พูดถึงการแก้แค้น จะมีสำนวนหนึ่งที่มาคู่กันเสมอคือ ‘Revenge is a dish best served cold’ หรือจะให้ดีที่สุด การแก้แค้นควรกระทำโดยทิ้งช่วงให้ทุกอย่างสงบก่อน แล้วค่อยลงมือถึงจะสาแก่ใจ แต่แค่ดูตัวอย่างหรือได้เห็น Tagline ของซีรีส์เรื่องนี้ที่เปลี่ยนไปใช้เป็นคำว่า ‘Revenge is a dish best served raw’ หรือเสิร์ฟมันดิบ ๆ แบบไม่สนหน้าสิ่วหน้าขวาน เป็นไงเป็นกัน ลุยมันตอนนี้ไปเลย อารมณ์ความอยากดูแบบดิบ ๆ รวดเดียวจบจึงถือกำเนิดขึ้นตาม 

ถ้าอากาศเดือนเมษายนยังร้อนไม่พอ รถติดยังทำให้เดือดดาลไม่ได้ หรือรู้สึกว่าช่วงนี้ความดันต่ำไปหน่อย ขอแนะนำให้รู้จักกับ Beef เลยครับ ซีรีส์สุดสนุกหรรษาแห่งปีของ Netflix ที่คราวนี้แท็กทีมกับค่าย A24 มาในแนวดาร์ก-คอมเมดี้ และความเป็นเอเชียน-อเมริกัน ว่าด้วยเรื่องราวของคนแปลกหน้าหัวร้อน 2 คนที่บันดาลโทสะใส่กันบนท้องถนน (หรือที่เรียกกันว่า ‘Road Rage’) ด้วยการหงุดหงิดแล้วแจกกล้วย บีบแตร ขับรถไล่ล่า ด่าสบถ จนใครจะไปคิดว่าเหตุการณ์นี้จะนำไปสู่ความวินาศสันตะโรในชีวิตทั้งสองได้อะไรขนาดนั้น 

Beef คนหัวร้อน ซีรีส์ดาร์ก-คอเมดี้จากค่าย A24 เรื่องราวของคนหัวร้อนที่เริ่มจากสาดโทสะบนท้องถนน สู่ความวินาศและหายนะเกินคาดคิด

Beef เป็นซีรีส์ 10 อีพีจบ และความยาวอีพีละครึ่งชั่วโมงเท่านั้น จากผู้สร้าง อี ซองจิน (Lee Sung-jin) หรือชื่อเล่น ซันนี่ ที่ได้ สตีเว่น ยอน (Steven Yeun) หรือหนุ่มเกล็น จาก The Walking Dead (ผู้เป็นศิษย์เก่า A24 มาก่อนเช่นกันในหนังครอบครัวอบอุ่นอย่าง Minari) และ อาลี หว่อง (Ali Wong) เจ้าแม่สแตนด์อัปคอมเมดี้มารับบทเป็น แดนนี่ โช (Danny Cho) และ เอมี่ เหลา (Amy Lau) หนุ่มผู้รับเหมาหัวร้อนที่ชีวิตไม่ได้สวยงามแบบอเมริกันดรีม แม้จะอพยพมาอยู่ในดินแดนแห่งโอกาส และสาวเจ้าโทสะเจ้าของร้านขายต้นไม้ลูก 1 สามี 1 ที่เป็นสองตัวเอกและตัวต้นเรื่องของซีรีส์เรื่องนี้

ก่อนที่จะมาเป็น Beef มีคำศัพท์มากมายหลายคำ รวมถึง Idioms ภาษาอังกฤษมากมายเป็นแคนดิเดตชื่อเรื่องเพื่อถ่ายทอดธีมหลัก นั่นก็คือการทะเลาะเบาะแว้งอย่างเอาเป็นเอาตาย ซึ่งชื่อเดิมก่อนที่จะมาเป็นชื่อนี้ เรื่องนี้เกือบได้ใช้ชื่อว่า ‘Eye for an Eye’ หรือตาต่อตาฟันต่อฟัน ก่อนที่ต่อมาจะเปลี่ยนโจทย์ใหม่เป็นชื่อพยางค์สั้น น่าสนใจ ฮุกคนดู และมีสุนทรียะ คำสองคำที่เข้าข่าย ได้แก่ ‘Beef’ และ ‘Feud’ ที่มีความหมายโซน ๆ เดียวกัน แต่ต่างกันที่ความรู้สึก โดย Beef ออกแนวมีปัญหาเสียมากกว่า ในขณะที่ Feud คือการทะเลาะรุนแรง อาฆาตพยาบาท และมีความเอาเป็นเอาตาย หรือกล่าวได้ว่าการทะเลาะกันเป็น Beef ได้ แต่ Beef ไม่จำเป็นต้องเป็นการทะเลาะเสมอไป ในขณะที่ Feud เป็นประเภทหนึ่งของ Beef แต่ Beef ไม่จำเป็นต้องเป็น Feud นั่นเลยเป็นที่มาของชื่อเรื่อง Beef ครับ (แม้ในเรื่องค่อนข้างจะเป็น Feud ก็ตาม แต่เมื่อดูจบก็จะเข้าใจได้ว่ามันเป็น Beef อย่างที่ผู้สร้างตั้งใจจริง ๆ)

Beef มหากาพย์การแก้แค้นของคนหัวร้อนที่เริ่มจากนิ้วกลาง เสียงแตร คำด่า สู่หายนะของชีวิต

ถึงจะเป็นเรื่องแต่ง แต่ Beef มีแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงนะครับ (ที่คนไทยอย่างเราคงรู้จักมักจี่เป็นอย่างดี) นั่นก็คือประสบการณ์โร้ดเรจที่ผู้สร้างเคยพบเจอ 

ก่อนที่อีซองจินจะเกิดไอเดียเรื่องนี้ บ่ายวันหนึ่งเขาได้เผชิญหน้ากับรถ SUV ยี่ห้อ BMW สีขาว (แรงบันดาลใจรถ Mercedes Benz สีขาวของตัวละครเอมี่) ที่คนขับหัวร้อนสุด ๆ ด่าสบถ บีบแตร และเมื่อได้ระบายโทสะแล้วก็ขับรถไปแบบเร็วแรง ทันใดนั้นอีซองจินคิดในใจว่า “ได้ เจอขับตามหน่อยเป็นไง” จึงขับรถตามไปโดยไม่ได้มีแผนหรือไม่ได้ตั้งใจจะตามจริงจัง โดยกะว่าถ้าต้องไปคนละทางก็จะเลิกตาม ณ ตอนนั้น แต่ทั้งคู่บังเอิญไปทางเดียวกันซะอย่างงั้นครับ กลายเป็นว่าเขาตามรถสีขาวคันนี้ไป 30 – 40 นาทีเห็นจะได้ จนเจ้าตัวแอบคิดเหมือนกันว่าเจ้าของรถคันนี้คงจะหลอนไม่น้อย แต่ก็รู้สึกว่าดีแล้ว เพราะถือเป็นการส่งเมสเซจไปในตัวว่า ไม่ใช่เรื่องโอเคที่จะไปทำแบบนี้กับคนอื่น และรู้สึกโล่งเหมือนกันที่ไม่ได้มีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้นหลังจากนั้นหรือเหตุการณ์ไม่ได้จบลงอย่างในซีรีส์

สิ่งที่อยู่ในหัวเขาตอนนั้นคือมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ Subjective หรือคิดและมองในมุมมองของตัวเอง อยู่ในฟองสบู่ อยู่ใน Chamber แล้วนำความคิดความเข้าใจของตัวเองเหล่านี้ไปโยนใส่ผู้อื่นแทบตลอดเวลา โดยเฉพาะกับคนที่ไม่รู้จัก ซึ่งอีซองจินเองก็พบว่าตัวเองและเจ้าของรถคันนี้กำลังจะเป็นแบบนั้นอยู่เช่นกัน ความคิดที่ว่า “เรื่องนี้น่าสำรวจเหมือนกันแฮะ เผลอ ๆ เป็นซีรีส์ได้เลยนะเนี่ย” จึงบังเกิดขึ้นครับ 

และในเวลาต่อมา อีซองจินได้ไปพบกับหัวหน้าฝ่ายโทรทัศน์ของค่าย A24 เขาถูกถามว่าช่วงนี้ยุ่งอยู่มั้ย หรือมีไอเดียอะไรบ้างรึเปล่า อีซองจินเล่าให้เขาฟัง เฮดคนนี้ถูกใจอย่างมาก ซีรีส์เลยได้รับการอนุมัติตั้งแต่ยังไม่ได้เขียนบทด้วยซ้ำ และเกิดเป็นพล็อตเรื่อง

“คนสองคนที่ติดอยู่ในหล่มมุมมองของตัวเองมากเกินไป แต่ละคนมีเรื่องมากมายในชีวิตต้องคิด ต้องจัดการ และการทะเลาะกันครั้งนี้จะเป็นการพาไปดูเรื่องราวชีวิตของทั้งสอง” 

Beef มหากาพย์การแก้แค้นของคนหัวร้อนที่เริ่มจากนิ้วกลาง เสียงแตร คำด่า สู่หายนะของชีวิต

ซีรีส์ตลกร้ายส่วนใหญ่ว่าด้วยความเตลิดเปิดเปิงและไปกันใหญ่ หรือการหักดิบทางความรู้สึก ซึ่งสำหรับ Beef ยิ่งดูไปก็ยิ่งพบว่าดาร์กขึ้น หนักข้อขึ้นเรื่อย ๆ บิลด์ให้เรื่องราวซีเรียสขึ้นทั้งด้วยความตั้งใจและเข้าใจผิดชวนกุมขมับ จนอีพีที่ 9 – 10 ถึงกับคิดในใจว่าจากนิ้วกลางและเสียงแตรครั้งนั้น มันมาได้ถึงขนาดนี้เชียวหรือนี่ การดู Beef จึงทำให้ผมนึกถึงหนังและซีรีส์ตลกร้ายเรื่อง Fargo เงินร้อน ที่มีทั้งฉบับหนังและซีรีส์ช่อง FX เหมือนกันครับ ชื่อไทยเรื่องนั้นกับเรื่องนี้มีคำว่า ‘ร้อน’ และเกิดจากความ ‘ร้อน’ เหมือนกัน ว่าด้วยเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ และความซวยอันเกิดจากการเข้าใจผิดและการทำอะไรโง่ ๆ นำไปสู่ความย่อยยับของชะตากรรมในระดับที่คุมไม่อยู่ และต้องสานต่อมันไปเรื่อย ๆ ในแบบที่ทั้งคนดูและตัวละครเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าปลายทางจะไปจบลงที่ไหน

แต่ Beef ไม่ได้เล่าเรื่องราวตลกร้ายที่เน้นการแก้แค้นกันไปกันมาหรือเข้าเรื่องพวกนี้ตลอดเวลา แต่ตั้งแต่กระบวนการเขียนบทตัวซีรีส์ที่สร้างมาด้วยวิธีการแบบ Bird’s Eye View หรือมองภาพรวมแล้วคิดมากกว่าเขียน และให้เวลาไปกับการสร้างรากฐานเป็นสำคัญ จากนั้นเติม Elements ของความตลกโปกฮาและพล็อตพอยต์ต่าง ๆ เข้าไป ทั้งที่คิดขึ้นเอง จากเรื่องจริง จากคนรู้จัก และจากประสบการณ์ ทั้งหมดรวมกันจึงกลายเป็นชีวิตคนจริง ๆ และเส้นเรื่องทั้งของแต่ละคนและเส้นเรื่องล้างแค้นขึ้นมา การดูซีรีส์เรื่องนี้จึงเหมือนเกมที่หลายคนน่าจะแอบเล่นในคาบคอมพิวเตอร์ตอนสมัยประถม-มัธยมที่ชื่อ Cat VS Dog ที่ให้เราเล่นเป็นหมาแมวในคนละฟากฝั่งกำแพง แล้วปากระดูกหรือก้างปลาใส่กันจนกว่าอีกฝ่ายเลือดจะหมดหลอดหรือตายไปข้าง โดยที่เราได้รู้ชีวิตของหมาแมวแต่ละตัวด้วย 

และซีรีส์ยังใช้ความเป็นตลกร้าย สนุกสนาน ใช้เป็นม้าโทรจันเข้าประชิดคนดูอย่างไม่คาดคิด เพื่อบอกเล่าเรื่องราวและแง่มุมที่ลึกซึ้งกว่านั้น 

Beef มหากาพย์การแก้แค้นของคนหัวร้อนที่เริ่มจากนิ้วกลาง เสียงแตร คำด่า สู่หายนะของชีวิต

โดยพื้นฐานแล้วมันว่าด้วยเรื่องของ ‘เหลี่ยมมุมของชีวิต’ แต่ละคนมีด้านต่าง ๆ ที่เอามาแผ่โชว์หราและซ่อนหลบอยูใต้พรม และ Beef เป็นการเอามาพลิกดูว่าในแต่ละด้านมีอะไรอยู่บ้าง จนพบว่าทั้งแดนนี่และเอมี่มีด้านที่กดทับซ่อนไว้ด้านใน ไม่สื่อสาร และสื่อสารไม่ตรงกับใจ จน ณ จุดหนึ่งของเรื่องก็ได้เกิดการระเบิดใหญ่ โดยมีการแก้แค้นไปมานี้เป็นตัวกระตุ้น หรือขุดมันขึ้นมาจากแดนนี่ที่ลำพังก็มีปัญหาชีวิตอยู่แล้วในการสร้างตัวและปักหลัก กับความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองและน้องชาย และจากที่เอมี่มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ครอบครัว และการแบกรับภาพลักษณ์ ความสำเร็จ ในฐานะผู้นำที่น่าปวดหัวพอแล้ว การทะเลาะนี้ทำให้ทั้งหมดเข้มข้นไปกันใหญ่จนกู่ไม่กลับ

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ตัวละครทั้งสองยิ่งทะเลาะก็ยิ่งเผยให้เป็นความสัมพันธ์ Love-hate Relationship ในแบบที่ต้องการกันและกันอย่างแปลกประหลาด และดูเหมือนว่าทั้งคู่ทะเลาะกันเพราะลึก ๆ แล้วรู้สึกสนุก ดูจากตอนแรก ๆ ของซีรีส์ที่เผยให้เห็นว่าขณะวิ่งไล่ตามกัน ทั้งคู่ยิ้มออกมาโดยไม่รู้ตัว ราวกับปล่อยด้าน Childish ออกมาเหมือนเด็ก ๆ เล่นกัน ปล่อยด้านไร้สาระใส่กัน และกระทำเรื่องเลวร้ายใส่อีกคนโดยไม่ได้คำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา

สิ่งที่เกิดขึ้นใน Beef เป็นเหมือนกระจกสะท้อนพวกเราทุกคน ซึ่งต่างคนต่างใช้ชีวิตโดยมีพื้นที่คิดของตัวเอง และสร้างสตอรี่ไว้ในหัว 

และการแก้แค้นกันของทั้งสองคนไม่ต่างจากการปล่อยการ์ดหรือทุบกำแพงตัวเองให้หมาเห็นแมวและแมวเห็นหมาอย่างชัด ๆ โชว์ตัวตนที่แท้จริง จากนั้นทั้งสองก็พบด้านที่ดูอัปลักษณ์ที่สุดของอีกคนในแบบที่ไม่มีใครเคยเห็นยิ่งกว่าหน้าสดและการเปลือยกาย ความรู้สึกยอมรับกัน เข้าใจกัน ในทางหนึ่งจึงบังเกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัวผ่านการระบายโทสะใส่กัน เพราะส่วนหนึ่งที่ทั้งคู่ถูกดึงดูดเข้าหากันและจ้องปะทะกัน ลึก ๆ แล้วมันก็มาจากการเห็นว่าอีกคนชีวิตเละเทะและเป็นคนพัง ๆ เหมือนกันนั่นเองครับ 

และไม่รู้ว่ารู้ตัวหรือไม่ ทั้งสองคนล้วนกำลังเผชิญปัญหา Existential Crisis ที่ต้องการหาช่องว่างมาเติมเต็ม และสิ่งที่เติมเต็มรูนั้น คือคำด่า นิ้วกลาง และการผลัดกันล้างแค้น

Beef มหากาพย์การแก้แค้นของคนหัวร้อนที่เริ่มจากนิ้วกลาง เสียงแตร คำด่า สู่หายนะของชีวิต

ทั้งแดนนี่และเอมี่ต่างก็เป็นข้อสรุปของมนุษยชาติใน 2 ตัวละคร นั่นก็คือการเป็นมนุษย์ที่มีข้อบกพร่องและมีหลายเหลี่ยมมุม มีด้านดีและด้านร้าย ด้านสว่าง ด้านเงา เราจะเห็นตั้งแต่มุมดี ๆ ของแดนนี่ จนถึงมุมเห็นแก่ตัวของเขา และมุมผู้นำครอบครัวและนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จของเอมี่ แต่ก็มีมุมโหยหาสิ่งอื่น ทั้งความสัมพันธ์ที่ดี การเอาภาระออกจากบ่า และมุมอันสุดจะโกรธเกรี้ยว 

สิ่งเหล่านี้เราจะสังเกตได้ผ่านสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น การท่ี่แดนนี่ใช้รถกระบะที่ญาติไอแซคพูดว่า “นายมันไม่อัปเดตเลยว่ะ” มันคือความเป็นแดนนี่ที่ชีวิตไม่ได้ก้าวหน้าไปไหน หรือแว่นแปดเหลี่ยมของเอมี่ที่แผนกคอสตูมตั้งใจออกแบบให้แสดงถึงเหลี่ยมมุมในชีวิตของเธอ รวมไปถึงตัวบ้านเอมี่ที่ดูเหมือนสถาปัตยกรรมเซนก็เช่นกันครับ ที่จริงแล้วการเป็นซี่ ๆ นั้นสื่อถึงกรงขังที่ทำให้เธอไม่ได้มีอิสระในชีวิต อีกทั้งฉากที่เอมี่เล่นกับปืนในเรื่อง ยังบ่งบอกถึงการทะเลาะและแก้แค้นไปมานี้ได้เช่นกัน ว่าเอมี่ในแง่มุมหนึ่งก็เป็นคนชอบเอาตัวเองไปอยู่ใกล้ความเสี่ยงและความอันตราย ให้รู้สึกตื่นเต้น มีชีวิต แต่เป็นในแบบที่เธอรู้สึกว่าตัวเองควบคุมได้ แม้จะมองไม่เห็นทางข้างหน้าว่าจะดำเนินไปต่อถึงไหน ลิมิตอยู่ที่ไหน แต่ก็ยังจะทำต่อไป และเรื่องปืนนี้เองเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่สอดคล้องไปกับการทะเลาะกับแดนนี่ที่ไปกันใหญ่และมองไม่เห็นปลายทาง

และยังมีชื่อแต่ละอีพีที่บอกใบ้สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีพีนั้น ๆ อีก ชื่อเหล่านั้นได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานและคำพูดของบุคคลดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “The Birds Don’t Sing, They Screech in Pain” จากสารคดีของ เวอร์เนอร์ เฮอร์ซ็อก “The Rapture of Being Alive” จากคำพูดของ โจเซฟ แคมป์เบล We Draw a Magic Circle” จากหนังของ อิงมาร์ เบิร์กแมน หรือ I am a Cage” จากหนังสือของ ฟรานซ์ คาฟคา

ซึ่งดูเหมือนว่าอีกหนึ่งไอเดียที่เบื้องหลังซีรีส์เรื่องนี้ คือการ ‘ขยี้รสชาติของการเป็นผู้ใหญ่’ นั่นก็คือการที่ทั้งสองคนมีแผน ต้องการสร้างแพทเทิร์นในชีวิตระยะยาว โดยคนหนึ่งตั้งใจสร้างตัวและขึ้นไปสู่จุดที่สูงกว่าเดิม แล้วลอยตัวอยู่ตรงนั้น ส่วนอีกคนอยู่จุดที่สูงแล้ว และต้องการยึดทุกอย่างเอาไว้ไม่ให้ออกจากกันตั้งแต่ความสัมพันธ์และความสำเร็จในชีวิต 

แต่แล้วปัจจัยไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ซึ่งมันคือการกระทำที่ไม่คิดจากการใช้อารมณ์ นำไปสู่การถูก Disrupt ให้ชีวิตทั้งคู่พังพินาศและวางแผนอะไรไม่ได้อีกต่อไป ขาดความแน่นอนอย่างสิ้นเชิงอย่างย้อนแย้งและน่าขัน การแก้แค้นที่ทำให้ทั้งคู่เสียการควบคุม และการใช้อารมณ์นี้เองครับ แม้จะทำให้ทั้งคู่เผยความอ่อนแอแทนที่จะเข้มแข็งขึงขังอย่างที่เข้าใจ กลับกลายเป็นการระบายความอัดอั้นอย่างหนึ่ง ทำให้การแก้แค้นหรือที่เหตุการณ์โชว์นิ้วกลาง บีบแตร ขับรถไล่ ในช่วงต้นเรื่องกลับกลายเป็นแพะรับบาปที่ทั้งสองกำลังต้องการอยู่พอดี

Beef คนหัวร้อน ซีรีส์ดาร์ก-คอเมดี้จากค่าย A24 เรื่องราวของคนหัวร้อนที่เริ่มจากสาดโทสะบนท้องถนน สู่ความวินาศและหายนะเกินคาดคิด

และสิ่งโดดเด่นของซีรีส์เรื่องนี้ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ ‘ความเป็นเอเชีย’ ในฝั่งของประเทศกรีซและฝรั่งเศสจะมีคลื่นของหนังแปลกและหนังฝรั่งเศสคลื่นลูกใหม่ และการมีอยู่ของซีรีส์ Beef เองก็ถือเป็นหนึ่งใน ‘คลื่นผงาดของฝั่งเอเชีย’ เช่นกันครับ ตามมาติด ๆ กับ Everything Everywhere All At Once ที่เพิ่งกวาดออสการ์ครั้งล่าสุดไปมากที่สุด เพราะซีรีส์ Beef พูดถึงแง่มุมชีวิตของชาวเอเชียน-อเมริกันอพยพ โดยมีทั้งเกาหลี จีน และญี่ปุ่น ซึ่งตรงกับประสบการณ์ของนักแสดงพอดิบพอดี

ในทีแรกนั้นไม่ได้เป็นความตั้งใจขนาดนี้หรอกครับ แต่ความตั้งใจดั้งเดิมคือให้ตัวเอกที่เป็นคนเอเชียเหมือนกันทะเลาะกับคนผิวขาวเหมือนกับเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เขาจึงวาดภาพเป็น สตีเว่น ยอน VS ฝรั่งอเมริกันผิวขาวแนว ๆ สแตนลีย์ ทุชชี่ (Stanley Tucci) แต่หลังจากที่ได้เมาท์มอยกันกับ อาลี หว่อง และเธอได้เล่าเรื่องความลำบากยากเข็นของชีวิตและจิปาถะในแบบที่ตลกและสนุก จึงเกิดเป็นความคิดที่จะให้อาลีนี่แหละมาเล่นเป็นศัตรูของแดนนี่ เพราะการเล่าเรื่องเทไปทางเอเชียน-อเมริกัน ไปเลยถือว่าเข้าทางกว่า และเขาก็คิดว่าตัวเองคงเขียนบทไม่เก่งเหมือนกันถ้าจะให้เล่าเกี่ยวกับตัวละครคนขาว อีกทั้ง 3 คนยังเคยร่วมงานกันมาก่อน 

โดยอีซองจินกับสตีเว่น ยอน เป็นเพื่อนสนิทกันมานานนม อีกทั้งทั้งคู่ยังชอบคุย Deep Talk กันในหัวข้อประมาณว่า “ทำไมพระเจ้าถึงเป็นเช่นนั้น” “ทำไมสิ่งนี้ถึงเกิดขึ้น” และคุยกันทีไรจากที่เริ่มต้นด้วยอะไรง่าย ๆ มักจบลงด้วยการใช้เวลา 3 – 4 ชั่วโมงเสมอ และหลายสิ่งที่ได้จากบทสนทนานี้ก็มีส่วนในการ Shape ซีรีส์เรื่องนี้ด้วยเช่นกันครับ สตีเว่น ยอน จึงถูกชวนมาแสดงนำ รวมถึงมีส่วนช่วยคิดและใส่ไอเดียเข้าไปในบทด้วย (ชีวิตจริงสตีเว่นโตมากับโบสถ์ชาวคริสต์ และฉากร้องเพลงในเรื่องก็ร้องเพลง แถมยังเคยน้ำตาจะไหลจริงตอนฟังเพลงพวกนี้อีกด้วย) รวมถึงทำหน้าที่เป็น Executive Producer ด้วยเช่นกันครับ ก่อนที่ อาลี หว่อง จะตามมา สตีเว่นกับอาลีจึงเป็น 2 คนที่ถูกชวนให้มารับบทนี้เท่านั้น ไม่มีการแคสต์หรือออดิชัน ทั้งคู่มีส่วนอย่างมากตั้งแต่จุดเริ่มต้นในการแต่งเติมรายละเอียดและใส่มิติให้กับตัวละคร เพราะก่อนที่จะปั้นอากาศให้เป็นรูปร่าง จับต้องได้ ซึ่งอีซองจินนัดเจอกับทั้ง 2 คนและประชุม Zoom กันบ่อยมาก (ช่วงนั้นต้นปี 2020 หรือโควิดมาแรก ๆ ด้วยครับ) และใครคิดไอเดียออกก็จะนำมาโยนไว้ในแชตกลุ่ม จนในที่สุดก็ออกมาเป็นอย่างที่เห็น ซึ่งถึงแม้ว่าในชีวิตจริงทั้งคู่จะไม่ใช่คนหัวร้อนเหมือนในเรื่อง และรู้สึกแย่ที่จะระเบิดโทสะใส่กัน แต่เมื่ออยู่หน้ากล้อง สตีเว่นที่มีแต่คนชมว่าเป็นคนไนซ์ กับอาลีที่ขึ้นชื่อเรื่องความตลกแบบยืนเดี่ยว กลับทำมันออกมาได้ดีอย่างเหลือเชื่อ 

นอกจากนี้ อีซองจินยังได้ใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปในตัวละครแดนนี่และเอมี่ เคยให้สัมภาษณ์ว่าครั้งหนึ่งเขาเคยยากจนมาก่อน (มุมมองแดนนี่) และมีความเศร้าในแบบที่เราได้เห็นแดนนี่เผชิญ แต่ทุกวันนี้แม้มาไกลจากเดิมแล้วก็ยังคงรู้สึกเศร้าอยู่ดี และความรู้สึกนี้ไม่เคยจางหายไป (มุมมองเอมี่) ฉะนั้น วิธีการใช้ชีวิตสำหรับเขาคือการพยายามหาวิธีการใช้ชีวิตและหาวิธีการยอมรับ อยู่กับมันให้ได้ 

Beef คนหัวร้อน ซีรีส์ดาร์ก-คอเมดี้จากค่าย A24 เรื่องราวของคนหัวร้อนที่เริ่มจากสาดโทสะบนท้องถนน สู่ความวินาศและหายนะเกินคาดคิด

“คนผู้หนึ่งไม่ได้ตื่นรู้ด้วยการจินตนาการถึงรูปลักษณ์ของแสงสว่าง แต่จากการตระหนักรู้ถึงความมืดของตัวเราเอง” ขอปิดท้ายด้วยคำพูดของ คาร์ล ยุง ที่ผู้สร้างอีซองจินใช้เป็นอีกหนึ่งเสาหลักและแนวคิดพื้นฐานของซีรีส์เรื่องนี้ครับ เพราะนี่คือสิ่งที่ซีรีส์เรื่องนี้พูดถึงภายใต้ความตลกร้ายและสนุกหรรษา การที่มนุษย์เผยด้านมืดออกมาโดยไม่หวั่นไม่เกรง ไม่คิดหน้าคิดหลัง จนได้ตระหนักบางอย่าง ทั้งคุณค่าชีวิต บทเรียนระหว่างทาง กับสิ่งที่ต้องการจริง ๆ ซึ่งนั่นเป็นผลลัพธ์จากการสู้รบปรบมืออย่างไม้เบื่อไม้เมาของ 2 คนนี้ตลอดทั้งเรื่อง บวกกับการสรุปจบท่ี่น่าจะดีที่สุดเท่าที่จะจบได้แล้วของเรื่องราวมหากาพย์การแก้แค้นนี้ ผมค่อนข้างจะรักอีพีสุดท้ายของซีรีส์เรื่องนี้มาก ๆ เลยครับ

Beef ทั้ง 10 อีพีดูได้ทาง Netflix นะครับ และสำหรับคำถามที่ว่าจะมีซีซันต่อ ๆ ไปหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าเดิมทีผู้สร้างตั้งใจสร้างให้เป็นลิมิเต็ดซีรีส์หรือซีซันเดียวจบ แต่หากกระแสตอบรับดี เขาก็เปิดประตูสู่การสร้างมันเป็น Anthology Series ที่จะเล่าเรื่องราวใหม่ในซีซันอื่นเช่นกันครับ (ถ้า Netflix อนุมัติให้สร้าง)

ข้อมูลอ้างอิง
  • www.sandiegouniontribune.com
  • variety.com
  • www.today.com
  • thedailytexan.com
  • www.latimes.com

Writer

Avatar

โจนี่ วิวัฒนานนท์

แอดมินเพจ Watchman ลูกครึ่งกรุงเทพฯ-นนทบุเรี่ยน และมนุษย์ผู้มีคำว่าหนังและซีรีส์สลักอยู่บนดีเอ็นเอ