เมื่อเดินเข้าไปในบ้านหลังหนึ่งย่านบางใหญ่ ผมเห็นกีตาร์หลักสิบตัวแขวนเรียงรายอยู่บนกำแพง

กีตาร์แต่ละตัวที่แขวนอยู่มีร่องรอยการใช้งานปรากฏชัดเจน บางตัวมีบาดแผลที่เห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า สิ่งเหล่านี้บ่งบอกได้ว่าพวกมันผ่านการถูกใช้งานมาอย่างหนักหน่วง

นั่งรอในบ้านได้ไม่นาน เมธี อรุณ นักร้องนำวง LABANOON เจ้าของกีตาร์และเจ้าของบ้าน ก็เปิดประตูเข้ามาและทักทายพร้อมรอยยิ้ม ก่อนที่เพื่อนร่วมวงอีก 2 ชีวิตอย่าง อนันต์ สะมัน และ ณัฐนนท์ ทองอ่อน จะตามเข้ามาสมทบจนครบวงสนทนา

เรานัดพบกันในวาระที่ลาบานูนเป็น 1 ใน 8 ศิลปินที่มาร่วมในโปรเจกต์พิเศษของ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ที่ชื่อ Bird Marathon Project ก่อนจะย้อนพูดคุยถึงเส้นทางดนตรีของวงตั้งแต่วันที่ยังเป็นเด็กน้อยในวงการมาจนกระทั่งวันที่ได้มาบรรจบร่วมงานกับนักร้องซูเปอร์สตาร์ในวันนี้

จากการสนทนาที่มีเสียงหัวเราะดังสลับความเงียบทำให้ผมรู้ว่า เส้นทางชีวิตของพวกเขาคล้ายกีตาร์ที่แขวนอยู่บนกำแพง

นั่นคือมันสวยงามดีแม้จะมีร่องรอยของการกระทบกระแทกก็ตาม   

  1.

เพลงมันพาเรามาไกล

ลาบานูนเป็นวงที่เริ่มต้นบนเส้นทางดนตรีอย่างเรียบง่าย ไม่มีอะไรหวือหวา ไม่มีความฝันยาวไกลในวันแรกๆ เหมือนวงร็อกวงอื่นๆ แต่จากจุดนั้นก็พาพวกเขามาอยู่จุดนี้

“คือเราอาจจะชอบดนตรี เราชอบฝัน แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าเราจะต้องมีอัลบั้ม ต้องเป็นศิลปิน เราชอบร้องเพลง เราเล่นกีตาร์แล้วรู้สึกมันสนุก เมื่อก่อนเราประเมินฝีมือเราแล้วคิดว่ามันไม่สามารถไปถึงจุดอาชีพได้หรอก ประเมินอย่างนั้น ไม่คิดไม่ฝันหรอกว่าวันหนึ่งผมจะแต่งเพลงได้ ทำเพลงได้ เราไม่ได้ฝันเลยว่าจะเป็นลาบานูนอย่างทุกวันนี้” เมธีย้อนเล่าถึงวันที่ดนตรียังเป็นเพียงบางสิ่งที่หล่อเลี้ยงหัวใจไม่ใช่ปากท้อง

จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตพวกเขาคือการเข้ารอบ 10 วงสุดท้ายในรายการประกวดวงดนตรีระดับมัธยมอย่างเวที Hotwave Music Awards ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2540

แม้จะไม่ได้แชมป์มาประดับโปรไฟล์แต่เอกลักษณ์ฉพาะตัวที่หาไม่ได้จากวงอื่นๆ บนเวทีเดียวกันก็ไปสะดุดหู สะดุดตา และสะดุดใจ ของ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ แห่ง Music Bugs จนทำให้เขาได้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินตั้งแต่ยังเรียนอยู่ระดับชั้นมัธยมปลาย

ฟังดูเหมือนง่ายดายใช่ไหม นั่นแหละ เมื่อเรามองใครหรือสิ่งใดจากระยะไกลเป็นธรรมดาที่เราจะมองไม่เห็นถึงร่องรอยบาดแผลของสิ่งนั้น ไม่แปลกที่หลายคนจึงอิจฉาชีวิตของเหล่าศิลปิน โดยที่ไม่รู้ว่าพวกเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง

“ตอนที่ผมร้องเพลง ยาม ผมแทบท้อ อยากไปบอกพี่เอกว่า ไม่ออกแล้วอัลบั้ม ด้วยความที่เพิ่งรู้ตอนอยู่ในห้องอัดว่ามันยาก เราไม่ได้เกิดมาเพื่อร้องเพลง เราไม่ได้รู้เกี่ยวกับศาสตร์ดนตรีเลย เราไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ากูเป็นนักดนตรีเหรอวะ กูเป็นศิลปินเหรอวะ ไม่รู้ด้วยซ้ำ” เมธีย้อนเล่าถึงวันที่เข้าห้องอัดเพลงครั้งแรกในชีวิต

“บอกตรงๆ ว่าที่ผ่านมาก่อนหน้าเราทำอะไรด้วยความรู้สึกจริงๆ จะว่าเรามั่วก็ได้ ไม่มีศาสตร์อะไรเลย โน้ต โด เร มี คืออะไร ถ้าให้เอาเปียโนมากดแล้วให้ผมร้องตามโน้ตนั้น หูผมยังฟังไม่ได้เลยว่าเป็นโน้ตอะไร พอเจอเขาสอนก็รู้สึกว่า โห ทำไมมันยากจัง คอแทบพัง น้ำตาแทบไหล จนพี่เอกต้องค่อยๆ ป้อน ค่อยๆ ไป เหมือนเรียนวิชาวัดเส้าหลิน”

“ร้องไปกี่รอบ จำได้มั้ย” ผมถาม

“พันกว่ารอบ เมื่อก่อนร้องตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 6 โมงเช้า ไม่ผ่านสักที ต้องเข้าใจว่าเมื่อก่อนไม่เหมือนสมัยนี้ที่จะจูนเสียงได้ ถ้าคุณร้องเพี้ยนก็ต้องอัดใหม่หมดเลย ต้องเอาให้ได้ มันก็เป็นผลพลอยได้ด้วยว่ามันก็ได้ฝึกไปในตัว เวลาร้องสดมันก็เป็นของจริงที่ออกมา” นักร้องผู้มีสำเนียงสุดแสนเป็นเอกลักษณ์ตอบด้วยรอยยิ้ม

โชคดีที่การร้องหลักพันรอบของเขาไม่สูญเปล่า เพลง ยาม คล้ายเป็นการป่าวประกาศให้คนทั้งประเทศรู้จักวงดนตรีที่ชื่อ ลาบานูน กลายเป็นเพลงฮิตทั่วบ้านทั่วเมืองในยุคที่คำว่า ‘ไวรัล’ ยังไม่มีใครรู้จัก อัลบั้มแรกที่ชื่อ นมสด ซึ่งวางแผงเมื่อ พ.ศ. 2541 มียอดขายเกินล้านตลับ

ไม่มีเพลง ยาม ไม่มีลาบานูน-เมธีว่าอย่างนั้น

“ตอนนั้นผมเป็นคนจนคนหนึ่ง พ่อแม่ผมเงินเดือน 4,000 บาท ที่บ้านรับจ้างกรีดยางพารา บ้านที่อยู่เวลาฝนตกก็รั่วบ้างไม่รั่วบ้าง เพลง ยาม เปลี่ยนชีวืตผม คืออย่างน้อยก็ได้ซื้อที่ดินให้แม่ผมตัดยาง สร้างบ้านให้แม่อยู่แม้จะไม่ได้ใหญ่โตอะไร จากพื้นที่ไม่มีกระเบื้องก็ปูกระเบื้องให้ จากไม่มีรถก็มีรถมือสองขี่ มีทุนการศึกษาให้เราเรียน ส่งตัวเองได้ นี่คือการเปลี่ยนชีวิตที่ยิ่งใหญ่มากในชีวิตผม

“เพลงมันพาเรามาไกล ตอนแรกเราอาจจะเข้าใจว่าเพลงมีไว้ฟังเฉยๆ ตอนนี้มันให้อะไรกลับมาเยอะมาก”

 

ลาบานูน เบิร์ด ธงไชย

2.

ชีวิตเหมือนชิงช้าสวรรค์

3  อัลบั้มแรกของลาบานูน ไล่ตั้งแต่ นมสด, 191 และ คนตัวดำ ล้วนมียอดขายทะลุล้านตลับ ซึ่งต้องไม่ลืมว่าเป็นยอดขายล้านตลับโดยที่อยู่ค่ายเล็ก ไม่ได้มีสื่อในมือมากมายช่วยโปรโมต ในขณะที่อัลบั้มถัดๆ มาก็ได้รับการตอบรับที่น่าพอใจ

หากแต่อยู่ดีๆ พวกเขาก็หายไปจากวงการโดยไม่ได้มีการร่ำลา ไม่มีเพลงไม่มีอัลบั้มออกมาให้แฟนๆ ได้ฟัง

ตอนนั้นบางเสียงพูดกันถึงขั้นว่า ลาบานูนยุบวง

“ชีวิตเหมือนชิงช้าสวรรค์ มีขึ้นมีลง” เมธีสรุปสัจธรรมที่เรียนรู้จากชีวิตช่วงนั้น ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในเส้นทางสายดนตรี “7 – 8 ปีที่แล้วผมไม่ร้องเพลงไม่แตะกีตาร์เลยนะ ตอนนั้นเราเกือบยุบวงจริงๆ คิดว่าคงไม่มีลาบานูนแล้วจริงๆ ตอนแรกกีตาร์ 4 ตัวนี้ผมจะขายหมดเลย”

ใช่, นักร้องนำของวงพูดถึงกีตาร์บางตัวที่แขวนไว้บนกำแพงซึ่งปะทะสายตาของผมตั้งแต่เดินทางมาถึง

“วันหนึ่งลาบานูนเหมือนว่าเริ่มเชย แล้วท่ามกลางทุนนิยม ปลาใหญ่กินปลาเล็ก รูปแบบการบริหารงาน และทีมงานเก่าๆ ที่ช่วยกันสร้างลาบานูนมาก็แยกย้ายกันออกไป เหลือแค่เราที่ยังอยู่ เลยกลายเป็นว่าผมเบื่อ ผมรู้สึกว่าผมผิดหวัง รู้สึกว่าผมเจ็บ ความจริงตอนนั้นลาบานูนก็ยังมีงานจ้างอยู่นะ อย่างน้อยๆ เดือนหนึ่งเงินเป็นแสนก็ยังหาได้อยู่ แต่ผมไม่เอา ผมไม่อยากเล่น ตัดสินใจไปทำงานข้าราชการเงินเดือน 20,000”

หลังจากเมธีพูดจบ อนันต์ซึ่งผ่านช่วงเวลานั้นมาด้วยกันจึงเล่าเสริม “ณ ตอนนั้นถือว่าแต่ละคนก็ไปทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่มีคำตอบเหมือนกันว่า จะอีก 2 ปีมาเจอกันนะหรืออีก 1 ปีมาเจอกัน ไม่มีใครรู้เลยว่าจะกลับมาไม่หรือกลับมา อาจจะไม่กลับมาเลยก็ได้”

ช่วงเวลานั้นเมธีซึ่งเป็นนักร้องนำตัดสินใจสมัครเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ อนันต์ไปทำงานด้านไอทีในบริษัทเอกชน ในขณะที่สมพร มือกลองคนเก่าย้ายไปเล่นให้วงกะลา

“ตอนนั้นคิดเหรอว่าในชีวิตยังมีอะไรที่ทำได้ดีกว่าเล่นดนตรี” ผมถาม

“ไม่มี ได้รู้แล้วไงครับเมื่อไปทำอย่างอื่น” นักร้องนำของวงตอบทันที

“แล้วจุดเปลี่ยนที่ทำให้กลับมาสู่วงการดนตรีอีกรอบคือจุดไหน”

“พี่กบ (ขจรเดช พรมรักษา) กับเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง” เมธีบอกก่อนจะเล่าบางเหตุการณ์ที่ติดในความทรงจำ

“วันนั้นผมขับรถอยู่ กำลังจะไปสอนที่มหาวิทยาลัย ก็เปิดวิทยุ แล้วมีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเขาบอกว่า อยากฟังลาบานูน เมื่อไหร่ลาบานูนจะออกเพลงใหม่คะ คือมันบังเอิญฟังวิทยุพอดีน่ะ เฮ้ย ยังมีคนคิดถึงลาบานูนอยู่เหรอวะ แล้วที่สำคัญพี่กบโทรมาบอกว่า ‘กูคิดถึงลาบานูนว่ะ’

“ผมก็อึ้งอยู่ ยังไม่ตอบอะไร สองเหตุการณ์นั่นแหละจุดประกายแรกเริ่ม ก็เลยคิดว่ายังไงดีวะ กลับไม่กลับ ตอนนั้นเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย 3 ปี ทำงาน อบจ. ได้ปีหนึ่ง รวม 4 ปี สุดท้ายก็ตัดสินใจว่ากลับ แต่ผมโชคดีตรงที่ ผมรู้สึกว่าพี่ๆ เขาคงคิดถึงผมอยู่เสมอ สุดท้ายเขาก็ไม่ได้ทิ้งผม ตอนที่รู้ว่าจะย้ายมาแกรมมี่ เขาก็พยายามให้ผมไป featuring กับพี่ตูน บอดี้แสลม มาคลุกคลีกันก่อน นั่นแหละ มันก็เลยทำให้รู้สึกอบอุ่น เราไม่ได้อยู่เดียวดาย

“ย้อนกลับไปตอนที่เลิกเล่นดนตรีผมจะขายกีตาร์หมดเลย โชคดีวันนั้นเจ้าของร้านไม่อยู่ที่ร้าน ออกไปข้างนอก พนักงานบอกเฮียกำลังมา ผมบอกว่าไม่ทันแล้ว ผมต้องขึ้นเครื่องแล้ว ผมก็เลยหิ้วกีตาร์กลับมา ทุกวันนี้เวลาผมดูกีตาร์ 4 ตัวนี้ น้ำตาผมไหลตลอดเลย มันมีความหมายมาก” 

อนันต์ ลาบานูน   3.

ถึงเวลาที่คนจะกลับมากินกะเพราไก่ไข่ดาว

หลังจากกลับมาทำเพลงอีกครั้ง วงได้สมาชิกใหม่คือ ณัฐนนท์ มือกลองคนปัจจุบันซึ่งย้ายมาจากวง Oblivious แทนมือกลองคนเดิม

“ตอนกลับมาผมก็ไม่มั่นใจนะว่าจะกลับมาได้ แต่ผมมาถูกจังหวะ มาถูกว่าวงการต้องการอาหารแบบนี้ ผมรู้สึกว่าคนไทยกินพวกแซลมอน สเต๊ก อาหารญี่ปุ่น มาเยอะแล้ว ผมรู้สึกว่าถึงเวลาที่คนไทยจะกลับมากินกะเพราไก่ไข่ดาว ผมรู้สึกว่าพริกเผา พริกแกง ได้เวลาของมันแล้ว”

อาหารเรียบง่าย กินง่ายที่เมธีว่าเขาหมายถึงเพลงซิงเกิลแรกอย่าง ศึกษานารี ที่ฟังแล้วคิดถึงลาบานูนในยุครุ่งเรือง เพลงอาจไม่ได้เหนือชั้นชนิดคนนั่งแกะคอร์ดต้องปวดหัว แต่เมธีเชื่อว่าคนฟังโหยหาเพลงแบบนี้ และเพลงแบบนี้คือนิยามของเพลงแบบลาบานูน

“ศาสตร์การแต่งเพลงของลาบานูนคือต่อให้โจทย์ยากยังไง เพลงต้องไม่เข้าใจยากเด็ดขาด ผมคิดเยอะนะ แต่เวลาทำจะไม่ทำให้ยากเด็ดขาด เอาให้ง่าย ไม่ซับซ้อน คือเหมือนขอให้ส่งบอลมาหน้าประตูให้ผม ผมยิงท่าง่ายๆ นี่แหละ ขอให้เข้าประตูก็พอ

“ซิงเกิ้ลแรกคือ ศึกษานารี ไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่ละคนมาท่ายาก ผมแต่งเพลงง่ายๆ นี่แหละ จนมาถึงซิงเกิล เชือกวิเศษ  7 เพลงแรกที่เป็นซิงเกิลมียอดวิวรวมกันพันกว่าล้าน พลังงานจน ร้อยกว่าล้าน เชือกวิเศษ สี่ร้อยกว่าล้าน แพ้ทาง สามร้อยกว่าล้าน ฉันก็คง ร้อยกว่าล้าน ใจกลางเมือง สองร้อยล้าน” เมธีย้อนเล่าการกลับมา

แต่แม้จะเอ่ยถึงตัวเลขยอดวิวในยุคที่ไม่มียอดขายเทปให้พูดถึง แต่สำหรับเมธี สิ่งที่มีค่าแท้จริงหาใช่ยอดวิวเหล่านั้น หากแต่มันคือการที่เพลงที่เขาเขียนที่เขาแต่งไปส่งแรงสั่นสะเทือนชีวิตของผู้ฟัง

“วินาทีที่ได้ร้อยล้านวิวผมก็ตื่นเต้นนะ แต่ก็ไม่ได้ดีใจภูมิใจอะไรกับมันมาก แต่อย่างเพลง ตายดาบหน้า มีคนดูแค่สามล้านกว่าวิว แต่ผมรู้สึกว่ามันมีค่า คือมีเพื่อนผมคนหนึ่งที่เป็นมือเบส เขาเป็นโรคมะเร็ง เมียขอหย่า เกือบจะฆ่าตัวตายอยู่แล้ว แต่อยู่ๆ วันหนึ่งเขาฟังเพลง ตายดาบหน้า จบแล้วเขาส่งข้อความมาว่า ‘ขอบคุณเพลงเพื่อนว่ะ ที่ทำให้กูอยากมีชีวิตอยู่ต่อ’  คือเพลงบางเพลงมันทำให้คนที่คิดจะฆ่าตัวตายแล้ว คิดว่าชีวิตกูไม่มีความหมายแล้ว ได้รู้ว่าชีวิตมีค่า ซึ่งนี่คือสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิต หรืออย่างเพลง พลังงานจน บางคนที่คิดว่าทำไมชีวิตต้องดิ้นรน ฟังแล้วบอกว่า ผมจะทำงาน เก็บตังค์ เลี้ยงดูพ่อแม่ คือนี่มันไม่ใช่แค่เพลงแล้ว

“ผมไม่ไม่รู้จะอธิบายยังไง เวลาดูยอดวิวผมตื่นเต้นกับมันนะ แต่มันก็ไม่ค่อยมีค่า ยอดวิวเป็นเรื่องที่เดี๋ยวมันก็ลง อย่างเพลง ตายดาบหน้า เป็นเพลงที่ไม่ดังเลยนะ แต่ผมไปเล่นคอนเสิร์ตผมก็ยังยืนร้อง บางคนไม่เคยรู้จักก็บอกว่า เมธีร้องเพลงอะไรวะ ซึ่งเขาคงไม่เข้าใจหรอก ผมร้องเพื่อคนคนหนึ่ง”

ลาบานูน

ณัฐนนท์ ลาบานูน

4.

การดำเนินชีวิตของพี่เบิร์ดคือครู

ไม่แปลกที่ใครสักคนซึ่งเคยเกือบบอกลาบอกเลิกบนเส้นทางที่เลือกเดินจะรู้สึกทึ่งกับใครอีกคนที่สามารถยืนระยะมาอย่างงยาวนานไม่ไขว้เขวหันเหออกนอกเส้นทางมาตลอดกว่า 30 ปี

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2529 ตอนที่อัลบั้ม หาดทราย สายลม สองเรา ซึ่งเป็นอัลบั้มแรกของ ธงไชย แมคอินไตย์ วางแผง เมธีนักร้องนำอายุ 7 ขวบ อนันต์ มือกีตาร์ อายุ 5 ขวบ ส่วนณัฐนนท์ มือกลอง ยังไม่เกิดหรือลงลึกไปกว่านั้น แม่ของเขาอายุน้อยกว่าพี่เบิร์ดเสียอีก

สำหรับเมธี การยืนระยะของนักร้องซูเปอร์สตาร์จนเวียนมาร่วมงานกันใน Bird Marathon Project จึงถือเป็นเรื่องพิเศษอย่างยิ่ง

“ถามว่าทำไมท่ามกลาง พ.ศ. นี้ พี่เบิร์ดยังเป็นไอดอลอยู่เลย คือเรายอมรับว่าพี่เบิร์ดเขาเป็นมืออาชีพจริงๆ เขาเป็นศิลปินจริงๆ ตั้งแต่เรายังเด็กๆ เรารู้สึกว่านี่คือการดำรงชีวิตของคนซึ่งเป็นแบบอย่าง เป็นครู ในการเป็นศิลปินเลยก็ว่าได้”

การได้เป็น 1 ใน 8 ศิลปินทำให้วงลาบานูนได้ใกล้ชิดนักร้องที่ครั้งหนึ่งเขาเคยรู้สึกว่าอยู่ห่างไกลจากพวกเขา

“ตอนเด็กๆ เราอาจจะรู้จักพี่เบิร์ดในด้านเอนเตอร์เทนเนอร์ เราอาจจะรู้จักพี่เบิร์ดเป็นเหมือนซูเปอร์สตาร์คนหนึ่ง แต่วิธีการดำเนินชีวิต เราอาจไม่รู้จักพี่เบิร์ด ผมเพิ่งมาได้สัมผัสจริง โห แม่เจ้า พี่เบิร์ดเขาถึงขั้นนี้เลยเหรอ ผมขนลุกเลยที่รู้ว่าพี่เบิร์ดต้องซ้อมเต้น ตื่นมาตอนเช้าต้องวอร์มขา วอร์มเสียง แสดงว่าตลอดชีวิตของเราที่ผ่านมาเกือบ 20 – 30 ปี พี่เขาทำอย่างนี้ทุกวัน ในฐานะที่เป็นศิลปิน เราแทบไม่ได้ครึ่งเลยด้วยซ้ำ

“ผมว่านี่คือครู การดำเนินชีวิตของพี่เบิร์ดคือครู ไม่ใช่แค่ศิลปิน ผมว่าทุกคนมีโอกาสที่จะมีพรสวรรค์ แต่คนคนหนึ่งที่เขาจะมีวิชาชีพเป็นครูในเรื่องการดำรงชีวิต ในเรื่องการเป็นศิลปิน มีไม่กี่คน นี่คือศิลปินที่เป็นแบบอย่างให้กับศิลปิน ผมรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับพี่เบิร์ด”

เพลงที่ลาบานูนแต่งให้พี่เบิร์ดในโปรเจกต์นี้ชื่อเพลง ผู้ต้องหา เป็นการเล่นคำสไตล์ที่พวกเขาถนัด

“ตอนแต่งเรานึกว่าตอนนี้พี่เบิร์ดอายุจะ 60 แล้วนี่หว่า แล้วผมก็รู้สึกว่าสุดท้ายไม่ว่าพี่เบิร์ดจะเป็นยังไงก็แล้วแต่ พี่เบิร์ดก็ยังต้องการความรักอยู่ ยังต้องหาความรักอยู่ เป็นผู้ต้องหา เราก็เล่นคำ เราก็นึกถึงเพลงคนไม่มีแฟน เราก็รู้สึกว่าเพลงนี้ถือเป็นภาคต่อ”

“รู้สึกเหลือเชื่อมั้ยที่วันหนึ่งได้มาร่วมงานกับพี่เบิร์ด” ผมสงสัย

“ไม่เคยคิดเหมือนกันว่าวันหนึ่งพวกผมจะได้ออกเทป ได้ไปเจอพี่เบิร์ดเอง ได้อยู่ข้างๆ กัน ได้ทำงานเพลงให้พี่เบิร์ด ไม่เคยคาดคิด ยังนึกอยู่ว่าตอนนี้ฝันหรือเปล่า ไม่น่าเชื่อว่าดนตรีก็พาเรามาไกลขนาดนี้ สำหรับผมนี่คือจุดสุดยอดในการเป็นนักดนตรีของผมแล้ว เวลาเจอแฟนคลับ เจอคนที่ชอบลาบานูน ผมจะให้เกียรติเขามาก เพราะผมเข้าใจเขา เหมือนเวลาที่เราเจอพี่เบิร์ด เรามีความสุขมาก ไม่รู้จะอธิบายยังไง ต่อให้ทุกวันนี้เพลงเรามียอดวิวเป็นร้อยล้าน แต่เวลาเราเจอพี่เบิร์ดเราก็ยังประหม่าอยู่ เหมือนเรายังเป็นเด็กคนเดิมที่เคยฟังเคยเต้นเพลงพี่เบิร์ด ผมยังเป็นเด็กน้อยคนนั้น

“ที่สำคัญ อย่างหนึ่งในการทำงานกับพี่เบิร์ดคือผมรู้สึกว่าเวลาอะไรที่เป็นของจริง มันจะสื่อพลังบางอย่างให้กับคนรุ่นหลังด้วย พอนั่งคุยเสร็จพี่เบิร์ดสื่อพลังให้กับพวกเราวงลาบานูนด้วย รู้สึกเหมือนการต่ออายุให้กับวงพวกเราด้วย เป็นกำลังใจ ทั้งๆ ที่พี่เบิร์ด ไม่ได้บอกว่า ลาบานูนสู้ๆ นะ แต่มันเกิดจาการที่ได้สัมผัส ได้อยู่ใกล้ๆ ได้พูดคุย เราอยากสู้ อยากทำให้ดีที่สุด

“มีช่วงที่ลาบานูนเกือบจะขายกีตาร์ ช่วงที่เราไม่อยากเล่น พอพี่เบิร์ดรู้ก็บอกว่า ‘อย่าหยุดนะเว่ย ต้องอยู่ยาวๆ เขาก็บอกจะมีช่วงหนึ่งในชีวิตเราเป็นแบบนั้น ทุกคนทุกอาชีพมีหมดแหละ เราอาจจะมีบางอย่างที่รู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิต รู้สึกจำเจกับชีวิต รู้สึกอยากลอง ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่ผิด อนันต์ก็เลยถามพี่เบิร์ดว่ามีช่วงแบบนี้มั้ย พี่เบิร์ดก็บอกว่ามี สุดท้ายมันก็คือเพลงหนึ่ง นั่นคือเพลง เธอผู้ไม่แพ้ เป็นเพลงที่พี่เขาให้เราสู้ต่อไป คือทุกคนเคยเป็นอย่างนี้หมด พี่เบิร์ดก็เคยเป็น แค่เราถามใจตัวเองว่าจะสู้ไปกับมันมั้ย ชีวิตเราไม่แน่นอน ความดังมันดิ่งลงได้ คนเราก็ต้องแก่ มันเป็นวัฏจักรชีวิต แต่ถ้าใจสู้ มันจะมีอะไรบางอย่างที่บันดาลใจเรา”

labanoon

 

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

คมทัตต์ นิลปั้น

หลงใหลในการถ่ายภาพตั้งแต่ยังเด็ก เก็บเกี่ยวประสบการณ์จนมีแนวทางเป็นของตัวเอง ชอบการถ่ายภาพทุกรูปแบบ คน สัตว์ สิ่งของ ปัจจุบันชื่นชอบงานถ่ายภาพ portrait และงาน fashion