ทันทีที่ภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่โพสต์ภาพอาคารบอมเบย์เบอร์มาหรือบ้านเขียวที่ถูกทุบทิ้งแบบไม่เหลือซาก โลกโซเชียลก็แห่แชร์ภาพข่าวดังกล่าวกันกระหน่ำ กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางทั้งในจังหวัดแพร่และทั่วประเทศไทย หลายฝ่ายมีข้อสงสัยและคำถามต่างๆ นานาตามมาว่า ทำไมไม่อนุรักษ์เอาไว้ให้เป็นประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่ และประวัติศาสตร์การเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมป่าไม้ของบริษัทข้ามชาติในอดีต
อาคารบอมเบย์เบอร์มาเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2432 มีอายุราว 131 ปี เป็นอาคารสำนักงานของบริษัทบอมเบย์เบอร์มา (Bombay Burmah Trading Corporation) ที่เข้ามาทำไม้ในเมืองแพร่ โดยได้รับสัมปทานทำไม้ในบริเวณป่าแม่น้ำยมตะวันตก อาคารดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณท่าน้ำบ้านเชตวัน อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ปัจจุบันอยู่ในบริเวณสวนรุกขชาติเชตวัน ริมแม่น้ำยม ในความดูแลของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่)
อาคารสำนักงานแห่งนี้ถือเป็นอนุสรณ์สถานที่บอกเล่าประวัติศาสตร์การค้าไม้ที่เมืองแพร่และประเทศไทยเมื่อ 130 กว่าปีก่อน และเป็นตัวชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าสักเมืองแพร่ที่มีชื่อเสียงและผูกพันอย่างแนบชิดกับชาวเมือง อย่างที่ปรากฏในคำขวัญประจำจังหวัดว่า “ม่อฮ่อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม”
บอมเบย์เบอร์มา มาจากไหน
บอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้ง จำกัด เป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2406 โดย 6 พี่น้องชาวสก็อตตระกูลวอลเลซ จากเมืองเอดินบะระ ในสกอตแลนด์ เดิมทีพี่น้องกลุ่มนี้เริ่มเข้ามาทำธุรกิจไร่ชาภายใต้ชื่อ Wallace Brothers and Company ที่เมืองบอมเบย์ (ปัจจุบันคือมุมไบ) สมัยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ต่อมาได้ขยายธุรกิจมายังเมืองย่างกุ้งของพม่า เพื่อผลิตไม้สักส่งออกไปยังจีนและอินเดีย โดยก่อตั้งบอมเบย์เบอร์มาขึ้นมา มีบริษัทแม่อยู่ที่เมืองย่างกุ้ง นอกจากนี้บริษัทยังมีธุรกิจอื่นร่วมด้วย เช่น ธุรกิจการผลิตฝ้าย การส่งออกข้าวและยาง สำรวจแหล่งน้ำมัน บริการธุรกรรมด้านการเงิน ระบบโลจิสติกส์ ครอบคลุมไปจนถึงธุรกิจโรงพิมพ์ในสมัยอาณานิคม
เหตุผลที่ธุรกิจไม้สักเป็นที่นิยม เพราะขณะนั้นมีรายงานข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งในแวดวงธุรกิจว่า กัปตันเรือชาวเดนมาร์กรายหนึ่งบรรทุกไม้สักจากตะวันออกเต็มลำเรือ ล่องไปขายยังเมืองลิเวอร์พูลของอังกฤษ และทำกำไรได้ถึงเท่าตัว ข่าวนี้แพร่สะพัดเป็นที่รับรู้ของบรรดาบริษัทสัญชาติอังกฤษ ทำให้บริษัทเหล่านั้นต่างตื่นตัวและเห็นโอกาสที่จะขยายธุรกิจของตนให้เติบโต
อันที่จริงบอมเบย์เบอร์มาได้รับสัมปทานทำป่าไม้ในพม่าอยู่ก่อนแล้วในขณะนั้น แต่หลังจากข่าวดังกล่าวก็เห็นโอกาสในการขยายกิจการเข้ามาในหัวเมืองล้านนา โดยส่งคนของบริษัทจากเมืองมะละแหม่ง (เมาะลำไย) เข้ามาสำรวจปูทางไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2427 เนื่องจากเล็งเห็นกำไรก้อนโตที่จะเกิดขึ้นจากการขยายธุรกิจไม้สักส่งออกไปขายยังประเทศในยุโรป นอกเหนือจากที่เคยขายเฉพาะแค่ในประเทศแถบตะวันออกไกล เป็นเหตุให้ต่อมาการทำป่าไม้ในพม่าและหัวเมืองล้านนา โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ เกือบทั้งหมด ตกอยู่ในมือของบริษัทค้าไม้ยักษ์ใหญ่สัญชาติอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บอมเบย์เบอร์มาและบริษัทคู่แข่งหลักๆ อย่างบริติชบอร์เนียว สยามฟอเรสต์ หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ และ อีสต์เอเชียติก บริษัทสัญชาติเดนมาร์ก
บอมเบย์เบอร์มาเป็นบริษัทเก่าแก่อันดับต้นๆ ที่เปิดธุรกิจในอินเดีย ผลกำไรที่ได้เป็นกอบเป็นกำในอินเดีย พม่าและหัวเมืองล้านนาทำให้พี่น้องตระกูลวอลเลซก้าวขึ้นติดอันดับนักธุรกิจด้านการเงินแถวหน้าในลอนดอน ต่อมาเมื่ออินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ ตระกูล Visanji ได้ซื้อกิจการของพี่น้องวอลเลซ ปัจจุบันบอมเบย์เบอร์มาถูกควบรวมเข้ากับกลุ่ม Wadia Group ในนครมุมไบ
ไม้สักใช้ทำอะไร
ไม้สักได้รับการกล่าวถึงอย่างมากมายในวรรณกรรมโบราณและในหมู่นักเดินทางชาวอินเดีย แต่ไม่ได้มีการศึกษาหรือรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ หลังจากอังกฤษยึดอินเดียเป็นอาณานิคม แน่นอนว่าพวกเขาได้สำรวจทรัพยากรทั้งบนดินและใต้ดิน พวกเขาค้นพบว่าในไม้สักมีสารเคมีชนิดหนึ่งที่สะสมอยู่ในเนื้อไม้ โดยเฉพาะสักที่มีอายุมากๆ เป็นสารที่แมลงและปลวกไม่ชอบ ทำให้ไม้สักที่นำไปใช้ต่อเรือหรือทำเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ปลอดภัยจากปลวกและแมลง และยังมีอายุคงทนยาวนาน
คุณสมบัติพิเศษของไม้สักดังกล่าว ทำให้มีความต้องการนำไม้สักไปใช้แทนไม้โอ๊กและไม้ไพน์ในอุตสาหกรรมต่อเรือที่เฟื่องฟูมากในยุคล่าอาณานิคม โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักคือผู้ปกครองจากรัฐต่างๆ ในอินเดีย ยุโรป และกลุ่มพ่อค้ารายใหญ่และรายย่อยอื่นๆ
ความต้องการไม้สักที่สูงมาก ทำให้พวกเขาถึงขั้นออกกฎไม่ให้ชาวพื้นเมืองที่อยู่ภายใต้อาณานิคมใช้ไม้สัก กอปรกับก่อนหน้านี้มีรายงานว่าอังกฤษไม่อนุญาตให้ตัดไม้โอ๊กมาใช้ต่อเรือ เพราะต้องการอนุรักษ์ป่าไม้โอ๊ก
ถ้าเราค้นดูรูปถ่ายเก่าๆ ที่ถ่ายโดยนายห้างฝรั่งค้าไม้ในยุคอาณานิคม จะพบว่าส่วนใหญ่เล่าเรื่องราวการลำเลียงไม้สักออกมาจากป่าในดินแดนแถบนี้เพื่อส่งออกไปขายยังยุโรป อย่างภาพถ่ายโบราณจากกล้องรุ่น Kodak Autographic Model B ของ เพอร์ซิวาล มาร์แชล (Percival Marshall) ผู้จัดการบริษัทบอมเบย์เบอร์มา ประจำสาขาแม่ที่พม่า ช่วงทศวรรษ 2460 บันทึกภาพบรรยากาศช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นเวลาที่ฝรั่งนายห้างป่าไม้เข้าป่า เพื่อดูแลการชักลากซุงจากภูเขาสูง และเตรียมการล่องซุงในช่วงฤดูน้ำหลาก
ในช่วงนี้มีการตั้งแคมป์คนงานทำไม้ ช้างนับร้อยเชือกของบริษัทถูกจัดวางให้ทำงานในตำแหน่งยุทธศาสตร์ต่างๆ ในป่า เมื่อช้างลากไม้มาเรียงไว้บริเวณริมแม่น้ำหรือลำห้วยแล้ว นายห้างป่าไม้จะดูแลตีตราทำเครื่องไม้ซุงแต่ละท่อนให้เรียบร้อย แล้วรอให้ฝนเทกระหน่ำลงมาจนน้ำป่าไหลบ่าเอ่อล้นลงมาตามแม่น้ำลำห้วย จากนั้นก็จะปล่อยให้ท่อนซุงไหลไปตามกระแสน้ำ มีรายงานว่าช้างของบอมเบย์เบอร์มาทั้งสาขาแม่ในพม่าและเครือข่ายในหัวเมืองล้านนามีไม่ต่ำกว่า 3,000 เชือกที่ใช้ปฏิบัติงานงัด ลาก ดัน ดึง ให้ท่อนซุงลอยไปตามลำน้ำได้อย่างสะดวก
เมื่อลำเลียงออกมาจากป่า และส่งออก นำไปแปรรูปต่อ เราไม่ค่อยได้เห็นภาพต่อจากนั้นสักเท่าไหร่ อย่างเช่นว่าการตลาดเป็นอย่างไรบ้าง อย่างที่เข้าใจกันว่าหลักๆ ส่งไปขายในต่างประเทศเพื่อเอาไปต่อเรือ แต่จริงๆ แล้วบอมเบย์เบอร์มาได้แปรรูปไม้สักและขายเป็นสินค้าให้กับชาวพื้นเมืองแถบนี้ด้วย
บอมเบย์เบอร์มาสาขาแม่ที่เมืองย่างกุ้งปล่อยโฆษณาชิ้นหนึ่งออกมาใน พ.ศ. 2479 ว่า เอาไม้สักมาทำเป็นเตียงนอนสำหรับหนุ่มโสด ทำนองว่าถ้านอนเตียงของบอมเบย์เบอร์มาแล้วจะมีโชคมีลาภ แม้ว่าไม่มีคู่นอนก็ไม่เป็นไร นอนหลับได้สบาย ฟินเหมือนกัน ซื้อเตียงไม้บอมเบย์เบอร์มาไปนอนเลย รับรองฝันดี โดยเตียงไม้สักแบรนด์นี้นิยมทำปลายเตียงหรือหัวเตียงเป็นรูปพัดคลี่หรือพัดซี่ เรียกว่าเตียงไม้สักรูปพัด ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเตียงบอมเบย์
โฆษณาเสนอขายเตียงหนุ่มโสด ทำให้เห็นว่ากลุ่มคนโสดมีอิทธิพลต่อการเติบโตของบริษัทบอมเบย์เบอร์มาด้วย เมื่อไม่ได้มีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบเหมือนกับคนมีครอบครัว พวกเขาจึงยินดีจ่ายเพื่อตัวเองอย่างเต็มที่ แสดงศักยภาพการจับจ่ายใช้สอยที่มากมาย ไม่ต่างจากยุคปัจจุบันที่กลุ่มหนุ่มโสดมีแนวโน้มมองหาแบรนด์ที่ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์
ธุรกิจค้าไม้ในยุคอาณานิคมเติบโตเป็นอย่างมาก เกิดการขับเคี่ยวแข่งขันกันอย่างดุเดือดเข้มข้น ชนิดใครเผลอเป็นไม่ได้ แม้ว่าเป็นสายเลือดอังกฤษด้วยกันก็ตาม และเป็นที่กล่าวขวัญกันว่าบริษัทที่มีอิทธิพล มีศักยภาพ และมีความพร้อมสูงสุดในขณะนั้นคือบอมเบย์เบอร์มา
หลังสิ้นสุดยุคสัมปทานป่าไม้โดยบริษัทต่างชาติไปแล้ว คนพื้นเมืองที่อยู่ในเขตพื้นที่สัมปทานป่าไม้ของบริษัทต่างชาติแต่เดิมยังมีอาชีพทำไม้ ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้การทำไม้จากบริษัทต่างชาติทั้งหลายเป็นระยะเวลานานกว่ากึ่งศตวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดแพร่ พบว่าอาชีพหลักและวิถีชีวิตของคนจังหวัดแพร่ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับไม้สัก และเมื่อ พ.ศ. 2557 จังหวัดแพร่ได้ประกาศยุทธศาสตร์เป็น Furniture City
ข้อมูลอ้างอิง
- Bristowe W. S. (1976). Louis and the King of Siam. London: Chatto & Windus.
- Facebook : สมาคมคนแพร่
- trove.nla.gov.au/newspaper
- bbtcl.com