ผศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ คืออาจารย์ นักวิจัย และที่ปรึกษาทางธุรกิจที่ค่อนข้างแตกต่างจากคนที่เราเคยพบเจอ 

เริ่มตั้งแต่การแต่งกายภายนอกที่สวมใส่ผ้าไทยอยู่เสมอ สลัดภาพดอกเตอร์จากเมืองนอกทิ้งไปอย่างสิ้นเชิง และภายในที่คิดถึงทั้งการสร้างประโยชน์ทางธุรกิจและสังคมไปพร้อมกันได้อย่างลงตัว ผ่านการใช้งานวิจัยเป็นตัวขับเคลื่อน เปลี่ยนเรื่องยากให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงและใช้งานได้

บัณฑิต อินณวงศ์ ที่ปรึกษาผู้ใช้งานวิจัยพัฒนาธุรกิจอาหารชุมชนกว่า 100 แห่งให้เติบโต

จากประสบการณ์ทำงานมากกว่า 20 ปี เขาให้คำปรึกษา ผลักดันผู้ประกอบอาหารเล็กใหญ่มามากกว่า 2,000 ราย และอีกนับร้อยชุมชน ตั้งแต่กระดาษว่างเปล่าจนถึงผลิตภัณฑ์ขายดิบขายดีในท้องตลาด 

เราอาจเปิดเผยชื่อสินค้าไม่ได้ทั้งหมด เนื่องจากเป็นความลับทางธุรกิจของที่ปรึกษา แต่เชื่อว่าหลายแบรนด์เคยผ่านตาคุณมาอยู่บ้าง หนึ่งในนั้นคือน้ำเต้าหู้โทฟุซังและกล้วยตาก Banana Society

ปัจจุบัน เขาคือผู้อำนวยการศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร (EAST) ทำงานร่วมกับหน่วยงานมากมาย เพื่อช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ ทั้ง SME และธุรกิจท้องถิ่นให้เฉิดฉาย

การให้คำปรึกษาของอาจารย์นั้นไม่ธรรมดา ไม่ใช่แค่รับโจทย์ แก้ปัญหา แต่พากลับไปคิดถึงแก่นแท้ จิตวิญญาณของธุรกิจว่าเราจะทำไปเพื่ออะไร เพราะไม่อยากให้เกิดธุรกิจที่แสวงหาผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียวแล้วล้มหายตายจากไป แต่ควรจะขับเคลื่อนสังคมด้วย แม้จะใช้เวลานาน ทำงานแทบไม่ได้หยุดก็ตาม

ต่อให้คุณไม่ได้ทำงานในวงการอาหาร แต่เราอยากให้คุณได้อ่านเรื่องราวนี้ไปด้วยกัน

เพราะนี่เป็นบทสนทนาที่จะชวนตั้งคำถามที่คุณอาจรู้สึกว่าควรมีใครสักคนถามคุณมาตั้งนานแล้ว และกลับไปตามหารากเหง้าที่แท้จริงของตัวเอง

01

อาหารและงานที่ดี

“อาหารที่ดีต้องประโลมตา บรรจงรส จรรโลงใจ” บัณฑิตกล่าวคำพูดของคุณแม่ อดีตนักเรียนโรงเรียนการเรือน ที่ถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในเส้นทางชีวิตของเขา

“แม่บอกเสมอว่าอาหารคือหนึ่งในวัฒนธรรมที่สำคัญของเรา คำพูดดังกล่าวยังเป็นสิ่งที่ผมใช้บอกลูกศิษย์อยู่เสมอเลย” 

แต่ย้อนไปในวัยเด็ก ความสนใจด้านอาหารยังไม่เกิดขึ้นในความคิดของบัณฑิต เขารู้สึกเบื่อหน่ายเมื่อเห็นการทำงานของโรงงานอาหารที่แม่เขาเป็นผู้จัดการอยู่ และการเข้าเรียนด้านเทคโนโลยีอาหารที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็อาจถือเป็นเรื่องจับพลัดจับผลู 

จนกระทั่งเจออีกหนึ่งแรงบันดาลใจคืออาจารย์ผู้ชี้ทาง

“ในรุ่นผม เราถูกปลูกฝังกันว่ามหาวิทยาลัยถือเป็นหนึ่งในร่มเงาที่ทำให้สังคมผาสุก ซึ่งไม่เกิดขึ้นจากการเอาความรู้ที่เรียนไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่ทำประโยชน์ให้ส่วนรวม หน้าที่ของอาจารย์ที่เติมปัญญาและเปลี่ยนผู้คนคือหนึ่งในหนทางนั้น

“มีอาจารย์ท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ด้วยว่า การทำงานที่ดีคืองานที่ ‘สัมผัสฟ้า ซับน้ำตาดิน’ คือไปถึงความรู้ขั้นสูงสุดแล้วเอาลงมาแก้ไขปัญหาให้กับสังคม นั่นกลายเป็นปรัชญาในการทำงานของผม” 

หลังเรียนจบ บัณฑิตศึกษาต่อด้านวิศวกรรมอาหารจนถึงระดับปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เติบโตในหน้าที่การงานจนเป็นผู้จัดการโรงงานที่สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เมื่อเริ่มรู้สึกว่าไม่ตอบโจทย์ชีวิต เขาจึงเปลี่ยนเส้นทางเข้าสู่สายวิชาการตามเจตนารมณ์ที่เคยมี และค้นพบจุดบอดที่ยังไม่ค่อยมีใครเข้ามาทำอะไร

บัณฑิต อินณวงศ์ ที่ปรึกษาผู้ใช้งานวิจัยพัฒนาธุรกิจอาหารชุมชนกว่า 100 แห่งให้เติบโต

“เราค้นพบว่างานวิจัยที่ดีคือพื้นฐานของทุกอย่างเลย แต่ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีงานวิจัยเชิงพาณิชย์ที่บอกคนได้ว่าคุณมีความรู้แล้ว จะเอาความรู้ไปสร้าง Know-how ของตัวเองได้อย่างไร และต้องมี Know-why ด้วย คือไม่ใช่จะทำแต่สินค้าออกมาขาย แต่ต้องรู้ว่าทำไปทำไม ตอบโจทย์ตลาดไหม

“นอกจากสร้างผลกำไรแล้ว เรามองว่าธุรกิจควรสร้างประโยชน์อย่างอื่นด้วย เช่น สนับสนุนชาวบ้าน เชิดชูและอนุรักษ์ภูมิปัญญาของพื้นที่ รักษาสิ่งแวดล้อม เป็นงานวิจัยเชิงพาณิชย์ที่สามารถออกแบบกระบวนการทางสังคม” อาจารย์เล่าความเชื่อเมื่อสมัยสิบกว่าปีก่อน พร้อมบอกว่าตอนนั้นยังไม่เห็นภาพเหมือนกันว่างานนี้จะเป็นอย่างไร แต่ต้องลองดู

เป็นจุดเริ่มต้นของภารกิจการเชื่อมองค์ความรู้จากงานวิจัยที่คนมักมองว่าเป็นเรื่องซับซ้อนเข้าใจยาก เข้าสู่ภาคธุรกิจ เพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคม

02 

Ego & Eco

ธุรกิจที่บัณฑิตดำเนินการให้คำปรึกษาแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ โดยทำงานร่วมกันผ่านการร่วมมือกับองค์กรต่างๆ 

หนึ่ง ธุรกิจเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ ทำงานร่วมกับหน่วยงานเช่นเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) และโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP ภายใต้การกำกับดูแลของ สวทช.) ช่วยผลักดันผู้ประกอบการตั้งแต่ยังมีเพียงแค่โจทย์ วางคอนเซปต์ วิจัย จนถึงทดสอบตลาด

เช่น imo imo ผลิตภัณฑ์แปรรูปมันม่วงที่จุดกระแสเรื่องมันม่วงเป็นรายแรกๆ ของประเทศ

imo imo ผลิตภัณฑ์แปรรูปมันม่วงที่จุดกระแสเรื่องมันม่วงเป็นรายแรกๆ ของประเทศ

สอง ธุรกิจพื้นถิ่นหรือธุรกิจชุมชนที่มักมีวัตถุดิบและแรงงาน แต่อาจขาดทักษะผู้ประกอบการและต้องการความช่วยเหลือ บัณฑิตและทีมงานจะลงพื้นที่ไปสำรวจความเป็นอยู่ พูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน

“ผมมองว่าหน้าที่ของผมคือการช่วยคนให้กินดีอยู่ดี มีงานทำ มีความสุขในพื้นที่ เราเข้าไปเป็นเหมือนตัวเร่ง (Catalyst) ให้แต่ละชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลง เวียนพื้นที่ไปตามหน่วยงานต่างๆ ที่เราร่วมมือด้วย”

โดยทั้งสองแบบ บัณฑิตไม่เพียงให้คำปรึกษา แต่จะแฝงกระบวนการตามหาหัวใจของธุรกิจ เพื่อสร้าง ‘Soul Business’ ที่อยู่รอดและคำนึงถึงทั้ง Ego (ตัวเอง) และ Eco (ระบบนิเวศ) 

“แต่ละธุรกิจเป็นเหมือนร่างกายที่ต้องการอวัยวะแตกต่างกันไป เราพบว่าต่อให้ภูมิคุ้มกันดีแค่ไหน แต่ถ้าทั้งระบบไม่มี Herd Immunity เวลาคนอื่นตาย คุณก็ตายด้วย เหมือนปลาหนึ่งตัวที่เน่าในบ่อ

“คนอาจจะบอกว่าเราโง่ที่ทำแบบนี้ เพราะทำแล้วไม่เห็นเกิดอะไรขึ้นมา แต่เขาไปวัดจากเรื่องเงินอย่างเดียว แต่ถ้าทุกคนคิดแบบนี้ แล้วสังคมจะอยู่อย่างไร”

คำถามที่น่าสนใจคือ ทำอย่างไรล่ะจึงจะสร้าง Soul Business ให้เกิดขึ้นจริง 

Pinarie, Lupin chips
03

Search Inside Yourself

“คนอยากทำธุรกิจมาปรึกษาร้อยคน จะตอบคำถามเราไม่ได้สักแปดสิบคนแล้วเดินกลับไปอึ้งๆ” บัณฑิตเล่าบรรยากาศการให้คำแนะนำธุรกิจที่ทำให้คนงง และต้องกลับไปคิดทบทวนคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ

ไม่ได้โหดร้ายเย่อหยิ่งแต่อย่างใด สถานการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะคนชอบเข้ามาหาหนทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แสวงหาวิธีสร้างรายได้ทางธุรกิจเสร็จสรรพ แต่ลืมคำนึงถึงว่าตัวเองเป็นใคร ทำไปเพื่ออะไร

“จริงๆ การทำสินค้าเป็นสิ่งที่มาทีหลังเลย อย่างแรกที่คุณควรทำคือสำรวจตัวเองก่อนว่าพร้อมไหม สมมติผลตอบแทนต้องรออีกสักประมาณสี่ปีอย่างต่ำ คุณทนได้หรือเปล่า คุณแน่ใจไหมว่าจะขายให้ใคร เขามีแนวโน้มจะชอบของคุณหรือเปล่า พอเหลือยี่สิบคน ก็จะถามลึกไปอีกว่าสภาพคล่องเป็นอย่างไร จะหาเงินทุนจากไหน บางคนแค่ตั้งโจทย์ใช้เวลาเก้าเดือน 

“เราต้องตั้งคำถามเหล่านี้ให้มีคำตอบชัดก่อน ถ้าไม่ชัด เราไม่ทำ ไม่อย่างนั้นเราจะเห็นภาพคนที่มีมะม่วงล้นก็กวนขาย แต่ไม่รู้ว่าขายใคร ทำไปเป็นปีก็ไม่หมด เห็น SME เกิดสิบ ตายแปด ในหนึ่งปี เราไม่อยากให้เกิดแบบนั้น เลยต้องพาเขาไปเห็นปัญหาของตัวเอง ด้วยตัวเองก่อน” บัณฑิตเล่ากระบวนการที่คิดอย่างละเอียด เพราะธุรกิจขนาดเล็กต้องคิดคำนวณให้รัดกุมอย่างมาก บางครั้งต้องล้มกระดาน คิดโจทย์ใหม่ตั้งแต่ต้น

บัณฑิต อินณวงศ์ ที่ปรึกษาผู้ใช้งานวิจัยพัฒนาธุรกิจอาหารชุมชนกว่า 100 แห่งให้เติบโต

ส่วนระหว่างทาง เขาและทีมจะพยายามเสริมแทรกการคิดถึงผู้อื่นอยู่เสมอ ไม่ใช่บอกตรงๆ แต่ผ่านคำถามให้คิด

เช่น ถ้าทำธุรกิจที่มีแหล่งวัตถุดิบ 2 เจ้า เจ้าแรกเป็นเกรดเอ ราคา 17 บาท เจ้าสองเป็นเกรดซี ราคา 7 บาท บัณฑิตจะถามว่าวัตถุดิบแบบไหนเหมาะกับงานของเรา เราอาจต้องการแค่เกรดซีเพื่อนำมาแปรรูปต่อก็ได้ พร้อมถามว่าเจ้าของวัตถุดิบจะได้อะไรจากเราบ้าง ถือเป็นราคาที่ดีไหม เราเอาเปรียบเขาหรือเปล่า

“ระหว่างการให้คำปรึกษา เราจะกระตุ้นให้คนเห็นว่าธุรกิจที่เขาทำสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้อีกมากแค่ไหน เขาจะค่อยๆ ซึมซับไปเรื่อยๆ 

“แต่มันไม่ใช่จะเกิดขึ้นในปีเดียวนะ บางคนต้องใช้เวลานานห้าถึงสิบปีเลย เขาถึงจะเห็นว่าตัวเองเดินได้แบบไม่ต้องเอาเปรียบใคร ระหว่างนั้นเราจะคอยเลี้ยงดูและทำให้เขาเห็น แม้ใช้เวลานานมากก็ตาม”

04

นักสืบ พยาบาล แพทย์ ครู

“เห็นการแต่งตัวของผมไหม ผมใส่แบบนี้แล้วเหมือนคุณลุงในชุมชนเลย” บัณฑิตเล่าหนึ่งในเคล็ดลับที่ทำให้เขาทำงานร่วมกับชุมชนสำเร็จ ในขณะที่หลายคนทำแล้วไม่เกิดผล

“การทำงานกับชุมชนต้องเริ่มจากทัศนคติก่อน ต้องเริ่มจากว่าเราไม่ได้เป็นผู้กอบกู้ หรือจะเอาอะไรไปให้เขานะ แต่ในฐานะเพื่อนที่ไปเรียนรู้ ผมไม่เคยบอกเลยว่าจะไปช่วยอะไรเขา แต่เริ่มจากมองเห็นปัญหาด้วยแว่นตาเดียวกันกับเขาก่อน คุยกับเขา เขากินอะไรก็กิน บางคนแค่ต้องการที่ระบาย เราก็ฟัง ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าไปด้วยแนวคิดนี้ ”

บัณฑิต อินณวงศ์ ที่ปรึกษาผู้ใช้งานวิจัยพัฒนาธุรกิจอาหารชุมชนกว่า 100 แห่งให้เติบโต
บัณฑิต อินณวงศ์ ที่ปรึกษาผู้ใช้งานวิจัยพัฒนาธุรกิจอาหารชุมชนกว่า 100 แห่งให้เติบโต

บัณฑิตเสริมต่อว่า เขาพยายามวางตัวให้เป็นนักสืบก่อนเมื่อเริ่มเข้าไปในชุมชน เพื่อถามคำถามต่างๆ ให้เขาได้คิดและตอบ หลังจากนั้นจะทำหน้าที่เป็นพยาบาลเยียวยาบาดแผลของคนไข้ ต่อด้วยเป็นแพทย์ผ่าตัดที่ลงมือแก้ไขปัญหา และสุดท้ายเป็นคุณครูที่ช่วยถอดบทเรียนสิ่งที่ได้เรียนรู้

แต่คนจำนวนมากเริ่มสวมบทบาทการลงพื้นที่ด้วยการเป็นตำรวจ ตรวจจับข้อผิดพลาด ตามด้วยเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลและปอเต็กตึ้ง ทำให้การทำงานร่วมกับชุมชนล้มเหลว

หวานอย่างมีหวัง
หวานอย่างมีหวัง

หนึ่งในเคสที่ประสบความสำเร็จในการทำงานชุมชนของบัณฑิตคือ ‘หวานอย่างมีหวัง’ น้ำตาลมะพร้าวแท้ของ อาจารย์ปรีชา เจี๊ยบหยู จากจังหวัดสมุทรสงคราม ที่รักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมไว้ไม่ให้สูญหาย

“อาจารย์ปรีชาเป็นคนสอนผมว่านักวิชาการชอบเอาซากความรู้มาเก็บไว้เต็มตู้หนังสือเลย แต่เขาไม่อยากได้สิ่งนั้น อยากได้หลักวิชาการคู่กับวิชานอกตำราที่กลั่นกรองมาจากภูมิปัญญามากกว่า” 

น้ำตาลมะพร้าวนี้มีสรรพคุณมากมาย คนเบาหวานทานได้เพราะมีอินนูลิน ลดการดูดซึมน้ำตาลจากอาหาร เก็บเกี่ยวจากต้นมะพร้าววันละ 2 เวลา เรียกว่าน้ำตาลเช้าและน้ำตาลบ่าย ด้วยกระบอกไม้ไผ่ที่ช่วยให้น้ำตาลเสียช้าและไม่ต้องใส่สารเพิ่ม (แลกมากับกระบวนการล้างและต้มที่เพิ่มขึ้น) ดำเนินงานโดยกลุ่มในชุมชนที่มีความเข้มแข็ง 

แต่ปัญหาคือ คนไม่ค่อยเชื่ออาจารย์ปรีชา เพราะไม่ได้เป็นนักวิชาการ และผู้ผลิตจำนวนมากใส่สารปลอมปนในน้ำตาลเยอะ ทำลายความเป็นธรรมชาติ แต่กลับเรียกผลิตภัณฑ์ตัวเองว่าเป็นน้ำตาลมะพร้าวแท้อยู่เต็มตลาด

บัณฑิตจึงเข้าไปคิดเรื่องแบรนด์ จนเกิดเป็นคำว่า ‘น้ำตาลของจริง’ และเก็บข้อมูลให้คนเห็นว่าใน 1 ปี น้ำตาลแต่ละช่วงเป็นอย่างไรบ้าง ข้อดีข้อด้อยเป็นอย่างไร พิสูจน์เรื่องวัสดุต่างๆ ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ 

หลังดำเนินงานมากว่า 5 ปี น้ำตาลมะพร้าวของอาจารย์ปรีชากำลังจะได้รับการจดทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของสมุทรสงคราม และที่ผ่านมา มีคนติดต่อเข้าไปดูงานมากถึงปีละหลายพันคน 

“เราได้นำความรู้วิทยาศาสตร์ไปพิสูจน์ภูมิปัญญา ในขณะเดียวกัน เราก็ได้เรียนรู้วิธีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งของชุมชนด้วย” บัณฑิตยิ้ม งานแบบนี้ไม่มีใครเด่นกว่าใคร เพราะถือเป็นการทำงานร่วมกันของจริง

05

ออกดอก ขยายผล

หลายคนชื่นชมแนวคิดของบัณฑิต แต่มองว่าการทำงานช้าเกินไป ไม่สามารถขยายผลในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว (Speed & Scale)

ด้วยเหตุนี้ ช่วงปีที่ผ่านมา บัณฑิตจึงพยายามมุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการและเครื่องมือทั้งหมดให้อยู่บนแพลตฟอร์มหนึ่งที่ลักษณะคล้ายสถาบัน มีทั้งคอร์สออนไลน์ที่เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง หากมีปัญหา ก็มีทีมให้คำปรึกษาคอยช่วยโค้ช มีห้องวิจัยให้มาฝึกทดลองอย่างครบครัน 

รวมถึงพยายามขยายเครือข่ายให้มากขึ้น เช่น ร่วมงานกับหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ที่มีมหาวิทยาลัยอยู่ในเครือข่ายมากถึง 33 สถาบัน

“เราอาจทำคนเดียวไม่ไหว ก็ต้องให้คนอื่นมาช่วย ให้อาจารย์และนักศึกษานำกระบวนการที่เราใช้ไปขยายผลต่อผ่านกลไกของมหาวิทยาลัยในพื้นที่” 

และอีกโปรเจกต์หนึ่งที่บัณฑิตกำลังพัฒนาร่วมกับชุมชนอยู่คือ ‘Route to the Root’ พัฒนาภูมิปัญญาของชุมชนให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเรื่องราวความเป็นมา ให้ผู้บริโภคสำรวจกลับไปได้ถึงรากเหง้า ที่มาไปที่ของสินค้าแต่ละอย่าง โดยติดต่อไปวางขายร่วมกับห้างสรรพสินค้าต่างๆ เพื่อสร้างตลาดให้แก่ชุมชน 

รักษารากฐานแบบเดิมไว้ แต่ขยายผลให้กว้างไกลขึ้นเพื่อเข้าถึงผู้ประกอบการมากขึ้น เป็นความหวังให้กับธุรกิจโดยเฉพาะในยามวิกฤตเช่นนี้

06

ใจใหญ่กว่าตัว

“ผมตั้งคำถามกับตัวเองเยอะมากๆ เลยว่าทำอะไรอยู่ บางทีทำไปก็ดูจะไม่เห็นผลเลย เคยคิดว่าจะหยุดเหมือนกัน” บัณฑิตเล่าว่าทำงานในแวดวงมานาน 20 กว่าปี ย่อมมีท้อบ้างเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะช่วงปีแรกๆ ที่อัตราความสำเร็จของธุรกิจที่ให้คำปรึกษาอยู่ที่ราว 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ก่อนจะดีขึ้นเมื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์

“สิ่งที่ทำให้ผมยังทำงานต่อคือการถามตัวเองว่า หนึ่ง เราทำแล้วได้อะไร สอง ถ้าไม่ทำแล้วจะเสียใจไหม หลายครั้งคนมักติดอยู่ที่คำถามข้อแรก แต่ผมจะพยายามถามตัวเองข้อที่สองก่อน แล้วได้คำตอบเสมอว่าถ้าไม่ทำแล้วจะเสียใจมาก

“ผมมองว่าโอกาสในการทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งในชีวิตมันไม่ได้มีมาบ่อย ถ้าไม่คว้าไว้ก็เป็นอากาศ และถึงต้องล้มเหลว เรามองว่ามันคือส่วนหนึ่งที่ทำให้ใกล้ความสำเร็จมากขึ้น ต้องล้มบ่อยๆ จนรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร

“สองความคิดนี้ทำให้ไม่ว่าต้องทำงานหนักแค่ไหน ไม่ได้หยุดวันเสาร์อาทิตย์ ผมยังคงทำอยู่ มันมีโดดเดี่ยวบ้างบนเส้นทางนี้ แต่ชีวิตก็เป็นแบบนั้น เกิดมาคนเดียว เราก็ตายคนเดียวเหมือนกัน”

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เส้นทางนี้ไม่หนักหนาจนเกินไปคือ ทีมงานที่ทำงานร่วมกันภายในทีม EAST กับบัณฑิตราว 20 คนที่ผ่านการคัดสรรมาเป็นอย่างดี 

“ก่อนน้องๆ ในทีมจะเข้ามาทำงานร่วมกัน คำถามหลักที่ผมจะถามพวกเขาคือ ถ้าคุณทำงานสักชิ้นแล้วต้องล้ม คุณคิดว่าคุณล้มได้สักกี่ครั้ง คำตอบของเขาจะบ่งชี้เองว่าเขาเหมาะกับงานนี้หรือเปล่า หลายคนตอบว่าล้มได้เยอะ คำถามคือ พอคุณลุกขึ้นมา คุณมีวิธีจัดการตัวเองอย่างไร

“สุดท้าย ผมถามว่าถ้างานเหล่านี้เกิดพรากชีวิตส่วนอื่นๆ ของคุณขึ้นมา คุณจะเสียดายลมหายใจตรงนี้ไหม เพราะงานแบบนี้ล้มเยอะมากนะ คุณจะรู้สึกล้มเหลว สูญเสียศักดิ์ศรี และวันหยุดของเราคือวันที่คนอื่นประสบความสำเร็จ ดังนั้น เราไม่ได้หาคนเก่ง เรื่องนั้นฝึกกันได้ แต่เราตามหาคนที่ใจใหญ่กว่าตัวมหาศาล” 

คนที่มีคุณสมบัตินี้คือทีมงานที่อยู่เคียงข้างบัณฑิต และพร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยให้ไม่น้อยหน้าใคร

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป