6 กุมภาพันธ์ 2018
17 K

I walked along the avenue
I never thought I’d meet a girl like you
Meet a girl like you

เรื่องนี้เริ่มต้นด้วยเสียงสังเคราะห์ปิ้วป้าวในงานแต่งงานแสนสวยริมทะเล นักร้องหนุ่มผมทองกุมไมค์ครวญเพลง I Ran ของ A Flock Of Seagulls ขณะที่เพื่อนร่วมวงร่วมเล่นดนตรีคัฟเวอร์เพลงซินธ์ป๊อปสุดจ๊าบจากยุค 80 ฉากสั้นๆ ในหนังเรื่อง Hangover Part II ไม่ได้แสดงแค่ความงามของภาคใต้เมืองไทย แต่ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงดนตรีเล็กๆ จากเชียงใหม่

เปล่า, นะ-รัตน จันทร์ประสิทธิ์, เพียว-เพียว วาตานาเบะ และ โต้ง-พลากร กันจินะ ไม่ได้โด่งดังเป็นพลุแตกจากการปรากฏตัวในหนังฮอลลีวูด พวกเขาแค่ตกหลุมรักเสียงปลอมประหลาดเหมือนไม่ได้มาจากโลกนี้ของ Synthesizer ในยุคที่เครื่องสังเคราะห์เสียงเป็นของเฉิ่มเชยผิดยุคสมัย

POLYCAT

รักตกยุคทำให้ POLYCAT แปลกแยก ไร้ความมั่นใจ ตัวลีบเล็กอยู่ในวงการเพลงป๊อปอยู่นานหลายปี

จนกระทั่งการเปิดตัวซีรีส์มิวสิกวิดีโอของ POLYCAT 3 เพลงรวด ได้แก่ เพื่อนไม่จริง (Forever Mate), เวลาเธอยิ้ม (You Had Me At Hello) และ พบกันใหม่ (So Long) ที่ใช้ฟุตเทจละครเก่าเรื่อง พริกขี้หนูกับหมูแฮม มาตัดต่อ ชุบชีวิตเรื่องราวความรักเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วให้คนคิดถึงอีกครั้ง ซ้ำความแรงด้วยเพลงแอบรักอย่าง มันเป็นใคร (Alright) จนเกิดกระแส #เหย่ และ #ออลไรท์ ที่ใช้กันทั่วบ้านทั่วเมือง แสงไฟจึงสาดส่องมาที่กลุ่มชายหนุ่มชุดวินเทจอย่างเต็มที่

แปลกดี, POLYCAT ดูจะมีดวงเกี่ยวพันกับหนังกับละคร แต่เส้นทางดนตรีของพวกเขาก็มีรสชาติสนุกไม่ต่างจากภาพยนตร์

ขอเชิญชมเรื่องราวของคนเล็กๆ ที่หลงรักสิ่งที่โลกลืมเลือน เรื่องราวของแมวเก้าชีวิตที่ปลุกดนตรีซินธ์ป๊อปยุค 80 ขึ้นมาอีกครั้ง

โพลีแคท เบิร์ด ธงไชย

I

กำเนิดแมวสังเคราะห์

เปิดฉากที่เชียงใหม่ วงดนตรีนักศึกษาชื่อ Ska Rangers กำลังซ้อมเพลงใหม่

ไม่ใช่เพลงนิวเวฟ ไม่ใช่ซินธ์ป๊อป กลุ่มเด็กหนุ่ม 5 คน ได้แก่ นะ เพียว โต้ง และอดีตสมาชิก 2 คน คือ ภูผา-พงศธร สวัสดิชัชวาล และ ดอย-กวีวิชย์ ไชยแก้ว เป็นส่วนหนึ่งของโลกดนตรีอินดี้ที่แสนคึกคักของเมืองเหนือ สกาเรนเจอร์สนุกกับการทดลองและโชว์ลีลาหลากหลาย ตั้งแต่พังก์ ร็อก สกา ไปจนถึงเรกเก้ โดยสังกัดอยู่ในกลุ่ม No Signal input รุ่นที่ 3

“เชียงใหม่เป็นเมืองเล็ก นักดนตรีรู้จักกันหมด โน ซิกแนล อินพุต คือกลุ่มคนที่คุยกันถูกคอ มีประมาณ 6 – 7 วง ทุกวงจะทำเพลงแนวไหนก็ได้ แต่มีเป้าหมายตรงกันว่าอยากให้นักดนตรีเชียงใหม่มีเพลงของตัวเองและมีพื้นที่ เราก็เลยสร้างซีนเล็กๆ ขึ้นมาด้วยกฎว่าต้องทำเพลงใหม่ ทำโชว์ใหญ่ทุกเดือน วงไหนไม่ทำ ต้องเลี้ยงเบียร์ทุกคนในกลุ่ม ถ้าทุกวงทำหมดก็ไม่มีใครเลี้ยงใคร และถ้าเดือนนั้นไม่มีใครทำอะไรเลยก็กินเบียร์กัน (หัวเราะ)”

เพียว มือเบสของวงเล่าความหลัง กฎที่ทรงประสิทธิภาพนี้ทำให้ชาวสกาเรนเจอร์ฝึกทำเพลงใหม่ได้ต่อเนื่อง โดยไม่รู้เลยว่าต่อมา บทเพลงที่ นะ หัวหน้าวงและนักร้องนำแต่งเหล่านี้จะถูกรวบรวมมาอยู่ในอัลบั้มแรกของพวกเขา

หลังจากตระเวนเล่นดนตรี ฝึกซ้อมฝีมือจนแข็งกล้าในย่านกลางคืนของเชียงใหม่ถึง 3 ปี จุดเปลี่ยนก็เข้าหาตัวเอกของเรื่อง โชคชะตาพาโอกาสแสดงหนังเรื่อง Hangover Part II เข้ามาหาสกาเรนเจอร์ผู้กระตือรือร้น

“ไม่รู้ทำไมพวกเราแคสต์ผ่าน” เพียวบอกตรงๆ ขณะที่นะและ โต้ง มือคีย์บอร์ดควบตำแหน่งทรัมเป็ต พยักหน้าหงึกหงัก

“ตอนแรกรู้แค่ว่ามีหนังต้องการวงดนตรีไปถ่ายที่กระบี่ ตอนนั้นวัยรุ่น เราคิดกันแค่ว่า ‘ไปกระบี่กันเถอะพวกเรา กระบี่เลยนะเว้ย’ ก็เลยสมัครไป เขาก็ส่งเพลง I Ran มาให้เราคัฟเวอร์ การเล่นเพลงนั้นในหนังเรื่องนั้นทำให้เราเริ่มเอาซินธิไซเซอร์มาใช้ในวง หลังจากนั้นเพลงใหม่ของพวกเราใน โน ซิกแนล อินพุต เลยมีซินธ์ไปโดยปริยาย”

ยิ่งค้นคว้าดนตรีนิวเวฟ เพลงเก่าเชย ทรงผมประหลาด ความเปรี้ยวของยุค 80 จับใจบรรดาเด็กปลาย 90 ต้นยุค 2000 พวกนี้เข้าเต็มเปา กลิ่นอายเก่าเก๋านี้ถูกจริตมากจนพวกเขาต้องนั่งลงปรึกษากันว่าต่อไปนี้ เสียงที่อยากจะให้ผู้ฟังได้ยินคือเสียงอะไร จะเป็นซินธ์สกา ซินธ์ร็อก หรือซินธ์ป๊อป

กลุ่มชายหนุ่มตัดสินใจเลือกซินธ์ป๊อป ได้เวลาถอดชุดสกาเรนเจอร์แล้วสวมบทบาทใหม่

POLYCAT แมวที่มีเสียงสังเคราะห์จึงเกิดขึ้นตอนนี้นี่เอง

โพลีแคท เบิร์ด ธงไชย POLYCAT

II

แมวจนมุม

ฉากต่อมาอยู่ที่กรุงเทพฯ เมื่อ POLYCAT เข้าสังกัดค่าย smallroom ความฝันด้านดนตรีของพวกเขาดูโชติช่วงสุกสกาว

“ซินธ์เป็นสิ่งที่คนนอกกระแสนิยมมาก ได้อิทธิพลมาจากวงเมืองนอก” นะอธิบายความหลงใหลของวง “ช่วงนั้นเป็นยุคซินธ์ป๊อป 2000 ที่พัฒนาจากยุค 80 ไปตามกาลเวลา มีแนวเพลงใหม่ เสียงใหม่ เทคนิคใหม่ มากขึ้น อัลบั้มแรกเราก็เป็นซินธ์ป๊อปร่วมสมัย”

POLYCAT เปิดตัวอัลบั้ม 05:57 ในปี 2011 ด้วยจุดเด่นว่าเป็นวงดนตรีซินธ์ป๊อปหนึ่งในไม่กี่วงของเมืองไทย แปลได้อีกอย่างว่ามีแนวเพลงที่คนไม่ค่อยรู้จัก ผลตอบรับที่ได้ตรงข้ามกับคำว่าโด่งดัง

“อยู่บ้านนอนหัวลีบ ต้มบะหมี่กับโจ๊กทุกวัน”

โต้งสรุปช่วงเวลานั้นอย่างสั้นง่ายได้ใจความ

ระหว่างนั้นเพื่อนร่วมวงอีก 2 คนก็ออกจากวงด้วยเหตุผลส่วนตัว ภูผา ตำแหน่งแซกโซโฟนออกไปแต่งงานมีครอบครัวและทำธุรกิจ ส่วนดอย มือกลอง บอกชัดเจนว่าตั้งใจมาส่งเพื่อนให้ถึงอัลบั้มแรก สมาชิกชาว POLYCAT จึงเหลือเพียง 3 คน

ท่ามกลางความมืดมน แสงไฟเวทีจะสาดมาถึงพวกเขา เมื่อได้ออกงานที่ค่ายพาหลายๆ วงไปออกพร้อมกันเท่านั้น

ถึงอย่างนั้น POLYCAT ก็ยังไม่ถอดใจ ไม่คิดโลเลเปลี่ยนใจจากเครื่องสังเคราะห์เสียง

“วงเราทำเพลงแบบไม่คาดหวัง หรือเพราะเป็นคนมักน้อยก็ไม่แน่ใจ เราแค่รู้สึกว่าเราชอบก็ทำ เอาสะใจเราไว้ก่อน ตอนทำอัลบั้ม 2 ก็เหมือนกัน เพลงแบบ 80 จ๋าๆ ไม่ดังแน่นอน นี่ยังพูดกันอยู่เลยว่าใครจะไปฟังวะ แต่นี่ล่ะ ที่เราอยากทำ”

นะเล่าความดื้อของ POLYCAT ด้วยน้ำเสียงหนักแน่น พวกเขาไม่ใช่คนเรื่องมากหรือไม่ยอมอะไรง่ายๆ แต่หัวใจของวงคือสิ่งที่พวกเขาต้องรักษาไว้ และแมวเสียงสังเคราะห์จะไม่ยอมเปลี่ยน

“เสน่ห์ของซินธ์ป๊อปคือการเลือกใช้และนำเสนอเสียงให้คนฟัง แค่เสียงเบส ตอนนี้มีวิธีเยอะแยะและง่ายมาก ที่จะทำให้เบสเสียงเต็มและอุ้มคนฟังด้วยเสียงที่ดี แต่ซินธ์ป๊อปกลับพรีเซนต์ด้วยเสียงคีย์บอร์ดเก่าๆ เหล็กๆ แต๊กๆ เสียงไฟฟ้าฟังแล้วไม่เพราะ แต่ทำจนกลายเป็นวัฒนธรรม เราก็เหมือนคนชอบใส่กางเกงลูกฟูกขาม้า เขาเลือกว่าจะแต่งตัวแบบนี้ เราก็เลือกการพรีเซนต์แบบนี้แล้วเหมือนกัน”

หัวหน้าวงชะโงกตัวมาข้างหน้า จับโต๊ะไม้ที่อยู่ตรงหน้าเขา

“โต๊ะตัวนี้ทำจากไม้ นี่คือเพลงทั่วไปที่ใช้เสียงทรัมเป็ตธรรมดา แต่ถ้าเราจะทำ เราจะทำโต๊ะจากโฟมทั้งหมด เป็นสิ่งที่เราประดิษฐ์มาแทนโต๊ะแล้วทาสีไม้เหมือนกัน แล้วแต่คนว่าจะชอบแบบไหน”

“มันเห่ย แต่เราชอบ เราภูมิใจ” โต้งกล่าวเสริม “ตอนเราทำอัลบั้ม 2 ผมว่ารู้สึกปลอดภัยกว่าเดิมอีก เพราะไม่น่าจะมีอะไรแย่ไปกว่านี้อีกแล้ว ยังไงก็กลับไปกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกับโจ๊กอยู่ดี”

โพลีแคท โพลีแคท

III

ตะปบแสงไฟ

Fortune favors the bold.

สำนวนฝรั่งที่ว่า ‘โชคชะตาเข้าข้างคนกล้า’ ช่างเหมาะเจาะกับวงดนตรีที่สู้ไม่ถอย เพราะไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว อัลบั้ม 80 Kisses ที่ดึงกลิ่นอายยุค 80 มาเต็มเหนี่ยวดังถล่มทลายในปี 2016 ทุกเพลงติดหูและขึ้นอันดับบนสารพัดชาร์ตเพลง

ความสำเร็จนี้ทำให้ POLYCAT งุนงง เพราะพวกเขาเอาแต่ใจตัวเองเต็มที่กว่าอัลบั้มแรก ไม่สนใจเทรนด์หรือพยายามเอาใจใครอื่น

นะเล่าแนวคิดเบื้องหลังชุดเพลงอย่างตรงไปตรงมา

“ตอนแรกเราทำเพลงแบบต้องมีจังหวะให้คนกระโดดในคอนเสิร์ต ตอนแต่งคือ โต้ง มึงกระโดดดิ๊ โดดสนุกๆ แล้วเอาเป็นจังหวะเพลง เวลาเล่นก็คิดว่า ใช่เหรอวะ ให้เขาตะบี้ตะบันโดดไม่ได้แปลว่าเขามีความสุขนี่หว่า”

“เราคุยกันว่าคำว่าสนุกของเรามันคืออะไรวะ เวลาเราไปคอนเสิร์ตวงที่ถูกใจ เราสามคนไม่มีทางกระโดดเลย มากสุดก็พยักหน้า ขยับนิดๆ แบบนี้มันก็สนุกแล้วนี่หว่า” มือเบสเชื้อสายญี่ปุ่นกล่าวเสริม

นักร้องนำเล่าต่อ “เราก็เลยตัดทอนเรื่องเอาใจคน ลืมไปให้หมดเลยว่าคนอื่นอยากได้อะไร ผมอยากทำซินธ์ป๊อปจริงๆ จังๆ ที่กลับไปสู่จุดเริ่มต้น โต้งก็เป็นซินธ์ป๊อปยุคแปดศูนย์ บวกกับตอนนั้นเพียวกลับไปทำตัวจบที่คณะเป็นแจ๊สญี่ปุ่นยุค 80 แนวเพลงเราเลยเป็นอเมริกันรวมๆ กับญี่ปุ่น พบกันใหม่, เพื่อนไม่จริง, เวลาเธอยิ้ม จะออกมาประมาณนั้น

“เราปล่อย 3 เพลงรวดพร้อมกัน มีคนถามเหมือนกันว่าเราใช้ทีเด็ดไปหมดแล้ว ต่อไปจะทำยังไงให้คนสนใจอีก แต่ตอนนั้นเราไม่ได้คิด เราแค่ปล่อย Alright ออกไป คนกดดันที่สุดคงเป็นพี่รุ่ง (รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์) นอกจากเป็นเจ้าของค่าย เขายังเป็นคนขออนุญาตและตัดเอ็มวีเองเลย เขาเป็นเด็ก 80 อยู่แล้ว มันมีอะไรพิเศษสำหรับเขา”

ความเชยของภาพแตกๆ ในละครและเสียงแบบแอนะล็อกทำให้ความโหยหาอดีตฟุ้งกระจาย จากยอดวิว 3 – 4 พันวิวในวันแรกบน YouTube คืบคลานมาเป็นหลายสิบล้านวิวด้วยความแรงสม่ำเสมอ ซินธ์ป๊อปที่ดังอยู่ในหูคนกลุ่มเล็กๆ มาตลอดหลายปี ได้พานะ เพียว และโต้งมาสู่แสงสว่าง มาสู่แฟนเพลงที่อ้าแขนต้อนรับตัวตนพวกเขาอย่างรักใคร่ชื่นชม

POLYCAT ไม่ได้หลงยุคโดดเดี่ยวอีกต่อไปแล้ว

POLYCAT นะ โพลีแคท

IV

มุ่งสู่อดีต

ฉากถัดมา แมวเสียงสังเคราะห์อยู่ที่ญี่ปุ่น

ก่อนไปสู่อัลบั้มที่ 3 POLYCAT แวะพักกลางทาง ปล่อยอัลบั้ม Doyobi No Terebi ที่บรรจุเพลงภาษาญี่ปุ่นทำนองน่ารัก 4 เพลง ในปลายปี 2017 อาจฟังดูเหนือความคาดหมาย แต่เหตุเกิดจากการไปแดนอาทิตย์อุทัย แล้วความทรงจำวิ่งย้อนกลับมาหานักแต่งเพลงประจำวง

“ผมชอบเพลงการ์ตูนตั้งแต่เด็ก แต่ลืมไปหมดแล้ว แล้วเพลง Slam Dunk ตอนไตเติลจะมีรถไฟสีเขียว พอไปญี่ปุ่นผมได้เห็นรถไฟนี้จริงๆ เพลงวิ่งเข้ามาในหัวเลย นี่มันแนวซิตี้ป๊อปนี่หว่า กูอยากทำสักอัลบั้มหนึ่ง เลยกลับไทยมาบอกพี่รุ่ง กะว่าจะทำเพลงไทย แต่พี่รุ่งบอกว่าถ้าจะทำซิตี้ป๊อปก็ต้องทำภาษาญี่ปุ่นให้ถึงไปเลย”

แม้ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น นะเขียนเนื้อเพลงภาษาไทยเกี่ยวกับดอกไม้ พายุ หน้าต่าง และต่างหู แล้วส่งไปให้เพื่อนที่แดนปลาดิบแปลกลับมา และให้ผู้รู้ภาษาช่วยคุมการออกเสียงระหว่างอัดเพลง รู้ทั้งรู้ว่าเพลงญี่ปุ่นไปไม่ถึงมวลชนมหาศาลในเมืองไทย แต่ POLYCAT ก็ขอลองดนตรีนุ่มสดใสย้อนวัยเด็กสักครั้ง

“ครั้งนี้ตามใจตัวเองที่สุดแล้ว โชคดีที่เรามีกลุ่มแฟนคอยซัพพอร์ตประมาณหนึ่ง ไม่รู้ว่ามีคนชอบกี่คน แต่แค่คนเดียวก็ดีใจแล้วครับ” นะกล่าวอย่างถ่อมตัว

ชาว POLYCAT ยืนยันว่าหลังจากนี้ อัลบั้ม 3 จะเต็มไปด้วยสิ่งที่ซาวนด์เชยๆ ภาษาสวยๆ ที่ใครต่อใครคาดหวัง แต่ก็จะใส่อะไรใหม่ๆ ให้ดนตรีของพวกเขาไม่ย่ำอยู่กับที่

โพลีแคท เบิร์ด นะ POLYCAT

V

แมวกระโดดกำแพง

ผ่านร้อนผ่านหนาวจนพากลิ่นอายอดีตมาอยู่ใจกลางวงการดนตรีไทย POLYCAT ได้เขียนเพลง กำแพง ให้เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ รุ่นพี่ในตำนานที่โด่งดังตั้งแต่ยุค 80 จนถึงปัจจุบัน จากวันที่นั่งดูพี่เบิร์ดในทีวี วันนี้วงดนตรีอินดี้ได้ทำงานร่วมกับบุคคลที่ส่งอิทธิพลต่อวัยเด็กและดนตรีของตัวเองแล้ว

“พี่เบิร์ดเหมือนณเดชน์ตอนนี้ ตอนเด็กๆ ถ้าจะบอกว่าหล่อก็ต้องบอกว่าหล่อเหมือนพี่เบิร์ด เป็นซูเปอร์อภิมหาไอดอลตั้งแต่เด็ก งานประจำปีที่โรงเรียนต้องมีสักหนึ่งระดับชั้นที่ต้องแสดงเพลงพี่เบิร์ด เรียกได้ว่าโตมาด้วยกัน” เพียวเอ่ยถึงซูเปอร์สตาร์รุ่นใหญ่อย่างนับถือ

“ตอนผมเป็นเด็ก นั่งดูทีวีอยู่กับแม่ แม่ผมชอบพี่เบิร์ดมาก ตาดูละครที่พี่เบิร์ดเล่นแล้วมือก็ป้อนข้าวผมโดยที่ไม่มองหน้าผม เอาช้อนทิ่มจมูกผม จนพ่อดุว่าเธอไม่ต้องป้อนข้าวลูกแล้ว แม่ฝากเรื่องนี้ไปบอกพี่เบิร์ดด้วย พอเล่าให้ฟัง พี่เบิร์ดเลยทำท่าป้อนข้าวผมแล้วให้ผมส่งรูปไปให้แม่ดู”

นะเล่ากลั้วเสียงหัวเราะ ก่อนเล่าต่อว่าการใช้คำสวยๆ ในเพลงของธงไชย แมคอินไตย์ เช่น ‘รักเธอสุดหัวใจ’ ‘แต่ไม่อยากจะถามเธอให้เสียบรรยากาศ’ บวกกับความจริงใจและเป็นธรรมชาติที่ไม่เคยเปลี่ยนของผู้ชายคนนี้ เป็นตัวอย่างการทำเพลงให้ POLYCAT

“พอเจอตัวจริง ดูออกเลยว่าพี่เบิร์ดเป็นคนบ้างาน เขาจริงใจ ซื่อสัตย์กับสิ่งที่ทำอยู่ มาทำงานตรงนี้จะเหลาะแหละไม่ได้ ต้องเต็มที่กับทุกอย่าง เขาเคยบอกว่าเพลงเล่นๆ ยังร้องให้เพราะได้ แล้วเพลงที่น้องๆ อดหลับอดนอนตั้งใจแต่งมาให้ ทำไมจะร้องให้เพราะไม่ได้ พวกเราเลยเห็นความตั้งใจตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอ”

กำแพง เป็นเพลงที่นะตั้งใจแต่งให้ย้อนยุค เหมือนช่วงแรกที่เบิร์ดร้องเพลงใหม่ๆ มีความวินเทจและให้ความหวังให้กำลังใจแบบ  POLYCAT แต่แฝงความกวนเอาไว้ และไอดอลของพวกเขาก็ถ่ายทอดได้ไพเราะจริงๆ

แมวหลงยุคจากเชียงใหม่กระโดดข้ามกำแพงชั้นแล้วชั้นเล่า กำแพงแห่งกาลเวลา กำแพงภาษา และกำแพงแห่งความทดท้อใจ ฉากสุดท้ายในเรื่องของแมวเสียงสังเคราะห์ ขอให้เพลงของ POLYCAT เล่าความจริงใจด้วยตัวเอง

โพลีแคท เบิร์ด ธงไชย

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)