ ไม่ได้อะไร คือไม่ได้ไปโกรธเขากลับน่ะ แต่สิ่งที่เป็นแผลจริงๆ ก็คือคำพูดของผมเอง ที่ผมพูดว่า ‘ดนตรีไม่ใช่อาวุธ’ แล้วสุดท้ายผมก็โดนคำพูดนี้ย้อนกลับมา มีหลายคนแย้งว่า ‘ไม่ใช่เว้ย เพลงมันใช้ต่อสู้ได้ เพลงเป็นอาวุธที่ใช้ต่อต้านระบบ หรือสิ่งที่อยู่เหนือกว่าเราได้’

คือในวันนั้น ผมคิดแค่ว่าสำหรับผม ดนตรีไม่ใช่อาวุธ มันไม่เคยเป็นอาวุธ จะบอกว่าผมใช้ดนตรีในแบบนั้นไม่เป็นก็ได้ สำหรับผม ดนตรี บทเพลง ผมมองมันเป็นสิ่งที่เยียวยามาตลอดชีวิต ดนตรีคือเพื่อนน่ะ แต่สุดท้ายผมก็ไม่ได้พูดออกไปนะ ว่าผมไม่ได้คิดมองข้ามคนมากมายในโลกนี้ที่ใช้ดนตรีเพื่อขับเคลื่อนสังคม ปลุกพลังการต่อสู้ ผมเข้าใจ แต่ผมก็ไม่ได้ไปตอบอะไรหลังจากนั้น

แต่ตอนที่ตัดสินใจกลับไปสอน ตอนนั้นลึกๆ ผมกลัวมากเลยนะ ในใจคิดว่าเราไม่รู้เลยว่าเด็กๆ คิดอะไร จะมีคนไม่พอใจเราอยู่ไหม ช่วงนั้นแผลยังสด เวลาเจอใคร ในใจก็จะระแวงแบบนี้ตลอด แต่พอสอนๆ ไปได้สักพัก เจอคน พูดคุยกับคนจริงๆ จิตใจเราก็ค่อยๆ เริ่มคลี่คลาย เรามีโจทย์ให้เด็กๆ แต่งเพลง ผ่านไป สองเพลงแล้ว พอเพลงที่สาม คิดว่าเราพอจะรู้จักกับลูกศิษย์บ้างแล้ว เลยลองให้เป็นโจทย์ให้เขาได้แต่งเพลงเรื่องการเมืองดู คือเรียกว่าเป็นเพลงเพื่อชีวิตก็ได้ ฝรั่งเรียกว่า Protest Song คือเพลงประท้วง เพลงขับเคลื่อน เพลงที่ใช้ในการเรียกร้อง เพลงหนุนใจ เพลงตีแผ่เสียดสี หรือมันอาจจะฟังคล้ายๆ เพลงรักก็ได้นะ 

อย่างเพลง Imagine ของ จอห์น เลนนอน ก็เป็นเพลงเพื่อชีวิตเหมือนกันนะ เขาเรียกร้องสันติภาพ ผมลองให้โจทย์แบบนี้ ไม่รู้สิ อาจจะเพื่อปลดล็อกตัวเองด้วยมั้ง ว่าเราพยายามจะเข้าใจเรื่องนี้นะ เด็กก็แต่งกันมาทุกแบบ คือในสิบคนนี่ก็มีเพลงสิบแบบ ไม่ได้แบบสุดโต่งกันไปหมด คือแบบสุดโต่งแรงๆ เลยก็มี แต่ไปในทางให้กำลังใจก็มี ไปในทางเรียกร้องความยุติธรรมให้คนรุ่นใหม่ก็มี มีหลากหลาย ทำให้เราคิดว่า เออ นี่แหละ มันก็คือหน่วยย่อยของสังคม การจะตีความเพลงเพื่อชีวิต Protest Song ที่มันจะใช้หนุนใจ ขับเคลื่อนความเชื่อความคิดต่างๆ มันก็ทำได้หลายแบบจริงๆ

พื้นที่เล็กๆ ที่บอย-ตรัย ภูมิรัตน บอกเล่าชีวิตในฐานะนักร้อง นักแต่งเพลง อาจารย์มหาวิทยาลัย คุณพ่อลูกสอง และชายวัยปลาย 40

ทุกวันนี้อายุ 40 ปลายๆ แล้ว คุณตื่นเต้นกับอะไรบ้าง

ก็ตื่นเต้นอะไรดีล่ะ หนังใหม่ออกมาก็รอดู หรือได้ขึ้นเวทีอีกก็ตื่นเต้นแล้ว (หัวเราะ) หรือแค่ขุนเขา (ลูกชาย) นับหนึ่งถึงสิบได้ก็ตื่นเต้นแล้ว เขาพูดยังไม่ชัดเลย แต่ว่านับเลขได้ เห็นแล้วก็ตื่นเต้น ผมมาคิดว่า อยากตื่นเต้นกับอะไรก็ได้ง่ายๆ 

เคยเป็นไหมเวลาดูข่าวแล้วเรารู้สึกว่า ไอ้คนนี้นี่มันพูดจริงหรือเปล่าวะ คือตอนนี้กลายเป็นเวลาดูข่าว เราก็จะดูแบบไม่ได้ฟังข่าว แต่ดันต้องมาคอยเช็กว่านี่มันเชื่อถือได้แค่ไหน กลายเป็นอย่างนั้นไป คือมันไม่ได้เป็นเรื่องฟังข่าวแล้วก็รับรู้ข่าว แต่ว่าเป็นเรื่องหลายชั้นซับซ้อน เหมือนชีวิตสังคมมนุษย์หล่อหลอมให้เราต้องมีชีวิตกันแบบนี้ 

ผมรู้สึกว่าด้วยวัยที่แก่ขึ้นเนี่ย บางทีเราก็อยากจะให้ชีวิตมันง่ายๆ ไม่ซับซ้อน รู้สึกดีใจก็ดีใจ รู้สึกไม่สบายใจก็ไม่สบายใจ ผมพยายามสอนชื่นใจว่า การรู้สึกอย่างตรงไปตรงมาเป็นเรื่องดีที่สุด ตื่นเต้นกับอะไรง่ายๆ ก็ได้ แต่ก็อย่าตื่นเต้นมากไป เห็นอะไรนิดๆ หน่อยๆ แล้วประทับใจได้ มันก็มีความสุขดีออก

คุณยังอ่านหนังสือการ์ตูนอยู่ไหม

อ่านนะ ตอนนี้อ่าน ดาบพิฆาตอสูร น่าจะเป็นเรื่องที่ฮิตที่สุดในโลกตอนนี้ บางคนชอบ บางคนอาจจะไม่ชอบ แต่ผมลองอ่านก่อน เพราะเดี๋ยวชื่นใจก็จะมาอ่านบ้างแล้ว เขาเรียกว่า ชิมให้ก่อนว่ามีพิษหรือเปล่า (หัวเราะ) แต่ก็สนุกดีนะ ให้อารมณ์เหมือนกับตอนที่เราอ่านการ์ตูนเหมือนเมื่อก่อนเลย นานมากแล้วที่เราอ่านการ์ตูนแล้วมันไม่ค่อยสนุก ทีแรกนึกว่าเป็นเพราะเราแก่ไปแล้ว แต่เรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกสนุกเหมือนเมื่อก่อนเลย

คือเอาจริงๆ ก็คือสนุกมาก (เน้นเสียง) คือตอนนี้มันจบอวสานไปแล้วล่ะ แต่ผมอ่านถึงแค่เล่มยี่สิบสอง ผมเก็บเล่มสุดท้ายไว้ยังไม่ยอมอ่าน กลัวมันจบ (หัวเราะ)

ตอนแรกถามว่าคุณทำงานอะไรอยู่บ้าง คุณบอกว่าใครจ้างอะไรก็ทำ แต่ถ้าถามคำถามนี้ใหม่ว่า คุณมีคำอธิบายตัวเองว่าทำงานอะไร คุณจะใช้คำไหน

ถ้าเป็นไปได้ อยากจะใช้คำว่า ‘นักร้อง-นักแต่งเพลง’ ไปตลอดชีวิตนะ คือรู้สึกว่ามันเป็นอาชีพที่ภูมิใจ แล้วก็เหมือนเป็นอาชีพที่ไม่ได้ไปเบียดเบียนทรัพยากรอะไรของโลกมาใช้เลย นอกจากกลั่นกรองความคิดของเราออกมา ปล่อยความคิดในท่วงทำนองในใจออกไป ไปเป็นเพื่อนให้กำลังใจใครๆ ที่บังเอิญได้ฟัง เรารู้สึกว่างานของเราคงไม่ได้ไปลิดรอนเบียดเบียนอะไรใคร ก็เลยรู้สึกว่ามันก็เป็นอาชีพที่ภูมิใจได้นะ เวลาบอกลูกว่าเราทำอะไร ก็จะบอกว่า ‘อืม พ่อเป็นนักแต่งเพลง’ นี่แหละ

พื้นที่เล็กๆ ที่บอย-ตรัย ภูมิรัตน บอกเล่าชีวิตในฐานะนักร้อง นักแต่งเพลง อาจารย์มหาวิทยาลัย คุณพ่อลูกสอง และชายวัยปลาย 40

Writer

Avatar

วิภว์ บูรพาเดชะ

บรรณาธิการ happening ที่เป็นสื่อด้านศิลปะ ซึ่งกำลังพยายามสื่อสารให้ผู้คนเห็นความสำคัญของศิลปะในหลายๆ มิติ FB: facebook.com/khunvip TWIT: @viphappening IG: @viphappening

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล