แน่นอนว่าเรื่อง ‘เงิน’ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับคนสมัยนี้ เราบางคนแอบฝันจะเก็บเงิน และเราบางคนแอบเก็บเงินไปตามฝัน ดังนั้น คงดีไม่น้อยถ้าเรามีแหล่งเรียนรู้ที่ช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องใหญ่ในกระเป๋า (สตางค์) ของเรา วันนี้เราจึงขอพาไปรีวิว ‘ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย’ ที่นอกจากจะมีพื้นที่ห้องสมุดและ Co-working Space อันเก๋ไก๋ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เขาเพิ่งจะแกะกล่อง 2 นิทรรศการใหม่ที่พาผู้ชมย้อนไปดูอดีตของการเงินประเทศไทย และมองไปยังอนาคตการเงินของเราเองด้วย

นิทรรศการทั้งสองนี้อยู่ด้านในของศูนย์การเรียนรู้แบงก์ชาติ เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันทำการของศูนย์ฯ สำหรับนิทรรศการแรกนั้นมีวิธีสังเกตหาได้ง่ายๆ คือ ตรงทางเข้าจะมีลายเซ็นสีทองขนาดใหญ่ของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย จารึกอยู่บนผนังเห็นเด่นเป็นสง่า ว่าแต่ท่านคือใคร? ลายเซ็นนี้มีความสำคัญอย่างไร? เราได้รับเกียรติจาก คุณนวพร มหารักขกะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายวางแผนและงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย มาช่วยเล่าเรื่องราวเนื้อหาของนิทรรศการนี้อย่างลึกซึ้ง

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

“นิทรรศการพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยเป็นเรื่องราวที่มีบริบทร่วมสมัย พระองค์เป็นผู้ก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และทรงเป็นต้นแบบของผู้มีความสามารถที่มีความวิริยะอุตสาหะ ยึดมั่นในหลักการ ซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานของพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยสืบมาจวบจนปัจจุบัน”

ในห้องจัดแสดง เราย่างก้าวกลับไปสู่สมัยรัชกาลที่ 5 ในยุคที่อิทธิพลของชาติตะวันตกประชิดเข้ามาในรูปแบบของการล่าอาณานิคม รวมถึงการแทรกแซงและกุมอำนาจทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งในครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ประพาสยุโรปพร้อมด้วยพระอนุชาคือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (พระบิดาของพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย) ทรงเห็นความสำคัญว่าประเทศไทยจะต้องมีสถาบันทางเศรษฐกิจ จึงเป็นที่มาของแนวคิดการตั้ง National Bank ซึ่งต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจทั้งด้านเศรษฐกิจการเงิน การเมืองระหว่างประเทศ และด้านอื่นๆ ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงส่งพระราชโอรสและพระราชนัดดา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยไปศึกษายังต่างประเทศ เพื่อนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาประเทศ

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

กระบวนการจัดตั้งธนาคารกลางได้ล่วงเลยเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อทหารญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย ทางญี่ปุ่นตั้งข้อเรียกร้องด้านการเงินกับไทย 3 ประการ ข้อแรกคือ ขอตั้งธนาคารกลาง โดยที่ธนาคารกลางนั้นจะบริหารจัดการโดยคนญี่ปุ่น ไม่มีคนไทย ข้อที่สองคือ ขอให้การค้าขายทั้งหมดที่ทำกับญี่ปุ่นชำระด้วยเงินเยน ซึ่งแปลว่าเมื่อขายของกับญี่ปุ่นก็จะได้เฉพาะเงินเยนมา และไม่สามารถนำไปค้าขายแลกเปลี่ยนกับประเทศอื่นๆ ได้ ถือเป็นการล็อกเศรษฐกิจของไทยให้ผูกอยู่กับญี่ปุ่น ข้อที่สามคือ ขอให้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยน 1 บาทต่อ 1 เยน เท่ากับเป็นการลดค่าเงินบาทไปถึง 30%

“พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยซึ่งในตอนนั้นเป็นที่ปรึกษารัฐบาลไทยตรัสว่า เรื่องที่ยอมไม่ได้เด็ดขาดคือเรื่องการให้ต่างชาติมาตั้งธนาคารกลางแล้วบริหารจัดการโดยคนต่างชาติ เพราะมันเท่ากับการสูญเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศ เลยตรัสว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะตั้งธนาคารกลางเอง มีคนของเราที่พร้อมจะบริหารกิจการของธนาคารกลางเอง และทรงต่อรองว่ายอมให้ทางญี่ปุ่นได้ 2 ข้อที่ขอมา” คุณนวพรอธิบาย

ที่เรียกว่าเป็นการรักษาอธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพราะธนาคารกลางคือคนที่ดูแลควบคุมปริมาณเงินและการไหลเวียนของเงินทั้งระบบ ซึ่งเปรียบเสมือนสายเลือดทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่การบริหารปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจของไทย และปริมาณเงินตราต่างประเทศที่มีอยู่เพื่อรองรับการค้าขายระหว่างประเทศ ไปจนถึงการพิมพ์ธนบัตร และที่จะขาดไม่ได้คือ การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะปล่อยเงินและสูบเงินเข้าระบบ ทั้งหมดยังอยู่ในมือคนไทย เพราะธนาคารกลางมิได้ตั้งโดยต่างชาติ ซึ่งคนที่ได้เข้ามาชมนิทรรศการจะสามารถพลิกดูเอกสารหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ได้ในหน้าหนังสือแบบดิจิทัล มีไฮไลต์ส่วนเนื้อหาที่สำคัญๆ ไว้ให้อ่านอย่างสะดวก

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ประเทศไทยอยู่ฝั่งแพ้สงคราม แต่พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยสามารถนำพาให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF และธนาคารโลกได้ ซึ่งการเข้าร่วมเป็นสมาชิกตั้งแต่แรกทำให้ไทยมีสิทธิ์มีเสียงในเรื่องการวางกรอบกติการะบบการเงินของโลก เรียกได้ว่าผลงานของท่านได้วางรากฐานที่สำคัญให้กับระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศอย่างแท้จริง

“สิ่งหนึ่งที่ทรงฝากไว้จริงๆ ก็คือเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ตอนที่ทรงตั้งแบงก์ชาติ ทรงตั้งคำถามว่าใครคือคนที่จะมาทำงานให้แบงก์ชาติ มีคุณสมบัติมากมายที่สำคัญ แต่ข้อแรกที่ทรงเขียน และทรงเขียนด้วยลายพระหัตถ์คือ ความสุจริต เพราะว่าจะเป็นธนาคารกลางได้ต้องได้รับความไว้วางใจ ความเชื่อมั่นจากคนไทย และจากชาวโลกด้วย”

นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงแสดงให้เห็นความมั่นคงในหลักคุณธรรมนั้นด้วยการยอมลาออกเพื่อรักษาหลักการของพระองค์ เมื่อเกิดประเด็นตอนแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อช่วงสงครามโลก ทรงเห็นว่านโยบายการแก้ปัญหาของรัฐบาลไม่ถูกต้อง แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุน และถูกแรงกดดันให้ปฏิบัติตาม ทรงพยายามชี้แจงด้วยหลักการและชี้ให้เห็นถึงผลร้าย แต่ถึงที่สุดแล้วยังไม่สามารถโน้มน้าวให้ทิศทางของนโยบายเปลี่ยนได้ จึงทรงลาออก สะท้อนจิตใจที่ยึดถือหลักการและความถูกต้องมากกว่าตำแหน่งอีกด้วย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

เรียกได้ว่านิทรรศการแรกนี้เน้นการเรียนรู้ผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ผ่านวิสัยทัศน์และแนวคิดของ ‘วีรบุรุษ’ แห่งวงการการเงินแห่งประเทศไทย ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการนำเสนอในนิทรรศการถัดมาที่ชื่อว่า ‘นิทรรศการความรู้ทางการเงิน BOT Money Terminal’ นิทรรศการชุดนี้จะเน้น Interactive ชวนให้ทุกคนมองไปในอนาคต โดยเปรียบการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคลเป็นการเดินทางไปสู่จุดหมายที่ตั้งไว้

คุณชนาธิป จริยาวิโรจน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน เล่าถึงที่มาที่ไปให้เราฟังว่า จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชี้ว่า ประชาชน Gen Y ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศระยะต่อไป มีปัญหาเรื่องหนี้สิน และมีจำนวนมากที่เป็นหนี้ตั้งแต่อายุก่อน 30 ปี แถมยังมีโอกาสที่จะชำระหนี้ไม่ได้ด้วย! เมื่อประกอบกับการที่ผู้มาใช้บริการจำนวนมากของแบงก์ชาติเป็นนักศึกษาซึ่งเป็น Gen Y ด้วยแล้ว จึงเหมาะมากที่จะทำนิทรรศการเพื่อให้ความรู้ทางด้านการเงินที่เน้นจับคนกลุ่มนี้

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

โซนแรกของนิทรรศการก็คือ ‘Booking’ ซึ่งคล้ายกับการกรอกข้อมูลเพื่อจองตั๋วเครื่องบิน แต่สิ่งที่กรอกคือข้อมูลเกี่ยวกับตัวเอง รวมถึงพฤติกรรมด้านการเงินด้วย เช่น มีค่าใช้จ่ายหมวดอะไรบ้างในแต่ละเดือน มีรายได้ หนี้สิน เท่าไหร่ แล้วโปรแกรมก็จะให้ตั้งเป้าหมายด้านการเงิน ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ อย่างการเก็บเงินซื้อสมาร์ทโฟนใหม่ ไปจนถึงการเก็บเงินเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณ จากนั้นโปรแกรมก็จะวิเคราะห์สุขภาพทางการเงินของแต่ละคน แล้วประเมินว่าเป็นไปได้ไหมที่จะเก็บเงินได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ต่อไปยังโซนที่ 2 ‘Check-in’ พอมาถึง ก็จะให้เลือกรหัสเที่ยวบินในหน้าจอที่มีชื่อเราอยู่ จะมีข้อมูลที่ได้กรอกไว้ขึ้นมา จากนั้นจะเป็นการวัดความรู้ด้านทักษะทางการเงิน ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ หรือการบริหารจัดการหนี้และการระวังป้องกันภัยทางการเงินต่างๆ หากตอบผิดก็จะมีเฉลยและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเงินเด้งขึ้นมา ซึ่งระดับทักษะทางการเงินนี้จะสะท้อนออกมาเป็นสถานการณ์ในโซนที่ 3 ต่อไป

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

โซนที่ 3 ‘Take Off’ จะมีรูปตัวเองที่ต้องถ่ายตอนกรอกข้อมูลที่โซน 1 มาขึ้นเป็นหน้าตัวละครอยู่ในเครื่องบินบน Kinetic Wall ซึ่งเป็นจอที่มีการขยับเคลื่อนไหวได้ตามการเคลื่อนไหวของภาพแอนิเมชันในสกรีน ประเภทของเครื่องบินและสถานการณ์จำลองต่างๆ ที่สัมพันธ์กับข้อมูลซึ่งกรอกมาตั้งแต่ต้น เช่น ประเภทของเครื่องและสมรรถนะที่เป็นไปตามสุขภาพทางการเงินของแต่ละคน และถ้ามีภาระหนี้สินเยอะ ก็จะมีลมต้านเยอะ แทนอุปสรรคที่ทำให้ออมเงินและลงทุนได้ช้า ความรู้ในสิทธิและหน้าที่ทางการเงินก็จะสะท้อนออกมาในระดับเพดานบินที่ต่างกัน ถ้าความรู้ดีก็จะบินได้สูง เป็นต้น ซึ่งการจำลองแบบนี้จะทำให้เห็นว่าตัวเองอยู่ในสภาพทางการเงินแบบไหนก่อนจะไปถึงจุดหมาย

“เราพบว่าคนไทยส่วนใหญ่คิดว่าอยากจะออมเงิน แต่จริงๆ แล้วไม่สามารถออมได้ตามที่ตัวเองคิดไว้เลยค่ะ น้อยมาก มีคนกว่า 1 ใน 3 ที่ไม่มีเงินออม ส่วนเงินออมฉุกเฉิน ถ้าเราไม่มีเก็บออมไว้เลย สมมติเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินปั๊บ เช่น โทรศัพท์เสีย เกิดอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วย เราก็อาจจะเป็นหนี้ทันที ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ไม่แน่ใจว่ามีหรือมีไม่ถึง 3 เดือน จริงๆ แล้วหลักการที่ถูกต้อง ดีที่สุด ต้องมีเงินออมฉุกเฉิน 6 เดือนค่ะ”

นอกจากนี้ คุณชนาธิปยังย้ำถึงความสำคัญของการตรวจสุขภาพการเงินว่า ถ้าให้ดีควรทำทุกปี เหมือนกับการตรวจสุขภาพร่างกาย และนิทรรศการนี้ก็ออกแบบมาให้สามารถเล่นได้หลายครั้ง เช่น เมื่อค่าใช้จ่าย รายได้ หนี้สิน เปลี่ยนไป หรือมีเป้าหมายใหม่ๆ ก็สามารถกลับมากรอกข้อมูลเพื่อประเมินใหม่ได้อีก แถมยังมีแอพชื่อ ‘BOT Money Terminal’ ให้เล่นจากมือถือได้ด้วย

แม้ทั้งสองนิทรรศการจะแตกต่างกันมาก แต่ทั้งคุณนวพรและคุณชนาธิปต่างย้ำว่า พันธกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยคือการสร้างความรู้ทางการเงินและภูมิคุ้มกันทางการเงินที่มั่นคงให้กับคนไทย ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะชอบเรียนรู้แบบไหน เราคิดว่าทั้งสองนิทรรศการนี้ก็อาจจะช่วยคุณคิดถึงเรื่องการบริหารเงินทั้งในระดับประเทศและระดับปัจเจกได้ไม่มากก็น้อย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

เลขที่ 273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
โทรศัพท์ 023567766
อีเมล [email protected]
เวลาทำการ 09.30 – 20.00 น. ทุกวันยกเว้นวันจันทร์
ไม่เสียค่าเข้าชม

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan