30 พฤศจิกายน 2018
5 K
The Cloud x  Epson

แม้งานศิลปะจะใช้ความรู้สึกนำเหตุผล แต่หลายๆ อย่างในชีวิตคนทำงานศิลปะก็มีเหตุผล

วัยเด็ก หญิงสาวตรงหน้าเป็นนักตัด-ต่อและสร้าง ด้วยเหตุผลว่า “เราชอบซื้อชุดแฮปปี้มีลที่เป็นบ้าน ชอบเล่นของเล่นไม้ที่เป็นบล็อก และชอบเล่นเกมเดอะซิมส์”

วัยเรียน เธอเลือกเรียนในสาขาวิชา Communication Design ด้วยเหตุผลว่า “ชื่อ Communication Design ไม่ได้บอกว่าเราต้องทำงานออกแบบหรือเราต้องสื่อสารกับคน แต่เราใช้การออกแบบเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับคน ถ้าถามว่าเราต้องออกแบบอะไร คำตอบขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่เราจะสื่อสารมันคืออะไร”

วัยทำงาน เธอยืดอกรับว่าเธอเป็น Designer มากกว่า Graphic Designer ด้วยเหตุว่า “เราเรียกตัวเองว่าเป็นนักออกแบบ เพราะว่าถ้าบอกว่าเราเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ งานจะเฉพาะทาง แต่ถ้าบอกว่าเราเป็นนักออกแบบ งานจะหลากหลายมากขึ้น

“เราว่านักออกแบบผลิตภัณฑ์เขาเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ได้ เขาทำแฟชั่นดีไซเนอร์ได้ ถ้าเขาฝึกฝนหรือเขารู้สึกว่าเขาสนใจด้านนั้นจริงๆ การเรียกชื่อจะไม่จำเป็นเลย สำคัญแค่ว่าเราทำอะไรได้ ทักษะความถนัดของเราคืออะไรมากกว่า เราก็เลยชอบบอกคนอื่นว่า I’m a designer.”

เราอยากแนะนำให้รู้จักกับหญิงสาวหัวใจกระดาษ เบน-เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์ นักออกแบบประจำสตูดิโอ be>our>friend

เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์ เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์

1.

เบนเริ่มเบนความสนใจมาหากระดาษตั้งแต่เธอทำตัวจบทีสิส ด้วยเหตุผลว่า

“เราสังเกตว่าตัวเองทำงานเกี่ยวกับกระดาษได้ดี เราชอบขึ้นรูปทรงจากกระดาษ แปลกมาก เราปั้นดินน้ำมันไม่ได้เลย แต่เราจะมองภาพสามมิติขึ้นมาจากสิ่งที่เป็นกระดาษได้ดีกว่า เพราะว่ากระดาษคือความแบน เราค่อยประกอบมันทีละด้านจนเป็นสามมิติ” แปลกมาก-ฉันคิดในใจ

หลังจากเธอจบการศึกษาระดับปริญญาตรี มุ่งหน้าสู่อาชีพนักออกแบบประจำสตูดิโอ be>our>friend เธอยังคงใช้กระดาษในการทำงาน แน่นอนว่าทุกคนก็คงใช้กระดาษในการทำงานเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนเบน เพราะเธอทำงานเสนอลูกค้าด้วยการสเกตช์กระดาษ แทนการสเกตช์มือ

หมายความว่า เบนเอากระดาษมาสร้างเป็นโครงสร้างหรือโมเดลเพื่อให้ลูกค้าเห็นภาพจริง แม้ว่าสุดท้ายแล้วงานจะออกมาเป็นเหล็ก ซีเมนต์ ฯลฯ เธอก็จะขึ้นโครงสร้างจากกระดาษก่อนเสมอ

“เราเริ่มทำงานจากโครงสร้างก่อน กระดาษช่วยเราได้มากในกระบวนการคิด มันอาจจะเป็นอาวุธที่เราใช้แล้วคุ้นเคย เราใช้วิธีนี้เพื่อหาคำตอบ เราก็เลยเลือกใช้กระดาษในการทำงาน เหมือนกระดาษตอบโจทย์การทำงานของเราได้ดีกว่าการสเกตช์ด้วยมือ

เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์

เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์

2.

เบนเลือกทำงานกับกระดาษ ด้วยเหตุผลว่า

“เรารู้สึกว่ากระดาษเป็นสิ่งใกล้ตัวที่จับต้องได้ รูปทรงจะเป็นแบบไหนก็ได้ เพราะกระดาษยืดหยุ่นอยู่แล้ว จริงๆ กระดาษทำอะไรได้อีกเยอะเลย”

เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์ เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์ เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์

หนึ่ง-ตัดกระดาษ ทำซีนได้

เบนทำซีนเล่มแรกด้วยการตัดกระดาษบอกเล่าเรื่องราวของทะเล หยิบยกท้องทะเลวันที่ท้องฟ้าเปลี่ยนสีมาเล่าผ่านกระดาษหลากสี ใช้เทคนิคการตัดกระดาษและวางซ้อนเป็นเลเยอร์คล้ายการเปิดหน้าหนังสือ ความพิเศษของซีนแต่ละเล่มจะมีสีท้องฟ้าไม่เหมือนกันเลยสักเล่ม

  “การทำงานกับกระดาษด้วยการซ้อนเป็นเลเยอร์ทำให้เราเป็นคนมีขั้นมีตอนพอสมควร เหมือนรู้ว่าถ้าทำขั้นตอนนี้มันจะส่งผลต่อขั้นตอนถัดไป เราจะถามตัวเองว่าทำไมต้องทำอันนี้ก่อนทำอันนี้เสมอ”

เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์

สอง-พับกระดาษ ทำป๊อปอัพได้

“งานที่ท้าทายเรามากคือการทำป๊อปอัพ เพราะเราทำป๊อปอัพไม่เป็นเลย เราต้องศึกษาจากหนังสือป๊อปอัพ ไปจับแก่นให้ได้ว่ามันคืออะไร แล้วก็โยงเข้ามาในชิ้นงานที่เราอยากได้ แต่ป๊อปอัพก็มีแก่นของมันอยู่แล้ว เพียงแต่เราจะประยุกต์ใช้อย่างไร

“พอเรารู้วิธีการทำที่ถูกแล้ว จะลองทำวิธีการที่ผิดด้วย เพื่อให้เข้าใจว่าทำไมทุกคำถามจะต้องมีคำตอบ เพราะเราขี้สงสัย เราต้องรู้ด้วยตัวเองก่อน พอทำงานชิ้นนั้นได้ งานป๊อปอัพเราก็ทำได้หมดเลย”

เบนเฉลยการถอดรหัสป๊อปอัพเวลา 1 วันเต็มให้เราฟังว่า ป๊อปอัพมี 2 แบบเท่านั้น แบบกางแล้วเด้งป็อปออกมาหมด (V-Fold Mechanism) กับกางออกมาแล้วจะเด้งป็อปออกมาไม่หมด (Internal Stand Mechanism)

“ข้อเสียคือคนคิดว่าเราทำงานกระดาษได้ทุกอย่าง เราทำไม่ได้ทุกอย่าง แต่ถ้าเราทำไม่ได้จริงๆ ให้เวลาเราหน่อย เราขอทำความเข้าใจมันนิดหนึ่ง ถ้าเข้าใจแล้วเราทำให้ได้แน่นอน”

สาม-พิมพ์กระดาษ ทำภาพประกอบหนังสือได้

เบนหอบงานกระดาษมาให้เราดูเต็ม 3 ถุงกระดาษใหญ่ เธอเล่าว่า เป็นการร่วมงานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เนื้อหาเกี่ยวข้อง LGBT ซึ่งโจทย์งานพอดีกับการทำงานตัดกระดาษของเบน เพราะวิธีการตัดกระดาษสีแล้วเอามาซ้อนเป็นเลเยอร์สอดคล้องกับความซับซ้อนบางอย่างของกลุ่ม LGBT อย่างลงตัว

“เราเริ่มจากการร่างภาพซ้อนกันเป็นเลเยอร์ในคอมพิวเตอร์ ส่วนการลงสีของภาพเราใช้การสแกนสีจากกระดาษสีจริง จากนั้นเราจะพิมพ์ภาพรวมเท่าขนาดจริง และพิมพ์โครงร่างของงานด้วยหมึกขาวดำลงบนกระดาษสี เพื่อง่ายต่อการตัดตามสีและแบบ หลังจากพิมพ์โครงร่างแล้วเราจะนำมาตัดและประกอบกันเป็นเลเยอร์ตามแบบ” เบนเล่ากระบวนการทำงานก่อนงานชิ้นนั้นจะถูกส่งต่อเข้าสตูดิโอถ่ายภาพเพื่อทำเป็นภาพประกอบในหนังสือ

จริงอย่างที่เธอว่า กระดาษทำอะไรได้อีกเยอะจริงด้วย

เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์ เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์

3.

ว่ากันถึงอุปกรณ์ เบนบอกว่าเครื่องพิมพ์ประสิทธิภาพดีจะช่วยให้ประหยัดเวลาในการทำงาน ด้วยเหตุผลว่า

“เครื่องพิมพ์ช่วยให้เราทำงานสะดวกขึ้น ถ้าเราวาดเองก็เบี้ยวอยู่แล้ว แต่ถ้ามีตัวช่วยเอาสิ่งที่เราต้องการออกมาจากจอคอมพิวเตอร์ มันทำให้เราทำงานง่ายขึ้น เครื่องพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้งานของเราสมบูรณ์”

เธอแอบกระซิบว่าเครื่องพิมพ์ในฝันของนักออกแบบจะต้องคม ชัด และสี ไม่ผิดเพี้ยน

เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์ เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์

ความคมชัดมีผลต่อเส้นโครงร่าง ถ้าน้ำหมึกกระจายไม่เป็นเส้นเดียวกัน เวลาตัดจะทำให้ชิ้นงานออกมาเบี้ยว เพราะความคมชัดจะช่วยลดความซับซ้อนของการทำงานได้ ส่วนเรื่องสี นักออกแบบแนะว่า ต้องเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างคนทำงาน กระดาษและเครื่องพิมพ์

เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์

“เราต้องเข้าใจเครื่องพิมพ์ มันก็เหมือนกับกระดาษ อย่างหมึกพิมพ์ที่เราใช้เป็นหมึกประเภทอะไร น้ำหมึกซึมลงบนเนื้อกระดาษหรือน้ำหมึกอยู่บนผิวกระดาษ ถ้าน้ำหมึกอยู่บนผิวกระดาษสีก็จะชัดและสดกว่าน้ำหมึกที่ซึมลงบนเนื้อกระดาษ

“การทำงานบางทีก็ขึ้นอยู่กับกระดาษด้วย ถ้าเราใช้กระดาษผิวมันสีจะสด ถ้าเลือกใช้กระดาษที่มีเนื้อเยื่อกระดาษมากๆ กับเครื่องพิมพ์ที่หมึกพิมพ์เป็นน้ำสีก็จะต่างออกไป ถ้าเราอยากใช้กระดาษเนื้อนั้นเราก็ต้องหาวิธี”

4.

เบนขอบคุณปัญหา ด้วยเหตุผลว่า

“บางครั้งงานทำให้เราเจอปัญหา แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เราโตขึ้น เราจะแก้ปัญหานั้นยังไง เท่ากับว่าเราแก้ปัญหาเรื่องงานไปแล้ว บางทีเรามาคิดเรื่องชีวิตมันก็แก้ปัญหาชีวิตด้วยเหมือนกัน

“เราต้องขอบคุณปัญหาที่เข้ามาหาเรา ปัญหาทำให้เราได้เรียนรู้เพื่อหาทางออก ถ้าผิดเราก็จะเรียนรู้ใหม่ เพื่อบอกกับตัวเองว่าวิธีแบบนั้นอาจจะไม่เหมาะกับสถานการณ์แบบนี้”

เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์

5

เบนหลงรักกระดาษ ด้วยเหตุผลว่า

“กระดาษให้ความสุขกับเราตอนทำงาน ช่วยให้งานมีประสิทธิภาพขึ้นมาก เราชอบทำสิ่งนี้ เราใช้สิ่งนี้ได้ดี งานเราก็สนุกขึ้นมาเอง ซึ่งงานจริงๆ อาจไม่ได้สนุกก็ได้ แล้วกระดาษก็ทำให้เรารู้สึกว่าเรายังทำงานได้ ยังสนุกกับงานที่ทำ จะเรียกว่าเพิ่มสีสันให้กับชีวิตการทำงานก็ได้นะ”

6

ถึงตรงนี้ เราหลงรักงานกระดาษของเบนอย่างไม่มีเหตุผล

เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์

Epson EcoTank Printers

ประหยัดเหลือเชื่อ ทั้งหมึกพิมพ์ กระดาษ และการใช้พลังงาน หมึกพิมพ์ 1 ขวด สามารถพิมพ์งานได้สูงสุดถึงได้ถึง 7,500 แผ่น ตอบโจทย์ทุกงานพิมพ์ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดให้กับทุกธุรกิจ

เครื่องพิมพ์ EcoTank จาก Epson ถูกออกแบบมาพร้อมกับระบบเติมหมึกแบบขวดที่สะดวกง่ายดายในการเติมหมึกพิมพ์ ใช้ง่าย ปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน คุณจึงมั่นใจได้ในเครื่องพิมพ์แท็งค์แท้จากเอปสันว่าจะนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคุณในทุกการใช้งาน

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ