The Cloud x OKMD

มีประตูอยู่ตรงนั้น 

นานหลายปีมาแล้ว

….

เป็นประตูไม้ธรรมดา ๆ แต่ทว่าเป็นประตูที่นำเราไปสู่ประตูอื่น ๆ อีกหลายประตูในชีวิต

ผมยังคงจดจำไม่ลืมเลือน เมื่อเปิดประตูเข้าไป หนังสือนับร้อยพันเรียงรายอยู่บนชั้น และเราจะอยู่ตรงนั้นนานเท่าไรก็ได้ 

ผมเปิดหนังสืออ่าน ไม่มีพลาสติกผนึกหุ้มห่อ แม้หนังสือจะมีกลิ่นหมึกกลิ่นกระดาษเพียงเบาบาง แต่ผมรู้สึกว่าหนังสือในร้านหนังสือมีกลิ่นเฉพาะ

ในแบบของมัน 

หรือว่าบางที อาจจะเป็นกลิ่นของร้านหนังสือ

ร้านเล่า จังหวัดเชียงใหม่ ร้านหนังสือเล็ก ๆ ถนนพระอาทิตย์ ร้านหนังสือเดินทาง ล้วนมีกลิ่นที่ว่านี้ 

เมื่อได้เลือกหนังสือสักเล่มจนหนำใจ หรืออาจถูกป้ายยาจากถ้อยคำบนการ์ดที่เจ้าของร้าน หรือคำแนะนำจากพี่ ๆ เจ้าของร้านก็ตามที 

หนังสือจะถูกหุ้มห่อด้วยกระดาษ ประทับตราเครื่องหมายของร้าน แล้วมอบให้เรา บางทีก็มีดอกไม้ดอกเล็กมอบให้ด้วย

อบอุ่นแฮะ

19 ปี ร้านหนัง(สือ) ตำนานร้านหนังสือ(และหนัง)ทางเลือก กลางเมืองภูเก็ตของหมอนักเขียน

ในวัยเยาว์ของผม กิจกรรมเดียวที่ผมรู้สึกปลอดภัยและรู้สึกถึงความมั่นคงภายในได้ดีที่สุดคือการอ่านหนังสือ หากจะกล่าวให้ชัด 

แม้เป็นการหยุดอยู่กับตัวเอง แต่มันคือการเดินทางผ่านหนังสือ

ในห้องสมุด ร้านหนังสือเล็ก ๆ ในจังหวัดที่ผมเติบโตขึ้นมา ผมใช้เวลาอยู่ในนั้นได้หลายชั่วโมงโดยไม่โดนบรรณารักษ์ พนักงาน หรือเจ้าของร้านเหล่ตามอง

ร้านหนังสือนาคร-บวรรัตน์ ร้านหนังสือชื่อฟังดูเคร่งขรึม ๆ ในย่านใจกลางของเมืองแห่งนั้นแขวนรูปจิตร ภูมิศักดิ์ จนทำให้เวลาต่อมาผมอยากรู้ว่า เออนะ คนคนนี้ที่เราไม่รู้จักมาก่อนเป็นใครกันนะ มันทำให้ผมพบกับหนังสือ ฟ้าบ่กั้น ของ ลาว คำหอม เป็นครั้งแรก

ตอนนั้นผมยังอ่านไม่เข้าใจเรื่องราวหลายอย่างในนั้น

แต่ใครเลยจะรู้ว่าเชื้อไฟหนึ่งได้ถูกจุด เปิดบานประตูให้เราได้พบกับผู้คนที่ไม่เหมือนเรา ผู้มีลมหายใจโลดแล่นอยู่ในระหว่างตัวอักษร ในระหว่างบรรทัด เรียกร้องให้เราเข้าใจพวกเขา

บนชั้นสองของร้านหนังสือใกล้สถานีรถไฟ เต็มไปด้วยหนังสืออาชญนิยายและนิยายแนวสืบสวนสอบสวน 

ที่ห้องสมุดของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดนครศรีธรรมราช ผมได้เพลินเพลิดไปกับโลกของเรื่องเล่าที่แปลก หนังสือนิตยสาร ไปยาลใหญ่และ ลลนา เล่มย้อนหลังอยู่ที่นั่น ช่างน่าแปลกที่เราสามารถพักผ่อนจากการอ่าน (ตำราเรียนอันแสนเคร่งเครียด) ด้วยการอ่าน

หนังสือเหล่านี้

ตัวหนังสือของ ศุ บุญเลี้ยง ทำให้ผมรู้จักโกวเล้ง และโชคดีที่หนังสือของโกวเล้งมีอยู่มากมายในห้องสมุดประชาชน (แม้ว่าจะหาหนังสือวรรณกรรมอื่น ๆ ได้กำจัด) จากเล่มหนึ่งไปสู่อีกเล่มหนึ่งและอีกเล่มหนึ่งต่อ ๆ มา เหมือนตาน้ำพุ่งพรู เสมือนประตูทะลุมิติ 

หนังสือ เวลาในขวดแก้ว ซึ่งไม่ใช่เนื้อหาหลักหรอก ที่พาผมไปพบกับขบวนการนักศึกษา ที่ทำให้ผมรักบทกวี และเมื่อมีความรักบทกวีของ คาลิล ยิบราน บทกวีของ พิบูลศักดิ์ ละครพล นั้นช่างงดงามสั่นไหวเหลือเกิน 

หนังสืออ่านง่ายหรืออ่านยาก สำคัญทั้งหมดในการต่อจุด เปิดบานประตูสร้างความเป็นตัวเราขึ้นมา

เขียนมาถึงบรรทัดนี้ ทำให้ผมคิดถึงหนังสือเล่มแรก ๆ ในชีวิต เป็นตอนประถมต้น ๆ ผมได้อ่าน The adventure of uncle Lubin นิยายภาพที่แปลโดย ศรี ดาวเรือง (ผมพบในภายหลังว่าผู้แปลก็เป็นนักเขียนที่เขียนงานวรรณกรรมได้ลึกซึ้ง) อีกเล่มคือ The Giving Tree มันเป็นนิยายภาพทั้งคู่

นิยายภาพเล่มแรกทำให้ผมรู้จักการพาตัวเองไปในโลกจินตนาการ ส่วนเล่มที่สองทำให้ผมรู้จักความอ่อนไหว 

เหนืออื่นใด ผมรู้สึกว่า ‘เล่มแรก’ ของผมสำคัญ มันทำให้ผมชอบพาตัวไปใกล้หนังสือ แต่ผมคงโชคไม่ดี หากโตขึ้นมาแล้วไม่มีห้องสมุดไม่มีร้านหนังสือให้เดินเข้าไป 

วันหนึ่งร้านหนังสือชื่อนายอินทร์ ท่าพระจันทร์ จัดงานพบนักเขียน วันนั้นผมได้พบกับ วัฒน์ วรรลยางกูร ผู้เขียน ฉากและชีวิต ซึ่งกลายเป็นหนังสือที่ผมชอบที่สุดเรื่องหนึ่ง 

แน่นอนว่าผมได้อ่านหนังสือของเขาอีกหลายเล่มต่อหลายเล่ม

ขออภัยที่บันทึกของผมนั้นยืดยาว หากแต่ผมอยากขอบคุณร้านหนังสือ ห้องสมุด นักเขียนทุก ๆ คนและทุก ๆ สิ่งที่มอบประตูไปสู่ร้านหนัง(สือ) ให้ผม 

19 ปี ร้านหนัง(สือ) ตำนานร้านหนังสือ(และหนัง)ทางเลือก กลางเมืองภูเก็ตของหมอนักเขียน
19 ปี ร้านหนัง(สือ) ตำนานร้านหนังสือ(และหนัง)ทางเลือก กลางเมืองภูเก็ตของหมอนักเขียน

ประตูร้านหนัง(สือ)

ทุกวันนี้มีหนังสือจริง ๆ อยู่ที่ประตูร้านหนัง(สือ) มันเป็นหนังสือที่เปิดด้วยการบรรยายอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ไว้ในย่อหน้าเดียว (ให้ทายว่าเล่มไหนครับ)

ร้านหนัง(สือ) ในยุคก่อตั้งนั้นผมตั้งชื่อว่า หนัง(สือ) เพราะมันรวมศาสตร์และศิลปะการเล่าเรื่อง 2 แขนงไว้ด้วยกัน คือวรรณกรรมและภาพยนตร์

  ในแง่กายภาพแล้วร้านนี้ก็ตรงตามตัวอักษรมาก ๆ คือมีชั้นหนังสือวรรณกรรมที่เก็บสะสมมาในช่วงวัยเรียนที่เริ่มเป็นนักเขียนฝึกหัด และมีอีกฝั่งเป็นแผ่นภาพยนตร์ไกลกระแส 

ผมมาอยู่ร้านในช่วงสุดสัปดาห์ ส่วนในวันธรรมดาช่วงเย็น ตั้ม-นันทวุทธิ์ สงค์รักษ์ จะมาเปิดร้านให้หลังเขาเลิกจากงานประจำ 

ร้านหนัง(สือ) สำหรับผมแล้วเหมือนเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะที่ผู้คนมาแชร์คุณค่าบางอย่างร่วมกัน 

ผมเริ่มคิดถึงเรื่องนี้เพราะในวันอาทิตย์หนึ่ง สมาชิกคนหนึ่งหอบแผ่นหนังจำนวนมากมาพร้อมกับหนังสือที่เขาเขียน ยกมาวางที่ร้านเพื่อแบ่งให้คนอื่นหยิบยืมต่อ เขาคือ วิวัฒน์ Filmsick หรือ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา ผู้ซึ่งมีประตูเป็นหนังสือ ฟิลม์ไวรัส ของ สนธยา ทรัพย์เย็น ซึ่งพาเขาเปิดออกไปสู่ภาพยนตร์โลกจำนวนมากมาย 

หรือเพื่อนสถาปนิกคนหนึ่ง เมื่อเราเบื่อ ๆ จากการเฝ้าร้านแล้วอยากไปดูหนัง เราก็วานให้เขานั่งอ่านหนังสือเฝ้าร้านให้แทน

19 ปี ร้านหนัง(สือ) ตำนานร้านหนังสือ(และหนัง)ทางเลือก กลางเมืองภูเก็ตของหมอนักเขียน
19 ปี ร้านหนัง(สือ) ตำนานร้านหนังสือ(และหนัง)ทางเลือก กลางเมืองภูเก็ตของหมอนักเขียน

ร้านหนังสือเริ่มต้นด้วยผู้คนเหล่านี้ – ทุกอย่าง ณ จุดเริ่มต้น ดูเหมือนจะเริ่มต้นอย่างง่าย ๆ เช่นนั้นเอง – ผู้คนที่ต่อมาที่เราชวนมาเป็นเจ้าของร้านด้วยกัน เป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งร้านหนัง(สือ) บางคนชักชวนเพื่อนให้มาลงขันและลงแรงหล่อเลี้ยงทำให้พื้นที่นี้ดำรงอยู่ได้เรื่อยมา

พวกเรากลายมาเป็นเพื่อน และบางคู่ก็กลายมาเป็นคนรัก

ผมยังจำได้ถึงวันที่ร้านหนัง(สือ) มีหนังสือเล่มแรกจำหน่าย ชั้นหนังสือนั้นเป็นชั้นวางหนังสือที่ทำด้วยไม้ ของ พี่ขวัญยืน ลูกจันทน์ ผู้เป็นเหมือนตัวแทนนักเขียนภูเก็ตบรรทุกมาให้พร้อมกับหนังสือ ‘ลายพานกลอน’ อันเป็นนิตยสารรวมเรื่องสั้นและบทกวีของกลุ่มนักเขียนภูเก็ต หลังจากนั้นไม่นาน เราก็ได้จัดงานบทกวี เปิดตัวหนังสือบทกวี ‘คนโง่ปลูกดอกไม้’ ของ วิสุทธิ์ ขาวเนียม

บทกวีถูกขับขาน ไม้ดอกถูกปลูก ร้านหนังสือถูกสร้าง คล้ายวิถีคุณค่าแบบหนึ่ง 

วันอาทิตย์ ถนนถลาง ย่านเมืองเก่าในยุคนั้นเงียบสงบ เพราะร้านรวงต่าง ๆ พากันปิด หลาย ๆ ครั้งเรานั่งอ่านหนังสือ รอสมาชิกมาเช่าหนังหรือหนังสือ แสงอาทิตย์ส่องสะท้อนกับพื้นถนน เหมือนทุกอย่างผ่านไปอย่างเชื่องช้า เป็นช่วงเวลาที่สุขสงบมากจริง ๆ

19 ปี ร้านหนัง(สือ) ตำนานร้านหนังสือ(และหนัง)ทางเลือก กลางเมืองภูเก็ตของหมอนักเขียน

Seven kinds of People you find in bookshops 

ผมเพิ่งอ่านหนังสือจบไปเล่มหนึ่ง เนื้อเรื่องในนั้นอาจะไม่ค่อยเกี่ยวกับบันทึกนี้เท่าไรนัก แต่ด้วยชื่อหนังสือเล่มนั้น – Seven Kinds of People You Find in Bookshops ก็ทำให้นึกผู้คนที่ชอบเดินผ่านประตูร้านหนัง(สือ) เหมือนกันนะครับ 

นอกจากเปิดประตูร้านเข้ามา พวกเขายังเปิดโอกาส ‘ครั้งแรก’ ให้เราหลายอย่าง

1. Homo Liber – คนรักหนังสือและห้องสมุด 

หลายปีก่อน ผมได้พบเจอลูกค้าท่านหนึ่งที่ต่อมาเป็นมิตรสหายกัน เขาบอกว่า ที่ร้านหนัง(สือ) ทำให้เขาอ่านหนังสือเล่มหนาเล่มหนึ่งจนจบ และทำให้ตกตะกอนถึงอะไรบางอย่าง

แน่นอน พวกเราย่อมดีใจที่ทำให้หนังสือสักเล่มหนึ่งพบได้กับคนอ่าน 

ขณะที่ผมกำลังเขียนบันทึกฉบับนี้ เขา-แม้ย้ายไปทำงานที่เขารักในจังหวัดบ้านเกิดแล้ว ก็ยังมีแก่ใจสื่อสารข้อความมา ผมก็ได้ย้อนคิดว่า ไม่ใช่เพียงหนังสือหรอกที่ได้พบกับคนอ่าน คนอ่านหลาย ๆ คนก็ได้พบกันเพราะหนังสือ

“ช่วงแรก ๆ ได้เข้าไปเพราะหนังสือเลยครับ มีแนวที่เราสนใจครับ ซึ่งแตกต่างจากร้านหนังสือทั่วไป 

แต่พอค่อย ๆ ลงในรายละเอียดแล้ว กลายเป็นว่าเราไม่ได้อ่านหนังสืออย่างเดียว เราได้อ่านการใช้ชีวิต ศึกษาความสัมพันธ์ของกลุ่มคนที่เข้ามาในร้าน เพื่อนหลาย ๆ คนของผมก็พบเจอกันที่นี่ ทุกคนที่ได้รู้จักก็เพราะเรื่องหนังสือ”

หลายต่อหลายครั้งที่มีคนแท็กเพจร้านหนัง(สือ) ถ่ายรูปพรีเวดดิ้ง แล้วบอกว่าพวกเขาพบกันครั้งแรกที่นี่ ผมนึกถึงหนังสือชื่อ เราพบกันเพราะหนังสือ ของ บินหลา สันกาลาคีรี ชะมัดเลยหละ

ทุกวันนี้ที่หนัง(สือ) ตรงบันไดทางขึ้นไปยังชั้นสอง เราได้ออกแบบพื้นที่ของห้องสมุด คล้ายชั้นหนังสือที่มีบันไดพาด หนังสือเก่าจำนวนมากสถิตอยู่ตรงนั้น ตามประสามนุษย์ Sentimental ผมหวังว่าใครบางคนจะหยิบขึ้นมาอ่าน และอาจได้พบกับใครสักคน

19 ปี ร้านหนัง(สือ) ตำนานร้านหนังสือ(และหนัง)ทางเลือก กลางเมืองภูเก็ตของหมอนักเขียน

2. Homo Cinematographic – คนรักภาพยนตร์ 

ผมยังคงจดจำการฉายครั้งแรกที่ร้านได้ดี ตอนนั้นเรายังมีสวนเล็ก ๆ ด้านหลังร้าน ซึ่งพอจะดัดแปลงให้กางจอได้ เป็นการฉายหนังในพื้นที่คล้ายกลางแปลง ผู้คนนั่งดูกันบนเสื่อและเก้าอี้เล็ก ๆ โปรแกรมสารคดีข้างบ้านเป็นโปรเจกต์ของ พี่ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ และ พี่สุภาพ หริมเทพาธิป แห่งนิตยสาร Bioscope งานฉายหนังวันนั้นเกิดได้ด้วยการสนับสนุนของ พี่เต้-ไกรวุฒิ จุลพงศธร (ตอนนี้เป็นอาจารย์ด้านภาพยนตร์ศึกษาไปแล้ว) 

เมื่อมีหนังฉาย ผู้ชมจึงปรากฏตัวขึ้น เกิดเป็นชุมชนของคนรักการดูหนังแต่ตั้งนั้นมา มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันหลังหนังจบ บรรยากาศแบบนั้นเราพยายามทำให้เกิดขึ้นหลังฉายหนังจบทุกครั้ง 

หลังจากนั้นเราเปลี่ยนไปฉายหนังกันในพื้นที่ชั้นบน ผู้จัดโปรแกรมเป็นใครไม่ได้นอกจาก Filmsick ผู้ซึ่งนอกจากเป็นเภสัชกรแล้ว ยังเป็นมนุษย์ฉายหนังในนามของ Filmvirus และโปรเจกต์ส่วนตัวอื่น ๆ 

หลัง ๆ นี้เราจัดฉายหนังของ Doc Club ด้วยความช่วยเหลือของ กลุ่ม Phuket needs this Film  ควบคู่ไปกับโปรแกรมของ Filmsick จนกระทั่งหยุดไปเมื่อมีสถานการณ์โรคระบาด และเรากำลังจะกลับไปฉายหนังอีกครั้ง

3. Homo Artem – คนรักศิลปะ 

นานจนเกือบจะลืมไปแล้วว่า ครั้งหนึ่ง หนัง(สือ) เคยเป็นพำนักของศิลปินในโครงการ Artist in Residence หรือศิลปินในพำนักของเรา โดยทาบทามนักศึกษาและคนทำงานศิลปะรุ่นใหม่มาพักที่หนัง(สือ) เพื่อให้พวกเขาได้พูดคุยกับคนในชุมชน และทำงานศิลปะออกมาจัดแสดง ศิลปินคนแรกคือ ธาดา เฮงทรัพย์กูล ผมเขียนบันทึกถึงตรงนี้ก็ให้คิดว่า ตอนนั้นเราบ้ามาก มีความฝันและทะเยอทะยานมาก ๆ ในการสร้างพื้นที่ให้กับงานศิลปะที่เชื่อมโยงผู้คน เราจึงสร้างพื้นที่ชั้นสองของร้านหนัง(สือ) ให้เป็นพื้นที่ของงานศิลปะและนิทรรศการศิลปะที่ค่อนช่างเป็นงานทดลอง

19 ปี ร้านหนัง(สือ) ตำนานร้านหนังสือ(และหนัง)ทางเลือก กลางเมืองภูเก็ตของหมอนักเขียน

4. Homo Activistarum – นักกิจกรรม 

หนังสือ ศิลปะ ภาพยนตร์ ไม่เคยแยกขาดจากสังคม หลายต่อหลายครั้ง เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เราจัดงานเคลื่อนไหวทางสังคมผ่านนิทรรศการ ศิลปะ หนัง หนังสือ และงานพูดคุยเสวนา 

ครั้งหนึ่งภาพถ่ายชีวิตประจำวันจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลงานของ ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ ตัวหนังสือของ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ และบทสนทนาจากผู้หญิงในพื้นที่ ก็เปิดความรับรู้นอกสื่อกระแสหลักให้เรา

เมื่อแรกที่เปิดร้านใหม่ ๆ เป็นปีที่เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ปีหลังจากนั้น เราจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งของชั้นล่างเป็นออฟฟิศของเครือข่ายนักเขียนฟื้นฝั่งอันดามัน ที่ทำงานเกี่ยวกับงานศิลปะบำบัด งานฟื้นฟูห้องสมุดและทุนการศึกษา ในเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดมา เราจัดงานดนตรี ‘ขอให้ความรักมีพลัง’ เพื่อจัดงานระดมทุนให้กับกิจกรรมเหล่านั้น 

ล่าสุด พวกเราได้ทำกิจกรรมกับกลุ่ม ‘บ้านเกิด’  ที่แสดงงานศิลปะแสดงสด ภาพยนตร์สั้น และวงสนทนา ว่าด้วยคนชายขอบของเมือง รวมถึงนิทรรศการภาพถ่ายของช่างภาพรุ่นใหม่ไฟแรงชาวภูเก็ตอย่าง @kenhitive

5. Quaesitor Juvenis – เด็กๆ ที่ค้นหาตัวเอง 

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คุณคงเห็นความฝันและความบ้าบิ่นของกลุ่มคนในวัยเยาว์ พวกที่ทำร้านมามาด้วยกัน (เหล่ามนุษย์ทีมงานหรือ Operaraii) รุ่นแรก ๆ ที่เหมือนเอาความสนใจของตัวเองเป็นตัวตั้ง 

แม้จะดูเหมือนว่าได้ทำอะไรมากมาย แต่สิ่งที่พวกเราทำก็เป็นเพียงสิ่งที่เราอยากทำ มันไม่เคยได้ถูกวางแผนตั้งแต่ต้น แต่มันก็เกิดขึ้นในระหว่างทาง และบางที ในระหว่างทางนั้นก็ดูคล้ายว่าพวกเราก็กำลังหามองหาสิ่งที่เราหลงใหลอยู่เหมือนกัน

ผมเองคิดว่าพลังงานแห่งความโกลาหลนี้ ได้ดึงดูดเหล่าเด็ก ๆ ที่กำลังค้นหาตัวเองอยู่ 

พวกเขาเหล่านั้น หลาย ๆ คน หลาย ๆ รุ่นที่ผมหรือเพื่อน ๆ ได้พบเจอ ได้แบ่งปันเรื่องราวที่ลึกซึ้ง อดีต ปัจจุบัน และอะไรที่พวกเขาอยากจะทำ ผมยังจำโมงยามเหล่านั้นได้เสมอ จากวันนั้นถึงวันนี้ ด้วยมิตรภาพอันแสนยาวนาน ผมนึกขอบคุณพวกเขาที่อนุญาตให้เราได้เห็นการเติบโตของพวกเขา 

ร้านหนัง(สือ) บ้านของวรรณกรรมและภาพยนตร์ทางเลือกกลางเมืองเก่าภูเก็ต ที่เต็มได้ด้วยความฝันและพลังการขับเคลื่อน
ร้านหนัง(สือ) บ้านของวรรณกรรมและภาพยนตร์ทางเลือกกลางเมืองเก่าภูเก็ต ที่เต็มได้ด้วยความฝันและพลังการขับเคลื่อน

6. Capulus Amans – นักดื่ม(ด่ำ) 

มีนักเขียนท่านหนึ่งเอ่ยในทำนองหยอกล้อว่า ร้านหนัง(สือ) นี่มันไม่ใช่ร้านหนังสือ 

ทำให้ผมขัดเขินเล็กน้อยเมื่อได้รับการเชิญชวนมาเขียนบันทึกที่ค่อนข้างเป็นส่วนตัวนี้ เพราะสิ่งที่พอจะเลี้ยงดูเหล่ามนุษย์ Operaraii ก็เป็นรายได้จากการขายกาแฟและเครื่องดื่ม    

ทุกวันนี้มีมิตรสหายที่ช่วยดูในเรื่องกาแฟให้คือพี่ๆน้องๆในวงการกาแฟของภูเก็ตคือพี่วิทยา สำแดงภัยแห่ง สุนทรีย์ และกิตติภพ เอ่งฉ้วนแห่ง Asterisk espresso           

ย้อนไปถึงวันเปิดร้านวันแรก ผมยังจำเมนูแรกที่ขายตั้งแต่วันแรก ๆ มีชื่อว่า The Little Prince เครื่องดื่มที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือเล่มนั้น 

เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนนั้น ถนนถลางเป็นถนนที่เงียบเหงา ยังไม่มีร้านกาแฟสักร้านเดียว แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลเชิงการตลาดหรอกที่เราขายกาแฟในร้านหนัง(สือ) 

เราขายกาแฟเพราะเราต้องดื่มกาแฟ

ถึงตรงนี้ อยากจะขอบคุณนักดื่มทุกคนที่นำพาให้ผมไปหลงใหลในโลกของกาแฟและการผสมเครื่องดื่ม สื่งนี้ได้หล่อเลี้ยงและหลอมรวมทุกอย่างเอาไว้

บอรเฆสเคยกล่าวเอาไว้ว่า 

“I have always imagined that Paradise will be a kind of a Library” 

ผมอยากจะเขียนต่อว่า ถ้าสรวงสวรรค์ห้องสมุดนั้นมีบาร์กับกาแฟด้วยก็คงจะดีไม่น้อยทีเดียว

ร้านหนัง(สือ) บ้านของวรรณกรรมและภาพยนตร์ทางเลือกกลางเมืองเก่าภูเก็ต ที่เต็มได้ด้วยความฝันและพลังการขับเคลื่อน

7. Viator non Tacitus – นักท่องเที่ยว

เนื่องจากต่อมา ถนนถลางย่านเมืองเก่าได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ให้ผู้คนได้ชมสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส เกิดร้านรวงที่ทำธุรกิจกับนักท่องเที่ยวเกิดขึ้นมากมาย (แน่นอนว่าค่าเช่าของเราก็เพิ่มขึ้นด้วยตามความนิยมของทำเล) 

  มนุษย์ประเภทที่ 7 นี้ทำให้ผมทั้งรักและชัง เพราะบางทีพวกเขาก็เป็นนักหย่อนใจในคาเฟ่หนังสือที่เงียบสงบ แต่บางทีพวกเขาก็ส่งเสียงดังและหมกมุ่นอยู่กับการถ่ายรูปจนรบกวนคนอื่น และทำให้มนุษย์ที่เหลือต่างรู้สึกเหมือนมีคนหยิกหัวใจ

แต่ก็มีนักท่องเที่ยวนี่หละครับ ที่เรารักและรอคอยการกลับมาเปิดประตูที่มีหนังสือเล่มหนึ่งอยู่ที่มือจับอีกครั้ง 

มีหลายคนที่เคยมาแล้วก็จะมาอีกในปีต่อมา ๆ เพราะจริง ๆ แล้วพวกเขาก็คือมนุษย์ประเภทอื่น ๆ ที่ปลอมตัวมาเป็นนักท่องเที่ยว ยินดีต้อนรับและขอบคุณจริง ๆ ครับ 

มีประตูอยู่ตรงนั้น   

ในอีกหลายปีต่อมา

….

เป็นประตูกระจกธรรมดา ๆ ที่มือจับมีหนังสือเล่มหนึ่งสถิตอยู่ 

เป็นหนังสือที่เปิดด้วยการบรรยายอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ไว้ในย่อหน้าเดียว มีหลายมือที่เปิดประตูเข้าไปยังโลกของหนังสือและภาพยนตร์ และคงนำไปสู่ประตูอีกหลายบานในอีกหลายๆแห่งหน  เชื่อว่าเมื่อโลกแห่งเรื่องเล่าให้ถูกเชื้อเชิญให้เข้ามาในชีวิตเรา อดีตและอนาคตถูกทำให้เป็นปัจจุบันโดยมีตัวเราผู้ที่กำลังอ่านหรือชมเป็นผู้เชื่อมต่อ  โลกภายนอกอันแสนตระการ งดงาม อัปลักษณ์ มหัศจรรย์หรือโลกภายในที่ละเอียดอ่อน กระทบเบื้องลึกที่สุด ทั้งหมดนั้นล้วนทำให้ชีวิตเราลงรอยกับโลกแห่งความจริงมากขึ้น ขอบคุณสำหรับการเดินทางของทุกคนครับ

ร้านหนัง(สือ) บ้านของวรรณกรรมและภาพยนตร์ทางเลือกกลางเมืองเก่าภูเก็ต ที่เต็มได้ด้วยความฝันและพลังการขับเคลื่อน

แนะนำหนังสือ

1

Window Magazine

ผู้เขียน : กึกก้อง ถิรธํารงเกียรติ และ วสุธรา นาราคาม 

ราคา : 800 บาท
นิตยสารเล่มหนา 300 หน้านี้ว่าด้วยศิลปิน งานศิลปะ และความผูกพันของบ้าน คนทำนิตยสารผู้เป็นสถาปนิก พาไปนั่งคุยกับศิลปิน 13 คนที่บ้านของศิลปินเหล่านั้น 

ร้านหนัง(สือ) บ้านของวรรณกรรมและภาพยนตร์ทางเลือกกลางเมืองเก่าภูเก็ต ที่เต็มได้ด้วยความฝันและพลังการขับเคลื่อน

2

สาปสำเริงในสวนสำราญ 

ผู้เขียน : รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค

สำนักพิมพ์ : โรคเขตร้อนการพิมพ์

ราคา : 112 บาท

หนังสือหมายเลขสองของ ‘โรคเขตร้อนการพิมพ์’ โดย รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค บทภาพยนตร์ที่ไม่ได้สร้างเรื่องนี้เป็นบทใคร่ครวญต่อความจีน/คนจีนในไทย โดยรัชฏ์ภูมิซึ่งเป็นคนทำหนังเชื้อสายแต้จิ๋ว-ไหหลำที่มีความสนใจในประเด็นประวัติศาสตร์ไทย

ร้านหนัง(สือ) บ้านของวรรณกรรมและภาพยนตร์ทางเลือกกลางเมืองเก่าภูเก็ต ที่เต็มได้ด้วยความฝันและพลังการขับเคลื่อน

3

ทางแยกเวลาในหน้าต่าง 

ผู้เขียน : อุเทน มหามิตร 

สำนักพิมพ์ : PS 

ราคา : 240 บาท

 “สิ้นสุดวัน ใกล้ชิดความเงียบไหว ขณะบางใจเตือนใจให้คอยรอ” บทกวี ‘ทางแยกเวลาในหน้าต่าง’ งานศิลปะในรูปแบบบทกวีของ อุเทน มหามิตร ที่พาบทกวีไปไกลกว่าห้วงอวกาศ

ร้านหนัง(สือ) บ้านของวรรณกรรมและภาพยนตร์ทางเลือกกลางเมืองเก่าภูเก็ต ที่เต็มได้ด้วยความฝันและพลังการขับเคลื่อน

4

สิ้นสุรีย์

ผู้เขียน : วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา 

สำนักพิมพ์ : เม่นวรรณกรรม 

ราคา : 160 บาท

ผลงานในแบบ Semi-Novella หรือเราอาจจะเรียกว่าเรื่องสั้นชุดก็ได้ ตัวละครในแต่ละเรื่องเกี่ยวพันกันบนใยแมงมุมของแก่นกลางโครงเรื่อง

ร้านหนัง(สือ) บ้านของวรรณกรรมและภาพยนตร์ทางเลือกกลางเมืองเก่าภูเก็ต ที่เต็มได้ด้วยความฝันและพลังการขับเคลื่อน

5

ชิ้นส่วนปลากระเบน

ผู้เขียน : ทศพล บุญสินสุข

สำนักพิมพ์ : Volcano Cries

ราคา : 200 บาท 

สำหรับเรา ตัวหนังสือของ ทศพล บุญสินสุข นั้นมีเสน่ห์เสมอ มันเหมือนสถานที่หนึ่งซึ่งมีที่ว่างให้การตีความของเราล่องลอย มีบรรยากาศแปลกต่างที่น่าพิศวงชวนให้เราออกไปเดินเล่น 

ร้านหนัง(สือ) บ้านของวรรณกรรมและภาพยนตร์ทางเลือกกลางเมืองเก่าภูเก็ต ที่เต็มได้ด้วยความฝันและพลังการขับเคลื่อน

ร้าน(หนัง)สือ

ที่ตั้ง ​: 61 ถนนถลาง ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง ภูเก็ต 83000 ​(แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00 – 19.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00 – 20.00 น.

โทรศัพท์ : 09 8090 0657

Facebook : หนัง(สือ)2521

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาร้านหนังสือเป็นแหล่งความรู้สร้างสรรค์ โดยความร่วมมือของ The Cloud และ OKMD

Writer

Avatar

นิล ปักษนาวิน

นายแพทย์และนักเขียน ซึ่งตอนนี้หลงใหลศาสตร์การหมักดอง สนใจเรื่อง Microbiota เพราะในแง่ปรัชญาแล้ว Microbiota บอกว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นมนุษย์เดี่ยวๆ ที่แยกขาดจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อารมณ์ความรู้สึก สมดุลของร่างกายของเรายังอยู่ภายใต้อิทธิพลของจุลชีพที่อาศัยอยู่ในตัวเรา

Photographer

Avatar

ทยาวีร์ สุพันธ์

ช่างภาพอิสระ บ้านอยู่ภูเก็ต หลงรักการดื่มกาแฟ ขับรถเที่ยว ชมธรรมชาติ การถ่ายรูปทะเลและผู้คน ชอบดนตรี ตีกลองเป็นงานอดิเรก