20 พฤศจิกายน 2021
3 K

หากพูดถึงการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เราเชื่อว่าบอคเซียเป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่ผู้คนนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ ในฐานะกีฬาความหวังเหรียญทองของประเทศ ชื่อของกีฬาบอคเซียมักมาพร้อมภาพความสำเร็จที่มีเหรียญรางวัลติดไม้ติดมือกลับบ้านเสมอ ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ภาพที่เราเห็นเป็นเพียงส่วนเดียวจากความพยายามเบื้องหลังทั้งหมด

คอลัมน์ Share Location ในครั้งนี้ จึงอยากชวนผู้อ่านร่วมเดินทางสำรวจเส้นทางที่ผ่านมาของกีฬาบอคเซีย และเป้าหมายในระดับต่อไปของพวกเขา ผ่านการเยี่ยมชมสนามฝึกซ้อมแห่งใหม่ ที่ถูกวางไว้เป็นส่วนหนึ่งใน Road Map สู่ความสำเร็จ

Boccia Field Training Center สนามฝึกบอคเซีย ที่ออกแบบเพื่อนักกีฬาพาราลิมปิกไทย

Boccia

กีฬาบอคเซียมีจุดเริ่มต้นจากกีฬาในสมัยกรีกโบราณ มีระบบการเล่นคล้ายเปตอง โดยแข่งขันผ่านการโยนลูกบอลให้เข้าใกล้กับบอลที่เป็นเป้าหมายให้ได้มากที่สุด ด้วยลักษณะการเล่นที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมานี้ ทำให้บอคเซียได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นกีฬาที่เปิดโอกาสให้ผู้พิการทางสมองใช้เป็นกิจกรรมผ่อนคลาย ฝึกฝนร่างกาย สมาธิ และได้มีส่วนร่วมกับโลกของการกีฬาในที่สุด โดยนิยมเล่นอย่างแพร่หลายในสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ก่อนจะถูกบรรจุในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1984 

“เราเริ่มเล่นหลังเขาสามสิบปี”

คุณอนุสรณ์ พิมงา เลขาธิการสมาคมกีฬาคนพิการทางสมองแห่งประเทศไทย เกริ่นถึงก้าวแรกของกีฬาบอคเซียในประเทศไทย ที่เริ่มเล่นหลังจากเจ้าตำรับ

“แต่คุณเชื่อมั้ยว่าหลังจากที่เราล้มเหลวมาสองสามครั้ง ความล้มเหลวมันจุดประกายให้เรามุ่งมั่นที่จะเอาชนะเขา ในกีฬาที่ไม่ปะทะ ไม่ต้องต่อสู้เรื่องสภาพร่างกาย มีแต่ความพิการที่สู้กันให้ได้ในคลาสนั้นๆ”

Boccia Field Training Center สนามฝึกบอคเซีย ที่ออกแบบเพื่อนักกีฬาพาราลิมปิกไทย

และวันเวลาก็พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า ความสำเร็จไม่เคยเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับใจซึ่งไม่ย่อท้อต่อข้อจำกัด ด้วยรางวัลเจ้าเหรียญทองประเภททีม 3 สมัยซ้อน และเหรียญทองประเภทบุคคลอีกหลายรายการในการแข่งระดับ World Class

แต่สิ่งที่ยากกว่าการประสบความสำเร็จ คือการยืนระยะรักษาความสำเร็จนั้น

“เราจะไม่ยอมให้ขาดรอยต่อของเจนเนอเรชัน เพราะฉะนั้น เราต้องหาเงินมาเพื่อสร้างเจนเนอเรชันต่อไปให้ได้”

ถึงจะได้รางวัลระดับโลกมาครองในหลายประเภทการแข่งขัน แต่สมาคมกีฬาคนพิการทางสมองก็ยังไม่หยุดพัฒนาปัจจัยต่างๆ เพื่อผลักดันทีมกีฬาบอคเซียไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง แม้มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ เวลา และการหานักกีฬา แต่ความพยายามกับความมุ่งมั่นก็ทำให้เกิดสนามฝึกซ้อม Boccia Training Center ได้ภายในต้น พ.ศ. 2564 ผ่านความร่วมมือของผู้คนในหลายภาคส่วนจากกระบวนการ CSR และได้รับการสนันสนุนจากบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน)

การสร้างสนามฝึกซ้อม Boccia Training Center ครั้งนี้ จึงไม่ใช่เพียงแค่การสร้างอาคาร แต่เป็นการสร้างประวัติศาสตร์

Boccia Field Training Center สนามฝึกบอคเซีย ที่ออกแบบเพื่อนักกีฬาพาราลิมปิกไทย
ภาพ : ©Yamastudio

Special Spatial Requirements

“อาจจะเป็นกีฬาเดียวมั้งที่ผมเล่นได้ เพราะกีฬานี้เกณฑ์ความพิการค่อนข้างเฉพาะ เลยหานักกีฬายาก ไม่เหมือน Wheelchair Racing หรือว่ายน้ำ ที่พิการจากอุบัติเหตุก็เล่นได้”

รวุฒิ แสงอำภา และ วัชรพล วงษา สองนักกีฬาบอคเซียทีมชาติไทยที่ใช้เวลากว่าสิบปี ฟันฝ่าอุปสรรคกว่าจะมาถึงวันนี้ ที่เป็นเจ้าของเหรียญทองระดับ World Class และล่าสุดกับเหรียญทองประเภททีม BC1-2 และเหรียญเงินประเภทบุคคลจากพาราลิมปิกส์เกมส์ 2020 ณ กรุงโตเกียว ทั้งคู่เล่าให้เราฟังถึงเกณฑ์การคัดเลือกนักกีฬาบอคเซีย ซึ่งจำแนกจากลักษณะความพิการทางสมอง การควบคุมความเคลื่อนไหวของร่างกาย และประเภทของการช่วยเหลือ แบ่งเป็น 4 คลาส ตั้งแต่ BC1 ถึง BC4 

BC1 สำหรับผู้เล่นที่โยนบอลได้เอง อาศัยผู้ช่วยในการปรับตำแหน่งเก้าอี้หรือคลึงบอลเท่านั้น

BC2 สำหรับผู้เล่นที่โยนบอลได้เอง โดยไม่ต้องอาศัยผู้ช่วย 

BC3 ผู้เล่นที่เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก ต้องอาศัยอุปกรณ์รางปล่อยบอลพร้อมผู้ช่วย 

BC4 ผู้เล่นที่เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก แต่ยังปล่อยบอลเองได้ ไม่ต้องอาศัยผู้ช่วยในการแข่งขัน 

ซึ่งจากการแบ่งคลาสเบื้องต้นนี้ ทำให้เราเห็นภาพข้อจำกัดในการแข่งขันกีฬาบอคเซียชัดเจนมากขึ้น ในขณะเดียวกัน เสน่ห์ของกีฬาบอคเซียในทรรศนะของวรวุฒิกลับตรงกันข้าม

“ผมว่ามันคือการที่เล่นได้ทุกเพศ ทุกวัย เล่นได้ทั้งครอบครัว เป็นกีฬาในร่มด้วยสำหรับบางคนที่ไม่ชอบออกกำลังกายข้างนอก มันช่วยฝึกสมาธิ ความแม่นยำได้”

Boccia Field Training Center สนามฝึกบอคเซีย ที่ออกแบบเพื่อนักกีฬาพาราลิมปิกไทย

นอกจากรายละเอียดของกีฬาที่เป็นความรู้ใหม่แล้ว สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของสนามฝึกซ้อม Boccia Training Center คือการออกแบบอาคารเพื่อรองรับความต้องการพิเศษ เราจึงถือโอกาสพูดคุยกับผู้ใช้งานจริงอย่างนักกีฬาทั้งสองท่าน ถึงมุมมองเกี่ยวกับอาคารต่างๆ ที่พวกเขาเคยใช้งานมาก่อนหน้านี้ โดยเริ่มจากอาคารฝึกซ้อม

“ของที่สุพรรณบุรี รวมหลายกีฬา เป็นของราชการ ทำเป็นโถงใหญ่ แต่ที่นี่เป็นดีไซน์ของเราเลย บางทีคนข้างนอกยังมายืนถ่ายรูป มันสวยดีนะ โมเดิร์นไปเลย ถ้าไม่ดูป้ายไม่รู้หรอกว่าเป็นศูนย์ฝึกกีฬา

“อาคารฝึกซ้อมหลังใหม่นี้สะดวกกว่าตึกทั่วไป มีทั้งทางลาด ลิฟต์ เพราะตึกทั่วไปไม่ค่อยมีทางลาด หรือถ้ามีก็ชัน เหมือนทำแค่ว่ามีทางลาดเฉยๆ ไม่ได้ทำเพื่อเอามาใช้จริง

“อย่าว่าแต่พวกตึกเลย อย่างรถไฟฟ้า ถึงผมไม่ค่อยได้ใช้ แต่เวลานั่งรถผ่านเราก็มองหาว่าทางลาดอยู่ตรงไหน ลิฟต์อยู่ตรงไหน ซึ่งถึงแม้จะมีแต่บางทีมันก็มีป้าย มีเสาไฟมาบัง อีกตัวอย่างคือราวกั้นไม่ให้มอเตอร์ไซค์ผ่านบนฟุตปาธ รถเข็นก็ผ่านไม่ได้เหมือนกัน ผมก็ไม่เข้าใจว่าเขาคิดยังไง

Boccia Field Training Center สนามฝึกบอคเซีย ที่ออกแบบเพื่อนักกีฬาพาราลิมปิกไทย

“อยากให้ออกแบบโดยนึกถึงวีลแชร์บ้าง อาจจะไม่ต้องทั้งหมด แค่สิ่งจำเป็น เช่น ห้องน้ำ ทางลาด ลิฟต์ เป็นปัจจัยหลักสามอย่างที่ผ่านมาผมเจอแล้วรู้สึกว่ามันลำบาก ทางลาดไม่จำเป็นต้องใหญ่ขนาดในตึกนี้ เอาแค่ขึ้นพวกด้านหน้าสำนักงานได้ก็พอ ไม่อย่างงั้นผมก็ต้องเข้าแต่ห้างอย่างเดียว”

Boccia Field Training Center สนามฝึกบอคเซีย ที่ออกแบบเพื่อนักกีฬาพาราลิมปิกไทย

จากคำบอกเล่าของวรวุฒิ เราพออนุมานได้ว่าอาคารทำหน้าที่ได้ดีในแง่การสร้างภาพลักษณ์ใหม่ที่ทันสมัย มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ มากกว่าภาพโรงยิมฝึกซ้อมที่ทุกคนคุ้นตา แต่ส่วนที่สำคัญไปมากกว่านั้นคือรายละเอียดการใช้งาน ที่หากเราใส่ใจอีกเพียงนิด ก็จะทำให้งานออกแบบเป็นได้มากกว่าคำว่างานออกแบบ แต่เป็นการออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของ ‘ทุกคน’

ซึ่งกลายเป็นอีกโจทย์ที่ถูกส่งต่อไปทางผู้ออกแบบด้วย

Perfectly Imperfect

“อาคารนี้เป็นโครงการ CSR ที่เกิดจากความร่วมมือและร่วมใจจากหลายๆ ฝ่ายมาช่วยกัน เราจึงเลือกการออกแบบที่มุ่งเน้นถึงการใช้งาน และการใช้ต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อตอบสนองการใช้งานจริง และเกิดประโยชน์ให้มากที่สุด”

ข้อจำกัดคือจุดเริ่มต้นของ เมธ-เมธพร วิสิฐพงศ์พันธ์ Senior Architect และ พีร์-สุวิจักขณ์ ยตินันท์สกุล สถาปนิกจากบริษัท pbm ผู้ออกแบบ Boccia Training Center

เริ่มจากข้อจำกัดด้านเวลาที่ได้รับบรีฟในช่วง พ.ศ. 2563 และมีกำหนดจะต้องก่อสร้างแล้วเสร็จต้น พ.ศ. 2564 โชคดีที่ทีมเจ้าของพื้นที่มอบบรีฟมาให้อย่างครบถ้วน ทีม pbm จึงขยับไปทำงานในข้อจำกัดถัดไป อย่างเรื่องการวางผังอาคารในที่ดินที่มีขนาดจำกัด เพื่อให้ได้ประโยชน์ใช้สอยสูงสุด

Boccia Field Training Center สนามฝึกบอคเซีย ที่ออกแบบเพื่อนักกีฬาพาราลิมปิกไทย

“เราเอาความต้องการเบื้องต้นมาตบเป็นแนวความคิดเพิ่มเติมในการออกแบบ โดยแนวคิดที่เราเอามาผสมผสาน คือการเคลื่อนไหวที่เกิดจากความมั่นคงและความเรียบง่าย 

“ความมั่นคงแรกคือเส้นสายของเส้นตั้ง เส้นนอนของตัวอาคาร และแนวอาคารที่มีความทอดยาว ซึ่งนำไปสู่การแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในด้วย

“ส่วนถัดมาความเรียบง่าย เกิดจากการกำหนดตัววัสดุ และรูปร่างรูปทรงเรขาคณิตมาช่วยในการออกแบบ เอามาจัดเรียงเป็นแพตเทิร์น Facade เราตีความโดยได้แรงบันดาลใจมาจากล้อของล้อวีลแชร์ เพื่อให้อาคารนี้เป็นเสมือนล้อ ที่ขับเคลื่อนนักกีฬาให้ประสบความสำเร็จ” พีร์เล่าถึงคอนเซ็ปต์เบื้องต้นที่ใช้เป็นแนวทางสำหรับการออกแบบ Boccia Training Center 

เข้าสำรวจสนามฝึกซ้อมกีฬาบอคเซียขนาด 3 ชั้น ที่ออกแบบด้วย Universal Design เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ใช้งานทุกคน
เข้าสำรวจสนามฝึกซ้อมกีฬาบอคเซียขนาด 3 ชั้น ที่ออกแบบด้วย Universal Design เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ใช้งานทุกคน
ภาพ : ©Yamastudio

พื้นที่ใช้งานภายในอาคารแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่สนามฝึกซ้อมมาตรฐานของกีฬาบอคเซีย 4 สนาม ชั้นที่ 2 เป็นพื้นที่สำนักงานของทีม เป็นชั้นลอยที่มีมุมมองเชื่อมกับพื้นที่สนามฝึกซ้อมชั้น 1 ส่วนชั้น 3 เป็นห้องพักนักกีฬาและโค้ช โดยทั้งสามชั้นถูกเชื่อมเข้าด้วยกันผ่านบันได ลิฟต์ และทางลาดที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ

ในอาคารทั่วไป ทางลาดในอัตราส่วนความสูง 1 เมตรต่อความยาว 12 เมตร อาจถูกกำหนดไว้โดยกฎหมาย แต่ทางลาด 3 ชั้นภายในอาคารแห่งนี้ สร้างเอาไว้เพื่อทลายข้อจำกัด 

“ในตอนแรก เราตั้งใจเลยที่จะออกแบบอาคารนี้ ให้มีจุดเด่นด้าน Universal Design เพราะเป็นอาคารสำหรับนักกีฬาผู้พิการ เราไม่ต้องการส่วนที่ซัพพอร์ตนักกีฬาเหล่านี้ ให้เป็นเพียงส่วนเสริมเพิ่มเติมอีกต่อไป

“เราจึงชูจุดเด่นด้วยการนำทางลาดมาไว้ในอาคาร และวางไว้ในตำแหน่งที่โดดเด่น ออกแบบสัดส่วนให้สง่างาม มีความลาดที่สะดวก และใช้งานได้แบบมีความสุข

“ทางลาดนี้ยังเป็นเหมือนสัญลักษณ์สะท้อนตัวตนของพื้นที่ที่ออกแบบมาพิเศษ ให้ทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และภูมิใจที่ได้ก้าวมาเป็นส่วนหนึ่งของอาคารนี้”

เข้าสำรวจสนามฝึกซ้อมกีฬาบอคเซียขนาด 3 ชั้น ที่ออกแบบด้วย Universal Design เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ใช้งานทุกคน

เมธเล่าให้ฟังถึงการตัดสินใจจัดพื้นที่ฝั่งซ้ายของโถงทางเข้า ให้เป็นที่ตั้งของทางลาดขนาดใหญ่เชื่อมต่อพื้นที่ชั้น 1 ไปจนถึงชั้น 3 ทำให้พื้นที่ภายในอาคารมีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ แตกต่างจากอาคารอื่นๆ อย่างชัดเจน

ในการใช้งานทั่วไป ทางลาดนี้ถูกวางไว้ให้เป็นอีกทางเลือกสำหรับการสัญจรของนักกีฬาที่ใช้รถเข็นไฟฟ้า ซึ่งใช้งานได้สะดวกกว่าลิฟต์ที่ต้องอาศัยการกลับตัวในพื้นที่แคบ ส่วนในเรื่องจิตใจ ทีมสถาปนิกตั้งใจให้ทางลาดที่ทอดยาวนี้เป็นเหมือนพื้นที่เปลี่ยนผ่านระหว่างกิจกรรม เพื่อให้นักกีฬาได้มีช่วงเวลาที่ทอดยาวมากขึ้นสำหรับปรับตัว เตรียมความพร้อมระหว่างการพักผ่อนและการฝึกซ้อม

เข้าสำรวจสนามฝึกซ้อมกีฬาบอคเซียขนาด 3 ชั้น ที่ออกแบบด้วย Universal Design เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ใช้งานทุกคน
เข้าสำรวจสนามฝึกซ้อมกีฬาบอคเซียขนาด 3 ชั้น ที่ออกแบบด้วย Universal Design เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ใช้งานทุกคน

We had made it in detail.

ถ้ามองจากภายนอก Facade อันโดดเด่นเกิดจากการประกอบกันของวัสดุอะลูมิเนียมที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริจาค โดยพวกเขาหยิบเรขาคณิตมาผสานในการออกแบบ เป็นรูปทรงสามเหลี่ยมด้านไม่เท่า ช่วยแบ่งแนวรอยต่อแผ่นอะลูมิเนียมที่หุ้มอาคารให้อยู่ในขนาดเหมาะสม และลดทอนสัดส่วนอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ เพื่อให้แต่ละด้านของอาคารมีความน่าสนใจในแบบของตัวเอง ช่วยสร้างมิติแสงเงาให้เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก เปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงเวลาของวัน เป็นความสวยงามที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์แบบ เหมือนกับกีฬาบอคเซียที่ประสบความสำเร็จจากจุดเริ่มต้นที่ไม่สมบูรณ์แบบ

“ในรายละเอียดวัสดุ แผ่นอะลูมิเนียมเจาะรูช่วยเรื่องการระบายอากาศของอาคาร เอาลมเย็นเข้ามา เอาลมร้อนออกจากอาคารได้ และจากที่เราเดินกันเมื่อกี้ ก็จะเห็นแสงที่ทอดเข้ามาในทางเดินอาคาร ช่วยสร้างมุมมองที่ดีให้กับผู้ใช้งานด้านใน และช่วยบังงานระบบ คอมเพรสเซอร์แอร์ สร้างความเป็นส่วนตัวให้กับช่องกระจกที่เป็นห้องพักด้วย”

เข้าสำรวจสนามฝึกซ้อมกีฬาบอคเซียขนาด 3 ชั้น ที่ออกแบบด้วย Universal Design เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ใช้งานทุกคน
ภาพ : ©Yamastudio

จากการเดินสำรวจตั้งแต่ชั้น 1 ถึงชั้น 3 เราพบว่าถึงแม้ผู้มาเยือนจะไม่รู้มาก่อนว่าเป็นอาคารที่ออกแบบมาเพื่อรองรับนักกีฬาคนพิการ แต่เชื่อว่าทุกคนรับรู้ได้ผ่านรายละเอียดในการออกแบบ

ย่างก้าวแรกที่เข้ามาในอาคาร โดยเฉพาะเมื่อเดินอยู่ในโถงทางเดิน เราอาจรู้สึกตัวเล็กลงบ้าง แต่นั่นไม่ใช่เพราะเราเข้าอุโมงค์ลดขนาดหรือเล่นแร่แปรธาตุแต่อย่างใด ทว่าเป็นเพราะการออกแบบให้ขนาดทางเดินกว้างมากพอที่วีลแชร์จะวิ่งสวนกันได้สบาย และมีการจัดแสงสว่างอย่างเพียงพอ เพื่อให้ทุกคนใช้งานได้อย่างสะดวกและปลอดภัย 

เข้าสำรวจสนามฝึกซ้อมกีฬาบอคเซียขนาด 3 ชั้น ที่ออกแบบด้วย Universal Design เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ใช้งานทุกคน

ห้องน้ำทุกชั้นมีราวจับพยุงติดตั้งครบครันทุกสุขภัณฑ์ พร้อมที่นั่งอาบน้ำ อีกหนึ่งสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ นอกจากนั้นยังเผื่อพื้นที่กลับตัวรัศมี 1.50 เมตรบริเวณกลางห้อง ทำให้หมุนวีลแชร์ในห้องน้ำได้สะดวก ไม่ต้องขยับเดินหน้าถอยหลังหลายครั้งเพื่อกลับตัวในการเข้าออกห้องน้ำ ส่วนการเปลี่ยนระดับและจบรอยต่อของวัสดุต่างๆ ระหว่างพื้นที่ ก็ทำอย่างเรียบร้อย ทำให้การสัญจรไม่ว่าจะ

เดินเท้าหรือรถวีลแชร์ก็ใช้งานได้อย่างไม่มีสะดุด

เข้าสำรวจสนามฝึกซ้อมกีฬาบอคเซียขนาด 3 ชั้น ที่ออกแบบด้วย Universal Design เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ใช้งานทุกคน
เข้าสำรวจสนามฝึกซ้อมกีฬาบอคเซียขนาด 3 ชั้น ที่ออกแบบด้วย Universal Design เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ใช้งานทุกคน
เข้าสำรวจสนามฝึกซ้อมกีฬาบอคเซียขนาด 3 ชั้น ที่ออกแบบด้วย Universal Design เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ใช้งานทุกคน

ห้องพักออกแบบมาสำหรับนักกีฬาและผู้ดูแล ที่ทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวก ลดภาระในการเดินทางระหว่างบ้านและสถานที่ฝึกซ้อม ซึ่งในส่วนนี้ยังคิดฟังก์ชันละเอียดไปจนถึงราวตากผ้า ที่มักเป็นปัญหาการอยู่อาศัยในหอพัก แต่สำหรับที่นี่ นักกีฬาใช้งานได้ต่อเนื่อง เพราะโซนเปียกถูกออกแบบโดยรวมห้องอาบน้ำ ส่วนซักล้าง และราวตากผ้าไว้ด้วยกัน โดยอยู่ในสองฝั่งอาคารที่แสงแดดส่องเข้ามาได้ทั่วถึง

การระบายอากาศถูกออกแบบให้ใช้ประโยชน์จากลมธรรมชาติมากที่สุด ทำให้เข้าใช้งานได้ทุกฤดูกาล ลดการพึ่งพาการใช้งานเครื่องปรับอากาศ ด้วยชุดหน้าต่างที่ติดตั้งมุ้งลวดภายในตัว ทำให้แข็งแรง ใช้งานสะดวก และดูเรียบร้อยสบายตา เป็นอีกวัสดุที่ได้รับมาจากการสนับสนุนผ่านระบบ CSR

เข้าสำรวจสนามฝึกซ้อมกีฬาบอคเซียขนาด 3 ชั้น ที่ออกแบบด้วย Universal Design เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ใช้งานทุกคน

โถงทางลาดเป็นส่วนที่เปิดโล่งเพื่อระบายอากาศ ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้ว ในพื้นที่กึ่งเปิดกึ่งปิดจะมีข้อจำกัดเรื่องการกันฝน แต่เมื่อเทียบกับการใช้งานทั้งปี การรับลมระบายอากาศได้เป็นประโยชน์มากกว่า ทีมนักออกแบบจึงวางแนวรางระบายน้ำไว้รอบๆ เพื่อรับมือกับความไม่สมบูรณ์แบบที่จะเกิดขึ้น 

“ภาพรวมเราอยากให้อาคารนี้เป็นสถานที่ที่บ่มเพาะนักกีฬา ให้ออกไปสู่สังคมได้อย่างภาคภูมิ โดยมีสถาปัตยกรรมเป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสาร เมื่อคนทั่วไปมองผ่านมา หรือมีโอกาสเข้ามาใช้งาน ก็จะได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ไปด้วย”

เข้าสำรวจสนามฝึกซ้อมกีฬาบอคเซียขนาด 3 ชั้น ที่ออกแบบด้วย Universal Design เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ใช้งานทุกคน

The winner is not just a hero.

การได้มีโอกาสมาเยี่ยมชม พูดคุยกับนักกีฬา ทีมเจ้าหน้าที่และผู้ออกแบบครั้งนี้ เราพบว่าเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ขอบเขตของนิยามคำว่าดีไซน์ที่ดีถูกขยายออกไปจากเดิม เพราะ Boccia Training Center บอกเราผ่านเรื่องราวที่มาและดีเทลต่างๆ ภายในอาคาร ว่าสำหรับงานดีไซน์ที่ดี มากกว่าความสวยงาม คือการออกแบบอย่างใส่ใจและไม่ทิ้งใครเอาไว้ข้างหลัง 

ที่แห่งนี้ไม่ใช่เพียงอาคารสำหรับฝึกซ้อม หรือเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับนักกีฬาบอคเซียเท่านั้น แต่จะเป็นพื้นที่สร้างโอกาสสำหรับทุกคน ขณะเดียวกันก็พร้อมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้วงการกีฬาผู้พิการ 

“หลายคนคิดว่าเราจะเป็นโรงซ้อม เป็นยิมธรรมดา แต่มันไม่ใช่ เราสร้างเพื่อให้เป็นศูนย์ฝึกแรกในเอเชียสำหรับกีฬาบ็อกเซีย เพื่อสร้างความสำเร็จระดับพาราลิมปิกและระดับโลก ตึกนี้เราใส่ใจรายละเอียดมาก ถกเถียงกันเรื่องความลาดชัน วัสดุทุกอย่าง 

“ตอนนี้เรามีที่อยู่อาศัยแล้ว มีข้าวมีน้ำที่ทางบุญรอดส่งมาให้ มีอาหารที่ซีพีซัพพอร์ตบางครั้ง มีเม็ดเงินจากรัฐที่เป็นค่าตอบแทน ส่วนนักกีฬา ก็ปรับให้เขาไปอยู่กับภาคเอกชน แต่ขอตัวมาตลอดทั้งปี ซึ่งกลายเป็นว่านักกีฬาที่เป็นทีมชาติทุกคนมีรายได้หมด มันเลยทำให้เขารู้สึกไม่ถูกทอดทิ้งเหมือนเมื่อก่อน เขามีงานดูแล ไม่ใช่ว่าวันนี้คุณเสร็จแล้วคุณเลิกเลย อีกสองปีมีซีเกมส์ค่อยไปเอาเขามาซ้อมใหม่ นักกีฬาเรา เลิกเล่นแล้วปรับตัวไปเป็นโค้ชหรืออาจารย์ตามโรงเรียนต่างๆ ไปสร้างแรงจูงใจ

“สิ่งเหล่านี้เรามองมันเป็นมากกว่ากีฬา เพราะการกีฬา ทำเพื่อ Goal ที่จะเป็น The Winner แต่ในไบเบิ้ลของโอลิมปิกส์ เขาเขียนไว้ว่า The winner is not just a hero. แต่ฮีโร่คือทุกคนที่เข้าร่วมโอลิมปิกส์ คือคุณต้องนับถือทุกคนที่ได้ไปแข่ง” คุณอนุสรณ์เล่าถึงก้าวต่อไปของทีมกีฬาบอคเซีย ก่อนปิดท้ายด้วยความภาคภูมิใจต่ออาคารแห่งนี้

เข้าสำรวจสนามฝึกซ้อมกีฬาบอคเซียขนาด 3 ชั้น ที่ออกแบบด้วย Universal Design เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ใช้งานทุกคน

โครงการนี้สำเร็จได้ไม่ใช่แค่เพียงเพราะงานที่เห็นเป็นรูปธรรม แต่เป็นเพราะแรงขับเคลื่อนจากผู้คนมากมายหลายภาคส่วน ที่มีฝันเดียวกันคือการสร้างอาคาร Boccia Training Center เพื่อพากีฬาบอคเซียไปสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในระดับโลก

“เพราะทุกคนที่มาช่วยกันสร้างตึกนี้มีค่าเป็นหนึ่ง แต่พอมารวมกันมันเกิดมูลค่าที่มากกว่า” 

เข้าสำรวจสนามฝึกซ้อมกีฬาบอคเซียขนาด 3 ชั้น ที่ออกแบบด้วย Universal Design เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ใช้งานทุกคน

Writer

Avatar

นิปุณ แสงอุทัยวณิชกุล

สถาปนิกที่สนใจในงานเขียน สถาปัตยกรรม ที่ว่าง เวลา และหมาฟลัฟฟี่

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล