28 พฤศจิกายน 2017
4 K

แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข บอกกับเราทันทีที่รู้ว่าเราจะชวนคุยเรื่องเส้นทางในการทำงานดนตรี เขากล่าวออกมาทั้งที่กำลังให้ช่างลงแป้งบนใบหน้าว่า “โอ้โห มันเหมือนการท่องจักรวาลเลยครับพี่ สิบกว่าปีที่ผ่านมานี่…เหมือนเดินทางท่องกาแล็กซี่น่ะ…” แต่ก่อนที่ประโยคถัดไปจะตามมา ช่างแต่งหน้าก็เอ่ยปากด้วยความเกรงใจว่าขอให้เขาอยู่เฉยๆ ก่อนเพื่อความราบรื่นในการทำงานของเธอ “เดี๋ยวค่อยคุยต่อพี่” แสตมป์บอกกับเรา ก่อนจะนั่งนิ่งและหลับตาลง…

ปล่อยให้เรานึกย้อนไปในความหลังว่าก่อนที่นักฟังเพลงจะรู้จักกับศิลปินหนุ่มที่ชื่อแสตมป์คนนี้ 15 ปีที่แล้วหรือใน พ.ศ. 2545 อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข กระโจนเข้าสู่กาแล็กซี่แห่งเสียงเพลง (อย่างที่เขาเปรียบเปรย) ด้วยการทำเพลงประกอบละครเวทีเรื่อง ปริศนา ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ซึ่งแสตมป์ศึกษาอยู่และเขาได้ส่งเพลงดังกล่าวไปยังคลื่นวิทยุ 104.5 แฟต เรดิโอ ทันทีที่เพลงถูกเปิดออกอากาศ…นั่นคือก้าวเล็กๆ ของชายคนหนึ่งซึ่งกลายเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของวงการเพลงไทย คล้อยหลังจากนั้นไม่นาน แสตมป์ก็เป็นหนึ่งในสมาชิกวงนูเมทัลนาม ‘กล้วยไทย’ ในตำแหน่งมือกีตาร์ในระยะสั้นๆ ก่อนจะออกมาก่อตั้งวงดนตรีกับเพื่อนๆ ในชื่อ เซเว่นธ์ซีน (7thScene) ในฐานะนักร้องนำสังกัดค่าย LOVEiS และออกอัลบั้มแรกในชื่อเดียวกับวงใน พ.ศ. 2548 และหลังจากนั้น…

“พร้อมแล้วครับพี่” เสียงของแสตมป์ดังขึ้น เขาลากเก้าอี้ไม้ไร้พนักพิงสไตล์ญี่ปุ่นมานั่งใกล้ๆ เราเป็นสัญญาณบอกว่าพร้อมแล้วสำหรับการพูดคุยถึงเส้นทางดนตรีของเขา การเดินทางที่-อย่างที่บอกไปแล้วว่า-เจ้าตัวเปรียบเหมือนการเดินทางท่องอวกาศ กระโจนจากดาวดวงหนึ่งแหวกว่ายท่ามกลางความเวิ้งว้างอันไพศาลของอวกาศไปยังดาวอีกดวงหนึ่งเพื่อไปยังดาวอีกดวงหนึ่ง ราวกับนิยายเรื่องเจ้าชายน้อยของอองต็วน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี เวอร์ชันที่มีเสียงเพลงจากกีตาร์โปร่งเก่าคร่ำคร่าของเขาเป็นเพลงประกอบเรื่องราว เขาพร้อมแล้ว เราก็พร้อมแล้ว และหากคุณพร้อมแล้วโปรดเตรียมตัวให้พร้อม สวมชุดอวกาศ ใส่หมวกแก้วทนไฟ แล้วออกเดินทางไปพร้อมกัน…

แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข

1.

แฟต เรดิโอ-ดาวดวงอ้วนที่ใฝ่ฝัน

“แรกๆ ผมเล่นดนตรีด้วยความมันนะครับ เล่นเพราะอยากจะเป็นเหมือนศิลปินที่ผมชื่นชอบ ตอนที่เรียนสถาปัตย์ฯ สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวมันเป็นอินดี้กันหมดเลย ฟังเพลงอินดี้ ดูหนังอินดี้ อะไรที่อยู่ในกระแสเป็นเมนสตรีมก็ไม่เอา จะอินดี้กันอย่างเดียว ผมก็เลยอินดี้ด้วย แล้วตอนนั้นคลื่นวิทยุแฟต เรดิโอ ดังมากกับการเปิดเพลงอินดี้ ผมก็เลยเป็นเด็กแฟตตัวจริง โตมากับการฟังเพลงแฟต เรดิโอ จำได้ว่าตอนเรียนปี 4 ผมไปงานแฟต เฟสติวัล ที่ (สนามม้า) นางเลิ้งแล้วได้ดูวงสครับบ์เล่นสด แล้วคิดว่า เฮ้ย! มันช่างยิ่งใหญ่มาก แฟตฯ เป็นโลกทั้งใบของผมก็ว่าได้ การได้ทำเพลงแล้วแฟตฯ เปิดเพลงเรา หรือได้ไปเล่นที่งานแฟตฯ นี่มันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับผม เป็นดาวดวงที่ผมอยากเดินทางไปถึง พูดง่ายๆ ก็คือแฟตฯ เป็นทั้งหมดของผม เป็นเป้าหมายสูงสุด ไม่เคยคิดเรื่องอื่นเลย” แสตมป์ย้อนความหลังให้เราฟัง

หลังจากส่งเพลงที่แต่งให้ละครเวทีประจำคณะไปยังแฟต เรดิโอ เพื่อเปิดในช่วง Bedroom Studio อันเปรียบเสมือนเวทีแจ้งเกิดให้กับว่าที่ศิลปินทั้งหลายแล้ว เขาและเพื่อนอีกสองคนได้แก่ กฤช วิรยศิริ และ ชัชวาล วิศวบำรุงชัย ก็เกิดความฮึกเหิมในการทำเพลง ทั้งสามรวมตัวฟอร์มวงดนตรีชื่อ 7thScene ทำเดโมเพื่อเสนอค่ายเพลงต่างๆ และเป็นเดโมชุดนั้นที่เมื่อเดินทางมาถึงมือของ บอย โกสิยพงษ์ แล้วกลายไปสู่การได้ออกอัลบั้มชุดแรกชื่อเดียวกับวงใน พ.ศ. 2551 และหากจะบันทึกกันอย่างเป็นทางการก็สามารถกล่าวได้ว่า แสตมป์ได้ย่ำเท้าก้าวแรกของตนเองลงในแผนที่ดนตรีไทยร่วมสมัยเป็นที่เรียบร้อย

“ตอนนั้นคิดว่ากำไรชีวิตแล้วนะ ใครจะไปคิดว่าจะได้ทำเพลง ได้ไปเล่นงานแฟตฯ พอได้ทำตามที่ฝันไว้มันก็ฟินมาก แต่พอหลังจากนั้นก็เรียนจบ มันก็คือการใช้ชีวิตจริงๆ แล้ว ก็เกิดคำถามว่าเราจะเอายังไงต่อ เพราะยอมรับว่าผมไม่ได้คิดเรื่องการทำงานตามที่เรียนมาเลย ไม่ได้ตั้งเข็มว่าจะหางานออกแบบบ้านทำแล้วก็ไม่ได้คิดเรื่องจะเป็นนักดนตรีอาชีพด้วยซ้ำ คิดแค่ว่าอะไรอยู่ตรงหน้าเรา-เราก็ทำสิ่งนั้น พอได้ทำอัลบั้ม 7thScene เสร็จเราก็พบว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราก็คือ…การทำเพลง”

แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข

แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข

2.

เขียนเพลง- ค้นพบว่ามันก็มีดาวอยู่หลายดวง

การได้เป็นศิลปินในสังกัด LOVEiS ตลอดจนการได้เข้ามาช่วยบอย โกสิยพงษ์ ในการเขียนเพลงต่างๆ ให้กับศิลปินในค่ายเปรียบเสมือนการเปิดประตูให้แสตมป์ได้รู้จักดาวดวงอื่นๆ ในกาแล็กซี่ เขาได้เรียนรู้ว่าวงการเพลงไทยไม่ได้มีแค่เพลงอินดี้หรือแฟต เรดิโอ อย่างที่เคยเข้าใจ การได้พบผู้คนมากมายซึ่งแตกต่างไปจากบริบทเดิมๆ มันก็ทำให้แสตมป์รู้ว่าในจักรวาลนี้ก็ยังมีดาวอื่นๆ อยู่อีกหลายดวง

“อาจจะเรียกว่าเราทะเยอทะยานมากขึ้นก็ได้นะ แต่ผมเพิ่งเข้าใจว่ามันก็มีดาวอีกหลายดวงนี่หว่า ไหนลองออกไปท่องจักรวาลหน่อยสิ ดูซิว่าจะพิชิตดาวอะไรได้บ้างไหมคือพอหลังจากทำวงเสร็จ เรียนจบ แล้วตอนนั้นวงการเพลงไทยกำลังเปลี่ยน ผู้ใหญ่เขาก็มองไม่เห็นว่าถ้าทำวงเราไปแล้วจะขายยังไง วงก็เลยต้องหยุดก่อน ระหว่างนั้นผมก็มาช่วยพี่บอยเขียนเพลง ช่วงทำอัลบั้ม Rhythm & Boyd E1EVEV1H ให้แกนี่แหละที่ทำให้ผมได้เห็นดาวอีกหลายดวง ได้เห็นว่าเขาอยู่กันยังไง เขาคิดเห็นยังไง ได้เข้าใจว่า เฮ้ย มันมีความหลากหลายมากกว่าที่เราคิดไว้เยอะเลยนะโว้ย เกิดความคิดว่าอยากสื่อสารในวงกว้างดูบ้างก็เลยหันมาลองเขียนเพลงทำเพลง ไปขอเพื่อนๆ เขาทำนู่นทำนี่ พี่บอยก็ช่วยสอนว่าเขียนเพลงเขาเขียนยังไง วิธีเล่าเรื่องในเพลงเนี่ยมันทำยังไง มันก็เลยกลายเป็นอาชีพใหม่ของเราคือเป็นนักแต่งเพลง เขียนเพลงให้ศิลปินต่างๆ ให้เหมาะสมกับตัวเขาแฟนเพลงของเขา ซึ่งมันเป็นความท้าทายสำหรับผมว่าจะทำได้ไหม นั่นแหละที่บอกว่าเราได้ไปเห็นดาวหลายดวง” แสตมป์กล่าวด้วยแววตาที่คล้ายจะมีความสุข “อ้อ แล้วก็ได้มาเขียนเพลง น้ำตา ซึ่งเป็นเพลงที่เปลี่ยนชีวิตผมเพลงหนึ่งอีกด้วย”

แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข

3.

น้ำตา-การติดดาวครั้งแรก

เพลง น้ำตา ที่แสตมป์กล่าวถึงคือเพลงที่เขาเขียนทั้งเนื้อร้องและทำนอง (ร่วมกับพิสิทธิ์ พัทยากรพิสุทธิ์) ให้กับ พี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ซูเปอร์สตาร์อันดับหนึ่งของเมืองไทยใช้ร้องในอัลบั้ม Simply Bird และเป็นเพลงแรกที่ทำให้แสตมป์ได้รับรางวัลสีสัน อะวอร์ดส์ ครั้งที่ 20 ประจำ พ.ศ. 2550 ในสาขาเพลงยอดเยี่ยม นี่คือเพลงแรกของแสตมป์ที่ได้รับการติดดาวการันตีจากคนในวงการว่าโดดเด่นที่สุดทั้งด้านเนื้อร้องและทำนองซึ่งการได้รางวัลแรกในชีวิตนี้เป็นเสมือนการยืนยันกับตัวเองว่าเขาเลือกเส้นทางถูกแล้ว

“พอรู้ข่าว ผมนี่ช็อกมากๆ เพราะไม่คิดว่าจะได้รางวัล ไม่ได้ไปรับรางวัลเขาด้วยซ้ำ เพราะไม่คิดว่าเพลงมันเข้ารอบ ผมว่าที่ได้รางวัลส่วนหนึ่งเป็นเพราะพี่เบิร์ดถ่ายทอดเพลงนี้ได้ดีมากๆ ทั้งที่จริงๆ เพลงนี้มันร้องยาก เนื้อเพลงมันเยอะ ทีนี้พอได้รางวัลแล้ว หลังจากนั้นสักพัก ผมไปเจอพี่โด๋ว (มรกต โกมลบุตร) ที่งานไหนสักงาน ตอนนั้นแกยังเป็นดีเจที่แฟตอยู่ แกก็เดินมาคุยกับผมเรื่องเพลง น้ำตา นี่แหละ แกถามผมว่าทำไมผมไม่เขียนเพลงให้ตัวเองแบบนี้บ้าง ทำไมผมไม่ลองหันไปทาง ศิลปิน-นักร้อง-นักแต่งเพลง ดูบ้าง เออ…ผมก็ไม่เคยคิดมาก่อนจนกระทั่งพี่โด๋วบอก ก็เลยลองทำดู”

คำแนะนำจากรุ่นพี่ซึ่งเป็นดีเจชื่อดังนั้นเปรียบเสมือนการบรรจุเชื้อเพลิงลงในกระสวยอวกาศโดยมีแสตมป์เป็นผู้โดยสารอยู่ในนั้นให้พุ่งทะยานโคจรไปในความกว้างใหญ่ของวงการเพลงไทย เพราะหลังจากนั้นแสตมป์ก็เริ่มเขียนเพลงให้ตัวเองและเราก็เริ่มรู้จักศิลปินเดี่ยวที่มีชื่อว่า แสตมป์ อภิวัชร์

แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข

“ตอนนั้นผมก็เลยลองทำดู เอาเพลงที่เขียนให้เพื่อนๆ แต่ดันหวงขึ้นมานี่แหละมาทำ บอกเพื่อนว่า ‘เฮ้ย กูขอเก็บไว้ก่อนนะ’ เพลงอย่าง ความคิด, คนที่คุณก็รู้ว่าใคร อะไรนี่แหละมารวมเป็นเดโมไปให้พี่บอยฟัง กะว่าเป็นโปรเจกต์ทำเล่นๆ เป็นอัลบั้ม The Million Ways to Write Part I ทีนี้ระหว่างนั้นเพลง ความคิด มันก็ไปถึงมือคุณโอ-ณัฐพล วงศ์ตรีเนตรกุล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง A Moment in June เขาได้ฟังแล้วเขาชอบเพลงนี้ก็เลยขอไปเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ ปรากฏว่าเพลงมันลงตัวกับหนังมากก็เลยทำให้เพลงมันดังขึ้นมา ทีวีก็เปิดเพราะเขาใช้โปรโมตหนัง วิทยุก็เล่น ผมก็ช็อกอีก เฮ้ย เพลงมันดังว่ะ ก่อนหน้านั้นไม่มีใครรู้จักผมเลยนะ ตอนนั้นใครก็เรียกผมว่า ‘คนที่ร้องเพลงความคิด’ คือไม่มีใครรู้จัก ขนาดงานจ้างไปเล่นซึ่งเริ่มมีเข้ามาหลังจากเพลงมันดังหลายงานเลยนะที่เขาไม่ให้ผมเข้างาน แต่ก็นั่นแหละหลังจากนั้นก็เริ่มมีงานโชว์งานจ้าง เริ่มทำให้ผมมีรายได้จากการเป็นศิลปินอย่างเป็นเรื่องเป็นราว”

แม้จะอยู่ในช่วงที่อุตสาหกรรมเพลงไทยซบเซาเพราะการเปลี่ยนของเทคโนโลยี แต่ The Million Ways to Write Part I อัลบั้มแรกของแสตมป์ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในแง่ของการเป็นที่ยอมรับและทำให้เขาได้รับการจับตามองในฐานะศิลปินผู้เป็นความหวังให้กับวงการเพลงไทย

แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุขแสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข

4.

ความสำเร็จ-ดาวดวงอื่นซึ่งตามมา

หลังจาก ความคิด และความสำเร็จแรกอันเป็นการแจ้งเกิดให้กับเจ้าตัว ชื่อของแสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ก็ค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในการรับรู้ของคนฟังเพลงไทย จำนวนงานที่ถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปทำการแสดงเริ่มลดน้อยลงไปจนกระทั่งไม่เหลือเลย เพลงของเขาหลายเพลงจากอัลบั้มต่อๆ มาไม่ว่าจะเป็น เพลงที่นานมาแล้วไม่ได้ฟัง, ชายกลาง, โอมจงเงย, ให้ตายสิพับผ่า, กาลครั้งหนึ่ง, วิญญาณ กลายเป็นเพลงฮิต เช่นเดียวกับเพลงที่เขาแต่งให้ศิลปินต่างๆ ก็ได้รับความนิยมอย่างสูง ที่คนฟังอาจคุ้นหูหน่อยก็อาทิ ราตรีสวัสดิ์ ของฟักกลิ้งฮีโร่, เงินล้าน ของโมเดิร์นด็อก, หวานขม ของ บอย โกสิยพงษ์ และ ธนชัย อุชชิน เป็นต้น แสตมป์กลายเป็นคนดังมากขึ้นจากการเป็นหนึ่งในคอมเมนเตเตอร์ให้รายการ The Voice Thailand ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง เขายังเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาให้กับสินค้าจำนวนมาก รูปภาพของเขาขึงเป็นที่พบเห็นได้โดยทั่วไป รวมความแล้วก็คือแสตมป์กลายเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในระยะเวลาไม่กี่ปี

“ตอนแรกผมบอกว่าผมเล่นดนตรีเพื่อความมัน ใช่ ตอนนั้นก็เป็นอย่างนั้น แต่พอเวลาผ่านไปเราเริ่มพอจะมีชื่อเสียง ก็กลายเป็นว่าช่วงเวลาที่ออกอัลบั้มชุดที่สอง เพลงที่นานมาแล้วไม่ได้ฟัง (2553) ผมทำเพลงเพื่อความสำเร็จ พอมาชุดที่ 3 ก็อยากรักษาความสำเร็จนั้นไว้เลยตั้งชื่อว่า Supermarket  (2556) เพราะอยากให้มัน ‘โคตรตลาด’ อยากทำเพลงให้มันฮิต และมันก็น่าจะเป็นชุดที่ประสบความมากที่สุดนะ คือตอนนั้นผมไม่รู้ตัวเลย ไม่มีเวลาได้หยุดคิดอะไร ความสำเร็จมันมาเราก็สานต่อตามน้ำไป เหมือนเราต้องกระโจนไปเรื่อยๆ น่ะ โดดไปดาวดวงโน้นทีดวงนี้ที ระหว่างนั้นมันก็มีเรื่องมีราวมีดราม่าต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย มาจนถึงชุด Sci-Fi (2557) ซึ่งเป็นชุดที่ผมรู้สึกว่าผมจะทำเพลงเพื่อตัวเอง ทำในสิ่งที่อยากทำจริงๆ แล้ว แล้วตอนนั้นเราก็มีของมากขึ้นมันก็เลยออกมาเป็นชุดที่ผมพอใจมากที่สุดนะในบรรดาอัลบั้มเพลงไทย”

“แล้วทุกวันนี้แสตมป์ทำเพลงเพื่ออะไร” เราถามเขาหลังจากได้ข้อสรุปว่าการเดินทางในกาแล็กซี่แห่งเสียงเพลงของเขานั้นได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไปในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา

แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข

แสตมป์ตอบคำถามนี้ด้วยความรวดเร็วราวกับรู้ว่าจะถูกถามแบบนี้ “ผมเพิ่งคิดเรื่องนี้ได้ไม่นานนี้เลยนะ ผมเคยถามตัวเองว่าตอนนี้ผมทำเพลงเพื่ออะไร คำตอบก็คือผมทำเพราะเอ็นจอยกับทุกอย่างในตอนนี้ ผมยินดีและสนุกกับทุกโอกาสที่ผมได้รับ ผมไม่ได้คิดว่ามันจะต้องประสบความสำเร็จเหมือนเดิม หรือมันจะต้องสะใจ แบบ ‘เป็นไง กูเจ๋งหรือเปล่าล่ะ’ แบบตอนวัยรุ่น วันนี้ผมขอแค่ยังสนุกกับการได้ทำเพลงแค่นั้น พูดกันตามตรงตอนนี้ผมก็ไม่ได้ดังเหมือนตอนมีเพลง ความคิด อีกแล้ว และเพลงของเราก็อาจจะไม่โดนใจวัยรุ่นแล้ว แต่ผมก็ยังพยายามอยู่นะ ดังนั้นผมจึงคิดทุกครั้งเลยว่านี่อาจเป็นโอกาสสุดท้ายของผมแล้ว ผมอยากสนุกกับมันให้มากที่สุด ทำเพลงที่ผมชอบที่สุดก่อน”

‘สนุกกับทุกโอกาสที่ได้รับ’ สิ่งนี้ดูจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้กระสวยอวกาศของเขายังคงทะยานไปในหมู่ดาว และมันก็ทำให้ แสตมป์ ทะยานไปไกลถึงญี่ปุ่นเมื่อค่ายเพลง Parabolica Records ออกอัลบั้มเพลงภาษาอังกฤษชุดแรกในชื่อ STH ให้กับเขาซึ่งทำให้เขาได้ร่วมงานกับศิลปินต่างประเทศอย่าง Depapepe และ คริสโตเฟอร์ ชู

“คือเป็นความฝันที่แอบๆ ซ่อนๆ มานานนะ ไม่กล้าบอกใครหรอก คือนอกจากฝันอยากได้เล่นงานแฟตฯ แล้วก็อยากลองไปทำงานต่างประเทศดูบ้าง ไปดาวดวงอื่นดูบ้าง คือพอไปทำงานกับโปรดิวเซอร์ต่างชาติก็รู้ว่า เฮ้ย เขาทำกันอย่างนี้เอง ก็ทำให้เราได้เรียนรู้พอสมควรนะ ที่เห็นชัดๆ เลยก็คือความรู้จักพอ คือที่ผ่านมานิสัยผมนี่เวลาทำเพลงเรามีอะไรก็ใส่มันเข้าไป ยิ่งเล่นเยอะคือเก่ง ปรากฏว่าของเขาไม่ทำอย่างนั้น เขารู้จักความพอดีมากกว่าผม แบบ…พอมันถึงจุดที่พอแล้ว เมื่อดีไซน์ดีแล้วมันออกมาดีมากเลย เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน”

แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข

5.

ในที่สุดการเดินทางก็พามาเจอดาวดวงหนึ่ง…ในพริบตา

ตอนที่เราถามถึงการเขียนเพลง พริบตา ที่แสตมป์เขียนให้กับพี่เบิร์ด เขาดูกระตือรือร้นเป็นพิเศษ ราวกับว่านี่ก็เป็นหนึ่งในหลายความสนุกที่มาจาก ‘โอกาสที่ได้รับ’ และโอกาสที่ว่านั้นก็มาจากดาวฤกษ์ดวงใหญ่ของวงการเพลงไทยที่ชื่อ ธงไชย แมคอินไตย์

“รู้ไหมว่าผมเขียนเพลงนี้จากอะไร” แสตมป์เว้นช่วงแล้วมองหน้าเรา เมื่อเห็นว่าเราคงตอบไม่ได้ เขาจึงเฉลยที่มาของเพลงที่เขาเขียน “มาจากหนังเรื่อง Your Name เมื่อปีที่แล้วยังไงล่ะ หนังเรื่องนี้มีดาวตกจำได้ไหม คือตอนที่รู้ว่าจะได้ทำเพลงให้พี่เบิร์ด พี่อ๊อฟ BIG ASS (พูนศักดิ์ จตุระบุล) Executive Producer ก็อธิบายให้ผมฟังว่ามันแบ่งเป็นสเตจๆ นะ ของผมนี่เป็นสเตจที่สิ้นหวังหดหู่ (หัวเราะ) ไม่รู้พี่อ๊อฟคิดยังไง แต่ก็บอกว่าของแตมป์ต้องสิ้นหวัง ผมก็เลยคิดถึงอะไรสักอย่างที่มันสว่าง แต่ว่ามันสิ้นหวัง ก็พอดีได้ดูหนังเรื่องนี้ จึงคิดถึงดาวตกในชั่วพริบตามันสว่างไสวเลยนะ แต่มันก็วูบดับไป คือรวมๆ เป็นเพลงสิ้นหวังที่มีความหวัง ผมก็เลยอยากให้บรรยากาศเพลงนี้มันสว่างเพราะ…ผมนึกไม่ออกว่าจะให้พี่เบิร์ดร้องเพลงสิ้นหวังได้ยังไง แต่พี่อ๊อฟเขาบอกว่าให้ลืมพี่เบิร์ดไปเลย คิดว่าอยากทำอะไรก็ทำไป ค่อนข้างเปิดกว้างมาก ผมดีใจนะที่ได้เขียนเพลงให้พี่เบิร์ด เหมือนเราเดินทางมาพอสมควร สุดท้ายเราก็ได้มาเจอดาวดวงหนึ่ง มาเจอดาวพี่เบิร์ด ดาวที่คุณควรเดินทางมาชื่นชมน่ะ” แสตมป์กล่าวปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม

แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข

ขอบคุณสถานที่ถ่ายทำ โนเบิล เกเบิล วัชรพล

Writer

Avatar

จักรพันธุ์ ขวัญมงคล

บรรณาธิการ นักเขียน นักแปล

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)