11 ธันวาคม 2019
49 K

ร้องนำ | ทิพาพร บุญเจริญ, กุ่ย (81 ปี)

กลอง | กิตติพงศ์ โชชัย, เปี๊ยก (73 ปี)

กีต้าร์โซโล่ | ไตรภพ สวันตรัจฉ์, ต่อ (71 ปี)

กีต้าร์ | เชษฐ วงศ์สิทธิโชค, ป๊อด (67 ปี)

คีย์บอร์ด | เทิดพล ใคร้วานิช, เบิ้ม (66 ปี)

เบส | ธนาธิป รัตนัย, ตุ้ม (66 ปี) และ

แบนโจ | ประสาท ประเทศรัตน์, สารท (64 ปี)

488 ไม่ใช่เลขสามตัวหน้า สามตัวท้ายบนลอตเตอรี่รางวัลงวดก่อนหรืองวดถัดไป

แต่เป็นผลรวมอายุของสมาชิก 7 คน ในวงดนตรีหน้าใหม่อย่าง BENNETTY วงดนตรีที่ไม่ปล่อยความฝันตายไปกับความแก่ จากสังกัด Choojai Record กลับมาพร้อมเพลง ‘วันที่อาจจะหายไป’ ซิงเกิ้ลหมายเลข 2 ที่ชวนลูกหลานและคนใกล้ชิดฉุกคิดเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ การดูแลโดยปล่อยให้เขาอยู่กับบ้าน นั่งเหงาบนเก้าอี้โยก เพราะเป็นห่วงความปลอยภัย กลัวเขาจะทำนู่น ทำนั่น ไม่ได้ เป็นการดูแลที่ถูกต้องและดีที่สุดแล้วหรือเปล่า

‘ปล่อยใจฉัน ออกไปตามฝัน อยากปะทะดวงตะวัน มันจะร้อนแรงสักเท่าไหร่’

เนื้อเพลงท่อนนี้แค่เราฟังยังฮึกเหิม อยากสะบัดไม้เท้าช่วยเดินให้พ้นทาง แล้วออกไปเจอโลกกว้าง บางทีการกล้าปล่อยให้เขาได้ออกไปใช้ชีวิตของตัวเองบ้าง อาจจะเป็นการดูแลที่ดีที่สุดก็ได้ หน้าที่หลักของเรากลับเป็นการสนับสนุนการทำตามความฝัน คอยเฝ้าดูวันที่เขาได้ทำในสิ่งที่ชอบ เหมือนกับที่เขาเฝ้าดูเราตอนเป็นเด็ก

เพลงดี ความหมายโดน เอาใจสาย Alternative Pop ได้ เจ-เจตมนต์ มละโยธา มาเป็นโปรดิวเซอร์ ครั้งนี้ The Cloud เลยชวนศิลปินที่สมาชิกอายุรวมกันเกือบ 500 ปี มาล้อมวงสนทนาเรื่องราวความฝัน ดนตรีทำให้หัวใจของคนสูงวัยพองโตขึ้นอีกครั้งได้ยังไง ขอบอกเลยว่าแพสชันของคนสูงวัยช่างแรงกล้าจนเด็กรุ่นใหม่อย่างเราไม่อาจต้านทาน แต่ยกมือสนับสนุนให้คนทางบ้านกล้าลุกจากเก้าอี้โยกแสนน่าเบื่อ ลุกจากเตียงนอนอันหมองเศร้า ขอให้เชื่อและพิสูจน์ไปด้วยกันว่า อายุไม่ใช่ข้อจำกัดของการทำตามความฝัน ‘หากฉันยังไม่กลัว แล้วเธอจะกลัวอะไร’

จงอย่าหมดหวัง ลุกขึ้นมาปลดปล่อยหมอกควันขมุกขมัวออกจากหัวใจไปพร้อมกับพวกเขา

คุณอาบางท่านไม่ได้จับเครื่องดนตรีมา 10 20 ปี ทำไมถึงกลับมาเล่นอีกครั้งคะ

อาตุ้ม : หลังเรียนจบมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผมขายเครื่องดนตรีหมดเลยนะ กีต้าร์ เบส แอมป์ เพราะคิดว่าจะทำงานแล้ว ไม่มาสายนี้หรอก เราเล่นเพราะเราชอบ เรารัก ตั้งแต่นั้นผมก็ไม่ได้จับเครื่องดนตรีอีกเลย จนกระทั่งสิบกว่าปีก่อน นึกยังไงไม่รู้ไปซื้อกีต้าร์โปร่งมาตัว ซื้อแผ่นซีดี ซื้อหนังสือสอนมารื้อฟื้นความจำ ทั้งหนังสือของอาจารย์ปราชญ์ อรุณรังษี นิตยสาร The Guitar Mag เพราะสมัยก่อนเราเล่นแบบครูพักลักจำ เลยอยากรู้ว่ามันเป็นมายังไง โน้ต จังหวะ คอร์ด สเกลเป็นแบบไหน ผมศึกษาด้วยตัวเองจนเกิดเป็นแรงบันดาลใจ อยากกลับมาเล่นอีก เพราะเรามีพลังอยากจะเรียน อยากเอาชนะตัวเองว่าเราสามารถทำได้ ช่วงนั้นผมเข้าไปเล่นในเว็บไซต์ Siambass.com ผมใช้ยูสเซอร์เนมว่า ‘ลุงเบส’ ผมได้ความรู้จากตรงนั้นเยอะ เพราะเป็นสังคมคนเล่นดนตรี เรามีเรื่องเก่าเล่าให้ลูกหลานในเว็บบอร์ดฟัง เขาก็ชอบ ตั้งแต่ตอนนั้นก็กลับมาเล่นดนตรีอีกครั้ง

อาต่อ : ตั้งแต่ผมมาทำงานห้องบันทึกเสียง ก็ไม่ได้เล่นดนตรีอีกเลย จนก่อนจะเข้า BENNETTY ผมกลับมาเล่นกีต้าร์ อยู่บ้านก็จับกีต้าร์เล่น ซ้อมอยู่คนเดียว เมื่อก่อนกว่าผมจะเล่นได้ต้องหาความรู้ ค้นคว้าด้วยตัวเอง ด้วยประสบการณ์หรือเข้าหาคนเก่ง แต่ปัจจุบันไม่ต้องแล้ว ผมหาดูได้ในอินเทอร์เน็ต สมัยนั้นเวลาเห็นคอมพิวเตอร์ ผมจะรู้สึกกลัว ไม่กล้าจับ กลัวจะเสีย ตอนหลังที่ผมมาทำงานห้องบันทึกเสียง ต้องใช้คอมพิวเตอร์เยอะ ใช้จนเรียกว่าสิ่งที่เราไม่เคยรู้ เราก็เข้าไปเรียนรู้กับมันได้ ทุกวันนี้ผมก็ฝึกเพลงตามยูทูบด้วยเหมือนกันนะ

อาป๊อด : ผมเคยเล่นดนตรีเป็นอาชีพ แต่ตอนหลังไม่สนุกแล้ว ความเป็นศิลปินเราเริ่มหายไป เรารักดนตรี เราอยากเล่นให้มันดี แต่กลายเป็นการทำงาน จนกระทั่งมันสุดของสุดแล้ว ผมเลิกเล่นดนตรี ออกไปทำงานเผยแพร่ศาสนา (อาป๊อดเป็นมุสลิม) กีต้าร์ผม 3 ตัว ขายหมดเลย ไม่เล่นแล้ว พอกันทีดนตรี ผมทำงานศาสนาอย่างเดียวอยู่สิบกว่าปี ผมเพิ่งกลับมาเล่นดนตรีปีที่แล้วเอง พรรคพวกที่เคยเล่นดนตรีไปเจอผมในเฟซบุ๊ก ใส่หมวกใส่ชุดทำงานศาสนาเครายาวคืบหนึ่ง เขาโทรมาก็เลยนัดเจอกัน เหมือนมันปลุกอารมณ์นักดนตรีที่อยู่กับเราเป็นสิบปียี่สิบปี แล้วแฟนผมเขาเป็นแรงสนับสนุนให้ผมกลับมาเล่น มันมีแรงกระตุ้นหลายอย่าง ทั้งพรรคพวกผม แฟนผม แล้วก็ตัวผมเอง ตอนกลับมาจับกีต้าร์ใหม่ๆ เหมือนคนเล่นไม่เป็น ใช้เวลาหนึ่งเดือนถึงจะฟื้นกลับมาได้ 

บางครั้งถ้าเราไม่ไหว ก็ต้องยอมรับว่าไม่ไหว แต่ถ้าเรายังไหว ก็เอาเลย ผมคิดว่าดนตรีไม่ได้หายไปไหน มันยังอยู่กับผม ผมเลยอยากกลับไปเล่นอีกครั้งหนึ่งกับคนที่เรารัก กับเพื่อน กับเพลงที่เราชอบ

อากุ่ยก็เพิ่งหัดร้องเพลงภาษาไทยได้ไม่นานใช่หรือเปล่าคะ

อากุ่ย : ส่วนมากร้องเพลงจีนมากกว่านะ เพลงไทยเพิ่งมาร้อง ตอนแรกร้องใช้ไม่ได้เลย (หัวเราะ) เหมือนคนจีนร้องเพลงไทย เราก็ไม่เป็นไร ฝึกใหม่ ทำยังไงเราถึงจะร้องได้ ก็พยายามฟัง ฟังแล้วฝึกร้อง ฟังไปก็ฮัมเพลงไปเรื่อย ใช้ความพยายามอย่างมาก เราจะร้องเพลงใดเพลงหนึ่งให้มันดีเท่าจะดีได้ จนเพื่อนบอกใช้ได้แล้วค่อยเปลี่ยนเพลง เพราะการที่เราร้องเพลงเยอะ แล้วไม่ดีสักเพลงมันไม่มีประโยชน์

เราหัดร้องจนไปเจอเพื่อน เขาเป็นลูกศิษย์สุนทราภรณ์ เขาบอกว่า ‘พี่จะร้องเพลง พี่ต้องรู้ว่าเพลงนั้นมายังไง ต้องเอาเพลงเข้ามาอยู่ในอารมณ์ของเรา ถ้ามีอารมณ์เพลง เพลงทุกเพลงร้องออกมาเพราะหมด’ เราเลยพยายามทำตามคำแนะนำ เพลงเศร้าเราก็ต้องทำเศร้าหน่อย อันไหนคิดถึงก็ต้องคิดถึง ช้ำก็ต้องช้ำ พอจับจุดนี้ได้ก็พยายามอยู่ตลอด กว่าจะได้มาถึงวันนี้ก็ใช้เวลาเป็นปีเหมือนกันนะ

แล้วคุณอาหลงเสน่ห์อะไรในเครื่องดนตรีคู่กายของตัวเองคะ

อาตุ้ม : กีต้าร์มีหกสาย ผมจับคอร์ดแล้วเจ็บนิ้วมากเลย คอร์ดก็เยอะ จำไม่ไหว แต่เบสมีสี่สาย ดีดแค่โน้ตตัวเดียว เลยฝึกเบสควบคู่ไปกับกีต้าร์ แล้วผมชอบฟังเสียงเบส มันมีเสน่ห์ ช่วยให้เพลงครบองค์ประกอบ บางทีไม่ได้ดีดดุ่มๆ อย่างเดียว แต่จะมีไลน์เบส มีความไพเราะของเสียงทุ้ม ผมรู้สึกว่าเล่นเบสแล้วเท่นะ สาวชอบ เล่นกีต้าร์ธรรมดาไปหน่อย ตอนเรียนสาวธรรมศาสตร์ชอบมาดู บางทีผมเล่นเพลินจนสาวกลับบ้าน มัวแต่เล่นดนตรีไม่สนใจเขา เขาเลยกลับดีกว่า ผมก็เพิ่งมารู้สึกผิดทีหลังเหมือนกัน

อาสารท : ชอบลักษณะร่าเริงของแบนโจ เข้ากับอุปนิสัยของคนเหนือ ให้ความรู้สึกเป็นกันเองดีครับ

อาเปี๊ยก : ตีกลองมันสะใจครับ (หัวเราะ) ผมครูพักลักจำฝึกฝนด้วยตัวเองหมดเลยนะ

อาป๊อด : ผมชอบทุกอย่างของมัน ตอนเด็กเวลานอนผมจะแอบเอากีต้าร์เข้าไปในมุ้งด้วย เอาผ้าห่มคลุมไว้ แล้วยัดผ้าเข้าไปในรูของกีต้าร์ไม่ให้มีเสียงดังลอดออกมา ช่วงที่คนทั้งบ้านหลับหมดแล้ว ผมเอาหูแนบกับกีต้าร์ เพื่อจะฟังเสียงของมัน เพื่อจะเล่นมัน ผมทำแบบนั้นยันเช้า สิ่งที่ผมเล่นออกมาไม่มีใครทำได้ คำถามจากคนรอบข้างคือ ‘มึงดีดได้ยังไงไอ้ป๊อด’ ผมบอกว่าไม่รู้เหมือนกัน ผมอยู่กับมันมากมายจนเหมือนคนบ้า ผมเล่นกีต้าร์ทั้งวันทั้งคืน เล่นจนนิ้วนางข้างซ้ายเป็นรองช้ำ ต้องเข้าผ่าตัด พอผ่าตัดเสร็จเขาเอาผ้าครอบไว้ ผมก็ยังเล่น มีแค่สองนิ้วผมก็เล่น

คุณอาเข้ามาเป็นหนึ่งในศิลปินของ BENNETTY ต้องทำการบ้านหนักมั้ยคะ

อากุ่ย : เท่าที่ร้องเพลงมาทั้งชีวิต ยากแค่ไหนพี่ร้องได้หมด พอมาเจอเพลงนี้ พี่ถอยแล้วนะ แต่ครูเจ (เจตมนต์ มละโยธา) บอกว่าร้องได้สิครับ ทำไมจะไม่ได้ ครูให้กำลังใจ ทุกคนให้กำลังใจ เราต้องสู้ ไม่อยากให้ทีมงานเสียใจ เราเลยทุ่มสุดตัว หาโอกาสให้ครูสอนร้องเพลงติวให้อีกที ให้ร้องกระชับกับเสียงดนตรี เพราะถ้ามีเมโลดี้เราร้องได้ พอไม่มีเราต้องฟังจังหวะ ส่วนลูกเขาก็สนับสนุนมากนะ คนโตทำคาราโอเกะให้ หาทางเอาเพลง ‘วันที่อาจจะหายไป’ ไปใส่เป็นคาราโอเกะ อีกคนซื้อลำโพงใหม่ให้เลย เพราะเราชอบเปิดเพลงในยูทูบแล้วต่อออกลำโพง มีไมค์ด้วยนะคะ 2 ตัว

อาตุ้ม : เราพยายามเล่นให้เหมือนต้นฉบับมากที่สุด ตอนไปอัดเสียงจริงพี่เจตัดออกบ้าง เพิ่มบ้าง ลดบ้าง เวลาซ้อมเรารับผิดชอบในส่วนของเรา เราฟังมายังไงก็เล่นไปอย่างนั้น ตำแหน่งเราเป็นแค่ริทึม ให้จังหวะไปพร้อมกับกลอง ส่วนกีต้าร์จะเป็นริทึมอีกภาคหนึ่ง แต่ริทึมหลักคือกลองกับเบส เป็นกระดูกสันหลังของเพลง หน้าที่สำคัญเราต้องทำให้ดีที่สุด

อาเบิ้ม : สำหรับผมไม่ยากเกินไปนะ เพราะผมค้นคว้า เป็นนักดนตรีต้องเรียนรู้ตลอด ผมไม่มีคำว่าเก่ง ถ้าเมื่อไหร่คุณคิดว่าคุณเก่ง คุณจะหยุดทันที ฉะนั้นคุณต้องซ้อม ผมซ้อมอยู่ทุกวันนะ สิบนาที ยี่สิบนาที

เมื่อต้องมารวมเป็น BENNETTY คุณอาใส่ความเป็นตัวเองผ่านเสียงดนตรียังไงบ้างคะ

อาตุ้ม : เอกลักษณ์ของผม ผมใช้เบสรุ่นเก่าในการอัดเสียง เป็นเบสยุค 50 เสียงไม่เหมือนเบสในวงดนตรีสมัยใหม่ เสียงออกเก่านิดๆ ป้ากุ่ยร้องช้า เป็นบรรยากาศนุ่มนวล พอเราใส่ตรงนี้ไปก็เข้ากันได้ดีกับเพลง ไม่ได้สมัยใหม่จ๋า ตัวเราก็เล่นเต็มที่อยู่แล้ว มีร้อย เราเต็มร้อย เราไม่อยากให้ใครผิดหวัง เขาเลือกเรามาแล้ว 

อาต่อ : ใส่สำเนียงการเล่นแบบของผม แต่โน้ตเป็นแบบของ BENNETTY โน้ตตัวเดียวกัน ผมใช้วิธีดีดไม่เหมือนกัน ผมยกตัวอย่าง โน้ต Re ผมอาจกดตรงตำแหน่งสาย Do แต่สั่นสายขึ้นไปให้เป็นเสียง Re ครับ

คุณอาคิดว่าเพลง ‘วันที่อาจจะหายไป’ กำลังสื่อสารอะไรกับผู้สูงอายุคะ

อาตุ้ม : เป็นเพลงให้กำลังใจคนสูงอายุ ถ้ายังมีแรงหรือสุขภาพยังไหว ก็ออกไปเจอโลกกว้าง ไม่ใช่นั่งจับเจ่าอยู่กับบ้าน คนที่กำลังหมดหวังเขาดูอาจจะช่วยเขาได้นะ คงไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อาจเปลี่ยนความคิดเขาได้ ไม่มากก็น้อย ถ้าเราเปลี่ยนความคิดคนสักห้าคน สิบคน ร้อยคน เป็นบุญกุศลนะ ถือว่าช่วยสังคมเท่าที่เราช่วยได้

ความจริงผมก็เป็นคนอยู่กับบ้าน เล่นกับหมา ไม่ชอบรถติด ตอนเขาคัดตัวยังคิดว่าอย่าได้เลย ไม่อยากไปทำอะไรเยอะแยะ แต่พอเขาเลือกเรา มันขี่หลังเสือแล้วลงไม่ได้ เราเริ่มปรับตัว จากเป็นคนไม่ค่อยสังคม กลับได้มารู้จักเพื่อนๆ พี่ๆ ได้คุย ได้เจอรุ่นหลาน เราคิดว่านักดนตรีทุกคนประทับใจนะ เพราะความห่วงใยของทีมงานที่เขาให้เรามันเกินกว่าที่เราคาดไว้

อาสารท : เนื้อหาเพลงดีนะ เหมือนเราละเว้ย พออายุมาก ลูกหลานเป็นห่วงไม่ให้ทำอะไร เรายิ่งเหมือนถูกพันธนาการ เราเรียกว่า ‘โซ่ตรวนของความห่วงใย’ เพื่อนเราก็เป็นกันเยอะ แต่เราโชคดีตรงได้ปลดปล่อยจากพันธนาการเวลาอยู่ในโลกของเสียงดนตรี

อาป๊อด : อย่าปล่อยตัวเองให้หมดอาลัยตายอยากกับชีวิต จงลุกขึ้นมา อย่าไปนั่งเหม่อมอง จงลุกขึ้นมาแล้วมองโลกให้มีสีสัน จะทำให้ชีวิตของเรายืนยาวและมีความสุขมากขึ้น อย่าปล่อยตัวเองให้จมกับคำว่าอายุเยอะ เราต้องหลีกหนีความคิดนี้ให้ได้ ถ้ายังลุกขึ้นยืนได้ เดินได้ ทำไมไม่สู้ล่ะ เพลงนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนสูงอายุที่ปล่อยตัว บางทีอาจดึงเขาขึ้นมาจากสิ่งที่จมอยู่เป็นระยะเวลานาน

‘อายุไม่ใช่ข้อจำกัดของการทำตามความฝัน’ จริงหรือเปล่าคะ

อาเปี๊ยก : บางทีอายุไม่เกี่ยวกับความฝันเลยนะ เห้ย กูทำได้แล้วว้อย อายุเจ็ดสิบเรายังตีกลอง หกสิบบางคนเกษียณอายุไปแล้ว ล้มหายตายจากก็มี ผมยังแข็งแรง ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับกำลังใจ 

(90 จะยังตีกลองอยู่มั้ยคะ) ถ้าไหวก็ยังตี แต่แปดสิบจะอยู่รอดหรือเปล่า (หัวเราะร่วน)

อากุ่ย : พี่ว่าจริง ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ ถ้าเราจะทำซะอย่าง

อาต่อ : ถ้าเราไม่รีบทำตอนนี้ก็ไม่รู้จะไปทำตอนไหน รอทำตามฝันเมื่อลุกจากเตียงไม่ได้แล้ว ไม่ดีมั้งครับ

อาป๊อด : ความฝันไม่มีอายุครับ ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับกำลังใจเรา สอง สภาพร่างกายเรา สาม ความคิด ถ้าคิดแต่ท้อแท้ ชีวิตจบแล้ว แสดงว่าเขาไม่มีแรงดลใจที่จะดึงเข้าออกมาจากตรงนั้น แรงดลใจบางคนอาจเป็นดนตรี บางคนอาจเล่นกีฬา บางคนอาจสังสรรค์กับเพื่อน อย่างผมเป็นนักดนตรี ก็กลับไปหาสังคมดนตรี มันขึ้นอยู่กับว่าตัวเขามีอะไรแล้วเขาต้องหาวิถีทางของตัวเองเพื่อเดินทางไปถึงความฝันนั้นให้ได้

‘ดนตรี’ ทำให้หัวใจของคนสูงวัยพองโตขึ้นยังไงบ้างคะ

อาสารท : ดนตรีเป็นการยกระดับจิตใจของคน เป็นหัวใจของผม ทีแรกเล่นดนตรีผมไม่ได้หวังเป็นนักดนตรีพ่อแม่ก็ห้าม เขาให้ไปสายอาชีพ เราก็เรียนจนจบทำงานในสายอาชีพแล้วไม่มีความสุข มันมีแวบนึงอยากทำสิ่งนี้ เราเลยเริ่มมาสายดนตรี เพราะว่าเราไม่ทิ้งมันอยู่แล้ว มันเป็นสิ่งเดียวในชีวิตที่นำทางให้เราไปเจอประสบการณ์ชีวิตทั้งหมด ผมเชื่อว่านักดนตรีถ้าได้อยู่กับเครื่องมือของเขาแล้ว เขาจะเป็นปีเตอร์แพนทันที เขาจะทำอะไรก็ได้ โลกจะสวยงามมาก เวลาผมเล่นจะมีคนบอกว่า ‘ลุงจับกีต้าร์แล้วหล่อทันทีเลย’

ยิ่งมีเพื่อน เรายิ่งกลับไปเป็นปีเตอร์แพน กลับไปโลกของความฝัน โลกของความสวยงามได้

อาเปี๊ยก: ผมอยู่ได้ด้วยการฟังเพลงเร้าใจ สนุกสนาน เพลงไหนเศร้าก็ไม่ค่อยชอบฟังเท่าไหร่หรอก แต่ชอบร้อง ‘pretend you’re happy when you’re blue it isn’t very hard to do’ (อาเปี๊ยกร้องเพลง Pretend – Nat King Cole) ผมมีความสุขทุกครั้งที่ได้เล่นดนตรี ใจมันรัก

อาเบิ้ม : ขึ้นชื่อว่าดนตรีมันดีอยู่แล้ว ดนตรีไม่มีวันจบ

อาต่อ : ดนตรีเป็นอาชีพเดียวที่เลี้ยงตัวเรามาตั้งแต่เด็ก ผมออกจากบ้านตั้งแต่เรียนจบม.6 ตะลุยเล่นดนตรีอย่างเดียว ไม่ทำอย่างอื่นเลย ดนตรีดูแลชีวิตเราได้ เพียงแต่เราต้องอย่าหยุดเท่านั้นเอง หยุดในที่นี้ต้องไม่หยุดซ้อมนะครับ ยิ่งถ้าได้เล่นให้คนนั่งฟัง เห็นคนยิ้มเวลาเราเล่น คนปรบมือ ผมจะมีความสุขมาก 

อาตุ้ม : จะว่าไปก็เป็นงานอดิเรกนะ เพราะเวลาว่างเราหยิบขึ้นมาเล่น เราอยากรู้ว่าเพลงนี้เบสมันเล่นยังไง เราก็แกะสิ เสียบหูฟัง เสียบแอมป์เข้าไป เปิดเพลง แล้วเล่นตาม ถูกผิดไม่รู้ เล่นจนกว่าจะใกล้เคียงที่สุด เวลาเพื่อนนัดไปซ้อมแล้วเพื่อนบอกว่าใช่ มันก็เหมือนความภูมิใจที่เราได้ทำอะไรสำเร็จ ดนตรีมันต้องสื่อถึงกันได้ ไม่ว่าจะเล่นกีต้าร์ เล่นเบส ใครสนใจอะไรก็จับตรงนั้นขึ้นมา ดนตรีทำให้ชีวิตเราไม่ขาดอะไรไป

เวลาเบื่อก็หยิบเบสมาแกะเพลง ใช้สมองแล้วไม่เป็นอัลไซเมอร์ เราไม่เปิดโน้ต ใช้การจำเอา การเล่นจำเรียกว่า By Heart เล่นด้วยหัวใจ คำนี้เป็นคำสมัยเก่าที่คนจะพูดกัน ส่วนทักษะมือและนิ้วเราฝึกทุกวัน ใครมีทักษะต้องฝึกฝน ศาสตร์บนโลกถ้ารู้อย่างเดียวแต่ไม่ฝึกฝนก็เป็นแค่ทฤษฎี

อาป๊อด : คุณอย่าลืมนะ ดนตรีเป็นยาบำบัดด้านจิตใจที่ดีมากอย่างหนึ่ง ผมตื่นมาบางทีหงอย เพราะเป็นเบาหวานด้วย ผมเอากีต้าร์มาดีดแป๊ปเดียวเท่านั้น กระฉับกระเฉงเลย ส่วนขาผมเป็นกระดูกทับเส้นประสาท เดินกระเผก ต้องกินยา นอนก็เจ็บ นั่งก็เจ็บ แต่พอขึ้นเวที ผมจำอะไรไม่ได้เลย ยืนปร๋อ ความเจ็บหายหมด แต่พอลงเวทีกระเผกเหมือนเดิม (หัวเราะ) ถึงบอกว่าเราได้พิสูจน์ด้วยตัวของเราเองแล้ว เลยพูดให้คนอื่นฟังได้ 

แล้วคุณอาส่งต่อความสุขจากเสียงดนตรีให้กับคนอื่นด้วยวิธีไหนบ้างคะ

อาต่อ : ถ้ามีโอกาสผมก็ไปสอนดนตรีแถวโรงเรียนข้างห้างแฟชั่นไอซ์แลนด์ครับ ตอนว่างก็แกะเพลงบรรเลงแนววง The Shadows อัดเสียงเก็บเอาไว้เป็นร้อยเพลง เอาไว้แจกเพื่อน แจกน้องให้เขาฟังบนรถ บนยูทูบมีแชแนลผมด้วยนะ 

อาเปี๊ยก : ผมได้เจอกับอาจารย์ใหญ่อดีตรองอธิการบดีราชภัฏจังหวัดอยุธยา แกชอบผมร้องเพลง เลยชวนผม ‘เปี๊ยก ไปเป็นครูสอนเด็กตีกลองมั้ย’ ผมเลยสอนมาตั้งแต่สมัยราชภัฏจนมาตั้งเป็นโรงเรียนนานาชาติ ผมตามมาสอนอีก รักกันอะครับ พอได้จ็อบพิเศษ ปัจจุบันก็ยังสอนอยู่ครับ เดี๋ยวต้องซ้อมหนัก พาเด็กไปเล่นวันงานคริสมาสต์ แล้วก็เปิดรับสอนคอร์สส่วนตัวด้วยครับ (สอนเด็กสนุกมั้ยคะ) ดีครับ ผมสอนแบบง่ายๆ ‘ตึก โป๊ะ ตึก ตึก โป๊ะ ตึก โป๊ะ ตึก ตึก โป๊ะ’ ให้เขาได้จังหวะก่อน หนึ่งสองสามสี่ หนึ่งสองสามสี่ ทำการบ้านเสร็จก็ตีสักครึ่งชั่วโมงนะลูก หัดรัวไม้ มือกลองต้องรัวกลองเป็น

อาเบิ้ม : ผมเล่นวงแจ๊สกับเด็กอายุ 20 เราก็กลายเป็นผู้มีความรู้ด้านดนตรี เป็นที่พึ่งให้เขาได้ ตอนหลังก็เป็นจิตอาสาสอนดนตรีผู้สูงอายุที่เมืองนนทบุรี ผู้สูงอายุเขาเล่นกีต้าร์ไม่ไหว ผมเลยสอนคีย์บอร์ด เปียโน สอนอยู่หกถึงเจ็ดปีได้ครับ

อากุ่ย : ช่วงหลังเกษียณพี่ไปเจอพยาบาล เขามาร้องเพลงที่สวนลุม เขามาชวนไปเป็นอาสา ตอนนั้นพี่ก็ไม่รู้ว่าอาสาเขาทำอะไรบ้าง ก็เข้าไปเป็นตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน พี่เป็นอาสาของสภากาชาดไทย ตอนหลังเขาก็มีดนตรี เพราะผอ. บอกว่าคนเราถ้าไม่ผ่อนคลายบ้างก็ไม่ได้ พี่ชอบร้องเพลง ก็เข้าไปร้องคาราโอเกะให้คนในสภากาชาดฟังด้วย 

ครอบครัวและลูกๆ สนับสนุนการ ‘ออกไปตามฝัน’ จน ‘อยากปะทะดวงตะวัน’ ยังไงบ้างคะ

อากุ่ย : ลูกสนับสนุนให้ร้องเพลง ลูกบอกว่าแม่ไปร้องเพลงก็เหมือนเป็นยาใจ ไม่ต้องไปหาหมอกินยา

ตอนนี้พี่อยู่คนเดียวนะ ปีนี้ 81 แล้ว พี่บอกลูกว่าแม่อยู่ได้ บ้านมีสามชั้นพี่ขึ้น-ลงเองสบายมาก พี่เป็นคนชอบออกกำลังกาย เกษียณใหม่ๆ ไปสวนลุมทุกวันเลย ไปออกกำลังกาย เล่นชี่กง ยุคแรกเขามีเพลงให้ร้อง เพลงก็เปิดจากแผ่นดิสก์ ยังไม่มีคาราโอเกะเลย พี่อาศัยร้องเพลงที่บ้านจนคล่องแล้วไปร้องกับเพื่อนที่สวนลุม บางครั้งลูกพาเราไปร้องคาราโอเกะตามโรงแรมบ้าง บางทีก็ไปดิโอลด์สยาม แล้วเขาจะนั่งฟังแม่ร้องเพลง (ยิ้ม) ลูกเขาก็ตามใจ ให้พี่ทำในสิ่งที่อยากทำ

อาต่อ : เขารู้ว่าผมอยู่กับกีต้าร์จะเล่นได้ทั้งวัน สนุกจนลืมวันลืมคืน เขาก็สนับสนุนทั้งแม่ ทั้งลูกครับ

ผมเองก็ออกไปรวมกลุ่มกับนักดนตรีสว. ทุกเดือนจะนัดมารวมตัวกันที่บิ๊กซี ลาดพร้าว วันก่อนมากันห้าสิบกว่าคนครับ มาทานข้าวกัน คุยกันบ้าง บางเดือนก็มาร้อยกว่าคน สองร้อยคนก็มี เป็นนักดนตรียุคเดียวกัน เขามีความคิดว่าทำยังไงให้กลุ่มมาเจอหน้าเจอตากันเดือนละครั้ง เขาพยายามประสานงานกัน ชวนกันมา ตอนหลังก็ใหญ่ขึ้น ครึ่งปีก็นัดกันจัดงานสังสรรค์ต่างจังหวัด ไปเล่นดนตรีสนุกกัน

อาป๊อด : ส่วนมากพอเข้าเลข 7 เราก็มองดูสภาพตัวเอง อยู่บ้านกับลูกหลาน แต่สมัยนี้ต้องยอมรับว่าสังคมเปลี่ยนไป ลูกหลานเราตื่นเช้ามาก็ไปกันหมดแล้ว เหมือนโดนปล่อยทิ้งไว้คนเดียว มีข้าวตั้งอยู่บนโต๊ะ กินข้าวเสร็จไม่รู้จะทำอะไร ก็นอน ก็นั่งเก้าอี้โยก วันเสาร์ วันอาทิตย์ไม่ต้องคุยเลย เราหวังว่าลูกหลานจะอยู่บ้าน ไปกันใหญ่เลยทีนี้ จากวันเป็นดือน จากเดือนเป็นปี หลายปีจบ ชีวิตมันไม่มีอะไรแล้ว 

แต่ BENNETTY และแฟนผมก็มีส่วนทำให้ผมกลับมาคึกคักขึ้น มีชีวิตชีวา ดนตรีมีส่วนมากเลยครับ 

มีคำแนะนำให้เพื่อนสูงอายุที่กำลังคิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่าและรู้สึกว่าทุกวันเป็น ‘วันที่อาจจะหายไป’ มั้ยคะ

อาต่อ : ออกมาเลยครับ ออกมาเล่นดนตรีด้วยกัน ออกมาร้องเพลงด้วยกัน ออกมาเรียนรู้ด้วยกัน ถ้าผมมีโอกาสเจอผู้สูงอายุที่ไหน ผมพยายามแนะนำเขา ทำอะไรก็ได้เพื่อให้ตัวเองสดชื่น เช่น ร้องเพลง เล่นดนตรี ออกกำลังกาย ออกไปพบผู้คน ออกไปเจอโลก แล้วเราจะรู้สึกว่ามันมีอะไรดีกว่าที่เราคิด แต่สำคัญอยู่ตรงหัวใจมากกว่า อย่าให้หัวใจห่อเหี่ยว ดนตรีช่วยได้ หัวใจแข็งแรงเดี๋ยวอย่างอื่นดีตามเอง 

อากุ่ย : บางทีเพื่อนอยู่บ้าน อยู่บ้านทำไม ออกมาเถอะ ไม่ต้องห่วงแล้วหลาน บางครั้งผูกติดมากไปเราจะเป็นทุกข์ ถ้าทำอะไรไม่เป็นก็หัดสิ ฉันก็ไม่เป็นมาก่อน กว่าจะร้องเพลงได้ทุกวันนี้ไม่ใช่เดินมาสองก้าวแล้วร้องได้เลยนะ พี่ฝึกฝนมาเยอะ อย่าปล่อยเวลาให้ว่างเปล่า อย่านั่งซึมเศร้า ไม่มีประโยชน์หรอก มาร้องเพลงกันดีกว่า ไปร้อง ไปฟัง เดี๋ยวก็ร้องได้ หลายคนที่ไม่ร้อง ตอนนี้ร้องได้หมดแล้ว สนุกใช่มั้ยคะ ไม่ยอมปล่อยไมค์กันแล้วใช่มั้ย (ยิ้ม)

อาเบิ้ม : ให้ลองปล่อยวางไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม เพราะทุกอย่างล้วนเป็นความฝันมโนภาพทั้งนั้น ไม่มีอะไรจีรัง ทุกอย่างล้วนเป็นวัฏจักร

อาตุ้ม : ถ้าเล่นโซเชียลได้จะดี เพราะมีเพื่อน อย่างน้อยไม่ได้ไปไหนก็อยู่ได้ระดับหนึ่ง เราได้เห็นโลกภายนอกจากตรงนี้ นอกจากเรียนรู้จากอินเทอร์เน็ตที่บ้านแล้วก็ออกไปเปิดหูเปิดตาบ้าง เอาเท่าที่ร่างกายเราไปไหว อย่าประมาทกับการใช้ชีวิต สุขภาพกาย สุขภาพใจมาก่อน ใจดี ร่างกายก็ดี ถ้าดีแต่ร่างกาย ใจไม่ดีก็พังเหมือนกัน เพราะใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ถ้าคิดดีไว้ก่อนก็เป็นต่อ ถ้าเราหดหู่เหี่ยวเฉา โลกก็ไม่น่าอยู่แล้ว

อาสารท : คนสูงอายุต้องเข้าใจก่อนว่าตัวเองขาดอะไร ผมยกตัวอย่างนักดนตรี เขาจะเรียนรู้ยังไงในวัยที่ไฟมันมอดแล้ว แรงบันดาลใจไม่มีแล้ว ผมเลยเปิดเพจใครๆ ก็เล่นดนตรีได้’ เอาความฝันของเขาที่ถูกทำลายนั้นกลับมา มันไม่ใช่มโนภาพที่หายไปจากใจหรอก แต่เขาทิ้งมันนานเกินไป จนตอนนี้เขาคิดว่าพอหมดหน้าที่ เขาหมดความหมาย ไม่ใช่หรอก ความหมายมันอยู่ข้างในใจเราต่างหาก เราเป็นคนสร้างมันเอง ดนตรีทำให้เราเรียนรู้สิ่งนั้นได้ BENNETTY และคนรุ่นใหม่พยายามเสนอเรื่องราวของชีวิต ชีวิตกับสิ่งที่ควรจะเป็นไป

โลกมันโหดร้ายนะ แต่ชีวิตมันงดงาม

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก