The Cloud x สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

ก่อนจะเล่าเรื่อง ขออนุญาตแนะนำตัวเองให้รู้จักกันหน่อย ข้าพเจ้า รองศาสตราจารย์ พรรณเพ็ญ ฉายปรีชา เรียนจบปริญญาตรี ศิลปบัณฑิต สาขาวิชาออกแบบตกแต่งภายใน จากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2507

หลังจากนั้นทำงานเป็นนักออกแบบตกแต่งภายในอยู่ 6 – 7 ปี ก็มีโอกาสเดินทางไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วง พ.ศ. 2515 – 2516 (ค.ศ. 1971 – 1973) ในสาขาวิชา Graphic Art และสาขาวิชา Industrial Art ที่ Texas A&M University เมืองคิงส์วิลล์ รัฐเท็กซัส

ย่าหน่อย พรรณเพ็ญ นักออกแบบวัย 80 ใช้เวลา 50 ปี สะสม Bolo Tie มากกว่า 200 เส้นจากทั่วโลก

หลังจากเรียนจบปริญญาโทแล้ว ก็ไปหาประสบการณ์ทำงานเป็น Interior Designer อยู่ที่เมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย อยู่พักหนึ่ง ก่อนจะเดินทางกลับเมืองไทย และเป็นอาจารย์สอนที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จนเกษียณอายุราชการ

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต และเป็นอาจารย์พิเศษให้กับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นนักออกแบบอิสระ ออกแบบตกแต่งภายในและจัดสวน

แรกรู้จักกับ Bolo Tie

ตอนนี้มาเข้าเรื่อง Bolo Tie ว่าไปรู้จักกับมันได้อย่างไร เมื่อไหร่ ทำไมมีความผูกพัน และเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตยาวนานมาจนปัจจุบันนี้

คงต้องย้อนไปตั้งแต่ ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) วันที่ข้าพเจ้าต้องเข้าเรียนวิชาบังคับของมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาทุกคนต้องเรียน แต่ไม่ได้นับคะแนนเข้าไปในหลักสูตรปริญญาโท แต่ถ้าไม่ผ่านก็ไม่จบ

นั่นคือวิชา Government เป็นวิชาที่ต้องเรียนรู้กฎหมายและประวัติศาสตร์ของรัฐเท็กซัส

พวกเรานั่งรออาจารย์ผู้สอนในห้องเรียน ทันทีที่อาจารย์เดินเข้ามาในห้อง ข้าพเจ้านึกไปถึงภาพยนตร์คาวบอย ที่ในตอนนั้นกำลังเป็นที่นิยมกันทั่วไป คอหนังจำนวนไม่น้อยชื่นชอบ รวมทั้งตัวข้าพเจ้าเองด้วย ท่านแต่งกายไม่เหมือนอาจารย์รายวิชาอื่น ๆ ที่เราเรียน สวมกางเกงยีนส์ ใส่เสื้อเชิ้ต ที่คอเสื้อเชิ้ตมีหัวหรือแป้นเป็นรูปเกือกม้า รูดติดคอเสื้อด้วยเส้นหนังถึง 2 เส้น ปลายเส้นหุ้มด้วยโลหะสีเงิน ใส่หมวกและใส่รองเท้าบูต

ท่านคือ Dr.Hoop เป็นผู้สอนวิชา Government ให้พวกเรา ดูเท่และสมาร์ทมาก ข้าพเจ้าพบกับท่านทุกอาทิตย์จนเรียนจบเทอม ภาพจำต่าง ๆ ก็ฝังอยู่ในหัว แต่ไม่เคยคิดจะเอามาใช้แต่อย่างใด เพราะตอนนั้นเราต้องสนใจกับการเรียนมากกว่า ยังต้องปรับตัวอีกเยอะแยะ

ข้าพเจ้ามีเวลาพักตอนหยุดเทอมสั้น ๆ ก็เดินทางไปตามสถานที่ต่าง ๆ ไปเห็นสิ่งที่ Dr.Hoop ใช้ผูกคอเสื้อ มีรูปแบบถูกใจก็ซื้อเก็บไว้เป็นที่ระลึก ตอนนั้นไม่รู้ว่าเขาเรียกอะไร เพราะเห็นก็ซื้อมา ไม่ได้คิดจะถาม คิดแค่ว่าเหมือนที่อาจารย์ใช้ และข้าพเจ้ามารู้จักชื่อของมันว่าคือ ‘Bolo Tie’ จาก Glenda Dawson รูมเมตชาวอเมริกันของข้าพเจ้า ในช่วงเวลา 2 ปีกว่าที่อยู่อเมริกา ข้าพเจ้าก็มีเก็บไว้ดู 6 – 7 เส้น

ย่าหน่อย พรรณเพ็ญ นักออกแบบวัย 80 ใช้เวลา 50 ปี สะสม Bolo Tie มากกว่า 200 เส้นจากทั่วโลก
Bolo Tie ชุดแรกที่มี

เริ่มต้นใช้เส้นแรก

ปลาย ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) ข้าพเจ้าเดินทางกลับเมืองไทยและเป็นอาจารย์สอนที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ข้าพเจ้าก็ลืมเรื่อง Bolo Tie ไปแล้ว เพราะต้องมีสมาธิกับหน้าที่ใหม่ จนกระทั่ง ค.ศ. 1984 (พ.ศ. 2527) ข้าพเจ้าเดินทางไปประเทศนิวซีแลนด์ และพบกับเจ้า Bolo Tie ในร้านขายของที่ระลึก แต่ที่นี่ดูแปลกตา ไม่เหมือนของอเมริกา เขาใช้เปลือกหอยเป็นหัว ใช้สัญลักษณ์ของประเทศคือ ‘นกกีวี’ บรรจุลงไปตรงกลาง สายเป็นเชือกถัก ปลายสายเป็นโลหะ ข้าพเจ้าเห็นแล้วถูกใจ เลยซื้อกลับมา 1 เส้น หลังจากท่องเที่ยวนิวซีแลนด์ทั่วเกาะเหนือ-เกาะใต้ ก็เดินทางกลับมาทำหน้าที่อาจารย์ต่อ

ปกติข้าพเจ้าเป็นคนชอบแต่งตัวสบาย ๆ ใส่เสื้อเชิ้ตเป็นส่วนใหญ่ นุ่งกระโปรง A Line และคาดเข็มขัด วันนั้นข้าพเจ้านึกถึง Bolo Tie ที่ซื้อจากนิวซีแลนด์ จึงหยิบมาลองผูกดู พิจารณาตัวเองในกระจก รู้สึกว่าดูเรียบร้อยและทะมัดทะแมงขึ้น เลยผูกไปมหาวิทยาลัย นับเป็นเส้นแรกที่ข้าพเจ้าใช้

วันนั้นทั้งวัน ข้าพเจ้ารู้สึกทำอะไรได้คล่องตัว จะก้ม จะเงย ไม่ต้องระมัดระวังตัว เพราะกลายเป็นว่าเจ้าเครื่องประดับผูกคอเส้นนี้ ทำหน้าที่พิทักษ์ความไม่เรียบร้อยตอนเผลอตัวก้ม ๆ เงย ๆ ได้ด้วย

ย่าหน่อย พรรณเพ็ญ นักออกแบบวัย 80 ใช้เวลา 50 ปี สะสม Bolo Tie มากกว่า 200 เส้นจากทั่วโลก
Bolo Tie เส้นแรกที่ใช้

หลังจากนั้น ข้าพเจ้าไปค้น Bolo Tie ที่ซื้อจากอเมริกา 6 – 7 เส้นนั้นมาร่วมใช้ด้วย คราวนี้ผูกไปทุกวันเมื่อใส่เสื้อเชิ้ต จนเป็นที่สังเกตของเพื่อน ๆ อาจารย์และเจ้าหน้าที่ในคณะ ก็มาชื่นชมถามไถ่ว่า ผูกอะไรมาน่ะ ดูเท่และน่ารักดีนะ คราวนี้ข้าพเจ้าบอกชื่อได้เต็มปากว่ามันคือ Bolo Tie

เวลาผ่านไป ข้าพเจ้าก็เริ่มมีเพิ่มขึ้น จากที่พบและซื้อเอง จากเพื่อน ๆ อาจารย์ และญาติมิตรที่รักทั้งหลาย ไปไหนมาไหนก็ซื้อมาฝาก เครื่องประดับชนิดนี้เริ่มสร้างตัวตนให้ข้าพเจ้าโดยไม่รู้ตัว

ข้าพเจ้าใช้เพราะสบายใจ คล่องตัว และคุ้นชิน เหมือนนาฬิกาหรือมือถือ ไม่เคยคิดว่าเป็นค่านิยมหรือแฟชั่นใด ๆ ทั้งสิ้น คนอื่นมองว่าเป็นสไตล์การแต่งกายของอาจารย์พรรณเพ็ญไปแล้ว วันไหนไม่ได้ผูกไป จะมีคนทักว่าลืมอะไรหรือเปล่า เหมือนเห็นข้าพเจ้า ก็ต้องเห็น Bolo Tie

วันหนึ่งมีการประชุมสภาคณาจารย์ที่หอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัย คณาจารย์ทั้งหมดแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ต้องไปร่วมประชุม ข้าพเจ้าไปถึงก็เดินเข้าไปนั่งในแถวที่ยังว่างอยู่ แถวหน้าข้าพเจ้ามีทั้งอาจารย์และเจ้าหน้าที่ ผู้เข้าร่วมประชุมก็ทยอยกันเดินเข้ามา

ข้าพเจ้าได้ยินเสียงกลุ่มคนแถวหน้าพูดดังจนได้ยินชัดเจน เขาพูดว่า “ดูนั่นสิ ๆ” แล้วชี้ไปยังเพื่อนเขาที่กำลังเดินเข้ามาทางด้านหน้าหอประชุม “วันนี้แต่งตัวสไตล์อาจารย์พรรณเพ็ญเลย”

ข้าพเจ้าได้ยินก็ขำ ๆ เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าอาจารย์พรรณเพ็ญนั่งอยู่ข้างหลังพวกท่านนั่นแหละ

ย่าหน่อย พรรณเพ็ญ นักออกแบบวัย 80 ใช้เวลา 50 ปี สะสม Bolo Tie มากกว่า 200 เส้นจากทั่วโลก

ข้าพเจ้าคิดว่าตอนนั้นคงมีเพื่อน ๆ คณาจารย์ ตลอดจนญาติพี่น้องหลายคนที่มองภาพแบบนี้เหมือนกัน เพราะตอนนั้น Bolo Tie ทยอยเดินทางเข้ามาในคลังของข้าพเจ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ นับร้อยเส้น จากซื้อเองบ้าง จากน้ำใจของญาติสนิทมิตรสหายทั้งหลายที่ซื้อมาฝากจากการเดินทางไปทุกหนทุกแห่งบ้าง จนมีคำพูดที่มักพูดกันว่า ไปไหนมาไหนซื้อของฝากอาจารย์พรรณเพ็ญง่ายนิดเดียว แค่ Bolo Tie ก็ถูกใจแล้ว ไม่ต้องคิดเยอะ

แต่มีเรื่องเน้นย้ำถึงผู้คนที่มองข้าพเจ้า มีเพื่อนอาจารย์ 2 ท่าน เดินทางไปฝรั่งเศส พอกลับมา ทั้งสองก็ซื้อ Bolo Tie มาฝาก แต่มีท่านหนึ่งซื้อมา 3 เส้น แล้วให้ข้าพเจ้า 2 เส้น บอกอีกเส้นจะเอาไปฝากอาจารย์ผู้หญิงอีก 1 ท่าน 2 วันผ่านไป เพื่อนอาจารย์ท่านนั้นก็กลับมาหาข้าพเจ้า แล้วส่ง Bolo Tie เส้นนั้นมาให้ข้าพเจ้า ว่าเขามาคิดดูแล้ว ไม่น่าจะมีใครผูกได้เหมาะกับบุคลิกเท่าเรา

เป็นที่สังเกตและจดจำ

คนทั่วไปมีความคิดเห็นต่อข้าพเจ้าแบบนี้ก็ดูปกติ แต่คนที่ความจำเสื่อมแล้ว และคนที่ข้าพเจ้าไม่รู้จัก ยังจำหรือรู้จักข้าพเจ้าได้ด้วยเครื่องแต่งกายชนิดนี้ ครั้งหนึ่งมีเพื่อนอาจารย์ป่วยหนักอยู่ที่จังหวัดเชียงราย อาการป่วยครั้งนี้กระทบกระเทือนจนความจำแทบเลือนหายไปเกือบหมด พูดคุยไม่ได้เหมือนก่อน ข้าพเจ้าและเพื่อนอาจารย์อีก 2 คน บินขึ้นไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลจังหวัดเชียงราย

ทันทีที่เขาเห็นพวกเรา แววตามีแววดีใจอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็พูดกับพวกเราไม่ได้ เพื่อนข้าพเจ้าคนแรกก็เข้าไปทักทาย และถามว่าจำได้หรือเปล่า อาจารย์ที่ป่วยก็พยักหน้าว่าจำได้ พวกเราก็ลุ้นว่า ถ้าจำได้ก็ต้องบอกชื่อได้สิ จากนั้นประมาณ 2 นาที ก็พูดชื่อเพื่อนอาจารย์ท่านแรกออกมาได้ ต่อไปก็อาจารย์ท่านที่ 2 คราวนี้ใช้เวลา 3 นาที ก็พูดชื่อออกมาได้

คราวนี้ถึงตาข้าพเจ้าบ้าง ก็ลุ้นว่าจำได้ไหม เขาพยักหน้าตอบรับทุกที แต่พูดชื่อออกมาไม่ได้ ได้แต่ชี้ที่เครื่องประดับตรงคอเสื้อของข้าพเจ้า 2 – 3 ครั้ง พวกเราก็แน่ใจว่าจำข้าพเจ้าได้ ภรรยาท่านก็เลยเอ่ยชื่อข้าพเจ้าว่า …ใช่ไหม? เท่านั้นแหละ ท่านก็พูดโพล่งชื่อข้าพเจ้าออกมาได้

นี่ก็คืออิทธิพลจาก Bolo Tie ของข้าพเจ้า ที่แม้กระทั่งผู้ป่วยความจำเสื่อมยังจำได้

ย่าหน่อย พรรณเพ็ญ นักออกแบบวัย 80 ใช้เวลา 50 ปี สะสม Bolo Tie มากกว่า 200 เส้นจากทั่วโลก

ขอแถมอีกนิดหนึ่งในเรื่องตัวตน เมื่อหลายปีมาแล้ว ข้าพเจ้านั่งทานข้าวในร้านอาหารที่สยามสแควร์คนเดียว ระหว่างกำลังก้มหน้าตักอาหาร ก็รู้สึกว่ามีคนมองอยู่ พอเงยหน้ามาก็พบหญิงสาวคนหนึ่งนั่งอยู่ที่โต๊ะอาหารไม่ไกลจากข้าพเจ้านัก พอสบตากัน ผู้หญิงคนนั้นก็ยกมือไหว้ข้าพเจ้า

“อาจารย์พรรณเพ็ญใช่ไหมคะ” เธอถาม

ตอนนั้นก็งง ๆ และนึกว่าอาจเป็นลูกศิษย์จากสถาบันไหนสักแห่ง แต่คงไม่ใช่มหาวิทยาลัยศิลปากรเพราะไม่คุ้นหน้า เธอเดินมานั่งที่โต๊ะข้าพเจ้าแล้วถามว่า

“อาจารย์เขียนหนังสือเรื่องการจัดสวนใช่ไหมคะ” ข้าพเจ้าก็ตอบว่า “ใช่” แล้วย้อนถามไปว่า “ทำไมรู้จักล่ะ” เธอบอกว่า “ในหนังสือมีรูปอาจารย์” ข้าพเจ้าก็ถามกลับไปว่า “รูปเล็กนิดเดียว แล้วพอมาเจอตัวจริงทำไมถึงรู้ว่าใช่”

“เพราะในรูปอาจารย์ก็แต่งตัวแบบนี้ คงจะมีไม่กี่คนที่ผูก Bolo Tie หนูเห็นอาจารย์แล้วมั่นใจว่าต้องใช่ก็เลยทัก แต่ถ้าไม่ใช่ก็เตรียมหน้าแตกเหมือนกัน” เธอตอบ จากนั้นก็แนะนำตัว

“เป็นสถาปนิก จบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระหว่างที่ออกมาทำงาน หนูได้ใช้หนังสือการจัดสวนของอาจารย์มาช่วยในการทำงานเยอะเลย ดีใจมากที่วันนี้ได้มาพบกับอาจารย์”

นี่เป็นอีกบทบาทหนึ่งของเครื่องแต่งกายคู่ใจที่ช่วยแสดงตัวตนของข้าพเจ้า

ตอนนี้ข้าพเจ้าก็มีร่วม 100 เส้นแล้ว

กลับไปอเมริกาอีกครั้ง

หลังจากที่ข้าพเจ้ากลับมาเมืองไทยได้ 18 ปี ก็กลับไปอเมริกาอีกครั้ง เพื่อหาข้อมูลเขียนหนังสือเกี่ยวกับการแต่งสวน คิดว่าจะอยู่ประมาณ 1 เดือน จึงแวะพักไปเรื่อย ๆ เพื่อถ่ายรูปและเยี่ยมเยือนเพื่อน ๆ บ้าง เริ่มจากนิวยอร์ก มาฮิวสตัน เท็กซัส และไปยัง California Valley จุดสุดท้ายคือเมืองอนาไฮม์ ตามคำขอของ Prof.Schick และ Mrs.Majories ว่า ถ้าข้าพเจ้ามีโอกาสกลับไปที่อเมริกาอีก ขอให้พวกเขาเป็นเจ้าภาพดูแลข้าพเจ้าบ้าง เพราะในช่วงที่ท่านทั้งสองได้ทุนไปสอบที่คณะมัณฑนศิลป์ 1 เทอม ข้าพเจ้าก็เป็นคนหนึ่งที่ช่วยดูแลท่านด้วยเหมือนกัน ท่านประทับใจ จึงขอให้มาหาท่านทั้งสองด้วย

ย่าหน่อย พรรณเพ็ญ นักออกแบบวัย 80 ใช้เวลา 50 ปี สะสม Bolo Tie มากกว่า 200 เส้นจากทั่วโลก

ท่านทั้งสองพร้อมด้วยลูกชาย Robert มารอรับข้าพเจ้าที่สถานีรถประจำทาง มื้อเย็น Mrs.Majories บอกว่าจะทำแฮมเบอร์เกอร์ให้ทาน ข้าพเจ้านึกว่าต้องทานแฮมเบอร์เกอร์อีกแล้วเหรอ แต่ไม่คาดคิดว่าแฮมเบอร์เกอร์ที่ได้ทาน จะอร่อยที่สุดในชีวิตที่เคยทานมาเลย เป็นฝีมือบ้าน ๆ ที่สุดยอดจริง ๆ

ข้าพเจ้าพักอยู่ที่นี่ 4 – 5 วัน ก่อนจะเดินทางกลับเมืองไทย ข้าพเจ้ามีความสุข สนุกสนานมาก และประทับใจมาก จนวันรุ่งขึ้นที่จะต้องเดินทางกลับเมืองไทย Mrs.Majories ก็ถามข้าพเจ้าว่า

“พรุ่งนี้จะกลับแล้ว จะไปซื้ออะไรบ้างไหม” ข้าพเจ้าก็ตอบว่า “ไม่รู้จะซื้ออะไรหรอก เพราะก็ซื้อมาเยอะแล้ว แต่ถ้าสนใจก็มีอีกอย่างคือ Bolo Tie” เธอจึงพาไปที่ร้าน Western Wear ที่นั่นข้าพเจ้าเห็น มันวางอยู่ในตู้ประมาณ 30 เส้น ข้าพเจ้าค่อย ๆ เลือกลงมาได้ทั้งหมด 8 เส้น แต่ราคาก็ไม่เบานัก จึงตัดใจซื้อไว้เพียง 4 เส้น เดินดูอะไรต่ออีกเล็กน้อย แล้วก็กลับบ้าน

เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากทานอาหารเช้า ข้าพเจ้านั่งรอญาติผู้น้องมารับ Prof.Schick ก็นำ Bolo Tie เส้นหนึ่งมามอบให้เป็นที่ระลึก เป็นของคุณพ่อที่ให้ท่านมา และเห็นข้าพเจ้าชอบใช้ก็เลยนำมามอบให้ วัสดุที่ใช้เป็นลูกปัดอย่างที่ชนเผ่าอินเดียนแดงชอบใช้กัน

บันทึก ย่าหน่อย พรรณเพ็ญ นักสะสมรุ่นเก๋า เล่าเรื่องความรัก ความผูกพันของ Bolo Tie ที่เก็บสะสมมาตลอดชีวิต
บันทึก ย่าหน่อย พรรณเพ็ญ นักสะสมรุ่นเก๋า เล่าเรื่องความรัก ความผูกพันของ Bolo Tie ที่เก็บสะสมมาตลอดชีวิต
ของขวัญชิ้นพิเศษจาก Prof.Schick

ข้าพเจ้ารับมาด้วยความเต็มใจ และ Mrs.Majories ก็นำกล่องของขวัญมาให้อีกกล่อง ข้าพเจ้าขอบคุณและบอกเธอว่า ขอเปิดดูเลยได้ไหม เธอพยักหน้า แต่พอเปิดดู ความซาบซึ้งใจเพิ่มขึ้นอีกเป็นทวีคูณ เพราะของขวัญในกล่องก็คือ Bolo Tie อีก 4 เส้นที่ตัดใจไม่ซื้อมาเมื่อวานนี้ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ ความจริงใจ ความละเอียดอ่อน และน้ำใจที่เธอมีต่อข้าพเจ้า

ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่ไม่อาจลืมได้เลย

บันทึก ย่าหน่อย พรรณเพ็ญ นักสะสมรุ่นเก๋า เล่าเรื่องความรัก ความผูกพันของ Bolo Tie ที่เก็บสะสมมาตลอดชีวิต
4 เส้นที่ข้าพเจ้าซื้อไว้เอง (ซ้าย) 4 เส้นที่ข้าพเจ้าตัดใจไม่ซื้อ (ขวา)

กลับจากอเมริกาคราวนั้น ข้าพเจ้ายังเดินทางกลับไปอีกเป็นระยะ ๆ ประมาณ 4 – 5 ครั้ง เครื่องแต่งกายคู่ใจก็มีเพิ่มในคลังกว่า 100 เส้นแล้ว แต่คนที่ทำให้ข้าพเจ้ามีมากถึง 200 กว่าเส้น คือเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่อยู่ในก๊วนเดียวกันสมัยเรียนอยู่ที่อเมริกา หลังจากที่เขาจบปริญญาโท ก็ตั้งบริษัททำธุรกิจอยู่ที่นั่น มาถึงบัดนี้ก็ร่วม 50 ปีแล้ว เมื่ออยู่ไกลบ้าน เขาก็บินกลับมาเมืองไทยปีละ 2 – 3 ครั้ง ทุกครั้งที่บินกลับมาก็จะซื้อมาฝาก ครั้งละ 10 เส้นบ้าง 15 เส้นบ้าง บางครั้งร่วม 20 เส้น จนข้าพเจ้าต้องขอให้มาเยี่ยมทักทายเฉย ๆ ไม่ต้องซื้อมาฝากแล้ว แค่นี้ก็เยอะจนต้องซื้อตู้แขวนอีก 2 – 3 ตู้เสียแล้ว

เพื่อนข้าพเจ้าบอกว่า เขาเองก็ชอบเหมือนกัน แต่ไม่เคยคิดจะใช้ พอเห็นเพื่อนชอบใช้ก็เลยอยากซื้อมาฝาก เป็นความสุขและสนุกดี โดยเฉพาะบางครั้งก็ประมูลมา และบางส่วนก็เป็นของออริจินัลด้วย

Bolo Tie ในมุมของนักออกแบบ

ข้าพเจ้ามาพิจารณา Bolo Tie กว่า 200 เส้นที่มีรูปแบบที่แตกต่าง แทบไม่เหมือนกันเลย ถึงแม้มีแนวความคิดจากสิ่งเดียวกัน แต่พอลงรายละเอียดในการออกแบบก็แตกต่างกันไป

ข้าพเจ้าจึงลองแบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ และคงไม่พูดถึงความเป็นมาของเครื่องประดับชนิดนี้ เพราะท่านอาจหาดูได้จากวิกิพีเดีย แต่ขอมองและวิเคราะห์ในฐานะนักออกแบบ

กลุ่มแรกและกลุ่มที่ 2 เกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงกัน ในกลุ่มแรกมาจากอารยธรรมและวัฒนธรรมของชนเผ่า วิถีชีวิต ประเพณี ความเชื่อ และสิ่งต่าง ๆ ที่มีความสำคัญกับชีวิต มักเป็นคน สัตว์ อาวุธ การแต่งกาย และสัญลักษณ์สำคัญ วัตถุต่าง ๆ ที่นำมาใช้ก็เป็นของในพื้นถิ่น ในกลุ่มนี้ของข้าพเจ้าอาจมีบางเส้นที่เป็นออริจินัลของเผ่า Navajo, Hopi หรือ Zuni ก็เป็นได้

บันทึก ย่าหน่อย พรรณเพ็ญ นักสะสมรุ่นเก๋า เล่าเรื่องความรัก ความผูกพันของ Bolo Tie ที่เก็บสะสมมาตลอดชีวิต
บันทึก ย่าหน่อย พรรณเพ็ญ นักสะสมรุ่นเก๋า เล่าเรื่องความรัก ความผูกพันของ Bolo Tie ที่เก็บสะสมมาตลอดชีวิต
ดีไซน์แบบออริจินัล

ในกลุ่มที่ 2 ยังคงมีแนวคิดการออกแบบที่เกี่ยวข้องกัน แต่วิถีชีวิตก็แตกต่าง ก้าวหน้ามากขึ้น แสดงถึงความเก่งและความสามารถของผู้คนยุคนั้น เช่น รูปคาวบอยขี่ม้าโลดโผน ภาพสัญลักษณ์ หรือเครื่องแต่งกาย เช่น หมวก รองเท้าบูต เป็นต้น

ใน 2 กลุ่มนี้ ข้าพเจ้าคิดว่าดูมีชีวิตชีวาและจิตวิญญาณมากกว่าอีก 2 กลุ่ม เพราะ 2 กลุ่มหลังนอกจากมีแนวความคิดที่เอาสัญลักษณ์สำคัญและความโดดเด่นของสถานที่มาใช้แล้ว ก็เป็นการออกแบบเป็นศิลปะสมัยใหม่ที่ดูสดใส สวยงามตามความนิยมเป็นหลัก

บันทึก ย่าหน่อย พรรณเพ็ญ นักสะสมรุ่นเก๋า เล่าเรื่องความรัก ความผูกพันของ Bolo Tie ที่เก็บสะสมมาตลอดชีวิต
ดีไซน์แบบประยุกต์ให้สมัยใหม่ขึ้น
บันทึก ย่าหน่อย พรรณเพ็ญ นักสะสมรุ่นเก๋า เล่าเรื่องความรัก ความผูกพันของ Bolo Tie ที่เก็บสะสมมาตลอดชีวิต
ความนิยม Bolo Tie ในชาติต่าง ๆ

สุดท้าย สำหรับความรักและความผูกพันที่มีต่อเครื่องประดับชนิดนี้มาตลอด 50 ปี จนถึงวันนี้ มันคือเครื่องแต่งกายชิ้นเล็ก ๆ ชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ใช้สอย มีคุณค่ามากมาย เสมือนเป็นส่วนหนึ่งในทุกช่วงชีวิตของข้าพเจ้า หลายคนอาจคิดว่า ข้าพเจ้าเป็น ‘นักสะสม Bolo Tie’ แต่ที่เป็นความจริงยิ่งกว่านั้น คือ ข้าพเจ้าสะสม ‘ความรัก ความมีน้ำใจ และความเอื้ออาทร’ ที่ญาติสนิทมิตรสหายมอบให้ข้าพเจ้า มากกว่าที่จะประเมินค่าได้

บันทึก ย่าหน่อย พรรณเพ็ญ นักสะสมรุ่นเก๋า เล่าเรื่องความรัก ความผูกพันของ Bolo Tie ที่เก็บสะสมมาตลอดชีวิต
Bolo Tie เส้นโปรด

The Cloud Golden Week คือแคมเปญสนุก ๆ ที่ทีมงานก้อนเมฆขอประกาศลาพักร้อน 1 สัปดาห์ เนื่องในโอกาสฉลอง The Cloud ครบ 5 ปี เราเลยเปิดรับวัยอิสระ อายุ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนักเขียน ช่างภาพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ เข้ามาประจำการแทนใน The Cloud Golden Week ขอเรียกว่าเป็นการรวมพลังวัยอิสระมา ‘เล่าเรื่อง’ ในฉบับของตนเองผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆ เพราะเราเชื่อว่า ‘ประสบการณ์’ ของวัยอิสระคือเรื่องราวอันมีค่า เราเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงตัวเลข ไม่ใช่ข้อจำกัดของการเรียนรู้

แคมเปญนี้เราร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้วัยอิสระกล้ากระโจนเข้าหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ออกมาพูดคุยกับเพื่อนวัยเดียวกัน พร้อมแบ่งปันเรื่องราวอันเปี่ยมด้วยคุณค่า เพื่อเติมฟืนไฟให้กาย-ใจสดใสร่าเริง

นี่เป็นครั้งแรกที่ทีมงาน The Cloud มีสมาชิกอายุรวมกันมากกว่า 1,300 ปี!

Writer

พรรณเพ็ญ ฉายปรีชา

พรรณเพ็ญ ฉายปรีชา

นักออกแบบตกแต่งภายในและจัดสวน ผู้มี Bolo Tie เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

Photographer

สาโรจน์ ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา

สาโรจน์ ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา

“หยุดเวลาไว้ในภาพใบนั้น โอบกอดวันวานไว้ในกล้องตัวเก่า โลกสุขสว่างหรือซึมเศร้า งามหรือเหงา ล้วนมีค่าเท่า ๆ กัน” เกิดมาเป็นผู้บันทึก มีโอกาสถ่ายทอดเรื่องราวมากมาย ขอบคุณทุกฉากชีวิตที่ผ่านมา แม้เพียงครั้งหนึ่งยังคิดถึงเสมอ