“เรารักบ้านของเราค่ะ มันอยู่สบายมากๆ”

นี่คือความเห็นจากเฮเลน สมาชิกผู้อยู่ในชุมชน Beddington Zero Energy Development หรือ BedZED มานับสิบปี ถ้าลองหลับตานึกตามว่านี่เป็นประโยคจากปากคนในชุมชนรักโลกชนิดสีเขียวเข้มสุด คุณอาจเห็นภาพ BedZED ต่างไปจากที่มันเป็นมาก

ทีนี้ลองเปิดตา แล้วพิจารณาภาพที่อยู่อาศัยด้านล่าง

BedZED หมู่บ้านยั่งยืน แห่งแรกของอังกฤษ บ้านดีในทำเลดี ค่าน้ำ-ไฟถูกกว่า ที่ไม่ทำร้ายโลก

บ้านที่เป็นอาคารแบบที่เราคุ้นเคย แถมยังมีดีไซน์เก๋นี้คือบ้านของ BedZED ต้นแบบชุมชนยั่งยืนแบบ Mix-used ขนาดใหญ่แห่งแรกของอังกฤษที่ริเริ่มขึ้นในปี 1997 จาก Bioreginal องค์กรการกุศลด้านความยั่งยืน Bill Dunster Architects บริษัทสถาปนิกหัวใจสีเขียว และ Arup องค์กรที่มีหนึ่งในงานคืองานด้านวิศวกรรม 

ทั้งสามองค์กรข้างต้นมองหาโอกาสสร้างหมู่บ้านรักษ์โลกแบบเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นศูนย์ เพื่อทำให้เราใช้ชีวิตอย่างคนมีโลกอยู่แค่ใบเดียวเท่านั้น ไม่ใช่หลายใบ 

อย่างไรก็ตาม ความพิเศษที่ทำให้ BedZED เป็น BedZED ก็คือการที่ผู้สร้างเชื่อมั่นว่าถ้าจะช่วยโลกได้แบบเห็นผลจริง คนเราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งการใช้ชีวิตและการทำงาน 

และนั่นแปลว่าข้อเสนอที่ยื่นเพื่อให้คนยอมเปลี่ยนตัวเองต้องไม่ใช่ยาขม 

โครงการที่นับว่าเป็น Pioneer และเป็นแรงบันดาลใจของชุมชนยั่งยืนทั่วโลกแห่งนี้จึงคิดละเอียด หาวิธีท้าทายข้อจำกัดต่างๆ ของวิถีแบบที่หลายคนอาจมองว่าเป็น ‘ทางเลือก’ ซึ่งหมายถึงการต้องออกจากทางหลัก 

ชักอยากพาคุณทัวร์เต็มแก่แล้ว, เชิญตามเรามาดูชุมชนที่เฮเลนอยู่และหลงรักได้เลย

จุดแรก: ป้ายรถบัส

อ้าว ไม่ต้องเข้าป่าเหรอ? 

คุณอาจสงสัย เมื่อเราพาคุณมาดูชุมชนรักสิ่งแวดล้อมเข้มข้นด้วยการขึ้นรถบัส ไม่ต่างจากการเดินทางไปสถานที่อื่น

นี่คือความตั้งใจของ BedZED ที่จะช่วยให้คนเดินทางอย่างยั่งยืน ชุมชนนี้เลยตั้งอยู่ที่เมือง Sutton ในส่วนลอนดอนใต้ซึ่งอยู่ห่างเมืองออกมาหน่อย แต่อยู่ในทำเลที่ด้านหน้ามีรถบัสผ่าน 3 สาย แถมยังอยู่ไม่ไกลระบบขนส่งอย่างสถานีรถไฟ 

ยังไม่หมดเท่านั้น ลองก้าวเข้ามาในโครงการ เห็นไหมว่าที่นี่มีที่จอดรถน้อยมาก รวมแล้วแค่ 81 ล็อก ซึ่งเฉลี่ยแล้วน้อยกว่า 1 ล็อกต่อบ้าน 1 หลังเสียอีก เพราะสิ่งที่มาทดแทนคือ Car Club ซึ่งเป็นแห่งแรกของลอนดอน ที่นี่ให้บริการรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ จองออนไลน์ได้ และจ่ายตามการใช้งาน (Pay as you go) คนที่อยากขับรถจึงไม่จำเป็นต้องซื้อรถแต่อย่างใด

นอกจากนี้ โครงการยังมีที่จอดจักรงานที่ปลอดภัยอยู่จำนวนมาก และบ้านแบบไซส์ใหญ่ก็มีที่เก็บจักรยานด้านใน เพื่อส่งเสริมให้คนเดินทางด้วยจักรยานกันมากขึ้น 

ชาว BedZED จึงมีโอกาสเลือกระบบขนส่งที่ดีและเดินทางได้โดยปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่น้อย โดยไม่ต้องละทิ้งความสะดวกสบายไป

จุดที่ 2 : กรอบหน้าต่างไม้ กังหันลมสีสด และมิเตอร์น้ำตรงตู้กับข้าว

จากเรื่องการเดินทาง มาดูกันต่อว่าโครงการ BedZED มีของดีอะไรซ่อนอยู่อีก

เราขอเริ่มจากชวนคุณแหงนหน้าดูกรอบหน้าต่างไม้ของอาคาร นี่คือตัวอย่างของการที่ BedZED ตั้งใจก่อสร้างอย่างยั่งยืนโดยไม่ใช้ต้นทุนสูง วัสดุไม้แบบนี้ถูกกว่าวัสดุอย่าง uPVC แถมยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

BedZED หมู่บ้านยั่งยืน แห่งแรกของอังกฤษ บ้านดีในทำเลดี ค่าน้ำ-ไฟถูกกว่า ที่ไม่ทำร้ายโลก

ในภาพรวม 52 เปอร์เซ็นต์ของวัสดุที่นำมาก่อสร้าง BedZED มาจากสถานที่ที่ไม่ไกลเกิน 56 กิโลเมตร และประเภทของวัสดุก็พยายามใช้วัสดุท้องถิ่น รีไซเคิล หรือนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reclaimed) ด้วย

ทีนี้ลองเงยหน้าขึ้นไปอีกนิด จะเห็นเหล่ากังหันสวยแปลกตาบนหลังคาอาคาร นี่คือตัวแทนของหนึ่งในจุดเด่นมากของโครงการ คือเป้าหมายที่จะทำให้ไม่มีการใช้ฟอสซิลเพื่อผลิตพลังงานและความร้อนอีกต่อไป

BedZED หมู่บ้านยั่งยืนแห่งแรกของอังกฤษ บ้านดีในทำเลดี ค่าน้ำ-ไฟถูกกว่า ที่ไม่ทำร้ายโลก

BedZED ตั้งใจจะไปถึงเป้าหมายที่ฝันด้วย 3 เส้นทาง

หนึ่ง ติดตั้งแผงเซลส์แสงอาทิตย์ยาวถึง 777 ตารางเมตรเพื่อผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์

สอง ใช้ระบบการผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วมที่ใช้ไม้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าและความร้อน

และทางสุดท้าย คือใช้ฉนวนกันความร้อน สร้างบ้านให้สะสมความร้อนได้อย่างเหมาะสม รวมถึงใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ให้ได้มากที่สุด และพยายามป้องกันอากาศรั่วไหลซึ่งเป็นตัวการทำให้สูญเสียความร้อน 

บรรดากังหันสีสดที่คุณเห็น คือหนึ่งในนวัตกรรมการออกแบบที่ช่วยพาอากาศสดชื่นข้างนอกเข้ามาและระบายอากาศด้านในโดยตัวอาคารยังอบอุ่น ด้านหน้ากังหันเป็นช่องรับอากาศเข้า ส่วนด้านหลังเป็นช่องปล่อยอากาศออก โดยอากาศอุ่นๆ ที่ไหลออกจากตึกจะช่วยให้อากาศเย็นเฉียบข้างนอกอุ่นขึ้น ด้วยเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนที่อยู่ตรงฐานกังหัน (ส่วนหน้าร้อนก็เปิดหน้าต่างระบายอากาศได้ปกติ) 

BedZED หมู่บ้านยั่งยืนแห่งแรกของอังกฤษ บ้านดีในทำเลดี ค่าน้ำ-ไฟถูกกว่า ที่ไม่ทำร้ายโลก
BedZED หมู่บ้านยั่งยืน แห่งแรกของอังกฤษ บ้านดีในทำเลดี ค่าน้ำ-ไฟถูกกว่า ที่ไม่ทำร้ายโลก

อาคารในชุมชน BedZED จึงสวยเก๋แถมอุ่นสู้ความหนาวเย็นของลอนดอนได้ กลายเป็นบ้านอยู่สบายแบบที่เฮเลนบอกทุกประการ ยิ่งกว่านั้น การจัดการด้านพลังงานแบบนี้ยังทำให้ชาว BedZED จ่ายค่าไฟถูกกว่าเพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียงมาก ทั้งที่อยู่สบายไม่แพ้กัน

เอาล่ะ คราวนี้ลองเดินเข้ามาในบ้าน นอกจากสวยน่าอยู่ไม่ต่างจากบ้านทั่วไป ลองมาหยุดดูมิเตอร์น้ำตรงนี้สักหน่อย

นอกจากเรื่องพลังงาน BedZED ยังตั้งใจออกแบบโครงการให้เกิดการใช้น้ำอย่างยั่งยืน นั่นคือใช้น้ำน้อยกว่าบ้านทั่วไป รีไซเคิลน้ำเสีย ลดน้ำที่จะเอ่อท่วมและไหลล้นไปสู่แม่น้ำลำคลองช่วงฝนกระหน่ำ 

ตัวอย่างเช่น การติดมิเตอร์น้ำไว้ในระดับสายตาที่ตู้กับข้าวให้คนใช้น้ำเห็นกันชัดๆ ว่าใช้ไปเท่าไหร่แล้ว มากกว่านั้น ในอาคารยังมีเครื่องใช้ที่ประหยัดน้ำในตัว เช่น ชักโครกและเครื่องซักผ้า แล้วคุณก็คงเห็นก่อนเดินเข้ามาว่าหลังคาอาคารนี้เป็นสีเขียวชอุ่ม นั่นเพราะบนนั้นมีการปลูกพืชซึ่งช่วยรองรับน้ำฝนได้

คนที่นี่จึงใช้น้ำอย่างยั่งยืนได้โดยไม่ลำบาก และได้ของแถมไม่ต่างจากเรื่องพลังงาน นั่นคือจ่ายค่าน้ำถูกลงด้วย

จุดที่ 3 : ถนนที่มีเด็กวิ่งเล่น

 ถึงตอนนี้คุณคงเห็นแล้วว่าชุมชนแบบ BedZED ทำให้เรารักโลกได้จริง แถมยังมีชีวิตที่ดีได้

แต่รู้ไหมว่าเมื่อมีการทำแบบสำรวจสิ่งที่ชอบที่สุดในโครงการ ผู้อยู่อาศัย BedZED ตอบว่าอะไร

คำตอบคือ ความเป็นชุมชน

เพราะมากกว่าบ้านที่ดี ค่าน้ำค่าไฟที่ถูก ความเป็นชุมชนคือสิ่งที่ผู้ออกแบบโครงการมองว่าจะช่วยให้ชาว BedZED รู้สึกว่าที่นี่เหมาะกับการทำงานและอยู่อาศัย และเมื่อรักการอยู่ที่นี่ ก็ย่อมนำไปสู่การได้ใช้ชีวิตแบบยั่งยืน

โครงการ BedZED ที่ประกอบด้วยบ้าน 100 หลัง และผู้คนหลากหลาย เพราะมีทั้งบ้านที่ขายปกติ และบ้านแบบแชร์กรรมสิทธิ์ (วิธีซึ่งช่วยให้เรามีบ้านได้แบบจ่ายถูกกว่า) และบ้านเช่าที่รัฐช่วยออกค่าใช้บางส่วน จึงพยายามออกแบบพื้นที่ให้เอื้อต่อการเกิดปฏิสัมพันธ์ของผู้คน  

BedZED หมู่บ้านยั่งยืน แห่งแรกของอังกฤษ บ้านดีในทำเลดี ค่าน้ำ-ไฟถูกกว่า ที่ไม่ทำร้ายโลก

เริ่มจาก Pavillion พื้นที่รวมตัวแบบอินดอร์ของชาว BedZED และชุมชนข้างเคียง จัตุรัสของหมู่บ้าน สนามหญ้าเขียวขจีสำหรับออกไปนั่งหรือเดินพักผ่อน และเห็นถนนตรงนั้นมั้ย แทนที่จะมีรถวิ่ง บนถนนกลับมีเด็กๆ วิ่งเล่นสนุกแทน นั่นเพราะโครงการออกแบบให้ถนนที่รถวิ่งได้อยู่รอบๆ โครงการ แต่ถนนเล็กๆ ระหว่างตึกนั้นเป็น Traffic-free ให้เด็กได้มาเล่นและผู้ใหญ่ได้มาพบปะสนทนากัน

แทนที่การมีคนอยู่เยอะแถมหลากหลายจะทำให้ไม่ปลอดภัย แต่กลายเป็นว่าคนที่นี่กลับรู้จักและอุ่นใจที่จะได้อยู่ด้วยกัน ชาว BedZED จึงย้ายออกกันไม่บ่อย คนที่ย้ายออกแล้วก็ยังติดต่อกับคนข้างใน และผลสำรวจก็ระบุว่าคนที่นี่ 1 คน รู้จักเพื่อนบ้านระดับรู้ชื่อเฉลี่ยถึง 20 คน ขณะที่ละแวกใกล้เคียงรู้จักแค่ 8 คนเท่านั้น

ทริปทัวร์ชุมชนยั่งยืนของเราใกล้จะจบลงแล้ว แต่ก่อนจากกัน สิ่งที่เราอยากชวนคุณดูเป็นอย่างสุดท้าย คือผลลัพธ์แท้จริงที่โครงการนี้ฝากไว้ 

ในมุมผู้อยู่อาศัย นอกจากมีบ้านดี ในทำเลดี มีหลายขนาดและราคาให้เลือกซื้อ ผลสำรวจจากปี 2015 ระบุว่า ชาว BedZED ในบ้านขนาด 2 คนอยู่ จ่ายค่าน้ำถูกกว่าค่าเฉลี่ยของลอนดอน 45 เปอร์เซ็นต์ ส่วนค่าผลิตไฟฟ้าและความร้อนถูกกว่าถึง 68 เปอร์เซ็นต์ โดยรวมแล้วการอยู่ในชุมชนแบบนี้ช่วยให้พวกเขาประหยัดเงินได้ถึงปีละ 1,094 ยูโรต่อปี

และนอกจากประหยัดเงิน ถ้าพวกเขาเกิดนึกอยากย้ายบ้าน ราคาบ้านของที่นี่ก็ขายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยท้องถิ่น

BedZED หมู่บ้านยั่งยืน แห่งแรกของอังกฤษ บ้านดีในทำเลดี ค่าน้ำ-ไฟถูกกว่า ที่ไม่ทำร้ายโลก

ขณะที่ในมุมสิ่งแวดล้อม ผลสำรวจระหว่างปี 2012 และปี 2015 ระบุว่า เมื่อเทียบกับชุมชนใกล้เคียงที่ขนาดเดียวกัน ส่วนผสมอาคารแบบเดียวกัน BedZED ใช้ไฟรายปีน้อยกว่าเพื่อน 27 เปอร์เซ็นต์ และปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตไฟฟ้าและความร้อนน้อยกว่าถึง 32 เปอร์เซ็นต์

ในภาพรวม ผลสำรวจปี 2015 จากบ้าน 19 หลังระบุว่าชาว BedZED มีรอยเท้าคาร์บอนขนาด 10.4 ตันต่อคน น้อยกว่าค่าเฉลี่ยประเทศถึง 23 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน 

ถึงตอนนี้ คุณคงไม่แปลกใจถ้าได้ยินว่า BedZED เป็นโครงการที่ได้รับรางวัลมากมาย เป็นแรงบันดาลใจให้โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบยั่งยืนทั่วโลก และมีคนจากทั่วโลกมาเยี่ยมชมปีละหลายร้อยคน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราอยากให้คุณรู้เช่นกันคือ BedZED ไม่ใช่โครงการสมบูรณ์แบบ แต่เป็นโปรโตไทป์ที่เกิดขึ้นเพื่อการทดสอบ นอกจากผลลัพธ์ด้านความสำเร็จ ก็มีผลลัพธ์ด้านความล้มเหลว เช่น ที่นี่เคยมีระบบบำบัดน้ำซึ่งปั๊มน้ำเสียเข้ามาแล้วใช้พืชน้ำและจุลินทรีย์บำบัด แต่ต้องยกเลิกไปเพราะเหตุผลอย่างการใช้ไฟเปลืองเกินเหตุ 

แต่อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวเหล่านั้นก็กลายเป็นบทเรียนล้ำค่าที่จะช่วยให้การสร้างชุมชน การพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบยั่งยืนครั้งถัดไปไม่ต้องผิดซ้ำและพัฒนาต่อได้ อย่างเช่น Bioreginal ที่ได้แรงบันดาลใจในการพัฒนาหลักการชื่อ The One Planet Living Principles ขึ้นเพื่อให้องค์กรและทีมทำโครงการต่างๆ ได้ใช้

BedZED จึงนับเป็นตัวจุดประกายให้เราเห็นหนทางอยู่บนโลกใบเดียวนี้อย่างยั่งยืนและมีความสุข 

“เราอยู่ใน BedZED ด้วยความรู้สึกว่า นี่คือสถานที่ซึ่งมาพร้อมวิสัยทัศน์ที่เป็นไปได้” ลูคัสและเอแลนผู้อยู่ในโครงการนี้มา 8 ปีบอกเอาไว้

แน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้กล่าวเกินจริง

BedZED หมู่บ้านยั่งยืน แห่งแรกของอังกฤษ บ้านดีในทำเลดี ค่าน้ำ-ไฟถูกกว่า ที่ไม่ทำร้ายโลก

ข้อมูลอ้างอิง

หากคุณอยากฟังเรื่องราวของ BedZED และที่อยู่อาศัยที่น่าสนใจเพิ่มเติม ขอเชิญย้อนดูงานเสวนาออนไลน์ “21ST CENTURY HOUSING เราจะอยู่กันแบบไหนในอนาคต?” ของศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาโมเดลต้นแบบที่อยู่อาศัยสำหรับอนาคตของทางศูนย์ ได้ที่นี่

Writer & Photographer

Avatar

ศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

CUD4S ร่วมก่อตั้งโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เราตั้งใจนำการออกแบบและ Design Thinking ไปแก้ปัญหาสำคัญของสังคม โดยทำบนฐานงานวิจัย ในรูปแบบของ Collaborative Platform ให้ฝ่ายต่างๆ มาร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน ติดตามโครงการของเราได้ที่ Facebook : CUD4S