เครื่องประดับเป็นวัตถุที่ทำหน้าที่สมชื่อ คือประดับตกแต่งเรือนกายให้สวยงาม หรือคอยช่วยเสริมให้ชุดที่สวมมีมิติ และยุคนี้ โลกเครื่องประดับก็หมุนไวจนสาวๆ อย่างเราบางทีก็ตามแทบไม่ทัน บ้างก็นำผ้าไหมอีสานมาแต่งติ่งหู บ้างก็ใช้วัสดุเหลือใช้ กระดาษเอย ท่อเอย มาออกแบบประดับคอ 

เรามักคุ้นกับวลี ‘ฉีกทุกกฎ’ แต่กับโลกแฟชั่น อาจไม่มีกฎให้ได้ฉีกแต่แรกด้วยซ้ำ เพราะคงไม่มีอะไรตายตัวตีกรอบงานออกแบบได้ อย่างที่ ‘เบญจกลาย’ แบรนด์เครื่องประดับจากเครื่องเบญจรงค์กำลังทำ 

เบญจกลาย เมื่อเครื่องเบญจรงค์กลายร่างเป็นเครื่องประดับเก๋ติดกายไปเล่าความเป็นไทยได้ทุกที่

นกเอี้ยง-สรัญญา สายศิริ หลานคนโตของ ปู่วิรัตน์ ปิ่นสุวรรณ ผู้สร้างตำนาน 50 ปีของ ‘ปิ่นสุวรรณเบญจรงค์’ แหล่งผลิตเครื่องเบญจรงค์ลายโบราณแห่งแรกของจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าวาดเลียนแบบลายโบราณได้เหมือนที่สุดในประเทศไทย 

ใช่ ที่นกเอี้ยงรับช่วงต่อ ทั้งสืบทอดศาสตร์ศิลป์การวาดลายเบญจรงค์จากปู่มาแต่เล็กแต่น้อย และสานต่อธุรกิจปิ่นสุวรรณเบญจรงค์หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย แต่ที่ไม่ใช่ คือสืบทอดซื่อๆ โดยไร้การต่อยอด ชุดผ้านุ่งเสื้อผ้าฝ้ายของเธอแสดงถึงความเป็นไทยที่หยั่งรากลึกตั้งแต่วัยเยาว์ ทว่าสีสันสดใสบนผืนผ้าและเครื่องประดับที่เธอสวมใส่บอกชัดถึงความหลงใหลในแฟชั่น ความร่วมสมัย เธอถ่ายทอดความเป็นเธอเหล่านั้นลงบน ‘เบญจกลาย’ ที่นกเอี้ยงต่อยอดแตกกิ่งแบรนด์ออกมาจาก ‘ปิ่นสุวรรณเบญจรงค์’ ขายออนไลน์บนเพจ BenjaGlai by Pinsuwan Benjarong เมื่อ 2 ปีก่อน เป็นแบรนด์หลานของแบรนด์ปู่ ทั้งอายุแบรนด์และความเป็นจริง

เบญจกลาย เมื่อเครื่องเบญจรงค์กลายร่างเป็นเครื่องประดับเก๋ติดกายไปเล่าความเป็นไทยได้ทุกที่
เบญจกลาย เมื่อเครื่องเบญจรงค์กลายร่างเป็นเครื่องประดับเก๋ติดกายไปเล่าความเป็นไทยได้ทุกที่

เธอไม่หวังจะ Disrupt วงการเครื่องประดับอะไรปานนั้น เธอเพียงคิดว่าเครื่องเบญจรงค์ไปได้ไกลกว่าถ้วยชามรามไห หญิงสาวที่พูดจาฉะฉานฉับไว บุคลิกคล่องแคล่ว เป็นตัวแทนคนยุคใหม่ที่พร้อมเปลี่ยน แต่เธอไม่ลืมสิ่งที่ปู่สร้างมากับมือ นำลวดลายเบญจรงค์โบราณไปแปะปะติดปะต่อกับความคิดที่เธอสร้างสรรค์ ให้คนทุกวัยที่ติดต่างหู สวมสร้อยคอ เบญจกลาย ได้พาลวดลายเบญจรงค์ชิ้นจิ๋วไปเล่าเรื่องความเป็นไทยได้ทุกที่ แบบที่เครื่องเบญจรงค์ทำไม่ได้

ถ้าบอกว่าเป็นเครื่องประดับจากเครื่องเบญจรงค์แล้วคุณนึกไพล่ไปถึงคนสวมใส่อย่างนางในวรรณคดี เราอาจขอเบรกไว้ก่อน เพราะนางในวรรณคดีในอุดมคติของนกเอี้ยงและแบรนด์เบญจกลาย อาจเป็นนางในวรรณคดีที่สลัดชุดไทยเดิม ใส่ชุดไทยประยุกต์ดีไซน์เก๋ ไปกระโดดอยู่คอนเสิร์ต EDM ก็เป็นได้

แปลงกายเครื่องเบญจรงค์

ปู่ อาศัยประสบการณ์จากการค้าขายของเก่า จดจำลวดลายเบญจรงค์โบราณของเครื่องถ้วยที่ขุดได้ตามคลองย่านอัมพวา ใช้วิชาศิลปะส่วนตัวที่ครูพักลักจำ ผสมสีและวาดเลียนแบบลายได้คล้ายของเดิมจนพ่อค้าคนกลางขอซื้อต่อไปขายเป็นของเก่าได้ราคาดี แต่ปู่ว่า นั่นคือการทรยศผู้บริโภค จึงตั้งใจหมายมั่นไปเรียนศาสตร์การทำเครื่องเบญจรงค์เทียมให้รู้ดำรู้แดง เพราะเครื่องเบญจรงค์แท้ทุกวันนี้เหลือแต่ชื่อ 

หลาน อาศัยการเรียนรู้ในครอบครัวแต่เล็ก แทนที่จะได้ไปโดดคลองเล่นน้ำเหมือนเพื่อน ก็ถูกจับมาหัดวาดลายทำเครื่องเบญจรงค์ทุกขั้นตอน สาวนักวาดเบญจรงค์พลาดหวังจากการเอนทรานซ์เข้าคณะมัณฑนศิลป์ ไปเรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ จบกลับมาก็รับช่วงต่อจากปู่ทันที เพราะพ่อ ลูกชายคนโตของปู่ เสียชีวิต 

เบญจกลาย เมื่อเครื่องเบญจรงค์กลายร่างเป็นเครื่องประดับเก๋ติดกายไปเล่าความเป็นไทยได้ทุกที่

“เราเป็นคนฟุ้ง มีจินตนาการเยอะ คิดนู่นนี่นั่นได้ ปิ่นสุวรรณราคาสูง ณ ตอนนั้นคิดอยู่แล้วว่าจะทำยังไงให้ปิ่นสุวรรณขายได้ เราอยากขายตลาดอื่นในราคาถูกลงได้บ้างโดยที่ยังคงความเป็นปิ่นสุวรรณอยู่ เลยเปลี่ยนการใช้งานก่อน แต่ยังไม่มีโปรดักต์อยู่ในมือ

“ตอนแรกมีชื่อในใจว่า ลายเส้น ตั้งใจจะทอนงานปิ่นสุวรรณเหลือแค่ลายเส้นอย่างเดียว ดึงแค่เอกลักษณ์บางอย่าง ไม่ต้องลงสี ซึ่งจะลดต้นทุนได้ แต่อาจารย์ที่ให้คำปรึกษาบอกว่า ไม่ได้นะ ปิ่นสุวรรณเป็นแบรนด์ใหญ่ ถ้าเธอจะเล่าเรื่องปิ่นสุวรรณ เธอต้องมีอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น มันจะเป็นแค่ลายเส้นไม่ได้ เบาเกินไป เราเลยคิดก่อนว่าจะใช้ชื่อและคอนเซปต์อะไรได้บ้าง ก็นึกถึงนางเบญกาย แต่แปลงชื่อเป็นเบญจกลาย ไม่ใช่ ‘กาย’ ต้องเป็น ‘กลาย’ กลายร่างเป็นอะไรก็ได้ที่ใจปรารถนา 

เบญจกลาย เมื่อเครื่องเบญจรงค์กลายร่างเป็นเครื่องประดับเก๋ติดกายไปเล่าความเป็นไทยได้ทุกที่

“ตอนแรกเราคิดถึงเฟอร์นิเจอร์ อยากตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ทำโมเสกแบบที่ฝรั่งเศส อิตาลี แต่คนก็ทำกันเยอะแยะแล้ว พอดีตอนนั้นเพิ่งกลับมาจากจีน จีนเขาตั้งใจจะขายความโบราณ เขาขุดเจอของเก่าชิ้นหนึ่ง แทนที่จะขายชิ้นเดียว ก็มาทุบเพื่อที่คนจะได้ซื้อชิ้นส่วนของอดีตต่อไป และอีกแรงบันดาลใจคือ วัด ที่ขอเครื่องเบญจรงค์ที่ไม่สมบูรณ์ไปทุบเป็นชิ้นทำงานปูนปั้น นี่ไงเบญจกลายเรา” 

หลากหลายความคิดในช่วงนั้นจึงค่อยๆ ตกตะกอนเป็น ‘เครื่องประดับ’ นกเอี้ยงว่า เพราะเครื่องประดับนั้นชิ้นเล็ก เอาไปไหนต่อไหนเพื่อพรีเซนต์ตัวเองได้ แม้อาจารย์จะบอกว่า นางเบญกายปลอมเป็นคนตายนะ แต่สาวนกเอี้ยงมีคำตอบในใจแล้ว เพราะเบญจกลายของเธอเหมือนของตาย ทว่ากลายร่างมีชีวิตใหม่ขึ้นมาต่างหาก

เบญจกลาย เมื่อเครื่องเบญจรงค์กลายร่างเป็นเครื่องประดับเก๋ติดกายไปเล่าความเป็นไทยได้ทุกที่

กำเนิดเบญจกลาย

เครื่องเบญจรงค์บ้านปิ่นสุวรรณเบญจรงค์นั้นคงทนแข็งแรง เลือกใช้ Royal Bone China เซรามิกผสมเถ้ากระดูก พอร์ซเลนสีขาวที่น้ำหนักเบา มีความเหนียว (Toughness) และยังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ ความโปร่งแสง (Translucent) ขนาดที่นำมือหรือวัตถุทึบแสงไปกั้นระหว่างแหล่งกำเนิดแสงกับผลิตภัณฑ์ จะเห็นเงาของมือหรือวัตถุปรากฏผ่านด้านหน้า นอกจากนี้ หากลองเคาะดูจะได้ยินเสียงที่กังวานใส 

ลวดลายห้าสีของเบญจรงค์ยังอ่อนช้อยประณีต คงความเป็นงานมืออย่างโบราณด้วยฝีแปรงพู่กันที่คนวาดต้องมีประสบการณ์ แสดงทีแปรงมีเอกลักษณ์ ลายติดแน่นทนนาน ไม่ใช่เข็มฉีดยาหัวตัดที่ให้เส้นเปรียวเสมอกันเป็นเส้นตรงๆ เหมือนเส้นปากกา คนที่ไม่เคยทำมาลองวาดก็ทำได้ และใช้น้ำทอง ทองแท้เปอร์เซ็นต์ต่ำ ไม่ใช่สีทอง วาดเป็นเส้นตัด รวมถึงลงสีที่ผสมอย่างเก่าก่อน

และเมื่อเป็นงานมือ มีของดี ก็ต้องมีของเสีย 

“ที่นี่เราจะซื่อสัตย์กับลูกค้า เนื้อกระเบื้องถ้าเราเก็บนานเกินไป เมื่อเขียนลาย ลงสี พอมาโดนไฟจะเกิดเขม่าดำ ไม่ผ่านมาตรฐาน ก็ส่งลูกค้าไม่ได้ เพราะเราการันตีงานปิ่นสุวรรณเบญจรงค์”

แล้วของเสียไปไหนเสีย 

“เก็บอยู่ในตู้ อยู่ในกล่อง” นกเอี้ยงตอบ

ปู่ซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภคอย่างไร หลานก็ซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภคอย่างนั้น เบญจกลายจึงเป็นทางออกให้เครื่องเบญจรงค์ที่ไม่สมบูรณ์ไม่จบชีวิตที่กล่องใดกล่องหนึ่งจนพอกพูน แต่ได้ออกมาโลดแล่นเล่าเรื่องราวของตัวมันต่อไป 

เบญจกลาย เมื่อเครื่องเบญจรงค์กลายร่างเป็นเครื่องประดับเก๋ติดกายไปเล่าความเป็นไทยได้ทุกที่

เธอทุบ ทุบ ทุบ เครื่องเบญจรงค์ ราวกับว่าทุบกรอบกฎเกณฑ์ที่มันเคยเป็นเพียงของโชว์ในตู้กระจก ชุดจานประจำตระกูลใหญ่ หรือของที่ระลึกค่าควรเมืองแก่บุคคลสำคัญระดับชาติ คัดสรรเหลี่ยมมุมลวดลายที่เหมาะสมสวยงามจากหลายชิ้น เจียระไนแล้วออกแบบเป็นเครื่องประดับชิ้นเล็กชิ้นน้อย ไปจนถึงชิ้นใหญ่ ที่เธอชอบอย่างไหน ก็ส่งต่อให้ลูกค้าเหมือนเป็นพี่สาวน้องสาวปันเครื่องประดับกันใส่

เบญจกลาย เมื่อเครื่องเบญจรงค์กลายร่างเป็นเครื่องประดับเก๋ติดกายไปเล่าความเป็นไทยได้ทุกที่
เบญจกลาย เมื่อเครื่องเบญจรงค์กลายร่างเป็นเครื่องประดับเก๋ติดกายไปเล่าความเป็นไทยได้ทุกที่

“เครื่องเบญจรงค์เป็นอะไรก็ได้หรอ” เราถาม

“เครื่องเบญจรงค์เหมาะกับคำว่า เบญจกลาย ของเรามาก ไอ้สิ่งที่เป็นห้าสีมันจะกลายเป็นอะไรก็ได้ในอนาคตข้างหน้า ขึ้นอยู่กับคนทำว่าจะบิดมันยังไง มันคือเรา การคิดแบรนด์ต้องมาจากตัวตนของเรา สีสันกับความไม่ซ้ำใคร นั่นคือตัวเราและเบญจกลายเลย แต่ละชิ้นมันต้องไม่ซ้ำกันและแปลกใหม่” 

เบญจกลาย มีความเข้มแข็งอย่างยักษ์ แต่สวยงามอย่างนางสีดา นกเอี้ยงว่า

“บ้านเราติดอุทยาน ร.2 เคยดูโขน เลยนึกถึงนางยักษ์เบญกายที่แปลงเป็นนางสีดา ซึ่งเรามีความเข้มแข็งแบบยักษ์ แต่มีความสวยงามแบบนางสีดา”

เบญจกลาย เมื่อเครื่องเบญจรงค์กลายร่างเป็นเครื่องประดับเก๋ติดกายไปเล่าความเป็นไทยได้ทุกที่

เบญจรงค์มักใช้คู่สีตรงกันข้ามเพื่อดึงเอกลักษณ์ลาย อย่างใบเขียว พื้นต้องส้ม ม่วง เหลือง โดดแข่งกัน นกเอี้ยงรู้ข้อนี้ดี เพราะอยู่กับมันมาตลอดชีวิต แต่สิ่งที่เธอยังขาดคือองค์ความรู้เรื่องการทำเครื่องประดับ เธอเรียนรู้จากที่ไหน

“มุมมองมั้งคะ เรารู้ว่าอันไหนใส่แล้วสวย อันไหนใส่แล้วเท่ ด้วยความชอบเราเลยดูเองจากยูทูบ และไปเรียนงานทักษะวิชาช่าง แล้วก็หาคนที่ทำอะไรสวยๆ ที่จะเข้ากับเบญจกลายได้มาฟีเจอริ่งกันด้วย 

“เราได้เครื่องเงินค้อยของอาจารย์สุพิศ บุตรดี ซึ่งเป็นครูช่างศิลป์หัตถกรรมเหมือนกัน เราก็เจียระไนกระเบื้องเบญจรงค์ใส่ลงไป และยังจับกับเครื่องเงินนิ่มของขวัญเงิน และเพราะซี้กับร้านไหมแพรวา เลยไปขอให้ทำพู่ตุ้งติ้งๆ ใส่จนได้เป็นเครื่องประดับที่ดูโบฮีเมียนๆ และในอนาคตกำลังจะไปคุยกับร้านทองเหลืองเพื่อจับคู่กับเรา” 

“เป็นการสนับสนุนศิลปินด้วยกัน” เราทัก

เบญจกลาย เมื่อเครื่องเบญจรงค์กลายร่างเป็นเครื่องประดับเก๋ติดกายไปเล่าความเป็นไทยได้ทุกที่

ตอนช่วงโควิดช่างเงินเขาก็ว่าง เขาเลยทำให้เราเต็มที่ ทำให้เราก็อยู่ได้ เขาก็อยู่ได้ ไม่ได้ชวนเขาทำสิ่งใหม่ แค่ดัดแปลงนิดๆ หน่อยๆ ให้ยังคงตัวตนของเขาอยู่ ลายของเขา รูปแบบของเขาก็ยังคงอยู่ แต่เราต้องหาคนที่งานเขาไม่ทำให้งานเราดร็อปลง และส่วนมากจะใช้งานของช่างครูศิลป์เหมือนกัน ให้อ้างอิงได้ว่ามีที่มาที่ไป คนที่อุดหนุนงานเราก็วางใจได้”

แตกหัก ไม่เสียหาย

หัวใจของงานเบญจรงค์คือ การเขียนลายลงยาด้วยสีห้าสี หัวใจของงานเบญจกลายคือ ความไม่สมบูรณ์ 

จี้บางชิ้นบิดเบี้ยว ทว่าลงตัวเมื่อเรียงตัวลดหลั่นบนสายสร้อยเดียวกัน ต่างหูบางอันลายไม่เข้าคู่ เพราะมาจากต่างเหลี่ยมต่างมุมของเครื่องเบญจรงค์ อวดลายเอกลายรอง

“คอนเซปต์ของเบญจกลายคือ Celebrate, Uniqueness, Optimism คนที่ใช้งานเบญจกลายได้ต้องไม่ถือว่าของแตกแล้วเอามาใช้เป็นลางไม่ดี สิ่งที่มันแตกหักเสียหายทำให้คุณมีความสุขได้ในทุกวันถ้าคุณเปลี่ยนแปลงมัน”

เครื่องเบญจรงค์ไม่ผ่านมาตรฐาน ไม่ใช่ของเสียหายร้อยเปอร์เซ็นต์ และน่าเสียดายเกินกว่าจะถูกทิ้งเสีย

อยากจะ Disrupt วงการเครื่องประดับรึเปล่า-เราถามเธอ

เบญจกลาย เมื่อเครื่องเบญจรงค์กลายร่างเป็นเครื่องประดับเก๋ติดกายไปเล่าความเป็นไทยได้ทุกที่

“ไม่ ทำเพราะความรักมากกว่า อยากจะพรีเซนต์ตัวเองในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม จากที่ต้องสวมชุดไทยสาธิตงาน ตอนนี้เราแค่นุ่งผ้าไทยใส่เครื่องประดับเก๋ก็พอ แต่งตัวเก๋ได้ เหมือนแพรี่พาย ชอบอย่างนั้น 

เราตั้งใจทำเป็นสตรีทแบรนด์ ให้เก็บเป็นของเก่าเพราะเป็นเงินแท้ และกระเบื้องอยู่กับเราเป็นร้อยปีอยู่แล้ว ในอนาคตข้างหน้ามันก็ตกทอดไปถึงลูกถึงหลานได้”

“เบญจรงค์ที่สวยไม่ได้แปลว่าจะเป็นเครื่องประดับที่สวยรึเปล่า”

เบญจกลาย เมื่อเครื่องเบญจรงค์กลายร่างเป็นเครื่องประดับเก๋ติดกายไปเล่าความเป็นไทยได้ทุกที่
เบญจกลาย เมื่อเครื่องเบญจรงค์กลายร่างเป็นเครื่องประดับเก๋ติดกายไปเล่าความเป็นไทยได้ทุกที่

“เสน่ห์ของมันอยู่ที่ลายเส้น สี เพราะฉะนั้น การจับสีของมันมาอยู่ในกำแพงชิ้นเล็กๆ อย่างเครื่องประดับ ทำให้เห็นความสวยงามของมันได้มากขึ้น ตอนเป็นเครื่องเบญจรงค์ ดูลายรวมๆ ก็จะดูเป็นลายโบราณ แต่ถ้าเราเด็ดมันออกมา มันจะเห็นดอกไม้ มันจะเห็นประจำยาม ดึงลายหลักเอกลักษณ์มันออกมา จนดูไม่โบราณ

“แต่เราไม่ได้เปลี่ยนของเก่าเลย เราแค่ทำสิ่งใหม่เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นหม่มากขึ้น แล้วไอเดียที่เราคิดมันจับต้องได้ พอมองออกมามันเห็นว่าสวย แปลกตา ไม่ทิ้งต้นฉบับดั้งเดิมเลย”

ของเลียนแบบของเก่ามีคุณค่าที่ตรงไหน-เราสงสัย

“แน่ล่ะที่ของเก่ามันมีคุณค่าทางใจ ทางอายุของมัน ทางประวัติความเป็นมาของดั้งเดิม แต่ของใหม่ก็เป็นการเล่าเรื่องของเก่าต่อยอดไปในอนาคตข้างหน้า เพราะมันไม่มีแล้ว ทำให้คนในอนาคตรู้จักว่าเคยมีสิ่งนี้ในสมัยโบราณ มันก็เหมือนตกทอดไปรุ่นต่อรุ่น” 

เบญจกลาย กลายมาเป็นของคนทุกวัย

“เบญจรงค์เหมาะกับคนมีอายุหน่อย คนกลางคนที่เล่นของเก่า อาจจะสามสิบสี่สิบขึ้นไป มีเงินเหลือเฟือ เป็นลักษณะคนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม้ได้ซื้อ ฉันซื้อฝาก เพราะฉะนั้น นี่คือจุดบอดของปิ่นสุวรรณ” 

นกเอี้ยงจึงสร้างเบญจกลายมาอุดรอยรั่ว ให้เป็นของของคนทุกเพศทุกวัย ไม่จำกัดแค่คนมีอายุชอบงานโบราณ แต่ด้วยดีไซน์ นกเอี้ยงก็ตั้งใจให้เบญจกลายตอบโจทย์วัยรุ่นที่ชอบแต่งตัวย้อนยุคแหวกแนว เป็นคนที่อยากจะสื่อความเป็นไทยในรูปแบบที่หลากหลาย แตกต่างจากเดิม เหมือน เก่ง-ธชย ประทุมวรรณ และ แพรี่พาย-อมตา จิตตะเสนีย์ คือคนรุ่นใหม่ที่หัวไม่โบราณ ทันสมัย แต่รักความเป็นไทย

เบญจกลาย เมื่อเครื่องเบญจรงค์กลายร่างเป็นเครื่องประดับเก๋ติดกายไปเล่าความเป็นไทยได้ทุกที่

คอลเลกชันที่ 1 เบญจกลาย นกเอี้ยงใช้เครื่องเบญจรงค์ที่ถูกมองข้าม ตัดแต่งแปลงร่างเป็นชิ้นน้อย เปลี่ยนรูปลักษณ์ให้เกิดความแปลกใหม่ ออกแบบเป็นชิ้นงานศิลปะบนเรือนกายเพื่อแทนคุณค่าทางใจ เน้นคอนเซปต์ร่างใหม่หัวใจเดิม 

เบญจกลาย เมื่อเครื่องเบญจรงค์กลายร่างเป็นเครื่องประดับเก๋ติดกายไปเล่าความเป็นไทยได้ทุกที่

คอลเลกชันที่ 2 มารดาลาย ที่เพี้ยนเสียงจาก แมนดาลา (Mandala) ศิลปะภาวนาจากทิเบต แต่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจได้ไม่ต่างกัน เพราะเป็นลวดลายที่ออกแบบโดยคุณแม่ของนกเอี้ยงซึ่งอาศัยอยู่ต่างประเทศ วาดเป็นลายก้านขดที่คุณแม่รักและถนัดลงบนผืนผ้าใบ ซึ่งเป็นลายเดียวที่ช่างคนไหนก็ลอกลายลงแผ่นกระเบื้องพอร์ซเลนทำเครื่องประดับไม่ได้ นอกจากนกเอี้ยงคนเดียว

เบญจกลาย เมื่อเครื่องเบญจรงค์กลายร่างเป็นเครื่องประดับเก๋ติดกายไปเล่าความเป็นไทยได้ทุกที่

คอลเลกชันที่ 3 Retrospect ลวดลายแห่งความคิดถึงอดีต แต่เป็นอดีตบนของที่สร้างขึ้นใหม่ คอลเลกชันนี้นกเอี้ยงใช้กระเบื้องชิ้นใหม่ แต่ตกแต่งหน้าตาด้วยลายโบราณดั้งเดิม Retrospect จึงไม่ใช้ของเก่า แต่มีกลิ่นอายเก่าแก่

เบญจกลาย แบรนด์ของหลานปู่วิรัตน์ยังอายุน้อยนัก แต่นกเอี้ยงก็ไม่เคยหยุดคิด หยุดฝัน และพิสูจน์ตัวเอง 

จุดมุ่งหมายในวันนี้ อาจเป็นการทำให้คนได้รู้จักงานเบญจรงค์ พางานเบญจรงค์ไปอวดตัวแสดงเรื่องเล่าและเรื่องราวได้ทุกหนทุกแห่งที่ไป แต่ในวันข้างหน้าเธอหมายมาดว่าเบญจกลายจะกลายไปอยู่ไปอยู่บนแคตวอล์กงานแฟชั่นนานาชาติ อวดโฉมเคียงข้างชุดผ้าไทยของแบรนด์ไทย 

“เราทำให้เห็นว่าเราทำแล้วสำเร็จ ทำแล้วมีการตอบรับ ทำแล้วจนได้เป็นศิลปิน เมื่อช่างรุ่นหลังเห็นเขาก็จะภูมิใจและอยากทำต่อจากเราเอง เหมือนที่เราเห็นปู่เราทำ เราอยากเป็นเหมือนเขา ภาคภูมิใจเหมือนเขา”

Writer

Avatar

ศกุนตลา แย้มปิ๋ว

นักเรียนวรรณคดีที่มักเรื่องอาหาร ท้องถิ่น วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การเดินทาง และเด็กจิ๋ว มีความฝันสามัญว่าอยากมีเวลาทำอาหารรสที่ชอบด้วยตัวเอง ตัวอยู่กรุงเทพฯ อัมพวา หรือเมืองกาญจน์ แต่ใจและภาพอินสตาแกรมอยู่ทุกที่ที่ไปเที่ยว

Photographer

Avatar

วินัย สัตตะรุจาวงษ์

ผู้กำกับรายการและโฆษณาที่ช่วงนี้หันมาสนใจงานแนวสารคดี จึงเน้นทำงานที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริง ตัวอย่างผลงานที่ผ่านมาคือ รายการ human ride และ เป็น อยู่ คือ