Before the Sunset

แสงอาทิตย์ที่สะท้อนบนผิวน้ำ เรายกมือขึ้นป้อง ขยับนิ้วให้ห่างจากกัน พอให้แสงระยิบระยับเล็ดลอดผ่านเข้ามาได้เสมือนกำลังสวมเครื่องประดับจากธรรมชาติ ความรู้สึกผ่อนคลายอย่างน่าประหลาดผุดขึ้นในใจ ระหว่างที่เรานั่งเล่นฆ่าเวลาอยู่ในร้าน ‘Baik Baik’ ที่เป็นภาษาบาฮาซา แปลว่า สบายๆ

แต่นี่ไม่ใช่การรีวิวร้านอาหาร เรามาที่นี่เพราะภายในร้านแห่งนี้เป็นที่ตั้งของแกลเลอรี่ที่มีชื่อว่า ‘โพธิสัตวา’ ก่อตั้งโดย โอ๊ต มณเฑียร นักเขียน ศิลปิน อาจารย์ ผู้ให้คำแนะนำและที่ปรึกษาด้านพิพิธภัณฑ์ โอ๊ตสวมหมวกหลายใบ ในครั้งนี้เขารับบทเป็นภัณฑารักษ์ คัดเลือกผลงานศิลปะของศิลปิน อร ทองไทย มาจัดแสดงในนิทรรศการ ‘The Pockets Full of Rainbows’

เยี่ยม 'โพธิสัตวา' แกลเลอรี่ LGBTQ+ แห่งแรกของเมืองไทย ของโอ๊ต มณเฑียร ที่ยืนหยัดเพื่อศิลปินเพศสภาพหลากหลาย

เราตื่นเต้นเล็กน้อย ขณะก้าวเดินเข้าไปในด้านใน กระทั่งพบกับกลุ่มคนบางส่วนที่จะมาชมงานศิลปะรอบเดียวกัน แต่ละรอบทางแกลเลอรี่จะจัดนำชมไม่เกิน 10 คน ตามมาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานการณ์โควิด-19 ในกลุ่มของเรา บางคนเป็นลูกศิษย์ของโอ๊ต บางคนเป็นนักเรียกร้องสิทธิชื่อดังที่เราคุ้นหน้า

ก่อนเข้าไปในแกลเลอรี่ เรามองเห็นรูปปั้นพระอวโลกิเตศวร ด้านข้างมีกล่องชาสีรุ้งของ Monsoon Tea ตั้งไว้เคียงกัน เป็นการจับคู่ที่เควียร์ดีแท้

The Pockets Full of Rainbows

แกลเลอรี่แห่งนั้นมีขนาดเล็ก โอ๊ต มณเฑียร แต่งหญิงมารับแขกเหรื่อในชุดสีชมพูดสดใส ใส่วิกผมสีบลอนด์ขาว บนเปลือกตาเคลือบสีน้ำเงินปนม่วงอมเขียวเหมือนปีกแมลงทับ แพรวพราวไปด้วยกากเพชร น้ำเสียงของโอ๊ตสดใสราวกับหญิงสาวผู้มีความสุข จนอยากจะหยิบยื่นความสุขนั้นแจกจ่ายให้กับทุกคนที่พบเจอ เราเดาว่า คุณอร ทองไทย คือผู้หญิงมาดเท่ที่ปรากฏตัวข้างๆ กับโอ๊ต เราไม่เคยเจอศิลปินมาก่อน เพียงแต่เห็นภาพของศิลปินในโพสต์ทางเฟซบุ๊ก เธอเอามือทั้งสองข้างล้วงกระเป๋า เราแอบคาดว่าจะมีสายรุ้งออกมาจากกระเป๋ากางเกงของเธอ

ไม่นานนัก เจ้าของแกลเลอรี่ก็เริ่มแนะนำพื้นที่นี้เป็นเบื้องต้น “แกลเลอรี่นี้ตั้งชื่อตามพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ เป็นพระพุทธเจ้าแห่งความเมตตา หรือที่คนไทยจะคุ้นกันในชื่อเจ้าแม่กวนอิม แต่อันที่จริงท่านไม่ได้มีเพศสภาพใดๆ” โอ๊ตเล่า 

“ดังนั้น ท่านจึงเป็นแรงบันดาลใจแรกเริ่มของที่นี่ คือการทำงานด้วยความเมตตา และขบถต่อกรอบของเพศสภาพแบบชายหญิง เราตั้งใจเป็นพื้นที่สำหรับนำเสนอศิลปินที่มีเพศสภาพที่หลากหลาย เป็นชาว LGBTQ+ จากแทบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะ”

ระหว่างนั้น สายตาของเราก็กวาดไปอ่านคำบรรยายภาษาอังกฤษที่แปะหราอยู่ในนิทรรศการ สะดุดตากับคำว่า Lesbian Artist ต้องยอมรับว่า เรายังไม่เคยเจอนิทรรศการที่ระบุ ‘เพศสภาพ’ ของศิลปินชัดเจนเท่านี้มาก่อน โดยเฉพาะศิลปินเลสเบียนในประเทศไทย เราชื่นชมกับความกล้าหาญพร้อมกับเงยหน้าขึ้นมองศิลปินอีกครั้ง และมองผลงานที่แขวนอยู่บนผนัง ถ้าไม่บอกเราก็ไม่รู้

และการบอกในครั้งนี้ เมื่อเรารู้ มันสะท้อนหรือกระตุ้นให้เราตั้งคำถามกับตัวศิลปินหรือไม่

“นิทรรศการนี้ชื่อ Pockets Full of Rainbows เป็นโชว์ที่เราและพี่อรช่วยกันเลือกภาพพิมพ์เทคนิคต่างๆ ที่เธอทดลองสร้างสรรค์ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา โดยงานภาพพิมพ์ทุกๆ ชุดที่เลือกมาล้วนแสดงถึงความสร้างสรรค์เชิงทดลองของพี่อร เราว่ามันคืออีกหนึ่งเอกลักษณ์ของชาว LGBTQ+ คือเรามักจะทลายเพดาน หรือทำงานที่ตั้งคำถามกับขอบเขตความปกติ นอกจากนี้ เมื่อนำงานเหล่านี้มาเรียงกัน จะเห็นว่าศิลปินมีการอ้างอิงถึงเรื่องเพศสภาพที่หลากหลายและความสัมพันธ์มาตลอดด้วย”

กลุ่มคนเริ่มขยับไปตามจุดต่างๆ เพื่อดูงานแต่ละชิ้นภายในภายในห้องจัดแสดง อีกทั้งสแกน QR Code เพื่อฟังเสียงบรรยายประกอบชิ้นงาน เราอาศัยจังหวะนี้ เข้าไปกล่าวทักทายกับศิลปิน พอดีว่าเราทั้งสองคนกำลังยืนอยู่ใกล้กับผลงานชิ้นเล็กที่แขวนอยู่ตรงบานประตู ‘a magic door to go anywhere’ เราจึงเอื้อมมือไปเปิดประตู คิดว่าอาจจะเจองานศิลปะอีกสักชิ้นรออยู่ แต่กลับพบต้นไม้และเศษใบไม้น้ำตาลปะปนเกลื่อนพื้น

ศิลปินหัวเราะบอกกับเราว่า “มันไม่มีอะไรหรอก” นำมาซึ่งเสียงหัวเราะของเรา และทลายกำแพงที่กั้นระหว่างกลางลงไป เราชวนคุณอร ทองไทย พูดคุยเกี่ยวกับการร่วมงานในครั้งนี้ ซึ่งจากนี้เราขออนุญาตเรียกศิลปินว่า พี่อร ตามโอ๊ตด้วยอีกคน

เยี่ยมแกลเลอรี่ LGBTQ+ แห่งแรกของเมืองไทย ของโอ๊ต มณเฑียร ที่ยืนหยัดเพื่อศิลปินเพศสภาพหลากหลาย

เธอออกตัวว่าเป็น Painter จึงมีความคิดแบบจิตรกรที่ลงมาคลุกคลีกับการทำเทคนิคภาพพิมพ์ โดยที่ผ่านมา พี่อรทำงานหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเซรามิก ศิลปะจัดวาง (Installation) สื่อผสม (Mixed Media) รวมถึงงานเพนต์ที่เธอถนัด ส่วนงานภาพพิมพ์นั้นเธอมักร่วมงานกับสตูดิโอชั้นนำของเมืองไทย อย่าง witti.studio, The Archivists, JoJo Gobe, หรือ C.A.P. Studio เป็นต้น

ในห้องนั้นมีงานสายชิ้นที่น่าสนใจ ขอเริ่มจากชิ้นที่สร้างขึ้นเพื่องานนี้โดยเฉพาะ เป็นภาพพิมพ์เทคนิค Risograph จาก witi.studio ภาพดอกไม้สีทองและดอกไม้สีส้ม โอนเอียงแนบอิงบนกระดาษสีชมพู ลายเส้นง่ายๆ ที่เหมือนเป็นลายเซ็นประจำตัวของศิลปิน กับการใช้สีเพียงสองสีที่ทำให้รู้สึกเป็นส่วนตัวและใกล้ชิด ทำให้เราเชื่อมโยงภาพนี้ถึงความสัมพันธ์หรือความผูกพันของผู้หญิงสองคน ซึ่งถูกแทนด้วยสัญลักษณ์ของดอกไม้ที่เปราะบางและงดงาม

งานนี้ทำให้เรานึกถึงผลงาน Medallion (YouWe), 1936 ของ GLUCK ศิลปินเลสเบียนชาวอังกฤษ เป็นภาพ Double Portrait ของเธอและคนรัก หันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ต่อมาภาพดังกล่าวถูกใช้เป็นภาพหน้าปกหนังสือ The Well of Loneliness นวนิยายความรักเลสเบียนซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผลงานศิลปะของ GLUCK เป็นที่รู้จักในแง่ของการถ่ายทอดภาพของความสัมพันธ์ของเลสเบียน

เยี่ยมแกลเลอรี่ LGBTQ+ แห่งแรกของเมืองไทย ของโอ๊ต มณเฑียร ที่ยืนหยัดเพื่อศิลปินเพศสภาพหลากหลาย

ส่วนงานชุดหลักของโชว์ถูกแขวนบนผนังกว้าง เป็นผลงาน 6 ชิ้นที่มีสายรุ้งปรากฏเป็นงานศิลปะที่นำเทคนิค Etching มาใช้ ศิลปินสร้างขึ้นเมื่อช่วงปีที่แล้วร่วมกับสตูดิโอ C.A.P. ที่เชียงใหม่ ทั้งหมดดูเรียบง่าย แต่พี่อรบอกว่าบางชิ้นใช้เวลาถึง 6 เดือนในการทำกว่าจะได้ผลลัพท์ที่ดีพึงใจ 

เยื้องๆ กัน ในตู้กระจกมีผลงาน Screen print เป็นรูปหน้ายิ้มเคลือบฟอยล์แวววาวและลงสีแปดสี เรียงรายกันอยู่นับสิบชิ้น เป็นผลงานที่ทำกับสตูดิโอภาพพิมพ์ The Archivists ซึ่งพี่อรกระซิบเราว่า ทั้งตู้นี้มีเพียงใบเดียวเท่านั้นที่มี ‘ความสมบูรณ์’ ที่เหลือคือ Error Proof หรือภาพพิมพ์ที่มีตำหนิ มันยิ่งทำให้เรารู้สึกว้าวกับความพยายามที่กว่าจะได้มาซึ่งรอยยิ้มที่ดูเรียบง่ายเบื้องหน้าเรา

“ไม่ต่างอะไรกับการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพที่พึงมีของพวกเขา” เราคิดในใจ

The Missing of Hot Pink and The Magic of Turquoise

จุดที่ผู้ชมไปถ่ายรูปกันเยอะคือแบนเนอร์ขนานใหญ่ มีข้อความเขียนไว้เป็นภาษาอังกฤษแปลได้ว่า “สีแดง คือ ชีวิต, สีส้ม คือ การเยียวยา, สีเหลือง คือ แสงอาทิตย์แห่งความหวัง, สีเขียว คือ ธรรมชาติ, สีน้ำเงิน คือ การอยู่ด้วยกัน, สีม่วง คือ จิตวิญญาณ”

เยี่ยมแกลเลอรี่ LGBTQ+ แห่งแรกของเมืองไทย ของโอ๊ต มณเฑียร ที่ยืนหยัดเพื่อศิลปินเพศสภาพหลากหลาย

เป็นความหมายของแต่ละสีของธงรุ้ง ที่ออกแบบโดย กิลเบิร์ต เบเคอร์ (Gilbert Baker – Queer Rights Activist) ใน ค.ศ. 1978 แต่จริงๆ แล้วธงสีรุ้งในการประท้วงครั้งแรกมีทั้งหมด 8 แถบสี โดยมีสีชมพู (Hot Pink) ซึ่งสื่อถึงเพศวิถี และสีเทอควอยส์ (Turquoise) ซึ่งสื่อถึงเวทมนตร์ ประกอบอยู่ด้วย แต่ต่อมาด้วยเหตุผลในการผลิตธงของกลุ่ม LGBT จึงตัดทอนลดเหลือ 6 แถบสี ดังที่เห็นในปัจจุบัน

เช่นเดียวกันกับในผลงานภาพพิมพ์สายรุ้งของพี่อร สร้างขึ้นใน ค.ศ. 2020 ศิลปินไม่ได้ตั้งใจสร้างเพื่อเฉลิมฉลอง Pride Month (เดือนมิถุนายน ถือเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิของชาว LGBTQ+ทั่วโลก) แต่ โอ๊ต มณเฑียร ในฐานะภัณฑารักษ์ได้คัดเลือกมาจัดแสดงเนื่องในโอกาสดังกล่าว

มันไม่ใช่ว่าศิลปินทุกคนตื่นขึ้นมาจะทำงานศิลปะเพื่อการประท้วง แต่ถามว่า ถ้างานที่ศิลปินทำมีบางส่วนส่งเสียงในเรื่องนี้ มันก็กำลังเล่าเรื่องเดียวกัน เราก็น่าจะผลักดันงานนั้นให้เข้าร่วมกับบริบทของสังคมได้ เพราะเราเชื่อว่าพลังของศิลปะสามารถเปลี่ยนชีวิต ทำให้ชีวิตดีขึ้น ทำให้มนุษย์มีความเมตตาและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น ในความแตกแยกที่เรากำลังเผชิญอยู่”

นอกจากในส่วนของห้องจัดแสดงของศิลปิน อร ทองไทย แล้ว โอ๊ตยังพาเราไปชมสตูดิโอของเขาเองด้วย

ในสตูดิโอนั้นมีงานภาพเขียนสีพาสเทลจากนิทรรศการที่แล้วของเขาที่ชื่อ ‘Songprapha: Reclining Queer Nudes’ ซึ่งเป็นโชว์แรกของโพธิสัตวาแขวนอยู่ งานชุดนั้นของโอ๊ตเป็นภาพนู้ดแนวนอนของเกย์ไทย 22 คน แต่ละคนเป็นตัวแทนของไพ่ทาโรต์แต่ละใบ เขาบอกว่าห้องสตูดิโอที่เรายินอยู่นั้นก็คือห้องที่นายแบบมาเปลือยกายเพื่อสร้างงานชุดนี้นั่นเอง “ติดกับสตูดิโอนี้มีระเบียงที่เป็นโซนดูดวงด้วยนะครับ เพื่อใครสนใจ” บรรยากาศที่ยั่วยวนและน่าหลงใหลของสตูดิโอโอ๊ต ทำให้เรารู้สึกว่าเขาได้เติมสีชมพูและสีเทอควอยส์ เพิ่มไปในสีรุ้งที่เราในแกลเลอรี่อย่างงดงาม

เยี่ยม โพธิสัตวา แกลเลอรี่ LGBTQ+ แห่งแรกของเมืองไทย ของโอ๊ต มณเฑียร ที่ยืนหยัดเพื่อศิลปินเพศสภาพหลากหลาย
เยี่ยม โพธิสัตวา แกลเลอรี่ LGBTQ+ แห่งแรกของเมืองไทย ของโอ๊ต มณเฑียร ที่ยืนหยัดเพื่อศิลปินเพศสภาพหลากหลาย

After the Sunset

ก่อนจบการนำชมรอบสุดท้าย โอ๊ตพาพวกเราเข้าไปในห้องที่แต่เดิมเคยเป็นห้องคาราโอเกะของร้านอาหาร ตอนนี้ถูกเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่จัดโชว์ โอ๊ตบอกว่าจะร้องเพลงให้ทุกคนได้ฟังกัน โจนัส คนรักของโอ๊ต นั่งประจำที่ เขาเริ่มพรมนิ้วลงบนเปียโน บทเพลง Body and Soul ถูกบรรเลงขึ้นเพื่อเป็นการขอบคุณแขกรื่อที่มา “ขอมอบให้นักสู้ ที่สู้เพื่อสิทธิของเราทุกๆคน แต่อย่าลืมดูแลหัวใจตัวเองด้วย แวะมาให้เราเลี้ยงไวน์บ้างนะคะ” 

เยี่ยม โพธิสัตวา แกลเลอรี่ LGBTQ+ แห่งแรกของเมืองไทย ของโอ๊ต มณเฑียร ที่ยืนหยัดเพื่อศิลปินเพศสภาพหลากหลาย
เยี่ยม โพธิสัตวา แกลเลอรี่ LGBTQ+ แห่งแรกของเมืองไทย ของโอ๊ต มณเฑียร ที่ยืนหยัดเพื่อศิลปินเพศสภาพหลากหลาย

หลังจากการแสดงจบลง และแขกรับเชิญทยอยกลับกันไปด้วยรอยยิ้ม เราได้โอกาสนั่งคุยกับโอ๊ตอีกครั้ง เมื่อเขามานั่งรับประทานดินเนอร์มื้อใหญ่จากครัวของ Baik Baik กับเราอย่างเป็นกันเอง “ถ้ามันถึงจุดหนึ่งเรามองข้ามเรื่องเพศไปเลยก็ได้ เพราะเรื่องเพศมันไม่ได้เป็น Issue ของสังคมแล้ว เพราะทุกอย่างมันเท่าเทียม แต่จนกว่าจะถึงวันนั้น ก็ต้องสู้กันไปแหละ” โอ๊ตบอกเราสลับกับเคี้ยวข้าวไปด้วย

“คำถามคือ ในสังคมไทยทำไมเรายังไม่มีพื้นที่ศิลปะ LGBTQ+ มันเป็นเรื่องที่ทรงพลังมากนะ แล้วในเมื่อเราเองก็เรียนจบมาทางด้านนี้ คือด้านหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ ทำไมเราไม่ทำเองเลยล่ะ” เขาเล่าให้เราฟังว่าตอนที่ตัดสินใจเปิดพื้นที่นี้ เขาเองก็ไม่ได้จะรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับวงการ LGBTQ+ เขาไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่นักการศึกษา ไม่ใช่ผู้ทำวิจัย โอ๊ตจึงต้องศึกษาประเด็นความหลากหลายทางเพศจากหลายด้านหลายแง่มุม

“เราเรียนรู้เกี่ยวกับชุมชน LGBTQ+ จากทั้งการเรียกร้องสิทธิทั้งในประเทศและระดับสากล และระหว่างทำโชว์นี้ก็ยังเรียนรู้อยู่ ตอนแรกที่เริ่มคิดว่า อยากโชว์ศิลปิน Lesbian ในไทย เอาจริงๆ เรานึกได้น้อยมากๆๆๆ ต้องทำการบ้านเยอะมาก เราเชิญ น้องเตย (ภาสินี ประมูลวงศ์) มาอัดเสียงพูดเรื่อง What is Lesbian Art? คืออัตลักษณ์ของงานโดยศิลปินหญิงรักหญิงมันมีจริงไหม อย่างไร หรืออย่างวันนี้ที่เรียกนักกิจกรรมมา เราถามว่ากฎหมายเท่าเทียมยื่นถึงไหนแล้ว มีอะไรที่เราช่วยได้บ้างมั้ย หรือแม้กระทั่งตอนทำนิทรรศการเรื่องเกย์ของเราเอง เรายังช็อกมากว่ามีนายแบบบางคนที่ยังต้องเจอกับ Conversation Therapy ในเมืองไทยยุคนี้

“พูดตรงๆ เลยว่าวงการ LGBTQ+ มีมากกว่าความจิกหมอนที่เราเห็นในซีรีส์วาย มันมีความเป็นคนและประเด็นอื่นๆ เยอะมาก เสียงของพวกเขาเหล่านี้ซับซ้อนและน่าสนใจ มันเปิดโลกมาก อีกฟังก์ชันของแกลเลอรี่ LGBTQ+ สำหรับเราคือการมาเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ ถ้าไม่รู้ให้ถาม แล้วถ้าคุณเป็นเกย์และคุณไม่รู้จักเลสเบี้ยน แต่คุณมาโบกธงเหมือนกัน มันก็เป็นพื้นที่ที่ทำให้เราเข้าใจกันได้ เราควรที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน สนับสนุนกันและกัน” โอ๊ตยิ้ม “We fight our own fights, but we’re fighting together.”

รู้ตัวอีกที แสงอาทิตย์ได้ดับลงไปแล้ว เมื่อกินข้าวเสร็จโอ๊ตหายตัวไปสักพัก และโผล่มาส่งเราอีกครั้งในชุดนอน วิกผมถูกทอดออกออก ใบหน้ากลับมาเป็นชายหนุ่ม แต่ยังมีสีกากเพชรคงเหลือวับแววอยู่บ้างของเปลือกตา

“อย่าลืมว่าทุกเสียงมีความหมาย และทุกคนไม่ว่าจะกำลังทำสิ่งที่เล็กน้อยหรือทุ่มเทในเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ทุกคนดีเพียงพอแล้ว มันไม่มีคำว่าเพอร์เฟกต์สำหรับทุกอย่าง เพียงได้ลงมือทำ นั่นถือว่าสำเร็จแล้ว”

โอ๊ตกล่าวลาพร้อมอวยพรให้เราโชคดี คงถึงเวลาที่เขาต้องขึ้นไปรับพลังจากแสงจันทร์ในราศีมังกร

โพธิสัตวา LGBTQ+ แกลเลอรี่

ตั้งอยู่ในร้าน Baik Baik ปากซอยสรงประภา 18 ถนนสรงประภา แขวงสีกัน เขตดอนเมือง

นิทรรศการ Pockets Full of Rainbows : Selected Prints by Orn Thongthai จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม จองรอบเข้าชมได้ที่ Facebook : Bodhisattava Lgbtq+ Gallery หรือโทรศัพท์ 06 3421 2642

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล