“หน้าร้อนที่ญี่ปุ่นร้อนมาก ร้อนกว่าไทย” เพื่อนคนหนึ่งในออฟฟิศฉันรีบบอกเมื่อรู้ว่าฉันกำลังจะเดินทางไปญี่ปุ่นปลายช่วงเดือนสิงหาคม
“ร้อนแบบอึดอัด ชื้น ไม่มีลม ร้อนจนป่วย” เพื่อนฝั่งตรงข้ามผู้เคยมีประสบการณ์ไปในเดือนที่ว่ากันว่าร้อนที่สุดนั้นรีบเสริม
จะร้อนขนาดไหนกันเชียวนะ
ทันทีที่ก้าวแรกของฉันเหยียบลงโตเกียว แทบไม่ต้องรอพิสูจน์ ‘อืม…ร้อนจริง อย่างที่เขาว่า’
ก่อนร่างกายจะละลายเหลวไปกับพื้น รถบัสคันใหญ่ก็วนมาจอดตรงหน้า เพื่อพาฉันและผู้ร่วมทริปอีกเกือบๆ 30 คน เดินทางไป Marunouchi Forest Area ผืนป่าใจกลางย่านธุรกิจของโตเกียวดับร้อน


ทริปนี้ ฉันตามน้องๆ นักศึกษาฝึกงานในโครงการ AP Open House ที่ AP Thailand ตั้งใจพามาศึกษาต้นแบบการพัฒนาเมืองเพื่อการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน โดยการสร้างสมดุลของระบบนิเวศอย่างเกื้อกูลกันขึ้นมาใหม่ ภายใต้คอนเซปต์ Bio-Net Initiative ที่ต่อยอดมาจากปรัชญา Biodiversity (ความหลากหลายทางชีวภาพ) ของบริษัท Mitsubishi Estate Group ถึงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ไม่ใช่แค่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมืองเท่านั้น ความน่าสนใจของแนวความคิดยังลงลึกไปถึงการทำให้พื้นที่ย่านไดมารูยู (Daimaruya District) กลายเป็นย่าน CBD (ศูนย์กลางธุรกิจ) ที่ใหญ่ที่สุด และแบ่งปันที่ดินราคาแพงระยับนี้มาสร้างสรรค์สังคมแห่งการอยู่ร่วมกันตั้งแต่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋ว คน จนถึงเมืองให้เติบโตไปพร้อมกัน

ยึดโยงพื้นที่สีเขียวในย่านธุรกิจด้วยจิตสาธารณะ
ภาพจำ เมื่อพูดถึงย่านศูนย์กลางธุรกิจ แน่นอนว่าแต่ละตารางเมตรนั้นถูกใช้อย่างคุ้มค่า และแน่นขนัดไปด้วยตึกสูงระฟ้า พื้นที่สีเขียวจำนวนน้อยนิดถูกสร้างขึ้นตามที่กฎหมายระบุไว้เท่านั้น ใครล่ะหนอจะยอมเสียพื้นที่ราคาสูงพอๆ กับชั้นตึกให้สิ่งมีชีวิตอื่นใดที่ไม่ได้สร้างมูลค่าเป็นเม็ดเงิน
ภาพจริง เมื่อตัดมาที่ญี่ปุ่น ย่านไดมารูยู ซึ่งเป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจสำคัญที่ครอบคลุมตั้งแต่ Marunouchi-Otemachi-Yurakucho กินพื้นที่มากกว่า 120 เฮกตาร์ (750 ไร่) ในแต่ละวันจะมีพนักงานเดินทางมาจากทั่วโตเกียวและเมืองใกล้เคียงเข้ามาทำงานไม่ต่ำกว่า 230,000 คน ฉะนั้น แผนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมระยะยาวที่ Mitsubishi Estate Group กำลังริเริ่มทำอย่างขะมักเขม้นตอนนี้ คือความตั้งใจทำให้พื้นที่ CBD แห่งนี้มีพื้นที่สีเขียวมากยิ่งขึ้น และอยากจะใช้ที่นี่เป็นต้นแบบของการพัฒนาเพื่อการอยู่อาศัยร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างคน สิ่งก่อสร้าง และพื้นที่สีเขียว


ย้อนกลับเมื่อปี 1894 Mitsubishi Estate Group เป็นเจ้าแรกที่เข้ามาซื้อที่ดินย่าน Marunouchi ซึ่งถ้านึกไม่ออกที่ดินย่านนี้คือละแวกพื้นที่ปราสาทเอโดะนั่นเอง หลังจากสร้าง Mitsubishi Ichigokan ตึกทำการแรกของบริษัทมากว่า 120 ปี เขาก็เพิ่มพัฒนาที่ดินตรงนั้นมาเรื่อยๆ จากที่มีแต่ตึกออฟฟิศ ก็เริ่มกลายเป็นย่านที่มีทั้งร้านอาหาร คาเฟ่ ห้าง พิพิธภัณฑ์ และพื้นที่สาธารณะ ให้คนได้มาใช้ประโยชน์ในวันหยุด จนเมื่อปี 1995 เขาได้ประกาศสร้างอาคารที่ทำการใหม่ขึ้นอีกครั้ง
ในระยะเวลา 10 ปีแรกของโครงการพัฒนา Marunouchi ขึ้นใหม่นี้ บวกกับตระหนักดีว่าภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบไปอย่างกว้างขวาง ทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความสมดุลของระบบนิเวศของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติกำลังสูญเสียไป Mitsubishi Estate Group ในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ให้ญี่ปุ่น และสร้างระบบนิเวศให้เกิดความสมดุลที่ดีขึ้นได้ จึงริเริ่มโปรเจกต์การสร้างพื้นที่และคืนความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ให้พื้นที่ในย่านธุรกิจนี้ไปด้วย อย่างการสร้างพื้นที่สีเขียวที่แทรกไปในทุกโครงการ ปลูกต้นไม้ตลอดสองฝั่งถนน สร้างจุดพักผ่อนที่เต็มไปด้วยร่มไม้ หรือแม้แต่ The Café by Aman คาเฟ่ที่ซ่อนอยู่ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่กว่า 3,600 ตารางเมตรอย่างกลมกลืน เปรียบเสมือน Forest Park In The City ผืนป่าใจกลางเมืองขนาดย่อม

ปัจจุบันพื้นที่ย่านไดมารูยูมีบริษัทอื่นเป็นร่วมเจ้าของ การจะสร้างพื้นที่ให้สอดรับกับแนวความคิดตั้งต้นของ บริษัท Mitsubishi Estate Group นั้น ใครๆ ต่างคิดว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ญี่ปุ่นก็คือญี่ปุ่น ทุกคน ทุกบริษัท ทุกองค์กร ให้ความสำคัญต่อการสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมในทุกๆ มิติเช่นเดียวกัน ดังนั้น ความร่วมมือจึงเกิดขึ้นไม่ยาก

และด้วยความที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักที่ผลักดันให้เกิดความร่วมมือกับหลายภาคส่วน คุณทากาโนริ มูรากามิ Deputy General Manager of Urban Development Promotion Department บริษัท มิตซูบิชิ เอสเตท เล่าว่า Mitsubishi Estate Group ทำการลงพื้นที่ศึกษาทุกตารางเมตรของโครงการ เพื่อหาวิธีในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ หลังจากนั้นจึงจัดทำเป็นหนังสือไกด์ไลน์เกี่ยวกับเรื่องออกแบบพื้นที่สีเขียวเพื่อให้ทุกคนพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน
การออกแบบพื้นที่ให้คนและสัตว์เป็นเจ้าของ

ไม่ใช่แค่การพัฒนาพื้นที่สีเขียวในแต่ละโครงการให้มีพื้นที่มากๆ แต่พวกเขาให้ความสำคัญต่อทุกสิ่งมีชีวิตและมองไปถึงระดับโครงสร้างเมือง เพื่อออกแบบให้พื้นที่สีเขียวเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายจนกลายเป็นระบบนิเวศใหม่ที่เชื่อมกับสวนสาธรณะเดิมที่มีอยู่แล้วด้วย โดยตั้งใจให้นกหรือแมลงบินไปมาระหว่างพื้นที่สีเขียวนั้นๆ ได้ เช่น บินจากสวนไปยังสวนสาธารณะไปยังโครงการที่อยู่อาศัย บินต่อไปยังต้นไม้ระหว่างถนน แล้วบินวนกลับมายังสวนเดิมได้
เขาใช้วิธีการลงลึกศึกษาและคำนวณระยะการบินที่เป็นไปได้จริงของแมลงและนกแต่ละพันธุ์อย่างเช่น แมลงปอด่างจะบินได้ในระยะ 1 กิโลเมตรต่อครั้ง ผีเสื้อมีระยะการบินอยู่ที่ 200 เมตรต่อครั้ง ส่วนนกสายพันธุ์ Titmouse บินได้ระยะ 100 เมตรต่อครั้ง เป็นต้น จากนั้นค่อยปักหมุดสร้างสวนบนพื้นที่ที่เหมาะสม และในสวนนั้นจะมีจุดเชื่อมต่อที่วางรังนกเอาไว้ด้วย
นอกจากนี้ยังคำนวณแม้กระทั่งการเว้นช่องว่างระหว่างหินและการปูพื้นเพื่อให้เพื่อให้สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก และแมลงต่างๆ อาศัยอยู่ในซอกนั้นได้ แถมวัสดุปูพื้นที่เลือกใช้ยังกักเก็บและคลายความชื้นเพื่อช่วยลดอุณหภูมิได้ระดับหนึ่ง


การลดอุณหภูมิที่ว่านี้ยังมีอีกหลายวิธี เช่น ทดลองปลูกหญ้าบนท้องถนน ซึ่งช่วยลดความร้อนที่ถนนปล่อยออกมาถึง 5 องศาเซลเซียส รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้อย่าง Dry Mist หรือละอองไอน้ำ มาใช้ในการลดอุณหภูมิอีกแรง
และเพื่อให้รู้สึกว่าหน้าที่การดูแลพื้นที่สาธารณะทั้งหมด ไม่ใช่แค่ผู้พัฒนาเท่านั้น เขาทำให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่ผ่านแอปพลิเคชัน โดยถ้าพบเห็นสิ่งมีชีวิตใดๆ ก็ถ่ายรูป อัพโหลดลงและระบุตำแหน่งลงในแอปฯ นี้ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เข้ามาเก็บข้อมูลและกลับไปเคลื่อนย้ายหรือดูแลรักษาต่อไป รวมถึงการจัดกิจกรรมให้คนมีส่วนร่วมด้วย เช่น การพาชมสัตว์ในเวลากลางวันและการคืน เพื่อปลูกจิตสำนึกในการรักและหวงแหนที่จะดูแลพื้นที่ เห็นไหม เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่มันสร้างอิมแพคด้วยวิธีที่การน่ารัก
ระหว่างที่ฟังคุณมูรากามิเล่าอยู่นั้น พลันหูแว่วเสียงนก ฉันเงยหน้าขึ้นทันที มองตามเสียงก็เห็นเจ้านกน้อยบินออกมาโชว์ตัวอย่างรู้งาน

ใช้ที่อยู่อาศัยให้คนใส่ใจสิ่งแวดล้อม
Mitsubishi Estate Group ไม่หยุดพัฒนาเพียงเท่านั้น พวกเขานำเอาปรัชญา Biodiversity ต่อยอดมาสู่แนวความคิด Bio-Net Initiative ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์การพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อรักษาสมดุลและการเชื่อมต่อของระบบนิเวศด้วย
คุณเรียว มัทสึโมโตะ Manager of Product Planning Department บริษัท มิตซูบิชิ เอสเตท เรสซิเดนซ์ (บริษัท ในเครือมิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป) กล่าวว่า Bio-Net Initiative เกิดขึ้นโดยมีแนวคิดที่สำคัญสองประการ อันดับแรกคือการใช้ที่อยู่อาศัยเป็นสื่อกลางทำให้ผู้อยู่อาศัยมีจิตสำนึก นึกถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อันดับที่สองคือการใช้บ้านและที่อยู่อาศัยเป็นจุดเชื่อมเส้นแต่ละจุดเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี

จริงๆ แล้วตอนนี้ ทั้งทางรัฐบาลและ UN ก็ได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อพัฒนาเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเราอาจหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ได้ทางอินเตอร์เน็ตหรือจากสื่อต่างๆ แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้มีข้อมูลที่แชร์มาถึงคนทั่วไปมากพอ ดังนั้นเขาเลยคิดว่าอยากจะเผยแพร่เรื่องนี้ให้ได้รู้กันมากขึ้น โดยใช้ที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคนเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร
“เวลาที่มีลูกค้ามาสนใจดูบ้าน ทางเซลล์จะเริ่มอธิบายเรื่องของ Bio-Net Initiative ให้ลูกค้าฟังก่อน เพราะคิดว่าตรงนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ลูกค้าหรือผู้ที่อยู่อาศัยเริ่มมีความสนใจเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ถ้าเกิดเรื่องนี้พัฒนาไปจนถึงได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆ จะถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก
“การสร้างความหลากหลายและการดูแลรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในที่นี้ เราไม่ได้นำพืชมาจากข้างนอก แต่เราดูแลรักษาความหลากหลายของพืชพรรณที่มีในญี่ปุ่นมาตั้งแต่อดีตให้มีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมั่นคง” คุณเรียวเล่าต่อ
เขาอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันมีโครงการอสังหาฯ ทั้งในรูปแบบของคอนโดมิเนียมแบรนด์ The Parkhouse พื้นที่สาธารณะ รวมถึงพื้นที่สำนักงานขนาดใหญ่อย่างไดมารูยู เป็นส่วนหนึ่งในโครงการภายใต้แนวความคิด Bio-Net Initiative ซึ่งมีมากกว่า 150 โครงการ และ Mitsubishi Estate Residence ตั้งใจให้ทุกๆ โครงการของ The Parkhouse เป็นเสมือนที่พักที่อุดมสมบูรณ์ให้แก่สิ่งมีชีวิตโดยรอบที่แวะเข้ามาพักอาศัย ด้วยการคิดคำนวณถึงสถานที่โดยรอบของโครงการว่าควรมีพืชพรรณ ดิน น้ำ ลมในปริมาณใด เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้ธรรมชาติเจริญเติบโตอย่างสมดุล

แนวคิดดีที่รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้มีส่วนร่วม
แนวความคิด Bio-Net Initiative เปิดตัวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2015 การันตีด้วยรางวัล Good Design Award of 2015 และ Excellence Prize of the Biodiversity Action Grand Prize 2015 จากการออกแบบโครงการที่อยู่อาศัยที่ใส่ใจสภาพแวดล้อม และเอื้ออำนวยต่อสิ่งมีชีวิตในละแวกนั้น ไม่ว่าจะเป็นนก ผีเสื้อ หรือดอกไม้ ต้นหญ้า และการที่โครงการ The Parkhouse กลายเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศของธรรมชาตินั้นทำให้อีกกว่า 18 โครงการ ได้รับการรับรองเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ จากสถาบัน ABINC (Association for Business Innovation in harmony with Nature and Community) ด้วยเช่นเดียวกัน
ความดีงามอีกอย่างของแนวความคิด Bio-Net Initiative นี้ยังเกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นตั้งใจทำขึ้นมาเองของ Mitsubishi Estate Residence เพื่อสร้างสมดุลให้ระบบนิเวศอย่างครอบคลุม และทำอย่างจริงจังมาเป็นเวลา 26 ปี โดยรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้มีส่วนร่วมกับการสร้างพื้นที่สีเขียวภายใต้ปรัชญาของเขาเลย


ส่งต่อจากญี่ปุ่นสู่ไทย
ในไทยเอง AP Thailand ก็ได้จับมือกับ Mitsubishi Estate Residence นำแนวความคิดนี้ไปพัฒนาพื้นที่และออกแบบที่อยู่ เพื่อสร้างมาตรฐานของคุณภาพชีวิตที่ดีไปแล้วบ้าง
ในความเป็นจริงบ้านเรา การสร้างสวนหรือโครงการอสังหาริมทรัพย์ให้เชื่อมต่อกันได้อย่างที่นี่จะยากสักหน่อย และคงใช้เวลามากกว่าจะทำได้จริง แต่ก็นั่นแหละ ในเมื่อ Rome wasn’t built in a day ฉันใด เราเองก็อาจจะต้องใช้เวลาฉันนั้น ซึ่งถ้าพูดกันตามตรง การคิดที่จะลงมือทำก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีกว่าการไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย จริงไหม
ฉันใช้เวลาราวอีก 30 นาที เดินสำรวจรอบๆ ในละแวก Marunouchi Brick Square เพลินเพลินไปกับการส่องหาสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วตามซอกพื้น และมองดูผีเสื้อสีสวยบินไปมาคล้ายเต้นระบำ ก่อนนั่งพักบนม้านั่งใต้สวนแนวตั้งแล้วหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านฆ่าเวลา ครู่เดียว ลมเย็นพัดเอื่อยพอให้หน้าหนังสือปลิวจนต้องขยับมือจับให้กระชับ
เกือบลืมไปเลยว่าฉันเดินทางมาญี่ปุ่นในฤดูร้อน และก่อนหน้านี้มันร้อนมาก!
