The Cloud x OKMD

จำนวนปีในการทำร้านหนังสือของผม เกินหน้าระยะเวลาในการทำนิตยสารมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่มีความฝันเรื่องทำหนังสือ เขียนหนังสือ เมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มน้อย แล้วมีโอกาสย่างเท้าก้าวเข้ามาสู่วงการ ชีวิตผมก็อยู่แถวนี้ตลอด ไม่เคยคิดถอนเท้าออก ไม่ได้ทำนิตยสารก็เป็นคอลัมนิสต์ให้นิตยสารต่าง ๆ ช่วงกลางของการรับจ้างเขียนคอลัมน์ ผมได้ลงมือทำร้านหนังสือชื่อ ‘บุ๊คโทเปีย’ ที่บ้านเกิด-อุทัยธานี ไม่ใช่ร้านแบบที่ขายหนังสือพิมพ์และนิตยสารด้วย หากเป็นอีกแบบ 

อย่างไรก็ตาม ตอนเริ่มนั้น ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับบุ๊คโทเปียยังไม่ชัด ยังไม่รู้ว่าจะไปทิศทางไหน แต่ทำร้านได้สัก 2 – 3 ปี ผมพอรู้บ้างแล้วว่า ทิศใดที่เราจะไม่ไป แม้ทิศดังกล่าวอาจทำให้ขายหนังสือได้เพิ่มขึ้น

บุ๊คโทเปียเป็นร้านหนังสือที่มีแฟนประจำ บางปี เราชวนนักอ่านที่รู้จักมักคุ้นกันมาทำนา ตั้งชื่อโครงการว่า ‘ทำนาประสา Booktopia’ ชาวนาคนหนึ่งเรียนจบวิศวะ แล้วไม่อยากเป็นวิศวกร แต่ชอบทำเกษตร คุยกับเขาจนกระทั่งเกิดไอเดีย ชวนนักอ่านมาทำนาน่าจะดีเหมือนกัน โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ดำนาช่วงสิงหาฯ จนถึงเก็บเกี่ยวตอนธันวาฯ นี่คือครั้งแรกในชีวิตที่ผมไถนา ดำนา และเกี่ยวข้าว 

หลายคนที่มาร่วมทำนา ก็เป็นครั้งแรกในชีวิตของพวกเขาเหมือนกันที่ได้ลงไปเดินบนท้องนา บางปี ผมได้ไปสอนหนังสือที่โรงเรียนเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง และสอนอยู่ 1 เทอม การเรียนการสอนเริ่มต้นทุกบ่ายโมงวันศุกร์ และเรียนกันใต้ต้นไม้ใหญ่ โครงการ ‘ห้องเรียนใต้ร่มไม้’ มีต้นธารจากแฟนร้านหนังสืออีกนั่นแหละ โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนทั้งหมด 22 คน (เด็กเล็กจนถึงประถม 6) วิชาที่ผมเลือกไปสอน ก็อย่างเช่น วิชาท้องฟ้า วิชาความสุข วิชาฟังเพลง ฯลฯ บางศุกร์มีรุ่นน้องจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมาช่วยสอนด้วย

บันทึก 15 ปีร้าน Booktopia เมื่อนักเขียนกลับบ้านไปทำร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ที่อุทัยธานี
บันทึก 15 ปีร้าน Booktopia เมื่อนักเขียนกลับบ้านไปทำร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ที่อุทัยธานี

แต่ที่คล้ายว่าไปสอนเด็กนั้น ความจริงเด็ก ๆ สอนผมมากกว่า ผมใช้เวลาหลายสัปดาห์ทีเดียวกว่าจะแทนตัวเองว่า ‘ครู’ เวลาพูดกับเด็กเหล่านี้อย่างไม่ขัดเขิน และเมื่อสนิทสนมกันดีแล้ว ต่างก็ผูกพันกันมากขึ้น เวลาผมไปถึงโรงเรียน พวกเขาจะวิ่งมาหา มาช่วยขนของลงจากรถ ศุกร์สุดท้ายของการสอนและเป็นวันปิดภาคเรียนของห้องเรียนใต้ร่มไม้ มีรุ่นน้องและแฟนร้านหนังสือมาร่วมปิดภาคด้วย ผมเขียนนิทานให้เด็ก ๆ และเตรียมมาอ่านในวันนี้ โดยหนึ่งในผู้ที่มาช่วยให้เสียงในนิทาน คือ เช็ค-สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ 

โรงเรียนดังกล่าวชื่อโรงเรียนบ้านท่าดาน อยู่ที่อำเภอทัพทัน จ.อุทัยธานี หนึ่งปีต่อมาโรงเรียนซื่อ ๆ น่ารักก็ถูกยุบ แต่ห้องเรียนใต้ร่มไม้ถือเป็นความทรงจำที่แสนพิเศษสำหรับผมจนกระทั่งปัจจุบัน

การเปิดร้านหนังสือสัก 14 – 15 ปี ความทรงจำที่สืบเนื่องมาจากบุ๊คโทเปียย่อมไม่น้อยเป็นธรรมดา ปลายปีที่แล้ว มีน้องคนหนึ่งพาเพื่อนของเขามาที่ร้าน โดยบอกเพื่อนว่าจะพามาดูจุดเริ่มต้น ปัจจุบันน้องคนนี้ทำงานออกแบบเครื่องประดับในกรุงเทพฯ แรกเปิดร้าน เขามาบุ๊คโทเปียกับกลุ่มเพื่อนที่เรียนชั้นมัธยม เคยมาเล่าเรื่องเก็บเงินเพื่อไปดูคอนเสิร์ตเลดี้ กาก้า เรา (ร้านหนังสือ) ยุให้ไปดูเลย บางทีก็มาถ่ายรูปสนุก ๆ แปลก ๆ ที่บุ๊คโทเปีย 

เพื่อนที่เขาพามาเป็นหลานชายของ พี่ไข่-สมชาย แก้วทอง การแต่งเนื้อแต่งตัวและท่วงท่าการพูดคล้ายพี่ไข่มาก พอเอ่ยถึงช่างภาพแฟชั่นบางคนที่เป็นเพื่อนผม เขาก็รู้จักมักคุ้นด้วย ผมรู้สึกดีที่บุ๊คโทเปียได้มีส่วนในการเป็นแรงบันดาลใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เด็กมัธยมคนหนึ่งได้เดินตามเส้นทางที่วาดฝันเอาไว้ ผมชวนทั้งคู่… วันหลังมาทำอะไร ๆ เรื่องเสื้อผ้าที่อุทัยฯ ดีไหม

บันทึก 15 ปีร้าน Booktopia เมื่อนักเขียนกลับบ้านไปทำร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ที่อุทัยธานี
บันทึก 15 ปีร้าน Booktopia เมื่อนักเขียนกลับบ้านไปทำร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ที่อุทัยธานี

การทำร้านหนังสือไม่แตกต่างจากการทำงานอื่น ๆ คือมีทั้งวันดีและวันไม่ดี มีช่วงที่คึกคักไฟลุกโชนและช่วงที่เบื่อหน่าย ตอนเบื่อนั้น ผมเคยคิดว่ามานั่งเฝ้าร้านหนังสือเล็ก ๆ แคบ ๆ ทำไม แต่ความคิดดังกล่าว ผ่านเข้ามาแล้วผ่านออกไปอย่างรวดเร็ว พ.ศ. 2554 ซึ่งน้ำท่วมใหญ่ บุ๊คโทเปียประสบ (อุทก) ภัยเช่นกัน เราปิดร้านประมาณ 2 เดือน ผมได้ยินเสียงน้ำเสียงเรือจนเบื่อ ตอนแรกรู้สึกเพลิน ๆ ที่มีเรือมาจอดหน้าร้าน เพลินที่เห็นน้ำสาดซัด เห็นเรือแล่นผ่านราวกับร้านตั้งอยู่ริมคลอง แต่พอหลายวันหลายสัปดาห์ก็เริ่มอึดอัดขัดข้องกับสภาพความเป็นอยู่ ร่องรอยน้ำท่วมร้านหนังสือยังพอเหลือให้เห็น

แล้วการปิดร้านที่ยาวนานกว่าน้ำท่วมใหญ่ก็เกิดขึ้น กลางเดือนมกราฯ พ.ศ.​ 2563 บุ๊คโทเปียจัดสนทนาธรรมของ หลวงพี่ไพศาล วิสาโล ที่หน้าร้าน นี่คือครั้งที่ 2 ที่เรานิมนต์หลวงพี่มาสนทนาธรรมให้นักอ่านฟัง และเรื่องที่เลือกมาคุยได้แก่หนังสือ 2 เล่มที่ท่านแปล (เหนือห้วงมหรรณพ และ ประตูสู่สภาวะใหม่) ครั้งนี้มีชาวบ้านที่รู้ข่าวหอบหิ้วเก้าอี้มานั่งฟังด้วย บรรยากาศของเย็นวันนั้นยอดเยี่ยมทีเดียว และธรรมะที่หลวงพี่ท่านแสดงก็ลึกซึ้ง ข่าวการระบาดของไวรัสตัวใหม่มาถึงแล้ว แต่ก็ยังดูเป็นเรื่องไกลตัว และนึกไม่ถึงว่าโควิด-19 จะสร้างแรงสั่นสะเทือน ตลอดจนความเสียหายต่อมวลมนุษย์อย่างมหาศาลในเวลาต่อมา หลังจากการสนทนาธรรมของหลวงพี่ไพศาลครั้งนั้น บุ๊คโทเปียก็ยังไม่ได้จัดกิจกรรมที่หน้าร้านอีกเลย

บันทึก 15 ปีร้าน Booktopia เมื่อนักเขียนกลับบ้านไปทำร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ที่อุทัยธานี

พ.ศ. 2563 – 2564 เราปิดร้านมากกว่าเปิด บางช่วงกลับมาเปิดได้ แต่ไม่นานก็ต้องปิดอีก ปีที่แล้ว บุ๊คโทเปียเปิดร้านรวม ๆ กัน ไม่น่าจะเกิน 70 วันด้วยซ้ำ ใครบ้างไม่เดือดร้อนเพราะโคโรน่าไวรัส ผมใช้เวลาตอนไม่ได้นั่งเฝ้าร้าน เขียนหนังสือเล่มใหม่ที่เขียนค้างไว้จนจบ รวมถึงทำงานอย่างอื่น การไม่เปิดร้านสร้างความเคยชินใหม่ ๆ ให้ ชีวิตมีกิจวัตรประจำวันที่ชัดเจน ที่เคยรอว่าเมื่อไรจะได้เปิดร้าน นานวันเข้าก็รู้สึกไม่เป็นไร ครั้งหนึ่งที่กลับมาเปิดร้าน… ประตูเหล็กหน้าร้านถูกเปิดกว้าง ไฟในร้านทุกดวงถูกเปิด แสงจากด้านนอกลอดเข้ามา และผมรู้สึกอย่างจริงจังว่าบุ๊คโทเปียสว่างมาก

เกี่ยวกับความเดือดร้อนนั้น หากไม่ไปตอกย้ำคร่ำครวญ เราก็ลดทอนอำนาจของมันลงได้ตามสมควร โควิดทำให้บางแผนการของบุ๊คโทเปียเลื่อนออกไป บางแผนก็ชะลอไว้ก่อน แต่การเขียนหนังสือสามารถทำได้ทันที ผมเริ่มเขียนหนังสืออีกเล่มตอนต้นปี และเมื่อเดือนมีนาฯ ก็เริ่มอีกเล่ม เล่มหลังคือ Rocktopia : Revisited ซึ่งตั้งท่ามานาน จึงถึงเวลาลงมือเสียที ขณะที่ยังเขียนงานได้และยังมีเรื่องที่อยากเล่าก็ควรทำ ร้านหนังสือนั้นไม่ค่อยมีอะไรให้ทดลองมากนัก แต่ในงานเขียน ผมมีหลายสิ่งที่อยากทดลอง

การทำร้านหนังสือทำให้ได้พบปะผู้คนใหม่ ๆ เสมอ หลายอายุและหลากอาชีพ แต่ก็เคยมีคนขี่มอเตอร์ไซค์มาจอดหน้าร้าน แล้วบอกว่าจะมาขอเช่าพระ นานมาแล้ว มีตำรวจมาที่ร้าน บอกว่านายให้มาดูสถานที่ก่อน เดี๋ยวจะมา นายของเขาคือภรรยาของพลตำรวจตรี และบางกรณีก็เหมือนเรื่องแต่ง ผู้หญิงคนหนึ่งมาที่ร้าน บอกว่าอดีตคนรักของเธอเคยพูดถึงบุ๊คโทเปีย พอเลิกกันแล้ว เธออยากเดินทางไปยังสถานที่ที่อดีตคนรักชอบ 

ส่วนบางเรื่องก็เกิดขึ้นยาก เช่นการที่ฝาแฝด 2 คู่มาอยู่ที่ร้านในเวลาเดียวกัน ผมเคยคิดจะเขียนเรื่องราวทั้งหลายของบุ๊คโทเปีย ตั้งชื่อหนังสือไว้แล้วว่า The Ballad of Booktopia แต่คงจะไม่เขียน เพราะมีสิ่งอื่นที่อยากเขียนมากกว่า แต่ถ้าร้านหนังสือเล่าเรื่องเองได้ ผมอยากรู้ว่าร้านหนังสือจะพูดถึงคนเฝ้าร้านอย่างไรบ้าง

เวลาเคลื่อนไปข้างหน้าทุกขณะ วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า ตอนที่เป็นคอลัมนิสต์งานชุก ผมใช้ชีวิตที่โต๊ะทำงานค่อนข้างมาก และตั้งแต่ทำร้านขายหนังสือเมื่อสิบกว่าปีก่อน ชีวิตส่วนใหญ่ก็หมดไปในร้านหนังสือ นั่งเขียนงาน นั่งอ่านหนังสือ นั่งฟังเพลง นั่งหลับ ฯลฯ 

บันทึก 15 ปีร้าน Booktopia เมื่อนักเขียนกลับบ้านไปทำร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ที่อุทัยธานี

ช่วงที่ทำหนังสือของสำนักพิมพ์อารีมิตร ร้านบุ๊คโทเปียก็แปลงร่างเป็นสำนักพิมพ์จิ๋ว ๆ เป็นออฟฟิศของคนทำหนังสือ บางขณะผมนึกถึงบรรยากาศสมัยทำงานประจำ ซึ่งมีการปิดเล่มและอื่น ๆ ผมเลิกทำงานประจำนานเกือบ 30 ปีแล้ว แต่ก็มีเหตุให้นึกถึงหรือพูดถึงอยู่บ้าง บางเรื่องนั้นใช่จะเลือนหายไปจากชีวิตได้ง่าย ๆ 

หลังพิมพ์หนังสือเสร็จ เรามักจัดเปิดตัวที่หน้าร้าน บางการเปิดตัว เราก็ปิดถนนบริเวณร้านหนังสือ ปกติคนที่นี่เขาจะปิดถนนเพื่อจัดงานบวช งานแต่ง หรืองานทำนองเดียวกัน ที่หน้าบุ๊คโทเปียเคยมีการแสดงดนตรีเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วย พี่ซัน-มาโนช พุฒตาล ก็เคยมาเล่นกีตาร์และร้องเพลงในงานเปิดตัวหนังสือของ พี่เชน-หม่อมหลวงปริญญากร วรวรรณ

หน้าบุ๊คโทเปียเป็นพื้นที่สำหรับพบปะพูดคุย อย่างว่านั่นแหละ ร้านเราเล็ก อยู่กันสัก 7 – 8 คนก็จะดูแออัด บางทีหลังงาน (กิจกรรมเปิดตัวหนังสือ) จบลงในตอนดึกมาก รุ่งขึ้นก็ยังมีผู้คนจำนวนหนึ่งจากเมื่อคืนตกค้างอยู่ พวกเขาดื่มกิน พูดคุย และรื่นรมย์จนเย็น บ้างก็มาทำความรู้จักกันตอนนี้ กิจกรรมหน้าร้านหนังสืออย่างไม่เป็นทางการเกิดขึ้นเนือง ๆ 

เมื่อเริ่มต้นทำบุ๊คโทเปีย ผมยังมองไม่เห็นรูปร่างหน้าตาของร้านหนังสือ ไม่ใช่หน้าตาและรูปร่างที่หมายถึงสิ่งปลูกสร้างและการตกแต่ง หากคือรูปร่างของความเป็นร้านหนังสือ ผมคิดว่าร้านอะไรก็ตามต่างมีบุคลิกเฉพาะตน (ยกเว้นร้านที่ถูกออกแบบให้เหมือนกันไปหมด) เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวเป็นแบบไหน ร้านของเขาก็จะเป็นอย่างนั้นด้วย

บุ๊คโทเปียมีทั้งความเป็นผมและความเป็นภรรยาของผม เช่นเพลงในร้านเป็นผม แต่หนังสือในร้านเป็นเธอ วรรณกรรมรัสเซียเป็นเธอ ส่วนเรื่องศาสนาน่าจะเป็นผม เราไม่ได้วางแผนให้บุ๊คโทเปียมีหน้าตาอย่างที่เป็นอยู่ แต่เมื่อลงมือทำไปเรื่อย ๆ ความเป็นร้านหนังสือในแบบเราก็ทยอยชัดขึ้น การทำงานกับการเรียนรู้คือสิ่งที่มาคู่กัน และไม่ใช่รู้เพราะเขาบอกว่า หรือรู้จากที่อ่านมา ทว่ารู้จากการปฏิบัติ ผมนำความรู้ที่ได้จากการทำนิตยสารมาใช้ในการทำร้านหนังสือด้วย โดยสิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ไม่น้อยจากบุ๊คโทเปียคือเรื่องผู้คน จะมีคนใหม่ ๆ มาให้พบปะและรู้จักเสมอ และเมื่อมีคนใหม่ก็จะมีเรื่องใหม่

บันทึก 15 ปีร้าน Booktopia เมื่อนักเขียนกลับบ้านไปทำร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ที่อุทัยธานี

 ตั้งแต่ทำร้านหนังสือเมื่อ 14 ปีที่แล้ว มีเหตุให้ผมเขียนถึงและพูดถึงบุ๊คโทเปียบ่อยครั้ง พอนานปีนานวัน เรื่องที่เขียนที่พูดก็เริ่มซ้ำจนรู้สึกได้ แต่ชีวิตคนเราเกี่ยวข้องกับความซ้ำกันเป็นปกติมิใช่หรือ บางความซ้ำเรารู้สึกว่าซ้ำ และก็มีความซ้ำที่ไม่รู้สึกว่ามันซ้ำ 

หลังจากโรคระบาดใหญ่มาถึง บุ๊คโทเปียปิดทำการมากกว่าเปิด นอกจากพบปะผู้คนน้อยลง ผมก็เขียนถึงและพูดถึงร้านหนังสือน้อยลง ข้อดีของโรคระบาดนั้นมี ไม่ใช่ไม่มี มันทำให้ผมนิ่งคิดและไตร่ตรองเรื่องชีวิตเรื่องโลกเพิ่มขึ้น ส่วนการพูดและเขียนถึงบุ๊คโทเปียน้อยลงก็ไม่มีอะไรซับซ้อน พอสูงวัย ผมชอบที่จะเป็นผู้ชมผู้ฟังมากกว่า ชีวิตนี้เขียนมาเยอะแล้ว จึงอยากเขียนเท่าที่สมควรแก่เหตุ

 ผมโตมากับการอ่านหนังสือ เป็นหนุ่มในสำนักงานนิตยสาร และแก่เฒ่าในร้านหนังสือที่บ้านเกิด เตี่ยผมอยู่กับร้านตัดเสื้อผ้าผู้ชายทั้งชีวิต เพื่อนรุ่นน้องและขาไพ่ของเตี่ยก็ขายก๋วยเตี๋ยวทั้งชีวิต โลกเต็มไปด้วยเรื่องธรรมดาทำนองนี้นะครับ และหลายเรื่อง เราก็คิดไปเองว่ามันพิเศษ

หนังสือแนะนำ

 1

หัวใจ, เวลา, กลางป่าแสงจันทร์ 

นักเขียน : ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

สำนักพิมพ์ : Booktopia

ราคา : 198 บาท

หัวใจ, เวลา, กลางป่าแสงจันทร์  นักเขียน : ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ไม่ง่ายนักที่จะให้เลือกหนังสือแค่ 5 เล่ม คล้าย ๆ กัน – ให้เลือกเพลงแค่ 5 เพลง เลือกหนังแค่ 5 เรื่อง ก็ย่อมไม่ง่าย มีหนังสือ 2 เล่ม เป็นหนังสือที่เราพิมพ์เอง เล่มแรก หัวใจ, เวลา, กลางป่าแสงจันทร์ ของ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ หนังสือของช่างภาพสัตว์ป่าแถวหน้าของเมืองไทย เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับป่า สัตว์ป่า ผู้คน ฯลฯ ที่โรแมนติกและมากด้วยความรู้สึกสำหรับผม ลีลาและท่วงท่าในการเล่าเรื่องด้วยตัวหนังสือของพี่เชนงดงามอย่างเรียบง่าย

2

Rocktopia

นักเขียน : วิรัตน์ โตอารีย์มิตร

สำนักพิมพ์ : Booktopia

ราคา : 330 บาท

Rocktopia นักเขียน : วิรัตน์ โตอารีย์มิตร

เล่มที่สองที่เราพิมพ์เองคือ Rocktopia ของผม ผมเขียนถึงศิลปินร็อกที่ตายแล้ว และไปใช้ชีวิตแปลก ๆ ในดินแดนแปลก ๆ ชื่อ ‘ร็อกโทเปีย’ 

3

ผลพวงแห่งความคับแค้น

นักเขียน : จอห์น สไตน์เบ็ก

นักแปล : ณรงค์ จันทร์เพ็ญ

สำนักพิมพ์ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์

ราคา : 550 บาท

ผลพวงแห่งความคับแค้น นักเขียน : จอห์น สไตน์เบ็ก

‘ผลพวงแห่งความคับแค้น’ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า The Grapes of Wrath เขียนโดย จอห์น สไตน์เบ็ก ในเวอร์ชันภาษาไทย ณรงค์ จันทร์เพ็ญ เป็นผู้แปล ผมชอบงานแบบไตน์เบ็กมากกว่าเออร์เนสต์ เฮมิ่งเวย์ เพราะงานของสไตน์เบ็กกระทบใจได้มากกว่า ผลพวงฯ ว่าด้วยชีวิตของชนชั้นล่างที่ต้องดิ้นรนอพยพโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อความอยู่รอด 

เรื่องราวในนิยายเกิดขึ้นช่วงที่สหรัฐอเมริกาเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจขั้นรุนแรง (The Great Depression) เมื่อทศวรรษที่ 1930 ตัวแทนของผู้ยากไร้คือครอบครัวโจ้ด และทอม โจ้ด ก็เป็นสัญลักษณ์ของการไม่สยบยอมต่อนายทุนผู้กดขี่ หนังสือหนาเกือบ 1,000 หน้า ผมเอาใจช่วยทอม โจ้ด และครอบครัวของเขาตั้งแต่ต้นจนจบ นี่คือวรรณกรรมที่ทำให้สไตน์เบ็กได้ทั้งรางวัลพูลิตเซอร์และรางวัลโนเบล

4

เดอะ ก็อดฟาเธอร์

นักเขียน : มาริโอ พูโซ

นักแปล : ธนิต ธรรมสุคติ

สำนักพิมพ์ : มติชน

ราคา : 350 บาท

เดอะ ก็อดฟาเธอร์ นักเขียน : มาริโอ พูโซ

แม้การกลับมาดู The Godfather ทั้ง 3 ภาคครั้งล่าสุด จะให้ความรู้สึกแตกต่างจากการดูครั้งแรก แต่หนังไตรภาคที่ว่าด้วยวิถีชีวิตของเจ้าพ่อก็ยังโอฬารเช่นเดิม หนังสร้างจากอาชญนิยายของ มาริโอ พูโซ (แปลเป็นไทยโดย ธนิต ธรรมสุคติ) ผมดูหนังก่อน แล้วจึงมาอ่านนิยายภายหลัง หลายรายละเอียดที่ไม่ปรากฏในหนัง มีอยู่ในนิยาย และการอ่านเหตุการณ์ที่รู้แล้ว (จากการดูหนัง) ก็ไม่ทำให้ความเข้มข้นของเนื้อหาถูกลดทอนลง เดอะ ก็อดฟาเธอร์ ไม่เพียงเป็นมหากาพย์ของพวกมาเฟีย แต่ยังเป็นเรื่องของลูกผู้ชาย มิตรภาพ ความเป็นครอบครัว ฯลฯ 

5

หิโตปเทศ 

นักเขียน : เสถียรโกเศศ-นาคะประทีป

สำนักพิมพ์ : ศยาม

ราคา : 100 บาท

หิโตปเทศ นักเขียน : เสถียรโกเศศ-นาคะประทีป

เล่มสุดท้ายที่ผมเลือก คือ หิโตปเทศ ด้วยสำนวนอย่างเก่า วิธีเล่าเรื่องในแบบนิยายขนาดสั้นที่ต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ อาจไม่ถูกจริตนักอ่านส่วนใหญ่ แต่ถ้าก้าวข้ามสิ่งนี้ได้ เนื้อหาของ หิโตปเทศ เป็นจริงทุกยุคสมัยและยังมีคติสอนใจให้ฉุกคิด เช่น ร่มเงาของเมฆ ไมตรีกับคนโหด รวงข้าวใหม่ สตรี ความเป็นหนุ่ม และความมั่งมี เหล่านี้จะให้ความบันเทิงใจได้เพียงชั่วคราว


Booktopia

ที่ตั้ง ​: 9/17 ถนนณรงค์วิถี ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : หยุดทุกวันพุธ เปิดทำการ 10.30 – 18.30 น. โดยประมาณ แต่บางทีก็มีเหตุให้ไม่ได้เปิด-ปิด ตามที่กำหนดไว้ โทรศัพท์มานัดหมายก่อนได้ 

โทรศัพท์ : 0 5651 2932

Facebook : Booktopia

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาร้านหนังสือเป็นแหล่งความรู้สร้างสรรค์ โดยความร่วมมือของ The Cloud และ OKMD

Writer

Avatar

วิรัตน์ โตอารีย์มิตร

อายุมากแล้ว เกิดที่จังหวัดอุทัยธานี ใช้ชีวิตในบ้านเกิด เขียนหนังสือ ทำหนังสือ เปิดร้านหนังสือ และอ่านหนังสือ รักแผ่นดินไทย เชื่อในศานติ ชอบมีญาติมิตร นับถือศาสนาพุทธ ฟังเพลงทุกวัน นอกจากเขียนหนังสือและทำหนังสือ ก็ทำอย่างอื่นไม่ค่อยเป็น อยากเห็นผู้คนรักกันมากขึ้น เพื่อจะแบ่งแยกน้อยลง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล