15 มิถุนายน 2022
6 K

The Cloud x สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

“พบกันที่สตูดิโอบ้านอาจารย์บุญกว้างนะคะ”

เสียงของน้องทีมงาน The Cloud ส่งมาตามสาย เราตื่นเต้นที่จะได้เดินทางจากจังหวัดระยอง เข้ากรุงเทพฯ ไปเยือนบ้านเจ้าของรางวัลที่ 1 งานประกวดสีน้ำโลก ปี 2015 ณ ประเทศตุรกี

เราไปถึงช่วงบ่าย สตูดิโออยู่บนชั้นสองของตัวบ้านที่ร่มรื่นหลังแรกของหมู่บ้านต้นไม้ บนถนนเทิดราชัน ดอนเมือง

ที่นี่เป็นที่ทำงานและสตูดิโอสอนสีน้ำของ อาจารย์บุญกว้าง นนท์เจริญ ศิลปินสีน้ำระดับโลกที่เก็บตัวอยู่อย่างสงบ เมื่อเดินเข้าไปในห้อง สายตาของเราก็ปะทะกับรางวัลมากมายบนชั้นหนังสือที่ศิลปินคนนี้ได้รับ นี่คือเครื่องการันตีผลงานชั้นครูของเขา และเราก็เป็นหนึ่งในทีมที่ได้มาเยี่ยมชมผลงาน รวมถึงทำความรู้จักศิลปินถึงบ้านด้วย

‘บุญกว้าง นนท์เจริญ’ ศิลปินสีน้ำระดับโลก ผู้กลับมาสนใจตนเองและตั้งใจจะวาดรูปตลอดไป

เด็กชาย คุณพ่อ และงานศิลปะ

“ตระกูลจริง ๆ ของผมอยู่ที่นนทบุรี แล้วก็ย้ายไปประจวบคีรีขันธ์ พอจบโรงเรียนบ้านไร่เก่าฯ ซึ่งจบ ป.7 สมัยก่อน ก็เข้ามาในเมือง มาเรียนต่อที่โยธินบูรณะ จบ ม.ศ.3 ก็ไปสอบเข้าวิทยาลัยช่างศิลป จากนั้นเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากร จบปริญญาตรีสาขาศิลปศาสตรบัณฑิต” อาจารย์บุญกว้างเริ่มเล่าเส้นทางการศึกษาให้เราฟัง เขาบอกว่าตั้งแต่จำความได้ก็ชอบวาดรูปแล้ว

“แสดงว่าความชอบด้านนี้อยู่ในสายเลือด” เราเอ่ย

“ใช่ มันอยู่ในทุกลมหายใจ” อาจารย์บอกอย่างราบเรียบแต่เป็นความจริง

เรามองดูหนังสือการ์ตูนและโปสเตอร์ภาพยนตร์ที่วางอยู่บนโต๊ะ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจตอนเด็กของเขา

‘บุญกว้าง นนท์เจริญ’ ศิลปินสีน้ำระดับโลก ผู้กลับมาสนใจตนเองและตั้งใจจะวาดรูปตลอดไป

“ตอนเด็ก ๆ วิ่งข้ามถนนไปดูทีวีบ้านหนึ่ง เราจำภาพการ์ตูนนั้นได้ ตอนเช้าก็มาเขียนใส่สมุด เขียนลงพื้นปูนหน้าบ้านด้วยชอล์ก เราทำอย่างนั้นทุกวัน จนกระทั่งเจอการ์ตูนคอมิกส์ขายในตลาด ก็เริ่มเอามาเป็นแรงบันดาลใจ จากตรงนี้ก็ไปเจอโปสเตอร์หนัง เราฝึกจากตรงนั้น จนกระทั่งได้เรียนศิลปะจริง ๆ” เขาหยุดสักพักแล้วเริ่มพูดต่อ

“พ่อผมก็เป็นคนที่เห็นคุณค่าของศิลปะนะ ตอนผมเด็ก ๆ มีพวกปลัดอำเภอมาเที่ยวบ้าน พ่อเอาเก้าอี้นอนที่เป็นไม้ให้ท่านปลัดนอน เสร็จแล้วเขาก็พาผมไปหาท่านปลัด ผมก็ถือรูปไปให้ปลัดดู พอปลัดดูก็บอก โอ้ เก่งมาก! แสดงว่าพ่อเขาก็ภูมิใจในตัวผม ไม่งั้นเขาคงไม่เอาไปโชว์หรอก”

หนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้เรารับรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์บุญกว้าง คุณพ่อ และงานศิลปะ คือตอนที่อาจารย์เดินไปหยิบผ้าพันแผลม้วนใหญ่ ที่มีความยาวเท่าข้อศอกออกมาให้ชม

“มันเป็นผ้าพันแผลของพ่อผม” อาจารย์ว่าอย่างนั้น

“เขาเป็นหมอ นี่เป็นของชิ้นสุดท้ายที่ผมสื่อสารในใจ เพราะว่าของอย่างอื่นของแกหายไปหมดแล้ว ผมเจอผ้าพันแผลอันนี้แล้วก็จำได้ว่าพ่อเคยใช้ ผมเก็บมาหลายปี พ่อตายตั้งแต่ผมอยู่ ม.ศ.2 ซึ่งนานมาก ย้ายไปไหนก็หิ้วไปด้วย จนกระทั่งได้ลองเอาผ้าพันแผลมาทำเป็นเท็กซ์เจอร์ของภาพ เลยมีอินไซต์บางอย่างที่ผูกพัน”

‘บุญกว้าง นนท์เจริญ’ ศิลปินสีน้ำระดับโลก ผู้กลับมาสนใจตนเองและตั้งใจจะวาดรูปตลอดไป

เราพิจารณาผ้าพันแผลม้วนนั้นอยู่สักพัก หากมองผ่าน ๆ คงจะเห็นเป็นเพียงม้วนผ้าเก่าธรรมดา แต่เมื่อได้ทราบที่มาที่ไป และผลลัพธ์หลังการใช้ เราก็รู้สึกทึ่งและประทับใจ เพราะหลายผลงานที่อยู่ในสตูดิโอที่เราเห็นวันนั้น ก็มี เท็กซ์เจอร์จากผ้าพันแผลของคุณพ่ออยู่ด้วย

ก่อนที่อาจารย์จะมาทำงานศิลปะแบบในปัจจุบัน น้อยคนนักที่รู้ว่าเขาเคยทำงานโฆษณามาก่อน

โดนเพื่อนหลอกมาสมัครงานโฆษณา

“ตอนที่เราจบมาใหม่ ๆ เรามีความตั้งใจว่าอยากเป็นศิลปิน แต่จบมาเพื่อนเข้าทำงานออฟฟิศกันหมดเลย ผมโทรไปหาใคร เขาก็บอก ไม่ได้ว่ะ เอ้ย! ประชุมว่ะ มันเป็นอย่างนั้นอยู่หลายเดือน

“จนในที่สุด ผมรู้สึกโดดเดี่ยวมาก เกือบปีที่ไม่ทำงาน นั่งเขียนรูป เพราะสมัยก่อนไม่ใช่ว่าเขียนรูปแล้วจะขายได้ ต้องผ่านสนามประกวด ไม่ง่ายนะ ศิลปินเยอะ การประกวดน้อย การซื้อรูปก็ยังไม่บูม

“จนผมโดนเพื่อนหลอกไป เพราะที่บริษัทเพื่อนขาด Visualizer ซึ่งมีหน้าที่คือ เวลาครีเอทีฟไปขายงาน สมมติเขาคิดหนัง 1 เรื่อง 12 ช่อง เขาต้องการคนมาเขียนว่า หนังมันเริ่มยังไง จบยังไง เพื่อนผมก็หลอกไปช่วยเขียนอันนี้แหละ ผมก็ไปบริษัท มันก็เอาใบสมัครงานมาให้เลย

“จำได้เลยว่าวันสมัครงาน เขาให้เขียนเงินเดือน ผมเขียนไป 4,000 แล้วเจ้านายเขาบอกว่า เฮ้ย! เขียนได้ไง 4,000! เราตกใจ เขียนแพงไปเหรอ เขาบอกว่า เขียนไปเลย 6,000! เราตกใจว่าทำไมไม่กี่นาที เงินขึ้นถึง 6,000 ทำไปทำมาก็เริ่มรู้ว่า งานโฆษณาบุคลากรน้อย แต่งานเยอะ สินค้าสารพัดสารเพต้องมีโฆษณา พวกบริษัทต่างชาติเข้ามาก็ต้องใช้เอเจนซี่ไทย ผมเลยโลดแล่นอยู่ในงานโฆษณาร่วม 30 ปี”

‘บุญกว้าง นนท์เจริญ’ ศิลปินสีน้ำระดับโลก ผู้กลับมาสนใจตนเองและตั้งใจจะวาดรูปตลอดไป

แต่แน่นอนว่าหลังทำงานมาอย่างโชกโชน คนเราย่อมมีจุดอิ่มตัว

“ประมาณ 5 – 6 ปีหลัง ผมมีงานน้อยลง ตอนนั้นแพลตฟอร์มของโทรศัพท์กำลังมา ผมวางแผนว่าจะต้องมีอาชีพที่สอง จึงเริ่มพัฒนาด้านศิลปะ หนึ่ง เกิดจากความรัก สอง ถ้าผมวาดได้ขนาดนี้ ผมก็สอนคนได้ อาชีพสอนวาดรูปก็น่าจะไปได้เหมือนกัน ก็เดาเอา หลัก ๆ ผมพัฒนาตัวเองก่อน”

งานวาดรูปมาจากความรักส่วนตัว หลังจากนั้นจึงพัฒนาสู่การสอนวาดรูป เช่นเดียวกับสถานที่ที่เรากำลังพูดคุยกับอาจารย์บุญกว้าง ห้องกระจกที่มองลงไปเห็นถนนและรถราวิ่งว่อน ห้องนี้เคยเป็นสถานที่ต้อนรับลูกศิษย์มากมาย กระทั่งโควิด-19 มาเยือน คอร์สการสอนออนไซต์จึงกลายเป็นการสอนออนไลน์ไปโดยปริยาย

‘บุญกว้าง นนท์เจริญ’ ศิลปินสีน้ำระดับโลก ผู้กลับมาสนใจตนเองและตั้งใจจะวาดรูปตลอดไป
‘บุญกว้าง นนท์เจริญ’ ศิลปินสีน้ำระดับโลก ผู้กลับมาสนใจตนเองและตั้งใจจะวาดรูปตลอดไป

พินิจพิจารณาจนค้นพบความต้องการ

ระหว่างสำรวจห้องของอาจารย์ เรามองเห็นกระดาษแผ่นหนึ่งที่มีแผนภูมิวงกลมวาดอยู่บนนั้น อาจารย์บุญกว้างจึงหยิบขึ้นมาอธิบายให้เราฟังว่า นั่นคือวิธีการมองชีวิตของเขา

“ผมแบ่งเป็น 2 เรื่อง ภายนอกและภายใน ผมมานั่งคิดดูว่า ตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 50 ผมวุ่นวายอยู่กับเรื่องภายนอก ทั้งตอนเรียน ทำงาน จนกระทั่งมีครอบครัว เรามีหน้าที่ทำงานให้ลูกค้า เลี้ยงดูครอบครัว และสร้างทุกอย่าง เรียกว่า 1 – 50 ปี เป็นเรื่องภายนอกหมดเลย แทบจะไม่มีตัวเองอยู่ในนั้น

“พอมาหลังอายุ 50 จนถึงปัจจุบัน ระยะเวลามันแค่ 8 ปี แต่ผมเริ่มมองเรื่องภายในมากขึ้น ผมไม่เคยถามตัวเองเลยว่า จริง ๆ เราชอบอะไร เราเป็นใคร อะไรเป็นความสุขของเรา และอะไรเป็นความทุกข์ พอหลังอายุ 50 เริ่มพิจารณาตัวเองมากขึ้น มันก็สอดคล้องกับสิ่งที่ผมทำ คืองานศิลปะและงานวาดรูป”

‘บุญกว้าง นนท์เจริญ’ ศิลปินสีน้ำระดับโลก ผู้กลับมาสนใจตนเองและตั้งใจจะวาดรูปตลอดไป

ครั้งหนึ่งอาจารย์ไปร่วมงานเทศกาลสีน้ำที่ประเทศรัสเซีย ณ กรุงมอสโก ตอนนั้นได้รางวัลจึงได้รับเชิญไป หลังงานเสร็จ เขาแวะไปเที่ยวที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และเจอรูปปั้นของ เฮนรี มัวร์ (Henry Moore) ประติมากรชาวอังกฤษ สิ่งที่ผู้มาเยือนยืนจ้องอยู่นาน คือผลงานสลักก้อนหินรูปผู้หญิงนอน ทำให้เขาเริ่มสังเกตตัวเองว่า

เขาชอบความเรียบง่ายของงานเหล่านั้น รวมถึงความเป็นตัวเองในงาน

“เราชอบอะไรที่เป็นสัจจะ ชอบอะไรที่ไม่ค่อยปรุงแต่ง แล้วก็เชื่อว่า ศิลปะมันเป็นแค่การสะท้อนตัวตนของคนคนหนึ่งแค่นั้นเอง”

  อาจารย์บุญกว้างบอกว่า การให้ความสนใจกับภายนอกมากเกินไป จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำลายความเป็นตัวของตัวเอง

“เมื่อเรากลัวว่ารูปจะทันสมัยไหม จะเชยไหม นี่คือสนใจเรื่องภายนอก แต่พอเป็นเรื่องภายใน เรามีความมั่นใจ งานเราก็ไม่จำเป็นต้องมีสี แล้วถ้าไม่มีสี มันจะเหมือนเหรอ มันไม่เหมือนก็ได้ มันจะเหมือนไปเพื่ออะไร ความคิดของคนวัย 50 เริ่มมีความยูนีกขึ้นมา แล้วเราก็มั่นใจในทางที่เราเดินมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกัน ผลเสียอย่างหนึ่งที่มันจะเกิดแน่ ๆ เลยก็คือ เราแทบจะไม่สนใจสังคมแล้ว”

นัก (ชอบ) วาดรูปรุ่นใหญ่

เราเริ่มถามอาจารย์ถึงมุมมองที่มีต่องานแสดงในฐานะศิลปินคนหนึ่ง

เขาบอกเราว่า เขารู้สึกเฉยกับการจัดงานแสดง

“ทำไมเราต้องแสดง มีน้องคนหนึ่งบอกผมว่า พี่น่าจะเป็นศิลปินแห่งชาตินะ มันไม่ได้อยู่ในความคิดของผมเลย ผมแค่ตื่นขึ้นมา ผมวาดรูปแล้วมีความสุขกับการวาดรูป เคยคิดว่าถ้าได้ไปตอนเรากำลังวาดรูปก็ดีนะ เวลาที่ผ่านอายุ 50 ขึ้นมา สำหรับผมมันคือคริสตัล เพราะผมมองอะไรทะลุปรุโปร่งมาก ไม่รู้ว่ามันเป็นที่ศิลปะที่ผมทำด้วยหรือเปล่า แต่มันเป็นการค่อย ๆ ละเมียดกับตัวเองมากขึ้น”

หลังจากฟังการตกผลึกของอาจารย์บุญกว้าง เราถามเขาว่าอยากเป็นศิลปินตั้งแต่เด็กเลยหรือไม่ เขาตอบกลับมาว่า ความฝันคือแค่วาดรูป

“คำว่าศิลปิน มันคือคน คือตำแหน่ง สมมติ พี่เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เขาเป็นศิลปินเพราะการแสดงออกของเขา การพูดจา การพรีเซนต์งาน ภาพวาด ในภาพรวมผมดูแล้วก็ชื่นชมเขาเป็นศิลปิน แต่ผมไม่ได้เป็นอย่างนั้น ผมเป็นแค่คนวาดรูป ไม่ถึงขนาดศิลปิน เหมือนตอนเด็กผมดูการ์ตูน ผมก็อยากเป็นจิตรกร

“จำได้ว่าไปยืนหน้าห้อง อาจารย์ถามว่า อยากเป็นอะไร คนนู้นก็เป็นหมอ คนนี้ก็เป็นทหาร คนนั้นก็เป็นตำรวจ มีผมคนเดียวเป็นจิตรกร เพื่อนฮาลั่นเลย แล้วก็โดนล้อว่าเป็นจิตรกรไส้แห้ง ภาพมันเป็นอย่างนั้นในสมัยนั้น เรื่องจริงนะ จิตรกรส่วนใหญ่จะไส้แห้ง เพราะมันทำงานด้านจิตวิญญาณ ไม่มีกำไร”

แต่ถึงอย่างนั้น อาจารย์บุญกว้างก็ยังคงวาดรูปด้วยความชอบมาตลอด โดยภาพที่เขาเขียนมักเป็นทิวทัศน์และคน แต่ทิวทัศน์สื่อสารไม่ค่อยตรงใจในบางครั้ง เขาจึงเขียนภาพคนเพื่อแสดงออกในสิ่งต่าง ๆ มากกว่า

โลกแห่งสีน้ำและผลงานที่ชื่นชอบ

เราเดินทัศนาผลงานอาจารย์ที่ได้รางวัลสีน้ำโลก ต้องบอกว่าเยอะมาก!

อาจารย์บุญกว้างกวาดรางวัลมาแล้วทั่วโลก ตั้งแต่การประกวดที่ตุรกี ปี 2015 – ปัจจุบัน (แต่หลัง ๆ อาจารย์ไม่ค่อยส่งประกวด) เขายื่นหนังสือเล่มเล็กที่อัดแน่นด้วยผลงานรางวัลมาให้เราชม

‘บุญกว้าง นนท์เจริญ’ ศิลปินสีน้ำระดับโลก ผู้กลับมาสนใจตนเองและตั้งใจจะวาดรูปตลอดไป

อาจารย์บุญกว้างเล่าว่า การประกวดระดับโลกของเขาเกิดจากเพื่อนที่พบกันในเทศกาลสีน้ำโลก ที่กระทรวงวัฒนธรรมจัดขึ้นในประเทศไทย ในงานนั้นมีศิลปินทั่วโลกมาร่วมงาน ทำความรู้จักกันผ่านเวิร์กชอปต่าง ๆ เมื่อมิตรภาพเกิดขึ้น เพื่อนคนนั้นจึงชวนให้เขาส่งผลงานไปประกวด พร้อมทั้งหาที่พักให้ ในที่สุดก็เกิดเป็นสมาคมขึ้นมา

หลากหลายผลงานภาพวาดที่อาจารย์บุญกว้างเลือกมาให้ชม สร้างความอิ่มเอมใจให้กับคนที่ชื่นชอบผลงานของอาจารย์บุญกว้างอย่างเรามาก เขาเปิดประตูพาเราเข้าไปชมห้องสะสมผลงาน

ภาพทุกภาพล้วนแสดงอารมณ์ผ่านฝีแปรงได้อย่างล้ำเลิศและลุ่มลึก

01 The Master

Gold Medal, 4th International Watercolor Society “HOMER LOVE AND PEACE THROUGH ART”, Turkey 2015

เยือนสตูดิโอสีน้ำ ตามฝีแปรง อาจารย์บุญกว้าง นนท์เจริญ ไปดูงานศิลปะที่สะท้อนลมหายใจของชีวิตที่เขาค้นพบและเคยพบเจอ

ภาพ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ที่ได้รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ที่งานประกวดสีน้ำโลก ณ ประเทศตุรกี

02 Feel The Breeze

เยือนสตูดิโอสีน้ำ ตามฝีแปรง อาจารย์บุญกว้าง นนท์เจริญ ไปดูงานศิลปะที่สะท้อนลมหายใจของชีวิตที่เขาค้นพบและเคยพบเจอ

ภาพนี้วาดจากคนใกล้ตัว ลูกสาวของอาจารย์

03 The Mother & Child

First Prize, 1ra. Bienal Internacional de la Acuarela KIPUS BOLIVIA, 2017

เยือนสตูดิโอสีน้ำ ตามฝีแปรง อาจารย์บุญกว้าง นนท์เจริญ ไปดูงานศิลปะที่สะท้อนลมหายใจของชีวิตที่เขาค้นพบและเคยพบเจอ

“ผมชอบเขียนภาพคนชายขอบ ผมรู้สึกว่าพวกเขายังเป็นคนอยู่ มีความเป็นมนุษย์ เกิดมามีชีวิต เลี้ยงดูลูก แล้วก็ตายอย่างสงบ แต่ว่าคนปัจจุบันหลายคน ดราม่ากันตั้งแต่มีลูก มีครอบครัว ไม่ค่อยจะรักษาโลก แต่ทำลายโลกมากกว่า

“ผมก็เลยไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ไปชอบคนเหล่านี้ คนที่ไม่ทำลายโลก”

04 The Lost People 

1st Taiwan World Watercolor Competition & Exhibition, Taiwan 2016

เยือนสตูดิโอสีน้ำ ตามฝีแปรง อาจารย์บุญกว้าง นนท์เจริญ ไปดูงานศิลปะที่สะท้อนลมหายใจของชีวิตที่เขาค้นพบและเคยพบเจอ

“คนนี้เป็นคนพม่า ภาพนี้แสงตกมาสวยมาก ผมก็ไปขอคนที่ถ่ายภาพมาวาด พอเราวาดเล็ก ๆ มันก็แสดงออกไม่ชัด อยากโชว์ให้เห็นริ้วรอย โชว์ให้เห็นแสง ผมเลยวาดขนาดใหญ่ เป็นภาพที่ประทับใจภาพหนึ่ง ผมตั้งชื่อภาพว่า ‘The Lost People’ คือคนที่กำลังจะจากเราไป

“ผมมีปมเรื่องนี้อยู่ แม่ผมเป็นคนโบราณ ในความคิดความอ่านของแม่ มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจมาก ผมบอกว่าเดี๋ยวจะไปซื้อน้ำขวดมากิน แม่ก็บอกว่า จะบ้าเหรอ ใครเขาขายน้ำกัน บาปตาย เขาเป็นคนในยุคที่น้ำขายไม่ได้ ใครมาขอ ต้องรีบให้ ผมเพิ่งรู้สึกว่ามันมีคุณค่าบางอย่างในคนแต่ละรุ่น”

05 และ 06 ความทุกข์

เยือนสตูดิโอสีน้ำ ตามฝีแปรง อาจารย์บุญกว้าง นนท์เจริญ ไปดูงานศิลปะที่สะท้อนลมหายใจของชีวิตที่เขาค้นพบและเคยพบเจอ

“อันนี้จริง ๆ มันสวยตั้งแต่เป็นภาพถ่ายแล้ว แต่ผมเอามาสร้างสีสัน เพราะภาพถ่ายออกทึม ๆ ออกไปแนว Dark Silhouette ด้วยซ้ำ ผมเลยเอามาเติมสีสันใหม่ พยายามเติมสีให้ความรู้สึกคล้าย ๆ เลือดและเนื้อ เป็นเรื่องความทุกข์ของคนที่ไม่มีโอกาส เพราะคนที่ไม่มีโอกาส ก็ไม่มีโอกาสอย่างนั้น ผมมองว่าการปรับชั้นของสถานะมันยากมาก อย่างผมเกิดมาในครอบครัวร้านขายยา ก็ไปไกลกว่านี้ไม่ได้ แม้ได้เรียนโรงเรียนดีระดับหนึ่ง แต่โตมาก็ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการใหญ่โตอะไร

“ผมมองว่าผู้คนที่อยู่ริมถนนจะขยับฐานะขึ้นมาเป็นเรื่องยากมาก เรามองแล้วก็เวทนานะ เลยถ่ายทอดความรู้สึกผ่านทางรูปวาด การวาดรูปบางทีจุดเริ่มต้นมันก็เป็นแค่ความเห็นอกเห็นใจ แต่ผมก็ไม่ได้คาดหวังให้คนมาเห็นเหมือนผมหรอก ผมก็ใช้เขาเป็นตัวแทน แล้วก็แสดงออกไป

“อาจจะเป็นความสุขก็ได้ เป็นความทุกข์ก็ได้ เป็นเรื่องของความไม่จีรังของสังขารชีวิต”

การเรียนรู้จากสีน้ำ

ตอนที่อาจารย์บุญกว้างออกจากงาน เขาตั้งใจไว้ 2 อย่างคือ

หนึ่ง เขียนรูปซึ่งเป็นสิ่งที่เขารัก สอง ทำอะไรสักอย่างให้สังคมผ่านความถนัดของตนเอง

อาจารย์บุญกว้างเริ่มเปิดสอนวาดภาพฟรี แต่ปรากฏว่าคนเรียนไม่ให้ความสำคัญจนโดดเรียนบ่อยครั้ง เมื่อเขารู้ว่าการสอนฟรีไม่เวิร์ก จึงเริ่มเก็บเงินไม่แพงมาก และปรับราคาให้ถูกกว่าเจ้าอื่นเล็กน้อย

ซึ่งผลลัพธ์ก็ดึงดูดลูกศิษย์หลากหลายอาชีพมาหา

“จริง ๆ สิ่งที่ผมไม่รู้ คือ มีคนที่ชอบวาดรูปเยอะมาก แล้วคนที่มาเรียนกับผม เป็นหมอ พยาบาล ทันตแพทย์ พนักงานธนาคาร ผมแอบไปนั่งคุยว่าทำไมมาเรียนวาดรูป เขาบอก จริง ๆ งานเขาเครียด

“อีกส่วนหนึ่งบอกว่า เขาเป็นคนชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก แต่ตามใจพ่อแม่ที่อยากให้ไปเรียนหมอ เขาก็ไปเรียน คราวนี้พออายุมากแล้ว เริ่มเตรียมเกษียณ ก็เลยกลับมาหาผม พอผมสอน ผมก็เริ่มเห็นว่า จริง ๆ สิ่งที่ผมเข้าใจแต่แรกว่า คนที่รักศิลปะเท่านั้นที่เป็นศิลปิน วาดรูปได้ มันไม่ใช่ กลายเป็นว่าคนที่เป็นหมอก็วาดรูปได้ นอกจากผมจะสร้างงานของตัวเองแล้ว ผมก็ไปผลักดันคนที่อยากวาดรูปให้เขาได้วาดรูป ให้เขาได้สร้างผลงาน แล้วผมก็จัดนิทรรศการให้ เป็นการรวบรวมนักเรียนของผม เมื่อ 2 – 3 ปีก่อนผมก็จัดเป็นงานใหญ่เลย ให้เขามีตัวตนอีกตัวตนหนึ่ง นั่นคือศิลปิน”

เยือนสตูดิโอสีน้ำ ตามฝีแปรง อาจารย์บุญกว้าง นนท์เจริญ ไปดูงานศิลปะที่สะท้อนลมหายใจของชีวิตที่เขาค้นพบและเคยพบเจอ

อาจารย์บุญกว้างบอกเราว่า ความรักคือสิ่งสำคัญ ศิลปะเปิดโลกทัศน์และสร้างทัศนคติให้แก่ผู้คน การเรียนสายวิทย์และสายศิลป์จะช่วยเติมเต็มส่วนที่ต่างคนต่างไม่มีได้

“ไม่ใช่ทั้งประเทศมีแต่หมอ มันต้องมีศิลปะ ต้องมีครู มีนักวิจัย ประกอบกันเป็นสังคม”

ตลอดเวลา 12 ปี ที่อาจารย์บุญกว้างวาดสีน้ำอย่างจริงจัง เขาปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างคนที่มุ่งมั่นเรียนรู้เท่าที่เรียนไหว สอนลูกศิษย์ที่สนใจต่อไปด้วยคอมพิวเตอร์ที่เปรอะสีน้ำอยู่หลายจุด และกล้องที่บันทึกภาพการเรียนการสอนทุกวินาที แต่ถึงเทคโนโลยีจะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของชีวิต อุปกรณ์วาดภาพอย่างแปรง กระดาษ และพู่กัน ก็ยังเป็นสิ่งที่อาจารย์บุญกว้างเลือกใช้ มากกว่าปากกาที่จรดลงบนกระดาษดิจิทัล

“ตอนนี้อายุ 58 ตอน 60 คิดว่าก็ยังวาดภาพอยู่”

ทุกวันนี้ อาจารย์บุญกว้างใช้เวลาไปกับการปลูกต้นไม้ในบ้าน และรักษาความสุขเอาไว้อย่างเดิม

“ผมแค่คิดว่า ตื่นขึ้นมาก็จะวาดรูป เพราะผมมีความสุขกับการวาดรูป”

เยือนสตูดิโอสีน้ำ ตามฝีแปรง อาจารย์บุญกว้าง นนท์เจริญ ไปดูงานศิลปะที่สะท้อนลมหายใจของชีวิตที่เขาค้นพบและเคยพบเจอ

The Cloud Golden Week คือแคมเปญสนุก ๆ ที่ทีมงานก้อนเมฆขอประกาศลาพักร้อน 1 สัปดาห์ เนื่องในโอกาสฉลอง The Cloud ครบ 5 ปี เราเลยเปิดรับวัยอิสระ อายุ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนักเขียน ช่างภาพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ เข้ามาประจำการแทนใน The Cloud Golden Week ขอเรียกว่าเป็นการรวมพลังวัยอิสระมา ‘เล่าเรื่อง’ ในฉบับของตนเองผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆ เพราะเราเชื่อว่า ‘ประสบการณ์’ ของวัยอิสระคือเรื่องราวอันมีค่า เราเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงตัวเลข ไม่ใช่ข้อจำกัดของการเรียนรู้

แคมเปญนี้เราร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้วัยอิสระกล้ากระโจนเข้าหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ออกมาพูดคุยกับเพื่อนวัยเดียวกัน พร้อมแบ่งปันเรื่องราวอันเปี่ยมด้วยคุณค่า เพื่อเติมฟืนไฟให้กาย-ใจสดใสร่าเริง

นี่เป็นครั้งแรกที่ทีมงาน The Cloud มีสมาชิกอายุรวมกันมากกว่า 1,300 ปี!

Writer

Avatar

รัสรินทร์ กิจชัยสวัสดิ์

ทำร้านหนังสือเล็ก ๆ งานหลักคือเดินทาง ไม่แน่ใจว่ารักทะเลหรือภูเขามากกว่ากัน แต่ที่แน่ ๆ ชอบกินของอร่อย

Photographer

Avatar

ยุพดี สัตตะรุจาวงษ์

ช่างภาพจากคณะวิทยาศาสตร์ ผสมผสานงานศิลปะ มีใจรักการทำอาหารและขนม