เบื้องหน้า
บิ๊ก-พีรมณฑ์ ชมธวัช คือผู้หลงใหลเครื่องแต่งกายนาฏศิลป์ไทยโบราณอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ใช้เวลาร่วม 20 ปี ในการศึกษาจนเชี่ยวชาญชนิดหาตัวจับยากมากในขณะนี้
ขยายความมากขึ้นอีกหน่อย
เขาคือผู้อยู่เบื้องหลังชุดไทยงามๆ ในภาพยนตร์โฆษณาของแบรนด์รีเจนซี่มาตลอด 10 กว่าปี
คือผู้ค้นคว้ารวบรวมหลักฐานอย่างหนักแน่น จนได้ชุดนางรำสมัยปลายอยุธยาของคุณอุบลแห่งละครเรื่อง พิษสวาทออกมา
คือหนึ่งในคณะผู้จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขน-ละคร ในโขนพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เบื้องหลัง
บิ๊กในวัยจิ๋วคือเด็กหนุ่มผู้ตกหลุมรักการแสดงแบบตะวันตกเข้าอย่างจัง แม้สะสมพื้นฐานทางนาฏศิลป์ไทยมาตั้งแต่ชั้นประถม เรียนโขน ดนตรีไทย และโดนคุณแม่หิ้วไปชมการแสดงจากกรมศิลปากรที่โรงละครแห่งชาติอยู่เนืองๆ
เมื่อรายการโทรทัศน์ออกอากาศเผยแพร่โชว์ต่างชาติเจ๋งๆ คราวใด พีรมณฑ์เป็นต้องรีบกุลีกุจอหาอุปกรณ์มาบันทึกภาพเสมอ สะสมไว้เป็นห้องสมุดส่วนตัวเพื่อใช้เรียนรู้กระบวนท่า ฝึกหัดด้วยตัวเองไปตามประสา ยิ่งได้มีโอกาสดูการแสดงต่างชาติบ่อยไม่แพ้ไปชมนาฏศิลป์ไทย ความฝันอยากเป็นนักเต้นอาชีพก็ยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
เบื้องลึก
เขาคือคนไทยคนแรกที่ไปทำงานกับคณะเต้นฝรั่งเศส Le Jeune Ballet de France ในฐานะนักเต้นมืออาชีพ
คือคนแรกที่เริ่มนำชายครุยชนิดดิ้นมันสีทองอย่างโบราณมาใช้ในเครื่องแต่งกายโขน จนเป็นที่นิยมแพร่หลายต่อไป
คือคนแรกที่นุ่งผ้าชายสะบัดแบบอยุธยาดังปรากฏในภาพจิตรกรรมได้
ไม่พูดพร่ำทำเพลง ขอเชิญคุณผู้อ่านมาสัมผัสเรื่องราวแห่งความฝัน แรงบันดาลใจ และไฟของพีรมณฑ์ ต่อเรื่องเสื้อผ้าพัสราภรณ์ไทยนี้ไปพร้อมกัน

มวยวัด
“เราแกะท่าหัดเต้นเองตลอด ฝึกฝนด้านการแสดงมาอย่างมวยวัด สะเปะสะปะพอสมควร” คู่สนทนาของเราเล่าพลางหัวเราะร่า เมื่อพูดถึงตัวเองสมัยวัยรุ่น
แต่ทักษะที่บิ๊กพร่ำเพียรสะสมมาไม่เสียหลาย เพราะจากนั้นไม่นานเขาได้รับคัดเลือกให้เล่นละครเพลงเรื่อง เก็บดาวดวงใหม่ไปใส่ฟ้า ของ ครูเล็ก-ภัทราวดี มีชูธน ซึ่งนับเป็นใบเบิกทางเข้าสู่วงการอย่างเต็มรูปแบบ บิ๊กโลดแล่นในวงการตามประสากามนิตหนุ่มผู้เปี่ยมไปด้วยแรงกายแรงใจ โดยไม่ได้เป็นศิษย์ของใครและไม่มีผู้ใดเป็นอาจารย์
2 ปีให้หลัง จึงตัดสินใจไปเรียนเต้นแจ๊สกับ อาจารย์อารีย์ สหเวชชภัณฑ์ เพราะต้องการพื้นฐานหนักแน่นแม่นยำ และเทคนิคถูกต้องตามหลักวิชาการ
การเริ่มต้นอย่างมวยวัด ใช้ความสนใจเป็นเครื่องนำทาง ทำให้ใจเปิดกว้างพร้อมเรียนรู้และมีความคิดสร้างสรรค์นอกกรอบอยู่เสมอ เนื่องจากไม่มีหลักวิชาการหรือทฤษฎีใดมาคอยกำราบให้เดินอยู่ในลู่ทางอย่างสงบเสงี่ยม
ความฝันของเขาค่อยๆ ฟูมฟักตั้งแต่เข้าคณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชานาฏยศิลป์ตะวันตก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วกะเทาะเปลือกออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงเอาเมื่อปีสุดท้ายในรั้วจามจุรี
“ผมได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมกับคณะเต้นของฝรั่งเศสในฐานะนักเต้นอาชีพหนึ่งปีเต็ม พอหมดสัญญาก็ได้ร่วมงานกับคณะอื่นๆ ต่อมา ตอนนั้นมีความสุขมาก เหมือนฝันเลย ความภูมิใจคือผมเป็นคนไทยคนแรกที่เป็นนักเต้นอาชีพในฝรั่งเศส” เขาเล่าเรื่องราวในอดีตออกรสออกชาติ แววตาส่อประกายแห่งความภูมิใจออกมาชัดเจนไม่แพ้น้ำเสียง

เหตุการณ์นี้การันตีความสามารถด้านการเต้นได้ของเขาได้อย่างไรข้อกังขา เพราะหากไม่เจ๋งจริงคงเป็นชาวเอเชียผู้แสดงโชว์อย่างฝรั่ง ให้ฝรั่งดูเป็นสัมมาอาชีพไม่ได้
แต่ช่วงเวลาแห่งความสุขมักผ่านไปไวเสมอ ครบ 2 ปีถ้วนก็เกิดปัญหาขัดข้องเรื่องวีซ่า ทำให้ต้องพับความฝันกลับสยามถิ่นเกิดมาเรียนปริญญาตรีต่อให้จบ
เอามะพร้าวห้าวไปขายสวน
ถ้าไม่เกิดปัญหานั้น ก็คงไม่ได้ยูเทิร์นกลับไทย
ถ้าไม่ได้ อาจารย์บัญชา สุวรรณานนท์ คอยกระตุ้นสะกิดเตือน ก็คงไม่ได้เห็นครูบิ๊กในวงการเครื่องพัสตราภรณ์
“วันหนึ่งท่านตั้งกระทู้ถามว่า จะทำงานแบบฝรั่งจริงๆ หรอ โกอินเตอร์ไปเมืองนอกแบบไม่มีคาแรกเตอร์และจุดยืนชัดเจนจริงหรอ นั่นคือการเอามะพร้าวห้าวไปขายสวนนะ ไม่มีทางโดดเด่นขึ้นมาจากตลาดของเขาได้ ท่านแนะนำให้กลับมาหารากเหง้าของเราให้เจอ ดัดแปลงนาฏศิลป์ไทยของดีของเราให้ร่วมสมัยดีกว่า”
เมื่อตกผลึกความคิดจนพบว่าที่อาจารย์พูดเป็นจริง บิ๊กจึงนำเทคนิคแบบนาฏศิลป์สากลซึ่งตระเวนสะสมมาตลอด 2 ปี ผสานเข้ากับท่ารำแม่บทเล็กของไทย โดยหยิบเอาวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ ตอน นารายณ์ปราบนนทก มาเป็นเนื้อหาทำศิลปนิพนธ์ทิ้งท้ายปริญญาตรีที่เขาสุดแสนภูมิใจ
“ไม่ได้ทำแค่เท้าไทยมือฝรั่ง แต่วิเคราะห์จุดเริ่มต้นของแต่ละสัญญะในท่าเลย รื้อความหมายออกมา (Deconstruct) แล้วประกอบสร้างเข้าไปใหม่ (Reconstruct) ด้วยเทคนิคสากล ทีสิสเล่มนี้ทำให้กระบวนการคิดของผมเป็นระบบและลื่นไหลขึ้นมาก ดัดแปลงแต่งเติมตรงไหนได้ตามใจทุกอย่าง”
หลังจากพ้นรั้วจามจุรี เขาเดินทางอยู่บนถนนสายนาฏศิลป์ ทำหน้าที่ออกแบบการแสดงเพื่อไปเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้แก่ชาติต่างๆ ผ่านการร่วมงานกับองค์กรระหว่างประเทศอยู่พักใหญ่ๆ
แล้วก็เป็นอีกครั้งที่อาจารย์บัญชาตั้งคำถามให้กลับมาฉุกคิด ว่าจะยึดสิ่งนี้เป็นอาชีพไปตลอดชีวิตจริงหรือ เพราะงานด้านการแสดงมีอายุไม่ยืนยาว วันหนึ่งเกิดเคลื่อนไหวขยับร่างกายไม่ได้อย่างเก่า ก็เป็นอันสิ้นทางทำมาหากิน ควรมีอาชีพสำรองเอาไว้
บิ๊กจึงกลับมาสำรวจความชอบของตัวเอง จนพบว่ารักเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมากไม่แพ้การแสดง จึงไปกราบเรียน สปัน เธียรประสิทธิ์ ดีไซเนอร์ชื่อดังแห่งยุค คุณป้าแท้ๆ ให้ช่วยถ่ายทอดเคล็ดวิทยายุทธ์ให้หมดเปลือก ทั้งประสบการณ์และมุมมองด้านสุนทรียะ


“ส่วนใหญ่ที่เรียนเป็นเสื้อผ้าฝรั่งแบบพีเรียดและชุดไทยพระราชนิยม แต่ความสนุกคือการได้ไปช่วยซ่อมเสื้อผ้าย้อนยุคชุดวิวัฒนาการเครื่องแต่งกายในประวัติศาสตร์โลก เพราะเราชอบของเก่าแก่อยู่แล้ว แถมยังได้ฝึกพื้นฐานซ่อมผ้าเก่าไปในตัวด้วย”
บิ๊กกดสูตรโกงด้วยการรับโอนเอาประสบการณ์ระดับมือฉมังจากคุณป้ามาโดยตรง ใช้ทางลัดวิ่งเข้าเส้นชัยก่อนหน้าใครเพื่อน ด้วยเวลาน้อยกว่ากันหลายเท่าตัว
นัฏกานุรักษ์
“ไอ้ความสนใจในชุดไทยโบราณนี่มาจากประสบการณ์ส่วนตัว” เขาทิ้งจังหวะครู่สั้นๆ ก่อนสูดหายใจเข้าลึกแล้วขยายความต่อ
“เพราะเราออกนอกบ้านไปตระเวนเห็นมาแล้วทั่วโลก กลับมาคิดขัดใจอยู่คนเดียวว่าของบ้านเราก็สวยไม่แพ้ใครนี่นา แต่ทำไม Production Design ถึงไม่ครบองค์ มาตรฐานยังไม่สูง เลยคิดอยากพัฒนาคุณภาพของคอสตูมให้เนี้ยบทั้งวัสดุและเทคนิค เพื่อจะได้สู้กับต่างชาติได้
“ยิ่งพอได้ดูงานของศิลปินรุ่นพี่ คมกฤช เครือสุวรรณ ผู้ลุกขึ้นมาฟื้นฟูเครื่องแต่งกายนาฏศิลป์ไทยผ่านรายการนัฏกานุรักษ์ ฉายทางโทรทัศน์ช่วงปี 2532 ซึ่งยกระดับวิธีการนำเสนอให้มีชั้นเชิงขึ้นไปมากจนเกิดมาตรฐานใหม่ พัฒนา Artistic Direction อย่างก้าวกระโดด ผมจึงเกิดแรงบันดาลใจ อยากทำไว้ใช้ในโชว์ของตัวเองบ้าง”
ความคับข้องใจส่วนตัวของนักเต้นหนุ่มประสานกำลังกับแรงบันดาลใจจากศิลปินรุ่นพี่ ผลักให้บิ๊กเข้าก้าวสู่วงการเครื่องแต่งกายนาฏศิลป์ไทยอย่างเต็มตัว
“แต่ต้องระวังอย่างหนึ่งนะ” คู่สนทนาขยับแว่นพร้อมเขยิบเก้าอี้เข้ามาใกล้ เหมือนจะขีดไฮไลต์ข้อความ
“สมัยนั้นคนลืมไปแล้วว่าเมื่อร้อยกว่าปีก่อนแต่งตัวอย่างไร เป็นช่วงที่จู่ๆ ไฟก็ดับหายไปเลย ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่านาฏศิลป์ไทยแต่งแบบเดียวเท่านั้น คู่สีแดง-เขียว ปักลายใหญ่ๆ ไม่รู้ว่ามีแบบอื่นๆ อีกมากมาย ยังไม่เกิดความเข้าใจในวงกว้างเหมือนตอนนี้”

แม้เกิดไม่ทัน แค่เพียงได้ฟังจากคำบอกเล่าก็เข้าใจความยากลำบากในเส้นทางสายอาชีพนี้ได้อย่างถ่องแท้ แต่นับว่าโชคดีมากๆ ที่เขาได้มีโอกาสพบเจอ ครูไก่-ดร.สุรัตน์ จงดา อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญการแต่งกายโขน-ละคร เพื่อนร่วมทางคนสำคัญผู้เข้ามาร่วมทริปอันน่าตื่นเต้นในการล่าสมบัติแห่งชาติทริปนี้
“ตอนนั้นผมเริ่มหัดทำชุดไทยไว้บ้างแล้ว ได้เจอครูไก่ตอนกำลังตามหารัดเกล้าเปลวให้ตัวนาง คุยกันถูกคอและสนิทสนมกันเรื่อยมาเพราะสนใจเรื่องเดียวกัน ท่านคือผู้ประสิทธิ์ประสาทองค์ความรู้เกี่ยวกับเครื่องแต่งกายไทยให้แก่ผมทั้งหมด”
ตามล่าหาขุมทรัพย์
บิ๊กเป็นมนุษย์ขี้สงสัย
เมื่อเห็นว่าชุดไทยในภาพถ่ายเก่าไม่เหมือนกับที่นิยมแพร่หลายอยู่ขณะนั้น จึงชวนครูไก่มาช่วยกันค้นคว้า สืบเสาะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทุกแขนงที่เกี่ยวข้อง เพื่อตามหาว่าของโบราณจริงๆ เป็นอย่างไร
“ผมกับครูไก่เริ่มขุดภาพถ่ายเก่าในหอจดหมายเหตุออกมานั่งไล่เรียงไทม์ไลน์กันใหม่ พิจารณากันอย่างละเอียด พยายามกำหนดยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ด้วยการอ่าน สาส์นสมเด็จ และหนังสือต่างๆ ประกอบ และขั้นสุดท้ายคือต้องตามไปดูของจริง ทั้งในพิพิธภัณฑ์และสมบัติส่วนตัวของคนอื่น”
เหมือนจุดไฟติด

พอเรานำบทสนทนาเดินทางมาสู่เรื่องผ้าไทยโบราณ ผู้เชี่ยวชาตรงหน้าเราก็เริ่มใช้มือไม้ออกท่าทางพร้อมเล่าความเก๋าเกมอย่างออกอรรถรส (อยากให้คุณผู้อ่านสัมผัสได้เหมือนเราจริงๆ)
“ใครทำอะไรในภาพนี้ ใครเป็นคนถ่ายภาพนี้ คนไทยหรือฝรั่ง ถ้าฝรั่ง เขามาไทยตอนไหน” เหล่านี้คือคำถามพื้นฐานที่ต้องตั้งไว้ในใจตลอดการค้นคว้า”
แต่สำคัญไม่แพ้ ‘ใคร’ คือ ‘อะไร’
“บางทีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จะฟ้องขึ้นมา เราเคยดูเงื่อนงำจากตั่งที่นั่งในภาพว่าเหมือนกับของ เจ้าคุณจอมมารดาเอม พระราชมารดาในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ สันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่าก่อนช่วงต้นรัชกาลที่ห้าแน่ๆ เพราะทรงยกเลิกตำแหน่งนี้ไประหว่างนั้น คณะเต้นในภาพก็น่าจะเป็นของวังหน้าเพราะนำตั่งของท่านมาใช้เล่น
“แม้กระทั่งการทัดดอกไม้ห้อยอุบะ ปัจจุบันยังเถียงกันอยู่เลยว่าตัวพระตัวนางห้อยซ้าย-ขวา อย่างไร พอศึกษามากๆ เข้าจึงรู้ว่า อ๋อ ห้อยไปเถอะ มีหลายแบบ ไม่มีผิดถูก
“ครั้งหนึ่งเจอภาพถ่ายเก่าขาวดำสมัยรัชกาลที่หกของกรมมหรสพ เราแยกไม่ออกว่าผ้าวางสีอย่างไร จนกระทั่งไปเจอของจริง จึงนำข้อมูลมาเดาได้ว่าสีในภาพน่าจะประมาณไหน แต่พอนำไปเทียบกับสมัยรัชกาลที่สี่ถึงห้า ก็ไม่เหมือนกันอีก เลยถึงบางอ้อว่า จริงๆ แล้วความนิยมมีหลากหลายมาก ที่ว่าโบราณน่ะ โบราณยุคไหน โบราณเหมือนใคร ต้องพูดให้ชัด เพราะแต่ละแห่งก็มีธรรมเนียมเฉพาะ เหมารวมไม่ได้”
อาจารย์บิ๊กอธิบายอย่างฉะฉานด้วยความเก๋าเกม ประสบการณ์ทำให้มองขาดทุกประเด็น
ลืมหูลืมตา
“ทำเพราะอยากให้ชุดไทยมีชีวิต เอามาแสดงได้จริงๆ บนเวที ไม่เกี่ยวกับงานหรือเงิน ไม่มีใครจ้าง ความอยากรู้อยากเห็นส่วนตัวล้วนๆ”
บิ๊กเล่าถึงความบ้าดีเดือดของตัวเองอย่างมีแพสชัน แม้ไม่ได้เดินทางสายวิชาการหรือทำเพราะมรรคผลลาภยศ แต่เจ้าตัวก็ตั้งใจทุ่มเทสรรพกำลังในการศึกษาค้นคว้า
“ผมพยายามทำให้ตรงกับของจริง เบสิกสุดเลยคือเมื่อหาข้อสรุปแน่ชัดจากข้อมูลทั้งหมดได้ ก็หัดทำเลียนแบบเพื่อถอดรหัสเทคนิคด้วยวิธีการที่สวนทางกลับไป สุดท้ายพบว่าทุกอย่างล้วนมีเหตุผลรองรับ เช่น ต้องเย็บดิ้นแบบนี้ เพราะถ้าเย็บอีกแบบมันจะหลุดและช่างเก่าเขาทดลองมาแล้ว หลักฐานพวกนี้คือเครื่องชี้ถึงภูมิปัญญาของคนไทย เราต้องใช้สมองไขเคล็ดลับให้ได้ถึงจะมีตรรกะการทำชุด
“แต่ก็ไม่ได้หลับหูหลับตาเชื่อตามไปโดยไม่วิเคราะห์ตั้งคำถามนะ ต้องมองให้ขาด อย่างความยาวสไบ ครูสอนมาว่ายาวครึ่งน่อง ทำไมต้องครึ่งน่องล่ะ อ๋อ ถ้ายาวไปจะลากพื้น สั้นไปจะเต่อ ความยาวขนาดนี้ ตอนรำแล้วย่อเข่าจะเสมอข้างล่างสวยงามพอดี”
พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าอย่าเชื่อเพราะเป็นครู พีรมณฑ์จึงเรียนรู้พลิกแพลงอยู่เสมอ หากเทคนิคใดหมดยุค มีเคล็ดลับใหม่ดีกว่า วัสดุใดหมดสมัยหรือหาไม่ได้ มีวัสดุทดแทนใกล้เคียง ก็พร้อมปรับเปลี่ยนอย่างมีเหตุผลและไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง

“อย่างชุดเจ้าเงาะชุดนี้” เขาลุกไปยกมาวางไว้ใกล้ๆ วงสนทนา เติมรสแห่งการเจรจาให้เข้มข้นขึ้นหลายเท่าตัว
“พบหลักฐานทั้งภาพถ่ายเก่าและของจริงบางส่วนในพิพิธภัณฑ์ เช่น รองคอ อินทรธนู ผ้าห้อยนอกห้อยข้าง รัดสะเอว เรามีโอกาสได้ถอดแบบของจริงมาเลย สัดส่วนเป๊ะๆ วัสดุ เทคนิค ลวดลาย อันไหนไม่เหลือให้เห็นก็เทียบเคียงอนุมานกับภาพถ่ายเก่า เช่น เลื่อมหรือแล่งนมสาว หาสีเหมือนไม่ได้แล้ว ก็ยอมใช้สีใกล้เคียง ผ้ากำมะหยี่ไหมหาไม่ได้ ณ ตอนนั้น ก็ใช้ผ้ากำมะหยี่ฝ้ายแทน และปรับไซส์ใหญ่ขึ้นโดยคงสัดส่วนเท่าเดิม”
การคิดปรับแก้อย่างมีวิจารณญาณคือข้อพิสูจน์ว่าบิ๊กคือตัวจริงเสียงจริง เพราะถ้าไม่เจ๋งพอก็คงทำได้แค่ลอกของเก่าอย่างเดียววนไป ไม่มีประโยชน์โพดผลอะไรแก่วงการ
เพื่อนซี้
บิ๊กรู้จักเครื่องแต่งกายนาฏศิลป์ไทยมาแล้วเกือบ 2 ทศวรรษ
ถ้าเป็นเพื่อนก็ซี้ปึ้ก รู้ใจกันเสียทุกเรื่อง จนนำมาพลิกแพลงเล่นสนุกได้หลากหลายตามจุดประสงค์ของแต่ละโจทย์
“ถ้าทำใช้เล่นโขนต้องคงเดิมไม่ผิดเพี้ยน ถ้าทำให้โฆษณาหรือนางงาม ก็ต้องเข้าใจเป้าหมายว่าเพื่อเรียกความหวือหวา สีสันลวดลายจึงต้องชัด เพราะภาพต้องผ่านกล้อง ผมตั้งอยู่บนพื้นฐานวิชาการก็จริง แต่หากต้องปรับบางเทคนิคหรืออวัสดุเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ ก็สวิตช์สมองมาทำอีกแบบให้ได้
“อย่างโฆษณารีเจนซี่เซ็ตบ้านเชียง เราค้นคว้าข้อมูลว่ามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์อะไรหลงเหลืออยู่บ้าง นักโบราณคดีพบเส้นใยกัญชาในหลุมขุดค้น เราก็เอาผ้าใยกัญชงมาใช้ ส่วนลวดลาย ตอนแรกใช้เทคนิคการกลิ้งผ้าอย่างเดิม แต่ปรากฏว่าสีซีด ไม่ขึ้นกล้อง จึงปรับมาใช้ Silk Screen แทน ซึ่งได้สีสดและภาพคมชัดกว่า
“หรือภาพยนตร์โฆษณารีเจนซี่ล่าสุด ‘แผ่นดินทอง’ คอนเซปต์จะบอกว่าบ้านเรามีวัฒนธรรมอันงดงาม แต่ไม่ได้ระบุยุคสมัยชัดเจน เลยทำให้มันฟุ้งๆ เหมือนเมืองในฝัน งานตั้งอยู่บนหลักฐานที่เราค้นคว้ามาเหมือนเดิม แค่เอาหลายสมัยมาผสมกัน ทำได้นะ แต่ต้องระวังว่าจะให้น้ำหนักประเด็นไหนมากน้อยเพียงไร ให้เส้นรอยต่อดูเลือนราง”
เครื่องแต่งกายในภาพยนตร์โฆษณาที่เผยแพร่ออกไปแล้วถูกเลียนแบบตามครั้งแล้วครั้งเล่า คือประจักษ์หลักฐานยืนยันฝีมือระดับเซียนของพีรมณฑ์ได้อย่างไร้ข้อกังขา


ภูมิใจไทย
คุณทำงานมามากมายจนนิ้วมือนับไม่พอ ถ้าให้เลือกสักชิ้นที่ภูมิใจที่สุด จะเลือกชิ้นไหน – คำถามสำคัญผุดขึ้นมาในหัวหลังจากบทสนทนาเดินทางไกลอย่างไร้เหน็ดเหนื่อยเข้าสู่ชั่วโมงที่ 2
“ไม่มีชิ้นไหนเลย” เราเลิกคิ้วขึ้นทั้งสองข้างเพื่อตรวจทานความมั่นใจของช่างศิลป์คนนี้
“ถ้าจะบอกว่า ‘ที่สุด’ ก็ขอตอบว่า ‘ทุกชิ้น’ เพราะเราทุ่มเทตลอดยี่สิบปี จนวันหนึ่งมันส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างได้สำเร็จ งานเรามีอิทธิพลต่อการมองชุดไทยของประชาชน ต่อการสร้างสรรค์ชุดไทย เปลี่ยนโฉมและยกระดับมาตรฐานการทำเครื่องพัสตราภรณ์ในวงการนาฏศิลป์ไทยได้สำเร็จแล้ว”
หลังยืดเหยียดตรง น้ำเสียงเรียบนิ่ง นัยน์ตาเป็นประกาย ทั้งภาษาพูดและภาษากายต่างยืนยันพร้อมเพรียงกันว่าเจ้าตัวภาคภูมิใจมากแค่ไหน

“แต่อย่างโขนพระราชทานก็นับว่าเป็นหนึ่งงานซึ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้มาก เพราะพูดแล้วเสียงดัง ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแต่งกายโบราณก็แพร่ขยายออกไปได้ไกล เช่น ชายครุยดิ้นมันสีทอง ซึ่งผมริเริ่มนำมาใช้กับโขนพระราชทาน ตอนนี้นิยมกันแพร่หลายแล้ว จากต้องบินไปซื้อถึงอังกฤษ กลายเป็นว่าพาหุรัดก็มีขาย
“ส่วนละครเรื่อง พิษสวาท ที่เข้าไปช่วยทำส่วนหนึ่งเพราะอยากอาศัยช่องทางนี้ประชาสัมพันธ์สู่คนนอกวงการ ว่าชุดนางรำยุคอยุธยาไม่เหมือนกับสมัยรัตนโกสินทร์”
ความเงียบแทรกซึมเข้าสู่บทสนทนาอีกครั้ง คราวนี้ไม่มั่นใจว่าผู้ให้สัมภาษณ์เงียบงันไปเพราะเหตุใด รู้แค่ว่าเราหมดคำถามและความแคลงใจที่มีต่อชายตรงหน้าไปแล้วโดยปริยาย
ชุดไทยใน TikTok
“ผมยืนยันว่าฟื้นฟูขึ้นมาแล้วต้องใช้งานจริง ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีประโยชน์ วิธีการนี้ยั่งยืนที่สุด” เจ้าของคณะละครอาภรณ์งามยืนกรานอย่างหนักแน่นถึงเจตนารมณ์ซึ่งเขาสมาทานและเราเห็นด้วยเต็มประตู
“ผมไม่ใช่นักวิชาการ ไม่ได้ค้นคว้าจำลองชุดขึ้นมาประกอบบทความตำรา แต่ผมเป็นนักแสดง ของพวกนี้นอกจากทำให้ศิลปะการแสดงมีคุณค่าขึ้นมาจนเราภูมิใจในอาชีพตัวเองแล้ว ยังมีสุนทรียะความงาม ไม่ใช่สักแต่ว่าทำไป ผมเป็นคนมีอุดมการณ์นะ ทำแล้วต้องดี ถ้าไม่ดีอย่าทำเลย”
‘รื้อฟื้นแล้วต้องใช้’
คือใจความที่เราจับได้หลังจากฟังครูบิ๊กย้ำแนวทางของตัวเอง
‘ใช้แล้วต้องใช้ให้เป็น’
คือใจความที่เราจับได้หลังจากฟังครูบิ๊กเล่าเทคนิคการพาชุดไทยไปสู่เยาวรุ่นด้วย TikTok
“ความจริงผมเป็นคนร่วมสมัย ผมพยายามไม่ทำตัวตกกระแส ทุกวันนี้ก็เล่น TikTok เหมือนกัน เพราะทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว ไม่มีเหตุผลต้องคร่ำครึอยู่กับโลกเดิม กลับท้าทายศักยภาพในการนำเสนอตัวตนของเราผ่านมีเดียใหม่นี้เสียด้วยซ้ำ
“ผมใส่ความสนุกลงไปเป็นหลัก แต่ก็นำเสนอภาพชุดไทยโบราณอย่างร่วมสมัย ผ่านเทคนิค ท่าทาง เพลงประกอบ และเอฟเฟกต์ในแอปพลิเคชัน ให้ดูไม่น่าเบื่อจำเจ เยาวชนซึมซับไปโดยไม่รู้ตัวว่าเครื่องแต่งกายไทยก็เก๋ได้ จ๊าบได้ ไม่ต้องดูล้าสมัยเสมอไป”

ตอนนี้คณะละครอาภรณ์งามให้บริการเช่าชุดแต่งงานสำหรับงานพิธีไทย จะไทยโบราณ ไทยร่วมสมัย ไทยประยุกต์ผสมผสาน ก็ออกแบบให้ได้ทั้งสิ้น พร้อมบริการแต่งกายให้เป๊ะปัง ดูแลใส่ใจความเรียบร้อยของเสื้อผ้าตลอดทั้งงาน ว่าที่บ่าวสาวคู่ใดสนใจ ลองเข้าไปคุยกับครูบิ๊กได้ที่
Facebook : Peeramon Chomdhavat, คณะละครอาภรณ์งาม/Arporn Ngam Dance Theatre
Instagram : big_peeramon
LINE ID : bigpc
โทรศัพท์ : 08 9987 8772