นี่ก็ขึ้นปีใหม่พุทธศักราช 2564 มาได้เดือนเศษแล้ว สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 รอบใหม่ทำให้ผมมีเวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น และแน่นอนว่า นั่นย่อมหมายความถึงการรื้อค้นสมบัติพัสถานบรรดามีในบ้านขึ้นมาจัดเก็บให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สำหรับคนที่มีอายุอานามขนาดผมแล้ว เห็นอะไรหยิบอะไรขึ้นมาแต่ละชิ้นก็ทำให้ความหลังครั้งเก่าฟูฟ่องขึ้นมาทีเดียว 

ช่วงเวลานี้เองทำให้ผมได้พบกับหนังสือหลายเล่มที่ไม่ได้เห็นหน้าค่าตากันเสียนานอีกครั้งหนึ่ง หนังสือแต่ละเล่มหน้าตาชำรุดทรุดโทรมหรือเก่าแก่ไปบ้างพอๆ กับผู้เป็นเจ้าของ แต่เรื่องราวที่อยู่แวดล้อมหนังสือเหล่านั้นยังไม่เก่าเลย ยังสดชื่นอยู่ในความทรงจำของผมเสมอ

บันทึกลับจากทุ่งใหญ่, ประชาธิปไตยอย่างง่ายๆ และหนังสืออื่นๆ จากเหตุการณ์ 14 ตุลา

หนังสือชุดที่หยิบมาอวดกันคราวนี้ ปีที่จัดพิมพ์อยู่ในพุทธศักราช 2516 หรือ 2517 นับเป็นเวลาเกือบ 50 ปีเข้าไปแล้ว พ.ศ. 2516 เป็นปีที่มีความเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้นในชีวิตของผม เพราะผมได้ก้าวเดินออกจากชีวิตนักเรียนมัธยมที่อยู่ในระเบียบแบบแผนอันคุ้นเคยมานานปีแล้วเดินสู่ประตูมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นโลกใหม่สำหรับผมอย่างแท้จริง มิหนำซ้ำในปีเดียวกันนั้นเอง ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองก็ได้เกิดขึ้นในเมืองไทย และยังเป็นที่ทรงจำกล่าวขานกันมาจนถึงทุกวันนี้

การสอบคัดเลือกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยยุคโน้นเรียกกันว่าสอบเอ็นทรานซ์ วันที่นักเรียนนั่งใจระทึกอยู่ในสนามสอบ น่าจะอยู่ในช่วงต้นเดือนเมษายนก่อนวันสงกรานต์ สอบเสร็จแล้วก็เป็นอันว่าหมดทุกข์ไปเปลาะหนึ่ง รอลุ้นฟังผลสอบว่าเราจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้หรือไม่ และถ้าสอบได้จะได้เรียนที่ไหน ถ้าสอบไม่ติดจะไปเรียนอะไรต่อที่ไหนดี 

ระหว่างนั้นเองได้มีข่าวใหญ่เกิดขึ้นในบ้านเมือง เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่าในช่วงปลายเดือนเมษายน เกิดอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งของทางราชการตกในเขตป่าทุ่งใหญ่จังหวัดกาญจนบุรี ซากเศษที่เหลือจากอุบัติเหตุครั้งนั้นส่อให้เห็นว่า เฮลิคอปเตอร์เครื่องดังกล่าวได้ถูกใช้เป็นพาหนะสำหรับอภิสิทธิ์ชนจำนวนหนึ่งเข้าไปล่าสัตว์ในเขตป่าดังกล่าว ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย 

เมื่อข่าวดังกล่าวอึกทึกครึกโครมขึ้น แทนที่ทางผู้หลักผู้ใหญ่จะใช้สูตรตอบคำถามว่าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวน เพื่อถ่วงเวลาหรือซื้อเวลาตามแนวปฏิบัติของประเทศไทย กลับมีผู้ใหญ่ในรัฐบาลระดับนายกรัฐมนตรีออกมาแอ่นอกชี้แจงว่า บุคคลในคณะเดินทางดังกล่าวไปราชการลับ

คราวนี้ก็ยุ่งใหญ่เลยสิครับ พยานหลักฐานสารพัดโผล่ขึ้นมารายรอบและบ่งชี้ไปในทำนองเดียวกัน ว่าคณะเดินทางที่ว่านั้นเข้าไปล่าสัตว์ในเขตหวงห้ามจริงๆ ผู้ร่วมคณะนั้นมีไปจนกระทั่งดาราภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงในยุคสมัยดังกล่าว

เมื่อรัฐบาลออกมาเป็นหนังหน้าไฟเช่นนั้น การวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณะชนจึงมุ่งเป้าไปที่รัฐบาลด้วยเป็นธรรมดา เด็กมัธยมที่กำลังจะเปลี่ยนจากกางเกงขาสั้นไปนุ่งกางเกงขายาวในฐานะนิสิตมหาวิทยาลัยอย่างผม ย่อมตื่นเต้นสนใจกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะบรรยากาศของสังคมในเวลานั้น รู้สึกอึดอัดเต็มทีแล้วกับการที่เรามีรัฐบาลทหารสืบเนื่องกันมาหลายยุค รัฐธรรมนูญก็มัวแต่ยกร่างกันอยู่นั่น แล้วไม่มีท่าทีว่าจะเสร็จเมื่อไหร่สักที

ยุคสมัยนั้น การสื่อสารสาธารณะจำกัดจำเขี่ยมากครับ เราไม่มี LINE ไม่มี Facebook ไม่มี Twitter ไม่มี Instagram สำนักข่าวออนไลน์ก็ไม่มี โทรทัศน์และวิทยุทุกช่องเป็นของรัฐบาล สื่อที่เข้าถึงผู้อ่านวงกว้างได้ก็มีแต่สื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น

‘บันทึกลับจากทุ่งใหญ่’
‘บันทึกลับจากทุ่งใหญ่’

ระหว่างวิกฤตศรัทธาดังกล่าว ได้มีหนังสือเล่มหนึ่งเผยแพร่ต่อสาธารณะ ใช้ชื่อหนังสือว่า ‘บันทึกลับจากทุ่งใหญ่’ หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งของผู้แทนนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมตัวกันเข้า ทำงานร่วมกันกับชมรมหรือกลุ่มอนุรักษ์ของหลายมหาวิทยาลัย

ลำพังเพียงแค่หน้าปกที่เป็นรูปช้างตัวใหญ่นอนล้มกลิ้งอยู่กับพื้น มีใบบัวใบเล็กปิดอยู่บนซากช้างนั้น พร้อมกับป้ายผูกติดอยู่ที่ใบบัวว่า “ราชการลับที่เปิดเผยไม่ได้” ก็แสบเข้าไปถึงทรวงแล้ว

หนังสือเล่มนี้ฉบับพิมพ์ครั้งแรกจำนวน 5,000 เล่ม ราคาเล่มละ 5 บาทถ้วน ขายหมดไปในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง จนต้องพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองเล่มหนึ่งที่ผมเก็บรักษาไว้ด้วยความภาคภูมิใจ ว่าตัวเองก็ได้อยู่รู้เห็นเป็นพยานในเหตุการณ์สำคัญทั้งนั้นด้วย เหตุการณ์การล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวรนี้นำไปสู่ความไม่พอใจกับท่าทีและการปฏิบัติของรัฐบาลมากยิ่งขึ้นทุกขณะ ว่าโดยย่อพอสังเขป ก็ได้แก่การเดินขบวนเพื่อประท้วงผู้บริหารมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ให้นักศึกษาพ้นสภาพ เนื่องจากนักศึกษาดังกล่าวเขียนหนังสือประชดประชันรัฐบาลในเดือนกรกฎาคม และถัดมาอีกสองเดือน ก็มีการจับกุมนักศึกษาที่เดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และเป็นชนวนที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ดังที่ทราบกันอยู่โดยทั่วไปแล้ว

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยมีบทบาทโดดเด่นในวงการเมืองมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แน่ใจได้ว่ามีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจเป็นธรรมดา นโยบายสำคัญเรื่องหนึ่งของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ คือการเผยแพร่ความรู้เรื่องประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน ซึ่งทำโดยกว้างขวางทั่วทั้งประเทศ และได้มีการผลิตหนังสือออกมาจำนวนมากเพื่อใช้เป็นสื่อเผยแพร่ในกิจกรรมที่ว่า

‘ประชาธิปไตยอย่างง่ายๆ’ ผู้จัดพิมพ์คือโครงการส่งเสริมระบบประชาธิปไตย (ครป.) ซึ่งเป็นโครงการของศูนย์นิสิตนักศึกษาฯ พิมพ์เผยแพร่ในช่วงปลาย พ.ศ. 2516

ผมยังเก็บเอาไว้ได้หนึ่งเล่มเลยครับ เล่มนี้ชื่อว่า ‘ประชาธิปไตยอย่างง่ายๆ’ ผู้จัดพิมพ์คือโครงการส่งเสริมระบบประชาธิปไตย (ครป.) ซึ่งเป็นโครงการของศูนย์นิสิตนักศึกษาฯ พิมพ์เผยแพร่ในช่วงปลาย พ.ศ. 2516 เล่มนี้ไม่ได้แจกฟรีนะครับ ขายราคาเล่มละ 2.50 บาท ยุคนั้นก็กินก๋วยเตี๋ยวได้หนึ่งชามเชียวล่ะ

ผู้เขียนบทความคนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ชื่อ ธเนศวร์ เจริญเมือง เวลานั้นน่าจะเป็นนิสิตนักศึกษาอยู่ที่ไหนสักแห่งหนึ่ง แต่ผมไม่ทราบรายละเอียดครับ จนอีกหลายสิบปีผ่านไป จึงได้พบว่าคนชื่อเดียวกันนี้กลายเป็นศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์อยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เสียแล้ว

อีกคนหนึ่งชื่อ สุรชาติ บำรุงสุข รายนี้เรารู้จักกันมาตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว เพราะเป็นนิสิตปีหนึ่งอยู่ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมชั้นปี แตกต่างคณะกันกับผม มาถึงวันนี้นิสิตที่ชื่อสุรชาติคนนี้ คือศาสตราจารย์สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งยุคสมัยนี่เอง ไม่ใช่ใครอื่น

เห็นไหมครับว่าอย่าได้ไปดูถูกนิสิตนักศึกษาที่เขียนบทความ 3 หน้า 5 หน้าลงหนังสือราคา 10 สลึงแบบนี้เป็นอันขาด

หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพวีรชน ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ณ เมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2517

หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่อยู่ในชุดสะสมของผมสำหรับเหตุการณ์ พ.ศ. 2516 และ 2517 คือหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพวีรชน ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ณ เมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2517 หนังสือเล่มนี้พิมพ์แจกครับ แต่ผมนึกไม่ออกเสร็จแล้วว่าผมได้รับแจกมาอย่างไร เพราะแน่ใจว่าตัวเองไม่ได้ไปร่วมงานพระราชทานเพลิงดังกล่าวที่ท้องสนามหลวงเป็นแน่

ในหนังสือเล่มนี้ ผมสนใจเป็นพิเศษตรงแบบแปลนการก่อสร้างเมรุ ซึ่งดำเนินการโดยกรมโยธาธิการและพิมพ์แทรกอยู่ในเล่ม ตำแหน่งที่สร้างเมรุนั้นอยู่ทางท้องสนามหลวงฝั่งด้านทิศเหนือ ค่อนไปทางถนนที่ลงมาจากสะพานพระปิ่นเกล้า มิได้ใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงฝั่งด้านทิศใต้เช่นงานพระบรมศพหรืองานพระศพเจ้านายคราวอื่น อาคารที่เรียกว่าเมรุซึ่งเป็นประธานของสิ่งก่อสร้างทั้งหลายนั้นตั้งอยู่กลางพื้นที่ แต่ไม่ได้เชิญศพของผู้ใดขึ้นตั้งบนเมรุนั้น หากแต่มีศาลาอีก 4 หลังอยู่รายรอบ

ถ้าความจำของผมไม่ผิดพลาด จากการดูถ่ายทอดทางโทรทัศน์ผมจำได้ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ทรงจุดฝักแคพระราชทานเพลิงแล้ว เพลิงพระราชทานวิ่งไปตามสายชนวนตรงขึ้นไปยังเมรุกลางก่อน แล้วจึงวิ่งไปตามสายชนวนแยกไปสู่ศาลาทั้ง 4 ทำนองเดียวกันกับการพระราชทานเพลิงผู้ที่เสียชีวิตจากการปราบปรามการก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ที่มีขึ้นเป็นประจำทุกปีในยุคนั้น

‘ปัญหาการร่างรัฐธรรมนูญ’ เป็นงานเขียนของ พันเอกสมคิด ศรีสังคม

หนังสือชุดนี้ของผมจะไม่สมบูรณ์แบบ ถ้าหากว่าผมจะไม่พูดถึงหนังสือเล่มเล็กอีกเล่มหนึ่ง เล่มนี้ชื่อว่า ‘ปัญหาการร่างรัฐธรรมนูญ’ เป็นงานเขียนของ พันเอกสมคิด ศรีสังคม หนึ่งในจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ได้รับเลือกจากสมัชชาแห่งชาติอันมีนามฉายาว่า ‘สภาสนามม้า’ ในตอนปลายพ.ศ. 2516 เพื่อทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีชื่อเรียกในเวลานี้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปีพุทธศักราช 2517

หนังสือเล่มนี้พันเอกสมคิดฯ ซึ่งเป็นผู้เขียนพิมพ์เผยแพร่เองในปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2517 ผมได้รับแจกมาจากทางไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน

พอหยิบมาพลิกอ่านอีกครั้งหนึ่งในวันนี้ ก็ถึงบางอ้อทีเดียวว่า การเมืองไทยสมัยโน้นกับการเมืองไทยสมัยนี้ยังไม่เดินไปไหนไกลนัก มีหลักฐานอยู่ในหนังสือเล่มดังกล่าวว่า ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้มีแถลงการณ์เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2517 เรียกร้องให้มีการพิจารณาทบทวนสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญที่ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ เห็นว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของปวงชน หนึ่งในสาระสำคัญที่ว่า คือ “ การที่ระบุให้มี 2 สภา โดยให้วุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง”

ผ่านไปเกือบ 50 ปีแล้ว ประเด็นอภิปรายโต้เถียงของสังคมในเรื่องนี้ยังหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ขยับเขยื้อนไปข้างไหน

อีก 50 ปีข้างหน้า คำถามแบบนี้จะยังอยู่ที่เดิมไหมครับ ใครบอกได้บ้างหนอ

Writer

Avatar

ธงทอง จันทรางศุ

คนวัยเกษียณจากอาชีพครูและการทำราชการหลายกระทรวง ผู้รักการอ่านและงานเขียนเป็นชีวิตจิตใจ ใช้เวลาทุกวันคืนอยู่กับหนังสือ ของกระจุกกระจิก และสมบัติพระศุลีทั้งปวง

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน