635 กิโลเมตร
9 ชั่วโมง 50 นาที
คือระยะทางและระยะเวลาโดยประมาณที่เรานำพาความตั้งใจแล่นไปพร้อมรถจากกรุงเทพมหานครสู่จังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อพบกับ กำ-บุญนำ สาสุด ศิลปินผู้ถนัดการจุดสี เจ้าของกองฟางสีทองบนผืนผ้าใบและผลงานแสนซื่อสีสดใสอื่น ๆ ที่ไม่ว่าจะภาพใด ก็ล้วนแสดงถึงวิถีเกษตรกรรมอีสานอันภาคภูมิใจ
“ที่สำคัญ แทบทุกองค์ประกอบภาพของเขามีที่มาที่ไปทั้งหมด เช่น ชาวบ้านแห่ไปจับปลาตอนน้ำท่วม ต้นไม้ข้างบ้าน ฝูงสัตว์ที่เลี้ยง ลูกหลานเล่นบนกองฟาง ญาติพี่น้องเกี่ยวข้าว ทั้งหมดคือบันทึกความทรงจำของพี่กำ”
กัลยา แทบทาม คือรุ่นน้องที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ของบุญนำ คำบอกเล่าของเธอทำให้เราเกิดความสนใจในตัวศิลปินจนอยากสนทนาพูดคุย นอกเหนือจากนั้นคือความประทับใจที่มีต่อเทคนิคอันละเอียดอ่อน ซึ่งบุญนำใช้พู่กันหัวเล็กจุดสีน้ำมันทีละเลเยอร์ รอแห้งอย่างใจเย็น และกลับมาจุดเพิ่มเพื่อความมีมิติ ทำให้รู้สึกเหมือนภาพเหล่านั้นมีชีวิต
หลังเดินทางกันอย่างสมบุกสมบัน หลงทางบ้างพอเป็นสีสัน เราก็มาถึงสตูดิโอบ้านไม้ที่ดูภายนอกไม่มีใครรู้แน่นอนว่า นี่คือแหล่งปลดปล่อยจินตนาการแห่งท้องทุ่งที่คว้ารางวัลในการประกวด ‘ศิลปกรรมช้างเผือก’ ไปแล้วหลายครั้ง
“สวัสดีครับ เชิญเข้ามาเลยครับ” เจ้าบ้านเดินออกมาต้อนรับ เขาค่อนข้างสงวนถ้อยคำ แต่ส่งยิ้มให้เราตลอดเวลาที่เข้าไปรบกวน ระหว่างนั้น มีอีกครอบครัวที่เดินทางมาไกลเพื่อมาพบและชมสตูดิโอของบุญนำพร้อมกัน สำหรับเราแล้ว การเดินทางที่ไกลและไม่ได้สะดวกสบายเป็นเครื่องพิสูจน์ชั้นดีว่า ทุกคนที่มาล้วนชื่นชมศิลปินคนนี้จากใจ
01
จากรถสิบล้อบนลังกระดาษ สู่การประกวดวาดภาพครั้งแรก
พวกเรานั่งลงบนเก้าอี้ไม้หน้าบ้านเพื่อรับแอร์ธรรมชาติ แล้วบุญนำก็เริ่มเล่าเรื่องราวของเขาให้ฟัง
“ญาติของผมทำงานอยู่อู่ซ่อมรถในกรุงเทพฯ เขาวาดรูปรถสิบล้อลงบนกระดาษลังให้ดู ถึงมันจะไม่สวยมาก แต่ผมกลับชอบและเริ่มวาดรถ วาดการ์ตูนเอง เส้นทางของผมก็เริ่มจากข้างอู่ซ่อมรถนี่แหละ”
เด็กชายวัยประถมศึกษาหยิบปากกาและดินสอขึ้นมาขีดเขียนบนกระดาษ เมื่อไปโรงเรียนเขาคลุกคลีอยู่กับคุณครูในชมรมศิลปะ โดยเริ่มวาดภาพจากการ์ตูนที่เคยดูในโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็น เซนต์เซย์ย่า หรือ ดราก้อนบอล เขาเดินทางไปมาระหว่างบ้านเกิดในจังหวัดอำนาจเจริญและกรุงเทพมหานคร จนเรียนจบ ป.6 จึงกลับมาเรียนมัธยมที่บ้าน แต่ไม่ว่าตัวบุญนำจะอยู่ที่ไหน ความชอบในการวาดภาพก็ไม่เคยหายไป
“ทุกช่วงปิดเทอมจะมาอยู่ต่างจังหวัดตลอด ผมรอเวลาที่จะได้กลับบ้าน ได้ใช้ชีวิตอยู่กับทุ่งนา พอต้องกลับกรุงเทพฯ ผมจะอาลัยอาวรณ์มาก เมื่อไหร่จะได้กลับมาบ้านนอกอีก บรรยากาศที่นี่สนุก มีอะไรให้เล่นเยอะ” เขาพูดปนยิ้มตามสไตล์เด็กผู้ชายที่ชอบความสนุกสนาน
เมื่อขึ้นชั้นมัธยม เขาเริ่มเส้นทางนักหัดวาดรูปพอร์เทรต โดยศึกษาจากหนังสือ Drawing ที่ครูนำมาให้ กระทั่งเรียนจบ ม.6 จึงตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านนาถาวร และเดินทางตามความชอบสู่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาส่งงานเข้าประกวดเป็นครั้งแรกตอนปี 1 แต่ครั้งแรกมักจะยากเสมอ เขาไม่ได้แม้กระทั่งร่วมแสดงผลงาน จนถึง พ.ศ. 2548 บุญนำก็คว้ารางวัลดีเด่นการประกวดศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 20 มาได้ และได้แสดงผลงานที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร
“รางวัลเป็นผลตอบแทนความทุ่มเท การได้รางวัลทำให้เราดีใจ แต่ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะมันคือความชอบ ยังไงเราก็ทำต่อ จนถึงตอนนี้ผมก็แค่คนที่ชอบวาดรูปครับ”
02
ทำความรู้จักศิลปินและแผ่นดินอีสานผ่านภาพวาด
ผลงานของบุญนำเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและวิถีเกษตรกรรมของชาวอีสานเป็นหลัก ด้วยเหตุผลเพียงไม่กี่ข้อคือ ‘ผูกพัน’ และ ‘ชื่นชอบ’ โดยช่วงเวลาที่เขาชอบที่สุดคือ ช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวและหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว เพราะนั่นคือช่วงเวลาแห่งความสุขของชาวนา
ความเป็นชนบทอันเรียบง่ายและสุขสงบสะท้อนผ่านกิจวัตรประจำวันที่บุญนำและชาวบ้านทำ ไม่ว่าจะเป็นการดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าว หาปู จับปลา วิ่งเล่นในท้องทุ่ง หรือนอนแผ่ผึ่งแดดบนกองฟาง แม้กระทั่งสถานที่ที่เรานั่งสนทนากันอยู่ตอนนี้ ทุกอย่างเงียบสงบ มีเพียงลมที่พัดเอื่อยไปมา
“ที่นี่ไม่วุ่นวาย เราอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติตามฤดูกาล พึ่งพาธรรมชาติ พึ่งพาตัวเอง พึ่งพากันและกัน สิ่งที่ผมวาดคือการส่งต่อวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ การเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ทำให้ชีวิตของพวกเราตื่นเต้น มีสีสัน สนุกสาน ระหว่างผู้ใหญ่ทำงาน เด็ก ๆ ก็จะออกไปวิ่งเล่นจนเกิดเป็นความสนิทสนมคุ้นเคยแบบเครือญาติ และเกิดความรักความผูกพันในชุมชน”
เพื่อบันทึกความทรงจำและลมหายใจผ่านความถนัดด้านศิลปะ เมื่อเห็นความงามหรือเหตุการณ์ประทับใจ ชายคนนี้จะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเพื่อถ่ายภาพเหล่านั้นไว้ ก่อนนำไปถ่ายทอดออกมาเป็นภาพวาดที่ทุกภาพล้วน ‘มีที่มา’ และส่วนมากมี ‘ตัวตนอยู่จริง’
ตอนแรกเราขอให้เขาอธิบายถึงชีวิตและผลงานกันที่หน้าบ้าน แต่เมื่อมาถึงสตูดิโอแล้ว เราจึงเปลี่ยนใจขอให้เขานำชมภาพในบ้านแทน เพราะเราเชื่อเหลือเกินว่า ทุกสิ่งบนผ้าใบล้วนผ่านกระบวนการคัดสรรและเสริมจินตนาการมาอย่างเหมาะสมแล้ว นี่จึงกลายเป็นที่มาของนิยาม ‘นักจุดความทรงจำ’ ที่บันทึกและขยายความวิถีชีวิตผ่านงานศิลปะได้อย่างมีความหมาย
01 สามัคคีครอบครัว
ระหว่างที่บุญนำกำลังเกี่ยวข้าวอยู่ในนาของตัวเอง เขาเกี่ยวข้าวได้ไม่เยอะ เพราะมีคนช่วยกันแค่ประมาณ 2 – 3 คน พอดีกับที่มีญาติคนอื่นมาขุดปู แต่พวกเขาถือเคียวมาด้วย เมื่อเห็นว่าบุญนำเกี่ยวข้าวยังไม่เสร็จดี ทุกคนจึงมาช่วย โดยเจ้าตัวพูดติดตลกว่า “ถ้าเกี่ยวแล้วเหลือที่ว่างเยอะขึ้น เขาก็จะขุดปูนาได้มากขึ้นด้วย”
ปูในรูจึงหายไปจากนาของบุญนำเยอะขึ้นหน่อย
“การเกษตรและการดำรงชีวิตครอบครัวมีความสัมพันธ์กัน เพราะเราช่วย ๆ กันไป เกษตรกรรมที่เห็น ใช้แรงงานคนเป็นหลัก โดยเฉพาะการปลูกข้าวที่เป็นงานหนัก ทุกวันนี้มีเครื่องจักรเข้ามาแต่ก็ยังมีวิถีเดิม ๆ ถ้าคนในครอบครัวมีสมาชิกไม่เยอะ พวกญาติ ๆ ก็จะมาช่วยกันให้เสร็จเร็วขึ้น ถ้าช้าข้าวจะแห้ง น้ำหนักมันจะลดลง เวลาขายก็จะได้ผลตอบแทนน้อยลง”
02 แบกสุขปนทุกข์บนบ่า
“คุณพ่อของผมอยู่ทุ่งนาเป็นส่วนใหญ่ มีสัตว์เลี้ยงเป็นเป็ด ไก่ อยู่รายล้อม ตอนนี้ก็กำลังเดินมานะได้ยินเสียงไหม” เราเงี่ยหูฟังและได้เสียงร้องของสัตว์ปีกเป็นโขยงนอกบ้าน
เจ้าของภาพเล่าต่อว่า ตรงไหนที่เห็นชาวนาแบกข้าวจะเป็นนาลุ่มที่รถลงไม่ได้หรือลงลำบาก ชาวนาจึงต้องแบกข้าวขึ้นหลังและลำเลียงมาไว้บนคันนา จากนั้นจึงใช้รถมาขนไปอีกที
ภาพนี้ผสมผสานจินตนาการเป็นส่วนใหญ่ โดยนิยามว่า ข้าวบนบ่า คือการแบกความทุกข์และแบกความสุขไปด้วยกัน
“ภาพนี้ผมเน้นรูปทรงขึ้นมา และสร้างชีวิตชีวาด้วยสัตว์เลี้ยงของพ่อ วันนั้นไปแล้วเห็นพอดีเลยนำมาวาด คุณพ่อก็จะไม่ค่อยมีฟันหน่อย (หัวเราะ)”
แน่นอนว่าบันทึกความทรงจำภาพนี้ยังคงอยู่ในสตูดิโอของบุญนำมาตลอด เพราะเขาตั้งใจจะวาดเก็บเอาไว้ แม้ชีวิตที่อยู่รายล้อมรอบตัวจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
03 สุขซุก ๆ ในวัยเยาว์ของเราหลายคน
ณ กองฟางของญาติที่ตั้งอยู่ทางเข้าหมู่บ้าน บุญนำพาตัวเองไปช่วยญาติของเขาสีข้าว ระหว่างนั้นลมแห่งฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็พัดฟางไปติดบนปลายไผ่ เป็นความงามโดยธรรมชาติอย่างแท้จริง
“เด็ก ๆ เล่นกันอย่างสนุกสนาน บางทีผมก็ไปเล่นด้วย (หัวเราะ) สังเกตว่ากองฟางจะไม่ได้ตั้งตรง ด้วยแรงลมที่จะมาในฤดูกาลเก็บเกี่ยว ทำให้มันเอียงโค้งไปข้างหนึ่ง เด็ก ๆ ก็เป็นหลานของผมเอง เขามาขนฟางก้อน ทุกวันนี้มีรถอัดเป็นแท่งเพื่อเก็บฟางใต้หลังคาไม่ให้โดนฝน แต่ก่อนจะขน เขาจะมาเล่นกองฟางกันก่อน กระโดดเล่น ปีนป่าย
“ผมนี่ก็เคยเล่นบนกองฟางนะ ไม่ใช่เล่นอย่างเดียว เคยนอนค้างคืนเลย หลังฤดูเก็บเกี่ยวจะมีกองฟาง พวกผมก็ไปหาหนูนากัน เจอกองฟางที่ไหนก็นอนที่นั่น ซุกตัวลงไป แล้วเอาฟางมากลบทั้งตัว เหลือไว้เฉพาะหน้า นอนทั้งคืนเลยครับ ช่วงวัยรุ่นก็ยังไปหาหนูกับเพื่อนอยู่ ค่ำไหนนอนนั่น”
04 ธรรมชาติบ้านนา
“พื้นที่ตรงนี้นาไม่ค่อยงาม มีพวกดอกหญ้า ดอกกระดุมเงินขึ้น ข้าวก็มีด้วย ปะปนกันไป แต่ผมมองว่ามันมีความงามของท้องทุ่ง เป็นหลังฤดูเก็บเกี่ยว ถ้ามองเข้าไปลึก ๆ จะเห็นเด็ก ๆ ที่กำลังเล่นกันอย่างสนุกสนาน พวกเขามากับพ่อแม่แต่ละบ้าน เจอกันเมื่อไหร่ก็มีการละเล่นกัน ฤดูเกี่ยวข้าวจะไม่ร้อน เป็นหน้าหนาว มีลม เหมาะที่เด็ก ๆ จะเล่นกัน มันคือภาพธรรมดาครับ ภาพธรรมดาที่เห็นด้วยตาได้ทั่วไปสำหรับผม”
เราชี้ไปที่ภาพแล้วถามเขาว่า นี่คือต้นอะไร และมีอยู่จริงไหม
“ต้นไม้ในภาพมีอยู่จริง เป็นต้นไม้ในพื้นที่ เช่น ต้นอะราง (นนทรีป่า) และดอกกระดุมเงิน เป็นดอกหญ้าที่จะมาพร้อมฤดูเกี่ยวข้าว หลังน้ำลดมันจะเกิด ลักษณะเป็นดอกสีขาว ผมดูแล้วจินตนาการว่าเหมือนหิมะตก เลยคิดสนุกเอามาทำให้สวยงามแบบชนบทในช่วงเช้า สถานที่จริงก็ไม่ไกลเลยครับ เป็นนาของญาติกัน”
หากมีความรู้ด้านพฤษศาสตร์บ้าง เราจะเห็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นอยู่ในภาพของบุญนำมากมาย ทั้งต้นกระโดน ต้นหว้า ต้นก้ามปู กอไผ่ ต้นนุ่น ต้นทองกวาว ต้นสะแบง และต้นบก
05 ความงามที่สุ่มเกิด
เรามองไปที่ภาพกองฟางขนาดใหญ่ที่มีต้นไม้โผล่ออกมา แต่ก็ต้องขยับเข้าไปดูใกล้ ๆ อีกครั้ง เพราะไม่แน่ใจว่า แสงรำไรที่อยู่บนกองฟางนั้นเป็นของจริงหรือเปล่า (เนื่องจากสตูดิโอของบุญนำแสงเข้าไม่มากและมีช่องลมบนกำแพง)
“ภาพนี้ยังไม่เสร็จครับ จริง ๆ บางภาพในสตูดิโอก็เหลืออีกนิด ๆ หน่อย ๆ นี่คือกองฟางของนาญาติ ช่วงนั้นประมาณเที่ยง ผมไปเจอแสงเงาที่ตกกระทบลงมาบนกองฟางพอดี สวยงามมาก ผมประทับใจจึงเอามาเป็นแรงบันดาลใจในการทำภาพอื่น ๆ ต่อไป”
ซึ่งอาจจะเป็นคอลเลกชันใหม่ในอนาคตอันใกล้ก็ได้ เราแซวด้วยรอยยิ้มปนความคาดหวัง
06 ภาพที่ได้จากไม้ไผ่
“ผมมองวิวนี้แล้ว คิดว่าถ้าได้เห็นในมุมที่สูงขึ้นน่าจะสวย ก็เลยขึ้นต้นไม้ไปถ่าย แต่ดันติดพวกยอดไม้ ผมก็เลยเอาโทรศัพท์มัดติดกับไม้ไผ่แล้วยกขึ้นไปสูง ๆ ตั้งเวลาให้มันถ่ายภาพเอง เลยได้มุมมองอีกแบบหนึ่งมา”
นอกจากภาพมุมสูงภาพนี้ บุญนำยังเคยวาดภาพอื่น ๆ ในแนวเดียวกัน และได้รับรางวัลในการประกวดศิลปกรรมช้างเผือกด้วย เช่น รางวัลชมเชย ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 1 ชื่อภาพ ‘แผ่นดินไทย พื้นที่แห่งความสุข’ รางวัลชมเชย ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 2 ชื่อภาพ ‘พื้นที่แห่งความสุขในฤดูฝน’ และรางวัลรองชนะเลิศ ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 3 ชื่อภาพ ‘บ้านหนอกดั่ง ตำจานลาน’
07 ลูกชายและดอกหญ้า
“หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว ผมชอบดอกหญ้า แถวบ้านมันเป็นวัชพืชที่ต้องตัดทิ้ง แต่มันฟรุ้งฟริ้งดี ผมเลยชอบบรรยากาศที่ออกแนวแล้ง ๆ อุ่น ๆ มีเด็ก ๆ ไปรวมตัวกันทำว่าวเตรียมเล่น”
เรามองไปที่เด็กชายคนหนึ่งในภาพ แม้จะขนาดเล็กมาก แต่ก็แอบเห็นว่าในมือของเขาถือว่าวอยู่จริง ๆ
“ผมตั้งใจใส่ลูกชายและเพื่อน ๆ เข้าไปด้วยครับ คนเสื้อสีเหลืองคือลูกผมเอง ผมมองเข้าไปแล้วเห็นชีวิตเล็ก ๆ พร้อมที่จะเจริญเติบโตในสภาพวิถีชีวิตที่ผ่านกันมาหลายต่อหลายรุ่น เขาเหล่านี้ก็พร้อมจะทำงานต่อไปสืบเชื้อสายชาวนา”
เราถามศิลปินคนนี้ว่า ทำไมเกือบทุกภาพจึงเต็มไปด้วยเด็ก เขาตอบว่า
“เพราะเด็ก ๆ คือผู้ที่จะมาช่วยปรุงแต่งรสชาติของชีวิต เป็นความผูกพันที่เห็นกันทุกวัน และที่สำคัญ พวกเขามักจะมีอะไรน่าสนุกทำตลอดเวลา”
08 พันธุ์ไม้ที่ไม่หายไป
ดอกจาน (ต้นทองกวาว) ต้นไม้แถวบ้านบุญนำที่ต้นจริง (ในภาพ) แก่และหมดอายุไปแล้วตามกาลเวลา เขาเสริมว่า สมัยก่อนต้นนี้มีเยอะ และมีหมู่บ้านชื่อ หมู่บ้านจานลาน แต่สมัยนี้กลับน้อยลงไปมากจนใกล้หมด เนื่องจากการขยายพื้นที่ทำการเกษตร ต้นไม้จึงถูกตัดโค่นออกไปอย่างน่าเสียดาย
จากวัวควายที่เลี้ยงเอาไว้ตามทุ่งนา ผู้คนเดินผ่านไปมาอย่างเคยชิน ชายคนนี้กลับนำสิ่งธรรมดาเหล่านั้นมาใส่ในภาพวาดของตนเองอย่าง ‘ขาดไม่ได้’ เพราะถ้าไม่ใส่วัวควาย ก็เหมือนขาดอะไรบางอย่าง
“บางทีไม่ได้วาดวัวเราด้วยครับ ไปวาดวัวควายของคนอื่นตามสถานที่ที่เราไป หรือถ่ายภาพสิ่งที่เห็นจริง ๆ ไว้แล้วเอามาวาดต่อ อย่างชิ้นที่ได้รางวัลศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 7 ผลงานชื่อ ‘ลูกหลาน ชาวนา’ ผมเก็บข้อมูลเอง ไปสีข้าวด้วยจึงถ่ายรูปมา ภาพมันมีความเคลื่อนไหวของเส้นฟางข้าว มีชีวิต และวัฒนธรรม จึงเอามาวาด นั่นเป็นชิ้นแรกที่วาดเกี่ยวกับคนลงแขก ตรงนี้เลยครับ” เขาชี้ไปนอกบ้านเพื่อบอกสถานที่ต้นเรื่อง
03
ผู้ใดเห็นฟาง ผู้นั้นเห็นเรา
ตัวอย่าง ลมพัดฟางข้าวขึ้นบนกิ่งไม้ เป็นต้นแบบในการวาดภาพของบุญนำหลายภาพ
สิ่งที่เห็นและสัมผัสถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลในการต่อยอดความทรงจำสู่ผลงานที่พัฒนาขึ้นทุกวัน
บุญนำเคยลองวาดภาพอย่างอื่นเพิ่มเติม แต่สุดท้ายเขาก็ค้นพบว่า ทำอะไรก็ไม่ถูกใจเท่าทุ่งนา ศิลปินหัวใจลูกทุ่งคนนี้จึงเริ่มศึกษาข้อมูลวิถีชีวิตให้ลึกซึ้งยิ่งกว่าเก่า
“สรุปแล้ววาดไปวาดมา 10 กว่าปีก็ยังวาดแนวเดิม ทีนี้ผมไปทุ่งนาก็ไปเก็บข้อมูลการทำนา ดูพันธุ์ข้าว จากดูแค่ผิวเผินก็ทำจริงจังขึ้น คิดว่าจะจัดท่าตอนเกี่ยวข้าวยังไงให้สวยงาม เอาความรู้จากตอนเรียนองค์ประกอบศิลป์และทฤษฎีต่าง ๆ มาใช้ โดยมีความสุขมาเป็นตัวนำ”
นอกจากความลึกซึ้งของข้อมูล เทคนิคที่ใช้ก็พัฒนาขึ้นตามกาลเวลา จากการสะบัดพู่กันอย่างเรียบง่าย บุญนำเริ่มนำเทคนิคการจุดสีมาใช้ เพื่อให้ได้เม็ดสีเพิ่มขึ้นทีละชั้น โดยเทคนิคนี้ได้รับอิทธิพลมาจากจิตรกรรมแบบผสานจุดสี (Pointillism) ที่นิยมในกระแสศิลปะยุค Neo-Impressionism ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของประเทศฝรั่งเศส
เราสังเกตพื้นผิวของภาพที่มีทั้งการจุดและการขีดอย่างลงตัว ลำต้นของดอกหญ้าและฟางข้าวโอนอ่อนไปมาราวกับเห็นลมพัดอยู่ในภาพ สีสันอันสดใสบ่งบอกถึงความใสซื่อในการถ่ายทอด ส่วนมากเป็นสีเหลือง สีฟ้า สีขาว สีเขียว และสีแดง แต่สีที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นสีเหลืองทองของฟางข้าว ซึ่งโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์มากที่สุดในบรรดาผลงานที่ผ่านตา
ตัวตนของจิตรกรชาวอำนาจเจริญคนนี้ซุกซ่อนอยู่ระหว่างท้องฟ้าและทุ่งนา ต้นไม้และกระท่อม เด็กเล็กและผู้ใหญ่ ฟางข้าวและสรรพชีวิตแห่งพื้นดินอีสาน เสน่ห์ของภาพบุญนำคือการถ่ายทอดชีวิตที่ไม่อาจหาได้ในเมืองหลวงและไม่เหมือนพื้นที่ไหน ๆ เพราะทั้งหมดคือ ‘บ้าน’ และ ‘ครอบครัว’ ของเขาเอง
เราขอบคุณเจ้าบ้านที่เปิดพื้นที่ให้เราได้สำรวจ ก่อนจะรีบขึ้นรถหนีพายุกลับที่พักในจังหวัดร้อยเอ็ด ระหว่างทาง ภาพกองฟางและทุ่งนาสีทองยังอยู่ในห้วงความคิด แม้นอกหน้าต่างจะเป็นทิวทัศน์สีหม่น ไม่มีทุ่งนาอย่างในภาพ แต่เรากลับจดจำความงามของอีสานได้แบบไม่ลืม พลางนึกถึงคำพูดของบุญนำท่อนหนึ่งว่า “ผู้ใดเห็นฟาง ผู้นั้นเห็นเรา”
ภาพ : กัลยา แทบทาม และ บุญนำ สาสุด
หากใครสนใจชมผลงานของบุญนำ สาสุด ตอนนี้ไม่ต้องเดินทางไปถึงจังหวัดอำนาจเจริญก็เข้าชมได้ที่นิทรรศการท้องทุ่งแห่งความสุข (Field of Happiness) ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม – 11 มิถุนายน 2565 ณ ARDEL Gallery of Modern Art (ทองหล่อ ซอย 10) เปิดวันอังคาร-เสาร์ เวลา 10.30 – 19.00 น. และวันอาทิตย์ เวลา 10.30 – 17.30 น. (ปิดวันจันทร์)