เบื้องหลังกำแพงหลากสีในโบโกตา

กำแพงสีเทาหม่นใกล้บ้านที่เราเห็นจนชินตา อยู่ ๆ วันนี้ก็มีภาพสีสเปรย์ของแมวสามหัวสีฟ้านอนหลับอย่างสบายอารมณ์โผล่มา หางยาวเหยียดของมันตวัดเป็นชื่อในภาษาสเปนขนาดใหญ่จนเต็มพื้นที่ กลิ่นสีที่ถูกใช้พ่นยังคงฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ เราหยุดมองดูภาพด้วยความสนใจ จนกระทั่งหันไปสบตากับเด็กผู้หญิงวัยรุ่นที่นั่งหลบมุมสูบบุหรี่อยู่ไม่ไกลจากตรงนั้น เธอพยักหน้าทักทายพร้อมส่งยิ้มให้อย่างเป็นมิตร มือและกางเกงยีนส์ของเธอมีร่องรอยสีสเปรย์ติดอยู่เล็กน้อย

เรายิ้มและพยักหน้าตอบกลับให้เธอ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราเห็นภาพแมวสามหัวสีฟ้าตัวนี้บนกำแพงในโบโกตา แต่เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นเจ้าของผลงานชิ้นนี้ ผมสีฟ้าของเธอดูโดดเด่นติดตาไม่แพ้เจ้าแมวเหมียวสามหัวบนกำแพงนั่นเลย

โคลอมเบีย, กราฟฟิตี้

©proyecto mARTadero via Flickr

 

“โบโกตาคือเมืองมักกะฮ์ของศิลปินกราฟฟิตี้”

เราได้ยินและเห็นประโยคนี้ผ่านตาซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งจากโปสเตอร์ในร้านกาแฟ จากนิตยสารกราฟฟิตี้จากบนกำแพง จากกลุ่มคนยืนถือกระป๋องสเปรย์ริมถนนที่ไปพบปะพูดคุยกันโดยบังเอิญในโบโกตา หรือแม้แต่จากเพื่อนชาวโคลอมเบียที่ทำงานประจำเป็นคุณหมอรักษาคนไข้ในโรงพยาบาล และมีงานอดิเรกเป็นการพ่นสีบนกำแพงในวันหยุด ก็มักจะพูดประโยคนี้ติดปากทุกครั้งที่มีโอกาสได้คุยกันเรื่องกราฟฟิตี้

ก่อนหน้าที่จะเดินทางมาถึงโบโกตา เราไม่ได้มีความสนใจในศิลปะแขนงนี้เป็นพิเศษ แต่การใช้ชีวิตอยู่ในโบโกตาดูจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมองข้ามกำแพงหลากสีที่อยู่รอบตัวแทบจะตลอดเวลา สุดท้ายเราก็อดไม่ได้ที่จะถามถึงที่มาที่ไปของมันเมื่อมีโอกาส

โบโกตาเป็นบ้านหลังใหญ่ของศิลปินกราฟฟิตี้ที่ยังมีผลงานอยู่เรื่อย ๆ กว่า 8,000 คน เด็กผู้หญิงผมสีฟ้าที่เพิ่งเจอกันก็คงเป็นหนึ่งในนั้น เมืองหลวงของประเทศโคลอมเบียแห่งนี้อาจจะเคยมี ‘ชื่อเสีย’ หลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องยาเสพติด แต่ในช่วง 6 – 7 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในสิ่งที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกให้หลั่งไหลมายังโบโกตาไม่ใช่โคเคน หากเป็นศิลปะนอกกรอบอย่าง ‘กราฟฟิตี้’ หรือการพ่นสีขีดเขียนกำแพงที่กระจายอยู่ทั่วเมืองและทัศนคติที่น่าสนใจของโบโตกาที่มีต่อลายเส้นเหล่านี้

โคลอมเบีย, กราฟฟิตี้

       ©Juan Cristobal Zulueta via Flickr

 

กราฟฟิตี้…ศิลปะหรืออาชญกรรม

เดิมกราฟฟิตี้ในสายตาของโบโกตาเป็นเพียงสิ่งสกปรกที่ทำให้กำแพงแปดเปื้อน ซึ่งไม่ต่างอะไรกับนิยามของกราฟฟิตี้ในอีกหลายประเทศ การสร้างงานประเภทนี้จึงต้องลักลอบทำกันในตอนกลางคืน และหากโดนจับได้ก็ไม่พ้นโดนรุมทำร้าย โดนตั้งข้อหาทำลายทรัพย์สินและมีโทษจำคุก

จนกระทั่งในใน ค.ศ. 2011 ดิเอโก เฟลิเป เบเซร์รา (Diego Felipe Becerra) เด็กชายอายุ 16 ปีพร้อมเพื่อนอีก 2 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับได้ในขณะที่กำลังพ่นสีเป็นภาพลายเซ็นประจำตัวหรือแท็ก (Tag) บนกำแพงข้างถนนใต้ทางยกระดับในโบโกตา ดิเอโกพยายามวิ่งหนีเมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ถูกยิงเสียชีวิตก่อนที่จะหนีรอดไปได้

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ให้การว่าดิเอโกมีปืนและขู่จะยิง ทางตำรวจจึงยิงก่อนเพื่อป้องกันตัว แต่เพื่อนของดิเอโกที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งสองคนบอกว่าเขามีเพียงกระป๋องสีสเปรย์อยู่ในมือเท่านั้น ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจให้การเพิ่มเติมว่าก่อนหน้านี้ได้รับรายงานเรื่องดิเอโกและเพื่อนๆ ไปปล้นคนขับรถประจำทางด้วยการใช้ปืนจ่อขมับคนขับเพื่อข่มขู่แล้วหลบหนีไป เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตามมาเจอเด็กกลุ่มนี้จึงเข้าใจว่าดิเอโกมีอาวุธปืน และเมื่อมีการขัดขืนจึงจำเป็นต้องยิงเพื่อป้องกันตัว

แม้ผลชันสูตรที่ออกมาจะชัดเจนว่าดิเอโกถูกยิงจากด้านหลังในระยะใกล้ และมือของเขามีเพียงรอยเปื้อนของสีสเปรย์ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของเพื่อนๆ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจนายนั้นก็ได้รับการปล่อยตัว

โคลอมเบีย, กราฟฟิตี้ โคลอมเบีย, กราฟฟิตี้

©Matt Lemmon via Flickr

ผลการตัดสินคดีนี้เป็นเหตุให้เกิดการประท้วงอย่างรุนแรงในโบโกตา ถึงการกระทำอันเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐและพฤติกรรมที่ช่วยกันปกปิดความผิด แม้กระทั่งองค์กรสิทธิมนุษยชนของโคลอมเบียก็ออกมาร่วมเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ดิเอโกโดยการส่งจดหมายเปิดผนึกลงหนังสือพิมพ์ในประเทศ

ที่สุดแล้วจึงมีการรื้อคดีขึ้นมาสอบสวนใหม่ ด้วยแรงกดดันของสังคมและด้วยพยานหลักฐานทั้งหมด จึงมีการตัดสินลงโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำผิดให้จำคุกเป็นเวลาประมาณ 30 ปี แต่เมื่อตำรวจนำกำลังไปจับผู้กระทำผิดที่บ้าน ก็พบว่าได้หลบหนีไปแล้วและไม่มีใครรู้เบาะแสอีกเลย

โคลอมเบีย, กราฟฟิตี้

©McKay Savage via Flickr

โคลอมเบีย, กราฟฟิตี้

©poirpom via Flickr

โศกนาฏกรรมของดิเอโกและการประท้วงทำให้กราฟฟิตี้ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปและผู้มีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะ กัสตาโว เปโตร (Gustavo Petro) ผู้ว่าราชการโบโกตาในขณะนั้น ที่ดำเนินการแก้ไขข้อกฎหมายว่าด้วยการควบคุมกราฟฟิตี้ในโบโกตา โดยจัดกราฟฟิตี้ให้เป็นศิลปะสมัยใหม่รูปแบบหนึ่งและจัดให้เป็นกลุ่มวัฒนธรรมย่อย ทั้งยังอนุญาตให้ศิลปินกราฟฟิตี้สามารถสร้างผลงานได้ตามความเหมาะสม ยกเว้นสถานที่ราชการและอนุสาวรีย์ต่างๆ สำหรับอาคารและสิ่งก่อสร้างส่วนบุคคลหากศิลปินได้รับการยินยอมจากเจ้าของหรือได้รับการว่าจ้างอย่างถูกต้องก็สามารถทำได้ พูดง่ายๆ ว่ากราฟฟิตี้กลายเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำโดยพลการแต่ไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป

โคลอมเบีย, กราฟฟิตี้

นอกเหนือไปจากนั้น รัฐบาลยังทุ่มงบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อว่าจ้างศิลปินกราฟฟิตี้ที่มีชื่อเสียงในโบโกตา ให้สร้างผลงานบนกำแพงตึกหลายแห่งที่ตั้งอยู่ในย่านใจกลางเมืองเก่า เพื่อเป็นการประกาศการสนับสนุนกราฟฟิตี้ของทางภาครัฐอีกด้วย

และเมื่อกราฟฟิตี้ไม่ถูกจัดว่าเป็น ‘อาชญากรรม’ อย่างในอดีต หากมีการละเมิดจึงมีเพียงโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาทและให้ทำความสะอาดพื้นที่จนกลับไปเหมือนสภาพเดิมเท่านั้น แน่นอนว่ากฎหมายนี้ยังคงมีช่องโหว่เพราะ ‘ความเหมาะสม’ ที่ว่ายังคงกำกวม แต่บทลงโทษที่เบาลงก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของวงการกราฟฟิตี้ในโบโกตา

โคลอมเบีย, กราฟฟิตี้

©young shanahan via Flickr

 

ใส่กรอบให้ศิลปะนอกกรอบ

ท่าทีโอนอ่อนของรัฐบาลทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลาย ไม่เพียงแต่ในหมู่คนทั่วไปเท่านั้้น แม้แต่ในกลุ่มศิลปินกราฟฟิตี้ด้วยกันเองก็ยังไม่เห็นตรงกันซะทั้งหมด ดีเจลู (DJ Lu) ศิลปินกราฟฟิตี้ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางคนหนึ่งของโบโกตา มองว่าหมากตานี้ของรัฐบาลคือการให้อิสรภาพและในขณะเดียวกันก็ทำการควบคุมไปด้วย โดยอย่างน้อยรัฐบาลจะสามารถกำหนดได้ว่ากราฟฟิตี้ควรและไม่ควรอยู่ตรงไหน ซึ่งวิธีนี้น่าจะเป็นวิธีรับมือที่ดีที่สุดแล้วเพราะเห็นได้ชัดว่าการห้ามไม่ให้มีเลยเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ (The Culturetrip, April 2017)

ทั้งนี้ งานกราฟฟิตี้นั้นมีหลากหลายสไตล์ ซึ่งงานที่คนทั่วไปชอบมักจะเป็นภาพสีบนกำแพงที่เน้นความสวยงาม ในขณะที่งานกราฟฟิตี้ประเภทแท็ก (Tag) หรือลายเซ็นประจำตัว นามแฝง ชื่อกลุ่มแก๊ง หรือข้อความต่างๆ ที่มีเพียงตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ ยังคงถูกมองว่ามีความก้ำกึ่งระหว่างการสร้างศิลปะกับการทำลายทรัพย์สิน ด้วยเหตุนี้เจ้าของกิจการร้านค้าส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะว่าจ้างศิลปินให้ทำกราฟฟิตี้ประเภทสวยงามบนกำแพงของตัวเอง มากกว่าจะปล่อยให้เป็นกำแพงว่างเปล่าและโดนใช้สีสเปรย์พ่นเป็นลายเซ็นหรือนามแฝงจนดูเลอะเทอะ

โคลอมเบีย, กราฟฟิตี้

©Ashley Bayles via Flickr

โคลอมเบีย, กราฟฟิตี้

© Pedro Szekely via Flickr

ขณะเดียวกันก็มีศิลปินกราฟฟิตี้บางส่วนที่มองว่าหัวใจของกราฟฟิตี้คือการปลดปล่อยความรู้สึกโดยไม่อยู่ภายใต้กรอบใดๆ เหนือสิ่งอื่นใดมันคือการท้าทายอำนาจและกฎเกณฑ์ข้อบังคับเพื่อแสดงความเป็นตัวตนของผู้สร้างผลงาน ศิลปินกราฟฟิตี้ที่ได้รับการยกย่องและยอมรับคือคนที่สร้างผลงานที่ดีที่สุดในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยากที่สุด หากศิลปินทุกคนยืนพ่นสีบนกำแพงได้โดยไม่มีเงื่อนไขเหล่านี้มาเป็นตัวควบคุม ถึงผลงานจะสมบูรณ์แบบสักเท่าไหร่ แต่สำหรับหลายคนแล้วงานประเภทนี้ถือว่าขาดจิตวิญญาณที่แท้จริงของกราฟฟิตี้

ถึงแม้จะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ในความเป็นจริงก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้วัฒนธรรมกราฟฟิตี้ในโบโกตามีการเติบโตและหลากหลายมากขึ้น เพราะเมื่อศิลปินไม่ต้องทำงานภายใต้ความกดดันและความกลัว ผลลัพธ์ที่ได้นอกจากจะทำให้กราฟฟิตี้ในโบโกตามีรายละเอียดและมีขนาดใหญ่กว่ากราฟฟิตี้ของที่อื่นๆ แล้ว มันยังบอกเล่าเรื่องราวและสื่อความหมายได้ลึกซึ้งมากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่องานกราฟฟิตี้ส่วนใหญ่ในโบโกตามักเกี่ยวข้องกับสภาพสังคม การเมือง เศรษฐกิจ การเรียกร้องสิทธิมนุษยชน การเรียกร้องสิทธิสตรีหรือสิทธิของชาวเผ่าพื้นเมืองและสันติภาพ

โคลอมเบีย, กราฟฟิตี้

©Peter Chovanec via Flickr

โคลอมเบีย, กราฟฟิตี้

 

จัสติน บีเบอร์ กับการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียม

ใช่แล้วค่ะ อ่านไม่ผิดแน่ๆ ในช่วงปี ค.ศ. 2013 กราฟฟิตี้กลายเป็นประเด็นใหญ่ในโบโกตาขึ้นมาอีกครั้ง และคราวนี้แทบจะเรียกได้ว่ากลายเป็นข่าวไปทั่วโลก เมื่อ จัสติน บีเบอร์ (Justin Bieber) นักร้องชาวแคนาดา มาทัวร์คอนเสิร์ตในทวีปอเมริกาใต้ หลังเล่นคอนเสิร์ตที่โบโกตาเสร็จก็มีภาพวิดีโอของนักร้องชื่อดังออกไปยืนถือกระป๋องสเปรย์พ่นสีบนกำแพงข้างถนนระหว่างทางไปสนามบิน ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดต้องห้ามไม่ให้มีกราฟฟิตี้ แล้วยังบังเอิญใกล้กับจุดที่ดิเอโกโดนตำรวจยิงเสียชีวิต ในคืนนั้นนอกจากจะไม่มีใครห้ามปรามแล้ว ทางการยังได้จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจไปปิดถนนเพื่ออำนวยความสะดวกและคอยคุ้มกันนักร้องชื่อดัง ทั้งยังมีการจัดเตรียมสีสเปรย์มาให้เป็นอย่างดี และก่อนที่จัสติน บีเบอร์ จะออกเดินทางออกนอกประเทศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของโคลอมเบียได้กล่าวทางสื่อวิทยุว่า “เมื่อมีคนมีคนสร้างกราฟฟิตี้บนกำแพง แสดงว่าเขาต้องการสื่อสารอะไรบางอย่างกับเรา และเราจะต้องฟัง” (The Washington Post, Nov 2013)

เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวจากกลุ่มศิลปินกราฟฟิตี้ไม่เพียงแต่ในโบโกตาเท่านั้น แต่รวมถึงในเมืองคาลี (Cali) และเมืองเมเดยิน (Medeliin)  ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่อันดับสองและสามรองจากโบโกตาของโคลอมเบีย โดยหลังจากที่จัสติน บีเบอร์ เดินทางกลับไป สุดสัปดาห์นั้นในโบโกตามีศิลปินกว่า 300 ชีวิตออกมารวมตัวกันสร้างผลงานกราฟฟิตี้บนถนนที่เกิดเหตุสายเดียวกันเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เมื่อถูกตำรวจเข้าห้ามปราม กลุ่มนักกราฟฟิตี้ก็อ้างถึงสิ่งที่ผู้บัญชาการตำรวจพูด และตั้งคำถามกับตำรวจว่า “เพราะอะไรตำรวจถึงปกป้องจัสติน บีเบอร์ แต่ไม่ปกป้องพวกเขา” (The Washington Post, Nov 2013)

เช้าวันต่อมาภาพธงชาติแคนาดาที่มีใบกัญชาอยู่ตรงกลางแทนใบเมเปิลของจัสติน บีเบอร์ ก็ถูกปกคลุมด้วยงานกราฟฟิตี้หลายร้อยชุด ซึ่งหากใครมีโอกาสเดินทางไปหรือกลับระหว่างตัวเมืองโบโกตาและสนามบิน จะสามารถเห็นงานกราฟฟิตี้เหล่านี้เรียงรายต่อกันบนกำแพงริมถนนไปตลอดเส้นทาง

โคลอมเบีย, กราฟฟิตี้ โคลอมเบีย, กราฟฟิตี้

©Brocco via Flickr

 

กราฟฟิตี้กับโบโกตาในปัจจุบัน

ชื่อเสียงของการเปิดรับวัฒนธรรมกราฟฟิตี้ในโบโกตาเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มศิลปินกราฟฟิตี้จากทั่วโลก นักกราฟฟิตี้หลายคนเดินทางมาโบโกตาและใช้เวลาอยู่ที่นี่เป็นสัปดาห์ไปจนถึงหลายปี ทั้งเพื่อเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ในการสร้างงานกราฟฟิตี้ของตัวเองและเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคมกราฟฟิตี้ของเมืองหลวงแห่งนี้

และเมื่อกราฟฟิตี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นโบโกตาอย่างแยกไม่ออก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีธุรกิจหลากหลายประเภทที่เกี่ยวข้องกับกราฟฟิตี้เกิดขึ้นในโบโกตา ทั้งบริษัทโฆษณาที่รับออกแบบงานสไตล์กราฟฟิตี้ บริษัทผลิตสินค้า เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า รวมถึงโรงเรียนสอนเทคนิคการทำกราฟฟิตี้พื้นฐานที่ได้รับความสนใจทั้งจากคนในท้องถิ่นและชาวต่างชาติ ฯลฯ และกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือการทัวร์กราฟฟิตี้ไม่ว่าจะด้วยการเดินหรือปั่นจักรยานก็ตาม ซึ่งกลุ่มคนที่นำทัวร์ก็เป็นเหล่าศิลปินกราฟฟิตี้ในท้องถิ่นที่หมุนเวียนแลกเปลี่ยนกันไป

นอกจากนี้ การกระจายตัวของงานกราฟฟิตี้ที่มีชื่อเสียงในจุดต่างๆ ของเมือง ทำให้พื้นที่หลายแห่งกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากพื้นที่เปลี่ยวและเป็นแหล่งซ่องสุมของมิจฉาชีพ ก็กลายเป็นจุดคึกคักเพราะมีนักท่องเที่ยวเข้าออกเพื่อชมผลงานเหล่านี้ จึงนำไปสู่การกระจายรายได้ของเจ้าของกิจการใหญ่น้อยในพื้นที่นั้นๆ อีกด้วย

โคลอมเบีย, กราฟฟิตี้

©proyecto mARTadero via Flickr

2 วันหลังจากนั้นเจ้าแมวสามหัวสีฟ้าบนกำแพงถูกทาทับด้วยสีขาวจนแทบไม่เห็นร่องรอยเดิม กลิ่นของสีใหม่ยังคละคลุ้งอยู่ในอากาศไม่ต่างกับวันก่อน เราอดไม่ได้ที่จะมองหาเด็กผู้หญิงผมสีฟ้าคนนั้น แต่ก็ไม่มีวี่แววของเธออีก… จนถึงวันนี้เราก็ได้หวังว่าเมื่อมีโอกาสกลับไปโบโกตาอีกในอนาคต แมวสีฟ้าสามหัวตัวนั้นจะได้กลับมาอยู่บนกำแพงอีกครั้งอย่างสง่างาม