00

ให้แสงนำทางเราไป

ช่วงเรียนใกล้จบมัธยมต้น เราต้องเลือกว่าจะเรียนต่อมัธยมปลายสายไหน วิทย์​หรือศิลป์ ซึ่งมันจะพาชีวิตเราไปสู่ทางสายต่อไป 

ตอนนั้นเลือกไม่ได้ เพราะเห็นโลกน้อยมาก ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร 

ครูคนหนึ่งบอกเราว่า ให้จินตนาการว่าอยากเป็นเหมือน ‘แสงนีออน’ ในเมืองใหญ่ หรือ ‘แสงหิ่งห้อย’ น้อยๆ กลางป่า

นั่นคือ ให้คิดถึงคุณค่าของชีวิตที่เราอยากเป็น อยู่ คือ แล้วเราจะรู้ว่า ‘แสง’ นั้นจะนำพาชีวิตเราบินไปทางไหน

เจอคำนี้ของครู ทำให้เราเลือกได้เลยว่าเราต้องเรียนสายศิลป์ และเรียนต่อมัธยมปลายในโรงเรียนเล็กๆ โรงเรียนเดิม ในเมืองเล็กๆ ที่เรามีความสุขกับการได้เดินเล่นนับหมอนไม้เลียบทางรถไฟสายปากน้ำเก่า แวะบ้านเพื่อน เดินไปเรียนด้วยกัน มากกว่าต้องย้ายไปอยู่โรงเรียนดังๆ ใจกลางเมืองใหญ่ ซึ่งเราต้องฝ่าฟันการจราจรที่ติดขัดไปโรงเรียน หรือต้องไปอยู่หอโรงเรียนกับคนที่ไม่รู้จัก ไม่ได้กินกับข้าวที่แม่ทำทุกวัน 

01

เราจะเรียนไปทำไม ถ้าเราไม่มีการส่วนในการเปลี่ยนแปลง (การ) เมืองที่เราอยู่

ห้องเรียนแห่งแสง ที่สอนให้เด็กลุกขึ้นแก้ปัญหา(การ)เมืองที่กระทบตัวเองด้วยการคิดเอง ทำเอง, โรงเรียนทางเลือก

เราไปยุโรปครั้งแรกเพราะมีถ่ายงานเรื่องโรงเรียนอนุบาลในป่าที่ออสเตรีย

เรารู้จักอะไรในประเทศออสเตรียบ้าง สิ่งที่เราได้ยินมา นอกจากโรงเรียนอนุบาลในป่าแล้ว คือมีเมืองหลวงชื่อเวียนนา เป็นที่ถ่ายทำ Before Sunrise หนังเรื่องโปรดของเรา เป็นเมืองน่าอยู่อันดับต้นๆ ของโลก เพราะคนอยู่อาศัยมีความเป็นอยู่ที่ดี ค่าครองชีพ ระบบขนส่งสาธารณะ ราคาไม่แพง เป็นเมืองสีเขียว เลนจักรยานใหญ่พอๆ กับถนนให้รถวิ่ง และมีการศึกษาทั้งในระบบและทางเลือกที่เอื้อต่อการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลาย 

ห้องเรียนแห่งแสง ที่สอนให้เด็กลุกขึ้นแก้ปัญหา(การ)เมืองที่กระทบตัวเองด้วยการคิดเอง ทำเอง, โรงเรียนทางเลือก

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ไม่ได้ไปถึงเมืองหลวงของออสเตรีย เพราะแค่เดินทางมาถึงกราซ (Graz) เมืองเล็กๆ เราก็ได้เห็นภาพใหญ่แล้วว่าเมืองนี้เขาจัดการศึกษากันอย่างไร ทำไมจึงน่าอยู่และมีการเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบทุกมุมเมือง 

ครอบครัวน้องสาวเพื่อนมารอรับเราที่สถานีรถบัสในเมือง เธอมีลูกชาย 3 คน แต่ไม่ต้องมีรถเป็นของตัวเอง รถที่ขับมาวันนั้นเป็นรถเพื่อนบ้านที่จะคอยเวียนกันส่งลูกๆ ของแต่ละคนไปโรงเรียน ทำให้เราได้รู้จักแอนดี้ เจ้าของรถ ที่เพื่อนเราบอกว่า เป็นครูในโรงเรียนมัธยมของรัฐที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะมีห้องเรียนที่เราแอบมาตั้งชื่อให้เองว่า ‘ห้องเรียนแห่งแสง’

ไม่กี่วันต่อมา เราก็ได้ไปเยือนโรงเรียน BG/BRG UND MUSIKGYMNASIUM DREIHACKENGASSE และห้องเรียนของแอนดี้ เขาส่งแอปฯ แผนที่เส้นทางจักรยานให้เราปั่นไปโรงเรียน เลนจักรยานใหญ่เท่าๆ กับถนน เป็นเรื่องที่ไม่ได้ถีบด้วยตีนตัวเองไม่อยากจะเชื่อสายตาจริงๆ 

สาระของวิชาในห้องเรียนของเขาอยู่ที่การให้นักเรียนออกไปนอกห้องเรียน ค้นหา ‘ศักยภาพ’ และ ‘ปัญหา’ ของเมืองที่ตัวเองอยู่ 

แน่นอนว่าเมืองที่เราอยู่มีทั้งสองอย่าง เราจะไม่มองหาแต่ปัญหา โดยที่ไม่ได้มองเห็นศักยภาพ

ปัญหาที่เด็กๆ เลือกนำมาศึกษา คือเรื่องที่ห้องสมุดสาธารณะในเมืองของพวกเขาปิดในวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งทำให้พวกเขาไม่มีที่ไปในวันหยุด และเวลาปิดของห้องสมุดก็เร็วเกินไป ทำให้เลิกเรียนแล้วไม่มีที่ไปค้นคว้าหาหนังสือและทำการบ้าน

เราจึงถามเด็กๆ ว่า “ถามจริงเหอะ สมัยนี้แล้วเด็กๆ ยังไปค้นคว้าหาความรู้และทำการบ้านกันในห้องสมุดจริงๆ หรือ” 

พวกเขาตอบว่า ห้องสมุดบ้านเขามีหนังสือดีๆ ที่น่าสนใจมากมาย ทันสมัยเหมือนในร้านหนังสือ และเพราะคนในเมืองแนะนำหนังสือที่พวกเขาอยากอ่านให้บรรณารักษ์จัดหามาให้ได้ และยังมีพื้นที่สบายๆ ให้นั่งๆ นอนๆ เล่น ทำกิจกรรมร่วมกัน ดีกว่าไปเดินห้างฯ หรือไปที่อื่นตั้งมากมาย 

ฉะนั้น เมื่อเด็กๆ ค้นพบปัญหาต่างๆ ในเมืองที่กระทบต่อตัวเองแล้ว เรื่องต่อไปคือต้องหาวิธีการแก้ไข 

“ถ้าเราเห็นปัญหาแล้วไม่แก้ไข ก็เท่ากับเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานั้น” 

ปัญหาเวลาการเปิด-ปิด ห้องสมุดนี้จะแก้ไขอย่างไรดี เด็กๆ ต้องเป็นคนหาทางแก้ไขของพวกเขาเอง 

ตอนแรกเด็กๆ เลือกไปคุยกับบรรณารักษ์ห้องสมุดก่อน ซึ่งบรรณารักษ์บอกว่า ถ้าเสียงความต้องการนี้ส่งไปถึงผู้มีส่วนกำหนดนโยบายและสาธารณชนคนในเมือง แล้วเกิดการหันหน้าเข้ามาคุยกัน ก็มีความเป็นไปได้ที่เราจะเปลี่ยนนโยบายเปิดห้องสมุดในวันหยุด เด็กๆ จึงมีความหวังและเห็นแสงสว่าง 

เมื่อเห็นแสงส่องทางให้เดิน เด็กๆ จึงเริ่มหาเสียง ทำแคมเปญรณรงค์ ล่ารายชื่อจากคนในเมือง บอกให้พวกเขาทราบปัญหา ความต้องการ ความหวัง พวกเขาเขียนจดหมาย เขียนบทความไปถึงสื่อในเมือง เพื่อสื่อสารเรื่องนี้ในวงกว้าง กระบวนการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็ก ต้องใช้เวลา และไม่ใช่ว่าจะสำเร็จในคราวเดียว เด็กๆ บอกว่าใช้เวลาทั้งปีการศึกษาทีเดียว

ห้องเรียนแห่งแสง ที่สอนให้เด็กลุกขึ้นแก้ปัญหา(การ)เมืองที่กระทบตัวเองด้วยการคิดเอง ทำเอง, โรงเรียนทางเลือก

เด็กคนหนึ่งเล่าให้เราฟังว่า การก้าวออกจากห้องเรียนไปคุยกับผู้ใหญ่ สื่อ และออกไปสู่พื้นที่สาธารณะ เพื่อส่งเสียงให้คนอื่นได้ยิน เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความกล้าหาญมากมาย ก้าวแรกที่กล้าก้าวออกไปมีแต่ความรู้สึกกลัว แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาไม่ล้มเลิกโครงการนี้ไม่ใช่เพื่อเกรด เป็นเพราะพวกเขาเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงและเติบโตจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราออกจากพื้นที่สบายกันบ้าง ซึ่งพื้นที่ที่พวกเขาออกไปเรียกร้องนั้นไม่ใช่พื้นที่อันตราย และต้องหาคนที่ใช่คุยด้วย 

เมื่อเสียงของพวกเขาเริ่มดัง เด็กๆ จึงเดินเข้าไปหาผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อพูดคุยกัน ขั้นตอนนี้ยากที่สุดตรงที่พวกเขาไม่พบคนที่ใช่ (The Right Person) ผู้มีอำนาจในการกำกับการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ สักที เมื่อไม่ได้พบคนคนนั้น การเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นได้ยาก

แต่ในที่สุด เมื่อเสียงของพวกเขาดังพอ และดังไปถึงผู้มีอำนาจ การเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นจากการได้นั่งคุยกันจริงๆ 

เด็กๆ ได้มีโอกาสนั่งคุยกับผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ฟังกันและกัน 

เมืองกราซจึงมีการเปลี่ยนนโยบายให้ห้องสมุดเปิดในวันหยุด หยุดวันจันทร์ และยืดเวลาเปิดห้องสมุดในช่วงเย็นให้เด็กๆ มีเวลาไปใช้หลังเลิกเรียน 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างโปรเจกต์เดียวที่เด็กๆ ระดับมัธยมมีส่วนในการเปลี่ยนแปลง 

ยังมีอีกหลายโครงการในห้องเรียนของพวกเขาที่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลง (การ) เมืองที่พวกเขาอยู่ให้ดีขึ้น 

และเด็กๆ กลุ่มเปิดห้องสมุดนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) เด็กนักเรียนชาวสวีเดนที่ออกมาเรียกร้องเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ

02

เมืองสีเขียว ขยะเป็นศูนย์ มีพื้นที่ให้สัตว์เลี้ยงได้วิ่งเล่นกว้างๆ 

ยังมีอีกหลายโครงการที่เด็กๆ มัธยมโรงเรียนนี้ทำ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพื้นที่ปลูกผักในพื้นที่ว่างเปล่าในเมือง การเพิ่มพื้นที่วิ่งเล่นให้สัตว์เลี้ยงในสวนสาธารณะ การจัดพื้นที่แสดงนิทรรศการศิลปะในพื้นที่สาธารณะใจกลางเมือง 

เช้าวันหนึ่ง ครอบครัวเพื่อนที่เราไปอยู่ด้วยที่นั่นบอกให้เราเอาเศษอาหารที่เหลือจากการทำผัดไทยให้พวกเขากินไปใส่ในถังสีเขียวหน้าบ้าน เป็นถังขยะใหญ่ๆ แบบที่เมืองจัดให้เหมือนบ้านเรา แต่ถังขยะมีสีต่างกัน และมีชื่อเจ้าของบ้านนั้นติดอยู่ด้วย 

เพื่อนเราบอกว่า ให้เปิดถังสีน้ำตาลนะ ถังนั้นเขียนว่า BIOABFALL และมีแต่เศษอาหาร เราขยับไปสำรวจถังขยะสีอื่นๆ ของบ้านเพื่อน ก็เป็นขยะพวกที่นำกลับมาใช้ไม่ได้แล้ว ซึ่งเทศบาลจะมาเก็บไปเตาเผาไฟแรงสูงนอกเมือง แล้วส่งพลังงานจากการเผาสู่ท่อหมุนเวียนกลับมาใช้ในครัวเรือน กับพวกเครื่องทำน้ำอุ่น ส่วนขยะที่นำกลับมาใช้ได้ พวกเขาเก็บแยกประเภทไว้ในบ้าน แล้วนำออกมาทิ้งยังจุดทิ้งขยะที่นำกลับมาใช้ได้ซึ่งมีอยู่หลายมุมเมือง

เราอึ้งมากกับเจ้าถังสีน้ำตาลสำหรับทิ้งเศษอาหารในครัวเรือน ที่รถเทศบาลจะมาเก็บเฉพาะถังนี้ แล้วเอาไปหมักไว้ พอเศษอาหารย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย ชาวเมืองก็ไปซื้อหาปุ๋ยหมักนี้ได้ในราคาย่อมเยา เพื่อมาทำสวนในครัวเรือนของพวกเขา 

ระบบนี้ซับซ้อนตรงไหน ที่จะนำมาใช้ในบ้านในเมืองเราบ้าง

เด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งต้องการสร้างพื้นที่อาหารปลอดภัยที่พวกเขารู้ที่มาของอาหาร จึงค้นหาพื้นที่ว่างเปล่ารกร้างในเมือง และขออนุญาตใช้พื้นที่ตรงนั้นสร้างสวนผักของเมือง ชวนเพื่อนบ้านในย่านนั้นมาช่วยกันสร้างแปลงผัก และไปขอปุ๋ยหมัก ดินหมัก จากกองที่เทศบาลเมืองหมักขยะเศษอาหารในเมือง 

การรวบรวมเพื่อนบ้านย่านนั้น การไปพูดคุยขอใช้พื้นที่ว่างเปล่ารกร้างเป็นสวนผักคนเมือง เด็กกลุ่มนี้ก็ต้องใช้กระบวนการเดียวกัน คือส่งเสียงให้ผู้มีอำนาจอนุญาตเปลี่ยนแปลงนโยบายเหล่านี้ได้ 

03

ดอกไม้กำลังจะผลิบาน

ห้องเรียนแห่งแสง ที่สอนให้เด็กลุกขึ้นแก้ปัญหา(การ)เมืองที่กระทบตัวเองด้วยการคิดเอง ทำเอง, โรงเรียนทางเลือก

ฤดูใบไม้ผลิกำลังเบ่งบาน 

อุณหภูมิของแสงเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เพียงไม่กี่วันที่เราได้อยู่ในเมืองนั้น ลำแสงอุ่นๆ ของห้องเรียนต่างๆ ในเมืองนี้ที่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แต่ในห้องเรียน ในสถาบันการศึกษา หากแต่ว่าอยู่ใน ‘วิถีชีวิต’ ของผู้คน ทำให้เรารู้สึกมีความหวัง และมีพลังที่จะกลับบ้าน 

แสงแห่งความหวังกำลังเปลี่ยนอุณหภูมิ เริ่มจากห้องเรียนที่ให้โอกาสเด็กๆ ก้าวออกจากห้องเรียนเพื่อค้นหาศักยภาพและปัญหาของเมือง แล้วกลับมาในห้องเรียนเพื่อค้นหาศักยภาพของตัวเองกลับไปแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง โดยมีผู้ใหญ่คอยรับฟัง 

ในตอนหน้าเรายังอยู่ที่เมืองกราซเพื่อส่งต่อเรื่องราวของหลากหลายห้องเรียนแห่งแสงในเมืองนี้ เพราะกราซยังมีห้องเรียนดนตรีที่ฝังรากของการฟัง ให้เด็กๆ ตัวเล็กตัวน้อยที่ได้เรียนรู้จักการฟังเสียงของตัวเองและเสียงของคนอื่นตั้งแต่ยังเยาว์วัย ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่และผู้นำที่รู้จักการฟัง

ห้องเรียนมัธยมของรัฐ และระบบการศึกษาที่เอื้อโอกาสให้เด็กวัยรุ่นมัธยมได้ทดลองผ่านประสบการณ์การทำสิ่งที่พวกเขาใฝ่ฝันว่า จริงๆ แล้วมันใช่สิ่งแบบในจินตนาการของพวกเขาหรือเปล่า โดยไม่ต้องรอให้จบมหาวิทยาลัยซะก่อนถึงจะได้ทำงานมีประสบการณ์จริง

ห้องเรียนของผู้คนที่แตกต่างหลากหลายในพื้นที่สาธารณะ สระว่ายน้ำ เก้าอี้นั่ง ที่ไม่ได้โดนยึดเป็นของสาธารณะรัฐ แต่เป็นของผู้คนที่ได้ออกมาจัดเทศกาลของพวกเขา ทำให้เมืองเป็นพื้นที่ร่ำรวยทางวัฒนธรรม เยียวยาบาดแผลทางประวัติศาสตร์ 

เราเขียนบทความนี้ด้วยความหวัง ในคืนที่อุณหภูมิทางการเมืองของบ้านเรากำลังคุกรุ่น ถึงร้อนแรง 

สิ่งแรกที่เราฝันว่าอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือการศึกษา เราดีใจอย่างเปิดเผยได้เลยว่า มันถึงเวลาแล้วล่ะที่นักเรียนนักศึกษาของเราต้องออกจากห้องเรียน จากสถาบันการศึกษา เพราะเรามีระบบการศึกษาที่ดีไม่ได้สักที เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้กันไม่ได้สักที การศึกษาที่ดีควรสอนให้เรารู้จักตั้งคำถามไม่ใช่หรือ 

ทำไมเรียนไปตั้งมากมาย เรายังไม่รู้ว่าเราอยากเป็นอะไร 

ทำไมเรียนจบปริญญาหลายใบ แล้วยังกลัวการตกงาน 

นั่นแปลว่าการศึกษาในเสาหลักของเราล้มเหลวใช่หรือไม่ 

ปัญหาที่แท้จริงของบ้านเมืองอยู่ตรงไหน 

และศักยภาพที่แท้จริงของบ้านเมืองเราอยู่ที่ไหน 

ห้องเรียนแห่งแสงของนักศึกษาในสถานการณ์บ้านเมืองเราช่วงนี้ อาจจะอยู่ที่การออกมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะพวกเขาได้เรียนรู้มามากพอแล้วว่า ปัญหาของบ้านเมืองเราอาจจะอยู่ที่ #ถ้าการเมืองดี การศึกษาจะดี คุณภาพชีวิตจะดียิ่งกว่า และ “ถ้าเราเห็นปัญหาแล้วไม่ลงมือแก้ไข เราก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา”

ห้องเรียนแห่งแสง ที่สอนให้เด็กลุกขึ้นแก้ปัญหา(การ)เมืองที่กระทบตัวเองด้วยการคิดเอง ทำเอง, โรงเรียนทางเลือก

ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกษาทางเลือกรอบโลกเพิ่มเติมในรายการ ‘บินสิ!’ ได้ทางทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS

Writer & Photographer

Avatar

เสาวนีย์ สังขาระ

Film Maker, Farmer, Facilitator ผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีอิสระ บินสิ! โปรดักส์ชั่นเฮาส์ และรายการบินสิ! ผู้ก่อตั้งและอำนวยการเรียนการสอน ที่สวนศิลป์บินสิ Films Farm School