สีบลูเข้มของอาคารหลังเล็ก ประตูไม้เจาะช่องแสงกลม วงกบโค้งเหนือประตู กรอบหน้าต่างเหลี่ยม และแผ่นเหล็กฉลุมีตัวหนังสือ bluish ดึงดูดสายตา กวักมือเรียกให้เดินเข้าไปหา เมื่อผลักประตูเข้าไปด้านใน ราวกับได้สัมผัสโลกใบเล็กที่เปี่ยมไปด้วยความสุขพร้อมแบ่งปัน ในพื้นที่ที่เธอและเขาเรียกมันว่า ‘บ้าน’ บ้านที่เป็นโฮมคาเฟ่ เป็นความฝัน และเป็น Mission ในชีวิต
“สำหรับน้ำหวาน บ้านคือความฝันค่ะ”
“ผมว่าบ้านคือ Mission มากกว่า”
แม้คำตอบอาจไปคนละทาง แต่เมื่อฟังเรื่องราวที่มาของบ้าน จึงรับรู้ได้ว่าบ้านในใจของทั้งคู่ไม่ต่างกัน เพราะเป็นผลผลิตของวันเวลา การเดินทาง ประสบการณ์ การออกไปเปิดบูทงานคราฟต์ผลงานของทั้งสองคน ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือหลายประเทศในเอเชีย อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น หรือการได้นั่งรถไฟมองทิวทัศน์และชุมชนในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย เดินตลาดในถิ่นอื่น กินอาหารไม่คุ้นลิ้น ทั้งหมดนั้นรวมอยู่และคลี่คลายกลายเป็นอาคาร 2 หลัง วางตัวอยู่ข้าง ๆ กันในแถบแม่ริม พื้นที่ที่ได้ชื่อว่าอากาศดีที่สุดของเมืองเชียงใหม่
น้ำหวาน-พุทธิมน ตันติธนานนท์ เจ้าของผลิตภัณฑ์จากผ้าธรรมชาติและสมุดทำมือแบรนด์ linnil และ เวศ-ชเวศพล บุญศิริ ศิลปินเซรามิก เจ้าของแบรนด์ 3.2.6. Studio (และเป็นดีเจเปิดแผ่นแนวเพลง City Pop) สร้าง Bluish by linnil เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของทั้งสองคน และพบว่าบ้านและโฮมคาเฟ่ของพวกเขาไม่เพียงตอบสนองในสิ่งที่อยากได้เท่านั้น แต่ยังทำให้การใช้ชีวิตลงตัวกว่าเดิม และเป็นแรงบันดาลใจให้สร้างผลงานใหม่ ๆ ตลอดเวลา
บ้านสีอ่อนกับโฮมคาเฟ่สีอินดิโก้ กลิ่นอาย Asian Mix
น้ำหวานเปิดเรื่องเล่าสนุกถึงการใช้ชีวิตอยู่หอและบ้านเช่าตลอดช่วงชีวิตก่อนมีบ้านของตัวเองว่า
“ตอนอยู่หอก็เช่าไว้ 2 ห้องค่ะ ห้องหนึ่งไว้นอน อีกห้องเอาไว้ทำงานเป็นสตูดิโอของตัวเอง พอมาเช่าบ้านในคอมมูนิตี้ที่เรียกว่า Penguin Ghetto ก็เช่าบ้าน 2 หลังค่ะ หลังหนึ่งเอาไว้อยู่และทำงาน อีกหลังเอาไว้เป็นหน้าร้าน และพี่เวศก็เปิดชั้นบนเป็นสตูดิโอสอนปั้นเซรามิก ไม่รู้ทำไมต้องมี 2 หลังเนอะ แต่คงเพราะตัวเองชอบสำรอง เลยเผื่อเอาไว้ อย่างซื้อของที่ชอบก็ซื้อ 2 อันนะคะ” น้ำหวานหัวเราะแล้วเล่าต่อ
“พอทำบ้านก็ตั้งใจเลยว่าต้องมี 2 หลัง หลังนี้เป็นบ้านที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่ส่วนตัว สงบ เงียบ และหลังนั้นสร้างขึ้นเพื่อเป็นร้าน เป็นที่ที่พร้อมเจอคน”
น้ำหวานเล่าว่า ตระเวนหาที่ดินและบ้านมือหนึ่งมือสองหลายต่อหลายแห่งก็ไม่ถูกใจ แต่แล้วจู่ ๆ แม่ของเธอก็เข้าไปดูอินเทอร์เน็ตแล้วเห็นประกาศขายที่ดินแห่งนี้ จึงส่งให้เธอดู
“ผมชอบพื้นที่แถวนี้ เพราะเคยผ่านบ่อย ๆ ทั้งตอนกลางวันและกลางคืน เวลามาหาเพื่อนซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่นี่ รู้สึกคุ้นเคย และแถวนี้เขาทำแปลงปลูกดอกไม้กัน พอตอนกลางคืนก็จะเปิดไฟให้สวนดอกไม้ เราผ่านแล้วก็ชอบ เลยตัดสินใจซื้อ”
บนที่ดิน 100 ตารางวา พี่ชายซึ่งเป็นสถาปนิกของเวศ เป็นคนวางโครงสร้างและออกแบบตามความต้องการของเจ้าของบ้านทั้งสอง โดยเลือกให้บ้านหลังใหญ่ซึ่งเป็นที่อยู่ เป็นบ้าน 2 ชั้น โถงโล่งแบบ Double Ceiling เปิดพื้นที่ให้ดูโปร่ง บันไดนำขึ้นไปสู่ชั้นสอง ซึ่งเป็นห้องนอนใหญ่และห้องนอนแขก กรุกระจกในหลายส่วนของบ้านเพื่อเชื้อเชิญให้แสงเข้าบ้าน และมีห้องครัวขนาดกว้าง ส่วนอาคารหลังสีน้ำเงินด้านหน้าสำหรับต้อนรับผู้มาเยือน เป็นอาคารชั้นเดียวขนาดย่อม แบ่งสัดส่วนด้านในเป็นโฮมคาเฟ่และช็อปที่วางสินค้าภายใต้แบรนด์ของทั้งคู่
“ทีแรกเราสองคนก็ดูแบบไม่ค่อยออกนะคะ เราปรับกันไปมา”
เวศเสริมน้ำหวาน “แต่เรามีสิ่งที่ต้องการคือ หนึ่ง เราชอบหน้าต่างที่มันหลบเข้ามาด้านใน (กรอบหน้าต่างไม่เสมอกับตัวผนังเหมือนอาคารทั่วไป) เพราะเราเลือกหลังคาบ้านที่ไม่ยื่นออกมามาก หน้าต่างอย่างนี้จะทำให้ฝนไม่สาดหรือซึมเข้ามา สิ่งที่เราบอก ส่วนใหญ่เป็นรายละเอียดที่เห็นมาจากการเดินทาง พอเราคิดว่าจะทำบ้าน ก็เริ่มดู เริ่มจดว่าชอบอะไรบ้าง อย่างหน้าต่างนี่เห็นมาจากบ้านเก่าที่ไต้หวัน หรือสีของบ้าน ตอนนั้นเราไปญี่ปุ่น นั่งรถไฟจากฮอกไกโดมาเกียวโต มันก็นานใช่ไหมครับ ไม่รู้จะทำอะไร เราก็ชวนกันดูสีของบ้าน สีบ้านกับหลังคาที่ดูเข้ากัน พอเจอสีที่ชอบก็จด ๆ ไว้ หรือถ้าเห็นกระเบื้องที่ชอบก็ถ่ายภาพไว้”
“น้ำหวานเป็นคนชอบเรื่องดีเทลค่ะ จำได้ว่าถ้ามีบ้านจะทำอย่างนี้ คืออยากให้เตาแก๊สเปิดปิดได้จากภายในบ้าน ขณะที่ตัวถังแก๊สอยู่นอกบ้าน พอแก๊สหมด คนส่งแก๊สก็ไม่ต้องเข้าบ้าน แต่เปลี่ยนถังได้จากภายนอก
“หรืออย่างตรงนี้ (ชี้ไปที่อ่างล้างมือหน้าบ้าน) พี่ชายยังถามเลยว่าได้ใช้จริง ๆ เหรอ คือกำหนดไว้ตั้งแต่แรกว่าเปิดประตูมาขอให้มีอ่างล้างมือ เพราะติดล้างมือมาตั้งแต่ก่อนโควิดแล้ว ก็บอกเขาว่าอยากได้อ่างล้างมือตรงนี้นะ ระหว่างสร้างบ้านพี่ผู้รับเหมาก็แนะนำให้เจาะช่องผนังเพื่อวางของใกล้ ๆ อ่างล้างมือ ตรงนี้คือภูมิใจที่คิดไว้แล้วได้ทำ
“เลือกหน้าต่างที่เก็บเสียงด้วย ผนังบ้านก็เป็นผนัง 2 ชั้น เพื่อให้รู้สึกว่าเรามีพื้นที่ส่วนตัวจริง ๆ”
“ส่วนผมขอห้องครัวใหญ่ ๆ ให้มีพื้นที่ทำงานได้เยอะ ทีแรกจะทำ Island แต่กลัวว่าถ้าทำออกมาแล้วผิดพลาดจะแก้ไขไม่ได้ เลยตัดสินใจใช้เป็นโต๊ะลอยตัว ยกเปลี่ยนได้”
น้ำหวานเล่าเพิ่มว่าอีกส่วนหนึ่งที่ตั้งใจเลือกมาก คือกระเบื้อง
“ไปเลือกของแม่ริม เซรามิค สตูดิโอเองเลย มีทั้งงานเก่าและที่สั่งทำ ตรงส่วนหน้าบ้านที่มีหลาย ๆ สี น้ำหวานเรียงเองทีละแผ่นเลยนะคะ”
ความโดดเด่นของบ้านหลังนี้ คงไม่พ้นเรื่องสีของโฮมคาเฟ่ Bluish เวศเล่าว่าให้น้ำหวานเป็นคนกำหนดสีหลัก ๆ ทั้งหมดของอาคารทั้งสองหลัง โดยน้ำหวานเลือกให้บ้านมีสีขาวเจือฟ้า และภายในส่วนของครัวมีสีขาวเจือน้ำตาล เลือกเฉดสีไปในโทนเดียวกันเพื่อให้รู้สึกสบาย ให้ความรู้สึกถึงการพักผ่อน
“พอโครงบ้านเสร็จ ก็เริ่มขึ้นโฮมคาเฟ่ แล้วก็ทำควบคู่กันไป แล้วตอนเลือกสีจากชาร์ตสี พอเลือกบ้านให้มีสีอ่อนไปแล้ว ก็คิดว่าหลังที่เป็นร้านขอสีเข้มสุดใจเลยแล้วกัน ก็เลือกสีนี้เลย ส่วนชื่อร้านมาทีหลัง แต่ด้วยความที่น้ำหวานชอบสีฟ้าและสีน้ำเงินอยู่แล้ว ชื่อนี้เหมาะดีค่ะ”
“เราเลือกให้ชื่อนี้ ก็เพื่อให้เชื่อมกับสิ่งที่น้ำหวานทำครับ” เวศพูดพร้อมอมยิ้มนิด ๆ ตลอดการสนทนาเรื่องบ้าน ความสุขฉายอยู่บนใบหน้าที่ไม่ค่อยแสดงความรู้สึกตามคาแรกเตอร์ของเขา ขณะที่น้ำหวานยิ้มเบิกบานเปิดเผย และเล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงแจ่มใสแทรกเสียงหัวเราะสนุก เมื่อย้อนคิดในหลาย ๆ เรื่องที่ผ่านมา
“หลายคนมาเห็นแล้วบอกบ้านน่ารักมาก หรือบางคนบอกว่าบ้านดูญี่ปุ่นจังเลย อยากบอกทุกคนว่า ไม่ใช่ญี่ปุ่นหรอกค่ะ แต่มันคือการผสมผสานอะไรต่าง ๆ ที่เราชอบ ที่ได้เห็นมาระหว่างการเดินทางของเรา เป็น Asian Mix มากกว่า และที่สำคัญคือมันลงตัวกับการใช้ชีวิตของเราสองคนมาก”
ออกแบบให้เข้ากับธรรมชาติของตัวเอง
“ไม่ได้กำหนดพื้นที่ทำงานในบ้านชัดเจน เพราะเราทำงานข้างนอก ย้อมผ้าเป็นหลัก ก็เลยลืมคิดไปว่า อาจต้องจัดส่วนอะไรแบบนี้ โซนโถงนี้เลยเป็นของน้ำหวานคนเดียวทั้งหมด ทีแรกตั้งใจให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ ทำงานได้ นั่งเล่นได้ ปาร์ตี้หรือทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ ค่ะ ตอนนี้ก็ปรับเปลี่ยนไป ยังจัดไม่ลงตัวจนถึงทุกวันนี้ ส่วนที่ทำงานของพี่เวศ ลืมคิดไปเลยค่ะ เพราะเอาดินมาปั้นในบ้านไม่ได้ใช่ไหมคะ ตอนนี้พี่เวศก็ปั้นดินตรงโต๊ะหน้าบ้านค่ะ”
“ผมไม่มีปัญหาครับ เพราะผมก็ปั้นงานชิ้นเล็ก ๆ ที่ด้านหน้าบ้าน เสร็จแล้วก็เก็บใส่กล่อง และผมมีสตูดิโออยู่อีกแห่งครับ ไม่ไกลกัน”
ด้วยความที่เจ้าของบ้านทั้งสองคนทำงานคราฟต์ พื้นที่ทำงานจึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ การเลือกวางพื้นที่อาคาร การปลูกต้นไม้ การเดินไปมาระหว่างอาคาร 2 หลังที่ลงตัว ทำให้จังหวะในการใช้ชีวิตง่ายขึ้นและเป็นตัวเองอย่างที่สุด
“ผมชอบที่ได้ทำงานใกล้บ้าน กลับไปเบรกที่บ้านแล้วกลับมาทำงานที่ร้านได้ คือที่นี่ให้ความรู้สึกครบวงจรมากขึ้น ผมทำอาหารทานเอง ยิ่งตั้งแต่โควิดแล้ว ผมก็เริ่มเข้าครัว รู้สึกว่าสิ่งที่ชอบที่สุดคือตอนอยู่ในครัว เป็นการรีแลกซ์ทุกวัน”
น้ำหวานบอกว่า การทำงานแบบที่ทำอยู่ เป็นงานที่เป็นส่วนตัว ไม่ได้พบเจอคนมาก ดังนั้นเราต้องเป็นคนกำหนด วางแผน และรู้จักตัวเองให้มาก
“เราต้องเข้าใจธรรมชาติของตัวเองว่าเราทำงานเหมาะกับอะไร อย่างไร ในพื้นที่ยังไง คือแต่ละงานก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันนะคะ แต่พอเรารู้ธรรมชาติของเรา ก็จะทำสิ่งที่ชอบได้อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง การทำงานคราฟต์ต้องพยายาม อดทน งานเราไม่มีกำหนดเวลาชัดเจน ต้องมีวินัยมาก ๆ ซึ่งก็ได้มาฝึกตอนมาอยู่บ้านหลังนี้
“ก่อนโควิด เราสองคนเดินทางบ่อยมากเพื่อไปออกบูทต่างประเทศ แทบจะเรียกได้ว่า ลงเครื่องมาแล้วจัดกระเป๋าใหม่แล้วขึ้นเครื่องไปต่อ แต่พอได้ย้ายมาอยู่บ้าน ตรงกับช่วงโควิดเริ่มระบาดพอดี เราก็ชะงักไปหมด การเดินทางหยุดหมด เราก็มาอยู่กันเงียบ ๆ ทำงาน และปรับตัวกันไปค่ะ”
“ผมทำงานเรื่อย ๆ นะครับ พยายามคิดอะไรใหม่ ๆ ทดลองทำงานใหม่ตลอด ไม่งั้นไม่สนุก”
พื้นที่บ้านที่ดูโล่งและโปร่งนั้น น้ำหวานบอกว่า ห้องเก็บของเป็นส่วนสำคัญมาก ทั้งคู่พูดตรงกันพร้อมเสียงหัวเราะว่า “อยากให้ห้องเก็บของใหญ่กว่านี้”
ทั้งคู่มีของสะสมที่วางให้เห็น ประดับอยู่ตามมุมต่าง ๆ ของบ้าน อย่างน้ำหวานสะสมแก้ว หนังสือ ผ้าต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับงาน และจิ๊กซอว์ ซึ่งเวศแซวน้ำหวานว่าอยากได้จิ๊กซอว์มากแต่ไม่อยากต่อ
“ชอบซื้อแก้วมากค่ะ และเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมากที่เด็กผู้หญิงแทบทุกคนจะเคยเห็นแม่ตัวเองสะสมแก้ว จาน ชาม แล้วก็ไม่เข้าใจ แต่พอโตมา เราก็เป็นแบบนั้นเลย”
แผ่นเสียง City Pop คือของสะสมของเวศ ต่อจากเหรียญที่เคยเป็นของสะสมสมัยเมื่อเขายังเด็ก ๆ
โฮมคาเฟ่สีบลูในเมโลดี้สดใสของ City Pop
“City Pop เป็นแนวเพลงของญี่ปุ่นยุค 80 หลังสงครามโลก และก่อนยุคฟองสบู่แตกที่ญี่ปุ่น เมื่อก่อนเรียก New Music แล้วมาเรียกทีหลังเป็น City Pop ครับ คือเป็นแนวเพลงที่ขยับจากแนวเพลงเอ็งกะหรือลูกทุ่งญี่ปุ่นมาสู่ยุคนี้ เป็นการผสมแนวเพลงตะวันตก พวก Jazz, Soul, Funk เข้าไป แต่ยังมีเมโลดี้ที่สวยงามของความเป็นญี่ปุ่น คอร์ดให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังก้าวไปข้างหน้า มีเครื่องเป่า และมีรายละเอียดดนตรีที่ซับซ้อน ส่วนในแง่ของภาษาก็เริ่มมีการใส่ภาษาอังกฤษเข้าไปในเนื้อเพลงท่อนเปิดหรือท่อนฮุก คือสะท้อนให้เห็นว่าเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังเปิดรับวัฒนธรรมทางตะวันตกเข้าไป”
แววตาของเวศเป็นประกายขณะพูดถึงแนวเพลงที่เขารักและแผ่นเสียงที่สะสม เราขยับมานั่งในโฮมคาเฟ่สีเท่ เพื่อฟังแผ่นเสียงที่เจ้าของบ้านฝ่ายชายเปิดให้เราฟัง เขาทำหน้าที่เป็นดีเจหลังไวนิลบาร์อย่างมีความสุข และชงเครื่องดื่มประจำบาร์ให้เราดื่ม
“พอเปิดโฮมคาเฟ่แรก ๆ เราก็ชวนเพื่อนสนิทมา เพื่อนบอกว่าน่าจะทำสิ่งที่เราสนุก ที่เราชอบด้วยนะ แล้วเขาก็รู้ว่าพี่เวศเป็นดีเจเปิดแผ่นเสียง สะสมแผ่นเสียง City Pop แล้วก็มีเครื่องเล่นอยู่แล้ว ก็ทำเป็นไวนิลบาร์ไปเลย” น้ำหวานเล่าถึงช่วงตัดสินใจวางแนวทางของโฮมคาเฟ่ Bluish
“นี่ก็เป็นสิ่งที่ผมเคยเห็นจากการเดินทางเหมือนกันครับ สเกลมันน่ารักดี พอทำได้ ก็เลยเปิดโฮมคาเฟ่เป็น 2 ช่วง กลางวันเป็นเครื่องดื่มโซดาไซรัปที่ผมทำเองและเบเกอรี่ที่น้ำหวานทำ ส่วนตอนค่ำ เป็นบาร์ม็อกเทลหรือค็อกเทลซึ่งมีส่วนผสมจากไซรัปที่เราทำนี่แหละครับ และมีอาหารเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยความที่เราเปิดเพลงแนว City Pop ของญี่ปุ่น อาหารที่เสิร์ฟก็จะไปในแนวทางเดียวกัน คืออิซากายะ แต่ผสมความเป็นไทย ๆ เข้าไป เช่น เนื้อย่างซอสพอนสึกับตะไคร้”
เวศอธิบายรายละเอียดของโฮมคาเฟ่และบาร์ของที่นี่ไว้ว่า แบ่งเป็น 2 ส่วน ด้านในเป็นร้านถาวร มีงานของ linnil และ 3.2.6. Studio และมีโซน Selected เพิ่มเข้ามา เช่น มุมเครื่องเขียน (อาจเพิ่มมุมหนังสือ) มีมุมแผ่นไวนิลแนวเพลง City Pop
ส่วนห้องด้านหน้าเป็นโซนชิลล์ สำหรับนั่งดื่มระหว่างช้อปปิ้ง หรือมาเพื่อดื่มอย่างเดียว
ด้านการบริการ พาร์ตกลางวันเป็นเครื่องดื่มสูตรของทางร้านและเบเกอรี่โฮมเมด เครื่องดื่มก็เป็นไซรัปทำเอง ใช้วัตถุดิบจากพื้นที่บวกกับไอเดีย เช่น ดาวเรืองเลม่อนฮันนี่ เป็นฮันนี่ที่ไม่ได้มาจากผึ้ง แต่มาจากดอกไม้ คนที่ไม่ดื่มน้ำผึ้งก็ดื่มได้
“มีกาแฟด้วยครับ เพราะน้ำหวานดื่มกาแฟ และมีเครื่องดื่มตามฤดูกาล อย่างฤดูฝนก็เป็นมะเกี๋ยงโซดาหรือมะไฟโซดา ผมเลยตั้งชื่อว่าโซดาไฟ”
“ผมเป็นคนชอบทดลองตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว ดื่มน้ำอัดลมก็ไม่ชอบดื่มแค่อย่างเดียว แต่ชอบสั่งหลาย ๆ อย่างมาผสมกัน คืออยากรู้ว่าจะเป็นยังไง ก็ลองทำ และบวกกับเราได้ไปเที่ยว ไปเห็นอะไรมากขึ้น คิดว่าทำอย่างนี้ได้เนอะ แล้วเราก็เอามาปรับใช้กับวัตถุดิบที่มีบ้านเรา ทำแล้วชิมดู ก็อร่อยดี”
ในโฮมคาเฟ่ Bluish by linnil เสิร์ฟทุกอย่างด้วยจานชามและถ้วยเซรามิกของ 3.2.6. Studio
“ชื่อร้านให้เขาไปแล้ว ภาชนะกับสูตรที่ทำต้องเป็นของผมนะ”
ที่สุดแล้วเรารู้ว่าบ้านคือความสบายใจ ปลอดภัย และคือเธอ
“บ้านนี้ให้แรงบันดาลใจมากนะคะ สำหรับน้ำหวานแล้ว ได้อะไรจากการมาอยู่บ้านนี้เยอะมากเลย ได้ปลูกต้นไม้ และได้ทดลองเอาใบไม้กิ่งไม้มาย้อมผ้า อย่างต้นเทียนกิ่งหน้าบ้านนี่ แม่ขับรถมาจากนครปฐมเอามาลงดินให้ เพื่อให้ลูกได้ใช้ย้อมผ้า”
“มะม่วงที่ปลูกนี่เราก็ได้เก็บลูกมากิน น้ำหวานก็ได้ใบไปใช้ย้อมผ้าครับ”
“อย่างตอนมาอยู่บ้าน ผมก็ทำเซรามิกชุดใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจจากบ้าน หรือมีชุดที่ได้แรงบันดาลใจมากจากธรรมชาติใกล้ ๆ ตัว อย่างรูปทรงเมล็ดพืช”
“การมีบ้านทำให้เราออกแบบชีวิตได้ง่ายขึ้น รวมถึงการหาแรงบันดาลใจ แม้กระทั่งเต่าทองที่เราเห็น มันอาจมากัดกินใบพืช แต่ก็สวยดี ลวดลายก็เอามาใช้ออกแบบได้ด้วย”
“เราเริ่มจากการออกแบบ คิดไว้ตั้งแต่แรกว่าจะให้สองสิ่งนี้ควบคู่กัน ดังนั้นพอเราได้มาอยู่ เราก็ได้บ้านและที่ทำงานอย่างที่เราคิด และอย่างในโฮมคาเฟ่ เราก็ได้ปลูกผักสวนครัว เก็บมาใช้ในเครื่องดื่ม หรือทดลองทำอะไรที่อยากทำ”
บ้านในนิยามของเขาและเธอคืออะไร
“บ้านสำหรับน้ำหวานคือ ความรู้สึกอุ่นใจ สบายใจ ไม่จำเพาะเจาะจงว่าเป็นเพียงเเต่สถานที่ อาจเป็นภาวะของความรู้สึก ได้พูดคุยกับคนที่เราไว้วางใจได้ การทำงานที่ราบรื่น สถานการณ์ที่ลงตัว”
“สำหรับผมความหมายของบ้านคือ พื้นที่ปลอดภัย ที่พักกายใจ ที่ทำงาน ที่สร้างแรงบันดาลใจ ที่ชาร์จแบตของชีวิต”
“บ้านเป็นความฝัน พอเรามีบ้านที่เป็นความฝันแล้ว เราก็ฝันต่อไปอีก ตอนนี้ความฝันคือได้ใช้ชีวิตให้มีความสุขก็ดีมากแล้ว และความสุขของน้ำหวานในช่วงนี้คือการได้ทำงาน การทำงานทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า”
แล้วความสุขของเวศล่ะ
“ผมมีความสุขทุกวันง่าย ๆ อยู่แล้ว เข้าครัวก็รีแลกซ์แล้ว ความทุกข์ของผมคือการเห็นเขาไม่มีความสุข นั่นก็อาจจะทำให้เราไม่มีพลังเหมือนกัน แต่เราไม่แสดงออก ไม่อย่างนั้นจะพากันดาวน์ ดังนั้น เราก็ควรเป็นหลักให้เขา จนเขามีความสุข จากนั้นคือเราได้ใช้ชีวิตกันต่อไป แค่นี้ผมก็มีความสุขแล้ว”