The Cloud x สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

ดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ทาง The Cloud ได้เฟ้นหาวัยอิสระมาแสดงความสามารถในช่วง The Cloud Golden Week และยิ่งตื่นเต้นสุด ๆ เมื่อได้สัมภาษณ์นักสะสมเครื่องหมายและงานลูกเสือตัวยง เพราะนอกจาก ครูธีร์ (ตัวผมเอง) ชอบสอนวิชาลูกเสือ-เนตรนารีแล้ว ผมก็มีความสุขทุกครั้งที่ได้ศึกษาเรื่องราวจากเครื่องหมาย เครื่องแบบ และงานลูกเสือ ดังนั้น การได้พูดคุยกับ เด่น-นฤเบศ พลตาล เจ้าของเพจ นักสะสมเครื่องหมายและงานลูกเสือ จึงเป็นช่วงเวลาที่มีค่ายิ่ง

'นฤเบศ พลตาล' นักสะสมเครื่องหมายและงานลูกเสือมากที่สุดในจังหวัดชัยภูมิ

นอกจากเด่นสะสมเครื่องหมายและสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับงานลูกเสือแล้ว เขายังสั่งสมประสบการณ์ตั้งแต่เด็กจวบจนอายุ 27 ปี แล้วนำมาถ่ายทอดเพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจอย่างลึกซึ้ง

ต่อจากนี้คือเรื่องราวที่เราได้สนทนากัน รวมถึงของสะสมที่หายากและเก่าแก่ที่เด่นโชว์ให้ชม

ฐานที่ 1
จากเครื่องแบบที่ชอบ สู่ตำแหน่งที่ใช่

พอพบหน้าก็รู้ว่าเป็นชายหนุ่มที่มีใจรักงานลูกเสือเป็นอย่างมาก เขาเริ่มกล่าวสวัสดี

“ผมชื่อนายนฤเบศ พลตาล ชื่อเล่น ‘เด่น’ ครับ ประกอบอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานพิธี สังกัดสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชัยภูมิ ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่จังหวัดชัยภูมิ”

ตอนเด็กเด่นเป็นลูกเสือสำรอง เขาเล่าให้ครูธีร์ฟังว่า เขาเริ่มต้นชอบลูกเสือจากเครื่องแบบ เพราะการมีเครื่องหมายและสัญลักษณ์ต่าง ๆ มาติดอยู่บนชุดลูกเสือ ทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจ ซึ่งเด่นยังเก็บชุดลูกเสือสมัย ป.2 ไว้ด้วย พอขยับเป็นลูกเสือสามัญ เริ่มมีหมวกปีก เขาก็ชอบอีก เพราะเคยเห็นพี่ ๆ มัธยมใส่หมวกปีกแล้วให้ความรู้สึกเหมือนหมวกตำรวจ หมวกทหาร เด่นก็อยากใส่บ้าง

'นฤเบศ พลตาล' นักสะสมเครื่องหมายและงานลูกเสือมากที่สุดในจังหวัดชัยภูมิ

“มันเกิดจากความสนใจ เริ่มชอบและรักในเครื่องแบบเครื่องหมายครับ ที่สนใจในเครื่องหมายก็เพราะว่าใส่แล้วดูสวย ดูสง่า รู้สึกว่าตัวเองมีระเบียบวินัย พอมีเครื่องหมายก็เหมือนกับตัวเองเป็นตำรวจ ตอนเด็ก ๆ ผมก็ชอบเล่นตำรวจจับโจร จากนั้นก็เริ่มเกิดการเรียนรู้”

เด่นไปอยู่โรงเรียนประจำจังหวัด อันเป็นโรงเรียนที่มีการพัฒนาด้านลูกเสือค่อนข้างดี มีชุมนุมลูกเสือกองพิเศษ ชุมนุมกองลูกเสือจราจร ชุมนุมลูกเสือกองเกียรติยศ มีกองลูกเสือหลายแบบเลยเข้าทาง! เขาเลือกเข้าชุมนุมกองลูกเสือจราจร ซึ่งมีเครื่องแบบแตกต่างจากเพื่อน คือ ‘มีรองเท้าหนัง’ ถ้าอยู่บ้านนอก ใครใส่รองเท้าหนังกับชุดลูกเสือก็หาดูได้ยากแล้ว เพราะลูกเสือธรรมดาใส่รองเท้านักเรียนทั่วไป พอมีรองเท้าหนัง สายยศ ก็เป็นออปชันเสริมเครื่องแต่งกายให้ดูเหมือนตำรวจ เขาชอบ มองว่าเท่ดี

'นฤเบศ พลตาล' นักสะสมเครื่องหมายและงานลูกเสือมากที่สุดในจังหวัดชัยภูมิ

ล่วงเข้ามัธยมปลาย กองลูกเสือวิสามัญไม่ค่อยมีคนเรียน เป็นชุมนุมเล็ก ๆ ที่เขาเลือกอยู่ จนเด่นได้อบรมหลักสูตรผู้บังคับบัญชาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเขาได้รับตำแหน่งผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสือประจำ สลช. (สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ) จากนั้นก็อบรมจนได้ 2 ท่อน และเป็นผู้บังคับบัญชาลูกเสือ

ฐานที่ 2
วัยเด็ก – ประถม – มัธยม กับบทบาทลูกเสือ

จุดเริ่มต้น คือ ตั้งแต่ชอบเครื่องแบบลูกเสือตอน ป.2 เขาก็มักเก็บเครื่องหมายลูกเสือตามพื้นที่ที่เพื่อน ๆ หรือนักเรียนคนอื่นทำหล่นไว้ วอกเกิลหล่นบ้าง ผ้าพันคอหล่นบ้าง หมวกหล่นบ้าง เขาเก็บโดยคิดแค่ว่า เผื่อเพื่อนทำหายหรือไม่มีสตางค์ซื้อก็มาเอาที่เขาได้ เพื่อนทุกคนบอกว่าเด่นใจดี แล้วเขาก็ตอบสวนแบบติดตลกไปว่า “ก็ของพวกแกทั้งนั้นแหละ” เด่นว่า ถ้าเป็นสมัยนี้คงต้องขาย ไม่ให้กันฟรี ๆ

เด่นเก็บของลูกเสือ (หล่น) มาเรื่อย ๆ จนมารู้ว่า คุณครูดามพ์ ตุงคศิริวัฒน์ คุณตาข้างบ้านก็เป็นลูกเสือ ทั้งวิทยากรลูกเสือจังหวัด ลูกเสือชาวบ้าน แถมเก็บสะสมของลูกเสือเหมือนกัน เมื่อท่านเสียชีวิต ของสะสมบางส่วนจึงถูกส่งต่อให้เด่น เช่น หมวกปีกลูกเสือผ้าสักหลาด หัวเข็มขัด วูดแบดจ์ที่ทำจากหินฟอสซิล เป็นต้น ความเป็นนักสะสมเริ่มจริงจังเมื่อเด่นก้าวเข้าสู่ชั้นมัธยมศึกษา

'นฤเบศ พลตาล' นักสะสมเครื่องหมายและงานลูกเสือมากที่สุดในจังหวัดชัยภูมิ
คุณครูดามพ์ ตุงคศิริวัฒน์
'นฤเบศ พลตาล' นักสะสมเครื่องหมายและงานลูกเสือมากที่สุดในจังหวัดชัยภูมิ
ของสะสมบางส่วนจากคุณครูดามพ์

วันที่เด่นมาเยือนกรุงเทพฯ เขาตื่นเต้นมาก เพราะมีคนพาไปเดินตลาดของเก่า เช่น ตลาดนัดจตุจักร เจเจมอลล์ ตึกแดง ตลาดปัฐวิกรณ์ ทำให้เขาพบข้าวของลูกเสือในราคาแสนถูก เขาก็ซื้อเท่าที่กำลังทรัพย์จะไหว พอมีคนรู้ว่าเด่นสะสมของเหล่านี้ ก็มีผู้ใหญ่ใจดี ครูเกษียณ มอบให้เพิ่มเติม เช่น ภาพเก่าจากเหตุการณ์ในอดีต ป้ายตำแหน่ง (จากร้านในกรุงเทพฯ สมัยก่อนผลิตให้กองเสือป่าของรัชกาลที่ 6)

ฐานที่ 3
วิชาของสะสมลูกเสือ

นอกจากความชอบ ความสนใจ ที่ทำให้เด่นเป็นนักสะสม ยังมีอีกหนึ่งอย่างที่จุดประกายให้เขาเดินสู่วงการ ‘นักสะสม’ นั่นคือ วิชาของสะสมลูกเสือ วิชานี้มีสอนให้กับลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ ในหลักสูตรมีวิชาให้เลือกเรียนมากถึง 72 วิชา เมื่อเรียนจบจะได้ป้ายชื่อวิชามาติดบริเวณไหล่ขวาของชุดลูกเสือ

วิชาของสะสมลูกเสือ มีตัวอย่างการสะสมสารพัดให้ผู้เรียนเลือก เช่น สมุดภาพ สมุดแสตมป์ สะสมภาพ สะสมเข็ม สะสมของเล่น สะสมโมเดล เด่นว่าวิชานี้มีจุดประสงค์เพื่อให้เด็ก ๆ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ รู้จักจัดระเบียบของที่มีในบ้าน การทำความสะอาดของสะสม และฝึกวินัยในการสะสม

'นฤเบศ พลตาล' นักสะสมเครื่องหมายและงานลูกเสือมากที่สุดในจังหวัดชัยภูมิ

วิชาพิเศษทั้ง 72 วิชาในหลักสูตรวิชาลูกเสือ ต้องลงเรียนและมีผู้บังคับบัญชาเป็นคนเปิดสอบ จากนั้นส่งผลสอบไปยังเขต เมื่อสอบผ่านจะได้ป้ายชื่อวิชามาติดบนชุดลูกเสือ เด่นบอกว่า ยุครัชกาลที่ 6 – 7 จะได้เป็นเหรียญหรือเข็ม ซึ่งปัจจุบันเป็นป้ายผ้า โดยมีกฎว่าวิชาพิเศษที่ติดบริเวณไหล่ขวา ติดได้เพียง 9 วิชา หากเกินกว่านั้นให้ติดลงบนสายสะพายสีเหลือง สวย เท่ไปอีกแบบ

เด่นเรียนและได้ป้ายวิชาครบ 9 วิชาบนแขนขวา แต่ไม่มีวิชานักสะสม เพราะไม่เปิดสอบ ซึ่งเขาติ๊งต่างเอาว่า ตนก็นับเป็นนักสะสมจริง ๆ แล้วบังเอิญเจอป้ายชื่อวิชานักสะสมของลูกเสือในตลาดของเก่า เขาก็ซื้อมาและติดลงบนชุด (เด่นถามอาจารย์ที่เกี่ยวข้องแล้ว เขาบอกว่าติดได้ เพราะสะสมจริง ๆ)

ฐานที่ 4
จากนักสะสมสู่นักแบ่งปัน

เครื่องหมายและงานลูกเสือที่เด่นสะสม นับว่ามีของสะสมเหล่านั้นเยอะที่สุดในจังหวัดชัยภูมิ เพราะทุกโรงเรียนทราบกันดีว่าของทั้งหมดมารวมอยู่ที่เด่นหมดแล้ว แถมเด่นมีของสะสมยุคเก่าสมัยเสือป่าอีกเพียบ ซึ่งมีน้อยคนที่สะสมของยุคเสือป่า เด่นบอกครูธีร์ว่าเขาแบ่งของสะสมจำนวนนับไม่ถ้วนเป็น 4 หมวด ได้แก่ หมวดลูกเสือไทย หมวดนานาชาติ หมวดงานชุมชน และหมวดจิปาถะทั่วไป

นั่นเลยทำให้เด่นตัดสินใจเปิดเพจสะสมเครื่องหมายและงานลูกเสือขึ้น เพื่อแบ่งปันความรู้กับผู้ที่สนใจ แลกเปลี่ยนความเห็น และพบเจอมิตรภาพจากเพื่อนพี่น้องที่สนใจสะสมในสิ่งเดียวกัน

การเป็นนักสะสมทำให้เด่นกลายเป็นนักเรียนรู้ด้วยตนเอง เขาทำสองอย่างควบคู่พร้อมกัน มากกว่านั้น เขายังถ่ายทอดองค์ความรู้และเรื่องราวของงานลูกเสือให้กับคนอื่นต่อไปเรื่อย ๆ

มีเกร็ดสนุก ๆ ที่เด่นหยิบยกมาเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งเคยมีลูกเสือหญิงที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 พร้อมกับเสือป่า เขาเรียกว่า เสือป่าหญิง แต่งกายคล้ายเสือป่าชาย ซึ่งเด่นค้นเจอภาพเก่าใบหนึ่ง เป็นภาพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยือนปราสาทหินพิมาย โดยมีเหล่าคณะเสือป่าหญิงมายืนถ่ายภาพร่วมกัน เครื่องแต่งกายสวมเนคไทลายเสือพาดกลอน ซึ่งเครื่องแต่งกายก็ถูกปรับเปลี่ยนเรื่อยมาตามยุคสมัย

'นฤเบศ พลตาล' นักสะสมเครื่องหมายและงานลูกเสือมากที่สุดในจังหวัดชัยภูมิ

เมื่อถามถึงประวัติความเป็นมาของการลูกเสือไทย เด่นก็แบ่งปันให้ฟังสั้น ๆ แบบนี้

“ลูกเสือเริ่มจากกองเสือป่าในรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงนำข้าหลวง ข้าราชบริพารมาฝึก เป็นกองกำลังเสือป่าป้องกันชาติ พอสิ้นรัชกาลของพระองค์ท่าน การเสือป่าก็ซบเซาลง เริ่มมีกองยุวชนทหารขึ้นมา ส่วนลูกเสือเป็นเพียงการสืบเจตนารมณ์ต่อจากกองเสือป่า หลังรัชกาลที่ 6 ผมแบ่งลูกเสือเป็น 3 ยุค

“ยุคซบเซา ยุคประคับประคอง ยุคพัฒนา ยุครัชกาลที่ 9 ถือเป็นยุคพัฒนา มีการแบ่งลูกเสือย่อยลงไปอีก เช่น ลูกเสือเหล่าสมุทร ลูกเสือเหล่าอากาศ ลูกเสือเหล่าสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือชาวบ้าน เกิดขึ้นช่วงปราบคอมมิวนิสต์ โดยเอาลูกเสือชาวบ้านเข้าไปในชุมชน ให้เกิดการต่อต้านกลุ่มขบวนการคอมมิวนิสต์ ประมาณว่าเป็นกองกำลังช่วยทหารและตำรวจในยุคนั้น เพราะว่าบทบาทการลูกเสือในระเบียบเก่าที่ผมเคยเห็น เขาบอกว่าลูกเสือเหล่าอากาศสนับสนุนช่วยกองทัพอากาศ ลูกเสือเหล่าสมุทรสนับสนุนกองทัพเรือ ลูกเสือเหล่าเสนาสนับสนุนกองทัพบก แต่ปัจจุบันนี้ลูกเสือไม่เกี่ยวกับทหาร ตำรวจ”

'นฤเบศ พลตาล' นักสะสมเครื่องหมายและงานลูกเสือมากที่สุดในจังหวัดชัยภูมิ

“เจตนารมณ์ของรัชกาลที่ 6 ต่อการลูกเสือ คือ ฝึกให้เยาวชนรู้จักรักชาติบ้านเมือง รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์หลายอย่าง เช่น แบบสั่งสอนเสือป่าและลูกเสือ เป็นการปลูกจิตสำนึก ปลุกใจให้รักชาติบ้านเมือง เพราะยุคสมัยนั้นเป็นช่วงสงคราม ช่วงล่าอาณานิคม พระองค์จึงมีพระราชดำริปลูกฝังให้เยาวชนเข้าใจ รู้จักรักชาติบ้านเมือง สมัยนั้นก็มียุวชนทหารและนักเรียนออกมาถือปืนช่วยทหาร ตำรวจ เพียงกำลังทหาร ตำรวจ ไม่เพียงพอ ก็ต้องอาศัยพลเรือน พอผ่านยุคสงครามมาเป็นยุคปกติ ก็เกิดการบูรณาการเรื่องการเอาตัวรอด การอยู่ในป่า การดำรงชีพ การเดินทางไกล การใช้เข็มทิศ การใช้เงื่อนเชือก เพียงแต่สมัยก่อนลูกเสือได้ใช้จริง ๆ”

ฐานที่ 5
ศูนย์การเรียนรู้กิจกรรมลูกเสือ

จากของสะสมเครื่องหมายและงานลูกเสือที่มีมากจนนับไม่ถ้วน เขาได้รับคำแนะนำจาก ‘สโมสรเสือป่าแลลูกเสือสยาม’ เป็นสโมสรที่สอนให้เด่นเริ่มสะสมของลูกเสือแบบสะสมไปด้วย ศึกษาเรียนรู้ไปด้วย โดยมี พันโทชยุต ศาตะโยธิน และ อาจารย์ภูวนารถ (ณัฏฐภัทร) กังสดาลมณีชัย แนะว่า ถ้าเก็บมากก็กลายเป็นพวกบ้าสมบัติ เอาของพวกนั้นออกมาให้คนสืบค้นดีกว่า ให้คนเห็นคุณค่าและรู้คุณค่า จนเกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้กิจกรรมลูกเสือในพื้นที่โรงเรียนชัยภูมิภักดีชุมพล มีการจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ความรู้ที่เด่นได้จากการสะสมของชิ้นนั้น ๆ เพื่อติดอาวุธทางปัญญา แบ่งปันความรู้ให้กับผู้อื่น

ศูนย์การเรียนรู้นี้เปิดให้ผู้สนใจทั่วไปเข้าชม มาเป็นหมู่คณะดูงามก็ยินดีต้อนรับ (ต้องติดต่อล่วงหน้า) ด้านในมีมุมนิทรรศการ เล่าประวัติลูกเสือไทย เล่าประวัติลูกเสือโลกและนานาชาติ เล่าความเป็นมาของการลูกเสือกับจังหวัดชัยภูมิ มีมุมของสะสมที่ระลึก มุมหนังสือสำหรับศึกษาเรียนรู้และคู่มือการจัดการเรียนการสอนรายวิชาลูกเสือ ตลอดจนวีดิทัศน์ที่เล่าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับงานลูกเสือ

'นฤเบศ พลตาล' นักสะสมเครื่องหมายและงานลูกเสือมากที่สุดในจังหวัดชัยภูมิ
'นฤเบศ พลตาล' นักสะสมเครื่องหมายและงานลูกเสือมากที่สุดในจังหวัดชัยภูมิ

ซึ่งการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ส่วนใหญ่เป็นงบประมาณส่วนตัวของเด่นเอง และมีการระดมทุนบางส่วนเพื่อปรับปรุงพื้นที่ภายในและตู้จัดเก็บของสะสม ซึ่งเป็นการเกื้อกูลกันระหว่างเด่นและโรงเรียน

เด่นบอกว่าสิ่งที่เขากำลังทำ หนึ่ง เป็นการสานต่อ ต่อยอด และรักษามรดกของรัชกาลที่ 6 ไว้ นี่คือแรงบันดาลใจสูงสุด

สอง เขาอยากให้ศูนย์การเรียนรู้กิจกรรมลูกเสือ เป็นแนวทางในการจัดนิทรรศการให้กับโรงเรียนต่าง ๆ เพราะนโยบายของ สลช. กำหนดให้แต่ละโรงเรียนต้องมีห้องลูกเสือ

สาม เป็นตัวอย่างในการบูรณาการความรู้ เช่น ผนวกการจัดนิทรรศการเข้ากับผลงานทางวิชาการของครูผู้สอน

ศูนย์การเรียนรู้กิจกรรมลูกเสือ เปิดบริการ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30 – 16.30 น. ปิดวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ สอบถามข้อมูลได้ที่ โทรศัพท์ 08 5006 0070 (คุณครูสุรักษ์ เที่ยงธรรม) และ 08 3380 6463 (นายนฤเบศ พลตาล)

ฐานที่ 6
วงการลูกเสือไทยในสายตานักสะสม

“ปัจจุบัน สลช. เปิดอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือเกือบทุกจังหวัด แต่ผลหรือการต่อยอดของลูกเสือไม่เติบโตครับ นี่เป็นปัญหาที่ผมเห็น ทำให้ระบบลูกเสือไม่พัฒนา อย่างระบบผู้บังคับบัญชาก็ล้าหลัง บางคนอบรมบรรจุเป็นครูสมัยหนุ่ม ๆ พออายุประมาณหนึ่งก็สืบหาประวัติไม่ได้ อบรมรุ่นไหนก็ไม่ทราบ เกียรติบัตรก็หาย ผมว่าถ้า สลช. ทำข้อมูลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ พิมพ์บัตรประชาชนใบเดียวขึ้นทุกอย่าง มันจะเวิร์กกว่าและทันสมัยกว่า เพราะระบบการเก็บแบบเป็นเอกสารมันล้าหลังครับ

“อีกปัญหาคือ ลูกเสือเบื่อหน่ายการเรียน บางโรงเรียนตีกลอง ร้องเพลง บางโรงเรียนมีฝึกทหาร อันที่จริงวิชาลูกเสือบูรณาการได้หลายอย่างและเอาไปใช้กับชุมชนได้ อย่างวิชาเงื่อนเชือก ทำเงื่อนเชือกเพื่ออะไร ครูบอกเอาไปทำหอคอย ทำรั้ว เด็กก็เกิดคำถาม ทำหอคอยทำไม จะเอาไปส่องใคร

“ถ้าผมเป็นครู ผมจะสอนเด็กทำเงื่อนเชือกแล้วลงพื้นที่ใช้งานจริง ๆ เด็กก็จะเกิดความสนุกและตื่นเต้น แต่ทุกวันนี้เขาไม่ให้เด็กไปต่อยอด เรียนแล้วก็จบ มันจึงเกิดคำถามว่า จะเอาไปทำอะไรต่อ เด็กไม่ได้เห็นของจริง เรียนจากทฤษฎีแล้วก็มาปฏิบัติ ปฏิบัติก็เหมือนทฤษฎีเลย ถอดมาจากในหนังสือ มัดเสาธงจากไม้พลองก็เป็นแค่ของที่เกิดขึ้นวันนั้น ถ้าเอาไปบูรณาการใช้ในชีวิตจริงมันจะเกิดประโยชน์

“ในชีวิตจริงก็บูรณาการวิชาลูกเสือกับการเอาตัวรอดในสังคมปัจจุบันได้ เพราะมันไม่ต่างอะไรจากการหลงป่าเลยครับ เราต้องหาอาหาร ทำอาหาร และดำรงชีพ อย่างการแพ็กเครื่องหลัง ‘ของใช้ก่อนลงหลัง ของใช้หลังลงก่อน’ ก็เอามาใช้กับชีวิตประจำวันได้ เช่น เมื่อต้องไปเที่ยว ไปทัศนศึกษา ไปอบรม ก็แพ็กเครื่องหลังแบบลูกเสือได้ เพียงแต่เราต้องรู้จักดึงประโยชน์ของวิชาลูกเสือมาใช้ให้ถูกต้อง”

ฐานที่ 7
ของสะสมที่อยากนำเสนอ 10 ชิ้น

01 ป้ายตำแหน่งผู้บังคับบัญชาลูกเสือ

'นฤเบศ พลตาล' นักสะสมเครื่องหมายและงานลูกเสือมากที่สุดในจังหวัดชัยภูมิ

“ในอดีตป้ายตำแหน่งผู้บังคับบัญชาลูกเสือเป็นรูปตราคณะลูกเสือแห่งชาติ ทำด้วยโลหะสีทอง เส้นผ่านศูนย์กลาง 3.5 เซนติเมตร ติดบริเวณกลางกระเป๋าเสื้อด้านขวา ป้ายตำแหน่งหน้าเสือ (แถวล่าง) จาก ร้านวิวิธภูษาคาร กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นร้านเก่าแก่ที่ผลิตเครื่องหมาย-เครื่องแบบให้กับกองเสือป่าในยุครัชกาลที่ 6 ต่อมาก็ผลิตเครื่องหมาย-เครื่องแบบลูกเสือ แต่ปัจจุบันไม่ได้ผลิตแล้ว

“ชิ้นนี้ผมได้มาจากตลาดของเก่าของสะสมและรุ่นน้องที่นำมาแบ่งปันในเฟซบุ๊ก”

02 หมวกหนีบลูกเสือสามัญ

'นฤเบศ พลตาล' นักสะสมเครื่องหมายและงานลูกเสือมากที่สุดในจังหวัดชัยภูมิ

“หมวกหนีบลูกเสือสามัญ เป็นเครื่องแบบประกอบที่ลูกเสือในยุคต้นรัชกาลที่ 9 ใช้กัน สมัยนั้นสวมหมวกลูกเสือ 2 แบบ คือ แบบหมวกหนีบ (ในรูป) และหมวกปีกกว้างพับข้าง สังเกตว่าเนื้อผ้าจะเก่า เพราะผ่านการใช้งานมาระยะหนึ่ง ผมได้มาในสภาพเดิม ๆ พร้อมตราคณะลูกเสือแห่งชาติทองเหลืองเก่า ๆ ประดับที่หมวก ซึ่งได้มาจากอาจารย์ท่านหนึ่งที่โพสต์แบ่งปันทางหน้าเฟซบุ๊ก”

03 สมุดคู่มือลูกเสือ พร้อมกับเข็มกลัดที่ระลึกงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 5

จากเด็กชายผู้เก็บอุปกรณ์ลูกเสือหล่นพื้นของเพื่อน สู่นักสะสมผู้สร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อสานต่อคุณค่าวิชาลูกเสือ

“งานนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 15 ธันวาคม พ.ศ. 2508 (ราว 56 ปี) ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ผมได้รับมอบจาก คุณพ่อสากล บุญเนาว์ ผู้เป็นเจ้าของสมุดคู่มือเมื่อสมัยเป็นลูกเสือที่ท่านเดินทางไปเข้าร่วม ท่านเป็นคนในพื้นที่อำเภอเมืองชัยภูมิด้วยกัน มอบไว้เพื่อนำไปประกอบการเผยแพร่”

04 พินเนกไทหลากสี และเหรียญที่ระลึกงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 6

จากเด็กชายผู้เก็บอุปกรณ์ลูกเสือหล่นพื้นของเพื่อน สู่นักสะสมผู้สร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อสานต่อคุณค่าวิชาลูกเสือ

“งานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 6 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 17 ธันวาคม พ.ศ. 2512 (ราว 52 ปี) ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นของที่ระลึกจากงานชุมนุม ได้มาจากพี่ที่รู้จักกันทางเฟซบุ๊ก และเหรียญเงินที่ระลึกงานชุมนุม ได้มาจากร้านขายเครื่องหมายในตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา”

05 เข็มกลัดติดเนกไทสีน้ำเงิน และหัวเข็มขัดที่ระลึกงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 8

จากเด็กชายผู้เก็บอุปกรณ์ลูกเสือหล่นพื้นของเพื่อน สู่นักสะสมผู้สร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อสานต่อคุณค่าวิชาลูกเสือ

“งานนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 30 พฤศจิกายน พ.ศ.​ 2516 (ราว 48 ปี) ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นของที่ระลึกจากงานชุมนุม โดยหัวเข็มขัดงานชุมนุม ได้มาจากพี่ที่รู้จักกันทางเฟซบุ๊ก ส่วนเข็มกลัดติดเนกไท ผมได้จากการเดินเล่นในตลาดของเก่าสะสม”

06 กระดุมเสือป่า

จากเด็กชายผู้เก็บอุปกรณ์ลูกเสือหล่นพื้นของเพื่อน สู่นักสะสมผู้สร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อสานต่อคุณค่าวิชาลูกเสือ

“ชิ้นนี้เป็นกระดุมเสือป่าเนื้อเงิน ใช้ประกอบเครื่องแต่งกายของเครื่องแบบเสือป่าในยุครัชสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 นับว่าหายากและในตลาดขายกันราคาสูงเลยทีเดียว เป็นกระดุมเนื้อเงินขนาดเล็ก 2.2 x 2.2 เซนติเมตร ซึ่งผมได้มาจากรุ่นน้องทางจังหวัดชลบุรี”

07 เหรียญประจำตัวเสือป่า

จากเด็กชายผู้เก็บอุปกรณ์ลูกเสือหล่นพื้นของเพื่อน สู่นักสะสมผู้สร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อสานต่อคุณค่าวิชาลูกเสือ
จากเด็กชายผู้เก็บอุปกรณ์ลูกเสือหล่นพื้นของเพื่อน สู่นักสะสมผู้สร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อสานต่อคุณค่าวิชาลูกเสือ

“เหรียญประจำตัวเสือป่า ใช้ในสมัยรัชกาลที่ 6 อายุราวร้อยกว่าปี ด้านหลังเหรียญแบ่งเป็น 3 ชั้น อ่านจากแถวบนสุด คือ มณฑลที่สังกัด แถวกลาง คือ กองร้อยที่สังกัด และแถวล่าง คือ เลขประจำตัวสมาชิกเสือป่าผู้นั้น ดังในรูปตัวซ้ายสุด มณฑลภูเก็ตที่ 2 (ภ.ก.2) กองร้อยที่ 15 (ร.15) เลขประจำตัวเสือป่า 059 ผมได้เหรียญนี้มาจากรุ่นน้องทางจังหวัดชลบุรี”

08 หนังสือคู่มือหลักสูตรลูกเสือ ตรี โท เอก

จากเด็กชายผู้เก็บอุปกรณ์ลูกเสือหล่นพื้นของเพื่อน สู่นักสะสมผู้สร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อสานต่อคุณค่าวิชาลูกเสือ

“เป็นหนังสือใช้ประกอบหลักสูตรการสอนรายวิชาลูกเสือในอดีต สังเกตว่ามีหลากหลายสำนักพิมพ์ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาลูกเสือได้ศึกษา แล้วนำไปจัดทำแผนการสอนรายวิชาลูกเสือแต่ละประเภทนั้น ๆ ให้เหมาะสมกับช่วงชั้นของผู้เรียน ชุดหนังสือบางส่วนได้มาจากการพบเจอในตลาดนัดหนังสือ สื่อออนไลน์ เฟซบุ๊ก และบางส่วนได้รับมอบจาก อาจารย์พันเอกชยุต ศาตะโยธิน นายกสโมสรเสือป่าแลลูกเสือสยาม ที่แบ่งปันให้นำไปศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่ในนิทรรศการศูนย์การเรียนรู้กิจกรรมลูกเสือ”

09 รูปยาซิกาแรตเสือป่าและลูกเสือ

จากเด็กชายผู้เก็บอุปกรณ์ลูกเสือหล่นพื้นของเพื่อน สู่นักสะสมผู้สร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อสานต่อคุณค่าวิชาลูกเสือ
จากเด็กชายผู้เก็บอุปกรณ์ลูกเสือหล่นพื้นของเพื่อน สู่นักสะสมผู้สร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อสานต่อคุณค่าวิชาลูกเสือ

“รูปยาซิกาแรตมีมาเกือบร้อยปีก่อน เป็นของแถมจากซองบุหรี่ มีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นการตลาดของบริษัทยาสูบฝั่งตะวันตก เพื่อให้ผู้ที่ชอบสูบบุหรี่ได้เพลิดเพลินกับรูปภาพที่แถมมาในซองบุหรี่ จะเน้นไปทางสะสมเลยก็ได้ ในแต่ละซองบุหรี่จะได้ภาพยาซิกาแรตเพียง 1 ภาพ แต่ละภาพอาจได้ซ้ำบ้าง ได้ภาพใหม่ ๆ บ้าง ตามแต่ช่วงเวลานั้น ๆ สลับหมุนเวียนกันไป กว่าจะสะสมให้ครบเข้าชุดเซ็ตภาพนั้น ๆ ก็คงต้องสูบบุหรี่ไปหลายซองเลยทีเดียว และคงต้องใช้เวลาพอสมควร

“ในชุดสะสมของผมเป็นภาพซิกาแรตเสือป่าและลูกเสือ ได้มาจากรุ่นน้องที่จังหวัดชลบุรี”

10 แบดจ์ลูกเสือนานาชาติ

จากเด็กชายผู้เก็บอุปกรณ์ลูกเสือหล่นพื้นของเพื่อน สู่นักสะสมผู้สร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อสานต่อคุณค่าวิชาลูกเสือ

“นี่คือเครื่องหมายต่าง ๆ ที่แสดงถึงการเข้าร่วม เป็นรางวัล เป็นเครื่องหมายที่ระลึก รวมถึงเป็นวิชาพิเศษลูกเสือที่จะได้รับมาติดบนเสื้อ บ่งบอกว่าลูกเสือคนนี้เชี่ยวชาญหรือผ่านกระบวนการฝึกฝนทักษะอะไรมาบ้าง ในต่างประเทศถือว่ามีหลากหลายแบดจ์ ทั้งแบดจ์งานที่ระลึก แบดจ์รางวัล แบดจ์วิชาพิเศษ ในต่างประเทศ เมื่อมีเยอะ ๆ จะนำมาติดที่เครื่องแบบลูกเสือ หรือติดที่ชุดเสื้อคลุมก็ตามแต่สะดวก

“บางที่แบดจ์ก็นำมาแลกเปลี่ยนในช่วงมีงานชุมนุมลูกเสือโลกหรือลูกเสือแห่งชาติ โดยแลกเปลี่ยนระหว่างลูกเสือไทยกับลูกเสือต่างประเทศ ลูกเสือไทยคุ้นหูกันดีกับคำว่า ‘Change’ คือการแลกเปลี่ยนกัน โดยของสะสมชุดนี้ได้มาจากอาจารย์จังหวัดนครปฐม และบางส่วนจากรุ่นพี่ในจังหวัดชัยภูมิ”

ภาพ : นฤเบศ พลตาล

The Cloud Golden Week คือแคมเปญสนุก ๆ ที่ทีมงานก้อนเมฆขอประกาศลาพักร้อน 1 สัปดาห์ เนื่องในโอกาสฉลอง The Cloud ครบ 5 ปี เราเลยเปิดรับวัยอิสระ อายุ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนักเขียน ช่างภาพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ เข้ามาประจำการแทนใน The Cloud Golden Week ขอเรียกว่าเป็นการรวมพลังวัยอิสระมา ‘เล่าเรื่อง’ ในฉบับของตนเองผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆ เพราะเราเชื่อว่า ‘ประสบการณ์’ ของวัยอิสระคือเรื่องราวอันมีค่า เราเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงตัวเลข ไม่ใช่ข้อจำกัดของการเรียนรู้

แคมเปญนี้เราร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้วัยอิสระกล้ากระโจนเข้าหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ออกมาพูดคุยกับเพื่อนวัยเดียวกัน พร้อมแบ่งปันเรื่องราวอันเปี่ยมด้วยคุณค่า เพื่อเติมฟืนไฟให้กาย-ใจสดใสร่าเริง

นี่เป็นครั้งแรกที่ทีมงาน The Cloud มีสมาชิกอายุรวมกันมากกว่า 1,300 ปี!

Writer

Avatar

ธีระรัตน์ ศิริสวัสดิ์

ครูวัยเกษียณผู้รักการทำงาน อยากส่งต่อความรู้ผ่านการสอนพิเศษ เพื่อพัฒนาเด็ก ๆ ตามศักยภาพ และยังสนใจศึกษางานเขียนภาษาไทยอยู่เสมอ