ผมเชื่อว่าถ้าผมพูดชื่อวัดนี้เป็นภาษาเมียนมาหลายคนอาจจะไม่รู้จัก แต่เชื่อเถอะครับว่าหลุดชื่อที่คนไทยนิยมเรียก ผมเชื่อว่าใครๆ ก็รู้จัก เพราะที่นี่คือวัดที่ใครก็ตามที่ซื้อทัวร์ไปเที่ยวเมืองย่างกุ้งจะต้องไป ไม่ว่าคุณจะไป 3 วัน หรือแม้แต่ One-day Trip ก็ตาม ก็จะต้องมีชื่อของวัดนี้อยู่ในรายชื่อแน่นอนครับ ผมเชื่อว่าคำตอบในใจบางท่านอาจจะเป็นเจดีย์ชเวดากอง แต่ผิดครับ ผมจะไปชมวัดโบตะทาวน์ (Botataung Pagoda) (เมียนมานิยมใช้คำว่า Pagoda แทนคำว่า วัด มากกว่าคำว่า Temple) หรือที่คนไทยชอบเรียกว่า ‘วัดเทพทันใจ’ ครับผม

หาคำตอบเรื่องโบโบจีนัตแห่ง วัดโบตะทาวน์ ย่างกุ้ง ผู้ไม่เคยเป็นเทพทันใจ ว่าชี้นิ้วไปที่ไหน

โบ แปลว่า ทหาร ตะทาวน์ แปลว่า หนึ่งพัน ดังนั้น ชื่อ โบตะทาวน์ จึงมีความหมายว่า วัดทหารพันนาย ซึ่งชื่อนี้มีที่มาจากตำนานการสร้างวัดซึ่งมี 2 เวอร์ชัน 

เวอร์ชันแรกเล่าว่า เมื่อครั้งตปุสสะและภัลลิกะ สองพ่อค้า ได้รับพระเกศาธาตุและพระอัฐิธาตุจากอินเดีย (ชาวเมียนมาเชื่อว่าทั้งสองเป็นชาวเมียนมา) ทั้งสองได้อัญเชิญมายังเมืองมอญ พระเจ้าสีหะทิปะ กษัตริย์มอญในสมัยนั้น มีพระราชโองการให้ทหาร 1,000 นาย มาคอยรอรับพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าว ก่อนที่จะอัญเชิญข้ามแม่น้ำไปประดิษฐานไว้ที่เจดีย์ชเวดากอง และได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุบางส่วนแล้วสร้างพระเจดีย์บรรจุเอาไว้ 

ส่วนตำนานเวอร์ชันที่ 2 เล่าว่า ในสมัยของพระเจ้าโอกกะละปะ กษัตริย์มอญแห่งเมืองตะโก่ง (ย่างกุ้ง) มีพระสงฆ์ 8 รูป อัญเชิญพระเกศาธาตุมาจากอินเดีย พระองค์จึงมีพระราชโองการให้ทหาร 1,000 นาย ไปตั้งแถวสักการะ พร้อมสร้างเจดีย์โบตะทาวน์ไว้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุนั้น แม้ตำนานจะมี 2 เวอร์ชัน แต่รายละเอียดใกล้เคียงกันมาก และจะมีสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ นั่นก็คือ ทหาร 1,000 นาย ที่เป็นที่มาของชื่อวัดครับผม 

แต่ต่อมาได้เกิดเรื่องน่าเศร้าขึ้นกับวัดแห่งนี้ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดมาโจมตีเมืองย่างกุ้งที่ในเวลานั้นยังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ การทิ้งระเบิดครั้งนั้นได้ทำลายเจดีย์โบตะทาวน์จนพังทลาย แต่ในโชคร้ายก็ยังมีโชคดี เพราะในครั้งนั้นชาวบ้านได้พบสถูปจำลองที่บรรจุพระเกศาธาตุและพระบรมสารีริกธาตุ ตลอดจนข้าวของมีค่าต่างๆ มากมาย ซึ่งส่วนหนึ่งก็จัดแสดงภายในวัด ส่วนที่เหลือถูกนำไปเก็บในสถานที่ปลอดภัย

โบตะทาวน์มีเจดีย์เป็นประธานของวัด โดยบริเวณทางเข้าด้านหน้าจะเป็นทางเดินที่มีภาพประวัติของเจดีย์องค์นี้พร้อมคำบรรยายภาษาเมียนมาและภาษาอังกฤษ พร้อมกับมีส่วนที่จัดแสดงผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในตู้กระจกและข้าวของมีค่าจากเจดีย์ ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์ พระพุทธรูปขนาดเล็กหลายวัสดุซึ่งบางชิ้นเก่าแก่ถึงสมัยพุกามเลยก็มี อ้อ ตามช่องประตูจะมีธนบัตรนานาชาติจากทั้งชาวเมียนมาและชาวต่างชาติ ธนบัตรสกุลเงินบาทของเราก็มีนะครับ ลองหากันดู

หาคำตอบเรื่องโบโบจีนัตแห่ง วัดโบตะทาวน์ ย่างกุ้ง ผู้ไม่เคยเป็นเทพทันใจ ว่าชี้นิ้วไปที่ไหน
หาคำตอบเรื่องโบโบจีนัตแห่ง วัดโบตะทาวน์ ย่างกุ้ง ผู้ไม่เคยเป็นเทพทันใจ ว่าชี้นิ้วไปที่ไหน
หาคำตอบเรื่องโบโบจีนัตแห่ง วัดโบตะทาวน์ ย่างกุ้ง ผู้ไม่เคยเป็นเทพทันใจ ว่าชี้นิ้วไปที่ไหน

พออกมาเราก็จะเจอเจดีย์ประธานของวัดแห่งนี้ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเจดีย์แบบมอญ เพราะพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศเมียนมาปัจจุบันเดิมเป็นรัฐของมอญมาก่อน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเมืองย่างกุ้ง เมืองพะโค เมืองพะสิม ล้วนแต่เต็มไปด้วยเจดีย์มอญทั้งสิ้น 

แต่เจดีย์องค์ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันเป็นองค์ที่สร้างขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2486 แทนที่องค์เดิมที่ถูกทำลายไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ผมก็ไม่แน่ใจว่าดั้งเดิมแล้วเจดีย์องค์นี้หน้าตาเป็นอย่างไร แต่ก็เชื่อว่าสิ่งที่เราเห็นในปัจจุบันน่าจะมีรูปแบบใกล้เคียงสภาพก่อนพังทลาย (แม้จะไม่เคยเห็นภาพถ่ายเก่าเจดีย์องค์นี้ก็ตาม) ซึ่งถ้าดูเผินๆ เจดีย์องค์นี้จะคล้ายกับเจดีย์ชเวมอดอหรือพระธาตุมุเตา พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ของเมืองพะโค อยู่หลายส่วนเลยทีเดียว

หาคำตอบเรื่องโบโบจีนัตแห่ง วัดโบตะทาวน์ ย่างกุ้ง ผู้ไม่เคยเป็นเทพทันใจ ว่าชี้นิ้วไปที่ไหน

อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นสิ่งสำคัญของวัดแห่งนี้ก็คือพระพุทธรูปนันอูครับ พระพุทธรูปองค์นี้ตั้งอยู่ในวิหารทางทิศเหนือ หรือทางขวามือของเจดีย์นั่นเอง พระพุทธรูปสำริดองค์นี้พระเจ้ามินดงโปรดให้หล่อขึ้นแล้วนำไปประดิษฐานในพระตำหนักแก้วภายในพระราชวังเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับประกอบศาสนกิจภายในพระราชวัง 

ต่อมาในสมัยพระเจ้าสีป่อ หลังจากที่อังกฤษยึดเมืองมัณฑะเลย์ได้แล้ว ใน พ.ศ. 2428 ได้นำพระพุทธรูปองค์นี้พร้อมสิ่งของมากมายไปจากพระราชวัง แล้วจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เมืองโกลกาตา ก่อนจะย้ายไปยัง Victoria and Albert Museum ใน พ.ศ. 2488 ซึ่งเรื่องนี้แม้จะฟังดูแย่ แต่กลับกลายเป็นเรื่องดี เพราะทำให้พระพุทธรูปองค์นี้รอดจากการถูกทำลายไปพร้อมกับพระราชวังเมืองมัณฑะเลย์ ก่อนที่ใน พ.ศ. 2494 จะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้กลับมายังประเทศเมียนมาอีกครั้งในวิหารที่สร้างจากเงินบริจาคของชาวเมียนมา

หาคำตอบเรื่องโบโบจีนัตแห่ง วัดโบตะทาวน์ ย่างกุ้ง ผู้ไม่เคยเป็นเทพทันใจ ว่าชี้นิ้วไปที่ไหน

พระพุทธรูปองค์นี้ยังถือเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดของเมียนมา ซึ่งคำยกย่องนี้ผมเองก็เห็นด้วยอย่างไร้ข้อกังขา เพราะไม่ว่าจะเป็นพระพักตร์ พระวรกาย อิริยาบถ ล้วนถูกออกแบบมาอย่างงดงามลงตัวและหล่อด้วยเทคนิคชั้นสูง 

พระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่บนสีหาสนบัลลังก์จำลอง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในพระพุทธรูปศิลปะพม่าที่สร้างตั้งแต่สมัยมัณฑะเลย์มาถึงปัจจุบัน แม้แต่วัดพม่าในประเทศไทยหลายวัดก็ทำเช่นกัน ทีนี้ สีหาสนบัลลังก์คืออะไร สีหาสนบัลลังก์คือราชบัลลังก์ที่พระมหากษัตริย์ประทับเวลาออกว่าราชการ และถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่รอดจากการถูกทำลายไปได้ เพราะอังกฤษนำไปไว้ที่เมืองโกลกาตาเช่นเดียวกับพระพุทธรูปนันอู ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมียนมา เมืองย่างกุ้ง

พระพุทธรูปนันอู
พระพุทธรูปนันอู

นอกจากเจดีย์และพระพุทธรูปแล้ว วัดแห่งนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานของนัตถึง 2 องค์ด้วยกัน ซึ่งทั้งสองถือเป็นนัตซึ่งเป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยที่ไปวัดนี้ บางทีอาจจะมากกว่าพระพุทธรูปนันอูด้วยซ้ำ แถมยังเป็นนัตที่คนไทยเข้าใจเรื่องราวของท่านแบบผิดๆ มากที่สุดองค์หนึ่งอีกด้วย

แต่ก่อนจะไปกันถึงเรื่องของนัตทั้งสอง เรามารู้จัก ‘นัต’ กันก่อนครับ นัตถือเป็นเรื่องความเชื่อพื้นเมืองของเมียนมาที่มีมาตั้งแต่ก่อนการเข้ามาของพุทธศาสนา นัตคือวิญญาณ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งวิญญาณบรรพบุรุษ วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ หรือเทพยดา นัตนั้นมีอยู่มากมาย ทั้งนัตหลวง 37 ตน หรือนัตพื้นเมืองอื่นๆ แต่หนึ่งในนัตที่น่าจะเป็นที่รู้จักมากที่สุดในหมู่คนไทยก็คือ โบโบจีนัต หรือเทพทันใจที่คนไทยชอบเรียกกันนั่นล่ะครับ

โบโบจี หรือโบโบยี มีความหมายว่า พ่อปู่ หรือพ่อใหญ่ ท่านถือเป็นนัตสำคัญ เพราะเป็นผู้ชี้สถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการสร้างเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระเกศาธาตุที่สองพ่อค้าอัญเชิญมา ซึ่งก็คือ ‘เขาสิงคุตตระ’ สถานที่ประดิษฐานพระธาตุของพระอดีตพุทธเจ้ามาก่อน และต่อมาได้กลายเป็นสถานที่สร้างเจดีย์ชเวดากอง 

ว่าง่ายๆ ก็คือ นิ้วท่านที่ชี้ไปนั้นคือการชี้เพื่อบอกสถานที่สร้างเจดีย์ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการดลบันดาลให้สิ่งที่เราขอเป็นจริงแต่อย่างใด แถมจริงๆ แล้วโบโบจีนัตยังมีศาลอยู่หลายแห่งในเมืองย่างกุ้ง และศาลที่คนเมียนมานิยมไปไหว้จริงๆ ก็คือศาลที่เจดีย์สุเล ไม่ใช่ที่นี่ ยิ่งไปกว่านั้น วิธีการบูชาโดยนำธนบัตรใส่ในมือของท่าน 2 ใบ หลังจากไหว้ก็นำกลับมา 1 ใบ หยอดบริจาค 1 ใบ แล้วเอาหน้าผากสัมผัสกับนิ้วของท่านที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้นั้นเป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่โดยคนไทยเราเองนี่แหละ เพราะชาวเมียนมาแต่เดิมบูชานัตด้วยเครื่องบูชา ประกอบไปด้วยกล้วย มะพร้าว หมาก เมี่ยง ดอกไม้ ใบหว้า แต่เราทำกันจนแม้แต่คนเมียนมาทุกวันนี้ก็เริ่มเอาอย่างเราแล้ว

(ในหอนี้ยังมีนัตอีก 2 องค์นะครับ คือตะจามิน หรือนัตพระอินทร์ และถุระถะดี หรือนัตพระสรัสวดี อยู่ด้วย แต่คนไทยไม่ค่อยได้ไปไหว้เท่าไหร่)

โบโบจีนัต

อีกหนึ่งนัตที่ถูกเข้าใจผิดก็คือ เมียะนางนเว หรือเทพกระซิบ ที่คนไทยจะต้องไปกระซิบข้างหูขอพร ซึ่งหลายคนมักจะเข้าใจว่าท่านเป็นนางนาคที่ถือศีลไม่กินเนื้อจนตาย แต่จริงๆ แล้วท่านเป็นนัตเจ้าหญิงเชื้อสายไทใหญ่ที่ทรงศรัทธาพุทธศาสนาตั้งแต่ทรงพระเยาว์และโปรดการสวดมนต์นั่งสมาธิ ต่อมาโบโบจีนัตได้ไปเข้าฝันให้พระองค์เสด็จมายังเมืองย่างกุ้งและดูแลเจดีย์โบตะทาวน์ ซึ่งพระองค์ก็ทรงทำต่อเนื่องเรื่อยมา หลังจากสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2499 พระญาติของพระองค์ก็สร้างศาลให้ที่วัดแห่งนี้ 

การบูชาก็ใช้เครื่องบูชาแต่ดั้งเดิมของท่าน เช่นเดียวกับโบโบจีนัต ไม่ได้มีการกระซิบแต่อย่างใด การกระซิบนี้เกิดจากความเข้าใจผิดว่าท่านไม่ชอบถูกรบกวน 

โบโบจีนัต

อย่างไรก็ดี ผมไม่ได้บอกว่าการที่ท่านจะเชื่อหรือศรัทธานัตทั้งสองหรือวิธีการขอพรที่นิยมทำกันในปัจจุบันเป็นเรื่องผิดนะครับ ผมไม่ได้มีจุดประสงค์จะหักล้างทำลายความเชื่อนี้แต่อย่างใด แม้จะเป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในสมัยหลังก็ตาม เพียงแต่ผมอยากนำเสนอข้อมูลอีกมุมหนึ่งที่อาจทำให้การไปชมวัดแห่งนี้น่าสนใจมากขึ้น มีเรื่องราวมากขึ้นกว่าที่จะเดินเข้าไปในวัดแห่งนี้เพื่อบูชานัตเพียงอย่างเดียว

ป.ล. หากผมออกเสียงภาษาเมียนมาคำใดผิดไปก็ต้องขออภัยด้วยครับ ผมพยายามเลือกคำที่น่าจะคุ้นหาคนไทยมากสักหน่อย เลยอาจจะไม่ได้ถูกต้องตามหลักภาษาจริงๆ ครับ

เกร็ดแถมท้าย

  1. โบตะทาวน์ถือเป็นหนึ่งในวัดไม่กี่แห่งในเมืองย่างกุ้งที่เสียค่าเข้า 5 USD หรือ 6,000 MMK ครับ ที่นี่เสียค่าเข้าโดยไม่มีค่ากล้องครับ ตัววัดตั้งอยู่ทางใต้ของเมือง การเดินทางถ้าไปเองจะปั่นจักรยาน เหมารถ หรือจะนั่งรถเมล์ไปก็ได้ครับ เอาที่แต่ละท่านสะดวกกันเลยครับ
  2. ของไหว้นัตทั้งสองของวัดนี้ตามมาตรฐานเมียนมาหาซื้อได้ในวัดเลยครับ แต่ถ้าจะเตรียมมาเองก็ได้เช่นกัน
  3. ถ้าชอบเจดีย์ เมืองย่างกุ้งยังมีเจดีย์ที่น่าสนใจอีกหลายองค์ ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์ชเวดากองที่ถือเป็นไฮไลต์ของเมือง เจดีย์สุเลที่อยู่กลางวงเวียนก็ถือว่างาม ทั้งสององค์นี้ถือเป็นเจดีย์แบบมอญมาตรฐานที่กลายเป็นต้นแบบของเจดีย์มอญในเมืองไทยหลายองค์เลย และทั้งสองวัดเสียค่าเข้าทั้งคู่ครับ (ชเวดากอง 10,000 MMK สุเล 3,000 MMK)

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ