หลายคนไม่ทราบว่า รังนกกระจาบธรรมดาขายได้

หากเปิดเข้าไปในเว็บซื้อขายออนไลน์ จะพบรังนกกระจาบธรรมดามีหลายราคาให้เลือก ผู้คนนิยมซื้อไปแต่งบ้าน

แต่ผู้ซื้อและผู้ขายหลายคนคงไม่ทราบว่า กว่าจะถักทอรังนกกระจาบได้ ช่างยากเย็นแสนเข็ญเพียงใด

แม้ว่า ‘นกกระจาบธรรมดาเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพุทธศักราช 2535 ห้ามล่า พยายามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก ห้ามครอบครอง ห้ามเพาะพันธุ์ ห้ามเก็บหรือทำอันตรายรัง ห้ามการครอบครองและการค้ามีผลไปถึงไข่และซาก’

ชีวิตที่ผ่านมา ผู้เขียนเคยเห็นรังนกกระจาบหลายครั้ง แต่ไม่เคยสังเกตอย่างจริงจัง จนเมื่อเร็วๆ นี้ บริเวณท้องนาแถวบ้าน มีนกกระจาบมาทำรังหลายรังบนต้นไม้ จึงได้มีโอกาสศึกษาพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด จนเข้าใจเหตุผลว่า ทำไมนกกระจาบได้ฉายาว่า เป็นสถาปนิกผู้สร้างรังนกได้โดดเด่นชนิดหนึ่งในบรรดาสัตว์โลกทั้งหลาย

นกกระจาบ สถาปนิกนักรักของโลก สัตว์ป่าคุ้มครองผู้ขยันสานรังรักอันซับซ้อนไว้จีบสาว
นกกระจาบ สถาปนิกนักรักของโลก สัตว์ป่าคุ้มครองผู้ขยันสานรังรักอันซับซ้อนไว้จีบสาว

นกกระจาบธรรมดา (Baya Weaver) เป็นนกพบเห็นได้ทั่วไปทุกภาคของประเทศ รูปร่างขนาดเท่านกกระจอก มีปากแข็งหนารูปกรวย หางสี่เหลี่ยมสั้น บินโฉบเหมือนนกนางแอ่น อาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้า ท้องนา ริมหนองบึง ป่าละเมาะ มักอยู่รวมเป็นฝูง กินเมล็ดพืช ข้าว และสัตว์เล็กบางชนิด

ความโดดเด่นของนกชนิดนี้พบเห็นได้เมื่อย่างเข้าสู่เดือนมิถุนายน เริ่มต้นฤดูผสมพันธุ์และการทำรัง สังเกตได้จากหน้าผากสีน้ำตาลอ่อนสลับลายน้ำตาลเข้ม คล้ายนกกระจอกใหญ่ของนกกระจาบตัวผู้ จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสด ให้สีสันสดใสดึงดูดนกตัวเมีย

ปีนี้สังเกตว่า ตามท้องทุ่งมีนกกระจาบทำรังเยอะมาก เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาที่อากาศร้อนจัดมาก

ทุกเช้า นกกระจาบจะส่งเสียงร้องไปทั่ว ผู้เขียนเริ่มเห็นตามกิ่งไม้ของต้นไม้ อาทิ ต้นมะพร้าว ต้นมะม่วง มีก้านใบสีเขียวๆ ผูกเป็นปม เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างรัง

สักพักเห็นนกกระจาบตัวผู้หัวสีเหลืองสดใส บินไปเกาะใบมะพร้าวแล้วค่อยๆ ใช้ปากแข็งหนาเป็นพิเศษ ฉีกใบออกเป็นเส้น และคาบก้านบางๆ สีเขียวมาพันกับตรงปมค่อยๆ ทำส่วนบนสุดของรังทบหลายชั้นหลายเส้นให้มั่นคง

นกกระจาบ สถาปนิกนักรักของโลก สัตว์ป่าคุ้มครองผู้ขยันสานรังรักอันซับซ้อนไว้จีบสาว
ส่องรังนกกระจาบ สัตว์ป่าคุ้มครองที่เป็นเหมือนสถาปนิกนักสานรังแสนประณีต เพื่อหาคู่ครองในฤดูผสมพันธุ์

อาทิตย์ต่อมา รังก็เริ่มเป็นรูปร่างคล้ายน้ำเต้าคอยาวสีเขียว ซึ่งเรียกกันว่า ‘หมวก’ ทุกๆ วันนกตัวนี้บินไปฉีกใบมะพร้าว ใบต้นอ้อ ใบหญ้า ใบต้นข้าว ส่วนใหญ่เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวเป็นเส้นยาว บินมาถักทอรังอย่างประณีต เมื่อลองส่องกล้องดูพฤติกรรมใกล้ๆ พบว่านกกระจาบใช้ปากค่อยๆ สอดเส้นใบสลับกันราวกับกำลังทอผืนผ้า ซึ่งต้องใช้ความอดทน ความอุตสาหะมาก ที่นกเล็กๆ ตัวหนึ่งจะสร้างรังขนาดใหญ่กว่าตัวได้อย่างละเอียด

ผู้เขียนสังเกตว่า รังส่วนใหญ่ที่พบเห็นจะสร้างอยู่ทางด้านทิศตะวันออก เพื่อรับแดดยามเช้า และอากาศไม่ร้อนเกินไปในช่วงบ่ายที่มีต้นไม้ด้านทิศตะวันตกบังอยู่ ซึ่งอากาศร้อนเกินไปจะเป็นอันตรายต่อไข่ได้ นับว่านกกระจาบเป็นนักดูฮวงจุ้ย หรือนักดูทิศทางลมก่อนจะตั้งบ้านเรือนตัวแม่เลย

เคยมีการบันทึกว่า นกกระจาบตัวผู้ตัวหนึ่ง ต้องใช้เวลาบินไปคาบใบมะพร้าว ใบหญ้า มาสร้างรังประมาณ 18 วัน และนกกระจาบต้องบินไปคาบเส้นใบมาทำรังประมาณ 500 เที่ยว กว่าจะสร้างได้หนึ่งรัง เป็นสิ่งมหัศจรรย์ในความเพียรพยายามของสัตว์โลกชนิดนี้

แต่ภารกิจของนกตัวผู้ยังไม่จบเท่านั้น สร้างบ้านจวนเสร็จ ก็ใช่ว่าจะหาคู่ครองได้ทันที

ชาวบ้านเรียกกันว่า… รังจีบหญิง

ส่องรังนกกระจาบ สัตว์ป่าคุ้มครองที่เป็นเหมือนสถาปนิกนักสานรังแสนประณีต เพื่อหาคู่ครองในฤดูผสมพันธุ์

เมื่อนกตัวผู้สร้างรังนกเกือบเสร็จ ตัวผู้เริ่มแสดงให้ตัวเมียที่บินผ่านโดยกระพือปีกส่งเสียงร้อง ราวกับเชื้อเชิญให้มาสำรวจรังรักว่าพอใจไหม พอนกตัวเมียสนใจบินมาตรวจดูรัง ว่าบ้านหลังนี้ของว่าที่เจ้าบ่าวจะมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย และงดงามสำหรับการวางไข่ ออกลูกไหม

ตัวผู้บางตัวอาจขยันสร้างหลายรังที่ยังไม่เสร็จ แล้วเริ่มกระพือปีกส่งเสียงเกี้ยวตัวเมีย เชื้อเชิญมาให้เลือกรัง พอตัวเมียพอใจรังใด ก็ค่อยสร้างรังนั้นต่อให้เสร็จ

ธรรมชาติของนกในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้บางชนิดอาจโชว์ความสามารถหลายอย่างดึงดูดให้ตัวเมียสนใจ อาทิ สีสัน ความสวยงามของรูปร่าง ขนปีก และการเต้นรำ หรือการรำแพนหาง อาทิ นก Bird of Paradise หรือนกยูง แต่สำหรับนกกระจาบแล้ว ดึงดูดเพศเมียด้วยการแข่งกันสร้างรังอันมั่นคง แข็งแรง

รังรักที่ตัวเมียบางตัวแสดงท่าทีพึงพอใจ ด้วยการมุดเข้าไปสำรวจในรัง และบินออกมาเกาะนอกรัง เป็นการส่งสัญญาณตกลงปลงใจ ผู้เขียนเห็นตัวผู้บินขึ้นไปเกาะตัวเมียขึ้นผสมพันธุ์ทันที เสมือนประกาศการสมรส หลังจากนั้นทั้งคู่จะบินไปคาบใบมาช่วยกันสานสร้างรังรักต่อไป ตัวเมียอาจคาบเอาดินโคลนเข้าไปเสริมความแข็งแรงข้างในรัง และเสร็จสมบูรณ์ด้วยการสร้างปล่องยาวทางเข้าด้านล่าง

ส่องรังนกกระจาบ สัตว์ป่าคุ้มครองที่เป็นเหมือนสถาปนิกนักสานรังแสนประณีต เพื่อหาคู่ครองในฤดูผสมพันธุ์
ส่องรังนกกระจาบ สัตว์ป่าคุ้มครองที่เป็นเหมือนสถาปนิกนักสานรังแสนประณีต เพื่อหาคู่ครองในฤดูผสมพันธุ์

การสร้างรังของนกกระจาบ นอกจากถักทอสานเส้นใบได้อย่างละเอียด ส่วนบนที่ผูกติดกับกิ่งไม้ ต้องรับน้ำหนัก และแรงลมเวลาพายุพัดได้อย่างดีเยี่ยม ทำเลลอยสูงอยู่เหนือพื้นน้ำ หรือพื้นดิน ทางเข้าของรังอยู่ด้านล่าง เป็นการช่วยป้องกันภัยร้ายจากศัตรู อาทิ งู กิ้งก่า ได้อย่างดีเยี่ยม สมกับที่เป็นสถาปัตยกรรมทางธรรมชาติอันโดดเด่น

ทำเลที่ตั้งก็จะกลืมกลืนกับสภาพแวดล้อมมาก รังจะแฝงเร้นอยู่ในกลุ่มใบไม้หรือใบมะพร้าว จนหากไม่สังเกตก็จะมองผ่านไปเลย

ขณะเดียวกัน รังนกกระจาบหลายรังถูกทิ้งร้างไปหรือสร้างไม่เสร็จ เพราะตัวเมียบินมาเกาะสำรวจดูแล้วไม่สนใจ นกตัวผู้จึงไม่สร้างรังให้เสร็จ กลายเป็นรังร้าง และหากลองสังเกตคร่าวๆ ดูเหมือนรังร้างจะมีมากกว่ารังที่สร้างเสร็จ ซึ่งสังเกตได้ หากรังใดไม่มีปล่องยาวต่อลงมา แสดงว่าเป็นรังร้าง

เห็นรังร้างมากมาย น่าสงสัยว่า นกกระจาบตัวเมียช่างพิถีพิถันในการเลือกเรือนหอจริง ๆ

ส่องรังนกกระจาบ สัตว์ป่าคุ้มครองที่เป็นเหมือนสถาปนิกนักสานรังแสนประณีต เพื่อหาคู่ครองในฤดูผสมพันธุ์

ในช่วงเวลาสร้างรัง ผู้เขียนสังเกตว่า นกตัวผู้บางตัวที่สร้างรังอยู่ใกล้กันบนต้นไม้เดียวกัน จะแสดงพฤติกรรมขโมยเส้นใบของรังตัวอื่นคาบกลับมาสานรังตัวเอง หากเจ้าของรังเผลอ และบ่อยครั้งเห็นนกตัวผู้ส่งเสียงร้องทะเลาะ ประกาศอาณาเขต และตีปีกจิกตีกันกลางอากาศ

ปกตินกกระจาบจะกินเมล็ดพืชเป็นอาหาร แต่ช่วงเวลาสร้างรัง ผสมพันธุ์และเลี้ยงลูก สังเกตว่าอาหารของนกจะมีหลากหลายมากขึ้น บ่อยครั้งที่ผู้เขียนเห็นนกคาบผีเสื้อ ตั๊กแตน จิ้งจก กินเป็นอาหาร เพิ่มโปรตีนอย่างเร่งด่วน

ปกติแต่ละรัง ตัวเมียจะวางไข่ประมาณ 2 – 4 ฟอง และใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 2 อาทิตย์ ใกล้เคียงกับไก่แจ้ที่บ้าน นกกระจาบตัวผู้บางตัวอาจอยู่ช่วยเลี้ยงลูก แต่บางตัวอาจบินจากไปแปลงร่างเป็นชายโสด ขยันสร้างบ้านใหม่ เพื่อดึงดูดรอรับเจ้าสาวตัวใหม่อีกครั้ง

นกกระจาบจึงเป็นสถาปนิกแสนขยัน สร้างรังอันซับซ้อนและประณีต จนได้รับการยกย่องว่า เป็นนกช่างสาน (Weaver Bird) สถาปนิกเอกของโลกชนิดหนึ่ง

แต่เบื้องหลังของสถาปัตยกรรมเหล่านี้ คือรูปแบบหนึ่งของการดำรงเผ่าพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว