ในประวัติศาสตร์ของประเทศอันยาวนานหลายพันปี สืบไปได้ถึงยุคโรมันหรือก่อนหน้านั้น ล้วนมีผลต่อวิถีชีวิต การคิดอ่านของคนอิตาเลียนในปัจจุบันอย่างยากที่จะแยกออกว่า อันไหนมาจากยุคใดบ้าง

หนึ่งในช่วงเวลาที่สำคัญในประวัติศาสตร์อิตาลี ที่ยังหลงเหลืออนุสรณ์สถาน ความรักชาติ ความชิงชัง ความเจ็บช้ำน้ำใจให้เราสัมผัสได้ในปัจจุบัน คือ บาดแผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และบุคคลที่คนอิตาเลียนพร้อมใจกันกล่าวโทษ นั่นคือ เบนีโต มุสโสลินี (Benito Mussolini)

มุสโสลินีเป็นใคร เขาเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงปี 1922 – 1943 ระยะเวลาราว 20 ปีนี้ ในประวัติศาสตร์อิตาลีเรียกว่า ‘ยี่สิบปีแห่งฟาชิสต์’ (Il ventennio fascista) อันเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 1939 – 1945 นั่นเอง

การพาประเทศไปแพ้สงครามนั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่ง แต่ความเกลียดชังนั้นเริ่มมาตั้งแต่การที่มุสโสลินีพาประเทศอันเพิ่งสะบักสะบอมมาจากผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว

ทำไมถึงโทษมุสโสลินีอยู่คนเดียว

เพราะเขาเป็นเผด็จการ เปล่า ไม่ได้กล่าวหาว่าร้ายลอย ๆ เขาเองนั่นล่ะที่เป็นคนประกาศตนว่า เขาจะเป็นเผด็จการล่ะนะ

อิตาลี 20 ปีในมือมุสโสลินี จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์กับความบอบช้ำที่ยังเหลือถึงตอนนี้
ภาพ : https://commons.wikimedia.org

มารู้จักมุสโสลินีกันหน่อยเป็นไร

ชื่อที่เราคุ้นว่ามุสโสลินีนั้นจริง ๆ คือนามสกุล ชื่อจริงของเขานั้น ยาวอีกนิดก็กรุงเทพฯ แล้ว คือ เบนีโต อมัลคาเร อันแดรฺอา แล้วก็ตบท้ายด้วยนามสกุล มุสโสลินี

ชื่อทั้งหมดนี้มีที่มาทั้งสิ้น พ่อของเธอซึ่งยังชีพด้วยการเป็นช่างเหล็กนั้น เป็นคนมีความคิดทางสังคมนิยมที่รุนแรงมาก ชื่อที่เรียงเป็นตับวิวาห์พระสมุทรนั้น มาจากรายนามของนักการเมืองแนวสังคมนิยมทั้งในและนอกประเทศอิตาลีทั้งสิ้น แต่พอใช้จริง ๆ ก็เหลือแค่เบนีโต ซึ่งเป็นชื่ออดีตผู้นำของเม็กซิโกเท่านั้น ด้วยความที่ไม่ใช่ชื่ออิตาเลียนนี้ จึงมีผู้เรียกผิดเรียกถูกว่า เบเนเด็ตโต อันเป็นชื่อที่สามัญกว่าสำหรับคนอิตาเลียน

มุสโสลินีเรียนเก่ง แต่เป็นคนเกเรชอบความรุนแรงแต่เล็ก ในวัยเด็กเคยแทงเพื่อนอย่างน้อยก็ 2 ครั้ง เปล่า ไม่ใช่ 2 จึ้ก แต่ 2 คน แต่ด้วยความที่เป็นคนชอบวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง จึงทำให้เขาได้ทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ อันเป็นที่ซึ่งเขาแสดงความคิดทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ หนังสือพิมพ์ที่เขาทำแต่ละแห่งนั้น ล้วนเป็นหนังสือพิมพ์ของพวกสังคมนิยมทั้งสิ้น

ในวัยหนุ่ม ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 หนังสือพิมพ์ที่เขาทำงานและพรรคสังคมนิยมที่เขาสังกัดอยู่นั้นยึดแนวเป็นกลาง แต่มุสโสลินีกลับออกไปเดินขบวนสนับสนุนสงคราม จึงทำให้เขาถูกขับออกจากวงโคจรของสังคมนิยมทั้งหมด แล้วไม่นาน อิตาลีก็เข้าสงคราม มุสโสลินีได้สมัครเข้าร่วมรบสมใจ แต่ก็บาดเจ็บกลับออกมา

จากการผ่านสงคราม จากการอกหักจากสังคมนิยม และจะด้วยอะไรอีกก็ตาม มุสโสลินีคิดว่า อิตาลีควรจะต้องมีการปฏิวัติครั้งใหญ่ มุสโสลินีได้กลับมาทำงานในวงการหนังสือพิมพ์อีกครั้ง และได้แสดงความคิดเห็นของตนไปอย่างกว้างขวาง มุสโสลินีเบื่อความจอมปลอมของประชาธิปไตย มีความคิดว่าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นสิ่งไร้สาระ และอาจมองไม่เห็นทางในการฟื้นฟูประเทศด้วยวิธีแบบเดิม ๆ และฝักใฝ่ในทางการนำประเทศอย่างดุดันเหี้ยมหาญประหนึ่งชาวโรมัน เขาได้ก่อตั้งขบวนการขึ้นมาขบวนการหนึ่ง ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนมากมาย ในไม่กี่ปีขบวนการที่เขาคิดก่อตั้งก็มีผู้ร่วมด้วยช่วยกันเรือนแสนจากทั่วประเทศ และเป็นขบวนการที่มีบทบาทสำคัญมากในประวัติศาสตร์ นั่นคือ ขบวนการฟาชิสม์ (Fascism)

ฟาชิสม์ หรือ พวกฟาชิสต์ ตั้งมาจากคำว่า Fascio ซึ่งหมายถึงขวานโบราณของชาวโรมันที่มีด้ามจับเป็นกิ่งไม้พันรวมหนักแน่น อันเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคี มุสโสลินีผู้มีวาทศิลป์อันน่าทึ่งได้ปลุกระดมเชิญชวนผู้คนให้ร่วมแนวคิดของตน อันจะนำประเทศไปสู่ความเกรียงไกรเฉกเช่นจักรวรรดิโรมันในอดีต ผู้คนเข้าร่วมกันมากมาย และเรียกมุสโสลินีด้วยคำว่า ดูเช (Duce) อันมาจากคำว่า Dux ในภาษาละตินที่แปลว่า ผู้นำ นั่นเอง

อิตาลี 20 ปีในมือมุสโสลินี จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์กับความบอบช้ำที่ยังเหลือถึงตอนนี้
ภาพ : https://it.cleanpng.com

สภาพอิตาลีหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น ถึงแม้จะอยู่ในฝ่ายผู้ชนะสงคราม แต่ก็บอบช้ำสะบักสะบอมเต็มที รัฐบาลของ พระเจ้าวิตตอริโอ เอ็มมานูเอเลที่ 3 ก็ไม่ค่อยแข็งแรงนัก ในที่สุดวันหนึ่งในปี 1922 มุสโสลินีก็บัญชาการทัพฟาชิสต์ของตนให้เดินตบเท้าเข้าสู่โรม (Marcia su Roma) พระเจ้าวิตตอริโอกลัวว่าจะเกิดสงครามกลางเมือง บีบให้นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออก แล้วเชิญมุสโสลินีซึ่งนั่งยิ้มอยู่ที่มิลาน ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน และนั่นคือจุดเริ่มของ 20 ปีแห่งฟาชิสม์

อิตาลี 20 ปีในมือมุสโสลินี จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์กับความบอบช้ำที่ยังเหลือถึงตอนนี้
ภาพ : www.britannica.com

สิ่งแรกที่มุสโสลินีทำคือเปลี่ยนรัฐสภาให้มีพรรคเดียวคือพรรคของตน กวาดล้างพวกสังคมนิยมออกไปด้วยวิธีการอันป่าเถื่อนรุนแรง แล้ววันหนึ่งก็ประกาศกันให้รู้แล้วรู้รอดกันไปว่า ตนจะปกครองแบบเผด็จการละนะ

จากนั้นก็เป็นกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์ เพราะเมื่อมีผู้นำคนเดียวแล้ว ก็ต้องทำให้คนรักและศรัทธา ช่วงนี้มุสโสลินีออกงานหนักมาก ไม่ได้ไปตัดริบบิ้นปล่อยลูกโป่งอย่างที่คิด หากแต่ลงไม้ลงมือทำทุกสิ่งอัน ถอดเสื้อโชว์ความแข็งแกร่ง เกี่ยวข้าว สงฟาง ฯลฯ แน่นอนทุกงานมีวิดีโอถ่ายไว้ แล้ววิดีโอเหล่านี้ละที่นำเอาไปฉายตามโรงหนังหรือชุมชนต่าง ๆ เพื่อให้คนเชื่อว่าการปกครองแบบนี้แสนดีหนักหนา ผู้นำก็แสนจะเข้มแข็งอบอุ่น เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย อะไรประมาณนั้น

ภาพ : www.udinetoday.it

ย้อนไปยังปณิธานที่หาญมุ่งของมุสโสลินี เขาบอกว่าจะให้อิตาลีเกรียงไกรเหมือนอาณาจักรโรมัน ก็จะเป็นอาณาจักรได้อย่างไรหากไม่ขยายอาณาเขต อย่ากระนั้นเลย จำเราจะต้องไปบุกเอธิโอเปียดีกว่า ซึ่งก็ได้มาเป็นเมืองขึ้น แต่แลกด้วยทั้งเงินทั้งชีวิตของทหารที่หมดไปกับสงครามซึ่งไม่ควรจะเกิดเลย

การกระทำของมุสโสลินีเป็นที่เฝ้าสังเกตของผู้นำจากหลายประเทศ บ้างก็มองด้วยความชื่นชม หนึ่งในนั้นคือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้เฝ้าเพียรติดต่อขอมาดูงานที่อิตาลี ในที่สุดมุสโสลินีก็ให้มาอย่างเสียไม่ได้ ฮิตเลอร์ประทับใจในการปกครองของมุสโสลินีมาก และได้นำแนวคิดหลายอย่างกลับไปใช้ที่เยอรมนีของตน ที่เห็นเด่นชัดคือ ท่าทักทายแบบนาซี ซึ่งก็เอามาจากท่าทักทายของพวกฟาชิสต์นั่นเอง

ภาพ : www.britannica.com

แต่ในขณะที่กองทัพเยอรมันเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ กองทัพของมุสโสลินีกับย่ำแย่ลงทุกที ไปรบที่ไหนก็หนีญญ่ายพายจแจ้น (แตกกระจัดกระจายจากหมู่) ไปเสียหมดสิ้น ในที่สุดวันหนึ่ง มุสโสลินีก็ไปเยือนเยอรมนีแล้วก็หน้าตึงกลับมา เพราะเมื่อเห็นแสนยานุภาพของกองทัพเยอรมันแล้ว ก็รู้ได้ทันทีว่าตัวเองไม่ใช่พระเอกของมหากาพย์เรื่องนี้แล้ว

รวบรัดตัดความ เยอรมันทำสงครามโลกครั้งที่ 2 อิตาลีเงื้อง่าราคาแพงอยู่พักหนึ่ง แต่ในที่สุดก็เข้าร่วมจนได้ทั้งที่ไม่พร้อมอะไรเลย ผู้กุมบังเหียนของการศึกคือฮิตเลอร์ ส่วนมุสโสลินีได้แต่เป็นผู้ตาม ในที่สุดเมื่อฝ่ายพันธมิตรอันมีสหรัฐอเมริกาบุกเข้าอิตาลี รัฐบาลอิตาลีก็ต้องตัดสินใจคิดการใหญ่แล้ว นั่นคือ คนในพรรคพร้อมใจกันปลดมุสโสลินีออกจากตำแหน่ง แล้วส่งตัวแทนไปเซ็นสัญญาสงบศึกในปี 1943 นับเป็นจุดสิ้นสุดอย่างเป็นทางการของฟาชิสต์และมุสโสลินี

ไม่ เรื่องไม่ได้จบแค่นี้ ตายเหรอ ยัง มุสโสลินีถูกนำไปกักตัวยังที่ลับ แต่เยอรมันบุกไปชิงตัวได้ (ลับยังไง) แล้วก็ให้มุสโสลินีตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดโดยมีฮิตเลอร์เป็นเบื้องหลัง ความปั่นป่วนนี้มีอยู่ได้สัก 2 ปี ในที่สุดมุสโสลินีก็ถูกพวกต่อต้านฟาชิสต์จับ และสำเร็จโทษโดยการยิงแล้วนำศพไปยังมิลาน ภาพจำสุดท้ายของคนอิตาเลียนที่มีต่อมุสโสลินีคือ การถูกแขวนห้อยหัวลงมากลางจัตุรัสแห่งหนึ่งในเมือง และข่าวนั้นเองเป็นสาเหตุที่ทำให้ฮิตเลอร์ตัดสินใจยิงตัวเองตาย

ภาพ : www.britannica.com

ถามว่ามีอะไรบ้างไหมที่มุสโสลินีทำไว้นอกเหนือจากการพาคนไปตาย ก็ต้องบอกว่า เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่เขาทำไว้ ก็คือการให้วาติกันเป็นรัฐอิสระนั่นเอง

ภาพ : www.wikiwand.com

ปัจจุบัน ฟาชิสต์และมุสโสลินีเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากพูดถึง กระนั้น ณ บ้านเกิดของเขา ที่เมืองเปรดัปปิโย (Predappio) ก็ยังทำเป็นพิพิธภัณฑ์ คนอิตาเลียนไม่กลบประวัติศาสตร์ อะไรเกิดก็ต้องเรียนรู้กับมัน การฝังกลบไม่ได้ทำให้เกิดการเรียนรู้

สำหรับคนอิตาเลียนในปัจจุบันนี้ เมื่อนึกถึงมุสโสลินี ก็มักจะพูดออกมาอย่างขำ ๆ ว่า 

“อ้ะ อย่างน้อยรถไฟตอนนั้นก็ตรงเวลา”

Writer

Avatar

สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์

‘ครูก้า’ ของลูกศิษย์และลูกเพจ ผู้เชื่อ (ไปเอง) ว่าตัวเองเป็นครูสอนภาษาอิตาเลียนมือวางอันดับหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ หัวหน้าทัวร์ผู้ดุร้าย นักแปลผู้ใจเย็น ผู้เชิดหุ่นกระบอกมือสมัครเล่น และนักเขียนมือสมัครเล่นเข้าไปยิ่งกว่า