26 กุมภาพันธ์ 2018
18 K

ถ้าจะให้ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ พูดถึงหนังสั้นเรื่องล่าสุดในชีวิตอย่าง MY MARATHON อย่างกระชับ ผมรู้สึกว่ามี 2 ประโยคที่น่าสนใจระหว่างเราพูดคุยกันถึงหนังสั้นเรื่องนี้

ถ้าจะเอาหล่อๆ-เต๋อยกประโยคของ บุษบา ดาวเรือง มาว่า “หนังเรื่องนี้เหมือนพระเจ้าเป็นผู้เขียนบทครึ่งหนึ่ง”

ถ้าจะเอาเรียลๆ-เต๋อบอกว่า “เราถ่ายหนังสั้นเรื่องนี้ตอนท้ายปี น่าจะประมาณวันที่ 20 ธันวาคม เรากะไว้ว่าจะจบงานนี้ด้วยความสบายๆ คิดว่าจะจบปีสวยๆ สุดท้าย ไอ้สัส เด๊ด ไหนล่ะปีใหม่กู”

หากใครได้ชมหนังสั้นเรื่องล่าสุดของนวพลย่อมเห็นความวายป่วงของการถ่ายหนังสั้นเรื่องนี้ และชายหนุ่มก็ยอมรับว่านี่คือเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดแล้วในชีวิตการเป็นผู้กำกับของเขา

 

WARM UP / อบอุ่นร่างกาย

MY MARATHON เป็นหนึ่งในโปรเจ็กต์ที่ชื่อพ้องกันอย่าง Mini Marathon ของ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ที่ชวน 8 ศิลปินรุ่นใหม่มาร่วมงานกับพี่เบิร์ด โดยแต่ละเพลงศิลปินจะได้โจทย์จากความรู้สึกของการวิ่งมาราธอนทั้ง 8 สเตจ

ไล่ตั้งแต่ ตื่นเต้น-การปฏิเสธ-ช็อก-โดดเดี่ยว-สิ้นหวัง-เจอกำแพง-ยืนยัน-ปีติยินดี

นอกจากเพลง 8 เพลงที่ว่า ค่ายแกรมมี่ยังชวนผู้กำกับที่น่าจับตาแห่งยุคสมัยอย่างนวพล มาทำ Music Content โดยมีวัตถุดิบคือชีวิตพี่เบิร์ดและเพลงทั้งแปดของโปรเจ็กต์นี้ ซึ่งนักแสดงนำที่ผู้กำกับหนุ่มเลือกมาประกอบด้วย ทู-สิราษฎร์ อินทรโชติ, อิมเมจ-สุธิตา ชนะชัยสุวรรณ และ ฟ้า-ษริกา สารทศิลป์ศุภา โดยที่ไม่รู้เลยว่าสุดท้ายแล้วเขาจะกลายเป็นผู้แสดงนำเสียเอง

หลังจากที่ดูหนังสั้นเรื่องนี้จบผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะมีคำถามผุดขึ้นมากมายในหัว บางคนอาจหนักถึงขั้นสงสัยว่า นี่เป็นการจัดฉากของผู้กำกับหรือไม่

คำถามคือ แล้วใครจะตอบคำถามต่างๆ ได้ดีที่สุด ถ้าไม่ใช่เขา

MY MARATHON

 

STAGE 1

EXCITEMENT / ตื่นเต้น

“ถามว่าตื่นเต้นมั้ย ก็ตื่นเต้นแหละ”

“ตอนแรกถามว่าตื่นเต้นมั้ย ก็ตื่นเต้นแหละ เราไม่คิดว่าจะได้เจอพี่เบิร์ด ได้ทำงานกับพี่เบิร์ด ถ้าเกิดสมมติเป็นนักร้องอินดี้คนหนึ่งยังดูมีความเป็นไปได้ที่เราจะได้ร่วมงานด้วย แต่ว่ากับพี่เบิร์ดเราต้องถามเลยว่า จริงใช่มั้ย พี่ๆ ที่แกรมมี่ดูงานผมแล้วใช่มั้ย

“เหมือนเราเองมีสถานะคนนอกตลอดเวลา งานที่เราทำมันจะอยู่รอบนอก ไม่ได้แมส แล้วเท่าที่เราเห็นพี่เบิร์ดที่ผ่านมามันแมสมากๆ เราก็คิดว่าเราทำอะไรร่วมกันได้จริงใช่มั้ย คือหนึ่งยังไม่รู้จะเป็นยังไง แล้วสองก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราทำจะเข้ากับเขาไหม โชคดีที่พอคุยกันแล้ว Mini Marathon มันเป็นโปรเจ็กต์ที่เขาเปิดอยู่แล้ว ปล่อยให้พวกเราเล่นกับพี่เบิร์ดได้เลย นั่นก็โชคดีไปครึ่งหนึ่ง

“สำหรับเราที่ผ่านมา เราเห็นพี่เบิร์ดเป็นซูเปอร์เอนเตอร์เทนเนอร์ เหมือนเขาเกิดมาเพื่อเอนเตอร์เทนคน มีความเป็นซูเปอร์ฮีโร่ มาเพื่อปลดปล่อยมวลมนุษย์ แล้วก็เป็นอย่างนั้นมาตลอด นั่นคือสิ่งที่เรารู้อย่างเดียวเกี่ยวกับเขา

“ตอนเด็กๆ เราก็ไม่รู้สึกว่าชีวิตพี่เบิร์ดเป็นปริศนา มารู้สึกตอนโต เหมือนพอโตขึ้นเรารู้แล้วว่า คนเรามีมิติมากกว่านั้น เราก็สงสัยว่าพี่เบิร์ดมีมิติอื่นๆ ยังไงบ้าง เราก็รอที่จะได้คุยกับพี่เขา เพราะว่านั่นคือทางเดียว เราเลยขอนัดสัมภาษณ์พี่เบิร์ดก่อน เป็นช่วงกึ่งๆ รีเสิร์ชว่าเราทำอะไรได้บ้าง แล้วไหนๆ พี่เขามาสัมภาษณ์แล้วก็ถ่ายไปเลย เอาไว้เผื่อใช้

“หลังจากได้สัมภาษณ์พี่เบิร์ดรอบนั้น เรารู้สึกว่าพี่เบิร์ดเหมือนน้ำที่ไหลไปตามกาลเวลา เข้าได้ถึงทุกคนจริงๆ ในขณะที่งานที่เราทำแม่งโคตรเป็นก้อนนึงที่ไม่ได้เข้าได้กับทุกอัน

“ไม่ได้บอกว่าใครดีกว่าใครนะ แต่เราอยากรู้ว่าคนที่ทำงานแบบนั้นเขารู้สึกยังไง”

MY MARATHON

 

STAGE 2

DENIAL / การปฏิเสธ

“กูทำไม่ได้หรอก กูจะวิ่งไปแบบพี่เบิร์ดได้ยังไง”

“สิ่งที่เราสงสัยคือพี่เบิร์ดเขาทำให้คนทุกคน แล้วตัวเขาเองคืออะไร แล้วเขาทำแนวไหนก็ได้จริงๆ เหรอ

“สุดท้ายพี่เขาตอบเราว่า เขาเป็น Music Machine เราฟังแล้วเข้าใจเลยว่าถ้าพี่คืออันนี้เราเข้าใจที่ผ่านมาทั้งหมดเลย เหมือนคุณเกิดมาเพื่อเดินไปถามทุกคนว่า วันนี้อยากฟังอะไร เดี๋ยวร้องให้ฟัง เราเต็มใจที่จะร้องให้ทุกคน มันคือคนละขั้วกับเราโดยสิ้นเชิง

“แล้วพล็อตหนังสั้นก็มาหลังจากวันนั้น ต้นทางคือมาราธอนกับ 8 สเตจ ซึ่งความจริงในทางหนึ่งมันมีความคล้าย MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY มาก มันแค่เปลี่ยนจากทวิตเตอร์เป็นสเตจของมาราธอน นี่คือกู กูชอบทำแบบนี้ ทำหนังตามสเตจหรือทำตามทวีต เราว่ามันก็ดูน่าสนใจดี ก็เริ่มจากตรงนี้ไปเลย ค่อยๆ คิดว่า 8 สเตจนี้ แต่ละสเตจควรจะเกี่ยวกับอะไร สุดท้ายแล้วหนังเรื่องนี้จะพูดว่าอะไร

เต๋อ นวพล

“ที่แน่ๆ คงไม่ได้บอกว่ามาราธอนเราต้องวิ่งด้วยความพยายาม แต่เราเลือกที่จะเล่าว่า เราคิดยังไงกับการวิ่งมาราธอน มันวิ่งไม่ถึงได้มั้ยวะ เราออกจากโซนปกติได้มั้ย เราต้องไปถึงโกลมั้ยวะ เราแพ้ได้มั้ย เราไปไม่ถึงได้หรือเปล่า

“ที่เลือกเล่าในมุมนี้เพราะว่าเรารู้สึกอย่างนั้น เรารู้สึกกับตัวเองว่ากูทำไม่ได้หรอก กูจะวิ่งไปแบบพี่เบิร์ดได้ยังไง เพราะเขาเป็นคนที่วิ่งมา 30 ปี ซึ่งเราไม่อาจจะคิดว่าเราจะทำสิ่งนี้ได้ 30 ปี เราไม่รู้จะอยู่ถึงหรือเปล่า ยิ่งทำยิ่งแมสน้อยลง (หัวเราะ) แต่เราก็รู้สึกว่า กูก็อยู่มาได้ 5 – 6 เหมือนกันนะ แล้วคนก็โอเคนะ แสดงว่าไอ้ปัญหาที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่เรื่องความไกลหรืออะไร มันเป็นคนละโกลแค่นั้นเอง

MY MARATHON

“ถามว่านี่คือแพ้มั้ย ไม่มั้ง เพราะว่าคนเราก็คงมีทางของเราเอง เราก็คงมีมาราธอนของเราเอง ซึ่งโกลมันไม่เหมือนกัน ถ้าเกิดเราคิดว่าโกลเราคือพี่เบิร์ดเราคงจะรู้สึกแย่ว่า ทำไมสิ่งที่ทำไม่กว้างสักที ทำยังไงจะพิชิตใจคนได้ แต่พอเราไม่ได้ยึดโกลนั้น เรามีโกลของเราเอง คือคนเราก็มีโกลที่มันไม่เหมือนกันก็ได้นี่หว่า หนังเลยมีสคริปต์ออกมาเป็นคนที่วิ่งตามคนอื่นเหนื่อยแล้ว แล้วก็ไม่รู้เอาไงดี ไม่รู้ว่าพยายามน้อยไปหรือว่ามาผิดทาง สุดท้ายก็ตัดสินใจเดินกลับดีกว่า จะเป็นแบบทูมาวิ่งเพื่อตามผู้หญิงที่ชอบคนหนึ่ง แต่ตัวเองวิ่งไม่จบ แล้วตัวละครอิมเมจที่แอบชอบทู แทนที่จะวิ่งไปตามเส้นทางก็เลือกที่จะไปกับทู เพราะว่าทูจะวิ่งไม่จบ แล้วเขาจะเดินกลับ เหมือนสร้างทางขึ้นมาใหม่

“คือการวิ่งไปไม่ถึงโกลของคนอื่นๆ หรือเมนสตรีม หรืออะไรก็ตามมันไม่ได้แปลว่าแพ้ มันแค่เป็นการครีเอตเส้นทางใหม่ให้ได้ หนังมันเลยชื่อ MY MARATHON

“คุณมีมาราธอนเป็นของตัวเองก็ได้

“ถ้าเกิดถ่ายเสร็จมันจะเป็นอันนั้น

“แต่…”

 

STAGE 3

SHOCK / สภาวะช็อก

“อ้าว กูยังไม่ได้ถ่ายอะไรเลย”

“เช้าวันนั้นไม่มีลางบอกเหตุเลย

“แต่รู้ว่ามันน่าจะยากว่ะ เพราะว่าตัวประกอบที่เข้าฉากเยอะมาก ประมาณ 50 คน แล้วพอมันเป็นวันถ่ายจริง มันก็จะมีเรื่องกระทบสถานที่จริงๆ

“แล้วเราเพิ่งถ่าย Long Take ใน Die Tomorrow มาเรื่องนี้กูเลยคิดว่าจะถ่ายยาวสุดเลย 15 นาที ซึ่งจริงๆ มันยากมาก เพราะของมันเยอะ รถคันนึงต้องวิ่งไปกับนักแสดง แล้วต้องจำคิวซึ่งเยอะมาก เพราะฉะนั้นเรารู้ว่าถ่ายไม่ได้หลายเทกหรอก สมมติวันนั้นราบรื่น ถ่ายได้ 10 เทก เราว่ามันจะเริ่มใช้ได้จริงประมาณเทกที่ 5 – 6 ไอ้ 5 เทกแรกคือซ้อมหมดเลย ถึงแม้จะซ้อมมาก่อน แต่วันซ้อมมันโล่งๆ จะวิ่งตรงไหนก็ได้ แต่ถ่ายจริงมีตัวประกอบตั้ง 50 คน

“ส่วนที่เลือกไปถ่ายที่ราชบุรีก็เพราะมันควบคุมง่ายแค่นั้นเอง ซึ่งจริงๆ อยากได้กรุงเทพฯ นะ อยากรู้สึกว่าวิ่งอยู่ในเมืองนิดๆ แต่ก็ไม่อยากให้เป็นตึก มันดูแห้ง เราอยากได้ที่มันดูเป็นบ้านชุมชน ยังอยากได้ความร่มรื่นหรือบรรยากาศที่ไม่แข็ง

“ซึ่งเราปิดถนนใหญ่ไม่ได้ชัวร์ ไม่มีเงินเยอะขนาดนั้น แล้วก็รู้สึกว่าตัวสตอรี่มันต้องการซอยที่ทะลุไปสู่อีกทาง เพราะบทมันบังคับเลยว่าคุณต้องมีเส้นทางวิ่งหลัก แล้วสุดท้ายตัวละครต้องเดินตัดออกจากเส้นทางหลักออกไป มันมีแลนด์สเคปบังคับอยู่ในสคริปต์อยู่แล้วว่าต้องเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้น มันเลยต้องไปบริเวณชุมชนที่มีถนนสายหลัก แล้วมีซอย

MY MARATHON ทู สิราษฎร์

เราก็ต้องคิดว่ามันจะเริ่มจากตรงไหน เข้าตรงไหน ควรจะเริ่มคุยที่บริเวณไหน เช่น คุยตรงนี้จะได้วิวร้านค้า ล้มตรงนี้จะได้สวยหน่อย เพราะข้างหลังเป็นสีฟ้า เราหาอยู่หลายรอบมากกว่าจะเจอว่าเอาถนนเส้นนี้แล้วกัน แล้วมาร์กจุดว่านั่งตรงไหน ล้มตรงไหน เดินกลับตรงไหน เดินออกตรงไหน ตรงไหนควบคุมการถ่ายได้เยอะสุด ตรงไหนแสงดีสุด

“แล้ววันจริงพอเริ่มถ่ายทูก็เจ็บเลย นั่นคือเทกที่หนึ่ง ฟุตเทจทูที่ถ่ายวันจริงมีแค่นั้นแหละครับ 10 วินาที

“อ้าว กูยังไม่ได้ถ่ายอะไรเลย แล้วยังไงต่อ”

หนังเต๋อ เบิร์ด

 

STAGE 4

ISOLATION / โดดเดี่ยว

“หรือกูต้องเล่นเองวะ”

“ตอนแรกคิดว่ายังมีเวลา เดี๋ยวเขานั่งพักก็คงหาย สักพักรถพยาบาลมา คือเขาโทรเรียกคลินิกแหละ แต่ไม่รู้ใครไปเรียกรถพยาบาลมา อลังการเลย แต่ก็ยังรอทูนะ

“ตอนที่ทูไปคลินิกเราก็ทำได้แค่ซ้อมไปก่อน ซ้อมคิวกล้องเผื่อทูกลับมาวิ่งได้ ก็คิดวิธีแก้ปัญหาไว้สามสี่ทาง คิดว่าเปลี่ยนสคริปต์ได้มั้ย หรืออีกไอเดียก็คือเปลี่ยนนักแสดง แต่คือคุณนึกออกไหม ถ่ายที่ราชบุรี ใครจะมา คือถ้าถ่ายกรุงเทพฯ ก็อาจจะมีโอกาสจะเรียกใครมาได้ แต่ที่ราชบุรีเรียกแล้วเขาจะมาทันมั้ย เรียกแล้วจะมาเหรอ มันมีความเป็นไปได้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์

 อิมเมจ สุธิตา  อิมเมจ สุธิตา

“แล้วมีอยู่วูบนึงคือคิดว่า หรือกูต้องเล่นเองวะ เพราะกูจำสคริปต์ได้หมด แต่ก็ไม่ๆๆ ไม่ได้ๆ กูจะไม่ collaborate ขนาดนั้น (หัวเราะ) ความคิดขึ้นมา 5 วินาทีแล้วจบไป

“แต่เราก็คิดว่าหรือทูเดี๋ยวก็วิ่งได้วะ มีความหวังอยู่ จนเขากลับมาจากคลินิกแล้วหมอบอกว่า วิ่งไม่ได้ นั่นแหละ ไอ้สัส แล้วยังไงต่อ

“ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะกลับมาถ่ายใหม่เลย เพราะเงินมันลงไปหมดแล้ว แล้วชาวบ้านก็ด่า คือลูกค้าร้านเขาจอดรถไม่ได้ เพราะเราปิดถนนทั้งวัน ก็นับไปสิ เขาสูญเสียรายได้ไปกี่บาท คือเราไม่คิดว่าเราจะกลับมาที่นี่ได้อีกแล้ว เพราะระหว่างถ่ายมันเครียด เขาเดินมาโวยเลย เราเห็นแล้วแหละ แต่เราต้องไม่สนใจ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเราทำงานไม่ได้ ก็ต้องให้ฝ่ายโลเคชันเขาจัดการไป

“เราว่าเราก็มีสติกว่าที่คิดเหมือนกันนะ อาจเป็นเพราะว่าเราออกกองบ่อยแหละ ช่วงหลังๆ ทำโฆษณาเยอะขึ้น แล้วการออกกองถ่ายกับการออกกองโฆษณามันเป็นเรื่องที่คุณต้องรับมือกับความไม่แน่นอนอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมามันคือแค่ถ่ายไม่ทันเฉยๆ หรือเรื่องการแสดง ซ้อมมาแล้วทำไมพอถ่ายจริงไม่ใช่วะ หรือนักแสดงไม่สบายขอพักแปบนึง เลทชั่วโมงนึง สองชั่วโมง ก็ต้องดีลกับสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ แต่เราไม่เคยเจอแบบนี้เลย ไม่เคยเจอแบบนักแสดงเด๊ด อันนี้หนักสุดแล้ว ถึงขั้นไม่รู้จะทำอะไรต่อเลย

“ซึ่งพอกลับไปดูฟุตเทจที่ทีมเบื้องหลังถ่ายไว้จะเห็นว่า กูยิ้มตลอดเวลาเหมือนกันนะ คนจะเชื่อมั้ยเนี่ยว่ากูเฮิร์ตอยู่ แต่อย่างที่บอก มันอาจจะเป็นเพราะมันคือปีที่ 6 จริงๆ หมายถึงว่าเศร้าไปก็ไม่ได้อะไร ถ้าเป็นปีที่ 1 เราว่าหน้าเราไม่ใช่อย่างนี้แน่นอน”

 

STAGE 5

DESPAIR / สิ้นหวัง

“เราว่ากลับบ้านมือเปล่าชัวร์”

“ตอนนั้นไม่รู้จะทำยังไง ในหัวมันคิดว่าจะเอายังไงดี เอายังไงดี ตลอดเวลา คือนอยด์มาก ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ แต่ในหัวพยายามแตกออปชันแล้วว่าทำอะไรได้บ้าง

“เพราะเกิดเหตุการณ์นี้มั้ง เราถึงรู้ว่าเราเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นงานที่ไม่ค่อยมีปัญหามันก็จะเหมือนกับทุกๆ งาน แต่อันนี้เหมือนเราถูกถีบลงเหวไปเลย อ๋อ มึงแน่นักใช่มั้ย มึงลงเหวไปเลย แล้วคราวนี้มันต้องใช้สกิลล์ทุกอย่างในชีวิตมาโอบอุ้มไม่ให้กระแทกพื้นตาย

“พอถึงจุดหนึ่ง พอรู้ว่าทูวิ่งไม่ได้แล้ว ก็ต้องตัดสินใจอะไรสักอย่าง ก็ลองโทรหานักแสดงคนอื่นเหอะ เราก็เลยพยายามนึกถึงใครที่ดูใกล้เคียง ก็นึกเร็วๆ ว่าทูเคยเล่นกับเบน (เบนจามิน โจเซฟ วาร์นี) ใน Rompboy ดูเป็นวัยเดียวกัน แล้วก็คิดว่าเบนน่าจะพอเล่นได้ เพราะเป็นคนอิมโพรไวซ์ได้ พูดธรรมชาติได้ ก็เลยลองโทรหาเบนแล้วกัน มาได้ก็มา ก็ลองดู เผอิญมาได้ด้วย แม่งเซอร์มาก เบนขับรถมา เผอิญเบนขับรถเอง เลยไม่มีเวลาอ่านบท แต่ไม่เป็นไร มึงเอาตัวมาก่อนเลย เรื่องสคริปต์เดี๋ยวว่ากัน

“เราว่าถ้าเกิดเบนมาเร็วกว่านั้นมีสิทธิ์เหมือนกันนะ เพราะว่าที่เห็นในหนังนั่นคือเทกที่สอง เราว่ามันดูโอเคเหมือนกันนะ เพียงแต่เขาจำสคริปต์ไม่ได้ แค่พอเล่นได้ ซึ่งกว่าเขาจะมาก็ 4 – 5 โมงแล้ว มันไม่ทันแล้ว มันมืดแล้ว จบแค่นั้นเลย

“ซึ่งวันนั้น เราว่าเรากลับบ้านมือเปล่าชัวร์”

 

STAGE 6

THE WALL / กำแพง

“แพ้บ้างก็ได้ไม่เป็นไรมั้ง”

“ตอนอยู่ในกองถ่ายช่วงท้ายๆ เรารู้สึกว่ามันเหมือนในสคริปต์ที่เขียนเลย ที่นักแสดงคุยกันแล้วตัวละครพูดว่า ‘เหี้ยเนอะ เดินไม่ถึงเส้นชัย’

“มันเหมือนเขาพูดกับเราอยู่ คือนี่มึงพูดกับกูอยู่เหรอ ที่อิมเมจบอกว่า ‘แพ้บ้างก็ได้ไม่เป็นไรมั้ง’ เฮ้ย นี่พูดกับกูอยู่เหรอ ตอนนั้นก็เริ่มมีไอเดียว่าบทมันคาบเกี่ยวกับการถ่ายวันนั้นอยู่ แต่ยังไม่รู้จะทำยังไงกับมันเพราะเราไม่รู้ว่าเรามีอะไรในมือบ้าง เราแค่ลุ้นๆ ว่า น้องที่ถ่ายเบื้องหลังเขาถ่ายอะไรไว้บ้าง

MY MARATHON

“น้องที่ถ่ายเบื้องหลังเขาถ่ายไว้เพราะจะเอาไปตัดเป็นสกู๊ปในช่อง GMM พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นน้องก็ถ่ายไป เราก็บอกแค่ให้น้องเขาไปสัมภาษณ์เรื่องความรู้สึกว่าเกิดความฉิบหายแบบนี้พวกมึงรู้สึกยังไง

“พอกลับมาดูฟุตเทจที่เราถ่ายแล้วรู้ว่าไม่รอดชัวร์ ก็เริ่มติดต่อทุกคน วันนั้นใครถ่ายอะไรไว้ส่งมาให้หมด พวกถ่ายเล่นก็เอามาเถอะ เพราะฉะนั้นฟุตเทจมันก็จะเยอะมาก มีทั้งของน้องที่ถ่ายเบื้องหลัง ทั้งที่โปรดิวเซอร์ของเราถ่ายไว้ แล้วก็ของคนอื่นๆ อีก ก็มารวมกัน

“ตอนแรกยังไม่คิดว่าจะทำอะไรได้ แค่อยากดูฟุตเทจที่มีก่อน ซึ่งมันรู้สึกสนุกดีเหมือนกันนะ แต่ยังไม่รู้จะร้อยเรื่องยังไง จนกระทั่งเรากลับไปดูที่เราสัมภาษณ์พี่เบิร์ดไว้ตอนรีเสิร์ชเท่านั้นแหละ

“พี่เบิร์ดครับ พี่ได้พูดประโยคนึง ซึ่งมันดูเป็นตอนจบได้ แล้วมันห่อทั้งเรื่องไว้ได้ มันคือประโยคสุดท้ายในหนังนั่นแหละ เหมือนกูเจอทอง ในความความรู้สึกเรามันเหมือนกับเรากำลังติดต่อสื่อสารกับฟุตเทจเขาอยู่ มันเหมือนเขาพูดให้เราฟัง

“พอมีอันนี้เรารู้สึกว่ากูรอดแล้วแล้ว วิธีการคือ เอาอันนั้นวางไว้ตอนสุดท้ายของไทม์ไลน์ แล้วเราค่อยไล่ไปว่าทำอะไรได้บ้าง เราต้องเอาอะไรมาก่อนอะไรมาหลัง แล้วจะเล่ายังไง เพราะมันเล่าได้หลายแบบมาก คือมันพอมีสตอรี่แหละ แค่คุณจะลำดับยังไง จบที่ไหน สุดท้ายเรารู้สึกว่าตอนจบหนังที่เราทำมันโอเคมาก มันรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเองอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

“เรารู้สึกว่า มันไม่แน่นอน การทำงานการสร้างสรรค์ โดยเฉพาะทำหนัง มันมีแต่เรื่องไม่แน่นอน คุณต้องปรับตัวไปกับมัน หรือไม่คุณก็เดินในทางของคุณเอง”

อิมเมจ สุธิตา

 

STAGE 7

AFFIRMATION / หัวชนฝา

“เราตกลงมาแรงนะ แต่เราตกบนเบาะ”

“หน้าพี่เล็ก-บุษบา ดาวเรือง ลอยขึ้นมาเลย (หัวเราะ) คิดว่าเราจะพูดกับเขายังไง

“เราว่าเราโชคดีที่อยู่ถูกจุด เพราะว่าทีมแกรมมี่ทุกคนที่เราดีลเขาคือคนทำคอนเสิร์ตเว้ย แล้วพอเราฉายดราฟต์แรกให้เขาดู ปรากฏเขาชอบมาก เราก็คิดในใจ พี่ชอบจริงหรือเปล่า แต่ดูอาการเขาชอบมากจริงๆ

“แล้วเขาก็พูดว่า มันเหมือนกับเวลาพวกพี่ทำคอนเสิร์ต มันเป็นอย่างนี้แหละ เค้าอยู่กับความ fuck up ที่เรามองไม่เห็น แล้วหนักกว่าเรา เช่นสมมติศิลปินจะขึ้นเวทีแล้ว อยู่ดีๆ เสียงไม่ออก หรือไมค์คนนั้นเปิดไม่ติด หรือเขาเคยเล่าว่า จัดคอนเสิร์ตแล้วมีคนมาระงับก่อนเล่น แล้วไม่รู้จะทำยังไง พวกพี่เขาเลยเข้าใจในสิ่งที่เราเจอ เราเลยรู้สึกโชคดีฉิบหาย การได้เจอทีมพี่เล็กคือการเรียนรู้

“มันเหมือนเราตกลงมาแรงนะ แต่เราตกบนเบาะเว้ย เพราะว่าถ้าเกิดเป็นคนอื่นเขาอาจจะไม่คิดอย่างนั้น อันนี้มีความเข้าใจ แล้วก็อย่างที่ว่า เรารู้สึกว่า เขาดูแล้วมันสนุกด้วยมั้ง เคิร์ฟมันขึ้นลงอย่างนี้เลย ชะตาชีวิต

“พี่เล็กบอกว่าหนังเรื่องนี้เหมือนพระเจ้าเป็นผู้เขียนบทครึ่งนึง ซึ่งเราคิดว่าใช่เลยพี่ เพราะว่าเราไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้กับงานอื่นแน่ๆ ทำไม่ได้แน่นอน ต่อให้ไม่ใช่โฆษณาก็ตาม แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในกองมันคาบเกี่ยวกับสคริปต์ภาพยนตร์ ร้อยเข้ากับที่เราสัมภาษณ์พี่เบิร์ด แบบเป๊ะๆ”

ฟ้า ษริกา

 

STAGE 8

ELATION / ปิติยินดี

“ในที่สุดก็ถึงวันนี้ วันที่มันไม่เวิร์ค”

มันคือแรงบันดาลใจ ใจบันดาลแรง จริงๆ อย่างที่เราพูด เรารู้สึกว่าระหว่างถ่าย กูนี่เหมือนในสคริปต์เป๊ะเลย

“ถามว่าเหตุการณ์นี้มันลดอัตตาเราไหม มันไม่ใช่ลดอัตตาหรอก มันแค่เป็นแบบในที่สุดก็ถึงวันนี้ วันที่มันไม่เวิร์ก แล้วมันไม่ใช่แค่ปล่อยผลงานแล้วไม่เวิร์ก แต่มันคือไม่เวิร์กตั้งแต่ในกอง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้น เราไม่เคยถ่ายไม่เสร็จ

ซึ่งถ้าให้ย้อนมอง เราว่าการทำเรื่องนี้มันเปลี่ยนเรา 2 อย่าง อันแรก มันทำให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาแบบของจริง คือเรามีสำนึกตรงนี้อยู่แล้วแหละไม่ว่าทำกองถ่ายไหน แต่เราไม่เคยรู้สึกขนาดนี้ อันนี้มันง่ายมาก มึงถ่ายไม่ได้ มึงลงมาเลย มึงมานี่ มึงมานั่งนี่ มึงคิดใหม่เลยว่าจะทำยังไง

“แล้วเราเพิ่งผ่าน Die Tomorrow ที่มันถ่ายแล้วแบบราบรื่นไม่มีปัญหาเลย ซึ่งเรื่องนี้อาจจะมาถูกช่วงเวลา คือมึงอย่าซ่านักนะมึง ไม่ได้หมายความว่ามึงเคยถ่ายได้แล้วมึงจะถ่ายอย่างนี้ไปได้เรื่อยๆ ซึ่งมันไม่ใช่แค่ดึงขาเรา แต่มันกระชากลงมาเลย กลับสู่ความดำมืด เออ มันมีขึ้นมีลงจริงๆ ว่ะ การทำหนัง ไม่ใช่ว่าทำแล้วเก่งขึ้นๆ มันเป็นงานๆ ไป

“แล้วอันที่สองที่มันเปลี่ยนเราคือ ที่ผ่านมาเราไม่เคยคิดว่าเราจะได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจริงๆ เราจะรู้สึกว่าเราทำงานเล็กมาตลอด แล้วเวลาเราทำอะไรที่แผลงๆ พิสดาร ไม่เหมือนชาวบ้าน เราก็จะมีคำถามในสิ่งที่ทำตลอดว่า นี่กูเชียร์กันเองรึเปล่า มึงให้กำลังใจตัวเองหรือเปล่าว่ามันเวิร์ก แต่พอทำงานนี้แล้วรู้สึกว่าในจุดนึงเราไม่ได้คิดไปเอง มันมีคนโอเคกับสิ่งที่เราทำจริงๆ อยู่ อย่างน้อยก็ทีมพี่เบิร์ด ซึ่งตอนแรกเรากลัว เพราะพวกพี่เขาไม่ใช่วัยรุ่น หมายถึงดูเหมือนไม่วัยรุ่น แต่จริงๆ แล้วเขาวัยรุ่นกว่าที่คิดมาก เขารู้ว่าเราทำอะไร แล้วมันเป็นอีกเวย์หนึ่งที่อาจจะไม่เหมือนปกติ

“พอเรากลับมาดูชิ้นงานแล้วมันก็แปลกประหลาดนิดนึง คนคงคาดหวังว่าเราจะทำหนัง ทำเอ็มวี แต่สิ่งนี้เราไม่รู้จะเรียกมันว่าอะไรเลยนะ จะเรียกว่าเบื้องหลังเดี๋ยวคนก็จะคิดว่ามีหนังจริงอีก จะบอกว่าหนังจริง พอคนไปดูคงแบบเมื่อไหร่หนังจะเริ่มวะ ทำไมมึงเปิดเบื้องหลังก่อน

“เราไม่รู้จะเรียกสิ่งนี้ว่าอะไร แต่ถ้าเขาบอกว่ามิวสิกคอนเทนต์คืออะไรก็ได้ นี่คือมิวสิกคอนเทนต์ที่เกิดขึ้นจากมิวสิกของพี่เบิร์ดจริงๆ เลย เราเลยรู้สึกดีมากที่มันออกมาเป็นแบบนี้ อาจจะสื่อสารยากหน่อย แต่ถ้าคนเข้าใจก็จะเข้าใจ”

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล