8 กุมภาพันธ์ 2023
3 K

เชียงของ เป็นอำเภอในจังหวัดเชียงราย อยู่ติดแม่น้ำโขง

ผู้เขียนเคยเห็นปลาบึกตัวขนาดหลายร้อยกิโลกรัมเป็นครั้งแรกในชีวิตเมื่อร่วม 20 ปีก่อน ก่อนที่เขื่อนในประเทศจีนซึ่งกั้นแม่น้ำโขงจะสร้างเสร็จ และตามมาด้วยการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จนเป็นอุปสรรคสำคัญในการแพร่พันธุ์ปลาขนาดใหญ่ที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง เพราะการไหลของแม่น้ำโขงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ จากเขื่อนปิดกั้นการเดินทางของปลาบึกที่ว่ายทวนน้ำขึ้นมาวางไข่

ผมจำได้ว่าปีนั้นชาวบ้านจับปลาบึกยักษ์ที่ว่ายทวนน้ำขึ้นมาวางไข่ได้ 20 กว่าตัว หลังจากนั้น ปริมาณการจับปลาบึกก็ลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนทุกวันนี้คนสองฝั่งแม่น้ำแทบไม่เห็นปลาบึกในธรรมชาติอีกเลย

ทุกวันนี้เชียงของเป็นเมืองท่องเที่ยวเล็ก ๆ ของผู้คนที่รักวิถีชีวิตพื้นบ้าน ธรรมชาติ วัดวาอาราม และโดยเฉพาะนักเดินทางที่อยากนั่งเรือล่องแม่น้ำโขงนานเป็นวัน เพื่อมาขึ้นฝั่งที่เมืองหลวงพระบาง

แต่มีสิ่งหนึ่งที่คนภายนอกไม่ค่อยได้รับรู้ คือ ‘ป่าบุญเรือง’ ในเชียงของที่โด่งดังไประดับโลก

เมื่อ พ.ศ. 2563 ป่าบุญเรืองเป็น 1 ในป่า 10 แห่งทั่วโลกที่ได้รับรางวัล ‘Equator Prize’ ของ United Nations Development Programme (UNDP) รางวัลป่าระดับโลกที่เอาชนะป่า 500 กว่าแห่งจาก 120 ประเทศที่ส่งเข้าประกวด

ป่าบุญเรือง ป่าริมโขง 3,000 ไร่ที่ชาวบ้านร่วมต่อสู้เพื่อรักษาจนคว้ารางวัลระดับโลก

Equator Prize เป็นรางวัลใหญ่ มอบให้ชุมชนที่ดูแลรักษาพื้นที่ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการทรัพยากร เพื่อลดปัญหาความยากจน ขจัดความเหลื่อมล้ำ

ปลายปีที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสล่องเรือไปในป่าบุญเรือง บริเวณหมู่บ้านบุญเรือง หมู่ 2 ที่ตั้งอยู่ติดแม่น้ำอิง แม่น้ำสายสำคัญของภาคเหนือที่ไหลออกไปเติมปริมาณน้ำให้กับแม่น้ำโขง

ใช่ครับ ล่องเรือไปในป่า ไม่ใช่เดินป่า เพราะป่าบริเวณนี้ ในช่วงหน้าแล้งเดินได้ แต่ช่วงหน้าน้ำ น้ำจากแม่น้ำอิงจะไหลเอ่อท่วมเข้ามาในป่าแห่งนี้ จนกลายเป็นป่าชุ่มน้ำ (Seasonal Wetland)

ป่าชุ่มน้ำบุญเรือง พื้นที่ 3,000 กว่าไร่ เป็นพื้นที่ป่าที่มีความสัมพันธ์กับการขึ้นลงของระดับน้ำอิงและน้ำโขง ในช่วงปกติมีสภาพพื้นที่คล้ายป่าทั่วไป พอถึงฤดูน้ำหลาก น้ำจากแม่น้ำอิงจะไหลทะลักเข้ามาท่วมป่าใหญ่ร่วม 3 เดือน กลายเป็นพื้นที่ป่าชุ่มน้ำตามฤดูกาล เป็นแก้มลิงธรรมชาติ กักน้ำได้มากกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เกิดความหลากหลายทางชีวภาพมากมาย พบพันธุ์ปลา 282 ชนิด นก 90 ชนิด พบสัตว์ป่า 134 ชนิด รวมทั้งเสือปลา แมวดาว สัตว์ป่าหายาก และต้นไม้พรรณพืชนับ 100 ชนิดที่มีวิวัฒนาการน่าสนใจ

ป่าบุญเรือง ป่าริมโขง 3,000 ไร่ที่ชาวบ้านร่วมต่อสู้เพื่อรักษาจนคว้ารางวัลระดับโลก
ป่าบุญเรือง ป่าริมโขง 3,000 ไร่ที่ชาวบ้านร่วมต่อสู้เพื่อรักษาจนคว้ารางวัลระดับโลก

ชาวบ้านแห่งกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำบุญเรืองพาเราล่องเรือเข้าไปในป่า สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้นานาชนิดที่ถูกน้ำท่วม บางแห่งน้ำท่วมลึกถึง 3 – 4 เมตร จะพบเห็นต้นไม้ชุมแสงและข่อยเป็นไม้เด่น มีเถาวัลย์พันเกี่ยวขึ้นไปตามลำไม้ใหญ่ ต้นไม้หลายต้นมีรูปทรงแปลกตา นับเป็นการปรับตัวทางธรรมชาติของต้นไม้เมื่อต้องเจอน้ำท่วมนานหลายเดือน แต่ยังมีชีวิตรอดได้อย่างน่าอัศจรรย์

ชาวบ้านเล่าให้เราฟังว่า พวกเขาแบ่งลักษณะพื้นที่ของป่าชุ่มน้ำผืนนี้ย่อยลงไปอีกอย่างน่าสนใจ ประกอบด้วย

หนองน้ำ เป็นพื้นที่น้ำขังขนาดใหญ่ มีน้ำขังตลอดทั้งปี รับน้ำจากแม่น้ำอิงและลำห้วยสาขาในช่วงฤดูน้ำหลาก และรับน้ำจากน้ำฝน

บวก เป็นพื้นที่น้ำขังขนาดเล็ก มีน้ำขังไม่ตลอดทั้งปี แห้งขอดในช่วงฤดูแล้ง

วังน้ำ เป็นพื้นที่น้ำนิ่ง ในช่วงฤดูน้ำหลากมีความลึกประมาณ 10 – 15 เมตร ความยาวประมาณ 200 – 300 เมตร

ฮ่อง เป็นทางน้ำที่ไหลเชื่อมระหว่างแม่น้ำอิงกับหนองน้ำต่าง ๆ ในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำให้น้ำไหลเข้า-ออกได้

ห้วย เป็นทางน้ำที่ไหลจากพื้นที่ตันน้ำบนดอยสูงไหลลงสู่แม่น้ำอิง เป็นลำห้วยสาขาที่ไหลลงมาเติมน้ำให้แม่น้ำอิงและไหลตลอดทั้งปี

ดอน เริ่มโผล่พ้นน้ำให้เห็นในฤดูแล้ง อยู่ฝั่งด้านใดด้านหนึ่งหรืออยู่กลางลำน้ำอิง ในช่วงฤดูฝนน้ำจะท่วมพื้นที่ดอนทั้งหมด

ป่าบุญเรือง ป่าริมโขง 3,000 ไร่ที่ชาวบ้านร่วมต่อสู้เพื่อรักษาจนคว้ารางวัลระดับโลก

ในช่วงฤดูน้ำหลาก ปลาต่าง ๆ จะว่ายน้ำจากแม่น้ำโขงสายหลักไปยังแม่น้ำอิงที่เชื่อมต่อกัน ก่อนที่จะเข้ามาวางไข่บริเวณรอบ ๆ ป่าชุ่มน้ำแห่งนี้ เมื่อปลาเจริญเติบโตเต็มวัย บางส่วนจะว่ายกลับไปแม่น้ำอิงและไปสู่แม่น้ำโขง ป่าแห่งนี้จึงเป็นต้นทางของแหล่งอาหารโปรตีนชั้นดีของคนแถวนี้ และรวมไปถึงผู้คนริมแม่น้ำโขงสองฟากฝั่งด้วย

ป่าชุมน้ำบุญเรืองแห่งนี้จึงเป็นแหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพร และวัตถุดิบของ 600 กว่าคนในชุมชนแห่งนี้ ผู้ประกอบอาชีพทำนามานานกว่า 300 ปี

ป่าบุญเรือง คว้ารางวัล Equator Prize จาก UNDP แหล่งอาหารของชาวบ้านริมโขง ดูดซับคาร์บอนจากรถยนต์ได้ 5 แสนคันต่อปี
ภาพ : กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำบุญเรือง

“ป่าเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน ถึงแม้ไม่มีเงินก็หากินจากป่าได้ อยากกินผัก กินผึ้ง กินต่อ หรืออยากกินอะไร ก็หากินจากป่าได้ ใช้เพียงแค่แรงงานเดินเข้าไปหาโดยไม่จำเป็นต้องใช้เงิน…” ทรงพล จันทะเรือง ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าบุญเรือง บอกกับเราขณะล่องเรือเข้าไปในป่า

ทุกคนเข้าไปหากินได้ตลอดทั้งปี เช่น หาผัก จับปลา ล่าสัตว์ ยกยอ หว่านแห เป็นต้น ว่างจากการทำนาก็หาของป่ามาขาย มีรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี ในรอบ 1 ปี ชาวบ้านจะเข้าไปหาอาหารในนั้น เพราะมีทั้งเห็ด พืชพื้นบ้าน ปลา และของป่าอื่น ๆ เช่น ผึ้ง ต่อ จิ้งหรีดยักษ์

คนที่มีกินคือคนที่ขยันเข้าไปหากิน บางคนไม่มีไร่นาแต่ก็อยู่ได้ เพราะมีป่าเป็นแหล่งอาหารนานาชนิด และเป็นแหล่งรายได้ให้กับครอบครัว การใช้ประโยชน์ร่วมกันและความผูกพันกับป่ามาแต่อดีต ทำให้ทุกคนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน

หลายคนบอกว่าพอเกิดมาก็เห็นป่าผืนใหญ่ผืนนี้แล้ว พ่อแม่พาเข้าไปหากินตั้งแต่เด็ก เรียนรู้การใช้ประโยชน์และพึ่งพาป่าจากรุ่นสู่รุ่นหลายช่วงอายุแล้ว

“ป่าเป็นมากกว่าต้นไม้ แต่ป่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนบุญเรือง”
ป่าบุญเรือง คว้ารางวัล Equator Prize จาก UNDP แหล่งอาหารของชาวบ้านริมโขง ดูดซับคาร์บอนจากรถยนต์ได้ 5 แสนคันต่อปี

นอกจากนั้นแล้ว ในสถานการณ์ปัญหาโลกร้อน ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) ศึกษาศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนของป่าบุญเรืองแล้วพบว่า มีการกักเก็บคาร์บอนเหนือดินรวม 172,479 ตัน หรือเทียบเท่ากับการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ขนาดเล็กได้สูงกว่า 500,000 คันต่อปี

แต่กว่าที่ชาวบุญเรืองจะรักษาผืนป่าแห่งนี้ได้ ในปี 2557 รัฐบาล คสช. เคยพยายามจะยึดป่า 3,000 กว่าไร่ไปทำโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยทางการหาว่าป่าชุ่มน้ำเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม ต้องให้ทางการไปทำประโยชน์ด้วยการถมที่ดิน แต่ชาวบ้านร่วมกันต่อสู้กับเผด็จการทหารอย่างเด็ดขาด ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของพวกเขา ร่วมกันก่อตั้ง ‘กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำบุญเรือง’ ทำการสื่อสาร จัดเสวนา เปิดเวทีอภิปราย

พวกเขาร่วมมือกับนักวิชาการภายนอก ทำการศึกษาวิจัยความหลากหลายทางระบบนิเวศ การตีแปลงสำรวจให้ทางรัฐบาลเห็นว่า ป่าแห่งนี้ไม่ได้เป็นป่าเสื่อมโทรม หากแต่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณ ทั้งพืชอาหาร พืชสมุนไพรนานาชนิด รวมไปถึงแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ปลาน้ำจืดที่อพยพมาจากแม่น้ำโขง ท่ามกลางบรรยากาศของเผด็จการทหาร ซึ่งมีคนในเครื่องแบบมาปรากฏตัวบ่อยครั้ง แต่สุดท้ายรัฐบาลยอมถอย ยกเลิกการใช้พื้นที่ป่าเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ชาวบ้านป่าบุญเรือง รักษาป่าผืนนี้ให้ลูกหลานได้ ไม่ใช่การร้องขอแต่คือการรวมพลังต่อสู้อย่างเข้มแข็ง

ป่าบุญเรือง คว้ารางวัล Equator Prize จาก UNDP แหล่งอาหารของชาวบ้านริมโขง ดูดซับคาร์บอนจากรถยนต์ได้ 5 แสนคันต่อปี

“บรรพบุรุษของเราตกลงจะกําหนดพื้นที่ชุ่มน้ำนี้เป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับชุมชนมากกว่าเป็นของส่วนตัว และเราได้ปฏิบัติตามจนมาถึงรุ่นปัจจุบัน เราต้องรักษามรดกสืบทอดของเราไว้เพื่อลูกหลานและธรรมชาติของเรา”

พิชเญศพงษ์ คุรุปรัชญามรรค แห่งกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำบุญเรือง กล่าวกับเราด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่นว่าการรักษาป่าผืนนี้สำคัญกับพวกเขาอย่างไร

ทุกวันนี้ป่าบุญเรืองคือสถานที่ดูงาน เป็นแหล่งเรียนรู้และทำวิจัยของหน่วยงาน สถาบันวิชาการ กลุ่มชาวบ้านต่าง ๆ ในฐานะพื้นที่ที่มีความสำคัญในระบบนิเวศ โดยเฉพาะเป็นแหล่งอนุรักษ์ แหล่งเพาะพันธุ์ปลานานาชนิดให้กลับไปสู่แม่น้ำโขง

ขณะที่โครงการพัฒนาเขื่อนหลายสิบแห่งในแม่น้ำโขงมีส่วนทำให้ปลาบึก ปลาขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในธรรมชาติใกล้สูญพันธุ์

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว