The Cloud x Qatar Airways

ว่ากันว่านอกจากประวัติศาสตร์ ขนมหวาน อาหารทะเล และนักฟุตบอล สิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับโปรตุเกส ประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรเพียงสิบกว่าล้านคน ก็คืองานวรรณกรรม

แม้นักอ่านชาวไทยทั่วไปอาจไม่ค่อยคุ้นเคยกับผลงานของนักเขียนโปรตุเกส เพราะมีไม่มากนักที่ได้รับการแปลตรงมาสู่ภาษาเรา แต่หากใครพอเป็นคอวรรณกรรมโลกอยู่บ้าง คงคุ้นหูกับชื่อเสียงเรียงนามของนักเขียนบางคน เช่น เฟอร์นันดู เปซซัว (Fernando Pessoa) โฮเซ่ ซารามากู (José Saramago) หรืออันโตนิอู โลบู อันตูเนช (António Lobo Antunes) 

คนหนึ่งถูกยกย่องให้เป็นกวีเอกประจำชาติ คนหนึ่งคือเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 1998 ขณะที่อีกคนมีรางวัลด้านวรรณกรรมการันตีหลายสิบรางวัล และมีลุ้นรางวัลโนเบลแทบทุกปีจนกว่าจะสิ้นอายุขัย

เดินเตร่บนถนนสายวรรณกรรมในลิสบอน โปรตุเกส เมืองแห่งร้านหนังสือทั้งน้องใหม่ยันอายุ 300 ปี

แม้มีพื้นเพต่างกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าลิสบอน เมืองหลวงที่ทอดตัวบนเนินสูงต่ำริมคาบสมุทรไอบีเรีย เป็นทั้งที่ฟูมฟักจินตนาการและแต่งแต้มเรื่องราวอันเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนชั้นนำชาวโปรตุเกสหลายต่อหลายคน

เสน่ห์ของลิสบอนจึงไปไกลกว่าแค่ในร้านอาหาร พิพิธภัณฑ์ โบสถ์เก่า บนรถราง หรือริมชายหาด แต่ท่ามกลางซอกซอยน้อยใหญ่ล้วนเรียงรายด้วยกิจการร้านหนังสือต่างสไตล์หลายขนาด

บางร้านเน้นขายหนังสือมือสองในราคาไม่แพงไปกว่าน้ำเปล่าตามร้านสะดวกซื้อ บางร้านเป็นสำนักพิมพ์ที่เน้นผลิตตำราสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย แต่หน้าร้านกลับเน้นขายงานวรรณกรรมจากนานาชาติ บางร้านเป็นน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดทำการได้ไม่ถึงขวบปี ขณะที่บางร้านเป็นแหล่งพักพิงแก่หนอนหนังสือมาแล้วหลายชั่วอายุคน

เมื่อได้รับโอกาสจาก The Cloud และสายการบิน Qatar Airways ที่สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เราจึงมุ่งตรงไปยังย่านราตู (Largo do Rato) พื้นที่ใจกลางเมืองลิสบอนที่มีถนนหลายสายตัดผ่าน ทำให้เป็นเส้นทางเชื่อมต่อไปยังสถานที่สำคัญมากมายที่เดินถึงกันได้ไม่เกินหนึ่งหรือสองเหนื่อย

เช่นเดียวกับทุกครั้งที่ออกเดินทางไปต่างแดน การแวะเยี่ยมเยียนร้านหนังสือท้องถิ่นเป็นเป้าหมายหลัก เพราะสิ่งที่ปรากฏอยู่ภายในร้านไม่เคยเป็นและไม่ใช่แค่หนังสือ แต่คือผู้คน เรื่องราว ประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิต

เดินเตร่บนถนนสายวรรณกรรมในลิสบอน โปรตุเกส เมืองแห่งร้านหนังสือทั้งน้องใหม่ยันอายุ 300 ปี

เราเริ่มเดินจากต้นถนน Rua da Escola Politécnica ลงไปจนสุดทางที่ย่านการค้า Baixa-Chiado ตลอดระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เราได้พบร้านหนังสือทั้งที่ตั้งใจไปหาและโชคชะตานำพาไป

เอกลักษณ์ของร้านหนังสือในลิสบอนคือหนังสือแทบทั้งหมดเป็นภาษาโปรตุเกส หรือไม่ก็สเปนและฝรั่งเศส ไม่ใช่อังกฤษ สิ่งที่ชวนอิจฉาคืองานเขียนร่วมสมัยภาษาต่างๆ รวมถึงงานคลาสสิกในโลกตะวันตกอีกมาก ล้วนแต่ถูกแปลเป็นภาษาท้องถิ่นไว้หมดแล้ว ในแง่หนึ่ง การพบหนังสือภาษาอังกฤษสักเล่มจึงเป็นเรื่องท้าทายและน่าตื่นเต้นพอตัว โดยเฉพาะเมื่อหนังสือเหล่านั้นหาไม่ได้ตามร้านหนังสือทั่วๆ ไปในบ้านเรา

เริ่มออกเดินทางไม่ถึง 200 เมตร จากสถานีรถไฟราตู ร้านหนังสือแห่งแรกที่คอยต้อนรับเราคือ Livraria Almedina Rato จุดสังเกตคือหน้าร้านประดับด้วยกระเบื้อง Azulejo สีฟ้าสลับเหลือง สลักตัวอักษรว่า ‘Pro Arte’ หรือ ‘แด่งานศิลปะ’ เพราะตัวร้านเดิมเคยเป็นห้องทำงานของริการ์ดู ลีออน (Ricardo Leone) ศิลปินและช่างกระจกสีคนสำคัญประจำเมือง

เดินเตร่บนถนนสายวรรณกรรมในลิสบอน โปรตุเกส เมืองแห่งร้านหนังสือทั้งน้องใหม่ยันอายุ 300 ปี

ร้านนี้เป็นสาขาหนึ่งของสำนักพิมพ์ใหญ่ Almedina Publishing Group ตัวร้านเพิ่งเปิดได้ไม่กี่ปี แต่สำนักพิมพ์ทำธุรกิจการพิมพ์ควบคู่กับร้านหนังสือมาแล้วมากกว่าครึ่งศตวรรษ

หน้าร้านมีป้ายประวัติบอกเล่าว่า เดิมทีสำนักพิมพ์เน้นผลิตตำราเกี่ยวกับความรู้เฉพาะทางต่างๆ เช่น กฎหมาย การแพทย์ และจิตวิทยา ก่อนค่อยๆ ขยายตลาดไปสู่งานวิชาการทางมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ ตลอดจนงานวรรณกรรมในภายหลัง

ภายในร้านขนาดกะทัดรัดแบ่งออกเป็นโซนๆ ไว้อย่างชัดเจนและสวยงาม ที่น่าสนใจคือโซนตำราวิชาการซึ่งเป็นธุรกิจหลักของร้าน แต่กลับซ่อนตัวอยู่เงียบเชียบด้านในสุด ขณะที่พื้นที่ตรงโถงกลางเรียงรายด้วยหนังสือความเรียง วรรณกรรม ปรัชญา และประวัติศาสตร์ ทั้งจากนักเขียนโปรตุเกสและนักเขียนต่างชาติซึ่งแทบทั้งหมดถูกแปลเป็นภาษาท้องถิ่น ขณะที่หนังสือภาษาอังกฤษถูกจัดโซนแยกไว้ในห้องเล็กๆ อีกห้องหนึ่งทางด้านหน้า โดยส่วนใหญ่เป็นงานเขียนเกี่ยวกับโปรตุเกสและเมืองลิสบอนเป็นหลัก

เดินเตร่บนถนนสายวรรณกรรมในลิสบอน โปรตุเกส เมืองแห่งร้านหนังสือทั้งน้องใหม่ยันอายุ 300 ปี
เดินเตร่บนถนนสายวรรณกรรมใน ลิสบอน โปรตุเกส เมืองแห่งร้านหนังสือทั้งน้องใหม่ยันอายุ 300 ปี

จุดเด่นของร้านคือชั้นวางหนังสือตรงกลางหนึ่งชั้นใหญ่ที่อุทิศให้งานเขียนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของเฟอร์นันดู เปซซัว นักเขียนชื่อดังที่ดังขนาดที่เราเห็นหน้าค่าตาเขาได้ทั่วไป ตั้งแต่ในรถไฟใต้ดิน ข้างกำแพงบ้าน บนเสื้อยืด แก้วน้ำ แม่เหล็ก หรือสินค้าใดๆ ก็ตามที่ร้านขายของฝากจะคิดจินตนาการได้

เปซซัวเกิดที่ลิสบอน ไปเติบโตในแอฟริกา และกลับมาใช้ชีวิตเขียนวรรณกรรมส่วนใหญ่ที่บ้านเกิด ผลงานที่เขียนขึ้นภายใต้นามปากกากว่า 70 นามปากกา ทำให้เปซซัวได้รับยกย่องให้เป็นยอดทั้งในแง่ชั้นเชิงทางวรรณกรรม ความลุ่มลึกทางความคิด และคุณูปการในฐานะนักหนังสือพิมพ์และนักแปล

เดินเตร่บนถนนสายวรรณกรรมใน ลิสบอน โปรตุเกส เมืองแห่งร้านหนังสือทั้งน้องใหม่ยันอายุ 300 ปี

น่าสังเกตว่านอกจากงานเขียนของเขาแล้ว บนชั้นยังมีหนังสือภาพการ์ตูนอีกหลายเล่มที่วาดขึ้นจากบทกวีหรือเรื่องสั้นบางเรื่องของเปซซัว ทำให้วรรณกรรมจากศตวรรษที่แล้วเดินทางมาถึงเด็กๆ รุ่นใหม่ได้ง่ายดายขึ้น 

เดินต่อมาอีกสัก 500 เมตร ผ่านหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติด้านประวัติศาสตร์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ (Museu Nacional de História Natural e da Ciência) และสวนพฤกษศาสตร์แห่งลิสบอน (Jardim Botânico de Lisboa) เราพบร้านหนังสือแห่งที่ 2 ซึ่งดูกว้างขวางและคลาคล่ำด้วยผู้คนกว่าร้านแรกอยู่พอสมควร

เดินเตร่บนถนนสายวรรณกรรมใน ลิสบอน โปรตุเกส เมืองแห่งร้านหนังสือทั้งน้องใหม่ยันอายุ 300 ปี

ร้าน Livraria da Travessa – Lisboa ไม่อยู่ในลิสต์ที่เราเตรียมไว้ทีแรก ค้นไปค้นมาจึงพบว่าร้านนี้เพิ่งเปิดใหม่ได้ไม่ครบปีดี คะแนนรีวิวจึงยังมีไม่มากและยังไม่ทันได้ติดลิสต์ร้านหนังสือแนะนำในเว็บไซต์ใหญ่ๆ ถึงอย่างนั้นก็ตาม ร้านนี้กลับเป็นร้านหนังสือที่มีจำนวนปกและประเภทหนังสือหลากหลายที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองนี้ ที่เป็นแบบนั้นได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่นี่ไม่ใช่ร้านหนังสือหน้าใหม่ แต่เป็นสาขาในต่างประเทศแห่งแรกของเครือร้านหนังสือ Travessa ประเทศบราซิล ซึ่งเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1986

เดินเตร่บนถนนสายวรรณกรรมใน ลิสบอน โปรตุเกส เมืองแห่งร้านหนังสือทั้งน้องใหม่ยันอายุ 300 ปี

ด้วยความที่เป็นร้านหนังสือจากต่างประเทศ Livraria da Travessa จึงดูเป็นมิตรต่อชาวต่างชาติกว่าร้านอื่นๆ เพราะเต็มไปด้วยหนังสือจากนานาชาติและนานาภาษา

เดินเตร่บนถนนสายวรรณกรรมใน ลิสบอน โปรตุเกส เมืองแห่งร้านหนังสือทั้งน้องใหม่ยันอายุ 300 ปี

พื้นที่ประมาณ 2 คูหา อัดแน่นไปด้วยหนังสือแทบทุกประเภท ตั้งแต่วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ การเมือง ปรัชญา การทำอาหาร ดนตรี ภาพยนตร์ ไปจนถึงหนังสือนำเที่ยวและเรียนภาษา โซนด้านหน้าเป็นวรรณกรรมและงานเขียนร่วมสมัยในภาษาโปรตุเกส หนังสือประเภทอื่นกระจายตัวอยู่รอบข้าง ลึกเข้าไปจึงเป็นโซนหนังสือภาษาอังกฤษที่ผสมผสานระหว่างวรรณกรรมต่างชาติกับวรรณกรรมแปลของนักเขียนโปรตุเกส ที่บางเล่มหาซื้อในร้านหนังสือทั่วไปได้ไม่ง่ายนัก

เดินเตร่บนถนนสายวรรณกรรมใน ลิสบอน โปรตุเกส เมืองแห่งร้านหนังสือทั้งน้องใหม่ยันอายุ 300 ปี
เดินเตร่บนถนนสายวรรณกรรมใน ลิสบอน โปรตุเกส เมืองแห่งร้านหนังสือทั้งน้องใหม่ยันอายุ 300 ปี

ร้านนี้มีจุดเด่นอยู่ที่คติประจำร้าน “Entre, leia e ouça” คือ “เดินเข้ามา ตาอ่านดู และเงี่ยหูฟัง” ด้วยเหตุนี้ พื้นที่ภายในร้านส่วนหนึ่งจึงถูกแบ่งสรรไว้สำหรับจัดวงพูดคุยเสวนาขนาดย่อมโดยนักคิดนักเขียนที่ได้รับเชิญมาเป็นประจำทุกสัปดาห์ หรือจริงๆ แทบจะวันเว้นวัน

ไม่กี่วันก่อนเราไปถึง ร้านเพิ่งจัดงานเปิดตัวหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ O Terrorista Elegante E Outras Histórias (The Elegant Terrorist and Other Stories) ผลงานร่วมกันของ โฮเซ่ เอดูอาร์ดู อากัวลูซ่า (José Eduardo Agualusa) และ มีอา โคตู (Mia Couto) 2 นักเขียนยอดนิยมจากประเทศอดีตอาณานิคมของโปรตุเกส คือแองโกลาและโมซัมบิก ตอนที่เราไปถึง ที่ร้านเองก็กำลังมีการถ่ายทำรายการบางอย่างกันคึกคักอยู่ด้านใน

ออกจากร้าน Travessa ลัดเลาะไปตามถนนในละแวกใกล้เคียงยังมีร้านหนังสือที่น่าสนใจอีกหลายร้าน ที่เราประทับใจเป็นพิเศษจนอยากแนะนำให้รู้จักคือ Livraria Olisipo และ Livraria Byzantina

เดินเตร่บนถนนสายวรรณกรรมใน ลิสบอน โปรตุเกส เมืองแห่งร้านหนังสือทั้งน้องใหม่ยันอายุ 300 ปี

ร้านแรกเป็นร้านหนังสือเก่าที่รับซื้อและขายหนังสือหายาก ภายในร้านเต็มไปด้วยหนังสือที่มีอายุอานามหลักสิบไปจนถึงร่วมร้อยปี เบียดเสียดกันอยู่ในชั้น ราคาจึงแตกต่างกันไปตามความโด่งดังของผู้เขียน เนื้อหา ความเก่าแก่ รวมถึงสภาพของตัวเล่ม จุดขายอีกอย่างหนึ่งของร้านคือบรรดาภาพวาด ภาพแกะสลัก รวมถึงแผนที่โบราณที่ตัดใส่กรอบวางกระจายอยู่ทั่วร้าน ราคาเริ่มต้นที่ 5 ยูโร ไปจนถึง 30 ยูโร

เดินเตร่บนถนนสายวรรณกรรมใน ลิสบอน โปรตุเกส เมืองแห่งร้านหนังสือทั้งน้องใหม่ยันอายุ 300 ปี

ส่วนร้านหลังเป็นร้านหนังสือมือสองเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่หลังตู้ ATM ที่หากไม่สังเกตให้ดีอาจจะเดินผ่านไปได้ง่ายๆ ความพิเศษของ Livraria Byzantina คือขายเฉพาะหนังสือมือสองร่วมสมัย ไม่ได้เน้นหนังสือเก่า ราคาจึงเป็นมิตรกับผู้อ่านเป็นพิเศษ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องแลกกับการเสี่ยงดวงอยู่มากเพราะชั้นหนังสือถูกจัดแบ่งประเภทไว้อย่างหยาบๆ และงานเขียนต่างภาษาถูกจัดวางปะปนกันอย่างไม่ค่อยเป็นระเบียบ

เดินเตร่บนถนนสายวรรณกรรมใน ลิสบอน โปรตุเกส เมืองแห่งร้านหนังสือทั้งน้องใหม่ยันอายุ 300 ปี

อย่างไรก็ตาม ข้อดีมากๆ ของที่นี่คือ เราพบงานวรรณกรรมของนักเขียนโปรตุเกสทั้งเก่าใหม่ในฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษซ่อนตัวอยู่เป็นจำนวนมาก แทบทั้งหมดสนนราคาประมาณเล่มละ 2 – 5 ยูโร ขณะที่หนังสือมือหนึ่งในร้านหนังสือทั่วไปราคาอยู่ที่ประมาณเล่มละ 15 – 20 ยูโร

ร้านสุดท้ายที่เราไปถึงในเย็นวันนั้นอยู่ในย่านช้อปปิ้งที่ชื่อว่า Chiado และถือเป็นไฮไลต์ของทริปนี้ เพราะเป็นร้านหนังสือที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังเปิดทำการอยู่ และเป็นเชนร้านหนังสือเจ้าหลักของโปรตุเกสในปัจจุบัน

Livraria Bertrand เปิดทำการเป็นครั้งแรกในปี 1732 โดยเปดรู เฟารือ (Pedro Faure) ก่อนที่ ปิแยร์ แบร์ทรองด์ (Pierre Bertrand) ลูกเขยชาวฝรั่งเศสและน้องชาย ฌอง-โฌเซฟ แบร์ทรองด์ (Jean-Joseph Bertrand) จะมารับช่วงต่อ และเปลี่ยนมือจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเวลาเกือบ 300 ปี แม้จะมีช่วงที่ปิดกิจการอยู่บ้างเป็นบางคราว

เดินเตร่บนถนนสายวรรณกรรมใน ลิสบอน โปรตุเกส เมืองแห่งร้านหนังสือทั้งน้องใหม่ยันอายุ 300 ปี

เมื่ออยู่มานานก็ย่อมมีเรื่องราวเล่าขานมากมาย Livraria Bertrand จึงเป็นกึ่งร้านหนังสือกึ่งพิพิธภัณฑ์ที่บ่งบอกชีวิตทางสังคม เศรษฐกิจ และศิลปวัฒนธรรม ของผู้คนในลิสบอนได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะผ่านเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์มานับไม่ถ้วน ร้านหนังสือแห่งนี้ยังเป็นสถานที่พักพิงของบรรดาคนดังและไม่ดัง ทั้งในและนอกวงการหนังสือจากยุคสู่ยุค

หากสังเกตจากด้านนอกจะพบว่าตัวร้านมีหน้ากว้างเพียงห้องเดียว แต่ลึกเข้าไปคือหนังสือนับพันเล่มที่ถูกจัดแบ่งไว้เป็นห้องๆ อย่างเป็นระบบ แต่ละห้องคั่นด้วยกำแพงอิฐวางตัวเป็นซุ้มโค้งที่คอยบอกเล่าประวัติศาสตร์ของร้านอยู่บนผนัง

เดินเตร่บนถนนสายวรรณกรรมใน ลิสบอน โปรตุเกส เมืองแห่งร้านหนังสือทั้งน้องใหม่ยันอายุ 300 ปี

บางห้องมีโซนสำหรับแนะนำประวัติและผลงานนักเขียนคนสำคัญที่เคยใช้บางช่วงเวลาในชีวิตที่ร้านหนังสือแห่งนี้ เช่น ซารามากูและ แอซ่า ดือ เคยรอซ (Eça de Queirós) 2 นักเขียนโปรตุเกสที่เคยมีผลงานแปลเป็นภาษาไทย นอกจากนั้น ด้านในสุดยังออกแบบเป็นคาเฟ่ขายเครื่องดื่มและของว่างโดยตั้งชื่อว่า ห้องเปซซัว

เดินเตร่บนถนนสายวรรณกรรมใน ลิสบอน โปรตุเกส เมืองแห่งร้านหนังสือทั้งน้องใหม่ยันอายุ 300 ปี

ความโด่งดังทำให้ที่นี่เป็นร้านหนังสือที่มีชาวต่างชาติอยู่รวมกันมากที่สุดเท่าที่เราเจอมา ปัญหาเดียวและเป็นปัญหาร่วมสำหรับนักท่องเที่ยวแบบเรา (พูดให้ถูกคือเป็นปัญหาของตัวเรา ไม่ใช่ของร้าน) คือหนังสือแทบทั้งหมดเป็นหนังสือภาษาโปรตุเกส

เดินเตร่บนถนนสายวรรณกรรมใน ลิสบอน โปรตุเกส เมืองแห่งร้านหนังสือทั้งน้องใหม่ยันอายุ 300 ปี
เดินเตร่บนถนนสายวรรณกรรมใน ลิสบอน โปรตุเกส เมืองแห่งร้านหนังสือทั้งน้องใหม่ยันอายุ 300 ปี

ผมเดาเอาว่าถ้านักเขียนคนนั้นไม่ดังจริง ก็ยากจะมีหนังสือภาษาอังกฤษวางขาย แต่ก็ไม่มั่นใจนัก เพราะก่อนเดินออกมา ผมเห็นนักท่องเที่ยวคนหนึ่งพยายามถามหางานของนักเขียนรางวัลโนเบลที่เพิ่งประกาศไปสดๆ ร้อนๆ เมื่ออาทิตย์ก่อน พนักงานก็ยิ้มกว้าง ตอบเป็นภาษาอังกฤษชัดถ้อยชัดคำว่า “We have it here.” แล้วเดินไปหยิบมาให้

ใช่ ทั้งหมดมีแปลเป็นภาษาโปรตุเกสแล้ว!

ดูรวมๆ ตัวร้านเลยเหมาะสำหรับเดินชมเพลินๆ มากกว่าจะหาซื้ออะไรไปอ่านหรือแต่งบ้านกันจริงจัง แต่ก็นั่นแหละ เดินออกมาจากร้านหนังสือโดยไม่ได้หนังสือติดไม้ติดมือก็ใช่ว่าเราจะไม่ได้อะไรติดมือ แต่จะได้อะไรคงขึ้นอยู่กับว่าเวลาที่เราเดินเข้าไป

เดินเตร่บนถนนสายวรรณกรรมใน ลิสบอน โปรตุเกส เมืองแห่งร้านหนังสือทั้งน้องใหม่ยันอายุ 300 ปี

เราอ่านอะไร ดูอะไร และฟังอะไร

บทความนี้เป็นของผู้ชนะรางวัลตั๋วเครื่องบิน 2 ที่นั่ง จากการเดินทางในทริป Walk with The Cloud 19 : Portuguese Passage โดย The Cloud และ Qatar Airways ใครสนใจเดินทางไปตามรอยโปรตุเกสบ้าง Qatar Airways เพิ่งเปิดเส้นทางบินใหม่ไปลิสบอน เมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศโปรตุเกสนะ

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

Avatar

ภาคิน นิมมานนรวงศ์

ครูโรงเรียนประจำที่คอยหาเวลาตามมนภัทรไปกินไอศกรีมและขนมปังอร่อยๆ

Photographer

Avatar

มนภัทร จงดีไพศาล

นักวิจัยมาลาเรียผู้คอยหนียุงไปตามหาไอศกรีมและขนมปังอร่อยๆ