แม้ว่าสถานการณ์โรคระบาดจะบังคับให้เราต้องอยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ แต่มนุษย์ทุกคนย่อมโหยหาพื้นที่สีเขียวตามสัญชาตญาณและความผูกพันที่มีต่อธรรมชาติ

พื้นที่สาธารณะสีเขียวในเมือง ไม่เพียงเป็นดัชนีชี้วัดความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน อีกด้านพื้นที่เหล่านี้ยังช่วยฟื้นฟูเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ โดยเฉพาะเมื่อโลกเกิดวิกฤต Climate Change หรือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งที่มากไปกว่าการเป็นปอดฟอกลมหายใจ บางแห่งกลายเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ รองรับปริมาณน้ำฝนจำนวนมหาศาล หรือเป็นแหล่งบำบัดมลภาวะทางน้ำ เรียกได้ว่าให้ธรรมชาติฟื้นฟูกันเอง

ข่าวดีที่ชาวเมืองกรุงกำลังจะได้รับพื้นที่สาธารณะสีเขียวเพิ่มขึ้นอีกแห่งจากเดิมที่เป็นโรงงานยาสูบ เพื่อบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมและจัดการทรัพยากรในเมืองอย่างคุ้มค่า เป็นสวนป่าที่อยู่ร่วมกับน้ำและเป็นฟองน้ำขนาดใหญ่ที่ช่วยรองรับน้ำท่วม ซึ่งอีกไม่นานเกินรอ สวนแห่งนี้จึงจะมีทั้งสถานที่ออกกำลังกาย ทางเดินศึกษาธรรมชาติ แหล่งเรียนรู้พันธุ์ไม้หายาก พิพิธภัณฑ์ โดยพื้นที่แห่งนี้ยังได้รับความร่วมมือกันหลายภาคส่วน ประกอบด้วยกรมธนารักษ์ ผู้เป็นเจ้าของผืนที่ดิน กองทัพบก ผู้เป็นแรงสร้าง และสถาบันอาศรมศิลป์ หน่วยงานสถาปนิกผู้ออกแบบโครงการ

คอลัมน์ Public Space ชวน ประภาพร บำรุงไทย Executive Director ชัชนิล ซัง Landscape Studio  Director และ พรหมมนัส อมาตยกุล Project Architect ตัวแทนผู้ออกแบบโครงการจากบริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด มาเล่าเบื้องหลังการออกแบบพื้นที่สวนป่าระยะที่ 2 – 3 กว่า 259 ไร่ เพื่อเชื่อมต่อเมืองด้วยการเดินให้ฟังอย่างละเอียด

สวนเบญจกิติ สวนป่าในสวนสาธารณะแห่งใหม่ พื้นที่แก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำเสียให้คนกรุง

ป่าในเมือง

พื้นที่เดิมของสวนเบญจกิติขนาด 130 ไร่ อยู่รอบ ๆ บึงน้ำของโรงงานยาสูบ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2535 ด้วยแนวคิดสวนน้ำและสวนป่า เมื่อเฟสแรกที่เป็นสวนน้ำสร้างเสร็จ กรมธนารักษ์และกระทรวงการคลังผู้เป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมด ตั้งใจจะมอบพื้นที่บริเวณโรงงานยาสูบนี้คืนเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับคนเมืองอยู่แล้ว โดยทยอยเวนคืนและย้ายโรงงานไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนเมื่อครบจึงคลี่โครงการสร้างสวนป่าระยะที่ 2 และ 3 ขึ้นมาอีกครั้ง

สวนเบญจกิติ สวนป่าในสวนสาธารณะแห่งใหม่ พื้นที่แก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำเสียให้คนกรุง

สำหรับการวางผังแม่บทและออกแบบรายละเอียดโครงการ ได้บริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบจากวิธีการประกวดแบบ

“เรื่องสำคัญคือ เราพยายามทำสวนที่ไม่ใช่แค่สวนที่คนเข้าไปวิ่ง แต่เป็นสวนที่มีคุณค่า มีความหมายให้กับคน กทม. มากกว่านั้น” ประภาพรกล่าวในฐานะนักออกแบบ ที่ตั้งใจให้สวนแห่งนี้บรรเทามลภาวะต่าง ๆ ในเมือง

สวนป่าหรือป่าในเมือง ได้รับการตีความจากผู้ออกแบบให้เป็นมากกว่าป่า ซึ่งเธออธิบายว่า คำว่าป่าในเมืองนั้นต้องมีการจัดการ แต่จะทำอย่างไรให้เกิดระบบนิเวศที่เกื้อกูลกันเอง โดยที่เข้าไปดูแลน้อยที่สุด และต้องมีพื้นที่จัดกิจกรรมสำหรับคนเมืองได้ทั้งภายนอกและภายในอาคาร นี่คือโจทย์หลัก

ภายในสวนเบญจกิติระยะที่ 2 และ 3 แบ่งเป็นพื้นที่ 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ พื้นที่ทางธรรมชาติ มี 4 บึงน้ำที่รองรับได้ถึง 128,000 ลบ.ม. และพื้นที่สีเขียวที่มีต้นไม้เดิม 1,733 ต้น และต้นไม้ที่ลงใหม่ 7,155 ต้น ส่วนพื้นที่เส้นทางสำหรับส่งเสริมกายออกกำลังกาย แบ่งเป็นทางเดินลัดเลาะในธรรมชาติ 5.8 กม. เส้นทางวิ่ง 2.8 กม. และเส้นทางจักรยาน 3.4 กม. สุดท้ายพื้นที่อาคาร มีการรีโนเวตโกดังเก็บใบยาสูบและโรงงานผลิตยาสูบเป็นอาคารกีฬาในร่มและอาคารพิพิธภัณฑ์ที่รองรับผู้ใช้งานได้ถึง 3,000 คน มีแปลงนาสาธิตและอัฒจันทร์รองรับการจัดกิจกรรมได้กว่า 15,000 คน โดยทั้งหมดเป็นการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ที่เก็บตัวสถาปัตยกรรมไว้เช่นเดิม

พื้นที่ชุ่มน้ำ

“เราตีความว่าป่าต้องมีน้ำด้วย”

ชัชนิล อธิบายที่มาของคอนเซ็ปต์การออกแบบพื้นที่ให้เป็นระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) ใช้ได้ทั้งในการกักเก็บน้ำและบำบัดน้ำเสีย

“ตอนนี้ขาดพื้นที่เหล่านี้และน้ำเป็นปัญหาของกรุงเทพฯ ที่นี่เลยเป็นฟองน้ำหรือพื้นที่ซึมน้ำ ซึ่งไม่ได้รับน้ำทั้ง กรุงเทพฯ ได้หมด สมมติว่าคลองเตยมีน้ำท่วมสัก 60 ซม. เอามาพักเอาที่นี่ก่อนค่อยปล่อย ก็จะลดระดับน้ำ หรือไม่ท่วมได้ และไม่ได้มีประโยชน์แค่หน้าฝน พอหน้าแล้งก็ทำความชุ่มชื้นออกมาให้สวน แต่ในช่วง 3 ปีแรกอาจจะต้องดูแล หลังจากนั้นธรรมชาติจะทำงานด้วยตัวเอง ผลิตออกซิเจน ผลิตอาหารให้คน ให้นก เป็นสวนที่ผลิตมากกว่าสวนที่มาใช้พลังงาน ต่อมาคือการบำบัดน้ำเสียตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเรามีเพื่อนบ้านคือคลองไผ่สิงโตที่อยู่ทางทิศเหนือ จึงนำน้ำเข้ามาบำบัดตามธรรมชาติเพื่อใช้ในสวนด้วย

สวนเบญจกิติ สวนป่าในสวนสาธารณะแห่งใหม่ พื้นที่แก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำเสียให้คนกรุง

“เราทำให้ระบบทุกอย่างเชื่อมโยงกัน ตักน้ำ เอาน้ำมาใช้ กักเก็บไว้ในช่วงหน้าฝน หน้าแล้งก็ปล่อยออกไป กลายเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ แล้วก็ทำให้เห็นว่ามันพึ่งพากันได้ เพื่อลดภาระการดูแลจัดการ”

น้ำที่ผันมาจากคลองไผ่สิงโตได้รับคำแนะนำในด้านเทคนิคต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ Slope ความเร็วของการไหลของน้ำ หรือเรื่องค่าต่าง ๆ อย่างค่า BOD เป็นต้น

 ด้านภูมิทัศน์เกาะกลางน้ำ ผู้ออกแบบเล่าอย่างติดตลกเพื่อให้เข้าใจง่ายว่าหลุมขนมครกนี้เอง ช่วยกระจายและกักเก็บน้ำในพื้นที่สวนป่า ใช้ภูมิปัญญาไทยจากการทำร่องสวน ที่ทำกันมาแต่ดั้งเดิมในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ ซึ่งพวกเขาศึกษาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของพื้นที่ โดยที่มาของแต่ละหลุมเกิดขึ้นจากการคิดแก้ปัญหาเรื่องดิน คำนึงถึงการรองรับน้ำท่วม และเก็บต้นไม้เดิมไว้ทุกต้น

“ตรงนี้เป็นอาคารเก่า มันเลยเป็นดินที่อยู่ใต้อาคาร เราต้องการปรับปรุงดินให้มีอากาศ แล้วอยากให้เป็นรูปร่างที่ดึงดูด เป็นเอกลักษณ์เฉพาะส่วน คนมาแล้วประทับใจ แต่ว่านอกจากการปรับปรุงดินแล้ว กรุงเทพฯ มีน้ำใต้ดินสูง การยกร่องของคนภาคกลางเพราะต้องการให้รากหนีน้ำ ในขณะเดียวกัน น้ำก็ยังซึมเข้าไปช่วยรดน้ำต้นไม้ คือไม่ต้องรดบ่อยเพราะรากมันหาน้ำได้เอง”

สวนเบญจกิติ สวนป่าในสวนสาธารณะแห่งใหม่ พื้นที่แก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำเสียให้คนกรุง
สวนเบญจกิติ สวนป่าในสวนสาธารณะแห่งใหม่ พื้นที่แก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำเสียให้คนกรุง

ทั้งหมดออกแบบและเลือกใช้วัสดุที่ให้น้ำท่วมได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเศษวัสดุจากการรื้อถอนอาคาร เช่น นำอิฐมาใช้ในการทำระบบทางเดินน้ำ ส่วนการขุด Eco Canal เพื่อรองรับและระบายน้ำ มีการจัดพื้นที่ร่องระบายน้ำแบบเปิดหรือ Bioswale ก็ทุบเศษคอนกรีตให้เล็กเหมือนหิน แล้วนำมาจัดเรียงเพื่อรองรับน้ำไหลบ่าบนผิวดิน (Surface Runoff) ป้องกันการกัดเซาะและทำให้ฐานแน่น ซึ่งการใช้เศษวัสดุให้เป็นประโยชน์และสร้างสวนบนโครงสร้างทางและถนนเดิม ทำให้งบประมานโดยเฉลี่ยของโครงการอยู่ที่ตารางเมตรละ 2,000 บาท

ในขณะก่อสร้าง ทีมผู้ออกแบบได้มีโอกาสทำงานร่วมกับผู้รับเหมาและกรมทหารช่าง เพื่อให้แล้วเสร็จทันเวลากรมธนารักษ์จึงขอความร่วมมือไปยังกองทัพบก พวกเขาเล่าว่าได้เห็นความตั้งใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่แพ้กัน

“อย่างกล้าไม้ที่เกิดขึ้นตรงนี้ เราขอให้ช่วยเก็บใส่ถุงดำแล้วเอากลับมาปลูกใหม่ที่นี่เขาก็ทำให้ อย่างช่วงที่กำลังเริ่มสร้าง ต้องบริหารว่าน้ำจะพอรดในช่วงที่เอาต้นไม้มาลงไหม เขาก็บอกว่าเดี๋ยวจะลองผันน้ำจากคลองไผ่สิงโตมาทำ Wetland เลยเพื่อดูว่าค่า BOD เป็นยังไง ตอนนั้นน้ำยังไม่ลูป เขาก็ใช้ EM Ball มาใส่ให้แลำทำให้มันมีอากาศเข้ามา อย่างเรื่องการปรุงดินเพื่อปลูกต้นไม้เขาก็ทำเอง คืออินกับการทดลองพวกนี้มาก จริง ๆ เราทึ่งตั้งแต่การปั้นเนินในบึงน้ำแบบฟรีฟอร์ม ซึ่งมันยากนะ เขาเล่าให้ฟังว่ายืนกัน 5 คน แล้วก็คุยกันว่าจะขุดยังไง เลยเอาเส้นที่เราออกแบบใน Autocad มาทับกับภาพโดรน ใช้รถแบคโฮขีดเส้น แล้วขุดให้ได้เส้นนี้ พยายามมาก เราเลยรู้สึกว่าถ้าแค่นักออกแบบไม่มีทางสำเร็จ” ประภาพรเล่า

“มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ต้นไม้กลาง ๆ มันจะตาย เขาก็ไปดูทุกวัน เครียดมากเลยนะ แต่พอเห็นมันเริ่มแตกใบ เขาก็มาบอกว่า เฮ้ย รอดแล้ว เราว่าเขาอินพอที่จะรักต้นไม้ทุกต้นในไซต์ อินกับงานนี้จริง ๆ แบบที่ไม่ใช่เพราะคำสั่งในรายการประกอบแบบ” ชัชนิลเสริม

สวนเบญจกิติ สวนป่าในสวนสาธารณะแห่งใหม่ พื้นที่แก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำเสียให้คนกรุง

แหล่งเรียนรู้พืชพันธุ์ดั้งเดิมและไม้แปลกหายาก

ในบริเวณสวนเบญจกิติ ระยะที่ 2 – 3 จะมีพื้นที่ทำการเกษตรแบบ Urban Farm ผลิตอาหารให้กับคนเมือง มีการจัดสวนแบบวนเกษตร ปลูกพืชพื้นบ้าน พืชในพื้นที่ริมคลอง ทั้งหมดจึงกลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศแตกต่างกันไป

ที่น่าสนใจคือการเลือกและหาพันธุ์ไม้จากพืชท้องถิ่นเดิมในบริเวณกรุงเทพฯ กว่า 300 ชนิด มาเพิ่มความหลากหลายให้ระบบนิเวศ และให้เป็นแหล่งเรียนรู้พืชพันธุ์ดั้งเดิมและไม้แปลกหายาก โดยทางทีมภูมิสถาปนิกร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คัดสรรพันธุ์ไม้ที่มีลักษณะเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่สุด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีลดภาระการดูแลรักษาสวน โดยนำต้นกล้าเข้ามาปลูกเองในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ เพราะจะมีความทนทานแข็งแรงมากกว่าไม้ล้อม และยังพยายามรักษาต้นไม้เดิมที่อยู่ในพื้นที่ไว้ให้มากที่สุด ไม่ว่าใหญ่ เล็ก หรือต้นกล้าที่เกิดขึ้นเองในพื้นที่ เพื่อรักษาพืชท้องถิ่นไว้ ส่วนการปลูกไม้ดอก ก็จะเน้นเป็นกลุ่มตามลักษณะของพันธุ์ที่มีสีใกล้เคียงกัน

สวนเบญจกิติ สวนป่าในสวนสาธารณะแห่งใหม่ พื้นที่แก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำเสียให้คนกรุง
สวนเบญจกิติ สวนป่าในสวนสาธารณะแห่งใหม่ พื้นที่แก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำเสียให้คนกรุง

สวนเดินได้

เส้นทางภายในสวนประกอบไปด้วยทางเดินและทางจักรยานหลายรูปแบบ ทั้งทางเดิน ลู่วิ่ง ทางจักรยาน Boardwalk ริมน้ำ ทั้งน้ำลึกและน้ำตื้น และทางเดิน Skywalk ที่เดินเชื่อมต่อไปถึงสวนลุมพินีได้ ทางเดินเหล่านี้คำนึงถึงการใช้งานของผู้คนในเมือง มีการออกแบบอย่าง Universal Design มีทางลาดที่ได้มาตรฐาน เหมาะกับผู้พิการและผู้สูงวัย โดยจะพาลัดเลาะไปตามสวนในพื้นที่ใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่ตั้งแต่ในสมัยยังเป็นโรงงานยาสูบ

“การเชื่อมกับเมืองเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะถ้าสวนไม่มีการเชื่อมกับเมืองมันก็จะไม่มีคนเข้ามาใช้ อย่าง Skywalk ที่เชื่อมมาจากสวนลุมพินี แล้วก็เข้าไปที่อาคารพิพิธภัณฑ์ได้ เราอยากให้มันเชื่อมต่อไปกับชุมชนโดยรอบด้วย อย่างฝั่งตรงข้ามเป็นแฟลต ที่เราเสนอเอาไว้ว่าจะเชื่อมเปิดทางเข้าฝั่งทางด่วน เป็นลักษณะลอดใต้ทางด่วนข้ามจากชุมชนเข้ามา”

เปลี่ยนโรงงานยาสูบเป็นพื้นที่สาธารณะ 453 ไร่ สำหรับหน่วงน้ำและบำบัดน้ำเสียด้วยพืชพันธุ์ธรรมชาติกว่า 300 ชนิด 8,888 ต้น
เปลี่ยนโรงงานยาสูบเป็นพื้นที่สาธารณะ 453 ไร่ สำหรับหน่วงน้ำและบำบัดน้ำเสียด้วยพืชพันธุ์ธรรมชาติกว่า 300 ชนิด 8,888 ต้น

เก็บไว้ให้ทุกคน

การออกแบบอาคารกีฬาในร่ม พิพิธภัณฑ์ อัฒจันทร์ และแปลงนาสาธิต จากอาคารของโรงงานยาสูบที่ยังเหลืออยู่ขนาด 200 x 200 เมตร และโกดังอีก 3 หลังด้านหลังนั้น มุ่งเน้นการพัฒนาเชิงอนุรักษ์

เปลี่ยนโรงงานยาสูบเป็นพื้นที่สาธารณะ 453 ไร่ สำหรับหน่วงน้ำและบำบัดน้ำเสียด้วยพืชพันธุ์ธรรมชาติกว่า 300 ชนิด 8,888 ต้น

ตัวอาคารโรงงานเป็นสถาปัตยกรรมในแบบยุค 70 – 80 ซึ่งมีเอกลักษณ์ในด้านการออกแบบ เช่น การก่อผนังอิฐโชว์แนว หรือการใช้โครงสร้างแบบพื้นโครงสร้างแบบรวงผึ้ง (Waffle Slab) ในการสร้างอาคารพาดช่วงกว้างขนาด 20 เมตร ในยุคที่ยังไม่มีพื้นสำเร็จรูปแบบระบบพื้นอัดแรงหรือพื้นไร้คาน (Post Tension Slab) การพัฒนาออกแบบอาคารใหม่ยังคงเก็บโครงสร้างหลักของอาคารไว้ เพื่อรักษาสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไว้

อาคารนี้จะทำหน้าที่เหมือนประตูทางเข้าของสวนป่า เป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายคนจากในเมืองสู่พื้นที่ของป่า เมื่อเก็บ Façade ของอาคารเดิมเอาไว้ ก็ให้ความรู้สึกเหมือนก้าวเข้าไปสู่โลกอีกใบหนึ่ง ภายในอาคารมีการย่อสวนป่ามาไว้ให้ชม แทรกพื้นที่กิจกรรม พื้นที่การเรียนรู้ และพื้นที่สีเขียวเข้าไป มีการรื้อผนังและเพดานออกเป็นบางส่วน เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยและเพิ่มการรับแสงธรรมชาติ โดยในการรื้อจะเก็บร่องรอยของผนังเดิมเอาไว้เล่าเรื่องราวและประวัติของอาคาร อีกทั้งยังเก็บเครื่องจักรเดิมไว้บางส่วน ราวกับเก็บจิตวิญญาณของสถานที่ไว้ต้อนรับคนเข้ามาชม มีการเก็บทางเดินสังเกตการของโรงงานเดิมเอาไว้ ให้เดินชมพื้นที่และต้นไม้ทั้งหมดจากมุมบน และจัดพื้นที่สีเขียวภายในด้วยไม้ไม่ผลัดใบ (Evergreen Plants)

เปลี่ยนโรงงานยาสูบเป็นพื้นที่สาธารณะ 453 ไร่ สำหรับหน่วงน้ำและบำบัดน้ำเสียด้วยพืชพันธุ์ธรรมชาติกว่า 300 ชนิด 8,888 ต้น
เปลี่ยนโรงงานยาสูบเป็นพื้นที่สาธารณะ 453 ไร่ สำหรับหน่วงน้ำและบำบัดน้ำเสียด้วยพืชพันธุ์ธรรมชาติกว่า 300 ชนิด 8,888 ต้น

บางส่วนของอาคารจะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเน้นไปในด้านพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับป่าไม้ มี Herbarium รวบรวมพันธุ์ไม้ที่เกี่ยวกับพระนามของพระองค์ เช่น กล้วยไม้กิติยากร เป็นต้น และภายในอาคารยังออกแบบให้รองรับกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมกีฬาหรือกิจกรรมเกี่ยวกับป่า และเป็นพื้นที่สำหรับนิทรรศการอื่น ๆ ได้

สำหรับอาคารโกดังอีก 3 หลังที่มีอายุแตกต่างกัน แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมในตั้งแต่ยุค 80 เป็นต้นมา จะถูกเปลี่ยนเป็นอาคารกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เวิร์กชอป เล่นกีฬา คาเฟ่ ร้านอาหารครอบครัว เป็นต้น ส่วนอาคารจัดเก็บเครื่องจักรที่มีความสูง จะนำมาประยุกต์ให้เป็นหอชมวิว

ทีมอาศรมศิลป์ยังเล่าต่ออีกว่า ในอนาคตพื้นที่เหล่านี้จะจัดเป็น Bike Hub มีร้านซ่อม เช่า และขายจักรยาน เพื่อส่งเสริมและเชื่อมเข้ากับโครงข่ายเส้นทางจักรยานเดิม ที่เชื่อมสวนเบญจกิติเข้ากับสวนลุมพินีได้ด้วย

ในระหว่างอาคารออกแบบพื้นที่อัฒจันทร์หรือ Amphitheatre เพื่อรองรับการจัดกิจกรรมหลากหลายสำหรับผู้มาใช้บริการและเชื่อมลงไปยังสวน ซึ่งพื้นที่นี้ก็ยอมให้น้ำท่วมได้เช่นกัน

เปลี่ยนโรงงานยาสูบเป็นพื้นที่สาธารณะ 453 ไร่ สำหรับหน่วงน้ำและบำบัดน้ำเสียด้วยพืชพันธุ์ธรรมชาติกว่า 300 ชนิด 8,888 ต้น

“ตรงขอบเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับน้ำ ข้างล่างลงมาเลยใช้เป็นนาขั้นบันไดจากอาคาร จะต่อมาจากกริดของอาคารที่เป็นขั้นอยู่แล้ว เราก็เพิ่มขั้นเข้าไปที่น้ำด้านล่าง จริง ๆ อาคารทุกหลังทำหน้าที่เป็นอัฒจันทร์ขนาดเล็ก ให้ด้านหนึ่งเป็นคันนา ด้านหนึ่งเป็นวนเกษตรสวนบ้าน” พรหมมนัส ผู้ออกแบบอธิบายเพิ่ม

“ความคาดหวังของเราคือ เกิดพื้นที่การเรียนรู้ของคนเมือง ให้ครอบครัวมาใช้ด้วยกันได้ในวันเสาร์-อาทิตย์ ฉะนั้น ข้างล่างจึงไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ทั้งหมด” เขาเผยแผนการออกแบบตัวอาคารในอนาคต

สำหรับการออกแบบโปรเจกต์นี้ ทางทีมสถาปนิกได้กล่าวปิดท้ายไว้ว่า “สิ่งที่อยากให้งานนี้เป็นนั้น ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ แต่ว่าอยากให้เป็นงานออกแบบที่มีคุณค่ากับชีวิตของผู้คนในเมือง ทำให้คนเห็นว่า สวนที่ถูกสร้างมาเพื่อแก้ปัญหาและเพิ่มคุณภาพของทุกชีวิตในเมืองนั้นเป็นอย่างไร

“เราอยากให้สิ่งนี้ เป็นโมเดลที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการสร้างสวนแบบนี้อีกในกรุงเทพฯ หรือพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งน่าจะเป็นโมเดลที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเรายั่งยืน ตอนนี้ภูมิสถาปัตยกรรมมันไม่ใช่แค่เรื่องความงามทางกายภาพ แต่มันเป็นเรื่องคุณค่าที่เข้าไปยกระดับสภาพแวดล้อมของโลกใบนี้”

เปลี่ยนโรงงานยาสูบเป็นพื้นที่สาธารณะ 453 ไร่ สำหรับหน่วงน้ำและบำบัดน้ำเสียด้วยพืชพันธุ์ธรรมชาติกว่า 300 ชนิด 8,888 ต้น

Writers

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Avatar

ปัณณ์ เสริมชัยวงศ์

โตมาในเมืองใหญ่ รักในการเดิน คอยมองหาเรื่องราวใหม่ๆ ให้เรียนรู้ในทุกวัน

Photographers

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน