ภาพวิวัฒนาการที่เราคุ้นตา เป็นภาพที่ชวนให้เข้าใจผิด

ภาพซึ่งฝั่งซ้ายสุดเริ่มจากวานรตัวหนึ่ง เดินสี่ขา จากนั้นกระเถิบมาเป็นมนุษย์ผสมวานร ขายาวขึ้นหน่อย เดินตัวตรงขึ้นหน่อย แต่ก็ยังงุ้มๆ ล่ำๆ กรามโตๆ หน้าผากลาดๆ จนมาถึงตัวขวาสุด ค่อยเป็นคนโดยสมบูรณ์ เดินสองขาตัวตรงเป๊ะ บ้างมีถือหอกเป็นอาวุธด้วย แต่ไม่ว่าจะเวอร์ชันไหนก็ตาม ทุกสเต็ปมักก้าวย่างได้สวยงาม ไม่มีไข่โผล่ และไม่ค่อยเห็นเวอร์ชันสตรีเท่าใดนัก

ถามว่าภาพนี้ชวนให้เข้าใจผิดตรงไหน

เปล่า มันไม่ได้ผิดตรงคนมาจากลิง อันนั้นถูกแล้ว (อาจจะผิดนิดหน่อยแค่ถ้าเอาละเอียดจริงๆ ต้องบอกว่าลิง คน และเอปส์ (Apes) ในปัจจุบัน ล้วนมีบรรพบุรุษมาจากลิงโบราณ) 

คำตอบละเอียดอ่อนกว่านั้น ลองอ่านเรื่องราวของเหล่านกที่บินไม่ได้ แล้วค่อยย้อนกลับมาดูอีกที

ที่เกาะมอริเชียสทางตะวันออกของแอฟริกา เมื่อ ค.ศ. 1507 กะลาสีชาวโปรตุเกสขึ้นฝั่งแล้วเจอฝูงนกอ้วนตัวประมาณเท่าหมาเชาเชา บินไม่ได้ ปีกสั้นๆ เดินไปเดินมาอยู่เต็มไปหมด แถมยังเชื่อง เข้าใกล้ก็ไม่หนี ถ้าเป็นสมัยนี้ คงเปิดเป็นที่ท่องเที่ยว มีซื้อตั๋วเข้าชม ขายอาหารสำหรับป้อนมือ อะไรเยอะแยะไปหมด แต่อนิจจา สมัยนั้นยังไม่มีคอนเซ็ปต์สวนสัตว์ กะลาสีเห็นนกอ้วนก็ล่ามาต้มยำทำแกงหมด โชคเกือบดี เนื้อมันไม่อร่อย กินไปถุยไป แต่กะลาสีบอกไม่เป็นไร งั้นเอามาทุบเล่นเป็นลูกบอลก็ได้ สุดท้ายตั้งชื่อเป็นเกียรติให้กับมันว่านกโดโด้ แปลว่า ‘โง่’ ในภาษาโปรตุเกส 

ทำไมนกบางชนิดถึงบินไม่ได้ ทั้งที่สิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา

โดโด้สูญพันธุ์ 100 – 200 ปีหลังจากมนุษย์ยกพลขึ้นเกาะ แน่นอน มันไม่ได้ถูกคนฆ่าโดยตรงทั้งหมด แต่ก็โดนสัตว์ที่มากับคน เช่น หมา แมว หนู ช่วยกันจัดการจนเกลี้ยง

ย้อนไปไม่แน่ใจกี่หมื่นกี่แสนปี นึกภาพวิหกหุ่นเพรียว กางปีกกว้าง โบยบินเสรีเหนือเกลียวคลื่น วันดีคืนดี สารพัดปัจจัยพาพลัดไปติดเกาะ อนิจจากลับบ้านไม่ถูกแล้ว แต่เฮะ ที่เกาะนี่ก็อยู่สบายดีแฮะ ไร้ศัตรู อาหารเหลือเฟือ เดินกินเอาก็ได้ ไม่ต้องบิน ไม่ต้องหนี

หลายๆๆๆๆๆๆๆ รุ่นพ้นผ่าน การเป็นนกอ้วนไม่มีผลต่อชีวิต บินขึ้นหรือบินไม่ขึ้น ไม่ได้ส่งผลให้อยู่รอดดีหรือไม่ดี นานเข้าพันธุกรรมที่ทำให้ปีกลดขนาดก็แพร่สะพัด ดีซะอีกจะได้เอาพลังงานไปทำอย่างอื่น เช่นสร้างไข่ใหญ่ๆ สำหรับเลี้ยงลูก ไข่หนักก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องบินแล้วนี่

แน่นอน นกมันไม่ได้คิดเอง หรือวางแผน หรือรู้เรื่องหรอกว่าอยากให้ลักษณะรุ่นลูกมันออกมาเป็นยังไง กฎเกณฑ์การคัดเลือกตามธรรมชาติเป็นผู้จัดการให้ นานวันเข้าจึงกำเนิดสายพันธุ์วิหกเดินดิน แน่นอนอีก กฏธรรมชาติก็ไม่ได้มีแผนการ ความคิด หรือความรู้เรื่องของตนเอง มันเป็นแค่กฏธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี้จึงเป็นการออกแบบโดยไม่มีผู้ออกแบบ

นี่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั่วโลก กรณีนกโดโด้ สืบหลักฐานแล้วพบว่าบรรพบุรุษของมันเป็นพวกตระกูลพิราบที่บินมาจากฝั่งตะวันออก (แถวๆ อันดามันเพื่อนบ้านเรานี่แหละ) ก่อนจะวิวัฒน์กลายเป็นนกอ้วนโดโด้อยู่ที่เกาะมอริเชียส

ข้ามไปดูนิวซีแลนด์ ที่นั่นก็มีนกที่บินไปถึง เจอสภาพความเป็นอยู่แบบไร้ศัตรู แล้วกลายเป็นนกอ้วนเดินดินมากมายหลายชนิด มีพวกที่ต้นตระกูลเป็นนกอีโก้ง ทุกวันนี้ก็กลายเป็นนกอีโก้งเวอร์ชันอ้วนบินไม่ขึ้น (ชื่อท้องถิ่น ทาคาเฮ Takahe) มีพวกที่ต้นตระกูลเป็นนกแก้ว ก็กลายเป็นนกแก้วเวอร์ชันอ้วนบินไม่ขึ้น (ชื่อท้องถิ่น คาคาโป Kakapo) ทั้งยังมีพวกต้นตระกูลนกกระเรียน ก็กลายเป็นเวอร์ชันคอตันๆ ขาอวบๆ ละทิ้งการบิน (นกแอดเซบิล Adzebill) นอกจากนี้อีกหลายๆ เกาะทั่วโลกก็มีนกบินไม่ได้เวอร์ชันของตัวเอง ซึ่งล้วนถือกำเนิดจากปรากฏการณ์เดียวกัน

หมายเหตุน่าสนใจ : นิวซีแลนด์ไกลมากจนไม่มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไปถึงเองเลย ยกเว้นค้างคาว ส่วนแกะนั้นคนพาไปทีหลัง

ทำไมนกบางชนิดถึงบินไม่ได้ ทั้งที่สิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา
นกอีโก้ง
ทำไมนกบางชนิดถึงบินไม่ได้ ทั้งที่สิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา
นกทาคาเฮ

ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะตะหงิดว่าเหตุใดใยไม่พูดถึงนกกระจอกเทศสักที เพราะนั่นเป็นถึงราชินีแห่งนกบินไม่ได้ แต่อาจถีบคนให้บินถลาได้ อดีตของนกกระจอกเทศและญาติโกของมัน (พวกแรไทต์ Ratite) มีความซับซ้อนนิดหน่อย คือจริงๆ ต้นตอมันก็น่าจะถือกำเนิดแบบเดียวกับกรณีนกไม่บินอื่นๆ แหละ คือบรรพบุรุษไปติดเกาะหรือดินแดนอะไรบางอย่างที่ไม่มีศัตรูให้ต้องหนี ผนวกเน้นหากินติดพื้น ฯลฯ เพียงแต่กรณีนี้เรื่องมันเกิดขึ้นนานมาก ตั้งแต่สมัยไดโนเสาร์หรือเป็นร้อยล้านปีก่อน ยุคนั้นทวีปทางใต้ยังติดกันเป็นแผง ถ้าแบมือซ้ายขึ้นมา นิ้วโป้งคืออเมริกาใต้ นิ้วชี้คือแอฟริกา นิ้วกลางคืออินเดีย-มาดากัสการ์ นิ้วนางคือออสเตรเลีย-นิวกินี นิ้วก้อยคือนิวซีแลนด์ และฝ่ามือคือแอนตาร์คติกาซึ่งเชื่อมทุกแผ่นเข้าด้วยกัน (สมัยก่อนเป็นป่าด้วยนะ) 

ด้วยเหตุนี้ บรรพบุรุษสายแรไทต์จึงมีเวลาให้เดินสำรวจและแพร่พันธุ์ไปทั่วมหาทวีปแดนใต้ที่ชื่อว่ากอนดวาน่า (Gondwana) และพอถึงช่วงราวๆ 90 – 60 ล้านปีก่อน มหาทวีปนี้ก็เริ่มที่จะเคลื่อนแตกออกจากกัน ทีนี้แหละจึงพาลูกหลานระเห็ดแยกสายไปตามแพแห่งทวีปต่างๆ เช่น พวกที่ไปกับแพออสเตรเลีย-นิวกินี ก็กลายเป็นนกอีมูกับแคสโซวารี่ที่เราเห็นทุกวันนี้ พวกที่ไปกับแพอินเดีย-มาดากัสการ์กลายเป็นนกช้างยาว 3 เมตร ไข่ใหญ่เท่ากับไข่ไก่ 200 ฟอง ซึ่งปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้ว จริงๆ แพอินเดียนี่แหละคือแพที่เอาบรรพบุรุษนกกระจอกเทศไปด้วย แล้วพอมันไปเสยกับทวีปเอเซียด้านบน (ที่ดันเป็นเทือกเขาหิมาลัยขึ้นมา) นกพวกนี้ก็เลยเดินแพร่กระจายรั่วเข้าอาหรับและแอฟริกาต่อไป 

ปัจจุบันเหลือนกกระจอกเทศแค่ที่แอฟริกาอย่างเดียว ที่อื่นในเอเซียสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ก็ยังขุดฟอสซิลเจอได้อยู่นะ นอกนี้ก็มีพวกที่ไปกับแพอเมริกาใต้ซึ่งกลายเป็นนกเรีย (Rhea) แล้วก็มีแพนิวซีแลนด์ซึ่งเอาบรรพบุรุษนกมัว (Moa) ไป ซึ่งตัวเหมือนนกอีมูแต่ใหญ่กว่าหลายเท่า จริงๆ เราเกือบได้เห็นนกมัวแล้วเพราะสูญพันธุ์ไปเมื่อ 700 ปีก่อนเองโดยฝีมือเผ่าเมารี (จำง่ายๆ มัว กับ เมา) ตัวสุดท้ายของกลุ่มนี้คือนกกีวี ซึ่งเส้นทางการวิวัฒนาการของมันมีความแยบยลแฝงอยู่ ผมทิ้งให้ท่านไปหาอ่านต่อเองละกันนะครับ 

ทำไมนกบางชนิดถึงบินไม่ได้ ทั้งที่สิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา
มหาทวีปกอนดวานา (Gondwana) ในอดีต 
ทำไมนกบางชนิดถึงบินไม่ได้ ทั้งที่สิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา
บรรดาวิหกเดินดินกลุ่มแรไทต์ (Ratite)

กลับมาที่คำถามของเรา เรื่องนี้เกี่ยวกับความเข้าใจผิดภาพวิวัฒนาการอย่างไร ลองสมมติถ้าเราให้นกไม่บินสักชนิดเขียนภาพประวัติวิวัฒนาการของมันออกมา ภาพนั้นอาจจะเริ่มจากสมัยไดโนเสาร์ เป็นนกปีกสั้นๆ หน้าตาดูล้าหลังยังบินไม่ได้ จากนั้นกระเถิบมาเป็นนกที่หุ่นเพรียวขึ้น เขี้ยวหด เล็บมือหาย สยายปีก สง่างาม จากนั้นถัดมาๆ อ้าว ปีกค่อยๆ หดอีกรอบ หุ่นค่อยๆ อ้วน ขาค่อยๆ อวบ กลับไปบินไม่ได้อีกรอบ พร้อมประกาศภูมิใจว่านี่สิคือนิยามวิวัฒนาการขั้นสูงสุดของพวกข้า ดูวกไปวนมามั้ยฮะ จากไม่บิน สู่บิน กลับไปไม่บิน เดี๋ยวไม่แน่สักวันอาจกลับไปบินอีก มึงจะเอาไง นี่ขนาดยังไม่ได้ถามพวกนกเพนกวิน ซึ่งลงน้ำกลับไปหาคุณทวดเลย (อย่าลืมว่าชีวิตทั้งหมดเริ่มจากน้ำ) 

เพราะฉะนั้น สรุป หัวใจของวิวัฒนาการคือสรรพชีวิตนั้นเปลี่ยนไปเรื่อย ไม่มีลำดับขั้นตายตัว ไม่มีจุดหมายสูงสุด และไม่มีจุดจบสุดท้าย… อยากเขียนต่อแต่หน้ากระดาษหมดแล้ว สวัสดีครับ

อ่านเพิ่มเติม

ข้อมูลและมุมมองส่วนใหญ่ย่อมาจากหนังสือ The Ancestor’s Tale ของ Richard Dawkins สามารถตามไปอ่านเวอร์ชันเต็มกันได้

Writer

Avatar

แทนไท ประเสริฐกุล

นักสื่อสารวิทยาศาสตร์สาขาชีววิทยา ผู้เคยผ่านทั้งช่วงอ้วนและช่วงผอมของชีวิต ชอบเรียนรู้เรื่องราวสนุกๆ ที่แฝงอยู่ในธรรมชาติแล้วนำมาถ่ายทอดต่อ ไม่ว่าจะผ่านงานเขียน งานแปล และงานคุยในรายการพอดแคสต์ที่ชื่อว่า WiTcast