30

เรื่องมันยาว

บินหลา สันกาลาคีรี

เป็นนักเขียน – อาชีพที่เขาใฝ่ฝัน ศรัทธา และทำทุกอย่างให้ได้เป็น

ผมเคารพ รัก และนับถือเขาในฐานะครู ทั้งตัวหนังสือและตัวจริง

ผมอ่านงานเขาตั้งแต่หนังสือเล่มแรก พิมพ์ครั้งแรก ซึ่งเขียนด้วยชื่อจริง – วุฒิชาติ ชุ่มสนิท

นับถึงวันนี้ก็ 30 ปีพอดี

30 ปี บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนผู้เชื่อว่า เราพบกันเพราะหนังสือ

ผมเคยนั่งคุยเรื่องชีวิตของเขาตามประสาพี่น้อง ระหว่างที่เขาขับรถพาผมเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปเยี่ยมพญาอินทรี ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่สวนทูนอิน เมื่อสิบกว่าปีก่อน ชีวิตเขาสนุกและขึ้นลงอย่างกับรถไฟเหาะ จนผมอยากตบกะโหลกตัวเองที่ไม่ได้กดเครื่องอัดเสียงบันทึกไว้ ไม่อย่างนั้นคงได้บทสัมภาษณ์ชิ้นเยี่ยมไปแล้ว

เขาเป็นนักเล่าเรื่อง นักเขียน นักข่าว นักเดินทาง นักจักรยาน นักประวัติศาสตร์ นักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ไม่ว่าจะทำอะไร เขาจะทุ่มเทกับมันจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเสมอ

ครั้งนี้ผมใช้เวลา 1 สัปดาห์ คุยกับเขา 4 ครั้ง นับรวมเวลาได้ 6 ชั่วโมง ถอดเทปออกมาได้ 60 หน้าเอสี่ วางโครงได้ 30 บท

เขียนเป็นหนังสือ 1 เล่มได้สบาย

แต่ต้องรวบและรัดให้เหลือหนึ่งบทสัมภาษณ์ขนาดยาว เรื่องไหนไม่เกาะกับชีวิตนักเขียนก็ถูกแกะ

ถ้านึกรสชาติงานเขียนของ บินหลา สันกาลาคีรี ไม่ออก ลองชิมจากชื่อตอนในบทสัมภาษณ์นี้ เพราะทั้งหมดมาจากชื่อหนังสือและชื่อเรื่องของเขา

ขอออกตัวบนบรรทัดนี้ ด้วยชื่อหนังสือเล่มหนึ่งของเขาว่า

เรื่องมันยาว

30 ปี บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนผู้เชื่อว่า เราพบกันเพราะหนังสือ

29

เราพบกันเพราะหนังสือ

30 ปี บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนผู้เชื่อว่า เราพบกันเพราะหนังสือ

สมองของบินหลา สันกาลาคีรี ในวัย 55 ปี ยังคงพลุ่งพล่านไปด้วยเรื่องที่อยากเล่า

แต่หน้ากระดาษต้นฉบับของเขายังว่างเปล่ามาอย่างน้อยก็ครึ่งทศวรรษ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2558

เขาเคยทิ้งความมั่นคง ลาออกจากงานประจำไปเขียนหนังสือ แล้วก็ยอมทิ้งอาชีพในฝันกลับมานั่งโต๊ะทำงานรับเงินเดือน (และจ่ายเงินเดือน) อีกครั้ง เพราะอยากทำนิตยสารเกี่ยวกับหนังสือ เมื่อ พ.ศ. 2554 เขากับเพื่อนสนิท วรพจน์ พันธุ์พงศ์ และ พรชัย วิริยะประภานนท์ ตัดสินใจรับตำแหน่งบรรณาธิการ คืนชีพนิตยสาร Writer ซึ่งปิดตัวไปเมื่อ 13 ปีก่อน

“ผมชอบคำว่า เราพบกันเพราะหนังสือ ผมได้พบคนอ่าน พบบางเรื่อง แม้กระทั่งได้พบตัวเอง ก็เพราะหนังสือ” บินหลาพูดถึงคำที่เปรียบเหมือนเส้นลายมือขีดชะตาชีวิตของเขาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

“ถ้าพูดถึง Writer ผมเห็นภาพกลุ่มคนที่มุ่งมั่นจะทำอะไรบางอย่าง แล้วก็ลงมือทำมัน งานส่วนใหญ่เป็นการเขียน พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด ทัศนะทางการเมือง ได้คุยกับเพื่อนนักเขียนด้วยกัน ได้เห็นฝีมือคนทำงาน ได้ปฏิสัมพันธ์กับคนในวงการนักเขียน ได้เป็นส่วนหนึ่งในการหมุนของวงจรนี้ มันเป็นงานที่หนักมาก ผมแทบไม่มีเวลาเขียนหนังสือ แต่สิ่งที่ผมได้กลับมาก็เยอะมาก”

งานเขียนของเขาในช่วงเวลา 4 ปี ระหว่างทำนิตยสาร Writer มีเพียงเขียนคอลัมน์ประจำในนิตยสารของตัวเอง ซึ่งมีแนวคิดอยู่บนคำว่า ‘เราพบกันเพราะหนังสือ’ เขาหยิบเรื่องราวบางเรื่อง บางตัวละคร จากหนังสือบางเล่มมาคุยต่อกับผู้อ่าน คอลัมน์ของเขาเปลี่ยนเนื้อหาไปเรื่อยๆ มีทั้งประวัติศาสตร์และตัวละครในวรรณคดี ซึ่งกลายมาเป็นหนังสือเรื่อง คนรู้จัก (2557) และ ผู้หญิงอยุธยา (2560) หนังสือ 2 เล่มล่าสุดของเขา

พ.ศ. 2558 งานเลี้ยงถึงวันเลิกรา ทีมงาน Writer ต่างแยกย้าย ตัวเขาตั้งใจจะกลับไปมุ่งมั่นกับการเขียนหนังสือ

แต่ถึงวันนี้ สิ่งนั้นก็ยังไม่เกิดขึ้น

28

ชีวิตคือความทรงจำ

อาชีพนักข่าวคือความฝันของบินหลาตั้งแต่เรียนประถม เพราะติดใจในรสมือของกลุ่มนักเขียนซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ชั้นครูอย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขาอยากทำงานที่อิสระ เป็นขบถ และยืนหยัดกับความเชื่อบางอย่างเหมือนนักเขียนเหล่านี้

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในจังหวัดสงขลาบ้านเกิดของเขาไม่มีคณะเกี่ยวกับงานสื่อสารมวลชน เลยต้องหันไปเรียนด้านวิทยาการจัดการ ปีถัดมาเขาก็สอบใหม่เข้าคณะนิเทศฯ จุฬาฯ ได้ เขาพูดถึงความทรงจำที่มีต่อคณะนี้ว่า

“ในคณะเต็มไปด้วยคนกล้าทำสิ่งที่อยากทำ ถูกหรือผิดอาจจะบอกยาก แต่มีความกล้า มุ่งมั่นที่จะทำ แล้วก็ปรากฏผลในแต่ละทางที่ต้องการไปได้ ผมชอบบรรยากาศนี้มาก มันเป็นบรรยากาศของชีวิตในมหาวิทยาลัยที่แท้จริง”

เขาได้รับอิทธิพลทางความคิดในเชิงสังคมและการอ่านจากรุ่นพี่รุ่นเพื่อนมากมาย โดยเฉพาะรุ่นพี่อย่าง ศุ บุญเลี้ยง

“ผมเพิ่งได้อ่าน เจ้าชายน้อย ตอนเรียนปีหนึ่ง งงมากว่าทำไมไม่เคยรู้จักหนังสือเล่มนี้มาก่อนเลย หรือ ต้นส้มแสนรัก ก็มีอิทธิพลต่อความคิดคนวัยหนุ่มสาวอย่างผมมาก หนังสือท่านเขมานันทะด้วย ได้อ่านเพิ่มอีกหลายแนวเลย เมื่อก่อนผมอ่านหนังสือเยอะมาก พงศาวดารจีน นิยายจีน หลายเล่มที่ผมอ่าน ที่นิเทศฯ ก็ไม่มีใครรู้จัก เราก็มาแลกเปลี่ยนกัน”

27

เพลิน พรมแดน

ความสุขสมัยเรียนของบินหลามาจาก คน กับ ค่าย

เขาเคยเก็บกระเป๋าไปค่ายตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่พอเดินไปขึ้นรถแล้วเห็นรุ่นพี่แบกกลองทอมไปกันอย่างครื้นเครง เขาก็หันหลังกลับทันที เพราะรู้สึกว่าทุกคนไปค่ายเพื่อความสนุกของตัวเอง

“ช่วงเรียนนิเทศฯ จุฬาฯ เป็นช่วงปลายของสงครามเขมร มีข่าวเกี่ยวกับเขมรอพยพเยอะ ผมอยากเป็นนักข่าวสงคราม อยากรู้จักเขมรเพื่อเป็นพื้นฐานให้ได้เป็นนักข่าว ตอนนั้นมีค่ายที่บ้านตาโตว จังหวัดศรีสะเกษ เป็นหมู่บ้านที่พูดแต่ภาษาเขมร ผมยอมไปค่ายเพราะอยากรู้จักภาษาเขมร ไปแล้วเห็นบรรยากาศหลายอย่าง ก็รักงานค่ายขึ้นมา มันไม่ตรงกับที่ผมคิดไว้เลย ผมตัดสินคนอื่นเร็วไป หลังจากนั้นผมก็ทำค่ายมาตลอด แทบจะลืมความสนใจเรื่องภาษาเขมรไปเลย”

30 ปี บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนผู้เชื่อว่า เราพบกันเพราะหนังสือ

26

ฝึก

ชีวิตบนเส้นทางนักเขียนของบินหลาเริ่มต้นเมื่อเขาอายุ 11 ปี

บทความเรื่อง เราจะเลือกคนแบบไหนเป็นผู้แทนราษฎร ของเขาเข้ารอบ 10 ชิ้นสุดท้าย เลยได้ตีพิมพ์ในนิตยสาร สกุลไทย เขาได้เงินรางวัลมา 100 บาท และความมั่นใจในการจับปากกาที่ประเมินค่าไม่ได้

หลังจากนั้นเขาก็พยายามฝึกปรือฝีมือเรื่องสั้น ตอนเรียน ม.ศ. 5 งานของเขาได้ลงในนิตยสาร สกุลไทย พอเรียนมหาวิทยาลัยก็ได้ลงนิตยสาร สตรีสาร ของ บ.ก.นิลวรรณ ปิ่นทอง และต้นฉบับเรื่อง ฝันสีเทา ที่เขายื่นให้กับมือ บ.ก.อาจินต์ ปัญจพรรค์ เมื่อมาสอนที่คณะ ก็ได้ลงในนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย

ตลอดช่วงเรียนมหาวิทยาลัย เขาเขียนเรื่องสั้นได้สักสิบเรื่อง ได้ตีพิมพ์ราวครึ่งหนึ่ง ถือเป็นการเริ่มต้นก้าวเท้าเข้าวงการวรรณกรรมที่สวยงาม

25

ล้อกับโลก

ไปยาลใหญ่ คือนิตยสารระดับตำนานของประเทศไทย อัดแน่นไปด้วยอารมณ์ขัน ความคิดสร้างสรรค์ และการฉีกทุกกฎทุกกรอบ ประภาส ชลศรานนท์, วัชระ แวววุฒินันท์ และ ศุ บุญเลี้ยง รับช่วงบรรณาธิการ และช่วยกันตัดสายสะดือให้นักเขียนอย่าง อุดม แต้พานิช (ในวันนั้นเป็นฝ่ายศิลปกรรม), พิง ลำพระเพลิง, เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย, ‘ปราย พันแสง, บัวไร และอีกมากมาย

ไปยาลใหญ่ เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2529 บินหลาซึ่งเรียนอยู่ชั้นปีสองมีโอกาสติดตามศุ บุญเลี้ยง มาทำงานเป็นนักพิสูจน์อักษร แล้วขยับไปเป็นกองบรรณาธิการ เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย เพื่อหาทั้งประสบการณ์และเงินยังชีพ

“คนที่ผมเจอสุดยอดหมดเลย มีความคิดแปลก แล้วก็ใช้ชีวิตแตกต่างจากผมเยอะมาก อย่างสามบ.ก. ของ ไปยาลใหญ่ ก็น่าทึ่งมาก พี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) พี่อั๋น (วัชระ แวววุฒินันท์) เป็นมนุษย์ประเภทที่ผมไม่เคยเจอที่ไหน เขามีไฟ มีพลังความคิดสร้างสรรค์เยอะมาก พูดแต่ละคำ ทำให้ผมแปลกใจว่า วิธีคิดนี้มาได้ยังไงวะ นั่นทำให้ผมเข้าใจว่า ถ้าเรามีประสบการณ์ชีวิตบางอย่าง เราก็จะมีวิธีคิดที่คนอื่นไม่มีทางเข้าใจที่มา มีแต่เราคนเดียวที่รู้ว่ามันมาจากไหน”

นามปากกา บินหลา สันกาลาคีรี เกิดขึ้นที่ ไปยาลใหญ่ เพราะเขาอยากให้คนทราบว่า เขาบินมาจากที่ไหน

บินหลาเป็นคนเดียวในทีม ไปยาลใหญ่ ที่ไม่ตลก

“ตลกดีนะ ผมไม่ตลก แต่ก็อยู่ใน ไปยาลใหญ่ ได้ โน้ต อุดม เป็นคนตลกมาก อยู่ด้วยแล้วหัวเราะได้ทั้งวัน แรกๆ ผมพยายามเขียนให้ตลก แต่มันฝืด แล้วผมก็รู้ว่า ผมล้มเหลวเรื่องตลก เลยตั้งใจเขียนงานจริงจังเชิงสกู๊ปข่าว งานสัมภาษณ์ ผมก็มีที่มีทางอยู่ได้ จริงๆ แล้วที่นั่นไม่ได้ต้องการงานตลก เขาต้องการงานที่ดีพอ ผมทำงานที่ดีพอได้ ผมก็อยู่ได้”

แต่ก็อยู่ได้แค่ปีเดียว

24

บิน-ที-ละ-หลา

งานข่าวพาบินหลากระพือปีกจาก ไปยาลใหญ่ สู่ชายคา มติชน

ช่วงเรียนปี 4 เขาต้องฝึกงานที่ มติชน 2 เดือน จึงขอลาออกจาก ไปยาลใหญ่ เขาสนุกกับชีวิตนักข่าวรายวัน ถึงขนาดที่ฝึกงานจบแล้วไม่กลับไปเรียนต่อ ขอสมัครงานเลย

เรียนไปก็เท่านั้น เพราะอีกไม่นานเขาก็จะถูกรีไทร์เป็นครั้งที่สอง

“ผมไม่รู้จะบอกที่บ้านยังไง ตอนเรียนสงขลานครินทร์ ผมโดนรีไทร์มารอบหนึ่งแล้ว ตอนนั้นผมบอกว่า อยากเรียนนิเทศฯ แล้วผมจะตั้งใจเรียนไม่ให้โดนรีไทร์อีก แต่ผมกำลังจะโดนรีไทร์ครั้งที่สอง โชคดีที่ตอนนั้นเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ผมโดนรีไทร์ปีสามหนึ่ง ซึ่ง มติชน รับผมทำงานพอดี กว่าผมจะบอกที่บ้านก็ปีสามสาม”

มติชน จึงกลายเป็นโรงเรียนนักข่าวของบินหลา เขารับตำแหน่งนักข่าวประจำกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งไม่เหมือนภาพที่เคยจินตนาการไว้ในวัยเยาว์ แต่เขาก็ไม่แปลกใจ เพราะรู้ว่ายุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว

เขาทุ่มเทและสนุกกับงานข่าวจนต้องพักเรื่องงานเขียนไว้ชั่วคราว

ทุกอย่างดูจะดี แต่ปีต่อมาเขาก็ลาออกด้วยเหตุผลประหลาด

30 ปี บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนผู้เชื่อว่า เราพบกันเพราะหนังสือ

23

ขนส่งชีวิต

พ.ศ. 2532 มติชน ส่งนักข่าวไปร่วมทริปทำข่าวการเตรียมรวมตัวของสหภาพยุโรปที่เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และอิตาลี นับเป็นช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่บินหลาได้เปิดหูเปิดตาในประเทศไกลบ้านเป็นครั้งแรก ทุกอย่างน่าตื่นตาจนเขาต่อโทรศัพท์ทางไกลมาขอลางานอยู่เที่ยวต่อ

ปลายสายไม่อนุมัติ ต้นสายเลยขอลาออก

“ช่วงนั้นผมโชคดี มติชน เข้าตลาดหลักทรัพย์ มีการแจกหุ้นราคาพาร์ให้พนักงาน ผมขายได้เงินมาประมาณสองสามแสนบาท เป็นเงินที่ผมไม่เคยมีในชีวิต ถือว่าเยอะมากสำหรับผม ผมตั้งใจว่าจะเที่ยวในยุโรปไปเรื่อยๆ เงินหมดเมื่อไหร่ก็จะกลับ ผมคิดอย่างเดียวว่า ถ้าไม่ไปตอนนี้ มึงจะไม่มีโอกาสกลับมาอีกแล้วนะ เพราะคงไม่มีเงินแล้ว มันคือเงินฟลุกก้อนสุดท้าย ซึ่งจะไม่มีอีกแล้ว อยากทำอะไรก็ทำซะ”

ช่วงแรกเขาพักกับเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยในเยอรมนี แล้วก็ไปเที่ยวออสเตรีย ประเทศซึ่งประชากรอ่อนภาษาอังกฤษเหมือนเขา ความอ่อนของเขาก็ขนาดโดนรีไทร์เพราะถูกวิชาภาษาอังกฤษฉุดเกรด แต่เขาก็พยายามเอาตัวรอด พกดิกชันนารีติดตัว ทุกคืนต้องวางแผนการเดินทาง และเตรียมประโยคสนทนาที่ต้องใช้ในวันรุ่งขึ้น

บินหลาอยู่เที่ยวยุโรปต่อแค่ 2 สัปดาห์ – สั้นกว่าที่คิด

“เงินหมดเร็วมาก ผมอยู่ค่อนข้างถูก แต่ผมขึ้นรถเมล์ไม่ถูก เลยใช้แท็กซี่ตลอด มันแพงมาก ลงจากรถมาก็หน้าซีดทุกครั้ง แต่ไม่ได้กังวลนะ รู้สึกว่าใช้เงินฟลุก ถ้าตอนมามันฟลุก ตอนจากไปมันก็ต้องฟลุกเป็นธรรมดา”

อดีตนักข่าวเล่าต่อว่า เขากลับเมืองไทยมาด้วยความรู้สึกฮึกเหิม สิ่งแรกที่ทำคือ หาทางใช้เงินให้หมด จะได้กลับไปใช้ชีวิตตามทำงานปกติ “ผมคงไม่มีเรื่องฟลุกแบบนี้อีกแล้ว ผมขอเรียนรู้ชีวิตสำราญให้เต็มที่ แล้วเก็บมันไว้ในความทรงจำให้ดี ตอนนั้นผมอายุยี่สิบสี่ ยี่สิบห้า ผมคิดว่าถ้ามีเงินแล้วไม่ใช้ ก็จะไม่ได้ใช้ ไม่ได้สนุกกับชีวิตอีกเลย จะบอกว่าคิดน้อย หรือไม่คิด หรือคิดอะไรโง่ๆ ก็ได้นะ”

22

รอยย่ำที่นำเราไป

ปลาย พ.ศ. 2532 บินหลาควรจะเริ่มงานใหม่เป็นครีเอทีฟรายการโทรทัศน์ของเวิร์คพอยท์ในยุคบุกเบิก

“เป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกกลัว เพราะงานทีวีเป็นสิ่งที่ผมไม่รู้จัก ก็ลังเลว่าจะทำได้เหรอ เวิร์คพอยท์บอกว่าผมพร้อมเริ่มงานเมื่อไหร่ก็ติดต่อไป พอดีคุยกับพี่จุ้ย (ศุ บุญเลี้ยง) แล้วรู้ว่า ไปยาลใหญ่ ขาดคนพอดี เป็นงานที่ผมมั่นใจว่าทำได้ก็เลยเลือก ไปยาลใหญ่ ผมหนีเวิร์คพอยท์ ไม่ติดต่อกลับไปอีกเลย หลังจากนั้น ผมก็ยังเข้าเวิร์คพอยท์เสมอๆ นะครับ ไปบรรยายบ้าง แต่ไม่ได้คุยเรื่องนี้กับใครเลย”

หัวหน้ากองบรรณาธิการคนใหม่ของ ไปยาลใหญ่ ได้เรียนรู้เรื่องการบริหารคนไปพร้อมๆ กับหยิบพล็อตที่สะสมไว้ตอนอยู่ มติชน มาเขียนเป็นเรื่องสั้น เขาตั้งใจจะฝึกมือไปเรื่อยๆ ด้วยความหวังว่า วันหนึ่งจะเขียนเรื่องสั้นเป็นอาชีพให้ได้ ช่วงนั้นเขาใช้หลายนามปากกา แต่ทุกครั้งที่เขียนเรื่องสั้น เขาจะใช้ชื่อจริงเสมอ

แล้วงานข่าวก็พรากบินหลาจาก ไปยาลใหญ่ เป็นหนที่สอง แต่การจากลาของบินหลาในรอบนี้กลายหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ไปยาลใหญ่ ตัดสินใจปิดตัว

21

ฉันดื่มดวงอาทิตย์

30 ปี บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนผู้เชื่อว่า เราพบกันเพราะหนังสือ

นิตยสาร ไปยาลใหญ่ ทำพ็อกเก็ตบุ๊กในนาม สำนักพิมพ์ศิษย์สะดือ แจ้งเกิดนักเขียนหน้าใหม่มากหน้า ชาว ไปยาลใหญ่ หลายตาก็ได้ออกหนังสือกับศิษย์สะดือ ยกเว้น บินหลา สันกาลาคีรี

“คงเพราะหนังสือผมไม่ตลก เขาคิดว่าคงขายไม่ออก เลยไม่สนใจจะถามหารวมเรื่องสั้นจากผม ผมก็รู้ว่าตัวเองเขียนไม่ตลก เลยไม่กล้าเสนอไป” บินหลาเดาเหตุผล และยอมรับว่าอยากออกหนังสือเล่มแรกมาก

“ช่วงนั้นหลายคนในออฟฟิศเรียกผมว่าพี่แล้ว เป็นพี่ที่ไม่เคยมีหนังสือ แต่น้องๆ มีหนังสือหมดแล้ว ผมรู้สึกว่าต้องมีแล้วล่ะ หนังสืออะไรก็ได้ พยายามออกให้ได้”

รักษ์ชนก นามทอน เพื่อนพ้องของ ไปยาลใหญ่ ผู้เปิดสำนักพิมพ์ก้านกล้วย ซึ่งรวมเล่มให้ชาว ไปยาลใหญ่ ที่ไม่ตลก ช่วยให้บินหลามีหนังสือรวมเรื่องสั้นของตัวเองเป็นเล่มแรก ฉันดื่มดวงอาทิตย์ (2533) รวมเรื่องสั้นจากหลายเวที เล่าเรื่องสังคมที่สะท้อนผ่านสายตาคนหนุ่ม ซึ่งศุ บุญเลี้ยง ให้นิยามไว้ในคำนำว่า “ชัดเจน มั่นคง และทะนงในทุกบรรทัดของตัวอักษร”

หนังสือเล่มนี้วาดปกโดย อุดม แต้พานิช มี ปราณี โมรัษเฐียร หรือ ‘ปราย พันแสง เป็นบรรณาธิการ และพิมพ์ชื่อนักเขียนบนหน้าปกว่า วุฒิชาติ ชุ่มสนิท

20

บทสุดท้ายที่กำลังจะเริ่มต้น

พ.ศ. 2533 ค่ายมติชนเปิดหนังสือพิมพ์หัวใหม่ ข่าวสดสปอร์ตนิวส์ มีการระดมคนข่าวจำนวนมากเข้าสู่ทีม บินหลาตอบรับคำชวน จึงโผจาก ไปยาลใหญ่ คืนสู่วงการข่าวในตำแหน่งรีไรเตอร์

6 เดือนผ่านไป หนังสือพิมพ์น้องใหม่อาการไม่ดี บ.ก. หลายคนตัดสินใจลาออก มติชน เดินหมากด้วยการส่ง เสถียร จันทิมาธร มาคุมทัพ แล้วดันนักข่าวหนุ่มๆ มาเป็นหัวหน้าข่าว บินหลาก็ได้บินสู่ตำแหน่งหัวหน้าข่าว เริ่มจากข่าวทั่วไป และตำแหน่งที่ชวนให้ประหลาดใจคือ หัวหน้าข่าวบันเทิง

“ผมค่อนข้างงง ผมไม่เคยเป็นนักข่าวบันเทิงด้วยซ้ำ ช่วงนั้นผมมีภาพที่ไม่ค่อยดีของนักข่าวบันเทิงหลายแห่งซึ่งไม่มีแก่นสาร พอต้องมาเป็นหัวหน้าข่าวบันเทิง ผมก็ตั้งหลักไม่ได้ว่าตัวเองต้องทำอะไรบ้าง จะให้ลูกน้องทำอะไรบ้าง”

พอตั้งหลักได้ บินหลาก็เปลี่ยนวิธีนำเสนอข่าวบันเทิง ตั้งแต่การทำหน้าหนึ่งของตัวเอง มีพาดหัวหลัก มีข่าวย่อย จัดหน้าใหม่ แล้วก็พยายามฝึกนักข่าวเรื่องการจับประเด็นข่าว เพราะถ้าสร้างนักข่าวบันเทิงที่ดีไม่ได้ ก็สร้างข่าวบันเทิงที่ดีไม่ได้

“ช่วงนั้น คุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ดังมาก เริ่มมีข่าวว่าอยู่กับ คุณไกรสร แสงอนันต์ แล้วก็ทะเลาะกัน เราอยากรู้จักคุณพุ่มพวงให้มากกว่าคนอื่น เลยทำพุ่มพวงโมเดล ให้นักข่าวสิบคนมาลองดูว่าจะคุยกับคุณพุ่มพวงและคนใกล้ตัวเพื่อให้รู้จักคุณพุ่มพวงมากขึ้นด้วยวิธีไหน คุยกับใครบ้าง แตกออกมาได้เกินร้อยประเด็น แล้วก็ให้นักข่าวไปลองสัมภาษณ์เก็บประเด็นที่ตัวเองต้องการ

“สัมภาษณ์มาเกินยี่สิบคน เทปสัมภาษณ์เกินสิบม้วนแน่ๆ ผมนั่งฟังเพลินเลย หลายเรื่องก็ไม่เคยรู้มาก่อน ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ทำอะไรนะ อาจจะเอาไปลงหนังสือพิมพ์สักสองสามวัน”

หลังจากงานนั้น บินหลาก็ทำงานกับนักข่าวง่ายขึ้น เพราะเริ่มเห็นภาพเดียวกัน

และหลังจากสัมภาษณ์ประวัติชีวิตราชินีลูกทุ่งแบบครบถ้วนทุกมุมเสร็จไม่ถึงเดือน ก็มีข่าวใหญ่

พุ่มพวง ดวงจันทร์ เสียชีวิต

19

ดวงจันทร์ที่จากไป

30 ปี บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนผู้เชื่อว่า เราพบกันเพราะหนังสือ

หนังสือพิมพ์หลายฉบับพยายามเล่นประเด็นเรื่องครอบครัวของพุ่มพวง ดวงจันทร์ และการไม่ลงรอยกับสามี ส่วน ข่าวสด มีข้อมูลมากมายอยู่ในมือ ได้สัมภาษณ์ทั้งพุ่มพวงและไกรสร บินหลาในฐานะของ บ.ก. ข่าวหน้าหนึ่ง จึงเสนอให้เขียนสกู๊ปข่าวพุ่มพวงลงหน้าหนึ่งต่อกัน 5 วัน

เขียนไปได้แค่ 2 – 3 วัน คนอ่านก็ฮือฮา ยอดขายหนังสือพิมพ์ ข่าวสด ก็เพิ่ม เสถียร จันทิมาธร บรรณาธิการบริหารนิตยสาร มติชนสุดสัปดาห์ จึงชวนบินหลามานั่งคุย

“พี่เถียร (เสถียร จันทิมาธร) ถามว่า มีประเด็นพุ่มพวงมากกว่าที่ลงยังไงบ้าง ผมบอกมีอีกเยอะ ลงได้เป็นสิบตอน แกบอกว่าเขียนยาวกว่านั้นได้ไหม ผมบอกว่าได้ พอเขียนสกู๊ปลง ข่าวสด จบ ผมก็ได้เขียนนิยายประวัติชีวิตคุณพุ่มพวงลง มติชนสุดสัปดาห์ เขียนไปสามสิบกว่าตอน”

เขาใช้นามปากกา บินหลา สันกาลาคีรี

จากนั้นก็กลายมาเป็นหนังสือ ดวงจันทร์ที่จากไป (2536) มียอดขายหลายหมื่นเล่ม ผิดกับหนังสือเล่มแรกที่ขายได้เพียง 600 เล่ม แต่ก็ต้องยอมรับว่าที่ขายได้ขนาดนั้นเพราะชื่อของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ มิใช่ บินหลา สันกาลาคีรี

แต่ไม่ว่าอย่างไร หนังสือเล่มนี้ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ

“มันทำให้ผมอยากเป็นนักเขียนเต็มตัว งานข่าวมันหนัก หลายครั้งก็ต้องเขียนแบบลวกๆ ผมไม่อยากให้มีเหตุการณ์แบบนี้อีก ถ้ายังเป็นนักข่าวต่อไป ก็คงทำไม่ได้”

หลังจากทำงานข่าวสดมา 4 ปี เขาก็ลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร

เพื่อเป็นนักเขียน

18

ดื่มทะเลสาบ อาบทะเลทราย

30 ปี บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนผู้เชื่อว่า เราพบกันเพราะหนังสือ

ก่อนจะลาออก บินหลาได้เงินมาแบบฟลุกๆ เป็นครั้งที่ 2 เพราะ ข่าวสด เข้าตลาดหุ้น ก็เลยได้หุ้นมาและขายหุ้นไปแบบเดิม เมื่อรู้ตัวว่ากำลังจะไม่มีรายได้ จึงต้องลดรายจ่ายให้เหลือน้อยที่สุด เขาจึงขายทั้งบ้านและรถที่ยังต้องผ่อน

ช่วงนั้นบินหลามั่งคั่งทั้งเวลาและเงินทอง

บินหลาตัดสินใจเดินทางไปเปิดหูเปิดตาที่ต่างประเทศ เขาปักหมุดที่อินเดียแบบไม่กำหนดเวลา เบื่อเมื่อไหร่ก็กลับ ความไม่สมบูรณ์แบบของอินเดียและเนปาลทำให้เขาเรียนรู้อะไรมากมายในเวลา 2 เดือน ส่วนทักษะภาษาอังกฤษ เขาเรียนรู้รอไว้แล้ว กลับจากยุโรปครั้งนั้น เขาก็จ้างครูมาสอนที่บ้าน

ทริปนี้ก็เหมือนทุกทริป เขาจดบันทึกอย่างละเอียดทุกวัน แต่เก็บมันไว้ 4 ปี กว่าจะเปิดสมุดมาเปลี่ยนให้เป็นบันทึกการเดินทางลงในนิตยสาร แพรว และรวมเล่มในชื่อ ดื่มทะเลสาบ อาบทะเลทราย (2544)

บินหลาได้รับเสียงชื่นชมว่าเขียนบันทึกการเดินทางได้ช่างคิดและคมคาย

“ผมเขียนบันทึกการเดินทางด้วยวิธีคิดว่า อยากเล่าประสบการณ์ซึ่งมากกว่าบอกว่าที่นั่นเป็นอย่างไร แต่เรื่องนี้สำคัญกับชีวิตผมยังไง ประสบการณ์ไม่ได้แปลว่า เราไปพบเห็นอะไรมา แต่พบเจอแล้วเราเติบโตขึ้นอย่างไร เราต้องตระหนักให้รู้ก่อนว่าสิ่งนั้นสอนหรือเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเรา ถ้ามันยังไม่ทำให้เราเปลี่ยนแปลง หรือพบเจออะไรในตัวเอง ผมไม่คิดว่ามันคือประสบการณ์ บางอย่างกว่าผมจะตระหนักว่า นี่คือผลผลิตจากอินเดีย หรือจากเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ใช้เวลาพอสมควร”

เป็นงานเขียนที่เขาแค่เล่า ไม่ได้สอนคนอ่าน

“มนุษย์ไม่ได้เรียนรู้จากสิ่งที่คนอื่นสอน แต่เรียนรู้จากสิ่งที่ตัวเองตกผลึก ผมเชื่อว่าการเรียนรู้ดีกว่าการสอน การสอนเป็นแค่วิธีหนึ่งของการเรียนรู้เท่านั้นเอง การเรียนรู้เกิดได้ตลอดเวลา ด้วยหลายวิธี ซึ่งผมพยายามกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ ไม่ใช่สอน”

17

หน้าฝน…ถนนลื่น (โปรดระวังหัวใจตกไหล่ทาง)

กลับจากอินเดีย บินหลาก็เที่ยวในประเทศต่ออีกเล็กน้อย แล้วเริ่มต้นชีวิตนักเขียนที่เชียงใหม่ เมืองที่เขาหลงรักบรรยากาศ และมีมหาวิทยาลัย เขาเชื่อว่า ถ้ามีปัญหาก็ยังไปมหาวิทยาลัย ไปหาเพื่อนอาจารย์ น่าจะมีที่ปรึกษาให้พึ่งพาได้

“ผมมีเงินจากการขายของต่างๆ ติดตัวไปด้วยเกือบสามแสนบาท ถ้าใช้อย่างประหยัดน่าจะอยู่ได้สองปี ภายในสองปี ผมคงเขียนหนังสือเสร็จ คงพอจะขายหนังสือได้ มีรายได้เลี้ยงชีพได้ ถ้าไม่มีรายได้ก็กลับมาทำงานข่าวเหมือนเดิม”

บินหลาขนหนังสือสองสามลังและจักรยานหนึ่งคัน ไปเช่าบ้านอยู่ที่เชียงใหม่

เขาซื้อจักรยานเสือภูเขาราคาหมื่นบาทไปใช้เป็นพาหนะเดินทางในชีวิตประจำวันแทนรถยนต์ที่ขายไป เมื่อได้คุยกับนักเขียนรุ่นพี่อย่าง วีระศักดิ์ ยอดระบำ ที่ใช้จักรยานในชีวิตจริง เขาก็ได้เรียนรู้วิธีใช้งาน ชอบมากขึ้น และขี่ไกลขึ้น ควงขาอยู่ 5 เดือน เขาก็มั่นใจว่า ถีบจักรยานลงกรุงเทพฯ ได้

การปั่นจักรยานจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ เมื่อ 20 ปีก่อน ไม่ใช่เรื่องปกติ บินหลาเปิดแผนที่กระดาษวางเส้นทางเอง ปั่นคนเดียว และเน้นนอนวัดตามคำแนะนำของวีระศักดิ์

บินหลาแบกน้ำหนัก 98 กิโลกรัม ปั่นจักรยานแบบเนิบช้า และเถลไถล แวะเอนหลังพอๆ กับวางก้นบนหลังอาน คนทั่วไปใช้เวลา 7 วัน แต่เขาใช้นานกว่านั้น 3 เท่า

“เวลาขี่จักรยานผมเหนื่อยมาก บางทริปผมหมดแรง ร่วงกลางถนน รถล้มเลย แต่ก็สนุกดี พอได้พักสักวันก็หาย มันเป็นทริปที่เปลี่ยนชีวิตผมเยอะมาก ทำให้ผมโตขึ้น เข้าใจอะไรมากขึ้น”

จากนั้นเขาก็ถีบอีกหลายทริป ทั่วไทย ข้ามไปลาว และบินไปไกลถึงเกาะบาหลี อินโดนีเซีย ขากลับเขาต้องแวะเปลี่ยนเครื่องที่สิงคโปร์ ก็เลยใช้โอกาสนี้ขี่จักรยานกลับไทย ใช้เวลาราว 20 วัน

ช่วงทำข่าวเขาไม่เคยได้ไปเที่ยวไหนจึงเที่ยวชดเชย เขาบอกว่าช่วงนั้น ตัวเองใจแตก

และต่อมาอีกไม่นาน ความใจแตกก็ทำให้เขาถังแตก

16

หัวใจสั่งลุย

“ผมอยู่ได้แค่ปีเดียวเงินก็หมดแล้ว แล้วก็ยังไม่มีหนังสือแม้แต่เล่มเดียว เป็นทางแยกที่ต้องตัดสินใจว่าจะเอายังไง ถ้าอยู่ต่อก็ลำบาก ถ้ากลับมาเป็นนักข่าวอีก ก็รู้ว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าผมต้องลาออกอีกเพื่อตั้งต้นเป็นนักเขียนใหม่ ผมคงพยายามไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ก็เลยเลือกเป็นนักเขียนโดยไม่มีเงินเลย”

“ผมต้องลดค่าใช้จ่ายลง ต้องอยู่ให้ด้วยเงินเดือนละสามพันบาท รวมค่าเช่าบ้านเดือนละพันบาทด้วยนะครับ ชีวิตจริงๆ ของผมน่าจะเริ่มต้นในช่วงนี้ คือลำบากแสนสาหัส ต้องควบคุมการกิน ไปจ่ายตลาดแล้วทำของกินให้ถูก ตู้เย็นก็ไม่มี ต้องอยู่ให้ได้ ต้องหัดเขียนหนังสือให้ได้ แต่ก็ผ่านมาได้”

ในที่สุด เขาก็หาเงินได้ จากสิ่งที่ทำให้เขาเสียเงิน

นั่นก็คือการเดินทาง

15

หลังอาน

“หลังจากจบทริปสิงคโปร์ ผมรู้สึกว่าทริปแรกที่ถีบจักรยานมากรุงเทพฯ น่าเขียน เพราะมีประสบการณ์ที่ดี มีเรื่องเล่าให้คนฟังเยอะแยะ ผมไปเล่าให้พี่เถียรฟังก่อน แกก็แปลกใจว่า ผมทำได้ยังไง เพราะเห็นผมเป็นคนอ้วนมากๆ แกฟังแล้วก็สนุกไปด้วย ปีสี่ศูนย์เลยได้เขียนคอลัมน์ประจำใน มติชนสุดสัปดาห์

“เมื่อก่อนผมเขียนหนังสือเป็นชิ้นๆ ได้ค่าเรื่องตอนละประมาณสามพันบาท ปีหนึ่งเต็มที่เลยคือห้าหกเรื่อง ก็หมื่นกว่าบาท ผมนึกไม่ออกเลยว่าจะอยู่ยังไง จนกระทั่งเขียนคอลัมน์หลังอานได้ ผมก็มีเงินทุกเดือนเดือนละหมื่นกว่าบาท ก็รู้ว่านี่คือวิธียังชีพ มีเรื่องยาวลงนิตยสารให้ตัวเองมีรายได้พอจะดำเนินชีวิตได้ การอยู่รอดด้วยการเป็นนักเขียนของผมน่าจะเริ่มต้นจากตรงนี้”

การได้เขียนคอลัมน์ประจำครั้งนี้ทำให้เขาทั้งอิ่มท้องและอิ่มใจ เพราะผลงานและชื่อของเขาได้อยู่ในสายตาของนักอ่าน และนักเขียน โดยเฉพาะ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์

“ผมใฝ่ฝันมากว่าอยากเจอคุณ ‘รงค์ แต่ผมไม่เคยไปหาแม้แต่ครั้งเดียวเพราะอาย ไม่รู้จะบอกว่าผมคือใคร จะบอกว่าเป็นนักเขียนก็ไม่มีหนังสือให้อ่าน ผมกะว่าถ้ามีหนังสือออกเป็นเล่มเมื่อไหร่จะไปหาคุณ ‘รงค์ ช่วงที่ยังไม่รวมเล่ม ผมเจอแกที่ร้านกาแฟของพี่จุ้ย พอแกรู้ว่าผมคือคนเขียนเรื่องจักรยานใน มติชน แกก็บอกว่าคนนี้นี่เอง แกจำได้ ผมตัวพองเลย เป็นความประทับใจที่จำไว้ตลอด”

ถึงตอนนี้ หลังอาน (2540) พิมพ์ไปแล้วสิบกว่าครั้ง แต่ที่มากกว่านั้นก็คือ หนังสือเล่มนี้ทำให้เกิดกระแสท่องเที่ยวด้วยการปั่นจักรยานในไทยเป็นครั้งแรก และเกิดกิจกรรมที่นักเดินทางต้องแวะที่ทำการไปรษณีย์เพื่อขอประทับตราลงในสมุดบันทึก เหมือนที่เขาทำตลอดทริป

“ช่วงอยู่ ข่าวสด ผมไม่ได้ไปเที่ยวไหนเลย แต่ได้รับโปสการ์ดจากเพื่อนเยอะมาก มีตราประทับจากที่ต่างกันไป ผมรู้สึกว่าตราประทับไปรษณีย์มันน่าเก็บ เวลาไปเที่ยวไหนผมก็เริ่มขอประทับเก็บไว้ในสมุดบันทึก เป็นความทรงจำที่ดี แล้วคงไม่ค่อยมีใครมีเหมือนเรา”

คนแห่กันทำตามบินหลา ถึงขนาดที่ทำการไปรษณีย์ต้องออกมาประกาศว่า ไม่ทำให้แล้ว เพราะมันผิดกฎ

“กฎมีอยู่แล้วว่าไม่ให้ประทับเล่น เมื่อก่อนคงไม่มีใครยึดถือ แต่พอมีคนทำเยอะๆ เขาก็ห้าม ต้องแปะแสตมป์บนหน้ากระดาษก่อน เขาถึงประทับให้”

ตอนแรกหนังสือเล่มนี้ชื่อ How the north was won ล้อหนังเรื่อง How the west was won ซึ่งศุ บุญเลี้ยง ไม่เข้าใจ และคิดว่าคนทั่วไปต้องคิดว่านี่คือตำราฮาวทู บินหลาก็เลยเปลี่ยนชื่อเป็น หลังอาน

14

คิดถึงทุกปี

30 ปี บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนผู้เชื่อว่า เราพบกันเพราะหนังสือ

เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นในรอบ 7 ปีของบินหลา พล็อตที่เขาสะสมไว้ในช่วงทำงานข่าวสดมาจากการครุ่นคิดในแต่ละวันซึ่งไม่เกี่ยวกันเลย บางเรื่องคิดขึ้นมาเฉยๆ อีก 4 ปีจึงจะตกผลึก เรื่องที่โดดเด่นที่สุดในเล่มคือ คิดถึงทุกปี มีฉากเป็นฤดูกาลเบ่งบานของดอกตาเบบูญ่า คนรุ่นพ่อและรุ่นลูก และสิ่งที่ดูคล้ายความรักแต่อาจจะไม่ใช่ โดยมีแกนกลางเรื่องอยู่ที่โปสการ์ดจากผู้หญิงคนหนึ่งที่มีข้อความรักษาน้ำใจของคนที่รักเธอ และรักษาระยะห่างกับคนที่เธอไม่เคยรัก คนเดียวกันนี้ด้วย

ข้อความนั้นคือ ‘คิดถึงทุกปี’

“มันเป็นเรื่องจริงของผม ผมได้รับโปสการ์ดฉบับหนึ่งมาในช่วงปีสามเจ็ด ผมชอบเขาฝ่ายเดียว เขาไม่ได้ตอบรับผม คนที่ผมรักไปแต่งงาน แล้วส่งโปสการ์ดให้ผมว่าคิดถึงทุกปี เขาแต่งงานกับคนอื่นไปแล้ว ผมก็เหมือนผู้ชายอกหัก ผมคิดอะไรไม่ออก จนกระทั่งผมไปอินเดีย ผมเริ่มเข้าใจว่า ความรักคืออะไร เปลี่ยนแปลงยังไง กระทบชีวิตยังไง ผมเลยเอาเรื่องจริงของชีวิตมาผสมกับเรื่องแต่ง ผมเขียนเรื่องนี้ที่อินเดีย เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ไปตกผลึกที่นั่น เป็นประสบการณ์ที่ผมจะไม่ลืม”

13

คนรักของนักเขียน

บินหลาสนใจเรื่องความรัก งานเขียนของเขาก็เป็นแบบนั้น

“ผมสนใจปรัชญาของความรัก การครอบครอง การได้รับ ผมรู้สึกว่ามนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อรักใครคนเดียว มนุษย์มีความรักที่หลากหลายมาก และไม่จำเป็นต้องรักคนคนเดียวด้วย แต่เนื่องจากเรามีเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เราต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเอง และต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มันถึงบีบให้เราไม่สามารถรักคนมากกว่าคนเดียว นี่พูดถึงความรักในเชิงหนุ่มสาวนะ เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงเจ็บปวดและมีความทุกข์ เพราะเป็นสองเรื่องที่ต้องทำไปพร้อมกัน แล้วมันก็ขัดแย้งกัน รักคนเดียวก็ผิดต่อตัวเอง คนมากกว่าหนึ่งคนก็ผิดต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มนุษย์ถึงทุกข์ทรมาน”

เขาไม่เคยสังเกตว่า ในนิยายและเรื่องสั้นเกือบทั้งหมดของเขา ตัวละครไม่ค่อยสมหวังในความรัก และเขายืนยันว่าไม่ได้เป็นเพราะความรักของเขา

“ผมไม่ได้จงใจอยู่เป็นโสดตลอดชีวิตนะ แต่บางทีมันก็ยังมีความไม่สมบูรณ์แบบ อาจจะเป็นเพราะตัวผม หรือผู้หญิงที่ผมรัก หรือเพราะสถานการณ์บางอย่าง เช่น เรื่องการเงิน แต่สุดท้ายส่งผลด้านเดียวกัน คือไม่ได้อยู่ด้วยกัน”

12

ปลาฉลามฟันหลอ

30 ปี บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนผู้เชื่อว่า เราพบกันเพราะหนังสือ

บินหลาอยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับเด็ก เพราะปมหนึ่งที่ติดอยู่ในใจเขามานาน

“ผู้ใหญ่บางคนพูดถึงเด็กที่มีปัญหาว่า เกิดมามีกรรม แต่ผมมองว่า เด็กเกิดมามีพ่อแม่ ไม่ใช่กรรมไม่ดี แต่พ่อแม่มันไม่ดีต่างหาก หรือพ่อแม่ดีแล้ว แต่โรงเรียนไม่ดี หรือสังคมไม่ดี หรือตัวเด็กเองไม่ดี ซึ่งเป็นเรื่องท้ายสุด ถ้าจะบอกว่าเป็นกรรมก็ได้ แต่เป็นกรรมพันธุ์ คนที่เป็นต้นวงศ์ของกรรมนี้ก็คือพวกคุณนั่นแหละ”

บินหลาก็เลยอยากเขียนนิทานบอกผู้ใหญ่ให้ตั้งใจดูแลเด็ก

“ช่วงที่ผมถีบจักรยานจากสิงคโปร์มาไทย คืนไหนที่ผมคิดอะไรไม่ออก ก็จะคิดเรื่อยเปื่อย เล่านิทานให้ตัวเองฟัง เรื่องปลาฉลามฟันหลอ เป็นเรื่องตลกๆ สนุกๆ ของปลาที่ชอบกินของหวานเลยฟันหลอ พอกลับมาถึงไทยก็เล่าให้หลานสาวอายุห้าขวบฟัง ไม่ได้คิดอะไรมาก ผ่านมาสักสองเดือน หลานผมยังสนุกกับเรื่องนี้อยู่ ผมเลยลองเอาเรื่องการดูแลเด็กมาผสมกับนิทาน เขียนลงมติชนสุดสัปดาห์”

แล้วก็กลายมาเป็นหนังสือ ปลาฉลามฟันหลอ (2542) ซึ่งหน้าแรกเขาเขียนคำอุทิศแด่โรงเรียนแห่งหนึ่งและครูมากมาย

“นั่นคือโรงเรียนอนุบาลสงขลา ตอนเรียนปอสามปอสี่ ผมมีหน้าที่ออกไปเล่านิทานให้เพื่อนๆ ฟังทุกวัน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ผมอ่านมาแล้วแต่งรายละเอียดเองตรงที่จำไม่ได้ ผมน่าจะเล่าเรื่องพวก สามก๊ก ซึ่งคนอื่นๆ อาจจะฟังไม่รู้เรื่อง พูดง่ายๆ คือ ไม่เป็นประโยชน์กับใครเลย แต่เป็นประโยชน์กับผมมาก ผมจำได้ว่ามันทำให้ผมเกิดความมั่นใจ พอได้เขียนนิทานก็เลยเขียนถึงเป็นที่ระลึกครับ”

11

เพลงพญาเหยี่ยว

ราว พ.ศ. 2542 บินหลาซึ่งสะสมความมั่นใจมาจนได้ที่ รวบรวมพลังก้อนใหญ่ของวัยหนุ่มมาเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์สมัยปลายสมเด็จพระนารายณ์ ชื่อ เพลงพญาเหยี่ยว ลงใน มติชนสุดสัปดาห์ ความยาวที่ตั้งใจไว้คือเกิน 200 ตอน ต้องใช้เวลาตีพิมพ์ต่อเนื่องกว่า 4 ปี

“ผมเขียนไปประมาณสามสิบสี่สิบตอนก็เริ่มเหนื่อย พลังหมด การเตรียมงานก็ไม่ดี พอเรื่องเยอะขึ้น ผมก็ไม่มีแรงทำ เริ่มทำให้มันเสร็จแบบลวกๆ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปทีละสัปดาห์ จนเข้าตอนที่ห้าสิบก็เริ่มเบี้ยวไม่ส่งบ้าง ส่งช้าบ้าง งานก็ไม่ดี เรื่องที่ลงก็เหม็นมาก น้ำเน่ามาก อายมาก แต่ไม่รู้จะทำยังไง จนพี่เถียรแกหมดความอดทนกับผม แกยกเลิกเรื่องกลางคัน เป็นบทลงโทษที่รุนแรงมากสำหรับนักเขียน แต่ก็สาสมครับ ผมเคว้งเลย เจ็บปวดกับเรื่องนี้มาก เป็นตราบาปที่ต้องจำไปทั้งชีวิต”

เสถียร จันทิมาธร ตัดคอลัมน์นี้ทิ้งจาก มติชนสุดสัปดาห์ พร้อมกับตัดสัมพันธ์นักเขียน เขาไม่ติดต่อนักเขียน ไม่แจ้งเหตุผล และไม่ให้โอกาสแก้ตัว

“อีกปีหรือสองปีหลังจากนั้น ผมถึงกล้าเข้าไปขอโทษพี่เถียร ความผิดผมรุนแรงมาก ถือว่าทรยศต่อคนอ่านด้วย คนที่โดนโยนทิ้งก็คือโดนกาหัวว่าจบกันสำหรับ มติชน แกให้คุยก็ถือว่าเมตตาแล้ว และผมไม่คิดว่าตัวเองจะได้รับความปรานีอีกแล้ว”

นั่นคือบทเรียนที่บินหลา สันกาลาคีรี ได้รับจากการเขียนนิยายเรื่องแรก

10

ปุชิตา

พลังหนุ่มช่วยเยียวยาบาดแผลของบินหลาให้จางหายในเวลาไม่นาน

เขาตั้งใจจะเขียนนิยายเรื่องใหม่ลงนิตยสาร ขวัญเรือน ครั้งนี้เขาจะไม่ทำผิดซ้ำสอง เลยรอให้เขียนนิยายความยาว 400 หน้าจนเสร็จสมบูรณ์ แล้วส่งต้นฉบับทั้งหมดรวดเดียว

ปุชิตา (2548) เป็นเรื่องราวกึ่งประวัติศาสตร์ในประเทศสมมติ เกี่ยวกับทหาร การเมือง การทูต การเคลื่อนไหวของนักศึกษา ชนกลุ่มน้อย ความเป็นธรรม และความรัก ดูเหมือนจะหนัก แต่เขาเขียนออกมาได้สนุกแบบวางไม่ลง ทั้งเรื่องเต็มไปรายละเอียดเล็กๆ ที่ตั้งใจทิ้งปมไว้แล้วตามกลับไปคลี่ พร้อมกับการหักมุมครั้งแล้วครั้งเล่า ทำเอาแฟน ขวัญเรือน ติดกันงอมแงม และเข้าไปพูดคุยคาดเดาเนื้อหาตอนต่อไปในโลกออนไลน์กันอย่างสนุกสนาน

“สำหรับผม ประวัติศาสตร์เมืองไทยคือพล็อตนิยายชั้นดีอยู่แล้ว ประวัติศาสตร์ไทยไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่แท้จริง เพราะเราใช้ข้อเท็จจริงบางอย่างและไม่ใช้บางอย่าง การปกปิดข้อเท็จจริงบางอย่างก็ไม่ใช่ประวัติศาสตร์แท้ๆ แล้ว ถ้าเอามาเขียนเป็นนิยายก็ได้ เพราะนิยายไม่ต้องการประวัติศาสตร์ที่แท้จริงอยู่แล้ว”

บินหลาสนใจเรื่องการต่อสู้เพื่อจะมีอิสระของชนกลุ่มน้อย เขาว่า “มันเป็นเรื่องลำบากไม่ว่าในประเทศไหน ผลที่ได้รับก็เจ็บปวด ต่อให้ชนะก็มักจะเจ็บปวด ผู้ชนะไม่เคยได้ผลของชัยชนะที่แท้จริง ผู้ชนะมักจะเสียหาย แต่ก็ต้องสู้เพราะไม่มีวิธีการอื่นที่ดีกว่า ผู้ชนะที่แท้จริงคือประชาชนรุ่นสอง รุ่นสาม ไม่ใช่คนรุ่นแรกที่ต่อสู้”

เขาตั้งใจเขียนนิยายให้ดำเนินเรื่องเร็วมาก สนุก เรื่องราวพลิกไปมา ไม่ต่างจากการดูซีรีส์ มีการวางพล็อตล่วงหน้าว่าแต่ละตอนจะขึ้นต้นลงท้ายยังไง ตอนไหนเขียนไม่ถูกใจก็รื้อเขียนใหม่ เขาใช้เวลาเขียนนิยายเรื่องนี้อยู่ 7 เดือน

บินหลาได้ทักษะในการเขียนนิยายให้วางไม่ลงมาจากการอ่านในวัยเยาว์

“ผมอ่านนิยายเยอะมาก สิบขวบก็อ่าน บางกอก สกุลไทย ข้างบ้านผมที่สงขลามีร้านเช่านิยายชื่อร้านรวงทอง เป็นร้านทำผมที่ให้เช่านิยายด้วย ผมก็โตจากร้านรวงทองนี่แหละครับ ไปเช่านิยายเกือบทุกวัน เล่มนึงหนามาก แต่ก็สนุกมาก ทำให้ผมอยู่ในโลกของนิยาย”

9

เจ้าหงิญ

30 ปี บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนผู้เชื่อว่า เราพบกันเพราะหนังสือ

พอมีหลานคนที่ 2 เขาก็กลับเข้าสู่กิจกรรมเล่านิทานให้หลานฟังอีกครั้ง เขาชอบบรรยากาศเวลาเล่านิทานให้หลานฟัง มันสนุกทั้งหลานและตัวเขา

“ผมรู้สึกว่า การดูแลเด็กน่าจะเริ่มจากนิทาน ก็ลองเล่าแบ่งเป็นเรื่องต่างๆ แล้วก็พบว่าทุกเรื่องมีตัวละครเป็นเจ้าหญิงหมดเลย แต่ต่างบทบาทกันไป ผมตั้งชื่อเรื่องว่า เจ้าหญิง แต่พี่จุ้ยบอกว่าชื่อเรื่องจืดไป ผมเลยเปลี่ยนเป็น เจ้าหงิญ ซึ่งเป็นชื่อเรื่องหนึ่งในเล่ม มันเป็นชื่อที่ท้าทายดี แปลก ทำให้คนยิ่งตั้งคำถามว่าคืออะไร คำนี้อ่านได้จริงเหรอ”

นักเขียนมักสอนกันว่า อยากเขียนเรื่องอะไรให้เขียนเลย อย่าเล่าให้คนอื่นฟังก่อน ถ้าเล่าไปหมดแล้วตอนเขียนจะไม่ไหลหลั่งพรั่งพรู แต่บินหลากลับคิดตรงข้าม เขาเอาเรื่องในเล่มนี้หลายต่อหลายเรื่องไปเล่าก่อน ตอนที่ได้รับเชิญไปบรรยาย แล้วเอาเสียงตอบรับที่ได้มาใช้แก้ไขขัดเขลา

“ปัญหาเดิมๆ เรื่องขายไม่ได้กลับมาทิ่มแทงผมอีกแล้ว เจ้าหงิญ (2546) พิมพ์ครั้งแรกสี่พันเล่ม สองปีผ่านไปขายได้สองพันเล่ม สำนักพิมพ์ก็ค่อนข้างกังวล พอได้เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ ก็จะพิมพ์เพิ่ม แต่พิมพ์แค่พันเล่ม ผมเสียใจมากและรู้สึกแย่มาก หนังสือเข้ารอบซีไรต์นะเว้ย พิมพ์พันเล่ม ผมน่าจะได้ค่าลิขสิทธิ์สักสามหมื่นบาท แล้วผมจะอยู่ยังไง สุดท้ายต่อรองจนได้พันห้าร้อยเล่ม”

เมื่อ เจ้าหงิญ ได้รางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2548 ตอนนี้ยอดขายทะลุ 200,000 เล่มไปแล้ว

“ตอนติดรอบสุดท้ายผมก็ไม่ประหลาดใจนะ เพราะผมเชื่อว่าหนังสือผมดีพอ แต่คิดว่าคงได้แค่นั้น คงไม่มีสิทธิ์ได้รางวัล แต่ได้ ผมก็แปลกใจและดีใจมากๆ”

การได้รับรางวัลใหญ่อย่างซีไรต์อาจจะเป็นเป้าหมายของนักเขียนหลายคน แต่หลักชัยที่บินหลาอยากไปให้ถึงกลับไม่ใช่รางวัล

“ตอนเด็กๆ เคยตั้งเป้าว่าอยากเขียนให้ได้อย่าง พนมเทียน โกวเล้ง คือทำให้ตัวละครเป็นที่จดจำ พอโตขึ้นผมก็ไม่สนใจตรงนี้แล้ว ผมไม่ได้อยากเขียนหนังสือให้ตัวละครน่ารักเป็นที่รู้จัก แต่อยากให้เรื่องที่ผมเล่าส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในตัวผู้อ่าน ไม่มีอะไรเป็นตัววัดนะครับ เวลาเอางานตัวเองมาย้อนอ่าน ก็พบว่ายังทำได้ไม่ถึงที่ต้องการ ผมยังต้องทำอีก ทำต่อไปจนกว่าจะสร้างความรู้สึกนั้นในใจผู้อ่านให้ได้”

8

นกก้อนหิน

30 ปี บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนผู้เชื่อว่า เราพบกันเพราะหนังสือ

เกาหลีวางแผนเตรียมตัวส่งออกวัฒนธรรมมาเนิ่นนาน เลยให้ทุนผู้คนในวงการต่างๆ ทั่วโลกไปเรียนรู้วัฒนธรรมเกาหลี เพราะคิดว่าวันหนึ่งคนกลุ่มนี้จะเอาวัฒนธรรมเกาหลีไปใช้เผยแพร่ต่อ พ.ศ. 2549 มีศิลปินหลายร้อยคนได้รับเชิญให้ไปเรียนรู้วัฒนธรรมเกาหลี บินหลา สันกาลาคีรี ในฐานะนักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์ ก็ได้รับเชิญไปอยู่ที่นั่น 6 เดือน

เขาต้องเรียนภาษาเกาหลีที่มหาวิทยาลัยเก่าแก่ในกรุงโซล และต้องอ่านงานวรรณกรรมเกาหลีที่แปลเป็นภาษาอังกฤษเดือนละเล่ม แล้วมานั่งคุยวิพากษ์วิจารณ์กับนักเขียนเกาหลี ข้อผูกมัดของทุนมีเพียงเท่านี้

บินหลามีพล็อตนิยายเรื่อง นกก้อนหิน ตั้งแต่อยู่เมืองไทย ตอนแรกเขาวางให้นางเอกเป็นคนญี่ปุ่น แต่พอได้โอกาสไปอยู่เกาหลีเลยเปลี่ยนให้นางเอกเป็นคนเกาหลี และใช้เกาหลีเป็นฉากแทนญี่ปุ่น (นโยบายการให้ทุนของรัฐบาลเกาหลีได้ผลตอบแทนอย่างที่ตั้งใจไว้เร็วมาก)

เขากลับมาเขียน นกก้อนหิน (2552) ที่ประเทศไทย นิยายที่ทั้งโรแมนติกและเต็มไปด้วยฉากแอคชันเรื่องนี้มีตัวละครเอกเป็นชายนักซ่อมรองเท้าของแบ็กแพ็กเกอร์ ผู้มีจักรยานเป็นพาหนะ นางแบบวัยรุ่นชาวเชียงใหม่ผู้แสนจะวัตถุนิยม และหญิงสาวทายาทบริษัทจักรยานยักษ์ใหญ่ของเกาหลี

“ผมสนใจเรื่องรองเท้าอยู่แล้ว ผมไม่เคยเห็นพระเอกในนวนิยายยุ่งเกี่ยวกับรองเท้ามือสองเลย เพราะพระเอกนิยายในเมืองไทยจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับความไม่สวยงามหรือความสกปรก ผมเคยไปเฝ้าคนทำรองเท้าเป็นวันๆ ตั้งแต่เช้ายันเขาเก็บร้านกลับบ้าน เขากลับไปทำอะไรต่อที่บ้าน ผมก็ตามไปดู ก็เอามาใช้ประโยชน์ได้”

นกก้อนหิน กลายเป็นนิยายในดวงใจของใครหลายต่อหลายคน และมีคนมากมายติดต่อเขามาเพื่อขอนำเรื่องไปทำบทละครโทรทัศน์ แต่ด้วยเงื่อนไขหลายอย่างที่บินหลาตั้งไว้ เลยทำให้มันยังเป็นแค่หนังสือ

บินหลาเขียนนิยายได้ดี ข้อนี้เขาน่าจะรู้ แฟนๆ ก็รออ่านนิยายเรื่องใหม่จากเขา ข้อนี้เขาก็คงรู้ แต่ทำไมไม่รู้ หลังจากนั้น บินหลายังไม่เคยมีนิยายเรื่องใหม่อีกเลย

7

หัวใจสั่งลุย

บินหลาเป็นนักเล่าเรื่องที่มีลีลาแพรวพราว ทั้งผ่านตัวหนังสือ และตัวเขา

เวลาเขานำเที่ยวก็เช่นกัน

“ผมไปเที่ยวอยุธยาตั้งแต่สิบกว่าขวบ ฝังใจกับเมืองนี้มาก พอมีโอกาสก็จะไป ผมใช้เวลาพาคนเที่ยวอยุธยาอยู่ประมาณสิบปี ผมสนุกกับการเล่าเรื่องอยุธยามาก คุณมักจะนึกถึงภาพอยุธยาที่เป็นเมืองเก่า เจดีย์ถูกไฟไหม้ มีร่องรอยการพังทลาย ผมอยากพูดถึงอยุธยาด้วยภาพนี้เป็นภาพแรก

“ผมหาแผนที่อยุธยาที่สวยที่สุดที่หาได้ เอามาให้ดูกันว่าเรากำลังจะไปอยุธยากันนะ เมืองนี้มีแม่น้ำล้อมรอบ มีพระราชวัง วัดวาอาราม ระหว่างที่คนกำลังอินกับแผนที่นี่ ผมก็เอาดุ้นฟืนมาเผาแผนที่ตรงหน้า แล้วเอาน้ำดับไฟ จากนั้นก็บอกว่า ที่ที่เราจะไปตอนนี้เหลือแค่นี้แล้ว เราไม่สามารถไปเห็นอยุธยาทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ อยุธยาร้อยเปอร์เซ็นต์มีที่เดียวคือในใจคุณ ถ้าคุณประกอบอยุธยาร้อยเปอร์เซ็นต์ขึ้นมาในใจได้ คุณก็จะเข้าใจอยุธยามากขึ้นกว่าที่คุณเห็นแค่สิบเปอร์เซ็นต์ตรงหน้า”

ความรู้ของเขามาจากนักวิชาการชื่อดังที่เขาเคารพรักมากมาย ทำให้ประวัติศาสตร์อยุธยาของเขาไม่เหมือนกับที่กระทรวงศึกษาธิการสอนเสียทีเดียว

แล้วเขาก็ยังสนใจประวัติศาตร์จนถึงขั้นไปหัดอ่านศิลาจารึก เพื่อที่จะได้อ่านเรื่องราวทั้งหมดจากต้นฉบับ เขาพยายามจนถึงขนาดอ่านภาษาสุโขทัยโบราณได้

6

100 ชื่อลือนาม สงครามไทย-พม่า

“เวลาผมได้ยินคนที่ยืนอยู่ใกล้ๆ เล่าประวัติอยุธยากันเอง แล้วเล่าไม่ตรงกับที่ผมรู้มา ผมพบว่า คนรู้จักอยุธยาน้อยกว่าที่ควร คนไทยควรรู้จักอยุธยา เพราะเป็นต้นกำเนิดหลายอย่างที่เกี่ยวกับชีวิตคุณทุกวันนี้ ผมเลยอยากเขียนบางอย่างให้เขารู้จัก ให้มองอย่างเข้าใจมากขึ้น

“ผมคิดว่าถ้าตัวเองเป็นครูสอนประวัติศาสตร์ จะเริ่มยังไงดี ก็คิดว่าเล่าผ่านฮีโร่มันเป็นความผิดพลาดนะ เพราะเวลาเล่าเรื่องฮีโร่ในเมืองไทยมักจะถูกบิดเบือน ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ก็ตาม อาจจะบิดด้วยความภาคภูมิใจ หรือความรู้ที่มีน้อยเกินไป แต่ที่แน่ๆ คือมันโดนบิด โดนเพิกเฉยบางมุม แล้วไปเน้นบางมุม

“ผมเลยพยายามดึงทุกมุมที่ผมรู้มาอธิบายให้มากที่สุด ผมไม่ได้เชื่อว่าสิ่งที่ผมรู้มาถูกต้องหรือดีงาม แต่ผมอยากให้คุณได้มองหลายมุมที่สุด พอถึงวันนึงคุณก็ค่อยๆ ทิ้งในสิ่งที่คุณพบว่ามันไม่ใช่ข้อเท็จจริงไป เป็นเรื่องธรรมดาของการเรียนประวัติศาสตร์

“วิธีเล่าที่ง่ายที่สุด คือเล่าผ่านคน ให้รู้จักคน แล้วก็จะตามไปถึงข้อเท็จจริง เป็นวิธีแบบ สามก๊กฉบับวณิพก ที่ยาขอบนำตัวละครสักสามสิบตัวมาอธิบายเป็นตอนๆ ว่าแต่ละคนเจอเรื่องอะไรบ้าง อ่านแล้วก็นำไปทำความเข้าใจทั้งเรื่องใหญ่ของสามก๊ก”

แล้วก็กลายมาเป็นคอลัมน์ใน มติชนสุดสัปดาห์ และหนังสือชื่อ 100 ชื่อลือนาม สงครามไทย-พม่า (2555)

5

คิดถึงกึ่งห่วง

หลังจากหมดภารกิจกับไรเตอร์ บินหลาตั้งใจจะกลับมาเป็นนักเขียน แต่หลังจากนั้นเขายังไม่มีผลงานเขียนอีกเลย

แต่ยังมีลมหายใจ

“ผมไม่สบายมาสองปีกว่าแล้วครับ มีอาการเบาหวาน แล้วก็โรคความดันที่สืบเนื่องมาอยู่แล้ว พอไม่สบายก็มีโรคอื่นต่อเนื่องตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคไต และการเคลื่อนไหว ต้องรักษาไปตามอาการ ก็คลี่คลายไปเรื่อยๆ ช่วงนี้อาการเบาหวาน โรคหัวใจ หมดไปเยอะแล้ว แต่ยังไม่ปกติ อยู่ในช่วงพักฟื้น ไม่วิกฤตเหมือนช่วงต้นที่ต้องอยู่โรงพยาบาลเกือบตลอดเวลา ก็ต้องดูแลไปเรื่อยๆ”

เขาพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านกับพี่สาวที่จังหวัดสงขลา เขายังเคลื่อนไหวไม่สะดวกและเหนื่อยง่าย เพียงแค่การสนทนา เขาก็ยังเหนื่อยและล้ามาก เขาบอกว่าความป่วยไข้ครั้งนี้สอนว่า

“คงเป็นเรื่องความประมาท มนุษย์ประมาทไม่ได้ มนุษย์ทำงานโดยละเลยสุขภาพไม่ได้ ผมละเลยสุขภาพมานาน พอรู้ตัวก็ลำบากแล้ว เพราะกว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว มันแทบจะทำอะไรที่ทันท่วงทีไม่ได้เลย มันต้องอาศัยเวลาพักฟื้น การดูแลตัวเองเป็นเรื่องใหญ่ บางเรื่องมันก็จะไม่กลับคืนมาแล้วครับ”

4

ทางกันดาร

30 ปี บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนผู้เชื่อว่า เราพบกันเพราะหนังสือ

“ตอนที่ผมยังไม่ได้ซีไรต์ ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักของคนจำนวนมาก แต่ผมต้องการให้คนสนใจอ่านเรื่องราวจริงๆ โดยไม่สนใจว่า ใครเป็นคนเขียน แต่สนใจประเด็น มุมมองความคิด ที่เขานำเสนอ อยากถูกวิจารณ์โดยที่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนเขียน เลยคิดว่า ถ้าใช้ชื่ออื่น หรือนามแฝงอื่นก็ดี จะได้ไม่ต้องมีคนสนใจ”

เขาก็เลยเปิดคอลัมน์ใน มติชนสุดสัปดาห์ โดยใช้นามปากกาว่า กันดาร กุมารแพนด้า เขียนเรื่องปัญหาที่ทุกคนพบเจอและมองว่าเล็กน้อย หยวนๆ ยอมๆ แต่เขาไม่ยอม และทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงมัน เช่น เรื่องห้ามใส่รองเท้าแตะเข้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือธนาคารคิดค่าธรรมเนียมนับเหรียญ

เมื่อนำมารวมเล่ม ทางกันดาร (2545) ไม่ประสบความสำเร็จด้านยอดขาย แต่เป็นหนังสือที่น่าจะมีพลังที่สุดของเขา

“เส้นทางสายนี้เดินยาก เป็นทางกันดาร ทางขรุขระ น้อยคนจะเดิน ถ้าเดินแล้วคุณจะเจออะไรบางอย่างที่คุณนำมาใช้ต่อได้ ผมชอบเล่มนี้มาก ทั้งที่ตัวเองก็เขียนไม่สนุกเท่าไหร่ แต่ได้เขียนในสิ่งที่ตัวเองได้ทำ หรือได้คิดกับมันจริงๆ จังๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น เรื่องที่ผมไปทะเลาะกับเจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เรื่องสวมรองเท้าแตะไป มันเป็นเรื่องใหญ่โตในหอจดหมายเหตุในเวลานั้น ไม่ใช่รู้สึกดีที่ได้ทะเลาะกับชาวบ้าน แต่รู้สึกดีที่ผมยังยืนหยัดหรือยังแสดงเจตนาโดยเปิดเผยว่า ผมต้องการทำ และการทำนั้นเป็นเสรีภาพ เป็นอิสรภาพ เพราะอะไร มีเหตุผลในการอธิบายแล้วก็เชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองได้คิดไป”

3

ความรัก กับ คนรัก

“ผมไม่เคยถามตัวเองว่าเขียนหนังสือไปทำไม การเขียนหนังสือเป็นการยังชีพอย่างหนึ่งที่ผมทำได้และเลือกทำ ถ้าผมทำอย่างอื่นคงไม่ดีพอจะยังชีพได้ ก็เลือกยังชีพทางนี้ ไม่ได้คิดว่าอาชีพนี้ดีหรือเลวว่าอาชีพอื่น เป็นแค่อาชีพสามัญอาชีพหนึ่งของมนุษย์ครับ”

แต่สิ่งที่เขาพยายามเล่าตลอดมาก็คือ

“ผมอยากเล่าเรื่องความรักและความยุติธรรม มนุษย์แสวงหาทั้งสองอย่างนี้ ผมมองว่าในความรักไม่มีความยุติธรรม และในความยุติธรรมก็ไม่มีความรัก เป็นสองอย่างที่มนุษย์อยากได้ และตรงข้ามกัน ต้องใช้มันอย่างระมัดระวัง ต้องเข้าใจมันให้ดี

“เวลาคุณจะรักใคร ผมไม่คิดว่าคุณจะเอาความยุติธรรมมาประเมินได้ว่าคนนี้มีความดีแปดส่วน คนนี้มีเก้าส่วน เลือกคนนี้ดีกว่า ส่วนความยุติธรรมคือการให้โอกาสมนุษย์อย่างเสมอภาคกัน คุณต้องโยนเรื่องรักเรื่องอคติทิ้งไป คุณจะเอาความรักความเกลียดมาตัดสินมาลงโทษคนไม่ได้

“หลายคนนำสองเรื่องนี้มาไขว้กันจนรุงรังไปหมด เวลาคุณรักใคร คนนั้นจะเป็นคนดีถูกต้องเสมอ เวลาคุณเกลียดใคร คนนั้นก็จะผิดต้องโดนลงโทษเสมอ ซึ่งมันไม่เกี่ยวกันเลย”

2

แม้ว่า ต้องไกลกันนิรันดร

“จนวันนี้ผมยังไม่ได้เขียนหนังสือเลยครับ เพราะผมไม่สบาย ไรเตอร์ปิดตัวเองปีห้าแปด หลังจากนั้นร่างกายผมก็ไม่ค่อยแข็งแรง ปีหกศูนย์ผมก็ไม่สบายสืบเนื่องถึงวันนี้”

“ผมคิดถึงการเขียนมาก ไม่เคยเว้นช่วงนานขนาดนี้ แต่ในหัวก็ยังคิดพล็อตอยู่ มีทั้งนิยาย เรื่องสั้น แต่ก็ไม่ได้ลองเอามาดูว่ามันใช้งานได้หรือเปล่า”

เขาเล่าพล็อตนิยายเรื่องใหม่ให้ฟังทั้งเรื่องเหมือนที่เขาเล่าให้เพื่อนพ้องนักเขียนฟัง ขอสรุปแบบสั้นๆ ว่า

ครูหญิงโสดวัยใกล้เกษียณคนหนึ่งพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งกำลังจะตาย เลยหมดหวังกลับไปอยู่บ้านต่างจังหวัด ก็ใช้ชีวิตปกติ เตรียมตัวตายโดยไม่บอกใคร แล้ววันหนึ่งก็พบว่า ตัวเองเป็นผีกระสือ สิ่งที่แย่กว่าการเป็นกระสือก็คือ กลัวตาย เพราะคนจะไม่สนใจว่าทั้งชีวิตเธอทำอะไร แต่จะสนใจแค่เธอเป็นกระสือ เธอเลยไปถามพระแถวบ้านเรื่องกระสือ พระเพิ่งบวชใหม่จึงตอบไม่ได้ เลยอยากถามจากคนที่บวชมาก่อน เธอเดินเข้าไปในป่า แล้วก็พบว่าตัวเองอยู่ในอินเดียยุคพุทธกาล ได้เจอพระพุทธเจ้าในวันที่กำลังจะปรินิพพาน ซึ่งเธอต้องฝ่าผู้คนมากมายเข้าไปถามเรื่องกระสือจากท่านให้ได้ภายในคืนนี้

เรื่องราวที่เหลือกรุณารออ่านผ่านหน้ากระดาษ

“เรื่องนี้ผมคิดตั้งแต่ก่อนป่วย แต่พออาการป่วยมันต่อเนื่องมา ทำให้เราคิดถึงความตายใกล้ขึ้นมาก เห็นบางมุมที่ก่อนป่วยน่าจะมองข้าม พอไม่สบายก็ตระหนักว่าคนป่วยมีเรื่องอะไรที่ตระหนักเป็นพิเศษ

“ผมไม่เคยคิดว่า เรื่องความตายจะเป็นประเด็นใหญ่ในหนังสือของผม ก่อนหน้านี้ผมคิดว่า ความรักเป็นสิ่งที่ผมอยากเขียนที่สุด แต่ความตายเป็นสิ่งที่แทรกเข้ามา ก็เลยยังไม่รู้ว่ามันจะออกมายังไง

“ก็หวังว่าจะได้เริ่มเขียนเร็วๆ นี้ ยังไม่รู้ว่าจะเขียนงานชิ้นไหน อาจจะเป็นชิ้นเล็กๆ ให้เขียนได้คล่องแคล่วเพื่อฝึกมือ ถ้าเขียนได้ดีแล้วค่อยเขียนเรื่องยาว”

1

จากทะเลทรายถึงชายทะเล

“ผมเคยเขียนหนังสือประวัติชีวิตคนหลายเล่ม ชีวิตพวกเขาสนุกยิ่งกว่านิยาย เพราะเขากล้าหาญหรือบ้าบิ่นในการทำอะไรบางอย่าง แล้วก็เจอผลที่เอาไปเล่าได้ชั่วลูกชั่วหลาน แต่ผมยังขี้ขลาดเกินกว่าจะทำขนาดนั้น”

เขาไม่ยอมรับว่า การลาออก ขายบ้าน ขายรถ ไปเที่ยว ไปเขียนหนังสือ หรือทิ้งงานเขียนหนังสือมาทำนิตยสารวรรณกรรม เป็นความกล้า

“ก็มีแบบนั้นบ้าง แต่ไม่เสมอไป ไม่บ่อยครั้งจนคนยอมรับ คนอื่นจะมองยังไงก็แล้วแต่ แต่ผมมองตัวเองแบบนี้ ไม่คิดว่าตัวเองกล้ามากพอครับ ถ้าชีวิตผมจะกลายเป็นนิยายก็คงน่าเบื่อ เหมือนชีวิตคนทั่วไป อย่าเสียเวลาเขียนเลย

“ผมไม่ได้ถ่อมตัวนะครับ ตรงไหนที่ผมมั่นใจ ผมโอหังด้วยซ้ำ พูดมากกว่าที่ควรจะพูดด้วยซ้ำ ตรงไหนที่ผมไม่รู้คือไม่รู้จริงๆ เรื่องความกล้าหาญ ผมประเมินแล้ว ผมไม่เห็นเลย ก็พูดตรงๆ ครับ”

บทสนทนาดำเนินมายาวนาน น้ำเสียงของเขาเริ่มอ่อนล้า และพูดด้วยจังหวะที่ช้าลงมาก แต่เขาก็ยังมีเรื่องสุดท้ายที่อยากบอกคนอ่าน

“ผมเขียนหนังสือมาไม่เยอะ ยี่สิบกว่าเล่ม พูดเรื่องตัวเองแล้วจะโอ้อวดหรือเปล่า ผมไม่รู้ว่าจะเป็นประโยชน์กับคนอ่านไหม คนอาจจะรู้จักชื่อผม แต่ไม่รู้ว่าจะรู้จักหนังสือที่ผมเขียนหรือเปล่า ไม่แน่ใจว่าเคยอ่านหนังสือผมหรือเปล่า แม้แต่เล่มเดียวด้วยซ้ำ ถ้าอ่านบทสัมภาษณ์นี้แล้วเป็นประโยชน์ผมก็ดีใจครับ”

“แต่ถ้ามันไม่ใช่ ผมก็เสียใจ ทั้งกับคุณ และคนอ่านที่เสียเวลา แต่ผมก็มีแค่นี้จริงๆ ครับ”

30 ปี บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนผู้เชื่อว่า เราพบกันเพราะหนังสือ

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ปกรณ์ รุจิระวิไล

เอ๋ ปกรณ์ รุจิระวิไล เป็นคนสงขลา ทำงานที่ Print up มีพื้นที่ทำกิจกรรมชื่อ a.e.y.space ในย่านเมืองเก่าสงขลา พบเจอได้ตามร้านน้ำชาตอนเช้า ร้านกาแฟตอนบ่าย สนามกีฬาตอนเย็น