ทุกอย่างเริ่มต้นจากความอยากรู้อยากเห็นว่า “การรักษาช้างที่ดุมากทำร้ายคนเสียชีวิต!!” หรือ “การบุกป่าไป ‘รักษาช้าง’ ที่ยากลำบาก” เป็นอย่างไร จึงคลิกเข้าไปดูคลิปวิดีโอทั้งสองใน YouTube 

นั่นเป็นครั้งเเรกที่เราได้พบกับ หมอโบว์-สัตวแพทย์รัชดาภรณ์ ศรีสมุทร สัตวแพทย์หญิงรักษาช้าง เจ้าของช่อง ‘หมอเตี้ย’ 

คุณหมอหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส เตรียมเข็มฉีดยาให้ช้างอย่างคล่องแคล่ว และให้ยาช้างด้วยท่าทางทะมัดทะแมง สถานการณ์ที่ดูโหดหินสำหรับคนทั่วไป ไม่ได้ทำให้อารมณ์ขันของหมอคนนี้ลดลงแม้แต่น้อย เธอกลับทำให้การรักษาช้างดูสนุกน่าติดตาม หยอดเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการรักษาช้างฉบับเข้าใจง่าย ทำให้เรารู้จักช้างมากกว่าเมื่อ 10 นาทีก่อนดูคลิปหลายเท่า 

ผู้หญิงคนนี้เท่จริง ๆ! หมอโบว์มีทัศนคติแบบไหนกัน แล้วอะไรในชีวิตที่พาเธอมาเจอกับช้าง ความอยากรู้อยากเห็นเริ่มก่อตัวขึ้นอีกครั้ง 

เรื่องแบบนี้หาดูในคลิปวิดีโอไหนก็คงไม่สนุกเท่าชวนตัวจริงมานั่งคุย โชคดีที่หมอโบว์พอจะมีเวลาชั่วโมงกับอีกหน่อยของเย็นวันเสาร์ที่ไม่ได้อยู่กับคนไข้ไซส์จัมโบ้ เราจึงถือโอกาสให้เธอพาไปรู้จัก ด.ญ.รัชดาภรณ์ ศรีสมุทร ช้าง และบทบาทการเป็นหมอ 

‘หมอโบว์’ สัตวแพทย์หญิงตัวเล็กผู้ใช้ความสูง 157 รักษาช้างหนัก 4 ตันเหมือนคนในครอบครัว

เด็กหญิงโบว์

เราเห็นหมอโบว์ใช้ชีวิตแบบลุย ๆ มีเรื่องที่ต้องทำตลอดทั้งวัน เดี๋ยวก็ทำกับข้าว เดี๋ยวก็ทำแผลให้ช้าง แต่ก็ยังยิ้มแย้มแจ่มใสดูมีพลังงานเหลือเฟืออยู่ตลอด จึงสงสัยว่าเธอเป็นสายผจญภัยมาตั้งแต่ไหนแต่ไรเลยหรือเปล่า

แต่เมื่อถามถึงวัยเด็ก หมอโบว์กลับบอกว่าตนเองเป็นเด็กหญิงขี้อายและพูดน้อย

“ตอนเด็กโบว์ขี้อายมาก จนอาจารย์โทรไปปรึกษาผู้ปกครองเลยว่า ทำไมเด็กคนนี้ไม่พูดกับใครเลย เหมือนเด็กเข้าสังคมยาก”

เด็กหญิงโบว์เลี้ยงสัตว์แทบทุกชนิดที่ครอบครัวเกษตรกรครอบครัวหนึ่งจะเลี้ยงได้ ตั้งแต่นก ไก่ ยันหมาพิตบูล ด้วยความที่คุณพ่อเป็นคนชอบสัตว์อยู่แล้ว จนวันหนึ่งที่เธอเสียเจ้าหมาพิตบูลไป สัตวแพทย์ในตอนนั้นก็ช่วยไม่ได้ และเธอเองก็ไม่มีความรู้เกี่ยวกับวิธีดูแลที่ถูกต้อง นอกจากน้ำตาที่เสียไป เธอคิดในใจว่าถ้าตัวเองมีความรู้บ้างก็คงจะทำอะไรได้มากกว่านี้ เป็นเหตุที่ทำให้เธอกลายมาเป็นสัตวแพทย์

หลายคนอาจคิดว่าหมอโบว์ชอบช้างมาตั้งแต่ตอนเรียน ที่จริงแล้วสัตว์ใหญ่ตัวแรกที่เธอชอบคือม้าต่างหาก จากการได้ลองขี่ม้าในวิชาเรียน ปรากฏว่าทำได้ดีจนครูฝึกถึงกับชวนให้เป็นนักกีฬาขี่ม้าเลยทีเดียว เราเกือบจะได้รู้จัก ‘หมอโบว์รักษาม้า’ แทนช้างไปเสียแล้ว 

พอถามว่าถ้าตอนนี้เลือกเป็นหมอม้าได้ จะเป็นไหม หมอโบว์ตอบทันทีเลยว่า “ไม่เลือกค่ะ” พร้อมกับเสียงหัวเราะ

“คนไทยเลี้ยงช้างเหมือนเป็นคนในครอบครัว ถ้าช้างป่วยก็เหมือนพ่อแม่ของเขาป่วย เวลาเรารักษาหายเลยรู้สึกชื่นใจมาก” 

หมอโบว์รักษาช้าง

จุดเริ่มต้นของ ‘หมอโบว์รักษาช้าง’ คือตอนที่ได้ไปฝึกงานช่วงปีท้าย ๆ ของการเรียนสัตวแพทย์

การพบกันครั้งแรกระหว่างหมอโบว์และช้างไม่ได้โรแมนติกอย่างที่หลายคนคิด ตั้งแต่ครั้งแรกก็ถูกช้างใช้งาสะบัดกระเด็นขณะที่เข้าไปหยอดตาให้ ทำเอาอาจารย์หมอที่อยู่ในเหตุการณ์คิดว่า ศิษย์ตัวเองคงจะขยาดช้างแน่แล้ว แต่ผิดคาด หมอโบว์ยังกลับมารับเคสช้างต่อ 

เหตุการณ์ครั้งนั้นไม่ได้ทำให้เธอกลัว เพราะช้างก็เพิ่งรู้จักหมอโบว์ ส่วนหมอโบว์ก็ไม่เคยเจอกับช้างมาก่อน จึงไม่รู้วิธีการเข้าหาช้างที่ถูกต้อง พอได้รักษาหลายเคสเข้า ก็เริ่มชอบเพื่อนไซส์ใหญ่ตัวนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ

“เอาจริง ๆ มันเป็นความชอบส่วนตัว ชอบช้าง ชอบลักษณะนิสัยของช้าง ถึงเขาจะเป็นสัตว์ใหญ่แต่เป็นสัตว์ที่อบอุ่น รักเจ้าของมาก แล้วก็อายุยืน อายุ 70 – 80 ก็ยังอยู่กับเรา” ซึ่งหมายความว่าถ้าเราเริ่มเลี้ยงช้าง 1 เชือก เขาก็จะอยู่คู่กับเราไปทั้งชีวิตของคนเลี้ยง “เราแก่ เขาก็แก่ตาม”​ 

เมื่อเรียนจบ ก็ใช่ว่าหมอโบว์จะได้เป็นหมอช้างทันทีอย่างใจหวัง เพราะตอนนั้นไม่มีตำแหน่งว่างอยู่เลย เธอจึงเก็บเกี่ยวประสบการณ์รักษาสัตว์เล็ก ระหว่างรองานที่อยากได้เปิดรับสมัคร กระทั่งวันหนึ่ง โรงพยาบาลช้างกระบี่ ซึ่งขณะนั้นเป็นโรงพยาบาลช้างแห่งแรกและแห่งเดียวในภาคใต้ มีช้างป่วยติดเตียงอาการหนักอยู่ 2 เชือก ต้องการหมอดูแลช้างเพิ่ม หมอโบว์จึงรีบสมัครทันที ทั้ง ๆ ที่ประสบการณ์การรักษาในขณะนั้นเป็นศูนย์! 

การดูแลช้างป่วยติดเตียงไม่ใช่เรื่องง่าย ปกติจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน ถ้าช้างเสียก็ต้องลาออก แต่ที่กล้าอาสารับเคสยากแม้ว่าประสบการณ์ยังน้อย ก็เพราะมีรุ่นพี่คอยดูแลให้คำแนะนำ รวมกับความอยากรักษาช้างมาก ได้งานรูปแบบไหนก็พร้อมเรียนรู้ภาคปฏิบัติจากเหตุการณ์ตรงหน้าอย่างเต็มที่ 

คนไข้รายแรกของหมอโบว์จึงเป็นช้างป่วยติดเตียงที่ชื่อเจ้าบัวสวรรค์และเจ้าโซฟา ถึงแม้ตอนนี้เจ้าโซฟาจะไม่อยู่แล้ว แต่เจ้าบัวสวรรค์ก็ยังเป็นหนึ่งในคนไข้ไซส์จัมโบ้ที่เป็นเพื่อนรักของหมอโบว์จนถึงปัจจุบัน 

‘หมอโบว์’ สัตวแพทย์หญิงตัวเล็กผู้ใช้ความสูง 157 รักษาช้างหนัก 4 ตันเหมือนคนในครอบครัว

ตัวใหญ่ใจเสาะ

‘หมอเตี้ย’ คือชื่อเรียกที่หมอโบว์ตั้งให้ตัวเอง เพราะส่วนสูงคือสิ่งเดียวที่เธอคิดว่าแตกต่างจากหมอรักษาช้างคนอื่น

“โบว์อาจจะตัวเตี้ยกว่าหมอคนอื่น (หัวเราะ) คนมักคิดว่าหมอช้างต้องสูง เพราะช้างตัวใหญ่ แต่พอมาเจอหมอโบว์ ‘เอ้า! ทำไมเหลือตัวแค่นี้’ แล้วจะฉีดยาถึงเหรอ” 

แต่จริง ๆ แล้ว คนจะสูงเท่าไหร่ก็สูงไม่เท่าช้าง ไม่ว่าจะสูง 157 หรือ 170 เซนติเมตร ก็ต้องมีเก้าอี้เสริมเหมือนกันหมด ช้างบางเชือกสูงถึง 3 เมตร การเป็นคนตัวเล็กก็มีประโยชน์ในแบบคนตัวเล็ก ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการรักษาช้างแต่อย่างใด เพราะการทำแผลช้างบางครั้งก็ต้องการคนแขนเล็กเพื่อล้วงทำความสะอาดแผลได้สะดวกเหมือนกัน สัตวแพทย์ที่โรงพยาบาลช้างกระบี่ก็เป็นผู้หญิงทั้งหมด

แม้หมอที่ฝีมือดีและประสบการณ์มากกว่าเธอจะมีอีกเยอะ แต่หมอโบว์ก็เลือกแชร์ประสบการณ์ของตัวเองเพราะเห็นว่าช้างไม่ใช่สัตว์ที่ใครจะเจอได้ในชีวิตประจำวัน ถึงจังหวะนี้ เราเลยขอให้หมอโบว์เล่าชีวิตใน 1 วันของสัตวแพทย์ให้ฟังแบบคร่าว ๆ

“วันทำงานปกติที่ไม่ได้มีเคสหนัก เริ่มประมาณ 08.30 น. เลิก 16.30 น. ถ้ามีช้างป่วย นอนลุกไม่ขึ้น ก็ต้องเตรียมรถแบ็กโฮในการยกเพราะช้างหนักประมาณ 4 ตัน ช้างนอนนานไม่ได้ มันจะหายใจไม่ออกแล้วเสียชีวิต ถ้าต้องให้น้ำเกลือหรือให้ยาก็ต้องเฝ้า นอนกับช้างไปเลยทั้งคืน 

“ในกรณีที่เราปล่อยช้างไปพักผ่อนแล้วสุขภาพไม่แข็งแรง ต้องรอรับโทรศัพท์ในช่วงเช้า ตี 5 – 6 โมงเราก็ต้องไปดู ไปให้ยา ทุกวันจะมีช้างป่วยซึ่งเป็นเคสปกติที่ต้องทำแผลหรือให้ยามารอคิว” 

‘หมอโบว์’ สัตวแพทย์หญิงตัวเล็กผู้ใช้ความสูง 157 รักษาช้างหนัก 4 ตันเหมือนคนในครอบครัว

ช้างที่เข้ามาแต่ละตัวจะถูกจัดให้อยู่ในซอง เสมือนกับห้องพักผู้ป่วยที่มีหลังคาสูงและหลักมัดช้างเวลารักษา ถ้าช้างดุมากก็จะอยู่ซองที่ไกลเพื่อน หันหน้าออกจากตัวอื่น เพราะอาจจะทำร้ายคน ทำร้ายช้างด้วยกันเอง หรือทำร้ายหมอได้

การรักษาช้างต้องทำงานเป็นทีม นอกจากหมอ ๆ ต้องแตะมือกันสลับเวร แต่ละคนยังต้องมีผู้ช่วยอีก 4 – 5 คน คอยดูแลความปลอดภัย ช่วยผสมยาและส่งอุปกรณ์ให้ ที่ขาดไม่ได้คือควาญหรือเจ้าของช้าง เพราะพวกเขาคือคนที่ช้างไว้ใจที่สุดประหนึ่งคนในครอบครัว ช้างอาจจะตื่นกลัวหมอเหมือนเด็กกลัวคนแปลกหน้า และทำทุกอย่างเพื่อป้องกันตัวเอง ควาญต้องมัดเชือกช้างกับเสา ไม่งั้นหมออาจจะโดนเตะได้ บางครั้งหมอโบว์ก็ต้องออกไปรักษานอกสถานที่ด้วยเหมือนกัน ต้องสแตนด์บายเตรียมยาใส่กระเป๋า เตรียมเสื้อเผื่อไปนอนค้างคืน

หมอโบว์ถึงกับหัวเราะเมื่อเราสงสัยว่า กระเป๋ายาช้างจะมีขนาด XL แต่เนื่องจากสถานการณ์ที่ต้องเจอคาดเดาไม่ได้ ความคล่องตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญ​

“ที่จริงมียาฉุกเฉินที่ต้องเตรียมไว้อยู่แล้ว เราหิ้วไปได้เลยทั้งลังพร้อมกับยาเพิ่มเติมตามอาการของโรค สมมติว่าช้างท้องอืด ก็ต้องเตรียมยาท้องอืดขนใส่กระเป๋าไป แล้วเดินทางไปกับรถโรงพยาบาลพร้อมคนขับรถ ในกรณีที่ต้องเอาช้างกลับมารักษาต่อที่โรงพยาบาล เราให้น้ำเกลือช้างก่อนได้ แล้วค่อยเอาขึ้นรถกลับมา ติดตามอาการอย่างใกล้ชิดตั้งแต่บ้านเขาจนถึงที่โรงพยาบาล”

ยาสำหรับช้างไม่ได้พิสดารอย่างที่คิด หลัก ๆ ที่ใช้ ส่วนใหญ่ก็คือยาคน แค่ใช้ในปริมาณที่เยอะกว่า อย่างเช่นยาฆ่าเชื้อ Cephalexin ที่ต้องใช้ประมาณ 30 – 40 ขวดต่อครั้ง น้ำเกลือก็ต้องใช้มากกว่าคนประมาณร้อยเท่า ทำให้การรักษาใช้เวลานานจนอาจลากยาวถึงตี 2 เลยทีเดียว 

ไม่ใช่แค่เรื่องยา โรคที่คนเป็นช้างก็เป็นได้เหมือนกัน เช่น โรคท้องอืด ซึ่งฟังดูเหมือนเป็นโรคธรรมดา แต่ก็เป็นเรื่องใหญ่ได้ เพราะช้างเป็นสัตว์ตัวใหญ่แต่ใจเสาะ ท้องอืดนิดเดียวก็กระวนกระวายจนขาดใจตายได้เลย! 

การทำให้ช้างหายป่วยก็ต้องใช้เวลามากกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ แผลธรรมดาต้องใช้เวลารักษาอย่างน้อย 1 เดือน แผลสาหัสก็อาจจะต้องรักษากันเป็นปีหรือหลายปีก็ได้ แต่ไม่ว่าจะอาการหนักหรือเบา อยู่โรงพยาบาลนานหรือสั้น ช้างทุกตัวที่มาหาหมอ ณ โรงพยาบาลช้างกระบี่จะได้รับการรักษาฟรี

“ถ้าถามว่าโบว์มีนิสัยส่วนไหนที่เข้ากับช้างได้บ้าง ก็อาจจะเป็นคนใจเย็นมั้ง ช้างต้องรักษาแบบเดิมทุกวันจนกว่าจะหาย ต้องพยายามอดทนมากในการรักษา โบว์เป็นคนใจเย็น เป็นคนรอได้ แล้วก็เป็นคนที่ชอบเห็นพัฒนาการของช้างดีขึ้นอย่างช้า ๆ”

‘หมอโบว์’ สัตวแพทย์หญิงตัวเล็กผู้ใช้ความสูง 157 รักษาช้างหนัก 4 ตันเหมือนคนในครอบครัว

ภารกิจคนตัวเล็ก

แม้ทีมสัตวแพทย์จะเป็นผู้จัดการปัญหาเร่งด่วนที่ช้างและเจ้าของจะต้องเผชิญในทุก ๆ วัน แต่การดูแลรักษาสิ่งใดก็ตามอย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมต้องใส่ใจการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและยาว เราจึงอยากรู้ว่าคนที่คลุกคลีกับช้างอย่างหมอโบว์ คิดว่าปัญหาเกี่ยวกับช้างในปัจจุบันมีอะไรบ้าง 

เธอบอกว่าความท้าทายหนึ่งที่สำคัญในการปฏิบัติงาน คือจำนวนงานวิจัยเกี่ยวกับการรักษาที่จำกัด ทำให้โรคบางโรคของช้างยังรักษาไม่ได้ 

“สมมติว่าหมาแมวท้องอืดเพราะกินอะไรเข้าไป เราผ่าท้องแล้วเอาของชิ้นนั้นออกมาได้เลย แต่ช้างยังไม่มีการผ่าตัดช่องท้อง เพราะช้างเป็นสัตว์ตัวใหญ่ หนังหนา เย็บแผลให้ติดไม่ได้ การผ่าช่องท้องจึงอันตรายกับช้างมาก รักษาได้เฉพาะพื้นฐานภายนอกเท่านั้น”

หมอโบว์ชวนเราถกประเด็นนี้ด้วยการคลี่ปัญหาที่ช้างเผชิญออกมาดูเพิ่มเติม เริ่มจากช่วงโควิดที่ผ่านมา ซึ่งทั้งช้างทั้งคนต่างได้รับผลกระทบ

“สัตวแพทย์ไม่ค่อยเจอปัญหาเท่าไหร่ แต่ช้างกับเจ้าของช้างต้องเจอปัญหาเยอะ ช้างมีอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น การแสดงช้าง การนั่งหลังช้าง ซึ่งต้องอาศัยนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการบางท่านถึงขั้นปิดปาง ต้องส่งช้างกลับบ้าน หรือไม่ก็ต้องพักงานช้าง พอไม่มีรายได้ก็ต้องลดจำนวนควาญช้างหรือคนดูแลลง เพราะฉะนั้น การดูแลมันจะไม่ทั่วถึง บางเชือกผอมลง บางเชือกป่วยเป็นโรค” 

สำหรับการใช้งานช้าง หมอโบว์ไม่เห็นด้วยที่ให้ช้างทำงานหนักเกินไปไม่ว่างานใดก็ตาม ในส่วนนี้ไม่ได้หมายถึงงานใช้กำลังเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงงานที่ทำให้ช้างได้รับอาหารไม่เหมาะสม เช่น การกินผลไม้ที่มีรสหวานมากเกินไปจนทำให้เกิดภาวะท้องอืดท้องเสียได้ การใช้ช้างทำงานควรอยู่ในระดับที่พอดี 

บางงานก็ให้ช้างทำได้ หากเจ้าของคอยดูแลว่าช้างมีอาหารและน้ำกินเพียงพอ ทำงานเหนื่อยไปหรือไม่ พักผ่อนพอหรือเปล่า สำหรับหมอโบว์ที่ใกล้ชิดกับทั้งควาญช้างและช้าง เธอเข้าใจดีว่าการที่ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ ค่าดูแลย่อมสูงตามไปด้วย ควาญช้างทำงานคนเดียวอาจไม่พอ บางทีช้างก็ต้องทำงานเพื่อให้ทั้งตัวเองและเจ้าของพอมีพอกิน 

ปัจจุบันนี้ คนส่วนมากบนโลกขาดความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ได้เห็นและรู้จักสัตว์ป่าน้อยลง เหมือนกับที่หมอโบว์พูดไว้ตั้งแต่ต้นว่า มีโอกาสน้อยนักในชีวิตประจำวันที่คนทั่วไปจะได้เจอกับช้าง 

พอรู้น้อย เห็นน้อย ก็ผูกพันน้อย ทำให้เกิดความเพิกเฉยต่อปัญหาที่ช้างกำลังเผชิญตามไปด้วย 

การที่คนตัวเล็ก ๆ หนึ่งคนจะแก้ปัญหาใหญ่ ๆ ได้ ส่วนหนึ่งคือการทำหน้าที่ของตนให้ดี และนำความถนัดของตัวเองมาใช้ให้เกิดประโยชน์ อย่างที่หมอโบว์บันทึกการรักษาแล้วนำมาแบ่งปันให้คนดูได้รู้จักช้างมากขึ้น ขณะเดียวกัน ความช่วยเหลือในระดับที่ใหญ่ขึ้นก็เป็นเรื่องจำเป็น สิ่งที่พอจะช่วยแก้ปัญหาระยะยาวได้ เห็นจะเป็นการให้ความรู้แก่คนเลี้ยงและคนทั่วไปเกี่ยวกับช้าง 

“บางคนซื้อช้างมาด้วยความที่เขามีตังค์ ก็เลยซื้อมาทั้ง ๆ ที่ไม่มีความรู้เรื่องการเลี้ยงช้าง หมอก็ต้องคอยบอกว่าช้างกินอะไรได้บ้างไม่ได้บ้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ จึงมีการจัดงานประชุมช้างสำหรับคนเลี้ยงช้างหรือเจ้าของช้างเข้าร่วม เพื่อเรียนรู้วิธีการดูแลช้างอย่างถูกต้อง”

เราหวังว่าการนำประสบการณ์และแง่คิดของหมอโบว์มาเล่าต่อ จะเป็นอีกช่องทางที่ช่วยให้คนรู้จักช้างมากขึ้นอีกนิด และช่วยถ่ายทอดเสียงของทีมสัตวแพทย์ตัวเล็ก ซึ่งกำลังทำหน้าที่รักษาคนไข้ตัวใหญ่อยู่ทุกวัน เมื่อคนตัวเล็กกับสถาบันใหญ่ต่างทำหน้าที่ของตนเพื่อสิ่งเดียวกัน ก็ย่อมทำให้เป้าหมายนั้นสำเร็จ 

ภาพ : หมอโบว์-สัตวแพทย์รัชดาภรณ์ ศรีสมุทร

Writers

Avatar

จันท์จุฑา ลดาวัลย์ ณ อยุธยา

ตอนเป็นเด็กหญิงคิดว่าถ้ามีพลังวิเศษไม่ได้ก็ขอเขียน ถ้าเขียนไม่ได้ก็ขอร้องเพลง ปัจจุบันเป็นนางสาวนักฝึกฝนตนเองให้ไวต่อความจริงใจ เพราะดันไปแอบชอบพลังวิเศษชนิดนี้ในตัวคน

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว