“บุญเลิศ วิเศษปรีชา ลงเรียนภาษาตากาล็อกเป็นเวลา 1 เทอม ก่อนเดินทางไปลงฟิลด์ที่กรุงมะนิลาเป็นเวลาสองเดือนในปี 2554 จากน้ั้นเขากลับไปเรียนภาษาตากาล็อกที่วิสคอนซินอีกสองเทอม พร้อมพัฒนาเค้าโครงความคิด ก่อนจะกลับมาใช้ชีวิตเป็นโฮมเลสเต็มรูปแบบที่กรุงมะนิลาอีก 14 เดือน ในช่วงปี 2556 – 2557”

คำโปรยบริเวณปกหลังหนังสือ สายสตรีท ของ บุญเลิศ วิเศษปรีชา ว่าไว้อย่างนั้น ประสบการณ์ในช่วงที่ไปลงสนามเป็นคนไร้บ้านที่ฟิลิปปินส์ทิ้งอะไรไว้ในสมองและหัวใจของเขามากมาย จนกลายเป็นหนังสือเล่มนี้

ครั้งนั้นเขาเดินทางไปทำความเข้าใจมนุษย์ไร้บ้านที่มะนิลาเพื่อทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในหัวข้อ ‘Structural violence and homelessness: Searching for Happiness on the Streets of Manila’ หรือ ‘ความรุนแรงเชิงโครงสร้างกับการไร้บ้าน: การค้นหาความสุขบนท้องถนนในเมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์’

ถ้าคุณอยากจะเข้าใจคนอื่น ก็ลองไปเป็นคนอื่นดู นี่คือวิธีการที่ง่ายที่สุด-เขาว่าอย่างนั้น

แม้จะใช้คำว่า ‘ง่ายที่สุด’ แต่การไปใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้าน 14 เดือนในต่างแดน แม้กระทั่งเด็กประถมก็รู้ว่ามันไม่ง่าย คนไร้บ้านกินอยู่อย่างไร เขากินอยู่แบบนั้น คำว่าหิวเป็นอย่างไร เขาเข้าใจลึกซึ้ง

ไม่มีใครบังคับให้ชายตรงหน้าต้องทำอะไรแบบนี้ แต่เมื่อเห็นว่าสำคัญจำเป็น เขาก็ทำโดยไม่เอาความลำบากมาเป็นตัวตั้ง

“พี่คนไร้บ้านบางคนบอกผมว่า เปลืองตัวมาก มาคลุกกับโคลนจนเลอะโคลนไปหมดแล้ว แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองมาคลุกกับโคลนจนเปื้อนโคลนอะไร เพราะเราก็ไม่ได้คลีนมาจากไหน” เขาบอกอย่างนั้นเมื่อเราคุยกันที่ห้องทำงานของเขา

ในบทบาทหนึ่ง บุญเลิศ วิเศษปรีชา คืออาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่อีกบทบาทหนึ่ง-ที่เป็นภาพจำของเขาไปแล้ว คือบทบาทนักมานุษยวิทยาคนแรกๆ ในบ้านเราที่มุ่งศึกษาเรื่องคนไร้บ้านอย่างจริงจัง ลงลึก

ในปี 2546 เขาทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทหัวข้อ เปิดพรมแดน: โลกของคนไร้บ้าน โดยลงไปใช้ชีวิตกับคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ เพื่อทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น จนได้รับเกียรติบัตรวิทยานิพนธ์ดีเด่นจากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนที่จะกลายเป็นหนังสือเล่มแรกของเขาที่ชื่อ โลกของคนไร้บ้าน

“มันกลายเป็นนามสกุลผมไปแล้ว ถ้าบอกว่าบุญเลิศ วิเศษปรีชา คนไม่รู้จักนะครับ ต้องบอกว่าบุญเลิศ คนไร้บ้าน ถึงจะรู้จัก” เขาแซวตัวเองก่อนจะหัวเราะเสียงดัง

ไม่ว่าคุณจะมองการไปนอนข้างถนน คุ้ยขยะ กินข้าวจากถุงพลาสติก และอีกหลากประสบการณ์ของชายวุฒิปริญญาเอกผู้นี้ว่าเป็นความกล้า ความบ้า หรืออะไร แต่ผมว่ามันไม่สำคัญเท่าสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากมิตรสหายรายทาง

พอมองย้อนกลับไป รู้สึกว่าตัวเองกล้าหาญไหม ที่ไปใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้านที่มะนิลา 14 เดือน

ไม่ (ตอบทันที) ไม่รู้สึกว่าตัวเองกล้าหาญเลย

อาจจะเป็นเพราะว่าผมมีประสบการณ์จากคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ มาก่อน และเคยลงฟิลด์ที่ฟิลิปปินส์มาก่อน 2 เดือน มันทำให้ผมรู้ว่าไอ้ภาพบางอย่างที่คนรู้สึกกลัว มันเกิดจากมายาคติว่าคนเหล่านี้น่ากลัว ผมว่านั่นคือเรื่องสำคัญ พอผมมีประสบการณ์ผมก็รู้ว่าเขาไม่น่ากลัวหรอก เขาก็เหมือนๆ เรานี่แหละ

พอผมไม่รู้สึกว่ามันน่ากลัว ผมเลยไม่รู้สึกว่าผมต้องอาศัยความกล้า ตอนที่ผมได้ยินคนพูดว่า ต้องอาศัยความกล้าหาญมากๆ ผมก็ถามตัวเองว่า เรากล้ามากกว่าคนอื่นเหรอ แต่ผมไม่รู้สึกว่าความกล้าเป็นคุณสมบัติเลย

ถ้าความกล้าไม่ใช่คุณสมบัติ การทำแบบที่คุณทำเรียกร้องคุณสมบัติอะไรบ้าง

หนึ่ง คือผมคิดว่าเราต้องมองข้ามอคติให้ได้ เรามองว่าเขาก็คือเพื่อนมนุษย์ มองว่าเขาก็เหมือนๆ กับเรา ไม่ได้คิดว่าเขาเป็นคนที่น่ากลัว ผมจะข้ามอคติตรงนั้นไป ผมคิดว่านี่คือสิ่งสำคัญที่สุดไม่ว่าคุณจะไปอยู่แบบนี้หรืออยู่ที่ไหนนะ

สอง สำหรับคนที่จะทำงานวิจัย ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม คุณต้องมุ่งมั่นและสนใจเรื่องนั้นจริงๆ คุณอาจจะทำเรื่องนี้หรือเรื่องไหนๆ ก็แล้วแต่ คุณต้องบอกตัวเองว่าคุณมุ่งมั่นที่จะทำมัน คุณอยากจะรู้ อยากจะเข้าใจจริงๆ ในเรื่องที่คุณทำ

ผมชอบประโยคที่บางคนพูดว่า งานคนนี้สุดจริง งานคนนี้ไปได้สุด ผมรู้สึกว่าถ้าจะพูดถึงผม มันไม่ใช่เรื่องว่ากล้าไม่กล้า แต่เป็นเรื่องว่าผมทำอะไรแล้วผมลงลึกจริงๆ

ตอนที่ผมอยู่กรุงเทพฯ มีพี่คนไร้บ้านบางคนบอกผม เขาใช้คำว่า “เปลืองตัวมาก มาคลุกกับโคลนจนเลอะโคลนไปหมดแล้ว” ผมบอกเขาว่า พี่พูดคำสวยนะ แต่ผมไม่ได้รู้สึกว่าเปื้อนโคลนหรือรู้สึกว่าตรงนี้เป็นสิ่งสกปรก ผมคิดว่ามันเป็นแค่ประสบการณ์หนึ่ง เป็นแค่ความยากลำบากหนึ่งที่เราต้องเผชิญ แล้วผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองมาคลุกกับโคลนจนเปื้อนโคลนอะไร เพราะเราก็ไม่ได้คลีนมาจากไหน

ที่ผ่านมาคุณสนใจอะไรในคนไร้บ้าน

เรื่องคนไร้บ้านมันสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ดี เวลาคุณจะพูดว่าสังคมเหลื่อมล้ำ คนไร้บ้านคือตัวสะท้อน ประเทศเรามีทรัพยากรมากพอที่จะแบ่งปัน ถ้าเราแบ่งปันกันพวกเขาไม่ควรจะต้องอยู่ที่นี่

แล้วในทางวิชาการมันก็เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่มีใครทราบมาก่อน แล้วพอคุณไม่เข้าใจเขา นโยบายที่ดำเนินการหลายๆ เรื่องก็เลยไม่สอดคล้องกับความต้องการของเขา อย่างตอนที่ผมเขียนเสร็จแล้ว คนก็เข้าใจใหม่ว่าวิธีการที่จะจับคนไร้บ้านเข้าสถานสงเคราะห์เป็นวิธีการที่คนไร้บ้านไม่ชอบเลย ซึ่งสมัยก่อนไม่มีใครเข้าใจ คนคิดว่าก็ไปอยู่สิ มีที่อยู่ทำไมไม่ยอมอยู่ แต่ผมเป็นคนแรกๆ ที่พูดว่า เขาไม่อยากอยู่ เขาต้องการดำรงชีวิตอิสระ บางคนพูดว่า อยู่สถานสงเคราะห์มีข้าวกินนะ ผมก็ตอบไปว่า อยู่ในเรือนจำก็มีข้าวกิน คุณอยากอยู่ในเรือนจำมั้ยล่ะ เหตุผลเดียวกัน คนไร้บ้านก็ไม่อยากอยู่สถานสงเคราะห์ที่เขาไม่รู้สึกเป็นอิสระ ผมเป็นคนแรกๆ ที่พูดเรื่องนี้ในทางสาธารณะ

บุญเลิศ วิเศษปรีชา

คุณพยายามทำความเข้าใจคนไร้บ้าน แล้วกับคนในสังคมที่เขารู้สึกเดือดร้อนเพราะคนไร้บ้าน คุณจะอธิบายคนเหล่านั้นว่าอย่างไร

ผมคิดว่าคนที่เดือดร้อนมีหลายมุม ถ้าเขาเดือดร้อนในความหมายที่ว่า ทำไมคนพวกนี้เกะกะสายตา ผมมีหน้าที่จะอธิบายให้เขาเข้าใจว่า ก็เพราะสังคมคุณแบ่งปันกระจายทรัพยากรไม่พอไง ถ้าคุณแบ่งปัน คุณกระจายทรัพยากร เขาก็คงไม่ต้องมาอยู่แบบนี้ การที่เขามาอยู่แบบนี้คุณอย่าไปโทษเขาเลย เราก็มีส่วน เราต้องช่วยๆ กัน

เราจะโยงให้คนอื่นเห็นได้อย่างไรว่าเรื่องแบบนี้มันเชื่อมโยงกับเขาด้วย แล้วผมพูดอยู่ตลอดเวลาว่า เวลาที่สังคมเหลื่อมล้ำมันไม่ได้กระทบกับคนที่ลำบากเท่านั้น มันกระทบกับพวกเราทุกคนด้วย เวลาคุณเดินไปที่สาธารณะแล้วคุณพบคนไร้บ้าน นั่นแหละ เพราะว่าคุณกระจายไม่พอไง แล้วมันไม่ได้กระทบกับเขาอย่างเดียว นี่คือสิ่งที่คุณต้องเผชิญด้วย

พอได้คลุกคลีกับคนไร้บ้าน มันเปลี่ยนความเชื่ออะไรของคุณไปบ้างไหม

เราเห็นความซับซ้อน สมัยก่อนมันมีข้อถกเถียงว่าปัญหาของคนไร้บ้านเกิดจากเหตุผลส่วนบุคคล เพราะขี้เหล้าเมายา ไม่รับผิดชอบ หรือเป็นเพราะเหตุผลเชิงโครงสร้าง

ผมอ่านวรรณกรรมเพื่อชีวิตมาตั้งแต่เรียนมัธยม ผมเคยทำงานองค์กรภาคเอกชน เคยทำงานอยู่กับสมัชชาคนจน เคยคลุกคลีกับคนจนมา ผมโตมากับคนทำกิจกรรม เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ตอนที่ผมเริ่มทำ ผมก็เลยคิดว่าต้องเป็นเพราะโครงสร้างแน่ๆ แต่พอผมไปทำภาคสนาม ไปคลุกคลีกับชีวิตคนไร้บ้าน ผมจึงพบว่ามันไม่ง่ายขนาดนั้น มันมีเรื่องเกี่ยวกับภูมิหลังของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน แล้วก็เชื่อมโยงกับบุคลิกเงื่อนไขส่วนตัวของคนด้วย มันต้องเอาสองเรื่องนี้มาปฏิสัมพันธ์กัน มันจึงเป็นสาเหตุให้เกิดคนไร้บ้าน

ตอนที่ผมเริ่มทำวิทยานิพนธ์ งานในต่างประเทศยังเถียงกันอยู่สองขั้ว แล้วในงานที่ผมเขียน ผมบอกว่า มันต้องเอาทั้งสองขั้วมาผสมกัน มันมีผลทั้งคู่ นี่เป็นที่มาที่ผมเขียนว่า “หลายปัจจัยซ้อนทับที่ทำให้คนเป็นคนไร้บ้าน” โดยสิ่งที่ผมเขียนเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นมาจากสนาม ไม่ได้มาจากทฤษฎีฝรั่งเลยนะ ไม่ใช่ว่าก่อนลงสนามแล้วเรามีคำอธิบายอยู่ในหัวแล้วก็หาข้อมูลที่มันตรงกับที่เราเชื่อ นี่คือมานุษยวิทยา เรากล่าวข้อมูลออกมาจากสนาม จนกระทั่งต่อมาทฤษฎีฝรั่งก็อธิบายทำนองเดียวกัน ใช่ เลิกเถียงเสียทีเถอะว่าเป็นเพราะโครงสร้างหรือบุคคล มันเป็นทั้งสองอย่าง ผสมกัน มันมีผลด้วยกันทั้งคู่

ยกตัวอย่างเช่นเวลาที่เราบอกว่า เงื่อนไขเชิงโครงสร้างทำให้คนตกงานสองแสนคน แต่คนตกงานสองแสนคนก็ไม่ได้เป็นคนไร้บ้านทุกคน แต่ต้องเป็นคนตกงานที่มีคุณสมบัติบางอย่างเช่นครอบครัวก็ไม่ดีด้วย เรียนหนังสือก็น้อย หรืออาจจะเคยออกจากบ้านตั้งแต่เด็ก คุ้นชินกับวิถีชีวิตข้างถนน ดังนั้น มันเป็นสองอย่างที่มาประกอบ คนตกงานทุกคนไม่ได้เป็นคนไร้บ้าน แต่ต้องตกงานบวกด้วยเหตุผลอื่นๆ อื่นๆ อื่นๆ

แล้วมีอะไรเกี่ยวกับคนไร้บ้านที่ยังค้างคาจนตัดสินใจไปลงพื้นที่ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่มะนิลา

หลังจบปริญญาโท อาจารย์สุริชัย หวันแก้ว เคยแนะนำทุนจาก Nippon Foundation เขาบอกว่า ถ้าสนใจเรื่องคนไร้บ้านให้ไปดูญี่ปุ่นสิ เมืองที่ดูเหมือนประสบความสำเร็จก็มีคนไร้บ้าน เผื่อคุณจะมีมุมมองอะไรบ้าง ก็เลยได้ทุนวิจัยไปอยู่ที่โตเกียวหกเดือน แล้วในทุนเดียวกันนั้นผมก็ได้ไปอยู่มะนิลาสองเดือน นั่นเลยทำให้ผมมีคอนเนกชันกับเพื่อนที่เป็นคนฟิลิปปินส์ เขาเป็น NGO ที่ทำงานเรื่องชุมชนแออัด ก็เลยเป็นจุดต่อจุดโยงกันมา

ตอนที่ไปเรียนปริญญาเอกที่ University of Wisconsin-Madison แล้วต้องทำวิทยานิพนธ์ ตอนแรกผมก็อยากจะทำประเด็นอื่นบ้าง แต่ว่าแคเทอรีน อาจารย์ที่ปรึกษาผมบอกว่า ถ้าคุณทำเรื่องคนไร้บ้านที่มะนิลาแบบที่คุณทำที่กรุงเทพฯ มันน่าสนใจแน่ ซึ่งสำหรับผมไม่ได้รู้สึกว่ามันยากอะไรนะ แล้วก็สงสัยว่ามันน่าสนใจมากเหรอ ไอ้การที่ไปนอนกับคนไร้บ้าน คือมันก็ทำได้ แต่ตอนนั้นไม่เห็นจะรู้สึกว่ามันพิเศษ

ถามว่าทำไมต้องไปอยู่เป็นคนไร้บ้าน ถ้าพูดถึงในทางสาขาวิชามานุษยวิทยาจะมีวิธีการเฉพาะว่า ถ้าคุณอยากจะเข้าใจคนอื่น ก็ลองไปเป็นคนอื่นดู นี่คือวิธีการที่ง่ายที่สุด คือลองไปอยู่ในมุมมองของคนที่คุณอยากจะศึกษา แทนที่เราจะมองเขาแล้วเห็นเขาเป็นอย่างนั้น ก็ลองไปยืนในตำแหน่งเขาดูสิ แล้วลองคิดจากมุมของเขาว่าทำไมเขาถึงคิดอย่างนี้ ทำไมเขาถึงอยู่อย่างนี้ เพื่อที่จะเข้าใจเขา เราก็ต้องค่อยๆ เปลี่ยนตัวเอง ไปกลมกลืนกับคนไร้บ้าน ไปจุ่มตัวเองอยู่กับคนไร้บ้าน

ก่อนจะไปนอนข้างถนนในมะนิลาคุณเตรียมอะไรบ้าง

สำคัญที่สุด ต้องเตรียมใจ บอกตัวเองว่าเรามีความมุ่งมั่น กระหายอยากจะรู้เรื่องนั้นจริงๆ แล้วไอ้ความมุ่งมั่นนั้นมันจะทำให้เราฝ่าข้ามอุปสรรคอื่นๆ ไปได้ ไม่ว่าคุณจะภาษายังไม่แข็งแรง คุณจะเจอฝนเจออะไร ไอ้ความมุ่งมั่นนั้นมันจะพาข้ามอุปสรรค ผมว่านี่คือเรื่องสำคัญที่สุด

ส่วนเรื่องการเรียนภาษา ถ้าคุณมีความมุ่งมั่นพอคุณก็จะรู้สึกว่าฉันอยากรู้ว่ะ ผมลงเรียนภาษาตากาล็อกเป็นเวลา 1 เทอม ซึ่งที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสันมีศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาที่แข็งมาก แล้วตอนลงฟิลด์ผมจะเปิดดิกชันนารีตลอดเวลา ผมไม่ได้พกสมาร์ทโฟนที่คุณจะเปิดหาได้ง่ายๆ แต่ผมพกดิกชันนารีแบบเป็นเล่ม คุยไปก็เปิดคำนั้นคำนี้ไป หน้าหลังของสมุดโน้ตที่ใช้ผมก็จะจดคำศัพท์ที่ใช้ ชื่อคนที่ผมเจอและหน้าตา แล้วข้างหน้าก็เป็นบันทึกในแต่ละวัน

ตอนที่อยู่สนามส่วนใหญ่ผมใช้สมุดโน้ต ผมจดด้วยปากกา ลายมือหวัดๆ นี่แหละ

ในแง่การเก็บข้อมูล การจดอย่างเดียวเพียงพอเหรอ

เราต้องคิดว่าไอ้พวกนี้ (หยิบเครื่องอัดเสียงขึ้นมา) มันมาทีหลังนะ นึกถึงนักมานุษยวิทยารุ่นแรกๆ เขาไม่มีเครื่องบันทึกแบบนี้ใช่ไหม เวลาพูดถึง Fieldnote ก็คือ Fieldnote อย่างนี้จริงๆ Fieldnote ที่เป็นสมุดปากกา Fieldnote ที่เป็นภูมิทัศน์แผนที่ วาดต้นไม้วาดอะไร ซึ่งมันก็มีน้ำหนักและมีความน่าเชื่อถือไม่น้อยกว่าการบันทึกด้วยเครื่องบันทึก แล้วการจดเรายังสามารถบันทึกอะไรเพิ่มเติมได้ด้วย เราจดความรู้สึกเราได้ว่าวันนี้เรารู้สึกยังไงตอนที่เราเดินอยู่ตรงนั้นตรงนี้ แล้วเครื่องอัดเสียงมันไม่สามารถที่จะบอกได้นะครับว่าสายตาคนที่เดินผ่านเรามาเป็นยังไง แต่เราสามารถจดได้ว่า คนที่เดินผ่านมาเป็นอย่างไร

ยกตัวอย่าง มีวันหนึ่งผมนอนอยู่ข้างถนน เป็นข้างถนนจริงๆ เลยนะครับ ฟุตปาธที่เรานอนกับที่คนเดินคือระดับเดียวกันเลย แล้วฟุตปาธก็อยู่ใกล้กับถนนมาก รู้ไหม ตื่นเช้ามาตอนสั่งน้ำมูก มันเต็มไปด้วยฝุ่นที่อยู่ในน้ำมูกเรา เนื่องจากว่าเราสูดเอาฝุ่นเข้าไป ซึ่งเครื่องบันทึกเสียงมันก็เก็บไม่ได้ใช่มั้ย แต่เราจดบันทึกได้ว่าเราสั่งน้ำมูกออกมามีแต่จุดดำๆ คือฝุ่นไอรถเต็มไปหมด

บุญเลิศ วิเศษปรีชาภาพเมื่อครั้ง บุญเลิศ วิเศษปรีชา ไปใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้านที่มะนิลา 14 เดือน ในช่วงปี 2556 – 2557

ตอนที่สั่งน้ำมูกออกมามีแต่ฝุ่น คุณรู้สึกสงสัยบ้างไหมว่า เรามาทำอะไรที่นี่ ทำไมเราต้องเอาร่างกายเข้าแลกขนาดนี้

ไม่เคยสงสัย ตอนเจอฝุ่นไม่เท่าไหร่นะ ผมเล่าเหตุการณ์ที่ไม่เคยเล่าดีกว่า

คุณรู้ไหมว่าผมมีปัญหากับมหาวิทยาลัยที่วิสคอนซินในเชิงเทคนิค เนื่องจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศเขาจะเข้มงวดเรื่องจริยธรรมในการวิจัย ก่อนที่จะมาลงฟิลด์ผมต้องส่งเอกสารชุดหนึ่งที่บอกว่าผมจะทำอะไรบ้างที่จะไม่ละเมิดในงานวิจัย ซึ่งผมก็ทำเรียบร้อยแล้ว แต่ปรากฏว่าขั้นตอนสุดท้ายของการคลิกยืนยันมันไม่สมบูรณ์ เจ้าหน้าที่เขาก็ส่งอีเมลมาหาผมว่า ตั้งแต่คุยกันมาเขายังไม่เห็นผมยืนยันเอกสารเลย แล้วผมก็ไปตอบในอีเมลว่า ผมอยู่ในมะนิลา เขาก็บอกผมว่า คุณทำแบบนี้ไม่ได้ คุณกำลังละเมิดกฎ คุณไม่สามารถทำวิจัยได้ก่อนที่จะได้รับการอนุมัติ

ตอนนั้นผมก็หน้าเสียเลย คือเราอยู่ที่สนามแล้ว แล้วคืนนั้นผมก็นอนข้างทาง ไม่กลับห้อง แล้วผมก็นอนในสภาพที่ย่ำแย่มากนะครับ คือนอนอยู่ใต้ชายคาที่ฝนตกลงมา พอน้ำฝนมันหยดใส่พื้นมันก็จะกระเด็นใส่เรา เรียกว่าแทบจะนอนไม่ได้เลย คืนนั้นแหละที่ผมถามตัวเองว่า ผมมาทำอะไรอยู่ตรงนี้

แล้วผมก็ตอบตัวเองว่า ผมไม่ได้มาทำวิจัย เพราะวันนั้นผมรู้แล้วว่าข้อมูลนี้ผมไม่สามารถเขียนในวิทยานิพนธ์ได้ เพราะว่ามหาวิทยาลัยไม่รับรอง ข้อมูลที่ผมเก็บมาก่อนการรับรองจะใช้ไม่ได้ แต่คืนนั้นที่ฝนตก ถ้าผมกลับบ้านไปผมจะรู้สึกผิดมาก ว่าพอฝนตกแล้วผมหนีกลับบ้านไปนอน ผมเลยบอกตัวเองว่าคืนนั้นผมนอนกับเพื่อน ไม่ได้นอนกับผู้ให้ข้อมูลวิจัยผม

ผมไม่เคยมีความรู้สึกว่าเราป่วยแล้วมันคุ้มมั้ย แต่ว่าถ้าถามตัวเองว่าอยู่ทำไม บางทีมันไม่ใช่เรื่องการวิจัยแล้ว มันเป็นเรื่องว่าเราสนิทกับเพื่อนที่เป็นคนไร้บ้าน เราคุ้นเคยกับเพื่อน เราจะรู้สึกผิดมากกว่าถ้าคืนนั้นฝนตกแล้วผมกลับไปห้อง ผมเป็นเด็กเกษตรฯ ผมโตมากับสังคมที่ความเป็นเพื่อนมันมีความสำคัญ เพราะฉะนั้น ถ้าเรานับคุณเป็นเพื่อน เราจะไม่ทิ้งกัน

คุณเริ่มนับคนไร้บ้านเป็นเพื่อนตอนไหน

บาร์ตโตเรเม คนไร้บ้านที่ผมเขียนถึงในหนังสือ เป็นคนแรกๆ ที่ผมรู้สึกว่าเขาคือเพื่อน

ตอนที่ผมลงฟิลด์ที่ฟิลิปปินส์แรกๆ ผมอาศัยนอนที่ออฟฟิศของเพื่อนที่เป็น NGO ซึ่งเพื่อนคนนี้เขาบอกว่าเขาอยากจะทำงานเกี่ยวกับคนไร้บ้านเหมือนที่ผมทำที่กรุงเทพฯ แต่ผมรู้สึกว่าเขาเหยาะแหยะไปหน่อย ไม่เอาจริงเอาจังอะไรเลย ทำให้ผมไม่อยากจะกลับไปนอนออฟฟิศเขา แล้วช่วงนั้นบาร์ตโตเรเมเป็นคนที่สังเกตผมมากเลย เขาถามผมว่า มีปัญหาอะไรหรือเปล่า ทำไมหลังๆ ไม่เห็นกลับไปนอนออฟฟิศเลย นอนที่นี่ทุกวันเลย ผมยังจำภาพวันนั้นได้ ผมนอนบนสนามหญ้าในสวนสาธารณะ เรานอนก่ายหน้าผากคุยกัน เขาถามผมว่า ทำไมไม่กลับ แล้วเขาก็บอกว่า ถ้าไม่อยากพูดก็ไม่ต้องพูด ถ้าไม่อยากกลับก็ไม่เป็นไร ก็อยู่ด้วยกันอย่างนี้ เป็นเพื่อนกัน

คือผมรู้สึกว่าคนเป็นเพื่อนกันเขาสังเกตกัน เขาสังเกตว่าผมสบายดีมั้ย มีปัญหาอะไรหรือเปล่า ทำไมถึงไม่กลับไปนอนออฟฟิศ ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่ความสัมพันธ์ของคนฝ่ายหนึ่งที่อยากได้ข้อมูลเพื่อไปเขียนวิทยานิพนธ์กับอีกฝ่ายหนึ่งที่มาคุยกับเราเพื่อหวังว่าจะได้ค่าอะไร มันไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบนั้น แต่เป็นความสัมพันธ์ที่ต่อให้คุณไม่ให้อะไรเขา เขาไม่ให้อะไรคุณ คุณก็รู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนกัน

คุณกับคนไร้บ้าน ใครเปิดใจก่อนกัน

ถ้าพูดภาษานักวิชาการเขาชอบพูดว่า เวลาเรารู้จักกับใคร ไม่ใช่เฉพาะเรากับคนไร้บ้านนะ แต่หมายถึงเรากับคนทั่วไป เวลาเราแสดงออกเราคิดอยู่ตลอดเวลาว่าคุณมาไม้นี้ เราจะมาไม้ไหน ดังนั้น คุณเปิดให้ฉันเท่านี้ ฉันเปิดให้คุณเท่านี้ มันก็เป็นการต่อรองกันตลอดเวลา

ผมก็เปิดบางเรื่อง ผมยอมรับว่าผมไม่กล้าบอกว่าความจริงแล้วผมเป็นนักศึกษามีเงินสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมา แต่ว่าเงินสนับสนุนนั้นผมแทบไม่ได้ใช้เลย เอาไปจ่ายค่าห้องซึ่งแทบจะอยู่แค่คืนเดียวแล้วเก็บของ ผมไม่กล้าบอกเพราะผมไม่กล้าพูดเรื่องตัวเลขเงินที่เรามี หลายๆ คนเราก็เปิดมากที่สุด แต่ผมห่วงอย่างเดียวว่าพอเปิดไปแล้วต้องไม่ทำให้เขามองเราเป็นคนมีสตางค์จนเกินไป นั่นคือสิ่งที่ผมระมัดระวัง ไม่ใช่ในเชิงไม่จริงใจ เรื่องเรียนหนังสือ เรื่องครอบครัว มีอะไรทั้งหลายก็บอก

อีกเรื่องที่ผมถูกถามบ่อยคือ อาจารย์ปลอมตัวหรือเปล่า ผมบอกผมไม่เคยปลอมตัว ปลอมตัวไม่ได้ มันเป็นจริยธรรมการวิจัย คุณจะต้องประกาศบอกว่าคุณเป็นนักวิจัย คุณจะไปเอาข้อมูลทีเผลอไม่ได้ เขาต้องให้ข้อมูลเราด้วยความยินยอม ด้วยความตระหนักรู้ว่าเขากำลังให้ข้อมูล ซึ่งส่วนใหญ่ผมจะเจอปฏิกิริยาตรงกันข้าม คือพอบอกความจริงไปเขาจะไม่ค่อยเชื่อ คนไร้บ้านส่วนใหญ่จะพูดๆ กันว่ามีคนไทยมาอยู่ เป็นนักศึกษาจริงหรือเปล่า หรือเป็นพวกพาสปอร์ตหาย หรือพวกหมดเงินกับการพนัน จนถึงขั้นคิดว่าผมหนีมาจากเมืองไทยก็มี อยู่มาเป็นปีคนเขายังมาถามผมว่าเป็นนักศึกษาจริงเหรอ

การบอกว่าเป็นนักวิจัยได้สร้างกำแพงอะไรบางอย่างขึ้นมาไหม

มันมีข้อบวกและข้อลบแตกต่างกัน ถ้าคุณบอกว่า คุณเป็นนักศึกษา มันมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ เลือกไม่ได้ คนชอบก็อาจจะบอกว่า ดีเหมือนกัน เป็นนักศึกษา มีความรู้ดี ในขณะที่บางคนอาจจะรู้สึกว่านักศึกษา นักวิจัย ก็แค่มาเก็บข้อมูลแล้วก็ไป ไม่เห็นได้ประโยชน์อะไรกับเขาเลย

แต่ต่อให้มันจะมีกำแพงหรือไม่มี ถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าบอกในสถานภาพไหน ก็จะมีคนตีความเราต่างกันไป แต่นั่นเป็นแค่จุดเริ่ม ยาวๆ คือเราต้องทลายกำแพงนั้นเอง

คุณทลายกำแพงด้วยวิธีไหน

คลุกคลีกับเขา เขาทำอะไรก็ทำเหมือนเขา แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้รังเกียจชีวิตของเขา เรามีความจริงใจที่จะเข้าใจชีวิตของเขา นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด

ที่ว่าไม่รังเกียจ มันเป็นการแสดงหรือไม่รังเกียจจริงๆ

มันเกิดขึ้นจากเราจริงๆ โอเค อย่างนี้กินได้เหรอ เราก็กินได้ ผมคิดว่าไม่ว่าใครที่ไหน รวมทั้งคนไร้บ้านก็ดูออกว่าคุณทำจากใจหรือคุณไม่ได้ทำจากใจ

ตอนผมไปอยู่แรกๆ ก็มีคนถามผมนะ เขาเถียงกับภรรยาเขาว่า เชื่อได้มั้ยว่าผมเป็นนักศึกษาจริงๆ คือเขาบอกว่าผมไม่เห็นเหมือนนักวิจัยคนอื่นที่เคยมาเลย เขาเจอคนอื่นมาคุยแล้วเขาก็ไป ไม่ได้อยากมาอยู่สนาม แต่ผมมาอยู่สนาม ตื่นนอน เดินไปกับเขา

การเก็บข้อมูลแบบลงมาอยู่สนามได้คำตอบต่างจากการมาถามแล้วก็ไปใช่ไหม

หนึ่งคือ ผมได้อารมณ์ความรู้สึกของคนไร้บ้าน ซึ่งเขาไม่อาจจะบรรยายออกมาเป็นคำพูดในช่วงเวลาสั้นๆ แต่เขาจะบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้ในจังหวะหนึ่งที่มันถึงอารมณ์ของเขา และผมคิดว่านี่คือสิ่งสำคัญที่สุด

อย่างเช่นเรื่องของบาร์ตโตเรเมที่สนิทกับผม เขามีความรู้สึกว่าเขาอยากจะทำงาน แต่ไปสมัครแล้วไม่ได้งาน ไอ้โมเมนต์แบบนี้เราต้องเห็นด้วยตา ต้องไปสัมผัส มันไม่ใช่แค่ถามว่า “ไปสมัครงานเป็นยังไง” แล้วเขาก็ตอบว่า “สมัครงานไม่ได้” มันก็แห้งๆ แต่ผมเห็นเขาเฮิร์ตมากที่ไปสมัครงานแต่เขาไม่ได้ เพราะว่าเขามีรอยสักจากการติดคุกมา ซึ่งคุณต้องอยู่กับเขา คุณถึงจะเห็นว่าคนที่ตลกโปกฮา ทะลึ่ง มะเทิ่ง ทำไมวันนั้นเขาซึมไป

พวกอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ มีคุณค่าในทางวิชาการด้วยเหรอ

เดี๋ยวนี้เราเริ่มให้ความสำคัญกับความรู้สึก เราไม่ได้ใช้หัวหรือเอาเหตุผลอย่างเดียว เราเข้าใจความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ด้วย อาจจะเป็นเพราะผมเป็นนักมานุษยวิทยาด้วย ซึ่งมานุษยวิทยาจะไม่ใช่ศาสตร์ที่แข็ง เราเป็นศาสตร์ที่มีความละมุน อ่อนโยนกับชีวิต เราแคร์ความรู้สึกของคนเพราะเราไปศึกษาคน มันไม่ใช่ศาสตร์ที่เราจะไปถามสิบนาทีแล้วกลับ มันเลยทำให้เราสนใจเรื่องความรู้สึก

ตอนหลังเรื่องความรู้สึกมันก็เป็นหัวข้อที่มีคนสนใจนะ โดยทั่วๆ ไปความรู้สึกจะถูกกดให้ต่ำกว่าเหตุผล แต่เราใช้ใจศึกษาบ้างก็ได้ เมื่อใช้ความรู้สึกในการศึกษา เราก็จะรู้สึกแบบคนไร้บ้านได้

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา

มีข้อมูลไหนมั้ยที่รู้สึกว่า ถ้าไม่มาอยู่แบบนี้คงไม่มีทางรู้

ถ้าถามผม ความรู้ชุดหนึ่งที่ผมคิดว่าลึกที่สุดของงานวิจัยผมก็คือ ผมพยายามทำความเข้าใจการที่คนไร้บ้านพูดว่า “Mahirap pero masaya” หรือ “ลำบากแต่มีความสุข”

คนไร้บ้านที่นั่นเขาจะเรียกผม แล้วบอกว่า “มะฮิรับ” แล้วผมจะต้องพูดต่อว่า “เปโร มะซายะ” ซึ่งการที่คุณพูดว่า “เปโร มะซายะ” นั่นแปลว่าคุณเข้าใจแล้วว่าปรัชญาชีวิตของที่นี่เป็นอย่างนี้ ชีวิตข้างถนนมันลำบากแต่มีความสุข ซึ่งผมก็พยายามทำความเข้าใจว่ามันลำบากยังไง และมันมีความสุขยังไง อันนี้แหละที่ผมต้องพาตัวเองเข้าไปอยู่

นั่นเป็นที่มาที่ผมทำวิทยานิพนธ์ชื่อSearching for Happiness on the Streets of Manila’ เราสนใจว่าเป็นไปได้ยังไงว่าชีวิตข้างถนนมีความสุข ซึ่งตอนแรกที่เราลงสนามเราคิดแค่ว่าทำไมมาเป็นคนไร้บ้าน โครงสร้างมันเป็นยังไง แต่สิ่งที่ผมทำเป็นจุดที่แตกต่างจากงานทั่วๆ ไป คือเรามาทำความเข้าใจความสุขของคนไร้บ้าน

ซึ่งการทำความเข้าใจเรื่องความสุขของเขามันไม่ง่าย ไม่ใช่แค่ไปถามเขาว่า ความสุขเป็นยังไงเหรอ แล้วเขาก็ตอบว่า ความสุขก็คือมีอาหารกิน ความสุขก็คือมีเพื่อน แต่คำว่ามีเพื่อนมันลึกตรงไหน อย่างไร คุณต้องอยู่ในโมเมนต์ที่เขาพูดขึ้นมาจึงจะเข้าใจ เช่น ความสุขตอนที่มีใครสักคนเอาข้าวกล่องหรืออะไรมาให้คุณ ที่คนไร้บ้านเรียกว่า ‘Biyaya’ หรือ ‘ของฝากจากพระเจ้า’

ผมเขียนในสมุดตัวเองประมาณยี่สิบบรรทัด บรรยายว่าวันนี้โชคดีมากเลย ที่บุมไบย์มีแจกนม แจกขนมหวาน เราไม่ได้กินขนมหวานมาเป็นเดือนๆ แล้วนะ แถมยังแจกฟรุตสลัดอีก โอ้โห มันอร่อยมากเลย ผมบรรยายเป็นย่อหน้าเลย แล้วพอผมออกมาจากพื้นที่ มานั่งทำงาน นั่งอ่าน ผมก็ถามตัวเองว่ายี่สิบบรรทัดนั้นผมเขียนไปได้ยังไง แสดงว่าผมต้องอินกับมันมากถึงบรรยายมันออกมาได้ คุณจะเข้าใจความสุขนี้ได้ คุณต้องอยู่ในบริบทของชีวิตข้างถนนเท่านั้น คุณถึงจะรู้สึกว่าไอ้การได้ขนมหวานก้อนหนึ่งหรือการได้กินไก่ชิ้นหนึ่งทำไมมันอร่อยขนาดนี้ เพราะชีวิตประจำวันคุณไม่เคยกินไก่ที่เป็นน่องไก่ ปีกไก่ เมื่อคุณได้กินชิ้นหนึ่งมันจึงพิเศษมาก ทุกวันนี้ไปเดินตลาดสิ คุณมีเงินแต่คุณไม่อยากซื้อ

ในภาวะที่มันขาดแคลน การได้ของเล็กๆ น้อยๆ คุณจะรู้สึกกับมันมากๆ ในชีวิตประจำวันของคุณที่แทบไม่มีอะไรเลย แต่เมื่อคุณได้อะไรบางอย่างที่พิเศษ คุณจะรู้สึกว่าสิ่งนั้นมันมีคุณค่ามาก นั่นคือความรู้สึกเอนจอย คือความสุขที่พอจะหาได้

เราก็ลึกซึ้งขึ้นว่าบางทีที่เขาพูดว่ามีความสุข มันเป็นความสุขเลเวลไหน มันก็ไม่ใช่ความสุขแบบแท้ๆ เสียทีเดียว มันเอนจอยแค่บางครั้งบางคราว สุดท้าย ถึงเขาจะบอกว่าชีวิตมันไม่ถึงขั้นลำบากลำบนสุดๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่ามีความสุขสุดๆ หรอก แต่คุณปรับตัวกับมันได้ เวลาใครถามผมว่าลำบากมั้ย มันก็ไม่ลำบาก ถามว่าสบายมั้ย ก็ไม่สบาย แต่ว่าผมชินเสียแล้ว

เพราะชินหรือเปล่า จึงทำให้คนไร้บ้านยังอยู่ตรงนั้น ไม่ดิ้นรนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น

ความชินมีผล อาจจะทำให้เขารู้สึกว่าไม่ต้องต่อสู้ ออกแรง หรือเขาอาจจะเคยพยายามดิ้นรนต่อสู้แล้วเขารู้สึกว่ามันไปไม่พ้น เพราะฉะนั้น เขาก็คิดว่าทำใจปรับตัวรับมันให้ได้ดีกว่า คนไร้บ้านในเมืองไทยก็พูด อยู่อย่างนี้คุณต้องปรับตัวให้ได้ ถ้าปรับตัวไม่ได้ คิดมากว่าทำไมครอบครัวทิ้งฉัน คุณก็เป็นบ้า เท่านั้นเอง

บุญเลิศ วิเศษปรีชา

คนไร้บ้านที่เจอส่วนใหญ่เขาอยู่ไปวันๆ หรือมีความฝัน ความทะเยอทะยาน บ้างไหม

มี (ตอบทันที) ภาษาตากาล็อกจะพูดว่า Mayroon pa pag-asa ที่แปลว่า เขายังมีความหวังอยู่

ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นยังไง เขายังมีความหวังว่าเขาจะกลับไปมีชีวิตที่ดีได้ มันเป็นความฝันหนึ่งความฝันที่ทำให้เขาพอจะดำเนินชีวิตต่อไปได้โดยไม่ทำร้ายตัวเอง ความฝันเขาอาจจะดูเลื่อนลอย เช่น ถ้าฉันถูกล็อตเตอรี่ ถ้าฉันบังเอิญเก็บเงินได้ แต่อย่างน้อยเขามีไง คนไร้บ้านที่นั่นจะต้องเดินก้มหน้าเพื่อหวังว่าจะเก็บอะไรได้ เขาเดินมองหาอยู่ตลอดเวลา เขาบอกว่ามีแต่คนบ้าเท่านั้นแหละที่มองฟ้า ถ้ายังสติดีอยู่คุณต้องมองหาว่ามีอะไรให้คุณเก็บบ้าง

ผมก็ถามทุกคนนะว่า ความฝันของเขาเป็นยังไง บางคนก็ฝันเล็กๆ ธรรมดามาก ขอแค่มีข้าวกินครบสามมื้อ มีที่นอน พอเราฟังแล้วก็คิดว่าความฝันที่เรียบง่ายมีนะ หรือมีคนหนึ่งเขามีความฝันว่าถ้าเขามีสตางค์ เขาจะสร้างบ้านให้คนไร้บ้านด้วยกันอยู่ ก็น่ารักดี

การทำความเข้าใจความสุขของคนไร้บ้านมันไม่ได้ทำให้เราลืมมองถึงรากของปัญหาใช่ไหม

ผมคิดว่าผมพยายามบาลานซ์ตั้งแต่ต้นว่าเราต้องสนใจทั้งโครงสร้างและก็ชีวิตคนไปพร้อมๆ กัน ผมก็พยายามที่จะไม่ให้น้ำหนักไปที่เรื่องแบบว่าทุกอย่างอยู่ที่ใจ

บทสุดท้ายผมเลยเขียนถึงบทสนทนาในค่ำคืนสุดท้าย ซึ่งพอกลับมาอ่านซ้ำผมก็รู้สึกสะเทือนใจ ผมก็ย้ำว่ามันไม่ได้ง่ายๆ หรอกที่จะบอกว่าอยู่อย่างนี้ก็มีความสุขได้ สุดท้ายอย่าลืมนะว่าโครงสร้างมันก็สำคัญ ไม่อย่างนั้นคนเจ็บป่วยข้างถนนมันลำบากนะ คุณจะบอกว่าชีวิตข้างถนนก็อยู่ได้ สบายดี มันไม่ใช่ ดังนั้น ผมเลยต้องมีประโยคสุดท้ายมาสำทับว่า อย่าลืมเรื่องพวกนี้นะ

แต่เรื่องราวส่วนใหญ่ในหนังสือที่ผมเขียนมันก็จะบอกว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานการณ์ยังไง มนุษย์ก็ยังมีความหวังในการใช้ชีวิตอยู่ของมันได้ ผมพยายามบอกว่าคุณต้องเห็นแรงกระทำจากโครงสร้างที่กระทำกับมนุษย์ แต่คุณก็ต้องเห็นมนุษย์ที่ไม่จำยอม มนุษย์ที่พยายามจะมีชีวิตรอด แล้วเขาก็บอกตัวเองได้ด้วยว่าชีวิตฉันก็ไม่ได้แย่อะไรนักหรอก ผมคิดว่าคนไร้บ้านที่นั่นเขาเข้มแข็งนะที่เขาบอกตัวเองอย่างนั้นได้

ผมคิดว่าด้านหนึ่งผมทำให้เห็นแรงกระทำจากข้างบน ขณะเดียวกันก็บอกว่าคนข้างล่างก็ไม่ได้ยอมจำนน

ทำความเข้าใจความสุข แล้วทำความเข้าใจความทุกข์ของพวกเขาด้วยไหม ส่วนใหญ่เขาทุกข์เรื่องอะไร

ทุกข์มีหลายระดับ ทุกข์พื้นฐานที่สุดก็หิวข้าว ไม่มีอาหารกินตามเวลา คือมันมีโครงการแจกอาหารก็จริง แต่โครงการแจกอาหารมันไม่ได้แจกตรงเวลา คุณจะต้องรอ อย่างวันแรกผมต้องรอที่บุมไบย์ เขาแจกข้าวเย็นตอนสองทุ่ม ซึ่งถ้ามื้อกลางวันคุณได้กินอะไรนิดเดียว กว่าจะถึงสองทุ่มมันหิวนะ แต่เรื่องหิวนี่เบสิก ผมคิดว่าสิ่งที่กัดกินใจเขาที่สุดก็คือ เขารู้สึกว่าเขาทำอะไรผิดในชีวิต สำหรับคนไร้บ้าน ถ้าเขาจะซัฟเฟอร์ก็คือเรื่องนี้ เขารู้สึกว่าเขาทำอะไรที่ผิดพลาดในอดีตแล้วมันบั่นทอนคุณค่าของเขา คนที่คิดว่าถ้าฉันไม่ทำแบบนั้นฉันก็ไม่น่ามาอยู่ตรงนี้เลย ความรู้สึกผิดจะทำให้เขาทุกข์ที่สุด การมาอยู่ที่ข้างถนนเหมือนมาอยู่แบบลงโทษตัวเอง นั่นคือความทุกข์ที่ลึกที่สุด

เพราะฉะนั้น ไอ้เรื่องไม่มีข้าวกิน ฝนตก มันคือความลำบาก แต่มันไม่ใช่ทุกข์ มันคือ Difficulty มันไม่ใช่ Suffering

บุญเลิศ วิเศษปรีชา

แล้วความสุขความทุกข์ของคุณตอนอยู่กับคนไร้บ้านคืออะไร

ผมสุขแบบที่คนไร้บ้านเป็น ถ้าได้อะไรที่มันพิเศษมาก็มีความสุข มีวันหนึ่งเขาแจกบิสกิต ที่ทุกวันนี้คุณไปซื้อในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือที่ไหนก็ได้ แต่พออยู่ข้างถนนไม่เคยกิน แล้วตอนนั้นเขาออกใหม่เลยมาแจก คนไร้บ้านก็ไปเวียนเทียนรับที่สถานีรถไฟ รับแล้วรับอีก แล้วก็มานั่งกินกัน มันอร่อยมาก นั่นคือผมมีความสุขแบบคนไร้บ้าน เมื่อได้อะไรพิเศษเรามีความสุข แต่ผมไม่มีด้านทุกข์แบบคนไร้บ้าน เนื่องจากผมรู้ว่าผมมีครอบครัว มันทำให้ผมไม่ได้อินกับเรื่องนั้นมาก นั่นคือสิ่งที่ผมรู้เลยว่าต่างจากคนไร้บ้านคนอื่น ผมรู้ว่าผมมีครอบครัวรอผมอยู่ สำหรับพวกเขา เขาไม่มีเซนส์ว่ามีใครรอเขาอยู่

ที่บอกว่าไปอยู่กับเขาเพื่อที่จะเข้าใจ แต่ถึงอย่างไรคุณก็ไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกเขาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่ดี เพราะสุดท้ายคุณก็มีบ้านให้กลับ

ใช่ๆ เรายอมรับไปแล้ว นักมานุษยวิทยาเรายอมรับว่า เราพยายามจะเข้าใกล้มุมมองของเขามากที่สุด แต่เราไม่อาจจะเป็นเขาได้ ผมถึงต้องเขียนงานที่เรียกว่า Reflexive Ethnography คือผมต้องสะท้อนตัวเอง

ที่ผมเขียนตอน ‘งุ่มง่าม หัวร้อน สะท้อนตัวตนเราและเขา’ เป็นความตั้งใจที่จะเขียนว่า ถึงคุณจะเห็นผมไปคลุกคลีกับคนข้างถนน แต่คุณอย่าเผลอคิดว่าผมเป็นคนข้างถนนนะ เพราะว่าถึงที่สุดแล้ว ผมมีแบ็กกราวนด์บางอย่าง การเขียนบทนั้นคือการเขียนเพื่อจะสะท้อนว่าเรามีข้อจำกัด มีตัวตนบางอย่างที่ผมไม่สามารถที่จะเป็นคนไร้บ้านร้อยเปอร์เซ็นต์

ผมอาจจะเป็นคนไร้บ้านในบางแง่มุม ในบางโมเมนต์ที่ผมเล่า เช่นถ้าคุณไม่แจกข้าวให้ผมแล้วผมจะไม่มีข้าวกิน ผมก็ตะโกนขึ้นมาว่า “เดี๋ยวก่อนๆ ผมยังไม่ได้” นั่นคือโมเมนต์แบบคนไร้บ้าน แต่ในขณะเดียวกันผมก็มีโมเมนต์ของการเป็นนักวิเคราะห์ที่จะต้องมองปรากฏการณ์อย่างวิเคราะห์ มองคำพูดเขาอย่างวิเคราะห์ เราไม่ได้เป็นคนไร้บ้านแบบเพียวๆ เท่านั้น

บทเรียนชีวิตจากข้างถนนของ บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ไปใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้านที่มะนิลา 14 เดือน
บทเรียนชีวิตจากข้างถนนของ บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ไปใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้านที่มะนิลา 14 เดือน

หลังเป็นคนไร้บ้านมา 14 เดือน วันสุดท้ายที่จะได้กลับบ้าน คุณดีใจหรืออาวรณ์

อันแรกไม่มีเลย

ผมเคยเขียนเรื่องหนึ่ง ชื่อเรื่อง ‘เด็กน้อยวิคตอเรีย’ พล็อตมันเกี่ยวกับเรื่องคำสัญญาว่าเราเคยสัญญากับวิคตอเรีย (เด็กผู้หญิงที่เป็นคนไร้บ้าน) แล้วเราต้องทำ แล้วถึงวันหนึ่งวิคตอเรียถามผมว่า เมื่อไหร่เราจะกลับมา แล้วเราไม่สามารถตอบได้ เราไม่กล้าให้คำสัญญากับใคร เพราะเรารู้ว่ามันมีความหมาย

ผมเขียนไว้ในตอนนั้นว่า ความรู้สึกผมที่คุยกับวิคตอเรียไม่ได้มีความรู้สึกดีใจว่าผมกำลังจะกลับบ้านที่เมืองไทย แต่เป็นน้ำเสียงที่มีความรู้สึกว่าเราอยู่กับที่นั่นนานพอที่จะรู้สึกผูกพัน

ผมยังจำความรู้สึกชั่วขณะสุดท้ายที่รู้ว่าได้เวลาจะต้องกลับห้องไปเก็บของ วันนั้นผมเดินออกมาเงียบๆ ไม่ได้ร่ำลาใครมาก แต่มีความรู้สึกอยู่ในใจลึกๆ ว่าการอยู่มาเป็นปีๆ ก็ย่อมมีสายใยผูกพันกับคนที่นี่ จนอดใจหายไม่ได้ในยามที่เดินจากมา

วันนั้นผมก็แค่บอกว่า “ฉันกำลังจะไปแล้ว” แล้วก็เดินออกมา บางคนก็เรียกเราบ้าง ถามว่าจะไปแล้วเหรอ แต่ผมเจตนาที่จะไม่พูดอะไรมากมาย เดินออกมาเงียบๆ ไม่มีความรู้สึกว่ากลับจากฟิลด์แล้วพรุ่งนี้จะฉลอง ไม่มีเลย

ถึงวันนี้ ยังมีอะไรค้างคาหรืออยากทำเกี่ยวกับคนไร้บ้านอีกไหม

ผมคิดว่าผมพูดเกี่ยวกับทางออกหรือแนวทางที่จะช่วยคนไร้บ้านน้อยเกินไป

อันนี้เป็นปมที่ผมคิดมาก ผมก็จะเขียนตั้งแต่ในเล่ม โลกของคนไร้บ้าน แล้วว่า เรามาศึกษาแล้วเขาได้อะไร แล้วคนไร้บ้านเองบอกผมว่า “เชื่อเถอะ มันทำให้คนเข้าใจ มันมีประโยชน์” ซึ่งผมคิดว่างานชิ้นนี้ มันทำให้คนเข้าใจคนไร้บ้านในทางที่ดีขึ้นว่า เขาไม่ได้เป็นผู้ร้ายนะ เขากินอยู่แบบนี้

ที่ผ่านมาผมรู้ว่าผมมีความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ไม่มากพอที่จะทำให้ผมพูดข้อเสนอชัดๆ ว่า เราควรทำอะไรเพื่อที่จะซัพพอร์ทเขา นี่คือสิ่งที่ผมรู้สึกว่าถ้าผมมีแรงกลับมาทำ ผมอยากจะกลับมาทำเรื่องนี้

นอกจากงานวิจัย คุณได้เรียนรู้บทเรียนชีวิตอะไรบ้างจากชีวิตข้างถนน

เรียนรู้มาก (เน้นเสียง) ตั้งแต่ผมไปอยู่กับคนไร้บ้าน ผมไม่เคยพูดเลยว่าชีวิตผมยากลำบาก ผมไม่เคยคิดว่าปัญหาอะไรที่ผมเจอมันเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะผมเจอคนที่เขายากลำบากกว่าผมเยอะแยะ แล้วเขายังอยู่ได้ เขายังต่อสู้ชีวิตได้ แล้วผมจะไปตำหนิอะไรชีวิตตัวเอง

ผมจำโมเมนต์ตอนที่ผมเจอกับเอ็ดการ์ได้เลย ตอนนั้นผมคุยกับเขาแล้วผมคิดถึงพ่อ เพราะพ่อผมเพิ่งเสียไม่นาน ผมก็เสียใจ แล้วเขาถามผมว่า “นายเคยเจอพ่อมั้ย พ่อสนิทกับนายมั้ย พ่อเคยเล่นกับนายมั้ย นายยังดี ฉันไม่เคยเห็นหน้าพ่อฉันเลย” โอ้โห ไอ้สิ่งที่เราคิดว่ามันหนักแล้ว สำหรับคนไร้บ้านเขาหนักกว่าเราเยอะ ฉะนั้น เขายังอยู่ได้ เขายังมีชีวิต แล้วพูดกับตัวเองได้ว่าไม่เห็นมันจะแย่เลย เราจะบอกว่าชีวิตเราแย่เหรอ ผมตัดออกไปจากหัวผมเลย

บทเรียนชีวิตจากข้างถนนของ บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ไปใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้านที่มะนิลา 14 เดือน

ช่วงเวลา 14 เดือนทำให้คุณมองชีวิตเปลี่ยนไปไหม

Simple Lang ภาษาตากาล็อกแปลว่า มันเรียบง่าย ความสุขคือความเรียบง่าย ทำอะไรให้มันเรียบง่าย ถ้าถามผมว่าเรียนรู้อะไรจากชีวิตข้างถนนก็คือความเรียบง่าย

คนไร้บ้านจะพูดว่าความฝันของเขา Simple Lang ก็คือคุณมีชีวิตที่เรียบง่ายคุณก็มีความสุข ผมทำสิ่งที่ผมอยากทำ ผมอยากเขียนหนังสือก็เขียนหนังสือ แม้มันจะไม่ได้ช่วยให้ผมมีตำแหน่งทางวิชาการ แต่ผมเขียนเพราะผมอยากเขียน เพราะผมอ่านวรรณกรรมตั้งแต่วัยรุ่น ผมทำในสิ่งที่ผมอยากทำ

แล้วคุณมองมนุษย์เปลี่ยนไปไหม

ถ้าคุณสนใจความเป็นมนุษย์ ผมคิดว่าไม่ว่ามนุษย์อยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ขนาดไหน ความเป็นมนุษย์มันไม่ถูกทำลาย หนึ่งคือ ที่ผมบอกไปแล้ว เขามีความหวัง กับสอง เขาเห็นแก่คนอื่น

มีอาจารย์ถามผมว่า บุญเลิศ ธรรมชาติของมนุษย์เป็นยังไง ดีหรือร้าย ผมบอกว่า ผมยังเชื่อว่ามนุษย์มีความดี แบบบาร์ตโตเรเม ที่คุณจะเห็นเขากักขฬะยังไง แต่เขาพูดกับผมว่า “นายจะกลับบ้านแล้วนายมีค่ารถหรือเปล่า”

คนมักคิดว่าถ้ามนุษย์อยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ที่สุด เราจะต้องเอาอะไรให้ตัวเอง แต่ผมอยู่กับคนไร้บ้าน ในสถานการณ์ที่เขามีทรัพยากรน้อยมาก แต่เขาแบ่งกัน

แต่ในหนังสือคุณก็เล่าว่า โดนคนไร้บ้านขโมยกล้องถ่ายรูป

ใช่ โดนขโมย แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นแบบนั้น อย่างโรเดลที่ขโมย เขามาทีเดียวแล้วเขาก็ไปเลย เขาคือขาจรที่มาแล้วก็ไป แต่ถ้าคุณอยู่ข้างถนนเขาจะไม่ทำแบบนั้นกัน พวกอยู่ข้างถนนคุณต้องแบ่งให้คนอื่น ฉะนั้น ที่ผมพูดว่าความเป็นมนุษย์ก็คือ ต่อให้คุณอยู่ในสภาพสิ้นไร้ไม้ตอก คุณยังมีความเป็นห่วงเพื่อนของคุณ

ผมต่างหากที่ไม่อยากให้เขารู้ว่าผมมีเงินเยอะ มีอยู่วันหนึ่งผมบอกเขาว่า มีเงินพอดีที่จะกลับออฟฟิศเพื่อนแล้ว บาร์ตโตเรเมก็บอกว่า “เอาไปอีกห้าเปโซ สิบเปโซ เผื่อตกรถหรือรถเสีย” ทำไมคนยากไร้เขาคิดแบบนั้น

หรืออีกเรื่อง มีอยู่วันหนึ่งผมไม่สบาย คนไร้บ้านเขาก็ถามผมว่าเป็นอะไร ไม่สบายเหรอ แล้วคนไร้บ้านอีกคนหนึ่งก็บอกว่า เขามียา แล้วก็เอายาพารามาให้ผม อีกคนหนึ่งก็เตือนว่า ยาพาราต้องกินหลังอาหารนะ กินข้าวหรือยัง แล้วก็บอกว่า สงสัยจะยังไม่กินข้าว เพราะผมกำลังนั่งรอรับแจกข้าวอยู่ แล้วก็มีลุงคนหนึ่งยัดเงินใส่ผมยี่สิบเปโซ แล้วบอกว่า เอาไปซื้อข้าวกิน จะได้กินยาได้

คนบอกว่าธรรมชาติของมนุษย์เห็นแก่ตัว แล้วในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ทำไมเขาไม่เก็บเงินไว้ล่ะ

ถ้าถามผมว่าความเป็นมนุษย์คืออะไร มันคือการที่ไม่ว่าคุณอยู่ท่ามกลางความยากลำบากเพียงใด คุณไม่ได้เห็นแก่ตัวอย่างเดียว คุณยังเห็นแก่เพื่อนคุณด้วย

บทเรียนชีวิตจากข้างถนนของ บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ไปใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้านที่มะนิลา 14 เดือน

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ