James Noble ยอมรับว่าเขาบ้า

บ้าที่ 1 คือ ตั้งแต่ทำงานล้างจานในครัวตอนอายุ 15 เขาฝึกฝนไต่เต้าจนขึ้นมาเป็นเชฟในร้านมิชลินสองดาว ทำอาหารหรูหราให้คนดังระดับโลก

บ้าที่ 2 คือ เปลี่ยนจากทำอาหารมาทำงานเป็นผู้จัดการโรงแรมห้าดาวในเมืองไทย ชีวิตสุขสบาย เงินเดือนดี มั่นคง

บ้าที่ 3 หลังจากกราฟความสำเร็จในอาชีพการงานพุ่งสูงมาโดยตลอด เขาทิ้งทุกอย่าง แล้วผันตัวมาเป็นเกษตรกรที่ปากน้ำปราณ ลงมือปลูกผักสวนครัวออร์แกนิกร่วมกับภรรยา เม-วรรณภา โนเบิล และเปิดร้านอาหารเล็กๆ เรียบง่ายชื่อ Boutique Farmers Pak Nam Pran หน้าสวน โดยเปิดร้านเพียงสัปดาห์ละ 3 วันเท่านั้น

มองดูเผินๆ หากมิสเตอร์โนเบิลไม่บ้าดีเดือด ก็คงปลงกับชีวิตทุนนิยมจนทิ้งสูทและความสบายทั้งมวลมาถือศีลกินความลำบากอย่างนักบวช

บ่ายวันที่อากาศในสวนของเขาร้อนอบอ้าว บทสนทนาของเราหอมฉุยด้วยกลิ่นชาใบหม่อนแห้งที่เจมส์ก้มหน้าก้มตาบรรจุใส่ถุงระหว่างคุย เราค้นพบว่าเจมส์สติสมประดี และไม่ได้หมดอาลัยในโลกแต่อย่างใด ทุกวันนี้ร้านอาหารของเขาเป็นร้านยอดนิยมในปราณบุรี สวนผักออร์แกนิกขนาดเพียง 2 ไร่ของเขาก็เป็นที่ต้องการของร้านอาหารมิชลินและโรงแรมหรูในกรุงเทพฯ

ตัวอย่างลูกค้าของเขาคือ Paste Bangkok ร้านอาหารไทยที่ศูนย์การค้าเกษร Gaggan ร้านของเชฟอินเดียที่ได้รางวัลหนึ่งในร้านอาหารที่ดีที่สุดในโลก Sühring ร้านอาหารเยอรมันของเชฟพี่น้องฝาแฝด J’aime by Jean Michel Lorain ที่สาทร Fireplace ร้านสเต๊กใน InterContinental Bangkok และร้าน Le Normandie ที่แมนดาริน โอเรียนเต็ล

เจมส์และเมแผ้วถางธุรกิจใหม่ที่รักษ์โลกและสร้างกำไรไปพร้อมกัน เป้าหมายของพวกเขาคือทำให้คนได้กินอาหารดีที่อร่อยและคุ้มค่า โดยที่ผู้ผลิตได้รับค่าตอบแทนสมเหตุสมผล พวกเขาพิสูจน์แล้วว่าความคิดนี้เป็นไปได้จริง

“ใครๆ ก็ว่าผมบ้า เราเป็นคู่รักบ้าๆ” เจมส์กล่าวเสียงดังขณะหันไปสบตาภรรยา

บางทีเขาอาจพูดถูก ไอเดียแบบนี้ต้องอาศัยความกล้าบ้าบิ่นที่จะทิ้งชีวิตเดิม คนบ้าๆ อย่างครอบครัวโนเบิลนี่ล่ะที่ลงมือเปลี่ยนโลก

Confession of a Michelin-starred Chef

“ผมเคยทำงานที่ Mustique Island เป็นเกาะในทะเลแคริบเบียนที่คนรวยและคนดังทั่วโลกมาซื้อบ้านพักตากอากาศ ที่นี่เป็นหนึ่งในเกาะที่รวยที่สุดในโลก ผมทำงานเป็นเชฟส่วนตัวอยู่ที่นั่น 4 ปี เงินไม่มีผลกับชีวิตเลยนะ เพราะมีเยอะมาก ไม่ต้องสนใจอะไร อยากได้วัตถุดิบอะไรก็ให้เครื่องบินไปรับมา สมมติว่าผมอยากได้สตรอว์เบอร์รี่ แต่ตอนนี้นอกฤดูกาล ก็ไม่เป็นไร เพราะต้องมีที่ไหนสักแห่งบนโลกที่สตรอว์เบอร์รี่ออกลูก เอาแต่ใจได้สุดๆ แต่แค่เพราะเราทำได้ ไม่ได้แปลว่าเราควรทำไง

“เหตุผลที่ผมทำงานที่นั่น 4 ปี เพราะผมอยากได้เงินมากพอในบัญชีธนาคารที่จะทำโครงการที่นี่ ตอนเริ่มผมกับคุณเมไม่มีหนี้ เราไม่ได้กู้เงินธนาคารมาทำงานที่อยู่ในหัวผมมาตลอด นี่คือจุดจบของชีวิตที่เลวร้ายของผม ผมทำลายโลกมามาก ผมทำอาหารนอกฤดูกาล ผมทำอาหารนอกท้องถิ่น ผมคิดเงินคนแพงๆ ในร้านอาหารห้าดาวมาตลอดชีวิต มันถึงเวลาสร้างสมดุลแล้ว เริ่มต้นตอนนี้ยังสายเกินไปเลย”

เจมส์บอกตามตรงว่าความรู้สึกผิดกัดกินเขาจนต้องลงมือทำบางสิ่ง

“เราใช้ยาฆ่าแมลง ใช้ฮอร์โมนเร่งโตสารพัด กับการผลิตอาหาร เรานำเข้าวัตถุดิบสารพัด ต่อให้คุณใช้ของออร์แกนิกแต่นำเข้ามาจากเมืองนอก กว่าสินค้านั้นจะบินมาก็ไม่ออร์แกนิกแล้วนะ เพราะคุณทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศและสร้างมลพิษให้คนที่อยู่ระหว่างทาง แล้วสินค้านำเข้านั่นก็ราคาแพงกว่าที่มันควรจะเป็น 5 เท่า เช่นมะเขือเทศเล็กๆ 250 กรัมราคา 500 บาท ผมเห็นแล้วหงุดหงิดทุกที ทั้งที่จริงๆ เราต่างช่วยโลกได้ แต่เราใช้เรื่องรักษ์โลกนี้เพื่อการตลาดเท่านั้น

“ตอนนี้ลูกสาวผม แนนซี่ อายุ 5 ขวบ ถ้าเราไม่ลงแรงช่วยโลกตอนนี้ด้วยการกินอาหารในฤดูกาล กินอาหารท้องถิ่น คนรุ่นลูกคุณและรุ่นลูกผมอาจเห็นอะไรบ้าง แต่ผมมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะไม่เหลืออะไรในโลกใบนี้ให้ลูกของแนนซี่”

Let Us Cultivate Our Garden

เจมส์และเมพบกันที่หัวหิน ฝ่ายชายเป็นผู้จัดการโรงแรมใหญ่ และฝ่ายหญิงเป็นเจ้าของรีสอร์ตเล็กๆ หน้าทะเล เมื่อตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ทั้งคู่เริ่มโครงการเปลี่ยนสวนในบ้านพักผู้จัดการโรงแรมเป็นแปลงผักสวนครัว โดยนำมาใช้เสิร์ฟให้แขกในโรงแรมด้วย

“ผมพยายามหนักมากให้คนเข้าใจเรื่องการสร้างประสบการณ์ การสร้างโรงแรมที่ยั่งยืน และการทำให้แขกกลับมาบ่อยๆ แต่เจ้าของโรงแรมย่อมสนใจตัวเลขที่บรรทัดสุดท้ายมากกว่า ถึงจะได้เงินเดือนดี แต่ผมรู้สึกไม่ดีที่ต้องโกหกลูกค้า ในที่สุดเราเลยคิดว่าพอแล้ว เรามาทำกันเองดีกว่า มีแต่คนคิดว่าเราบ้าที่ลาออกและทิ้งทุกอย่างเพื่อเอาเงินมาซื้อที่นี่ คุณเมขายกิจการ ส่วนผมขายรถของผม”

“ตอนแรกเราคุยกันว่าจะลองทำแค่ปีเดียวว่าจะรอดไหม ถ้าไม่ชอบก็กลับไปทำงานเดิมค่ะ แต่เราคิดว่ามันก็ประสบความสำเร็จนะ” เมกล่าวเสริม

ทั้งคู่ตัดสินใจซื้อพื้นที่ว่างแปลงติดกับบ้านที่พวกเขาอยู่ ปีแรกผ่านไปอย่างยากลำบาก พวกเขาใช้เวลาราวครึ่งปีขุดหินภูเขาที่หมู่บ้านนำมาถมที่ออกโดยไม่ใช้เครื่องจักร และเริ่มนำเมล็ดพันธุ์ทั้งไทยและเทศที่ต้องการมาปลูกในหมู่บ้าน จากมะเขือเทศกว่า 20 สายพันธุ์ ไปจนถึงดอกผักชี ดอกผักชีลาว ดอกขจร พริก ผักกาดก้านแดง ผักโขม โรสแมรี่ ลูกหม่อน ฯลฯ มั่นใจได้ว่าผักเหล่านี้ปลอดเคมีอันตราย เพราะรอบข้างมีแต่บ้านพักอาศัย ไม่มีสวนที่ใช้ยาฆ่าแมลงหรือปุ๋ยเคมี ผักผลไม้เหล่านี้สดใหม่ ราคาคุ้มค่า และช่วยลดรอยเท้าคาร์บอนจากการนำเข้าวัตถุดิบจากแดนไกล

เจมส์เริ่มจากนำวัตถุดิบออร์แกนิกไปให้เพื่อนเชฟในกรุงเทพฯ คุณภาพผลผลิตดีเยี่ยมทำให้บรรดาเชฟพูดกันปากต่อปาก ร้านอาหารเริ่มสั่งผักที่อยากได้ให้ที่นี่ปลูกให้โดยเฉพาะ Boutique Farmers มีกระทั่งแปลงผักให้ร้านอาหารเช่าปลูกแบบส่วนตัว เกษตรกรหน้าใหม่เชื่อมั่นว่านี่คือสิ่งที่ร้านอาหารและโรงแรมควรทำร่วมกับเกษตรกรทั่วไป ทุกคนได้อาหารสดใหม่ที่รสชาติดีขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง ซ้ำยังบอกลูกค้าได้เต็มปากว่ามีสวนออร์แกนิกของตัวเอง ได้ทั้งประโยชน์และภาพลักษณ์ครบถ้วน

“ผมตั้งชื่อว่า Boutique Farmers แล้วเลือกรูปรองเท้าบูตคู่เก่าของผมเป็นโลโก้ เราเป็นสวนบูติก เหมือนร้านตัดเสื้อที่ตัดชุดให้คุณคนเดียว แนวคิดเราคือสร้างสวนที่แตกต่าง ไม่มีใครปลูกดอกผักชีเพราะมันยาก ทุกคนคิดว่าผักชีน่าจะปลูกง่าย เพราะอาหารไทยใช้ผักชีเยอะ แต่รู้มั้ยว่าผักพวกนั้นใช้เคมีทั้งนั้น ไม่งั้นก็เป็นผักนำเข้าจากเมืองจีน”

เจมส์เด็ดดอกไม้สีขาวเล็กๆ ที่บานสะพรั่งในแปลงผักให้ลองชิม กลิ่นผักชีบางๆ มอบรสนุ่มนวล ต่างจากความฉุนจัดของผักชีที่เคยชินในจานข้าว แล้วพาเราเข้าไปเด็ดมะเขือเทศแดงๆ ลูกเล็กจากต้น รสหวานกรอบนั้นช่างตราตรึงใจ

“ตอนนี้ผมรู้สึกภูมิใจมากกว่าทุกช่วงชีวิตที่ผ่านมา เอาดาวมิชลินและรางวัลทั้งหมดไปเลย มันเทียบไม่ได้กับความรู้สึกตอนปลูกมะเขือเทศได้สมบูรณ์แบบ”

เกษตรกรแห่งปากน้ำปราณหัวเราะ เสียงของเขาปลอดโปร่งและเต็มไปด้วยความสบายใจ

Farm to Table

ร้านอาหาร Boutique Farmers ปากน้ำปราณ เปิดร้านแค่วันศุกร์ถึงวันอาทิตย์เท่านั้น ไม่เปิดวันอื่นแม้เป็นวันหยุดเทศกาลอย่างวาเลนไทน์หรือคริสต์มาส เพราะที่นี่มีวงจรเพาะปลูกและการทำงานที่เป็นระบบ

ถึงจะอยู่นอกเมืองและเปิดร้านน้อยวัน แต่ร้านนี้กลับติดอันดับยอดนิยมในบรรดาร้านอาหารปราณบุรี ชาวกรุงหลายคนยอมขับรถมาจากกรุงเทพฯ แต่เช้าเพื่อมากินอาหารกลางวันสดใหม่ที่นี่ ความพิเศษคือเมนูจะเปลี่ยนไปทุกสัปดาห์ตามแต่ผลผลิตที่มีในสวนช่วงนั้น จึงไม่มีใครรู้เมนูล่วงหน้าจนกว่าจะถึงวันศุกร์

หน้าที่ของเมคือเพาะปลูกและเก็บผลผลิตทุกวัน ระยะปลูกมีตั้งแต่ 3 – 4 สัปดาห์จนถึง 2 เดือน ส่วนหน้าที่เชฟเจมส์คือพลิกแพลงแปลงวัตถุดิบเป็นจานอร่อยให้หมด ในวันอาทิตย์เมนูจะว่างเปล่า เพราะ Boutique Farmers จะเสิร์ฟสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดจากฟาร์มจนลูกค้าตัวแตกในราคาเดียว แขกจะกินเท่าไหร่ก็ได้ตั้งแต่ 10 โมงถึงบ่าย 3 ไม่ต้องรีบเพราะโต๊ะที่จองเป็นของลูกค้าทั้งวัน วันนั้นเจมส์จะออกลีลาใช้วัตถุดิบที่ปกติร้านทั่วไปไม่ค่อยใช้ เช่น หัวหมู ลิ้นหมู แก้มวัว หางวัว ตับเป็ด ตับไก่ ทุกอย่างที่มี เพื่อให้ทุกอย่างที่เมปลูกและดูแลมาตลอดไม่เสียเปล่า

“เราทำอาหารของทุกที่ ผมเคยทำสเต๊กทาร์ทาร์เป็ดแบบฝรั่งเศส (สเต๊กเนื้อดิบ) ราดซอสพะแนงร้อนๆ คนก็งง แต่ว่าอร่อยนะ สัปดาห์ก่อนเรามีเมนูฟักทอง 3 ชาติ ไทย ยุโรป ญี่ปุ่น ผมทำฟักทองบดคลุกเครื่องเทศแล้วเอาฟักทอง 3 ชาติโปะข้างบน แต่ละชิ้นใช้เวลา 3 เดือนในการปลูก เท่ากับว่าคุณกินอาหารที่ใช้เวลาเตรียม 9 เดือน แต่จานนี้ราคา 300 บาทเท่านั้น ลูกค้าบอกว่าเป็นเมนูที่ดีที่สุดเลย แล้วผมก็ทำแหนมหัวหมูกับมายองเนสกระเทียมดำด้วย ลูกค้าอึ้งแต่ชอบมาก”

เชฟมิชลินเปิดห้องเย็นเก็บผลผลิตให้ชม แล้วพาเข้าไปดูห้องครัวกว้างขวาง เขาใช้เศษไม้เก่าจากบ้านไม้ในอีสานมาทำความสะอาด และดัดแปลงเป็นเขียงกับภาชนะอื่นๆ ที่เก๋และเปี่ยมเรื่องราว

“อาหารเราออร์แกนิก การโฆษณาของเราก็ออร์แกนิก คนบอกกันปากต่อปาก ซึ่งเราชอบนะครับ เราไม่ได้อยากให้คนมาเยอะๆ โดยที่ไม่ได้เข้าใจสิ่งที่เราทำ คุณควรเข้าใจก่อนว่าเราไม่เสิร์ฟสเต๊กใหญ่ๆ ที่เลี้ยงครอบครัวขนาด 6 คนให้คน 2 คน นั่นคือความโลภ ต่อให้มีเงินทำได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าควรทำ

“อาหารเราราคาสมเหตุสมผลเพราะเราปลูกทุกอย่างเอง เราไม่เสียค่าเช่าร้าน ไม่เสียค่านำเข้าวัตถุดิบ จะไปเก็บเงินแพงๆ จากไหน ราคาที่คุณจ่ายคือค่าอาหารเท่านั้น”

Dear Clients

ข้อความต่อไปนี้คือความจริงที่สองสามีภรรยาที่คลุกคลีในธุรกิจอาหารและการบริการมาตลอดเรียนรู้

“ทุกคนคิดเรื่องเงินเป็นอันดับแรกในอุตสาหกรรมนี้ ทุกร้านคิดเงินแพงๆ จากวัตถุดิบนำเข้าและค่าเช่าที่แสนแพง ร้านอาหารในทองหล่ออาจต้องจ่ายค่าเช่าประมาณ 4 แสนบาทต่อเดือน ดังนั้น ราคาที่ลูกค้าจ่ายคือค่าเช่าร้านมากกว่าค่าอาหาร” เจมส์อธิบาย

“เชฟบางคนต้องทำงานหนักเพื่อให้อาหารรสชาติดี เพราะเขาประหยัดค่าวัตถุดิบตลอด แล้วใช้เคมีหรือผงชูรสให้มีรสชาติมากขึ้น และได้เงินมากขึ้น ส่วนผมโชคดีที่ไม่ต้องทำงานหนัก เพราะผลผลิตผมดีมาก ไม่ต้องต้องเล่นอะไรมาก ให้ผลผลิตพูดแทน”

อดีตผู้เล่นมืออาชีพในสังเวียนร้านอาหารเห็นว่าหนทางรอดของเส้นทางนี้คือเชฟต้องเข้าใจว่าวัตถุดิบมาจากไหน และจะรักษาคุณภาพได้อย่างไร ถ้าไม่มีวัตถุดิบก็ต้องรู้จักดัดแปลงสูตร เข้าใจว่าวัตถุดิบเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล เช่นเดียวกับผู้บริโภคที่ต้องรู้จักที่มาอาหาร

“เบื้องหลังรางวัลของร้านอาหารต่างๆ คือผู้ผลิตที่ดี คุณรู้จักพวกเขารึเปล่า สนใจรึเปล่าว่าวัตถุดิบของคุณมาจากไหน ขอบคุณคนปลูกรึเปล่า” มิสเตอร์โนเบิลตั้งคำถาม

“ด้วยความที่เราปลูก เราเห็นเยอะกว่าเชฟ ไม่ใช่แค่ผักสวย อยากได้ สั่ง จบ เพราะเราปลูกด้วยใช้ด้วย เราเห็นคุณค่าของผักมากกว่า ถ้าเชฟเข้าใจความหมายของดอกไม้ว่าทำให้อาหารสวยขึ้น รสชาติดีขึ้น ยกระดับร้านอาหารขึ้น เรายินดีขายให้เลยค่ะ” มิสซิสโนเบิลเอ่ยในฐานะคนปลูก “ไม่ค่อยมีใครทำสวนแบบเราเพราะมันไม่ง่าย สวนผสมที่มีผักหลายๆ อย่าง คนดูแลต้องเข้าใจต้นไม้แต่ละชนิด รู้ว่าควรรดน้ำเมื่อไหร่ ควรตัดเมื่อไหร่ ดูแลรักษายังไง แล้วก็รู้วิธีเก็บผักให้มีใช้ตลอดทั้งปี”

“ตอนนี้กรุงเทพฯ เริ่มเปลี่ยนไป ประเทศไทยเปลี่ยนไป ผมเห็นเชฟไทยหลายคนเคารพอาหาร บางทีทำอาหารยุโรปได้ดีกว่าเชฟฝรั่งเสียอีก ทำอาหารไทยก็ดีด้วย ผมว่าเชฟไทยมีประโยชน์กับโรงแรมมากกว่าเชฟฝรั่งจองหองแพงๆ บางคนอีก เชฟฝรั่งทำได้แต่อาหารฝรั่ง แต่ทำอาหารไทยไม่ได้ดีเท่านะครับ” เจมส์สรุปเรื่องวงการอย่างตรงไปตรงมา

Farm in the Future, Future of Farming

โครงการล่าสุดที่คู่รักคู่นี้อยากทำคือจัดงานแต่งงานแบบ Eco Wedding เล็กๆ ในสวนของ Boutique Farmers โดยจะรับแค่ปีละ 2 คู่เท่านั้น

“งานแต่งสมัยนี้เหมือนๆ กันไปหมด ทั้งที่มันเป็นเรื่องส่วนตัวมากนะครับ มันควรหลากหลาย ถ้าคุณแต่งงานที่นี่ ไม่ต้องไปถ่ายรูปกันหน้าป้ายแห้งๆ ไร้จิตวิญญาณที่เปลี่ยนแค่ชื่อบ่าวสาวไปเรื่อยๆ เราจะทำป้ายชื่อใหม่ให้คุณ โยนดอกไม้ที่ปลูกที่นี่แทนกระดาษสายรุ้ง มีวงดนตรีที่ระเบียงให้คุณ เป็นงานที่จัดเพื่อคุณโดยเฉพาะ และจะไม่คิดค่าสถานที่ด้วย คิดแต่ค่าอาหารและสิ่งที่เราเตรียมให้แค่นั้นเอง”

เจมส์กล่าวด้วยรอยยิ้มและความภูมิใจในพื้นที่สีเขียว นอกจากแผนการให้สวนของตัวเอง ครอบครัวโนเบิลมีแผนการใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ในปากน้ำปราณ แต่ขยายขอบเขตสู่การแลกเปลี่ยนความรู้กับเรือกสวนไร่นาอื่นๆ พวกเขาเข้าใจดีว่าเกษตรกรรมอยู่ในภาวะวิกฤต อัตราการฆ่าตัวตายของเกษตรกรทั่วโลกสูงมากเพราะการเพาะปลูกล้มเหลว แต่กลับไม่ค่อยมีคนรู้ข่าวนี้ ความช่วยเหลือจึงน้อยตามไปด้วย

เจมส์และเมซื้อรถโรงเรียนเก่าจากราชบุรีมาดัดแปลงใหม่ ทั้งคู่ตั้งใจขับรถออกไปเยี่ยมสวนต่างๆ เช่น ราชบุรี บุรีรัมย์ และจังหวัดอื่นในภาคอีสาน เพื่อเรียนรู้เรื่องการเพาะปลูก ขณะเดียวกันก็นำผลผลิตและเรื่องราวธุรกิจของตัวเองไปแสดงให้เกษตรกรที่อื่นได้เห็น

“เราไม่ได้จะทำ Food Truck นะครับ เป็นเหมือนสื่อการศึกษามากกว่า เราอยากขับรถไปงานเทศกาลต่างๆ แสดงให้คนเห็นทางเลือกใหม่ๆ ในการกิน อาหารดีๆ ก็ราคาถูกได้ ผักไม่สวยที่คุณทิ้งก็ใช้ได้ แล้วเราก็อยากพาไปให้เกษตรกรได้เห็นภาพกว้างขึ้น เกษตรกรทำสวนเก่งกว่าเราสองคนมาก แต่พวกเขาขาดโอกาสเรียนรู้เรื่องอื่น และก็ไม่มีทางทิ้งสวนมาที่นี่หรอก เราอยากให้เขาเห็นว่าพื้นที่เพาะปลูกเล็กนิดเดียวสร้างเงินได้มากกว่าไร่กว้างๆ ได้ยังไง

“พระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนมีพระราชดำรัสว่าพื้นที่ 2 ไร่ใช้เลี้ยงคนได้ทั้งหมู่บ้าน ซึ่งทำได้จริงๆ ถ้ามีระบบจัดการที่ดี เกษตรกรที่นี่ทำไร่ทำสวนขนาดใหญ่ มีที่ 10 ไร่ก็ปลูกข้าว 10 ไร่ ปลูกสับปะรด 10 ไร่ ถ้าคุณขายผักกาดหอมกิโลละ 20 บาท คุณจะได้เงินเป็นกอบเป็นกำก็ต่อเมื่อปลูกสัก 50 ไร่ ปัญหาคือคุณจะเพิ่มมูลค่าสินค้าอย่างไร สร้างคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ แล้วเงินจะมาหาคุณ”

ในฐานะที่มีครอบครัวทำนาข้าว ไร่อ้อย และไร่ยางพารา ที่บุรีรัมย์ เมรู้ดีว่าเกษตรกรเป็นคนที่ภูมิใจในตัวเอง และไม่ชอบให้คนนอกสั่งให้ทำตาม สองสามีภรรยาจึงตั้งใจทำงานให้ดู ทำให้ชุมชนสนใจอยากรู้และเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้กัน

“เกษตรกรต้องการการศึกษา นายทุนเข้าไปขายฝันว่าถ้าคุณปลูกนั่นปลูกนี่คุณจะมีเงิน แล้วพอถึงเวลาเก็บเกี่ยว ผลผลิตไม่ได้มาตรฐานก็ไม่ซื้อหรือกดราคาจนได้เงินน้อยมาก เงินไม่พอก็ต้องไปกู้ธนาคารหรือเจ้าหนี้อื่นๆ จะเลิกก็ไม่ได้เพราะติดสัญญา เราอยากให้เขาเห็นว่ามันมีทางเลือกอื่น บางคนโชคดีมากนะคะที่มีที่ดินกว้างๆ เป็นมรดก เขาไม่ได้จน แต่ต้องหาวิธีใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้มากที่สุด ถ้าคนไทยปลูกพืชหลายๆ อย่างได้ ราคาก็จะถูกลง แล้วเราก็จะได้ทานสินค้าที่ดีขึ้นมาหน่อย” เมเอ่ยอย่างมีความหวัง

“ผมอยากให้เกษตรกรไทยเห็นทางเลือกอื่นๆ นอกจากปลูกผักผลไม้ให้นายทุน แล้วให้นายทุนกำหนดปริมาณและราคาทุกเดือน อย่าทำแบบนั้น มีช่องว่างที่กว้างมากระหว่างสวนและโรงแรมใหญ่ๆ เราควรทำให้ช่องว่างนั้นลดลง โรงแรมใหญ่ในเมืองไทยมีเยอะมาก ถ้าร้านอาหารและโรงแรมทุกแห่งในเมืองไทยตัดสินใจสนับสนุนเกษตรกรไทย แล้วซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรง เมื่อผลผลิตขาดก็เปลี่ยนเมนูเพื่อสนับสนุนเกษตรกร หรือถ้าโรงแรมมีที่ที่เขาใหญ่หรือเชียงราย ก็ทำสวนของตัวเองให้โรงแรมในเครือซื้อ แบบนี้ทุกคนก็อยู่ได้” เชฟมิชลินกล่าวปิดท้าย

ในวงการเกษตรกรรม สวนผักออร์แกนิก 2 ไร่ของพวกเขาช่างเล็กกระจ้อยร่อย แต่ความฝันและความตั้งใจของคู่รักเกษตรกรแห่งปราณบุรียิ่งใหญ่ และจำเป็นเหลือเกินกับโลกใบนี้

Facebook : Boutique Farmers Pak Nam Pran

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ