The Cloud x OKMD
จำนวนปีในการทำร้านหนังสือของผม เกินหน้าระยะเวลาในการทำนิตยสารมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่มีความฝันเรื่องทำหนังสือ เขียนหนังสือ เมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มน้อย แล้วมีโอกาสย่างเท้าก้าวเข้ามาสู่วงการ ชีวิตผมก็อยู่แถวนี้ตลอด ไม่เคยคิดถอนเท้าออก ไม่ได้ทำนิตยสารก็เป็นคอลัมนิสต์ให้นิตยสารต่าง ๆ ช่วงกลางของการรับจ้างเขียนคอลัมน์ ผมได้ลงมือทำร้านหนังสือชื่อ ‘บุ๊คโทเปีย’ ที่บ้านเกิด-อุทัยธานี ไม่ใช่ร้านแบบที่ขายหนังสือพิมพ์และนิตยสารด้วย หากเป็นอีกแบบ
อย่างไรก็ตาม ตอนเริ่มนั้น ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับบุ๊คโทเปียยังไม่ชัด ยังไม่รู้ว่าจะไปทิศทางไหน แต่ทำร้านได้สัก 2 – 3 ปี ผมพอรู้บ้างแล้วว่า ทิศใดที่เราจะไม่ไป แม้ทิศดังกล่าวอาจทำให้ขายหนังสือได้เพิ่มขึ้น
บุ๊คโทเปียเป็นร้านหนังสือที่มีแฟนประจำ บางปี เราชวนนักอ่านที่รู้จักมักคุ้นกันมาทำนา ตั้งชื่อโครงการว่า ‘ทำนาประสา Booktopia’ ชาวนาคนหนึ่งเรียนจบวิศวะ แล้วไม่อยากเป็นวิศวกร แต่ชอบทำเกษตร คุยกับเขาจนกระทั่งเกิดไอเดีย ชวนนักอ่านมาทำนาน่าจะดีเหมือนกัน โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ดำนาช่วงสิงหาฯ จนถึงเก็บเกี่ยวตอนธันวาฯ นี่คือครั้งแรกในชีวิตที่ผมไถนา ดำนา และเกี่ยวข้าว
หลายคนที่มาร่วมทำนา ก็เป็นครั้งแรกในชีวิตของพวกเขาเหมือนกันที่ได้ลงไปเดินบนท้องนา บางปี ผมได้ไปสอนหนังสือที่โรงเรียนเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง และสอนอยู่ 1 เทอม การเรียนการสอนเริ่มต้นทุกบ่ายโมงวันศุกร์ และเรียนกันใต้ต้นไม้ใหญ่ โครงการ ‘ห้องเรียนใต้ร่มไม้’ มีต้นธารจากแฟนร้านหนังสืออีกนั่นแหละ โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนทั้งหมด 22 คน (เด็กเล็กจนถึงประถม 6) วิชาที่ผมเลือกไปสอน ก็อย่างเช่น วิชาท้องฟ้า วิชาความสุข วิชาฟังเพลง ฯลฯ บางศุกร์มีรุ่นน้องจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมาช่วยสอนด้วย


แต่ที่คล้ายว่าไปสอนเด็กนั้น ความจริงเด็ก ๆ สอนผมมากกว่า ผมใช้เวลาหลายสัปดาห์ทีเดียวกว่าจะแทนตัวเองว่า ‘ครู’ เวลาพูดกับเด็กเหล่านี้อย่างไม่ขัดเขิน และเมื่อสนิทสนมกันดีแล้ว ต่างก็ผูกพันกันมากขึ้น เวลาผมไปถึงโรงเรียน พวกเขาจะวิ่งมาหา มาช่วยขนของลงจากรถ ศุกร์สุดท้ายของการสอนและเป็นวันปิดภาคเรียนของห้องเรียนใต้ร่มไม้ มีรุ่นน้องและแฟนร้านหนังสือมาร่วมปิดภาคด้วย ผมเขียนนิทานให้เด็ก ๆ และเตรียมมาอ่านในวันนี้ โดยหนึ่งในผู้ที่มาช่วยให้เสียงในนิทาน คือ เช็ค-สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ
โรงเรียนดังกล่าวชื่อโรงเรียนบ้านท่าดาน อยู่ที่อำเภอทัพทัน จ.อุทัยธานี หนึ่งปีต่อมาโรงเรียนซื่อ ๆ น่ารักก็ถูกยุบ แต่ห้องเรียนใต้ร่มไม้ถือเป็นความทรงจำที่แสนพิเศษสำหรับผมจนกระทั่งปัจจุบัน
การเปิดร้านหนังสือสัก 14 – 15 ปี ความทรงจำที่สืบเนื่องมาจากบุ๊คโทเปียย่อมไม่น้อยเป็นธรรมดา ปลายปีที่แล้ว มีน้องคนหนึ่งพาเพื่อนของเขามาที่ร้าน โดยบอกเพื่อนว่าจะพามาดูจุดเริ่มต้น ปัจจุบันน้องคนนี้ทำงานออกแบบเครื่องประดับในกรุงเทพฯ แรกเปิดร้าน เขามาบุ๊คโทเปียกับกลุ่มเพื่อนที่เรียนชั้นมัธยม เคยมาเล่าเรื่องเก็บเงินเพื่อไปดูคอนเสิร์ตเลดี้ กาก้า เรา (ร้านหนังสือ) ยุให้ไปดูเลย บางทีก็มาถ่ายรูปสนุก ๆ แปลก ๆ ที่บุ๊คโทเปีย
เพื่อนที่เขาพามาเป็นหลานชายของ พี่ไข่-สมชาย แก้วทอง การแต่งเนื้อแต่งตัวและท่วงท่าการพูดคล้ายพี่ไข่มาก พอเอ่ยถึงช่างภาพแฟชั่นบางคนที่เป็นเพื่อนผม เขาก็รู้จักมักคุ้นด้วย ผมรู้สึกดีที่บุ๊คโทเปียได้มีส่วนในการเป็นแรงบันดาลใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เด็กมัธยมคนหนึ่งได้เดินตามเส้นทางที่วาดฝันเอาไว้ ผมชวนทั้งคู่… วันหลังมาทำอะไร ๆ เรื่องเสื้อผ้าที่อุทัยฯ ดีไหม


การทำร้านหนังสือไม่แตกต่างจากการทำงานอื่น ๆ คือมีทั้งวันดีและวันไม่ดี มีช่วงที่คึกคักไฟลุกโชนและช่วงที่เบื่อหน่าย ตอนเบื่อนั้น ผมเคยคิดว่ามานั่งเฝ้าร้านหนังสือเล็ก ๆ แคบ ๆ ทำไม แต่ความคิดดังกล่าว ผ่านเข้ามาแล้วผ่านออกไปอย่างรวดเร็ว พ.ศ. 2554 ซึ่งน้ำท่วมใหญ่ บุ๊คโทเปียประสบ (อุทก) ภัยเช่นกัน เราปิดร้านประมาณ 2 เดือน ผมได้ยินเสียงน้ำเสียงเรือจนเบื่อ ตอนแรกรู้สึกเพลิน ๆ ที่มีเรือมาจอดหน้าร้าน เพลินที่เห็นน้ำสาดซัด เห็นเรือแล่นผ่านราวกับร้านตั้งอยู่ริมคลอง แต่พอหลายวันหลายสัปดาห์ก็เริ่มอึดอัดขัดข้องกับสภาพความเป็นอยู่ ร่องรอยน้ำท่วมร้านหนังสือยังพอเหลือให้เห็น
แล้วการปิดร้านที่ยาวนานกว่าน้ำท่วมใหญ่ก็เกิดขึ้น กลางเดือนมกราฯ พ.ศ. 2563 บุ๊คโทเปียจัดสนทนาธรรมของ หลวงพี่ไพศาล วิสาโล ที่หน้าร้าน นี่คือครั้งที่ 2 ที่เรานิมนต์หลวงพี่มาสนทนาธรรมให้นักอ่านฟัง และเรื่องที่เลือกมาคุยได้แก่หนังสือ 2 เล่มที่ท่านแปล (เหนือห้วงมหรรณพ และ ประตูสู่สภาวะใหม่) ครั้งนี้มีชาวบ้านที่รู้ข่าวหอบหิ้วเก้าอี้มานั่งฟังด้วย บรรยากาศของเย็นวันนั้นยอดเยี่ยมทีเดียว และธรรมะที่หลวงพี่ท่านแสดงก็ลึกซึ้ง ข่าวการระบาดของไวรัสตัวใหม่มาถึงแล้ว แต่ก็ยังดูเป็นเรื่องไกลตัว และนึกไม่ถึงว่าโควิด-19 จะสร้างแรงสั่นสะเทือน ตลอดจนความเสียหายต่อมวลมนุษย์อย่างมหาศาลในเวลาต่อมา หลังจากการสนทนาธรรมของหลวงพี่ไพศาลครั้งนั้น บุ๊คโทเปียก็ยังไม่ได้จัดกิจกรรมที่หน้าร้านอีกเลย

พ.ศ. 2563 – 2564 เราปิดร้านมากกว่าเปิด บางช่วงกลับมาเปิดได้ แต่ไม่นานก็ต้องปิดอีก ปีที่แล้ว บุ๊คโทเปียเปิดร้านรวม ๆ กัน ไม่น่าจะเกิน 70 วันด้วยซ้ำ ใครบ้างไม่เดือดร้อนเพราะโคโรน่าไวรัส ผมใช้เวลาตอนไม่ได้นั่งเฝ้าร้าน เขียนหนังสือเล่มใหม่ที่เขียนค้างไว้จนจบ รวมถึงทำงานอย่างอื่น การไม่เปิดร้านสร้างความเคยชินใหม่ ๆ ให้ ชีวิตมีกิจวัตรประจำวันที่ชัดเจน ที่เคยรอว่าเมื่อไรจะได้เปิดร้าน นานวันเข้าก็รู้สึกไม่เป็นไร ครั้งหนึ่งที่กลับมาเปิดร้าน… ประตูเหล็กหน้าร้านถูกเปิดกว้าง ไฟในร้านทุกดวงถูกเปิด แสงจากด้านนอกลอดเข้ามา และผมรู้สึกอย่างจริงจังว่าบุ๊คโทเปียสว่างมาก
เกี่ยวกับความเดือดร้อนนั้น หากไม่ไปตอกย้ำคร่ำครวญ เราก็ลดทอนอำนาจของมันลงได้ตามสมควร โควิดทำให้บางแผนการของบุ๊คโทเปียเลื่อนออกไป บางแผนก็ชะลอไว้ก่อน แต่การเขียนหนังสือสามารถทำได้ทันที ผมเริ่มเขียนหนังสืออีกเล่มตอนต้นปี และเมื่อเดือนมีนาฯ ก็เริ่มอีกเล่ม เล่มหลังคือ Rocktopia : Revisited ซึ่งตั้งท่ามานาน จึงถึงเวลาลงมือเสียที ขณะที่ยังเขียนงานได้และยังมีเรื่องที่อยากเล่าก็ควรทำ ร้านหนังสือนั้นไม่ค่อยมีอะไรให้ทดลองมากนัก แต่ในงานเขียน ผมมีหลายสิ่งที่อยากทดลอง
การทำร้านหนังสือทำให้ได้พบปะผู้คนใหม่ ๆ เสมอ หลายอายุและหลากอาชีพ แต่ก็เคยมีคนขี่มอเตอร์ไซค์มาจอดหน้าร้าน แล้วบอกว่าจะมาขอเช่าพระ นานมาแล้ว มีตำรวจมาที่ร้าน บอกว่านายให้มาดูสถานที่ก่อน เดี๋ยวจะมา นายของเขาคือภรรยาของพลตำรวจตรี และบางกรณีก็เหมือนเรื่องแต่ง ผู้หญิงคนหนึ่งมาที่ร้าน บอกว่าอดีตคนรักของเธอเคยพูดถึงบุ๊คโทเปีย พอเลิกกันแล้ว เธออยากเดินทางไปยังสถานที่ที่อดีตคนรักชอบ
ส่วนบางเรื่องก็เกิดขึ้นยาก เช่นการที่ฝาแฝด 2 คู่มาอยู่ที่ร้านในเวลาเดียวกัน ผมเคยคิดจะเขียนเรื่องราวทั้งหลายของบุ๊คโทเปีย ตั้งชื่อหนังสือไว้แล้วว่า The Ballad of Booktopia แต่คงจะไม่เขียน เพราะมีสิ่งอื่นที่อยากเขียนมากกว่า แต่ถ้าร้านหนังสือเล่าเรื่องเองได้ ผมอยากรู้ว่าร้านหนังสือจะพูดถึงคนเฝ้าร้านอย่างไรบ้าง
เวลาเคลื่อนไปข้างหน้าทุกขณะ วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า ตอนที่เป็นคอลัมนิสต์งานชุก ผมใช้ชีวิตที่โต๊ะทำงานค่อนข้างมาก และตั้งแต่ทำร้านขายหนังสือเมื่อสิบกว่าปีก่อน ชีวิตส่วนใหญ่ก็หมดไปในร้านหนังสือ นั่งเขียนงาน นั่งอ่านหนังสือ นั่งฟังเพลง นั่งหลับ ฯลฯ

ช่วงที่ทำหนังสือของสำนักพิมพ์อารีมิตร ร้านบุ๊คโทเปียก็แปลงร่างเป็นสำนักพิมพ์จิ๋ว ๆ เป็นออฟฟิศของคนทำหนังสือ บางขณะผมนึกถึงบรรยากาศสมัยทำงานประจำ ซึ่งมีการปิดเล่มและอื่น ๆ ผมเลิกทำงานประจำนานเกือบ 30 ปีแล้ว แต่ก็มีเหตุให้นึกถึงหรือพูดถึงอยู่บ้าง บางเรื่องนั้นใช่จะเลือนหายไปจากชีวิตได้ง่าย ๆ
หลังพิมพ์หนังสือเสร็จ เรามักจัดเปิดตัวที่หน้าร้าน บางการเปิดตัว เราก็ปิดถนนบริเวณร้านหนังสือ ปกติคนที่นี่เขาจะปิดถนนเพื่อจัดงานบวช งานแต่ง หรืองานทำนองเดียวกัน ที่หน้าบุ๊คโทเปียเคยมีการแสดงดนตรีเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วย พี่ซัน-มาโนช พุฒตาล ก็เคยมาเล่นกีตาร์และร้องเพลงในงานเปิดตัวหนังสือของ พี่เชน-หม่อมหลวงปริญญากร วรวรรณ
หน้าบุ๊คโทเปียเป็นพื้นที่สำหรับพบปะพูดคุย อย่างว่านั่นแหละ ร้านเราเล็ก อยู่กันสัก 7 – 8 คนก็จะดูแออัด บางทีหลังงาน (กิจกรรมเปิดตัวหนังสือ) จบลงในตอนดึกมาก รุ่งขึ้นก็ยังมีผู้คนจำนวนหนึ่งจากเมื่อคืนตกค้างอยู่ พวกเขาดื่มกิน พูดคุย และรื่นรมย์จนเย็น บ้างก็มาทำความรู้จักกันตอนนี้ กิจกรรมหน้าร้านหนังสืออย่างไม่เป็นทางการเกิดขึ้นเนือง ๆ
เมื่อเริ่มต้นทำบุ๊คโทเปีย ผมยังมองไม่เห็นรูปร่างหน้าตาของร้านหนังสือ ไม่ใช่หน้าตาและรูปร่างที่หมายถึงสิ่งปลูกสร้างและการตกแต่ง หากคือรูปร่างของความเป็นร้านหนังสือ ผมคิดว่าร้านอะไรก็ตามต่างมีบุคลิกเฉพาะตน (ยกเว้นร้านที่ถูกออกแบบให้เหมือนกันไปหมด) เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวเป็นแบบไหน ร้านของเขาก็จะเป็นอย่างนั้นด้วย
บุ๊คโทเปียมีทั้งความเป็นผมและความเป็นภรรยาของผม เช่นเพลงในร้านเป็นผม แต่หนังสือในร้านเป็นเธอ วรรณกรรมรัสเซียเป็นเธอ ส่วนเรื่องศาสนาน่าจะเป็นผม เราไม่ได้วางแผนให้บุ๊คโทเปียมีหน้าตาอย่างที่เป็นอยู่ แต่เมื่อลงมือทำไปเรื่อย ๆ ความเป็นร้านหนังสือในแบบเราก็ทยอยชัดขึ้น การทำงานกับการเรียนรู้คือสิ่งที่มาคู่กัน และไม่ใช่รู้เพราะเขาบอกว่า หรือรู้จากที่อ่านมา ทว่ารู้จากการปฏิบัติ ผมนำความรู้ที่ได้จากการทำนิตยสารมาใช้ในการทำร้านหนังสือด้วย โดยสิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ไม่น้อยจากบุ๊คโทเปียคือเรื่องผู้คน จะมีคนใหม่ ๆ มาให้พบปะและรู้จักเสมอ และเมื่อมีคนใหม่ก็จะมีเรื่องใหม่

ตั้งแต่ทำร้านหนังสือเมื่อ 14 ปีที่แล้ว มีเหตุให้ผมเขียนถึงและพูดถึงบุ๊คโทเปียบ่อยครั้ง พอนานปีนานวัน เรื่องที่เขียนที่พูดก็เริ่มซ้ำจนรู้สึกได้ แต่ชีวิตคนเราเกี่ยวข้องกับความซ้ำกันเป็นปกติมิใช่หรือ บางความซ้ำเรารู้สึกว่าซ้ำ และก็มีความซ้ำที่ไม่รู้สึกว่ามันซ้ำ
หลังจากโรคระบาดใหญ่มาถึง บุ๊คโทเปียปิดทำการมากกว่าเปิด นอกจากพบปะผู้คนน้อยลง ผมก็เขียนถึงและพูดถึงร้านหนังสือน้อยลง ข้อดีของโรคระบาดนั้นมี ไม่ใช่ไม่มี มันทำให้ผมนิ่งคิดและไตร่ตรองเรื่องชีวิตเรื่องโลกเพิ่มขึ้น ส่วนการพูดและเขียนถึงบุ๊คโทเปียน้อยลงก็ไม่มีอะไรซับซ้อน พอสูงวัย ผมชอบที่จะเป็นผู้ชมผู้ฟังมากกว่า ชีวิตนี้เขียนมาเยอะแล้ว จึงอยากเขียนเท่าที่สมควรแก่เหตุ
ผมโตมากับการอ่านหนังสือ เป็นหนุ่มในสำนักงานนิตยสาร และแก่เฒ่าในร้านหนังสือที่บ้านเกิด เตี่ยผมอยู่กับร้านตัดเสื้อผ้าผู้ชายทั้งชีวิต เพื่อนรุ่นน้องและขาไพ่ของเตี่ยก็ขายก๋วยเตี๋ยวทั้งชีวิต โลกเต็มไปด้วยเรื่องธรรมดาทำนองนี้นะครับ และหลายเรื่อง เราก็คิดไปเองว่ามันพิเศษ
หนังสือแนะนำ
1
หัวใจ, เวลา, กลางป่าแสงจันทร์
นักเขียน : ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
สำนักพิมพ์ : Booktopia
ราคา : 198 บาท

ไม่ง่ายนักที่จะให้เลือกหนังสือแค่ 5 เล่ม คล้าย ๆ กัน – ให้เลือกเพลงแค่ 5 เพลง เลือกหนังแค่ 5 เรื่อง ก็ย่อมไม่ง่าย มีหนังสือ 2 เล่ม เป็นหนังสือที่เราพิมพ์เอง เล่มแรก หัวใจ, เวลา, กลางป่าแสงจันทร์ ของ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ หนังสือของช่างภาพสัตว์ป่าแถวหน้าของเมืองไทย เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับป่า สัตว์ป่า ผู้คน ฯลฯ ที่โรแมนติกและมากด้วยความรู้สึกสำหรับผม ลีลาและท่วงท่าในการเล่าเรื่องด้วยตัวหนังสือของพี่เชนงดงามอย่างเรียบง่าย
2
Rocktopia
นักเขียน : วิรัตน์ โตอารีย์มิตร
สำนักพิมพ์ : Booktopia
ราคา : 330 บาท

เล่มที่สองที่เราพิมพ์เองคือ Rocktopia ของผม ผมเขียนถึงศิลปินร็อกที่ตายแล้ว และไปใช้ชีวิตแปลก ๆ ในดินแดนแปลก ๆ ชื่อ ‘ร็อกโทเปีย’
3
ผลพวงแห่งความคับแค้น
นักเขียน : จอห์น สไตน์เบ็ก
นักแปล : ณรงค์ จันทร์เพ็ญ
สำนักพิมพ์ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์
ราคา : 550 บาท

‘ผลพวงแห่งความคับแค้น’ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า The Grapes of Wrath เขียนโดย จอห์น สไตน์เบ็ก ในเวอร์ชันภาษาไทย ณรงค์ จันทร์เพ็ญ เป็นผู้แปล ผมชอบงานแบบไตน์เบ็กมากกว่าเออร์เนสต์ เฮมิ่งเวย์ เพราะงานของสไตน์เบ็กกระทบใจได้มากกว่า ผลพวงฯ ว่าด้วยชีวิตของชนชั้นล่างที่ต้องดิ้นรนอพยพโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อความอยู่รอด
เรื่องราวในนิยายเกิดขึ้นช่วงที่สหรัฐอเมริกาเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจขั้นรุนแรง (The Great Depression) เมื่อทศวรรษที่ 1930 ตัวแทนของผู้ยากไร้คือครอบครัวโจ้ด และทอม โจ้ด ก็เป็นสัญลักษณ์ของการไม่สยบยอมต่อนายทุนผู้กดขี่ หนังสือหนาเกือบ 1,000 หน้า ผมเอาใจช่วยทอม โจ้ด และครอบครัวของเขาตั้งแต่ต้นจนจบ นี่คือวรรณกรรมที่ทำให้สไตน์เบ็กได้ทั้งรางวัลพูลิตเซอร์และรางวัลโนเบล
4
เดอะ ก็อดฟาเธอร์
นักเขียน : มาริโอ พูโซ
นักแปล : ธนิต ธรรมสุคติ
สำนักพิมพ์ : มติชน
ราคา : 350 บาท

แม้การกลับมาดู The Godfather ทั้ง 3 ภาคครั้งล่าสุด จะให้ความรู้สึกแตกต่างจากการดูครั้งแรก แต่หนังไตรภาคที่ว่าด้วยวิถีชีวิตของเจ้าพ่อก็ยังโอฬารเช่นเดิม หนังสร้างจากอาชญนิยายของ มาริโอ พูโซ (แปลเป็นไทยโดย ธนิต ธรรมสุคติ) ผมดูหนังก่อน แล้วจึงมาอ่านนิยายภายหลัง หลายรายละเอียดที่ไม่ปรากฏในหนัง มีอยู่ในนิยาย และการอ่านเหตุการณ์ที่รู้แล้ว (จากการดูหนัง) ก็ไม่ทำให้ความเข้มข้นของเนื้อหาถูกลดทอนลง เดอะ ก็อดฟาเธอร์ ไม่เพียงเป็นมหากาพย์ของพวกมาเฟีย แต่ยังเป็นเรื่องของลูกผู้ชาย มิตรภาพ ความเป็นครอบครัว ฯลฯ
5
หิโตปเทศ
นักเขียน : เสถียรโกเศศ-นาคะประทีป
สำนักพิมพ์ : ศยาม
ราคา : 100 บาท

เล่มสุดท้ายที่ผมเลือก คือ หิโตปเทศ ด้วยสำนวนอย่างเก่า วิธีเล่าเรื่องในแบบนิยายขนาดสั้นที่ต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ อาจไม่ถูกจริตนักอ่านส่วนใหญ่ แต่ถ้าก้าวข้ามสิ่งนี้ได้ เนื้อหาของ หิโตปเทศ เป็นจริงทุกยุคสมัยและยังมีคติสอนใจให้ฉุกคิด เช่น ร่มเงาของเมฆ ไมตรีกับคนโหด รวงข้าวใหม่ สตรี ความเป็นหนุ่ม และความมั่งมี เหล่านี้จะให้ความบันเทิงใจได้เพียงชั่วคราว
Booktopia
ที่ตั้ง : 9/17 ถนนณรงค์วิถี ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี (แผนที่)
วัน-เวลาทำการ : หยุดทุกวันพุธ เปิดทำการ 10.30 – 18.30 น. โดยประมาณ แต่บางทีก็มีเหตุให้ไม่ได้เปิด-ปิด ตามที่กำหนดไว้ โทรศัพท์มานัดหมายก่อนได้
โทรศัพท์ : 0 5651 2932
Facebook : Booktopia
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาร้านหนังสือเป็นแหล่งความรู้สร้างสรรค์ โดยความร่วมมือของ The Cloud และ OKMD
