ตอนนี้เมืองไทยมีรายการวิ่งมากถึง 1,500 รายการทั่วประเทศ มีนักวิ่งทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกว่า 15 ล้านคนที่สนใจการวิ่งแข่งขันในแต่ละปี

ความสนใจในกีฬาใช้ฝีเท้าที่มากมายมหาศาล ทำให้ภาครัฐและเอกชนอยากสนับสนุนกีฬานี้อย่างจริงจัง และผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Sport Destination ของนักท่องเที่ยวที่สนใจกีฬา

“เป้าหมายพื้นฐานของเราคือสุขภาพของประชาชนชาวไทย ตามมาด้วยการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในเรื่องการรักษาพยาบาล แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนร่วมมือกันมาทำตรงนี้ คือทำให้กีฬาสร้างรายได้ให้ประชาชน สร้างอุตสาหกรรมกีฬาให้คนในจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นที่พัก อาหาร โรงแรม ขนส่งในจังหวัดควรมีรายได้ ถ้าภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนให้งานวิ่งในเมืองไทยได้มาตราฐานระดับโลก นักท่องเที่ยวด้านกีฬาจะหลั่งไหลเข้ามาอีก” 

ทนุเกียรติ จันทร์ชุ่ม ผอ. การฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย

ทนุเกียรติ จันทร์ชุ่ม ผอ. การฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย ตัวแทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอธิบายในฐานะตัวแทนภาครัฐ

“แต่ก่อนประเทศไทยเรามุ่งเน้นการส่งออก พอการส่งออกลดลง ก็มีการท่องเที่ยวนี่แหละที่เป็นตัวสร้าง GDP ให้เติบโต จากประสบการณ์ที่เราดึงงานใหญ่ๆ ไปลงในเมืองต่างๆ คนในเมืองทั้งทางราชการ เอกชน หรือประชาชนทั่วไป เขาพอใจเพราะงานจะช่วยเศรษฐกิจในพื้นที่เขา ของที่ชาวบ้านทำก็ขายได้ มีการประชาสัมพันธ์เมืองเขาให้คนได้รู้จักมากขึ้น 

“บ้านเราได้เปรียบที่โลเคชันใจกลางอาเซียน สถานที่ท่องเที่ยวแต่ละภาคก็สวยงามหลากหลาย คนไทยมีอัธยาศัยดี เป็นเจ้าบ้านที่มีมิตรไมตรีอยู่แล้ว พอมีงานวิ่งหรือกิจกรรมอื่นที่มีคุณภาพเข้ามา ก็ช่วยทำให้เศรษฐกิจแต่ละที่ดีขึ้น”

ศุภวรรณ ตีระรัตน์ รอง ผอ. สายงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (สสปน. หรือ TCEB) อธิบายเหตุผลที่หน่วยงานของเธอสนับสนุนการยกระดับมาตรฐานของการจัดงานวิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางหรือการจัดงานที่ได้มาตราฐานของสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (IAAF) จะทำให้เกิดการยกระดับงานและบุคลากรไปโดยอัตโนมัติ

TCEB ตั้งใจสนับสนุนให้นักจัดงานชาวไทยจัดการแข่งขันได้ตามมาตรฐานนานาชาติ สร้างเครือข่ายให้พวกเขาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และช่วยกันพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬาในบ้านเราเอง

ศุภวรรณ ตีระรัตน์ รอง ผอ. สายงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (สสปน. หรือ TCEB)

ด้วยเหตุผลนี้เอง Global Running Summit 2019 การประชุมวิ่งมาราธอนจึงถูกจัดขึ้นที่เชียงราย โดยมีวิทยากรจากงานวิ่งระดับโลกมาให้ความรู้ด้านการจัดแข่งขัน

สำหรับบางคน โตเกียว ลอนดอน เบอร์ลิน ชิคาโก นิวยอร์ก และบอสตัน อาจเป็นแค่ชื่อเมืองใหญ่ๆ ในโลก

 แต่สำหรับนักวิ่งมาราธอนจำนวนมาก เมือง 6 เมืองนี้คือจุดหมายในการแข่งขัน คือเส้นชัยที่อยากพิชิตให้ได้สักครั้ง 

ภายในงาน Global Running Summit นี้ กูรูนักจัดงานวิ่งจากเมืองต่างๆ เดินทางมาแบ่งปันเคล็ดลับการจัดงานวิ่งที่ดีและดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก 

คุยกับ Andy Deschenes ผู้จัดงานบอสตันมาราธอน งานวิ่งที่นักวิ่งอยากแข่งมากที่สุดในโลก

หนึ่งในนั้นคือ Andy Deschenes ผู้เป็น Start Line Director ของ Boston Marathon รองประธานของ DMSE Sports จัดงานมาราธอนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และขึ้นชื่อว่าสมัครได้ยากที่สุดในโลก

รายการมาราธอนอายุ 123 ปี ระดับ Gold Label ของIAAF เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์มาราธอน จากเคยเป็นสนามสำหรับนักวิ่งชายเท่านั้น นักวิ่งหญิงก็ต่อสู้ให้โลกเห็นว่าเพศไหนก็วิ่งได้ที่รายการนี้

ในปี 2013 เกิดเหตุวางระเบิดที่บอสตันมาราธอนจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก แต่บอสตันมาราธอนก็ฟื้นตัวกลับมาเป็นที่หมายปองของนักวิ่งทั่วโลกไม่เปลี่ยนแปลง

รายการวิ่งนี้เอาชนะใจผู้คนทั่วโลกอย่างไร มีวิธีการทำงานอย่างไร และคนจัดงานคิดอย่างไรกับการสร้างงานวิ่งดีๆ ที่เมืองไทย ลองไปอ่านความคิดของเขาได้เลย

คุยกับ Andy Deschenes ผู้จัดงานบอสตันมาราธอน งานวิ่งที่นักวิ่งอยากแข่งมากที่สุดในโลก

บอสตันมาราธอนถึงเป็นงานวิ่งที่จัดติดต่อกันได้นานที่สุดในโลก ขนาดช่วงสงครามโลกยังไม่หยุด เคล็ดลับที่ทำให้งานแข่งวิ่งนี้ดึงดูดใจนักวิ่งมาตลอดคืออะไร

ตอนนี้งานวิ่งหลายงานในอเมริกาที่จัดต่อเนื่องมา 45 – 50 ปีแล้วกำลังพยายามตอบคำถามนี้อยู่เหมือนกัน จะทำอย่างไรให้งานวิ่งของเราทันยุคทันสมัย และทำไมนักวิ่งต้องมาวิ่งในงานของเรา บอสตันเลยจุดนั้นไปแล้วเพราะเป็นงานที่เก่าแก่จนกลายเป็นธรรมเนียมไปแล้วว่าถ้าคุณเป็นนักวิ่ง คุณต้องมาบอสตัน ความเก่าแก่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนอยากมาวิ่ง แต่คนจะไม่มาถ้าพวกเขาเจอประสบการณ์แย่ๆ ดังนั้น เราพยายามสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุด เจ๋งที่สุดในทุกปี วันแข่งวิ่งต้องเป็นวันที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขา

การตั้งเกณฑ์ให้สมัครได้ยากมากๆ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนอยากมาด้วยรึเปล่า

ใช่ครับ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมาวิ่งที่บอสตัน งานนี้เลยยิ่งน่าวิ่งเข้าไปอีก เป็นธรรมเนียมไปแล้วว่าการแข่งวิ่งที่บอสตันต้องยาก เราเป็นงานวิ่งงานเดียวในโลกที่ผู้เข้าแข่งขันต้องผ่านมาตรฐานให้ได้ก่อน การสร้างมาตรฐานที่เป็นธรรมก็ยาก ตอนนี้ผมว่ามาตรฐานเราใช้ได้แล้ว แต่มันก็น่าผิดหวังสำหรับคนที่ไม่ผ่านนั่นแหละ

นักวิ่งบอสตันมาราธอนต้องซ้อมหนักมากเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ พวกเขาเป็นคนที่พัฒนาตัวเองสู่ขีดสุดความสามารถ ลำพังการวิ่งมาราธอนก็เป็นเรื่องยากมากๆ แล้ว แต่การสมัครบอสตันมาราธอนให้ผ่าน คุณต้องวิ่งได้เร็วมาก พวกเขาถึงได้ตื่นเต้นและภูมิใจที่ได้เข้าร่วม แค่ได้มาอยู่ที่จุดเริ่มวิ่งก็เป็นความสำเร็จแล้ว

ผมทำงานนี้มา 24 ปีแล้ว ความยากของงานนี้ทำให้การแข่งขันมีความหมายมาก วันก่อนแข่ง นักวิ่งจากทั่วโลกจะมาที่จุดเริ่มวิ่งเพื่อเตรียมตัวและถ่ายภาพเป็นที่ระลึก งานนี้พิเศษมากสำหรับคนมากมาย ความฝันของพวกเขาคือการได้มาวิ่งที่บอสตัน เป็นหน้าที่ของผมที่จะทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นจริงดีเทียบเท่าความคาดหวัง

คุณบอกว่าการเตรียมงานวิ่งใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน แล้วคุณใช้เวลาในการเตรียมงานบอสตันมาราธอนนานแค่ไหน

อย่างน้อย 8 เดือนครับ งานจัดเดือนเมษายน แต่เราเตรียมงานตั้งแต่เดือนกันยายนปีก่อนหน้า เอาจริงๆ ในวันงาน ผมก็วางแผนงานปีถัดไปแล้วนะว่าจะปรับปรุงอะไรบ้าง 

เราจัดงานวิ่งประมาณ 30 งานต่อหนึ่งปีทั่วอเมริกา บอสตันมาราธอนเป็นงานใหญ่ที่สุดในรอบปี นอกจากนั้นก็มีงานวิ่ง 10 กิโลเมตร (มินิมาราธอน) ที่จัดติดต่อกัน 40 – 50 ปี และมีงานวิ่งใหม่ๆ เข้ามาสม่ำเสมอ 80 เปอร์เซ็นต์ของงานวิ่งเหมือนเดิมครับ 

ช่วงที่คนอเมริกันนิยมแข่งวิ่งมากที่สุดคือช่วงไหน

ส่วนใหญ่คือช่วงฤดูใบไม้ผลิและใบไม้ร่วง ช่วงใบไม้ร่วงประมาณกันยายน-ตุลาคมนี่งานชุกที่สุด เราจัดงานวิ่ง 2 – 3 งานในเมืองต่างๆ พร้อมกันในช่วงสุดสัปดาห์ 

คุยกับ Andy Deschenes ผู้จัดงานบอสตันมาราธอน งานวิ่งที่นักวิ่งอยากแข่งมากที่สุดในโลก

อะไรคือความเปลี่ยนแปลงที่คุณเห็นในช่วงเวลาที่จัดงานวิ่งตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

ที่ชัดเจนมากคือเรื่องความปลอดภัย เหตุระเบิดที่บอสตันเปลี่ยนทุกอย่างไปมาก เทคโนโลยีเองก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะ และจะเปลี่ยนมากกว่านี้อีก ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีนะ ผมชอบเทคโนโลยี และเรื่องที่สำคัญที่สุดคือ นักวิ่ง ตอนนี้นักวิ่งประมาณครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง ในช่วง 5 – 10 ปีมานี้ มีผู้หญิงสนใจวิ่งแข่งมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งดีมาก

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จำนวนคนสนใจแข่งวิ่งสม่ำเสมอมาตลอด ไม่ค่อยเปลี่ยน แต่ประเภทการแข่งที่เปลี่ยนไป มาราธอนน้อยลง มีฮาล์ฟมาราธอนมากขึ้น เห็นได้ชัดเลยว่าคนสนใจฮาล์ฟมาราธอนมากครับ

เส้นทางวิ่งบอสตันมาราธอนคล้ายๆ เดิมมาตลอด สิ่งที่ยากที่สุดในการทำหน้าที่เดิมซ้ำๆ ทุกปีคืออะไร

คำถามนี้น่าสนใจ จริงๆ มันไม่เหมือนเดิมทุกปีหรอกครับ คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่ามันเหมือนกัน บอสตันมาราธอนเป็นการวิ่งรอบเมือง เส้นทางเลยซับซ้อน มีถนนและทางแยกมากมาย ผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการจัดงานก็มีเยอะ เป็นความท้าทายที่เราอยากเอาชนะและทำให้งานสมบูรณ์แบบ 

หลังจบงานทุกปีเราจะวิเคราะห์กันว่าอะไรใช้ได้ ใช้ไม่ได้ อะไรควรเปลี่ยน มีหลายอย่างที่เราเห็นแต่นักวิ่งไม่ทันสังเกต เช่น ป้ายสัญลักษณ์ ทุกปีเราจะปรับให้ตัวหนาขึ้น ตัวใหญ่ขึ้น อ่านง่ายขึ้น หรือทำป้ายให้มากขึ้น หรือหาที่ติดป้ายใหม่ เราหมกมุ่นกับเรื่องที่นักวิ่งไม่จำเป็นต้องเห็น เราชอบจัดการเรื่องเล็กๆ และตั้งใจดูแลวิธีที่ผู้คนเข้าร่วมบอสตันมาราธอน เขาจะเริ่มต้นยังไง ประสบการณ์ที่เขาได้รับเป็นยังไง 

เราทุกคนฟังความเห็นของนักวิ่ง อยากฟังว่าเขาวิ่งแล้วเป็นยังไง จุดเริ่มต้นดีมั้ย มีปัญหามั้ย มีอะไรที่เราช่วยได้บ้าง เราตั้งใจฟังมุมมองของนักวิ่งทั้ง 30,000 คน เพื่อหาวิธีทำให้งานสมบูณ์แบบที่สุด

ความเห็นของนักวิ่งมาจากทางไหนบ้าง

เราได้รับความเห็นออนไลน์ ข้อความเสียง ผู้คนมาบอกเอง เวลาผมเดินไปไหนในงานบอสตันมาราธอน คนจะเข้ามาหาแล้วบอกว่าการแข่งขันเป็นยังไงบ้าง เราต้องตั้งใจฟัง เพราะความเห็นจะมาหาเราเสมอ หลายความเห็นน่าสนใจ เพราะเรารู้รายละเอียดทุกอย่างว่าทำไมต้องจัดการแบบนี้ บางครั้งจะมีคนบอกว่า ทำไมไม่แก้ปัญหาแบบนั้นแบบนี้ล่ะ แต่ปัญหาเดียวอาจมีเหตุผลเบื้องหลังสัก 15 ข้อที่ทำให้เปลี่ยนได้หรือเปลี่ยนไม่ได้ 

ในสายตาของนักวิ่ง วิธีแก้ปัญหาง่ายเสมอ แต่ในสายตาคนทำงาน เรารู้ว่าข้อจำกัดของงานคืออะไร และบางอย่างก็เปลี่ยนไม่ได้ 

เช่นอะไรบ้าง

บอสตันมีพื้นที่จำกัด บางคนอยากให้เราขยายพื้นที่วิ่งใหญ่ขึ้น มีพื้นที่เยอะๆ จะได้วิ่งสะดวก แต่เราไม่มีที่แล้วไงครับ เราขยายพื้นที่ว่างที่มีหมดแล้ว หรือตอนนี้เราปล่อยนักวิ่ง 4 ช่วงเวลา ก็มีคนอยากให้ปล่อยช่วงที่ 5 จะได้รับนักวิ่งให้มากขึ้น แต่นักวิ่งอีกช่วง หมายถึงเวลาที่มากขึ้น หมายถึงบอสตันจะได้รับผลกระทบนานขึ้น 45 นาที ยิ่งมีคนมากขึ้นเท่าไหร่ ระยะเวลาจัดงานก็มากขึ้นเท่านั้น ค่าใช้จ่ายก็มากขึ้น ตำรวจต้องทำงานนานขึ้น ทีมงานต้องอยู่บนท้องถนนนานขึ้น ถามว่าเรารับนักวิ่งมากขึ้นได้มั้ย จัดงานให้ใหญ่ขึ้นได้มั้ย ได้ครับ แต่เราต้องมีพื้นที่และเวลาที่มากกว่านี้ และค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้นมากๆ 

คุยกับ Andy Deschenes ผู้จัดงานบอสตันมาราธอน งานวิ่งที่นักวิ่งอยากแข่งมากที่สุดในโลก
คุยกับ Andy Deschenes ผู้จัดงานบอสตันมาราธอน งานวิ่งที่นักวิ่งอยากแข่งมากที่สุดในโลก

ช่วงที่บอสตันมาราธอนเจอปัญหาหนักอย่างเหตุระเบิด ทำอย่างไรให้คนเชื่อมั่นและอยากกลับมาวิ่งอีกครั้ง

คนมากมายตั้งใจกลับมาวิ่งและไม่ยอมให้เรื่องนี้ขวางความตั้งใจ เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมาก แทนที่จะหวาดกลัว ผลที่ได้กลับตรงกันข้าม คนอยากกลับมาเอาชนะการแข่งขันให้ได้ นอกจากนี้เรายังเจอความท้าทายอื่นๆ อย่างสภาพอากาศ สองปีที่แล้ววันงานอากาศแย่มาก หนาวมาก เปียกมาก หิมะเกือบตก แต่ 4 ปีที่แล้วแดดจ้า อุณหภูมิ 30 องศา ทั้งที่นักวิ่งแถบนั้นซ้อมวิ่งตลอดฤดูหนาวที่หนาวเย็นมาก  

อากาศจะเป็นยังไงเราก็จัดงานอยู่ดี เวลาคนบอกว่าดูเหมือนว่าวันงานฝนจะตกนะ คุณจะทำยังไง คำตอบคือจัดงานต่อ เราแค่ต้องคิดว่านักวิ่งต้องเจออะไรบ้าง ถ้าอากาศร้อน พวกเขาก็ต้องการน้ำ ถ้าอากาศหนาว พวกเขาต้องมีอุปกรณ์กำบังลมฝน ไม่ว่ายังไงก็ตาม บอสตันมาราธอนต้องเกิดขึ้นได้ 

ร้อนหรือหนาว แบบไหนแย่กว่ากัน

สำหรับหน่วยพยาบาล ร้อนแย่กว่ามาก 2 ปีที่แล้วที่อากาศหนาว คนวิ่งได้ดีกว่ามาตราฐานที่เคยทำไว้ตอนอากาศร้อน อย่างเมืองไทยอากาศร้อน เรื่องนี้แก้ได้ด้วยการวิ่งตอนเช้ามืด เรื่องนี้จัดการได้ครับ 

การแก้ปัญหาอื่นๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มี ผู้จัดงานวิ่งมีหน้าที่รับผิดชอบอุปกรณ์ หน่วยพยาบาล และของที่ต้องใช้ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นยังไง ผมไม่กลัวมาราธอนที่จะเกิดขึ้นเพราะเราเตรียมตัวไว้ก่อน 

บอสตันมาราธอนมีอาสาสมัครหลักหมื่นคน ทำยังไงให้ชาวเมืองรักการแข่งวิ่งขนาดนั้น

เพราะมันเป็นธรรมเนียมแล้วว่าต้องเป็นอาสาสมัคร เรามีครอบครัวอาสาสมัครที่ดูแลสถานีแจกน้ำมา 20 ปี พวกเขาพาเด็กๆ มาเรียนรู้เพื่อที่จะทำหน้าที่นี้ต่อไปอีก 20 ปีตามธรรมเนียมครอบครัว บางคนทำงานนี้มามากกว่า 40 ปีแล้ว ขนาดผมทำมา 24 ปียังเป็นเด็กใหม่ไปเลย 

งานวิ่งอื่นต้องออกไปขอร้องคนให้มาช่วย แต่งานนี้เราต้องปฏิเสธคน เพราะมีอาสาสมัครมากเกินไป 

คนเป็นอาสาสมัครได้อะไร

เสื้อแจ็กเก็ตสีแดง แลกกับเวลาทำงาน 4 ชั่วโมง แค่นั้นแหละครับ บางคนต้องยืนตากฝนถึง 12 ชั่วโมง แต่คนมากมายก็ยินดีทำงานนี้ พวกเขารู้ว่านักวิ่งทั่วโลกพยายามมากๆ ที่จะได้มาวิ่งที่บอสตันมาราธอน ดังนั้น เราควรดูแลเขาให้ดีที่สุดก่อนเขาจากไป ช่วยดูแลความปลอดภัย ช่วยแจกน้ำ ทำให้เขารู้สึกเป็นบวกมากที่สุดระหว่างอยู่ที่บอสตัน 

คุยกับ Andy Deschenes ผู้จัดงานบอสตันมาราธอน งานวิ่งที่นักวิ่งอยากแข่งมากที่สุดในโลก

เคล็ดลับที่ทำให้ชาวบอสตัน ตำรวจ หน่วยพยาบาล และทุกคน ช่วยกันจัดงานวิ่งนี้คืออะไร

การสื่อสารแต่เนิ่นๆ เราเตรียมงานตั้งแต่กันยายน เราพูดคุยกับหน่วยงานสาธารณะ ตำรวจ หน่วยพยาบาล และฝ่ายอื่นๆ ภายในปีนั้นเพื่อให้ทุกคนรู้แผนการวันจัดงานในปีถัดไป ผมสังเกตจากงานอีเวนต์ใหม่ๆ หรืองานอื่นในเมืองอื่น ถึงได้เข้าใจว่าเราโชคดีแค่ไหนที่มีบอสตันเป็นแบบอย่าง 

ทุกคนรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเอง ในงานวิ่ง ตำรวจไม่ควรมีหน้าที่บอกทางให้นักวิ่ง แต่มีหน้าที่ดูแลฝูงชนให้เป็นที่เป็นทางและทำให้ทุกคนปลอดภัย ส่วนอาสาสมัครมีหน้าที่บอกเส้นทาง ทุกคนถูกฝึกมาให้ทำหน้าที่ต่างกัน ดังนั้น ต้องแยกงานให้ชัดเจน 

ถ้าใครจะเกษียณตัวเอง เขาจะพาคนใหม่มาเรียนรู้สัก 2 – 3 ปีล่วงหน้าเพื่อทำหน้าที่แทน พอถึงเวลาส่งไม้ต่อ คนใหม่ที่มาก็เข้าใจและรู้ว่าต้องทำอะไร ทุกๆ ปีการทำงานกับชาวเมืองเป็นงานที่ง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะทุกคนทุ่มเทมากๆ ต่างจากเมืองใหม่หรือการแข่งขันใหม่ๆ เพราะคนไม่รู้ว่าจะเจอกับอะไร

แล้วชาวเมืองคนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากงานวิ่งล่ะ คุณรับมืออย่างไร

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ทุกคนพอใจ คนมักบ่นเสมอ เราทำงานส่วนที่เราทำได้คือสื่อสารล่วงหน้าบ่อยๆ ให้คนรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขอโทษที่เราต้องปิดถนนเวลากี่โมงถึงกี่โมง ถ้าเราทำได้ตามเวลาที่กำหนด ถึงคนจะบ่น อย่างน้อยเราก็ซื่อสัตย์และตรงต่อเวลา บอสตันมาราธอนจัดมา 123 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีคนที่ตกใจเวลามีการปิดถนนอยู่ บางเมืองในอเมริกาจัดงานวิ่งติดๆ กันในช่วงสุดสัปดาห์ เดี๋ยวมาราธอน เดี๋ยวฮาล์ฟมาราธอน เดี๋ยว 10 กิโลเมตร คนก็เบื่อที่ถนนปิดตลอด ถึงจะกระตุ้นเศรษฐกิจเมือง แต่การจราจรมีปัญหาก็ไม่ได้ เราต้องหาสมดุลระหว่างข้อดีของมาราธอนและความเป็นอยู่ของเมือง

การจัดงานวิ่งระยะสั้น ง่ายกว่าจัดมาราธอนรึเปล่า

ไม่เลยครับ ทุกงานใช้คนทำงานเยอะ และต้องทำงานล่วงหน้าไม่ต่างกัน การจัดงานวิ่ง 5 กิโลเมตร หรือ 10 กิโลเมตรอาจจะจัดเส้นทางง่ายกว่า เพราะพื้นที่เล็กกว่า ไม่ต้องปิดถนนใหญ่ แต่การจัดการระยะเวลาและพัฒนาแผนปฏิบัติงานยังคล้ายๆ เดิม

แต่ถ้าเป็นงานวิ่งหรือเดินสนุกๆ ง่ายกว่า เพราะความกดดันเรื่องเวลาและความปลอดภัยน้อยกว่า ไม่จำเป็นต้องเป๊ะมาก คนจัดก็ผ่อนคลายขึ้น

คุยกับ Andy Deschenes ผู้จัดงานบอสตันมาราธอน งานวิ่งที่นักวิ่งอยากแข่งมากที่สุดในโลก

จากประสบการณ์ของคุณ อะไรคือปัจจัยที่ทำให้งานวิ่งงานหนึ่งประสบความสำเร็จ

ไม่มีสูตรตายตัวเลยครับ อะไรคือเวทมนตร์ที่ทำให้คนอยากมางานวิ่งของเรา บางงานเป็นสถานที่ อย่างเมืองไทยน่าวิ่งมาราธอนเพราะสวยมากๆ มีสิ่งที่สถานที่อื่นในโลกไม่มี ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมหรือความสวยงาม แต่ละงานก็แตกต่างกันไป ไม่เหมือนกันสักที่ เรามีงานวิ่งที่จัดบนสะพานยาวมากๆ ซึ่งจะเปิดเฉพาะวันที่แข่งวิ่งเท่านั้น ทำให้คนอยากไป แต่มันก็ไม่เหมือนกับบอสตัน ไม่เหมือนกันนิวยอร์ก แต่ละงานมีของดีของตัวเอง งานวิ่งที่มีปัญหาคืองานที่ยังไม่พบจุดแข็งหรือเอกลักษณ์ของตัวเอง ที่สำคัญ ความร่วมมือระหว่างผู้จัดงาน ภาครัฐ และผู้สนับสนุนทุนต้องดีด้วย ไม่งั้นการทำงานจะยากมาก

เป็นไปได้มั้ยที่เมืองไทยจะกลายเป็นจุดหมายของนักวิ่งจากทั่วโลกบ้าง

ผมว่าเป็นไปได้มากนะ เมืองไทยมีเอกลักษณ์ที่หาไม่ได้ที่อื่น โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่แตกต่าง น่าจะทำให้เป็นส่วนหนึ่งของมาราธอน เนื้อหางาน ผู้คน การแสดง การพูดคุยสื่อสาร เป็นส่วนผสมในงานมาราธอนที่ทำให้คนสนใจและอยากมาวิ่ง บางงานที่ผมจัดมีการแสดงดนตรีหรือความบันเทิงอื่นตลอดทาง นักวิ่งจะได้มีกำลังใจวิ่งต่อ

ความบันเทิงแบบไหนที่ควรจัดในงานวิ่งมาราธอน

ผมเคยเห็นดนตรีสด การแสดงเต้น จักกลิ้ง และการแสดงแปลกๆ อีกมากในงานวิ่งต่างๆ สนุกดีนะครับ สำหรับนักวิ่ง พวกเขาไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในเส้นทางข้างหน้าแต่ก็ยังวิ่งต่อไปเรื่อยๆ เป็นประสบการณ์ที่แปลกและดีสำหรับนักวิ่ง

20 ปีที่แล้วไม่มีเรื่องแบบนี้เลย ตอนมีงานร็อกแอนด์โรลมาราธอนที่ซานดิเอโก ไม่มีใครเคยจัดงานวิ่งที่มีการแสดงดนตรีทุกๆ ไมล์ ทั้งหมด 25 วงดนตรี แต่ตอนนี้เป็นเรื่องปกติมากที่มีดนตรีสดและความบันเทิงอื่นๆ อย่างญี่ปุ่นก็มีงานวิ่งที่นักวิ่งสวมชุดแฟนซี ที่บอสตันมาราธอนก็เคยมีคนใส่ชุดล็อบสเตอร์มาวิ่ง ผมว่าคนชอบเรื่องตลกสนุกๆ แต่ตอนนี้ห้ามแต่งแล้วล่ะ เพราะกฎรักษาความปลอดภัยเข้มขึ้น

คำถามสุดท้าย กฎในการจัดงานที่คุณยึดถือมาตลอดคืออะไร

ข้อนี้ยากจัง ผมเตือนทีมงานและอาสาสมัครตลอดว่า ‘วันนี้คือวันของนักวิ่ง’ เราต้องไม่คิดถึงแค่ตัวเรา แต่คิดถึงสิ่งที่ดีที่สุดที่จะเกิดกับประสบการณ์ของนักวิ่ง นี่คือกฏข้อที่หนึ่งของเรา นี่คือเหตุผลที่เราอยู่ตรงนี้ งานวิ่งมีเพื่อนักวิ่งครับ

คุยกับ Andy Deschenes ผู้จัดงานบอสตันมาราธอน งานวิ่งที่นักวิ่งอยากแข่งมากที่สุดในโลก

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล