คงไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอะไรถ้าผมรู้เพียงว่า กลุ่มนักดนตรีที่นั่งอยู่ตรงหน้าคือศิลปินแนว EDM เพราะปัจจุบันดนตรีแนวนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่แต่อย่างใด

แต่ที่ผมตื่นเต้นปนประหลาดใจ เป็นเพราะกลุ่มนักดนตรีที่นั่งอยู่ตรงหน้าประกอบด้วย อดีตแชมป์โลกโอเปร่า อดีตพนักงานรักษาความปลอดภัย และอดีตสมาชิกวงร็อก ผู้ผันตัวมาบุกเบิกแนวเพลง EDM ในวันที่ยังเป็นเพียงสิ่งแปลกปลอมและไม่มีอะไรการันตีว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว

อย่างที่เรารู้กัน การบุกเบิกถางทางไม่เคยเป็นเรื่องง่ายสักครั้ง

สมาชิกของวงมีด้วยกัน 4 ชีวิต ได้แก่ หมิว-วริศรา อภิรักษ์เดชาชัย นักร้องนำ, แขก-ชาลาลีคาน อาลีฟ ซันคาน มือเบสและร้องแร็พ, เอ้-สัณหภาส บุนนาค มือกีตาร์และซินธิไซเซอร์, โอเล่-จิโรจน์ เอี่ยวจินดา มือกลอง
วงของพวกเขาชื่อ BOOM BOOM CASH

BOOM BOOM CASH

เมื่อสมาชิกของวงทยอยมานั่งลงตรงหน้า บทสนทนาของเราจึงดำเนินไปอย่างสนุกสนานไม่แพ้แนวเพลง EDM ของพวกเขา หลายๆ เรื่องเล่าของพวกเขาทำเอาผมประหลาดใจที่ทุกคนมารวมกันได้ในวันนี้-วันที่ BOOM BOOM CASH เป็นหนึ่งในกลุ่มศิลปินที่มาร่วมโปรเจ็กต์ Mini Marathon ของ พี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์

ก่อนหน้านี้ผมเคยฟังเพลงของ BOOM BOOM CASH มาแล้วหลายเพลง และเพลงเพลงหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าเนื้อหาบางท่อนช่างเข้ากับสิ่งที่พวกเขากำลังทำชื่อ Keep Going เนื้อหาท่อนนั้นร้องว่า

‘เส้นทางที่ไม่เดินตามใคร คงไม่ต่างอะไรจากทะเลทราย ดูยังไง มองทางไหนก็ช่างโหดร้าย
หรือจะยอม’


1

คล้ายพรหมลิขิต-ผมคิดว่าอย่างนั้น เพราะหากวันนั้น เอ้ อดีตสมาชิกวงร็อกชื่อ SIX C.E ไม่พาตัวเองไปอยู่ในผับแห่งหนึ่ง บางทีวงการเพลงเมืองไทยอาจไม่มีวงดนตรี EDM ชื่อ BOOM BOOM CASH “มีอยู่ช่วงหนึ่งหลังเรียนจบเราอยากเล่นดนตรีมาก จนวันนึงไปเที่ยวผับ ปกติผมก็ไปดื่มปกติ แต่วันนั้นไม่รู้ทำไม ผมน่าจะเป็นคนเดียวในร้านที่นั่งสังเกตว่าทำไมดีเจเปิดเพลงแบบนี้ แล้วไม่พูดอะไรสักคำ แล้วคนก็เต้นกันหมดคน 700 – 800 คน” เอ้ย้อนเล่า โดยเพลงที่เขาว่าคือแนวเพลง EDM ที่ในบ้านเรายังไม่มีใครสนใจจริงๆ จังๆ

BOOM BOOM CASH

“สมัยก่อนไม่มี MC ด้วยนะครับ เดี๋ยวนี้ต้องมี MC คอยบิลด์คน เมื่อก่อนมีดีเจแค่เปิดเพลงยังไงก็ได้ให้มีคนเต้น คืนนั้นผมก็คิดว่าเพลงที่เปิดไม่มีใครร้องได้สักคนเลยนะ แต่ว่าคนเขาเต้นกันน่ะ คือตอนเราทำวงร็อก ถ้าเล่นเพลงที่คนไม่รู้จัก เขายืนกอดอกดูน่ะ นึกออกไหม พอมาเห็นภาพนี้ โอ้โห กูเล่นดนตรีแทบตาย กระโดดแหกปาก ไม่เห็นมีใครกระโดดกับกูเลย แต่นี่เปิดเพลงแล้วคนเต้นพร้อมกันหมดเลย เพลงสื่อสารด้วยตัวมันเอง”

คืนนั้นชายหนุ่มกลับบ้านด้วยคำถามที่ไม่มีคำตอบ ว่าอะไรทำให้ทุกคนในสถานบันเทิงแห่งนั้นคล้ายถูกดนตรีที่เขาไม่รู้จักร่ายมนตร์ให้ขยับแข้งขยับขาตามกันโดยไม่ต้องมีใครร้องขอ

“พอกลับบ้านก็เลยไปเสิร์ชดูว่ามันคืออะไร ก็เลยเจอทางใหม่ จริงๆ EDM ย่อมากจาก Electronic Dance Music ก็คือเพลงอิเล็กทรอนิกอะไรก็ได้ที่มันอยากเต้น ผมเลยตั้งใจกลับมาทำเพลง ช่วงนั้นเรากำลังใกล้เรียนจบพอดี รู้สึกว่าถ้าเราทำเพลงก็น่าจะทำวงได้แล้ว ก็กลับมาคิด ซึ่งตอนนั้นทุกคนในวงยังไม่ได้เจอกันนะ”

BOOM BOOM CASH

หลังจากเรียนจบ แทนที่จะหางานประจำตามสายอาชีพที่เรียนมาอย่างใครเขา ชายหนุ่มกลับเลือกทำงานที่ให้โอกาสเขาได้วางแผนทำเพลง งานที่เชื่อว่าไม่มีใครเดาออกว่าเขาจะไปทำ

“พอเรียนจบผมไม่อยากขอเงินที่บ้านแล้ว แต่อยากทำเพลง แล้วพอดีเพื่อนผมบอกว่าพ่อเขาทำบริษัทพนักงานรักษาความปลอดภัย ก็เลยโทรไปหาเพื่อน บอกว่ากูขอสมัครเข้าไปทำงาน เพื่อนก็บอกว่ามึงจะมาก็มา ผมก็เลยไปเป็นยาม แล้วใช้ช่วงเวลาที่ว่างหัดทำเพลงอยู่ปีหนึ่ง”

เมื่อมั่นใจว่าอยากบุกเบิกแนวเพลง EDM ในประเทศไทย เขาจึงตัดสินใจชวนอดีตเพื่อนร่วมวง SIX C.E อีก 2 คนคือ แขก มือเบส และ โอเล่ มือกลอง มาร่วมหัวจมท้ายอีกครั้ง

ขาดก็แต่เพียงนักร้องนำที่ยังรอใครสักคน

Mini Marathon Project


2

หญิงสาวหนึ่งเดียวในวงอย่างหมิว นั่งฟังช่วงเริ่มก่อการอย่างเงียบๆ จนกระทั่งผมชวนเธอคุยถึงช่วงที่พวกเขามาบรรจบพบเจอกัน แววตาของหญิงสาวเป็นประกายเมื่อย้อนเล่าถึงเส้นทางที่ผ่านมา

“หนูเรียนดนตรีมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะหนูชอบแบบ classical พวกโอเปร่า จนกระทั่งไปเจอคุณครูที่สอนที่มหาวิทยาลัยมหิดลบอกว่ามีการเรียนการสอนแบบที่เป็น Pre-College ตั้งแต่ ม.4 – ม.6 เรียนโอเปร่าจริงๆ เลย เราก็เลยไปสมัครดู แล้วก็ได้เข้าไปเรียนแล้วเจอคุณครูที่ดีมาก เป็นนัมเบอร์วันในชีวิต เป็นเหมือนแม่อีกคน”

ที่สถานศึกษาแห่งนั้นหญิงสาวได้ร่ำเรียนทุกอย่างที่เธออยากรู้ เธอว่าตลอดชีวิตที่เรียนดนตรีไม่มีช่วงไหนเลยที่ไม่มีความสุข แม้เส้นทางจะโหดหินกว่าที่เธอจินตนาการเอาไว้ก่อนหน้า

“ตอนที่เรียนโอเปร่าโหดมาก คือทุกอย่างต้องฟิกซ์หมดเลย ต้องรักษาร่างกาย ตื่นตี 5 ทุกวันเพื่อที่จะไปว่ายน้ำที่มหาวิทยาลัย ว่ายถึง 7 – 8 โมง แล้วก็อาบน้ำไปเข้าแถวเคารพธงชาติ แล้วไม่ใช่แค่เรียนร้องอย่างเดียว เราเรียนทฤษฎีดนตรี เรียนเปียโน เรียนภาษา 4 ภาษา เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ เพราะมันคือสิ่งที่ควบคู่กับโอเปร่า คือเวลาร้องเพลงโอเปร่าจะมีสายประสาน เราต้องออกสำเนียงให้ถูกต้อง แล้วก็มีเรียนการแสดง เพราะว่าต้องไปแสดงโอเปร่าเป็นเรื่องๆ แล้วก็จะมีพวกแสดงละครเวทีบรอดเวย์ คือบอกว่าเรียนโอเปร่า แต่ความจริงเราต้องเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง”

หมิวบอกว่า ช่วงที่หนักหน่วงที่สุดในชีวิตนักเรียนโอเปร่าคือช่วงที่เธอต้องซ้อมเพื่อไปแข่งชิงแชมป์โลก เธอเล่าว่าในระยะเวลา 6 เดือนเธอต้องร้องอยู่เพลงเดียว เพื่อให้วันแข่งขันสมบูรณ์แบบที่สุด

“ตอนนั้นหนูยังเด็กอยู่ประมาณ ม.6 ร่างกายยังไม่แข็งแรงพอที่จะร้องเพลงที่เลือกได้ คือเพลงที่ครูให้หนูแข่ง เป็นเพลงที่เด็กปริญญาโทเขาร้องแข่งกัน ซึ่งมันจะใช้เทคนิคที่ต้องใช้ร่างกายพวกกล้ามเนื้อข้างใน ซึ่งตอนนั้นกล้ามเนื้อเรายังไม่แข็ง เราก็เลยต้องไปว่ายน้ำทุกวันให้กล้ามเนื้อมันชิน เราซ้อมเกือบทั้งปีเพื่อให้เขาตัดสินเราเพียงแค่ 3 – 4 นาทีเท่านั้น”

โชคดีที่เวลาเกือบปีไม่สูญเปล่า หมิวคือคนไทยคนแรกที่คว้าแชมป์โลกโอเปร่า ทั้งจากเวที Osaka International Music Competition และ Barry Alexander International Vocal Competition และครั้งหนึ่งในชีวิตเธอก็ได้ไปยืนร้องที่เมกกะแห่งวงการดนตรีคลาสิกอย่าง Carnegie Hall ในฐานะนักร้องโอเปร่าแชมป์โลก

“ตอนนั้นพอเราเดินไปถึงจุดจุดนั้นก็แอบคิดว่า เราทุ่มเทเกือบทั้งชีวิตมาตรงนี้แล้ว จะยังไงต่อดี ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ม.6 พอดีต้องขึ้นปี 1 หนูก็แบบเอาไงดีนะ เพราะว่าตอนนั้นก็ได้ทุนที่ออสเตรียกับเยอรมนี”

BOOM BOOM CASH

เมื่อครุ่นคิดกับตัวเองถ้วนถี่หญิงสาวกลับเลือกปฏิเสธทุนที่ได้รับแล้วเรียนต่อในไทยที่มหาวิทยาลัยมหิดล

“ตอนนั้นไม่รู้อนาคตโอเปร่าในไทยจะเป็นยังไง คนเขาจะเข้าใจเราหรือเปล่า เช่นเวลาร้องเพลง หนูฝึกแทบตายเพราะมันยากมาก แล้วหนูร้องภาษาเยอรมัน อิตาลี คำที่หนูร้องออกมาคนที่ฟังก็อาจจะไม่เข้าใจ หรือว่าโน้ตที่หนูร้อง หนูใช้เทคนิคนี้ คนก็อาจจะไม่เข้าใจหนูร้อยเปอร์เซ็นต์” หมิวอธิบายเหตุผลที่ไม่เลือกเดินทางไปศึกษาต่อเพื่อก้าวเป็นนักร้องโอเปร่าระดับโลก

ฟังเธอเล่ามาถึงจุดนี้ใครหลายคนย่อมประหลาดใจไม่ต่างกันว่าอะไรทำให้นักร้องโอเปร่าระดับแชมป์โลกอย่างหมิวกลายเป็นนักร้องนำวง EDM

“ประมาณตอนเรียนปี 2 ช่วงปลายๆ ใจเริ่มไปทางอื่นแล้ว คือยังมีความสุขกับการร้องโอเปร่าอยู่ แต่คิดว่าจบไปแล้วทำงานอะไรต่อ ก็เลยอยากจะร้องอย่างอื่นบ้าง ลองหาอะไรใหม่ๆ ทำดู แล้วตอนนั้นพี่เอ้ก็มาชวนว่ามาร้องเพลงกับวงพี่มั้ย แต่ทำวงแนว EDM นะ หนูก็ถามเป็นยังไงหรอ พี่เขาบอกว่าก็ยังไม่รู้เหมือนกัน คือทุกอย่างมันไม่เคยเกิดขึ้น คือมันเป็นจินตนาการที่ไม่สามารถบอกได้ว่า อ๋อ ก็เหมือนวงนั้นไง เพราะมันไม่มี พี่เขาก็บอกว่าเดี๋ยวทำเพลงส่งมาให้ฟัง คือตอนนั้นมันยังงงๆ อยู่ แล้วหนูก็งงๆ ชีวิตของตัวเอง ก็เลยบอกพี่เอ้ว่า โอเค มาลองทำกันดู”

“จากนักร้องโอเปร่าระดับแชมป์โลกมาเป็นนักร้องนำวง EDM ที่ยังไม่มีคนรู้จัก รู้สึกยังไง” ผมถามหญิงสาว

“ตอนนั้นเครียดมากเลย เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ถ้าเราเลือกทางนี้เราจะผิดไปตลอดชีวิตหรือเปล่านะ แล้วไม่มีใครสนับสนุนเลยทั้งพ่อแม่ ทั้งอาจารย์ เพราะเขาปูเราให้มาทางนี้ตั้งแต่เด็ก ตอนที่หนูเดินไปบอกอาจารย์ว่าหนูจะเปลี่ยนสาขา จะขอไปอยู่สาขาอื่นแทนโอเปร่า อาจารย์ใจสลายเลยค่ะ เขาบอกว่า why why why เธอผ่านสิ่งต่างๆ มาไกลมากแล้ว ทำไมถึงเลือกแบบนี้”

“แล้วไม่เสียดายสิ่งที่ผ่านมาเหรอ”

“ไม่เสียดายค่ะ เพราะว่าสิ่งที่หนูเรียน ประสบการณ์ทุกอย่างมันยังอยู่ในนี้ค่ะ มันอยู่ในตัวหนู มันยังหล่อหลอมหนูอยู่ทุกวันนี้ แล้วอย่างน้อยหนูก็พูดได้ว่า เราเคยไปถึงขั้นไหน เราประสบความสำเร็จจนถึงจุดจุดหนึ่งก็ โอเค เรารู้ว่าเราทำมันเต็มที่แล้ว เราไม่เสียดายที่ทำมัน เราทำไปจนถึงจุดสูงสุดแล้ว ก็อยากลองทำอย่างอื่นบ้าง”

และในที่สุด BOOM BOOM CASH ก็ได้นักร้องนำดีกรีแชมป์โอเปร่าโลก

BirdxBOOM BOOM CASH

3

ในช่วงที่ยังไม่มีใครรู้จัก BOOM BOOM CASH และแนวเพลง EDM เพลงที่ชื่อ BLUR BLUR ซึ่งเป็นซิงเกิลแรกของวงคล้ายเป็นนามบัตรของพวกเขาในการตระเวนเล่นตามสถานบันเทิงยามค่ำคืน

“วันแรกที่เราเล่นกับวงมันมีคนดูแค่ยี่สิบกว่าคนเองครับ มีค่ารถให้คนละ 600 ก็ไปเล่นกัน” เอ้เล่าบรรยากาศตอนแสดงสดครั้งแรก “ตอนช่วงแรกๆ มีนักข่าวไปหาบ่อยมาก เมื่อก่อนเล่นเสร็จตี 1 ตี 2 มารอเพื่อมาถามว่าอะไรคือ EDM แค่นั้นเอง ตอนนั้นวงเริ่มต้นใหม่ เราไม่รู้เลยว่าจะได้เงินเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้น ห้ามใช้เงินเป็นที่ตั้งเลยในช่วงแรก เพราะไม่รู้เลยว่าจะได้เมื่อไหร่ เผลอๆ ทำไปปีหนึ่งอาจจะเจ๊งก็ได้ แต่อย่างน้อยๆ ทำให้มีความสุขแล้วกัน มันจะได้อยากทำ

“ตอนนั้นก็คิดว่าอยากจะอยู่รอดด้วยสิ่งนี้สักที คือได้ทำสิ่งที่รักแล้วรอด เราจะได้ทำไปตลอด ก่อนนอนก็จะคิดว่าได้ขึ้นเวทีใหญ่” เอ้เล่าถึงช่วงที่พวกเขาเริ่มเป็นที่รู้จักในวงแคบๆ

ด้วยความที่เป็นแนวดนตรีใหม่ที่ไม่เคยมีใครในวงเคยรู้จักมาก่อน ทุกคนจึงต้องปรับจูนใหม่หมด โดยเฉพาะนักร้องนำเสียงโอเปร่าอย่างหมิว

“มันแปลกมากๆ ต้องเรียนรู้อะไรใหม่หมดเลย เรียนรู้ด้วยตัวเอง เมื่อก่อนร้องโอเปร่าหนูไม่เคยใช้ไมโครโฟนมาก่อน ไม่เคยต้องร้องกับวงดนตรีสด เคยร้องแต่กับวงออร์เคสตรา ไม่เคยต้องพูด ไม่เคยต้องเอนเตอร์เทนคนดู เคยแต่ยืนสวยๆ ก้มสวยๆ แล้วก็เดินกลับไป (หัวเราะ) แต่พอมาเป็นนักร้องนำมันก็ต้องทำหน้าที่ให้ดี หนูก็เลยรู้สึกว่าเราเป็นเหมือนเบบี๋เลย แต่มันสนุกดีนะ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้ทำอะไรใหม่

BOOM BOOM CASH

“ซิงเกิลแรกที่ชื่อ BLUR BLUR ประสบความสำเร็จเลยหรือเปล่า” ผมชวนพวกเขาย้อนมองซิงเกิลที่เป็นจุดเริ่มต้น

“สำเร็จในสิ่งที่เราอยากจะบอกให้คนรู้ว่าเราเป็นแบบนี้นะ เรามาแล้วนะ เหมือนแนะนำตัวให้คนรู้จัก” เอ้ตอบก่อนที่หมิวจะเล่าต่อ “โชว์แรกตอนแรกคนก็นั่งกันหมดเลย คือเขาก็คงงง มีเพลงแค่เพลงเดียวคือ BLUR BLUR ซึ่งเขาร้องเพลงเราไม่ได้อยู่แล้ว แล้วเขาจะสนุกกับเรามั้ยนะ แต่ภาพสุดท้ายที่เห็นก็คือ มีคนปีนโต๊ะ แล้วทุกคนยืนเต้น มีคนกระโดด

“คำพูดที่อยู่ในหัวหนูคือ นี่แหละ ใช่” หมิวเน้นเสียงที่คำท้าย “พอเล่นปุ๊บ แล้วแบบ โอ้โห ตัวเราเองสนุกจนลืมทุกอย่างไปเลย หันไปเห็นใครในวงก็มีแต่คนเล่นแล้วยิ้ม เล่นแล้วสนุก อย่างตอนหนูร้องโอเปร่าก็จะเครียดกัน เพราะมันต้องเป๊ะ อันนี้หันไปทุกคนเฮฮา หนูก็เลยคิดว่านี่แหละความสุขที่ต้องการ คือหนูเล่นดนตรีมาหลายแนวก็เลยรู้สึกมาก ขนาดคนเขาไม่รู้จักเพลงเราเขายังสนุกกับเราได้ เหมือนหนูเก็บกดยังไงไม่รู้ วันนั้นปีนเก้าอี้บ้าคลั่ง ขนาดเราเป็นแค่ศิลปินตัวเล็กๆ อยู่เลย คนฟังไม่รู้จักเรา เราก็ไม่รู้จักเขา แต่ทำไมมันสนุกขนาดนี้ นี่แหละสิ่งที่เราได้รับจากคนดู เวลาหนูร้องเพลง”

ฟังพวกเขาเล่าถึงตรงนี้ผมก็ย้อนนึกถึงค่ำคืนที่เอ้ค้นพบดนตรีปริศนาที่ทำให้คนลุกขึ้นมาเต้นราวกับโดนสะกดมาวันนี้เขาคงค้นพบคำตอบแล้วเรียบร้อย

หลังจากซิงเกิลแรกพวกเขาทยอยปล่อยซิงเกิลมาเรื่อยจน ชื่อของ BOOM BOOM CASH ไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาดในวงการดนตรีอีกต่อไป แล้วความฝันที่จะได้เล่นเวทีใหญ่ของเอ้ก็เป็นจริงเมื่อพวกเขาได้รับเลือกให้เล่นเป็นวงปิดในงาน Big Mountain Music Festival ครั้งที่ 5

“ป๋าเต็ด ยุทธนา เขาอยากให้วงเราเล่นวงปิดเทศกาลเขา วงเราขึ้นตอนตี 5 ตอนประมาณตี 4 ผมเดินไปดูลาดเลาอีกที มีคนประมาณ 10 คนกับขยะกองหนึ่ง” เอ้ย้อนเล่าถึงประสบการณ์บนเวทีใหญ่ครั้งแรก “ผมก็ไปบอกวงว่าไม่มีคนดูเลยว่ะ ขึ้นไปเล่นแค่สนุกก็พอ แล้วตอนนั้นพี่โจ้-โจอี้ บอย จะมาขึ้นด้วย เพิ่งอัดรายการทีวีเสร็จก็ดิ่งมาจากกรุงเทพฯ ระหว่างทางก็โทรมาถามว่าพวกเราขึ้นเวทีหรือยัง ผมก็บอกพี่โจ้ว่า ไม่มีคนเลย พี่ไม่ต้องมา สงสารพี่ คือพี่เขาอยากมาเล่นด้วย เพราะเราทำเพลงด้วยกัน 2 เพลง เขาก็บอกว่า ไม่เป็นไร เดี๋ยวกูไปเล่นกับพวกมึงแหละ ก็วางสายกันไป เราก็บูมอะไรกันเสร็จหลังเวที พอออกไปเราเห็นตอนนั้นเลยว่าคนมาดูสุดลูกหูลูกตา มันไม่มีเหลือที่ว่างเลย คือเราไม่ได้เห็นตอนที่คนมาไง โอ้โห อะไรวะนี่”

แล้วปฏิกิริยาจากผู้ชมคอนเสิร์ตครั้งนั้นก็คล้ายเป็นคำยืนยันว่าพวกเขาสามารถหว่านแนวเพลง EDM ลงในกลุ่มคนฟังได้สำเร็จ

หลังลงจากเวที ป๋าเต็ดซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง Big Mountain Music Festival ถึงกับบอกว่า

“โชว์สนุกมาก เป็นวงปิดที่สมบูรณ์แบบ”

BOOM BOOM CASH

 

4

เพลงที่ BOOM BOOM CASH แต่งให้พี่เบิร์ด ธงไชย เพื่อเป็นหนึ่งในโปรเจกต์ Mini Marathon ชื่อเพลงว่า พี่เปิดให้ โดยพวกเขารับหน้าที่เป็นคนร้องท่อนแร็พในเพลงนี้ด้วย

“ตอนแรกที่พี่อ๊อฟ Big Ass ติดต่อมาบอกให้เราทำเพลงให้พี่เบิร์ด เราคิดว่าพี่เขาอำ แล้วตอนทำเราก็ทำไปด้วยความรู้สึกว่าเดี๋ยวพี่เขาไม่เอาแน่เลย คือเหมือนดีใจนะ แต่จะมีความรู้สึกนี้อยู่ตลอด เราก็ทำเต็มที่ แล้วตอนแรกตอนพี่อ๊อฟบอกว่าให้แต่งให้พี่เบิร์ดร้อง แต่เราก็อยากให้มีเสียงคนในวงอยู่ในเพลงด้วย ก็เลยแต่งท่อนแร็พให้มันยากๆ ให้พี่เบิร์ดร้องไม่ได้

“สุดท้ายพี่เบิร์ดบอกว่า สงสัยพวกเราต้องอยู่ในเพลงแล้ว แล้วพวกเราผู้ชายก็แร็พกันทั้งสามคนครับ พอมาแร็พ แล้วไหนๆ ก็มากันสามคนแล้ว เลยให้หมิวร้องท่อนฮุกกับพี่เบิร์ดด้วยแล้วกัน” เมื่อเอ้ว่าถึงตรงนี้สมาชิกในวงทุกคนก็หัวเราะพร้อมกัน

แม้พวกเขาจะเล่าติดตลกไว้อย่างนั้น แต่เมื่อได้ฟังเนื้อเพลงที่พวกเขาแร็พและคิดถึงเส้นทางชีวิตที่พวกเขาเล่า ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องเหมาะสมดีแล้วที่พวกเขาจะเป็นผู้ถ่ายทอด

บางวรรคของเนื้อเพลง พวกเขาแร็พว่า

พุ่งทะยานออกไปแล้วไม่หันกลับมามอง ถ้าคิดว่าจะมาหยุดทุกๆ อย่างไม่ต้องลอง

หนทางข้างหน้าไม่ใช่เงินและไม่ใช่ทอง แต่มันคือความฝันที่เรานั้นอยากจะครอง…

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)