โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของเด็กๆ แต่บางครั้ง เราก็หลงลืมไปว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน

นอกจากบุคลิกและหน้าตา ยังหมายถึงข้อจำกัดที่แตกต่าง บางคนวิ่งเล่นกับเพื่อนได้ปกติ แต่บางคนอาจต้องนั่งอยู่ในรถเข็น

จะเป็นอย่างไร ถ้าโรงเรียนซึ่งเราเปรียบกันว่าเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเด็กๆ โอบกอดนักเรียนทุกคนอย่างเสมอภาค

‘Bikurim Inclusive School’ ในประเทศอิสราเอล คือผู้ทดลองตอบคำถามนี้ให้เราเห็นเป็นรูปธรรม

Bikurim Inclusive School : เมื่อการออกแบบช่วยให้เด็กพิการได้เรียนกับเพื่อนอย่างเสมอภาค

โรงเรียนนี้ไม่ได้มีแค่เด็กธรรมดา

Bikurim Inclusive School เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาของอิสราเอลที่เปิดรับเด็กหลากหลายรูปแบบมาร่วมเรียนด้วยกัน (จากข้อมูล ค.ศ. 2019 ทั่วประเทศมีโรงเรียนแบบนี้อยู่เพียง 5 แห่งเท่านั้น) นอกจากเด็กทั่วไป นักเรียนประมาณ 1 ใน 4 ของโรงเรียนนี้จึงเป็นกลุ่มผู้พิการทางกายและผู้ที่อยู่บน Autistic Spectrum

เมื่อผู้เรียนมีความหลากหลาย และโรงเรียนอยากช่วยให้ทุกคนเรียนรู้ได้ดีอย่างเสมอภาค Bikurim Inclusive School จึงสนใจการออกแบบสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ที่เหมาะกับทุกคน

พวกเขาชวน Sarit Shani Hay มัณฑนากรและนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์มาร่วมออกแบบพื้นที่ชั้นล่าง พื้นที่ส่วนกลางที่ชั้น 2 และบรรดาห้องเรียน Hay เป็นนักออกแบบที่สนใจเรื่องการออกแบบที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง และสภาพแวดล้อมสำหรับจัดการเรียนการสอน แน่นอนว่าเธอเหมาะกับงานนี้เป็นที่สุด

Hay ระบุไว้ในเว็บไซต์ของเธอว่า Design Brief ครั้งนี้คือการช่วยให้เกิดประสบการณ์ Inclusive ผ่านการออกแบบภายในโรงเรียนด้วยวิธีคิดใหม่

แล้วจากโจทย์นั้น เธอก็ลงมือออกแบบภายในให้โรงเรียนนี้กลายเป็น Inclusive School ของจริง

เมื่อการออกแบบช่วยให้เด็กพิการได้เรียนกับเพื่อนอย่างเสมอภาค
เมื่อการออกแบบช่วยให้เด็กพิการได้เรียนกับเพื่อนอย่างเสมอภาค

โรงเรียนสำหรับเด็กทุกคน

Hay ทำงานนี้บนหลัก Universal Design หรือการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล กระบวนการทำงานของเธอเริ่มด้วยการนั่งคุยกับครูและผู้เชี่ยวชาญซึ่งเข้าใจเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ก่อนจะทำให้ไอเดียและหลักการกลายเป็นรูปธรรมผ่านคอนเซปต์การออกแบบ

เพราะอย่างนี้ Bikurim Inclusive School จึงมีสภาพแวดล้อมที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็กทุกคน รวมถึงเด็กพิการ เมื่อเข้าไปข้างใน เราจะพบว่าโรงเรียนนี้ไม่มีสีสันฉูดฉาด แต่นำโทนสีอย่างฟ้าและเขียวมาใช้ ควบคู่กับวัสดุอย่างไม้ธรรมชาติ

“มีการใช้สีที่สงบและวัสดุไม้ธรรมชาติ เพื่อเลี่ยงไม่ให้เด็กๆ มีอารมณ์วุ่นวายมากเกินไป (Emotional Overload) ” Hay อธิบายเหตุผล โดยสีโทนนี้อยู่ทั้งในห้องเรียนปกติจนถึงห้องบำบัดอย่างห้องนั่งสมาธิ

Bikurim Inclusive School : เมื่อการออกแบบช่วยให้เด็กพิการได้เรียนกับเพื่อนอย่างเสมอภาค
เมื่อการออกแบบช่วยให้เด็กพิการได้เรียนกับเพื่อนอย่างเสมอภาค

มากกว่านั้น ในพื้นที่โรงเรียนยังมีมุมเรียนรู้ผ่านการเล่นที่ชวนเด็กมาสนุกกับลูกคิดยักษ์ ซึ่งช่วยสอนภาษามือและอักษรเบรลล์ รวมถึงมีการออกแบบให้ใช้พื้นที่ได้อย่างยืดหยุ่น ตอบรับความต้องการของผู้เรียน เช่น พื้นที่อเนกประสงค์สำหรับทำโยคะหรือพักผ่อน ซึ่งส่วนผนังบุด้วยวัสดุนุ่มๆ และมีเบาะวางไว้ให้ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์แบบคิดถึงทุกคนอย่างม้านั่งรูปตัว U ซึ่งนำมาต่อกันให้เกิดการนั่งเรียนแบบเป็นวงกลมได้แบบยืดหยุ่น ช่วยให้เด็กๆ ที่นั่งรถเข็นเข้ามาแจมกับเพื่อนได้สะดวก

เมื่อการออกแบบช่วยให้เด็กพิการได้เรียนกับเพื่อนอย่างเสมอภาค

นอกจากนี้ Hay ยังใช้การตกแต่งภายในสะท้อนแนวคิด Inclusive เอาไว้ นั่นคือผนังลายจิ๊กซอว์ ซึ่งสะท้อนว่าเด็กแต่ละคนมีเอกลักษณ์ และเมื่อมาอยู่ร่วมกันก็จะช่วยให้เกิดภาพที่สมบูรณ์

เมื่อก้าวเข้ามายัง Bikurim Inclusive School ไม่ว่าเด็กทั่วไปหรือเด็กที่มีข้อจำกัดต่างจากคนอื่น จึงเล่นและเรียนรู้อย่างสนุกสนานไปด้วยกัน

Bikurim Inclusive School : เมื่อโรงเรียนในอิสราเอลใช้ Universal Design สร้าง Bikurim Inclusive School พื้นที่เรียนรู้ที่เหมาะกับเด็กทุกคน

โรงเรียนที่การออกแบบมาพบการเรียนการสอน

ใน ค.ศ. 2020 Bikurim Inclusive School คว้ารางวัล Frame Award 2020 สาขาเพื่อสังคม ซึ่งจัดโดย Frame บริษัทสื่อด้านการออกแบบและสถาปัตยกรรมจากเนเธอร์แลนด์

สำหรับ Hay ผลงานซึ่งเธอตั้งชื่อเล่นว่า First inclusive school นี้ คือตัวช่วยให้การออกแบบก้าวมาสู่มิติการศึกษา

“โครงการนี้ให้โอกาสเราได้สำรวจลงลึกว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าการออกแบบมาเจอกับการเรียนการสอน และเราจะใช้การออกแบบเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร ในฐานะเครื่องมือส่งเสริม Inclusion และความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กๆ”

จะเป็นอย่างไร ถ้าโรงเรียนซึ่งเราเปรียบกันว่าเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเด็กๆ โอบกอดนักเรียนทุกคนอย่างเสมอภาค

โรงเรียนที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ Bikurim Inclusive School เพียงแห่งเดียว

เมื่อการออกแบบช่วยให้เด็กพิการได้เรียนกับเพื่อนอย่างเสมอภาค

ข้อมูลอ้างอิง

shanihay.com

www.dezeen.com

Frameweb.com

www.haaretz.com

Nocamels.com

www.israel21c.org

Bigsee.eu

Writer

Avatar

ศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

CUD4S ร่วมก่อตั้งโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เราตั้งใจนำการออกแบบและ Design Thinking ไปแก้ปัญหาสำคัญของสังคม โดยทำบนฐานงานวิจัย ในรูปแบบของ Collaborative Platform ให้ฝ่ายต่างๆ มาร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน ติดตามโครงการของเราได้ที่ Facebook : CUD4S