20 มิถุนายน 2017
6 K
ชื่อแบรนด์: Netflix
สัญชาติ:  อเมริกัน
ปีที่ก่อตั้ง: 1997

วินาทีนี้ คอหนังคอซีรีส์น่าจะรู้จักคุ้นเคยกับ Netflix กันแล้ว แต่สำหรับใครที่ยังไม่ได้เป็นสาวก เราขอแนะนำให้รู้จักกับบริษัทให้เช่าภาพยนตร์ออนไลน์ผู้ผันตัวสู่วงการสตรีมมิ่ง และเติบโตจนขยายบริการไปทั่วโลกเมื่อปีที่ผ่านมา ถ้าอยากรู้ข้อมูลเชิงตัวเลข ตอนนี้เน็ตฟลิกซ์มีสมาชิกสิริรวมกว่า 100 ล้านคนในกว่า 190 ประเทศ มีคนดูรายการต่างๆ มากกว่า 125 ล้านชั่วโมงในแต่ละวัน

 ผู้ชมชาวไทยท่านใดเคยใช้บริการแล้วคงเห็นด้วยกับเราว่า เน็ตฟลิกซ์ตรึงตาคนดูได้ไม่ยาก

และนั่นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

หลังศึกษาข้อมูลและนั่งพูดคุยกับ สก๊อตต์ มิเรอร์ (Scott Mirer) รองประธานฝ่าย Device Partner Ecosystem ของเน็ตฟลิกซ์ เนื่องในวาระที่สตรีมมิ่งเจ้านี้มาเปิดตัวเมืองไทย เราก็ได้เห็นต้นกำเนิดเสน่ห์ร้ายกาจของเน็ตฟลิกซ์ บริษัทนี้ไม่ใช่แค่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์ แต่ยังหยิบใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้เนื้อหาและประสบการณ์รับชมของคนดูสมบูรณ์แบบ จะพูดว่านี่คือการรวมร่างของครีเอทีฟกับมนุษย์เนิร์ดแนวซิลิคอนแวลลีย์ก็อาจไม่ผิดนัก

ก่อนกลับไปดูซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ที่ค้างอยู่ ลองมาอ่านเหตุผลที่ทำให้พวกเราต้องอดนอนข้ามคืนหน่อยไหม

Original Content : เนื้อหาแบบเน็ตฟลิกซ์ที่จะพาแบรนด์สู่ระดับโลก

6 พันล้านดอลลาร์ฯ คือจำนวนเงินที่เน็ตฟลิกซ์จะใช้ไปในปีนี้กับ Original Content หรือเนื้อหาที่ผลิตขึ้นเพื่อเน็ตฟลิกซ์เท่านั้น

ใครเป็นสาวกเน็ตฟลิกซ์คงรู้ดีว่านี่คือหนึ่งในแรงดึงดูดหลักของสตรีมมิ่งเจ้านี้ เพราะเป็นรายการที่หาดูที่อื่นไม่ได้ แต่มากกว่านั้น รายการออริจินัลเหล่านี้ยังช่วยให้บริษัทผลิตเนื้อหาได้อย่างไม่ต้องสนขนบเดิม เช่น แต่ละตอนของซีรีส์ต้องยาวเท่ากัน นิยามของซีซั่นต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น

นอกจากนี้ การสร้างเนื้อหาของตัวเองยังช่วยขจัดปัญหาที่ขัดขวางการขยายสู่ระดับนานาชาติ นั่นคือเรื่องลิขสิทธิ์ เพราะบางทีหนังหรือซีรีส์บางเรื่องก็ฉายได้ในอเมริกาแต่ยังมาฉายเอเชียไม่ได้ แต่ถ้าเป็นรายการที่เน็ตฟลิกซ์ทำเอง อยากฉายกี่ประเทศก็ไม่มีปัญหา   

ว่าแต่วันนี้คุณได้ดู House of Cards ซีรีส์เรื่องแรกสุดของเน็ตฟลิกซ์หรือยัง?

Netflix, House of Cards

‘ดีและโดน’ มากกว่า ‘ดัง’

เรื่องราวที่ยอดเยี่ยมสำหรับเน็ตฟลิกซ์คือเรื่องราวที่ทรงพลัง คนดูมีความรู้สึกร่วม และดูจบแล้วอยากบอกต่อ มากไปกว่านั้น วิธีเล่าเรื่องยังต้องดีทั้งในแง่การสื่อสารและการผลิต (แต่ทั้งนี้ เน็ตฟลิกซ์ขึ้นชื่อเรื่องให้อิสระกับผู้ผลิตมาก พวกเขามีไกด์ไลน์ให้แต่จะไม่ก้าวก่ายจนเกินเหตุ) ที่สำคัญคือ เนื้อหาดีเหล่านี้จะต้องโดนใจคนดู ไม่ใช่ทุกคนพร้อมกัน หากแต่ละคนควรได้มีหนังโปรดของตัวเอง

หนึ่งในตัวอย่างที่ดีคือ Stranger Things ซีรีส์ที่ก่อนหน้านี้ถูกปฏิเสธโดยช่องอื่นๆ กว่า 19 ช่อง ด้วยเหตุผลอย่างหนังเรื่องนี้อาจมีกลุ่มคนดูเล็กเกินไป คนทำเองก็ไม่มีประสบการณ์มากนัก แต่เมื่อมาถึงมือเน็ตฟลิกซ์ พวกเขากลับมองเห็นความเป็นไปได้อื่น เช่น Stranger Things อาจไม่ได้โดนใจทุกคน แต่น่าจะเป็นที่ชื่นชอบในหมู่คนดูที่คิดถึงยุค 80 และรักเรื่องราวเกี่ยวกับเด็ก ที่สุดแล้วซีรีส์นี้จึงได้รับอนุญาตให้สร้างและกลายเป็นหนึ่งในตัวสร้างชื่อของสตรีมมิ่งเจ้านี้

และเพราะมีวิธีคิดเช่นนี้เอง เมื่อเราลองเลียบเคียงถามเรื่องหนังดังในเน็ตฟลิกซ์ พวกเขาดูจะไม่ค่อยสนใจนัก

“ถ้าเราคิดถึงความดังหรืออะไรดังที่สุด ผมไม่คิดว่าเราจะสร้างโชว์ที่ยอดเยี่ยมได้” สก๊อตต์บอกเรา

Netflix, Stranger Things

เนื้อหาที่ดีจะก้าวข้ามทุกพรมแดน

ในปี 2016 เน็ตฟลิกซ์ก้าวสู่การเป็นสตรีมมิ่งระดับนานาชาติ เราถามชาวเน็ตฟลิกซ์ว่า ก้าวใหญ่ก้าวนี้เปลี่ยนแปลงวิธีคิดในการผลิตเนื้อหาหรือเปล่า

“ทั้งใช่และไม่ใช่” สก๊อตต์ตอบ แล้วอธิบายต่อว่า คำว่าไม่ใช่ คือหลักการสำคัญในการสร้างเนื้อหานั้นยังเหมือนเดิม นั่นคือค้นหาเรื่องที่ดีและพามันไปถึงกลุ่มคนที่ใช่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือพวกเขาตระหนักว่าเน็ตฟลิกซ์ต้องพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้ตลาดท้องถิ่นเล่าเรื่องของตัวเองได้ทั้งระดับในและนอกประเทศ พวกเขาจึงลงทุนไปเยอะกับการทำให้การผลิตระดับท้องถิ่นมีศักยภาพ

ตอนนี้เน็ตฟลิกซ์ทำงานกับผู้ผลิตในหลากหลายประเทศ ตั้งแต่เกาหลี เม็กซิโก จนถึงฝรั่งเศส (และตอนนี้ก็กำลังทำงานกับเมืองไทยอยู่ด้วย) โดยไม่กังวลเรื่องปัญหาที่จะเกิดจากความแตกต่างของวัฒนธรรม เพราะพวกเขาเชื่อว่าเรื่องเล่าที่ดีจะก้าวไปถึงใจคนดูทั่วทุกมุมโลกได้ ไม่ต่างจากที่แอนิเมชันญี่ปุ่นจับใจคนนานาชาติมาแล้ว

และนั่นคือเหตุผลที่สาวกเน็ตฟลิกซ์ชาวไทยบางคนอาจติดรายการสัญชาติบราซิลอยู่ตอนนี้

Netflix, รี้ด แฮสต์ลิงส์ (Reed Hastlings), สก๊อตต์ มิเรอร์ (Scott Mirer)

เลือกของแบบไม่มั่วด้วย Big Data

“ศิลปะมากเท่าๆ กับวิทยาศาสตร์” – รี้ด แฮสต์ลิงส์ (Reed Hastlings) ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของเน็ตฟลิกซ์เคยให้นิยามบริษัทตัวเองไว้แบบนั้น

นั่นเพราะเนื้อหาชั้นเยี่ยมในเน็ตฟลิกซ์ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพราะพวกเขามีรสนิยมดีในการคัดสรร แต่เบื้องหลังการแทงหวย เน็ตฟลิกซ์มีเทคโนโลยีที่ช่วยให้พวกเขาเก็บข้อมูลของผู้ชมไว้แบบละเอียดยิบ และ Big Data นี้เองที่ช่วยให้พวกเขาตัดสินใจคัดเลือกเนื้อหาใหม่และกะงบที่ต้องใช้ลงทุนกับแต่ละเรื่องได้อย่างมั่นใจขึ้น

“Big Data บอกเราบางเรื่องเกี่ยวกับคนดู ดังนั้น เมื่อมีคนเอาเรื่องมาเสนอเรา เช่น เรื่องแนวสยองขวัญ เราจะรู้ว่าคนดูแบบไหนจะชอบเนื้อหาแบบนี้” สก๊อตต์บอก

นอกจากนี้ ใครที่เป็นสมาชิกเน็ตฟลิกซ์จะรู้ว่าสตรีมมิ่งเจ้านี้จะช่วยคัดเลือกและนำเสนอรายการที่คิดว่าแต่ละคนน่าจะชอบมาให้ นั่นเพราะ Big Data ช่วยคัดแยกและคัดสรรสิ่งที่คนดูต้องการจากมหาสมุทรรายการของเน็ตฟลิกซ์ ช่วยทำนายให้ว่าถ้าเลือกดูหนังเรื่องนี้ เรื่องถัดไปที่เขาอยากดูน่าจะเป็นเรื่องไหน โดยการทำนายที่ว่าตั้งอยู่บนพื้นฐานของรสนิยม ไม่ใช่ถิ่นฐานของคนดู เพราะคนดูจากคนละที่อาจชอบรายการเดียวกัน และนั่นหมายความว่าเขาอาจชอบรายการอื่นที่เหมือนกันด้วย

“มันคือการแต่งงานระหว่างความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างเนื้อหากับเทคโนโลยี” สก๊อตต์อธิบายฟังก์ชันคัดสรรเนื้อหาด้วยคำนี้

คุยกับผู้บริหาร Netflix ถึงเบื้องหลังที่ทำให้เรากดดูสตรีมมิ่งเจ้านี้แล้วหยุดไม่ได้จนตาโหล

สร้างประสบการณ์รับชมที่คนดูจะหลงรัก

รี้ดเคยกล่าวไว้ว่า ธุรกิจของเขาช่วยให้ผู้ชมมีอำนาจควบคุมการชมวิดีโอในทุกที่ ทุกเวลา ที่ต้องการ ไม่ต่างจากเสน่ห์ที่เราได้สัมผัสเวลาอ่านสื่อกระดาษอย่างนิตยสาร นอกจากนี้ การชมวิดีโอของเน็ตฟลิกซ์ยังชมได้พร้อมกันจากทั่วโลก และเป็นการชมที่ลื่นไหลไม่สะดุด เพราะเน็ตฟลิกซ์มีนโยบายแต่เริ่มต้นว่าจะไม่มีโฆษณาระหว่างฉาย

ไม่ใช่แค่นั้น สก๊อตต์ยังอธิบายว่า ในตอนแรกคนจะเลือกรายการที่พวกเขาอยากดู แต่เมื่อเลือกแล้ว สิ่งที่พวกเขาอยากได้ต่อจากนั้นก็คือประสบการณ์การชมที่ดีที่สุด เบื้องหลังหน้าจอที่เราเห็น ชาวเน็ตฟลิกซ์จึงทำงานหนักและลงทุนมหาศาลเพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ชม ตั้งแต่คุณภาพการแสดงภาพระดับความละเอียดสูง เทคโนโลยีที่ทำให้วิดีโอไม่กระตุกแม้เน็ตจะอ่อน ไปจนถึงฟังก์ชันดาวน์โหลดรายการในตอนที่มีไวไฟเพื่อเก็บไว้ดูทีหลัง

“เราอยากสร้างสรรค์เนื้อหาชั้นยอดและส่งมันไปถึงคนดูด้วยเครื่องมือชั้นเยี่ยม” สก๊อตต์บอกความตั้งใจของเขาและทีมงาน

โฟกัสที่ตัวเองมากกว่าคู่แข่ง

คู่แข่งทุกวันนี้มีเยอะมาก คุณทำยังไงให้ต่างจากคนอื่น-เราถาม

“เราอยากจะคิดว่าตอนนี้เราก็แตกต่างอยู่แล้วนะ” สก๊อตต์ตอบทีเล่นทีจริง ก่อนอธิบายต่ออย่างเป็นการเป็นงานว่า ตอนนี้เน็ตฟลิกซ์ให้บริการสตรีมมิ่งในอเมริกามา 10 ปีแล้ว นอกจากตัวเน็ตฟลิกซ์เอง ก็มีผู้ให้บริการเจ้าใหญ่อยู่อีกหลายเจ้า เช่น HBO และ Amazon ซึ่งแน่นอนว่าคนดูก็ไม่ได้เลือกเจ้าเดียว ไม่ต่างจากเวลาดูทีวี

เพราะฉะนั้น เน็ตฟลิกซ์จึงมองว่าคนดูจะใช้บริการจากแบรนด์อื่นหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ (ดีเสียอีก เพราะพวกเขาจะได้คุ้นเคยกับการชมเนื้อหาผ่านระบบ Internet TV on Demand) สิ่งที่สำคัญคือการพัฒนาตัวเองให้ชนะใจคนดู

“สิ่งที่เรากังวลคือ เราจะพัฒนาตัวเองขึ้นได้อย่างไรในการหาและเล่าเรื่องที่ดี รวมถึงทำให้เทคโนโลยีที่สื่อสารเรื่องราวออกไปดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเน้นที่ตรงนั้น ผู้ชมจะได้คุณค่าจากสิ่งที่เราทำมากขึ้นเรื่อยๆ” สก๊อตต์กล่าว

ถ้าอยากรู้ว่าเน็ตฟลิกซ์ทำสำเร็จหรือไม่ เห็นจะต้องลอง Sign in แล้วพิสูจน์ด้วยตาคุณเอง

Netflix, รี้ด แฮสต์ลิงส์ (Reed Hastlings), สก๊อตต์ มิเรอร์ (Scott Mirer)
 
 

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan