ธุรกิจ : Blue Ribbon Toys

ประเภทธุรกิจ : ผลิตและจำหน่ายของเล่นไม้

ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2532

ผู้ก่อตั้ง : สุรศักดิ์ คุณประเสริฐ

ทายาทรุ่นสอง : ปาณิศา คุณประเสริฐ

“ในสมัยก่อน นักเรียนที่ได้ที่ 1, 2, 3 เขาจะติด Blue Ribbon ให้”

“บางเกม บางกีฬาเขาก็ใช้ Blue Ribbon กับที่ 1 ซึ่งมันอยู่คู่กับเหรียญทอง”

“เราคิดว่า Blue Ribbon เป็นชื่อที่ดีนะ เป็นของเล่นที่เด็กเล่นแล้วเก่ง เล่นแล้วฉลาด”

ประโยครับส่งที่เสริมกันได้ดีราวกับออกมาจากคำพูดของคนคนเดียวนี้ คือคำตอบที่ หวาน-ปาณิศา คุณประเสริฐ และ คุณพ่อสุรศักดิ์ คุณประเสริฐ ให้กับเรา เมื่อถามถึงที่มาที่ไปของชื่อแบรนด์ Blue Ribbon Toys ที่ดำเนินธุรกิจผลิตของเล่นจากไม้ยางพารามาตั้งแต่ พ.ศ. 2532 นับรวมก็ 33 ปีพอดี

Blue Ribbon Toys ทายาทนักประดิษฐ์ของเล่นไม้ สร้างโลกที่ผู้ใหญ่และเด็กเล่นด้วยกันได้

เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ของเล่น’ การที่หลายคนมีภาพจำกับเด็ก ๆ คงไม่ใช่เรื่องแปลกนัก และคงไม่แปลกอีกเช่นกัน หากเราจะบอกว่าแรงบันดาลใจแรกของ Blue Ribbon Toys มาจากโรงเรียนอนุบาล

ย้อนกลับไปราว 30 กว่าปีก่อน คุณพ่อสุรศักดิ์เรียนจบด้านออกแบบผลิตภัณฑ์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จากนั้นเรียนต่อปริญญาโทที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และหนึ่งในโปรเจกต์ที่เขารับผิดชอบคือ ภาพถ่ายสารคดีเกี่ยวกับเด็ก ๆ ในโรงเรียนอนุบาล สำหรับคลาสเรียนถ่ายภาพ

“สังเกตเห็นว่าเด็กที่นี่ไม่เหมือนเด็กบ้านเรา ไม่เห็นเด็ก ๆ เรียนเลย วัน ๆ เอาแต่เล่นนู่นเล่นนี่ เราก็เลยทำเป็นภาพถ่ายสารคดีขึ้นมาเพื่อส่งอาจารย์ อาจารย์ก็ชอบใจ เลยซึมซับเข้ามาในหัวว่า เด็กที่นิวยอร์กไม่เรียนหนังสือ แต่เขาเล่น คำว่า ‘ของเล่น’ เลยฝังในหัวเรามาตลอด

“เราประทับใจตรงที่เขาให้ความสำคัญกับการเล่นมาก เด็กที่เล่นก็ได้เรียนรู้ อย่างสถาปนิกดัง ๆ ก็เล่นก้อนบล็อกตั้งแต่เด็ก เขาถึงมีพื้นฐานให้คิดต่อไปได้เรื่อย ๆ” คุณพ่อเฉลยข้อดีของการเล่น

หลังจากประกอบอาชีพดีไซเนอร์ในนิวยอร์กอยู่หลายปี คุณพ่อสุรศักดิ์ก็กลับมายังประเทศบ้านเกิด ณ ช่วงเวลานั้น คุณพ่อสังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างไทยและอเมริกาที่ค่อนข้างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นสภาพสังคมไทยที่ครอบครัวส่วนใหญ่พ่อแม่ทำงานจนแทบไม่มีเวลาอยู่กับลูก และเมื่อลูก ๆ ไปโรงเรียน ก็ไม่มีอุปกรณ์การเรียนการสอนหรือแม้แต่ของเล่นที่หลากหลาย มากสุดก็กระดาษกับสี ซึ่งแตกต่างจากเด็ก ๆ ในต่างประเทศที่อย่างน้อยต้องมีก้อนบล็อกไม้รูปทรงเรขาคณิตให้หยิบจับและจินตนาการ และที่สำคัญคือ ร้านขายของเล่นที่นั่นอัดแน่นไปด้วยพ่อแม่ผู้ปกครองที่ให้ความสนใจกับการเลือกสรรของเล่นให้ลูก ๆ

เมื่อเกริ่นมาถึงขนาดนี้ คงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมคำตอบของคุณพ่อเมื่อเราถามว่า “อยากเห็นภาพนั้นเกิดขึ้นที่ประเทศไทยใช่ไหม” 

ถึงเป็นคำตอบจริงใจสั้น ๆ ว่า “ใช่”

และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง

เราพาคุณไปพูดคุยกับสองพ่อลูกแห่งอาณาจักรโบว์สีน้ำเงินที่ผลิตของเล่นโดยใช้เลนส์ของดีไซเนอร์ในการนำทางธุรกิจ และ Blue Ribbon Toys เชื่อว่าของเล่นมีศักยภาพมากกว่า ‘ของเล่น’ พวกเขาจึงตั้งใจผลิตของเล่นที่คนทุกวัยเล่นด้วยกันได้อย่างมีความสุข ไม่เฉพาะเด็กเล็กหรือเด็กโต แต่หมายถึงทุกคน เพื่อให้เกิดช่วงเวลาคุณภาพในครอบครัวและโรงเรียน

Blue Ribbon Toys ทายาทนักประดิษฐ์ของเล่นไม้ สร้างโลกที่ผู้ใหญ่และเด็กเล่นด้วยกันได้

ก่อร่างสร้างแบรนด์

ก้าวแรกของ Blue Ribbon Toys เริ่มต้นจากการที่คุณพ่อสุรศักดิ์เริ่มศึกษาเกี่ยวกับ Educational Toys และพฤติกรรมของเด็ก ๆ วัยอนุบาล โดยยุคบุกเบิก เจ้าของแบรนด์ของเล่นยึดหลักในการออกแบบของเล่นมาจาก 2 ทฤษฎีหลัก ๆ คือทฤษฎี Montessori และทฤษฎี Froebel

ของเล่นชิ้นแรกของ Blue Ribbon Toys คือจิ๊กซอว์ไม้ หลังจากคุณพ่อออกแบบเสร็จ ก็ให้ช่างไม้ย่านบางโพเสกของเล่นขึ้นมา จากนั้นทดลองต่อประกอบเองบริเวณหลังบ้าน แล้วขยับขยายไปจ้างงานคนละแวกบ้าน แต่ผลลัพธ์กลับไม่ตรงกับภาพที่หวัง จึงรวบตึงการผลิตตั้งแต่กระบวนการแรกยันกระบวนสุดท้ายให้อยู่ในความดูแลของตนเอง เพื่อให้ของเล่นออกมาตรงใจและมีประสิทธิภาพที่สุด

“เราไม่มีทักษะการผลิต คิดเอาเองว่าถ้าอยากได้ของเล่นรูปทรงนี้ ก็เลื่อยเอา ดีหน่อยก็มีเครื่องจักร มาช่วยผลิตจิ๊กซอว์ แต่มันช้าและต้องใช้ฝีมือคน เราเอาคนหน่วยก้านดี ๆ มาฝึก พอทำจริง ทำ 100 อัน เสีย 50 อัน” นักออกแบบของเล่นเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ผลผลิตในรูปแบบของเล่นได้ออกสู่สายตาคนมากขึ้น เมื่อคุณพ่อไปออกงานแฟร์ของเล่นและของขวัญที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ความสนใจของกลุ่มลูกค้าผลิดอกออกผล กลายเป็นออเดอร์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องจนดังไกลถึงแถบยุโรป ในวันนั้นเองที่คุณพ่อสุรศักดิ์รู้ว่าพื้นที่หลังบ้านไม่เพียงพอกับการเติบโตของแบรนด์ จากหลังบ้านย่านบางนาจึงเดินทางสู่โรงงานจังหวัดนครปฐม

Blue Ribbon Toys ทายาทนักประดิษฐ์ของเล่นไม้ สร้างโลกที่ผู้ใหญ่และเด็กเล่นด้วยกันได้
Blue Ribbon Toys ทายาทนักประดิษฐ์ของเล่นไม้ สร้างโลกที่ผู้ใหญ่และเด็กเล่นด้วยกันได้

“เราทำการตลาดง่ายมากเลย” 

“ยังไงคะ” เราถามคุณพ่อ 

“การออกแฟร์ทำให้เราได้เจอผู้ประกอบการด้วยกัน ได้เห็นเทรนด์ของเล่น และเป็นที่เดียวที่อุตสาหกรรมของเล่นยอมรับ”

และของเล่นชิ้นถัดไปก็ทยอยออกสู่ตลาด อย่างขบวนรถไฟ ตุ๊กตาไขลาน ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดใช้ไม้ยางพาราในประเทศไทยเป็นวัสดุหลักในการผลิต คุณพ่อมีเป้าหมายผลิตเพื่อการส่งออก ลูกค้ามีทั้งญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี อินเดีย สหรัฐอเมริกา ฯลฯ โดยลูกค้าสั่งทำของเล่นตามต้องการได้ด้วย

แต่ที่น่าสนใจคือ ในยุคบุกเบิก Blue Ribbon Toys กลับตีตลาดเมืองไทยไม่แตก

“เราส่งออกเป็นหลัก” ลูกสาวย้ำ “ไม่เคยทำแบรนดิ้ง ไม่เคยพยายามสื่อสารกับคนไทย แต่ 5 – 6 ปีมานี้ คนไทยเพิ่งรู้ว่าแบรนด์เรามีตัวตน เพราะพ่อแม่เริ่มให้ความสำคัญกับของเล่นมากขึ้น”

Blue Ribbon Toys ทายาทนักประดิษฐ์ของเล่นไม้ สร้างโลกที่ผู้ใหญ่และเด็กเล่นด้วยกันได้

หมั่นคอยดูแลรักษาพนักงาน

เมื่อยอดผลิตพุ่งสูง จากแรงงานคนก็เริ่มนำเครื่องจักรเข้ามาอำนวยความสะดวก

“เพราะเราอยากทำงานให้ง่ายและสะดวกสบายขึ้น โดยเครื่องจักรช่วยลดพนักงานได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เราสอนและให้ความรู้กับพนักงานว่าต้องควบคุมเครื่องจักรยังไง ที่สำคัญคือเราถามปัญหาและความต้องการของเขา เพื่อออกแบบเครื่องจักรให้ตรงกับการทำงานมากที่สุด”

คุณพ่อนักประดิษฐ์แฮกเครื่องจักรรุ่นเดอะของโรงงานที่ปลดประจำการ ด้วยการเขียนโค้ดสั่งงานเข้าไปใหม่ โดยใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สเพื่อประหยัดงบประมาณ แต่ยังคงประสิทธิภาพดี

“เครื่องจักรที่มองเห็นนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่ง ต้องมีส่วนอื่นที่ทำให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุขด้วย สภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นเรื่องที่ต้องลงทุน พอเขามีความสุข มันเห็นผลจริง ๆ นะ คือ Output ของเรากระโดดขึ้นมาทันทีเกือบ 200 เปอร์เซ็นต์ ฝีมือและผลงานพนักงานของเราไม่แพ้ใคร”

นอกเหนือจากประสิทธิภาพในการผลิต สภาพแวดล้อมในการทำงานของพนักงานก็เป็นจุดหนึ่งที่ Blue Ribbon Toys ใส่ใจไม่แพ้กัน ที่นี่บริหารคนด้วยระบบ International Council of Toy Industries (ICTI) ซึ่งเป็นกฎที่ต้องสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อคนที่ทำงานในโรงงานของเล่นโดยเฉพาะ คุณพ่อเสริมให้เราเข้าใจว่าสิ่งนี้จะช่วยการันตีได้ว่า ‘หากทำตามกฎได้ พนักงานก็จะมีความสุข’

ที่นี่มีสวัสดิการน่ารักอย่างการส่งต่อของเล่นให้ลูก ๆ ของพนักงาน โดยไม่ต้องกังวลว่าของเล่นจะเป็นอันตรายต่อเด็ก เพราะผ่านการทดสอบจากห้องแล็บก่อนผลิตจริง สีที่ใช้ก็ปลอดเคมี

Blue Ribbon Toys ทายาทนักประดิษฐ์ของเล่นไม้ สร้างโลกที่ผู้ใหญ่และเด็กเล่นด้วยกันได้

นักออกแบบของเล่น

กิจการของเล่นของครอบครัวคุณประเสริฐดำเนินธุรกิจด้วยทัศนคติของดีไซเนอร์ หาใช่นักธรุกิจ

“เพราะเราคิดถึงดีไซน์ก่อน ขายได้หรือไม่ได้ค่อยว่ากันอีกที” คุณพ่อบอกแบบนั้น

“ในมุมมองธุรกิจ คงมองว่าจะผลิตของเล่นยังไงให้ขายได้ แต่เราไม่ใช่ เราอยากผลิตของเล่นออกมาก่อน เพื่อดูผลตอบรับของตลาด ลูกค้าเป็นคนตัดสินว่าของเล่นชิ้นนี้ควรอยู่ต่อหรือไม่” ลูกสาวเสริม

ไอเดียตั้งต้นในการผลิตของเล่น มาจากการอยากส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ๆ ในด้านต่าง ๆ ความท้าทายคือ ‘การออกแบบ’ จะออกแบบของเล่นอย่างไรให้ตอบสนองพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย และออกแบบของเล่นอย่างไรให้พ่อแม่ตัดสินใจซื้อไปให้ลูก ๆ (เพราะพ่อแม่คือคนจ่ายเงิน)

“เราต้องทำของเล่นพัฒนาทักษะของเด็ก ๆ และไม่ใช่เล่นได้เฉพาะเด็กอย่างเดียว ผู้ใหญ่ต้องเล่นได้ ครอบครัวเล่นได้ หรือครูกับนักเรียนก็ต้องเล่นด้วยกันได้

“การออกแบบของเล่น เราคำนึงถึงวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ พยายามอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับพวกนี้ ศึกษาเรื่องสี จากนั้นแบ่งหมวดของเล่น เช่น เด็กเล็ก เด็กโต หรือเด็กวัยที่ซนขึ้นมาหน่อย ดูว่าต้องเสริมพัฒนาการด้านไหน อย่างประสาทสัมผัส การใช้ความคิด การแก้ปัญหา การใช้เหตุผล กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เหล่านี้มีผลต่อการออกแบบของเล่น” คุณพ่อเฉลย

“แล้วของเล่นมีเทรนด์ไหมคะ” เราชวนสองดีไซเนอร์ต่างวัยแบ่งปันความเห็น

Blue Ribbon Toys ทายาทนักประดิษฐ์ของเล่นไม้ สร้างโลกที่ผู้ใหญ่และเด็กเล่นด้วยกันได้

“มีค่ะ ของเล่นของ Blue Ribbon Toys หน้าตาเปลี่ยนไปเยอะ อย่างสี ตอนแรกใช้สีกลุ่มแม่สี เช่น สีแดง สีน้ำเงิน สีเหลือง พอเรามารับช่วงต่อ เราไม่ใช้แม่สี พ่อแม่หรือครูก็จะบอกเด็กไม่ได้ว่านี่สีอะไร แต่เรากลับมองว่ามันคือการใช้จินตนาการและเป็นจุดเริ่มต้นบทสนทนากับเด็กได้ นี่สีฟ้าหรือสีเขียวนะ

“ซึ่งเป็นเทรนด์ที่พ่อแม่ยอมรับมากขึ้นนะ สมัยก่อนพ่อแม่มีแค่คำตอบเดียว แดงก็แดง เขียวก็เขียว เราพยายามประยุกต์สิ่งที่เชื่อมโยงกับพ่อแม่มาออกแบบของเล่น เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ในสังคมปัจจุบัน ส่วนของเล่นที่มีรูปทรงแบบ Timeless เราก็พยายามทำออกมาเรื่อย ๆ เพื่อที่จะได้อยู่นาน ๆ ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นโดยไม่ตกยุคสมัย” หวานเล่าการเปลี่ยนแปลงผ่านสายตาของเธอ

ของเล่นของแบรนด์เล่นได้ตั้งแต่ 0 เดือน จริง ๆ เรียกว่าไม่จำกัดอายุคงเข้าท่ากว่า หน้าตา รูปทรง สีสัน ก็ชวนเหมากลับบ้าน แถม Blue Ribbon Toys เคยผลิตของเล่นร่วมกับ MoMA นิวยอร์กด้วย

คุณพ่อกระซิบว่าหลังจากผลิตของเล่นแล้ว เด็กกลุ่มแรกที่ลองเล่นคือลูกสาวและหลาน ๆ

“คุณพ่อจำของเล่นชิ้นแรกที่ให้ลูกสาวได้หรือเปล่าคะ” เราถามทวนความทรงจำ

“บล็อกไม้ง่าย ๆ ที่หยิบจากโรงงานไปนั่งต่อกันที่บ้าน” คุณพ่อตอบด้วยน้ำเสียงอบอุ่น

“เราจำได้ว่าครั้งหนึ่งเคยได้บ้านตุ๊กตาจากพ่อ ถือว่าสุดยอดแล้ว” ลูกสาวยิ้มหวาน

Blue Ribbon Toys ทายาทนักประดิษฐ์ของเล่นไม้ สร้างโลกที่ผู้ใหญ่และเด็กเล่นด้วยกันได้
Blue Ribbon Toys ทายาทนักประดิษฐ์ของเล่นไม้ สร้างโลกที่ผู้ใหญ่และเด็กเล่นด้วยกันได้

ทายาทรุ่นสองโรงงานของเล่น

“ตั้งแต่เกิดมา เราไม่เคยคิดจะเป็นอย่างอื่นนอกจากดีไซเนอร์” ลูกสาวเปรย

ทำไม เราสงสัย – “เพราะคิดว่ามีอาชีพเดียวในโลก เรารู้จักอย่างเดียวจริง ๆ จากพ่อ พ่อชวนเราเล่น วาดรูป เขียน ประดิษฐ์ เวลามีการบ้านงานประดิษฐ์ก็วิ่งหาพ่อ พ่อทำให้ตลอดจนเรียนมหาวิทยาลัย”

จุดเริ่มต้นเส้นทางดีไซเนอร์สาวอนาคตไกล มาจากครอบครัวที่ปลูกฝังพื้นฐานการเล่น ชีวิตวัยเด็กของหวานวนเวียนกับการเล่น ของเล่น และโรงงานของเล่น โดยการเล่นกับคุณพ่อก็ต่อยอดสู่เส้นทางการเป็นดีไซเนอร์ในต่างประเทศ และท้ายที่สุดเส้นทางชีวิตของหวานก็เวียนกลับมาที่ของเล่นอีกครั้งในวันที่เธอกลับมาประเทศไทยเพื่อรับช่วงต่อแบรนด์ของเล่นของครอบครัว ใครจะรู้ว่าแม้เติบโตมากับของเล่น แต่ในช่วงแรกของการรับช่วงต่อ กลับไม่มีภาพการบริหารธุรกิจของเล่นนี้อยู่ในหัวเลย

“ตอนแรกไม่อยากทำเลย ดูลำบาก ดูเหนื่อย คือเราชอบออกแบบ แต่การออกแบบของเล่นมันอาจจะไม่ใช่แนวเรา เราอยากลองทำอย่างอื่น เช่น กระเป๋า แฟชั่น หรือเฟอร์นิเจอร์”

ความคิดของหวานเริ่มเปลี่ยนทีละนิด เมื่อเธอนำแนวคิดของดีไซเนอร์มาออกแบบของเล่น ความอิสระและความสนุกเสริมสร้างความพอใจในการทำงานขึ้นทีละน้อย จนกลายเป็นความลงตัวในที่สุด

“จากแต่ก่อนที่เคยโดนบังคับให้ทำธีสิสเป็นของเล่น เพราะอาจารย์รู้ว่าเป็นลูกเจ้าของโรงงานของเล่น ตอนนี้รู้สึกมีความสุขกับการทำงาน เพราะเรารู้แล้วว่าวิธีการทำงานที่มีความสุขเป็นแบบไหน”

เยือนอาณาจักรของเล่น Blue Ribbon Toys เมื่อลูกสาวต่อยอดดีไซน์พ่อเป็นของเล่นไม้สีพาสเทล เล่นสนุกและแต่งบ้านได้

หากไม่นับรวมการช่วยออกแบบของเล่นตั้งแต่เรียนจนทำงานต่างประเทศ ก็เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วที่หวานกลับมาประจำการที่ออฟฟิศของ Blue Ribbon Toys ร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งโจทย์สำคัญสำหรับทายาทแทบทุกคนในการรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว ปฏิเสธไม่ได้ว่าคือ ‘การต่อยอด’

“ตอนแรกเราไม่ได้คิดเรื่องการต่อยอดเลย ไม่มีเป้าหมายของตัวเอง มีหน้าที่แค่นั่งเขียนแบบไปวัน ๆ แต่พอทำไปทำมาก็มองเห็นช่องทางที่จะพัฒนาของเล่นให้ดีขึ้นได้ ซึ่งพ่อแม่เป็นคนที่เปิดกว้าง เราขอเปลี่ยนโลโก้แบรนด์ เขาก็ยอม จะทำอะไรก็ให้ทำหมดเลย พอเขาสนับสนุน เราก็สนุก

“แต่สิ่งที่กลัวคือ กลัวทำในสิ่งที่ตัวเองไม่สนุก แต่ในที่สุดเราก็สนุกกับมันได้ แค่ต้องมองมันอีกมุมหนึ่ง แต่ตอนนี้เราเก่งในด้านนี้ เป็นประโยชน์กับบริษัทในด้านนี้ เราก็ทำให้เต็มที่

“ความท้าทายอีกอย่างคือ จะทำยังไงให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้” ทายาทรุ่นสองตั้งเป้าหมาย

“คุณพ่อมอบคัมภีร์ดำเนินธุรกิจอะไรให้คุณบ้าง” เราแอบถามเคล็ดลับ

“พ่อไม่ได้สอน แต่ทำให้ดู แล้วก็ Learn on the Job ไปด้วยกัน” เธอเฉลย

เยือนอาณาจักรของเล่น Blue Ribbon Toys เมื่อลูกสาวต่อยอดดีไซน์พ่อเป็นของเล่นไม้สีพาสเทล เล่นสนุกและแต่งบ้านได้

แลกเปลี่ยนและเรียนรู้

การทำงานร่วมกันระหว่างคน 2 เจเนอเรชัน หากจะให้เป็นไปด้วยความราบรื่น ต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน คุณพ่อก็แบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานร่วมกับลูกสาว และจากการมองดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่วันที่ลูกสาวเข้ามารับช่วงให้เราฟังอย่างเปิดเผย

“แต่ก่อนเราเป็นโรงงานจริง ๆ ไม่ได้นำเสนออะไรให้กับสังคมมาก แต่ตอนนี้เขานำเสนอสิ่งดี ๆ ให้สังคมมากขึ้น อย่างของเล่นที่เล่นด้วยกันได้ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ของเล่นบางตัวสมัยก่อนไม่มีนะ ในใจเราก็คิดว่าขายไม่ได้หรอก ปรากฏว่าขายได้ในสมัยนี้ เพราะเขาทำของเล่นให้เป็นไลฟ์สไตล์”

หวานเสริมอีกนิดถึงการเปลี่ยนมุมมองในการออกแบบของเล่นที่พัฒนาขึ้นจากวันแรก

“ตอนนั้นเรามองในมุมมองของเด็กโต ว่าของเล่น Educational ไม่สวย เราอยากเปลี่ยนสี โดยไม่ได้มองเลยว่าโลกนี้เขายอมรับไม่ได้ หรือบางอย่างจะ Decorative ไปถึงไหน มันไม่ใช่ของเล่นแล้ว ก็เพลา ๆ ลง จนตอนนี้รู้สึกว่าหาบาลานซ์ได้ว่าแบบนี้กำลังดี จะเห็นว่าปีหลัง ๆ ของเล่นที่เราออกแบบมีความสายกลาง เหมือนหาจุดได้แล้วว่าประมาณนี้แหละ แม่ ๆ ก็ซื้อได้ ลูกค้าแนวไลฟ์สไตล์ก็ซื้อได้”

ตลอดบทสนทนา เราสังเกตเห็นว่าทั้งหวานและคุณพ่อสุรศักดิ์รับส่งและเสริมกันได้อย่างดีในแทบทุกคำถาม วิธีการทำงานร่วมกันระหว่างพ่อลูกและคนสองช่วงวัยให้สอดคล้องเกิดขึ้นได้อย่างไร

เยือนอาณาจักรของเล่น Blue Ribbon Toys เมื่อลูกสาวต่อยอดดีไซน์พ่อเป็นของเล่นไม้สีพาสเทล เล่นสนุกและแต่งบ้านได้

“การทำงานกับพ่อ เหมือนกำลังพูดเรื่องเดียวกัน บางทีกรี๊ดเรื่องเดียวกัน บางทีเอางานอะไรมาดูแล้ว Appreciate ไปด้วยกัน ดูคล้ายงานอดิเรกแต่คืองานหลัก เพราะความสนใจเหมือนกัน เลยเป็นเรื่องที่เชื่อมต่อกันได้” เมื่อลูกสาวตอบคำถาม ก็ถึงทีคุณพ่อ “จริง ๆ การทำงานเป็นทีมสำคัญมาก เราไม่ใช่คนที่เสกนั่นเสกนี่ได้ เราคิดอย่างเดียวว่า ต้องให้เขาทำเต็มศักยภาพ เชื่อใจเขา และให้เขาเป็นตัวเองเต็มที่”

“แต่ก่อนพ่อเป็นทุกอย่างของโรงงาน พอเราเข้ามารับช่วงต่อ พ่อก็เริ่มทำอะไรที่เขาสนใจ เช่น การสร้างเครื่องจักร บางทีเราก็ประทับใจที่เขาอยู่กับช่างได้ทั้งวัน ดูมีความสุขในแบบของเขา

“การเรียนรู้ก็น่าจะเรื่องนี้แหละ ทำยังไงให้มีความสุขกับการทำงานมาตลอด 30 ปี”

หวานสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากคุณพ่อในประโยคเรียบง่ายแต่สัมผัสได้ถึงความจริง

เยือนอาณาจักรของเล่น Blue Ribbon Toys เมื่อลูกสาวต่อยอดดีไซน์พ่อเป็นของเล่นไม้สีพาสเทล เล่นสนุกและแต่งบ้านได้

จากอดีตถึงปัจจุบัน

จากอดีตเมื่อ 30 กว่าปีก่อนนั้น ในวันที่ประเทศไทยยังมีมุมมองต่อของเล่นที่ยังไม่เปิดกว้างและเข้าใจเท่าต่างประเทศ หวานบอกกับเราในวันนี้ว่า ปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว!

“เราเห็นชัดเลยตั้งแต่ไม่กี่ปีมานี้ สังเกตจากพฤติกรรมการซื้อของเล่น พ่อแม่เปิดใจมากขึ้น ซื้อของเล่นที่ลูกชอบ เอามาลองเล่นจนลูกประทับใจ แล้วคนก็เริ่มซื้อของเล่นเป็นของขวัญกันด้วย” หวานเปรย ก่อนคุณพ่อจะเสริมด้วยน้ำเสียงปลื้มใจ “เขาเห็นความสำคัญมากขึ้น พ่อแม่สมัยใหม่ให้ความสำคัญกับการอยู่กับลูก นั่นทำให้เด็กมีคุณภาพและมีความคิดที่ดี อยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นอีกเยอะ ๆ”

จากที่ของเล่นเคยมีภาพจำว่าเป็นของสำหรับเด็กเท่านั้น ในวันนี้หวานและคุณพ่อทลายค่านิยมเดิม และตั้งใจเติมเต็มเด็ก พ่อแม่ และโรงเรียน ผ่านแนวคิดในการใช้ของเล่นเป็นเครื่องมือเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัวและโรงเรียน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อพัฒนาการของเด็ก ๆ และสังคม

“คนต้องมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันถึงจะเกิดการเรียนรู้ ไม่อย่างนั้นเด็กจะไม่มีความสร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่ด้านศิลปะ แต่รวมถึงดนตรี วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ด้วย อีกอย่างคือของเล่นทำให้เด็กรู้จักชนะและให้อภัย พอเห็นของเล่นเรามีประโยชน์กับคนอื่น ๆ ก็มีความสุขนะ” คุณพ่ออธิบาย ก่อนหวานจะเสริมนิยามของ Blue Ribbon Toys โดยสรุปว่า “แบรนด์เราคือ Wooden Pleasure หรือชิ้นไม้ที่มอบความสุขให้กับทุกวัย”

จากปัจจุบันถึงอนาคต

แม้ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ้างแล้วในเรื่องมุมมองต่อของเล่น แต่เมื่อถามคุณพ่อว่าจุดประสงค์ข้อนี้ถือว่าเข้าขั้นประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง คำตอบที่ได้คือ “นี่เพิ่งเริ่มต้น”

เมื่อโจทย์ที่วางไว้ เพิ่งเริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงในขั้นแรกเท่านั้น การพัฒนาตัวเองอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งที่แบรนด์ของเล่นโบว์สีฟ้านี้ไม่อาจหยุดยั้ง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในอนาคต

“เราจะทำในสิ่งที่ถนัดและพัฒนาให้เก่งขึ้นเรื่อย ๆ ตามยุคสมัย ซึ่งมันคือการแข่งกับตัวเอง” เสียงทุ้มต่ำของคุณพ่อบอกอย่างแน่วแน่ ก่อนที่เสียงใส ๆ ของลูกสาวจะเสริมแง่มุมของเธอบ้าง

“เราจะทำในสิ่งที่รักและสิ่งที่ชอบ โดยไม่ละทิ้งคุณภาพ เราเชื่อว่าจะทำมันได้ดี”

ก่อนที่บทสนทนาในวันนี้จะจบลง เราถามคำถามง่าย ๆ กับพ่อและลูก

“ของเล่นชิ้นล่าสุดที่เล่นคืออะไรคะ”

“เราเพิ่งเล่น Backgammon ไป 2 วันที่แล้ว แล้วก็ Chess เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว” ลูกสาวตอบ

“นึกไม่ออก” คุณพ่อตอบ – “เล่นเครื่องจักร” ลูกสาวแซวนักประดิษฐ์ด้วยความกันเอง

คำตอบของสองพ่อลูกแห่งกิจการผลิตของเล่นนั้นแสนอบอุ่นและน่ารัก ไม่แพ้ของเล่นที่ทั้งสองดีไซเนอร์ออกแบบ จนอดไม่ได้ที่จะเอาใจช่วยให้เป้าหมายของคนทั้งคู่บรรลุความตั้งใจในสักวันหนึ่ง

เยือนอาณาจักรของเล่น Blue Ribbon Toys เมื่อลูกสาวต่อยอดดีไซน์พ่อเป็นของเล่นไม้สีพาสเทล เล่นสนุกและแต่งบ้านได้

Writers

Avatar

วิมพ์วิภา ค้ำจุนวงศ์สกุล

เด็กนิเทศผู้หลงรักของหวาน การเล่าเรื่อง และตั้งใจจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกวัน

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ