บัทม์ แก้วงอก เป็นชื่อที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้เมื่อพูดถึงวงการเซรามิกประเทศไทย เพราะเขาคือศิลปินมือวิเศษผู้เปลี่ยนก้อนดินธรรมดาให้มีมูลค่า จนเป็นที่ตามหาของนักสะสมถ้วยชามเซรามิกทั้งในและต่างประเทศ
เมื่อปลายปีที่แล้ว ผลงานของเขาถูกกวาดไปเกลี้ยงห้องจัดแสดงนิทรรศการ WOODS of Masterpieces ผลงานล่าสุดของเขาและภรรยา นาโอมิ ไดมารู นักจัดดอกไม้อิเคบานะมืออาชีพ
แต่รู้หรือไม่ว่า จะต้องใช้ทั้งความดื้อและความบ้าระดับสูง กว่าจะได้เป็นศิลปินเซรามิก
ดื้อพอที่จะเป็นเด็กบ้านนอกเมืองเพชรบุรีที่เชื่อในดิน ตั้งแต่สมัยยังไม่มีศิลปินเซรามิกตัวจริงในประเทศไทย
บ้าพอที่จะหาทางไปเรียนเซรามิกที่ญี่ปุ่นจนได้ทั้ง ๆ ที่ไม่มีสตางค์ และกลายเป็นศิษย์คนเดียวของยอดศิลปินเซรามิกแห่งเมืองอิกะ
เขาทำทั้งหมดทั้งมวลเพียงเพื่อให้ได้อยู่กับดิน
Studio Visit คราวนี้จึงขอชวนทุกคนไปฟังและเรียนรู้จากเส้นทางสู่การเป็นศิลปินเซรามิกของ บัทม์ แก้วงอก ซึ่งสอนให้เขาเห็นคุณค่าในวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดกับดินบ้านนอก ในวันที่คนกับธรรมชาติห่างเหินกันมากขึ้น
เรื่องเล่าบนเสื่อทาทามิ
ท่ามกลางทุ่งนาสีเขียวของอำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี คือสตูดิโอของศิลปินที่เราและเหล่าคนคลั่งรักเซรามิกยกขบวนกันมาเยี่ยมเยียน
พอเห็นแขกเดินผ่านรั้วเข้ามา เจ้าของสตูดิโอก็เดินไปปิดเพลงญี่ปุ่นที่กำลังบรรเลงก้องพื้นที่และกล่าวคำทักทาย พร้อมเอ่ยขอโทษเล็กน้อยที่ชวนให้เดินทางมาไกลถึงหนองเสือ แต่ที่นี่คือสถานที่ทำงานจริง ซึ่งเขาอยู่มากกว่ากรุงเทพฯ เสียอีก เพราะใช้เวลาทั้งวันทั้งคืนอยู่กับดินได้โดยไม่มีสิ่งรบกวน
บัทม์นำพวกเราเข้าไปในห้องกระจกซึ่งมีเสื่อทาทามิวางเป็นแนวยาวอยู่หนึ่งผืน และมีผลงานเซรามิกหลากหลายรูปแบบเรียงรายขนาบอยู่สองข้าง
ดอกไม้ในแจกันจัดแบบอิเคบานะวางอยู่ตามมุมต่าง ๆ ของห้องยังดูสดชื่น เพราะภรรยาของศิลปินเจ้าถิ่นเพิ่งนำมาเปลี่ยนเมื่อไม่กี่วันก่อนเพื่อต้อนรับพวกเราโดยเฉพาะ
เมื่อทุกคนนั่งลงหามุมสบายบนเสื่อทาทามิเรียบร้อยแล้ว เรื่องราวของบัทม์ก็เริ่มขึ้น
กูจะเป็นศิลปิน!
บัทม์เกิดและโตที่จังหวัดเพชรบุรี ครอบครัวฝั่งแม่เป็นครู ส่วนฝั่งพ่อเป็นครอบครัวทหาร เพราะฉะนั้น เขาไม่ได้เติบโตท่ามกลางงานศิลป์
แต่บางอย่างดึงดูดเขาเข้าหาการขีดเขียน
“ผมชอบศิลปะตั้งแต่ประมาณ ป.3 ตอนนั้นจำได้ว่าเอาแท่งถ่านไปเขียนฝาบ้าน ไม่ได้เขียนแต่บ้านตัวเองนะ เขียนทุกบ้านในหมู่บ้านเลย” เขาเริ่มเรื่องด้วยวีรกรรมแสบ ๆ ที่เคยก่อไว้สมัยเด็ก แม้จะเป็นเหตุให้โดนไล่เตะ ไล่ตี แต่ก็ยังทำ พอขึ้น ม.1 โรงเรียนให้เลือกวิชาเอก บัทม์ไม่ลังเลเลือกเรียนเอกศิลปะตั้งแต่ตอนนั้น
แต่เขามาค้นพบความชอบที่แท้จริงของตัวเองเอาตอนที่ย้ายไปเรียนวิทยาลัยช่างศิลป โรงเรียนศิลปะในกรุงเทพฯ
“ตอนที่เรียนมีทั้งวิชาจิตรกรรมและประติมากรรม แต่เรากลับหลงรักเซรามิกหลังจากที่ได้ลองนำงานเข้าเตาเผาแค่ 2 ครั้ง เพราะเวลาทำต้องลุ้นว่างานจะออกมาสวยหรือไม่สวย”
“ผมขออยู่ที่ตึกเซรามิกตลอดเวลาได้มั้ย” เด็กชายบัทม์บอกครู
เมื่อถึงคราวสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อน ๆ ต่างเลือกคณะจิตรกรรม ม.ศิลปากร กันยกรุ่น มีเพียงบัทม์เท่านั้นที่มุ่งมั่นเข้าคณะศิลปกรรม จุฬาฯ สาขาเซรามิกเพียงอย่างเดียว
เขาใช้เวลาสอบถึง 4 ครั้งกว่าจะติด
ที่ยอมทิ้งชีวิตไป 4 ปี ก็เพียงเพื่อแลกกับการได้ศึกษาในมหาวิทยาลัยที่จะให้เขาคลุกคลีกับ ‘เตาเผาเซรามิก’ มากที่สุด
แต่เมื่อสอบติด ความพยายามทั้งสิ้นเกือบจะสูญเปล่า เพราะทั้งรุ่นมีคนสนใจเรียนเซรามิกแค่ 2 คน ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการแยกภาค
ท่ามกลางที่ประชุมซึ่งจัดขึ้นเพื่อหาทางออกให้กับปัญหานี้ ประธานรุ่นอย่างบัทม์ แก้วงอก ลุกขึ้นประท้วง “ทำอย่างนี้ไม่ได้นะครับ! ผมมาเพื่อเซรามิก”
แต่ถึงขั้นนั้นแล้ว ผู้ร่วมประชุมยังไม่มีใครโอนอ่อนไปตามคำยืนกรานของเขาเลย
โชคดีที่อาจารย์ที่ปรึกษาของบัทม์เกิดนึกขึ้นได้ว่าวันสอบสัมภาษณ์ ศิษย์คนนี้เคยเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ว่า ‘ผมตั้งใจมาเรียนที่นี่เพื่อเลือกเอกเซรามิก’ ที่ประชุมจึงลงมติอนุญาตให้เปิดสาขาเซรามิกเพื่อนักศึกษาเพียง 2 คนได้ตามที่บัทม์ตั้งใจ
“รู้ไหม ผมยืนปฏิญาณตนกลางหมู่เพื่อนว่า “กูจะเป็นศิลปิน!” ตั้งแต่ตอน ป.6 แล้ว
“ผมบ้าตั้งแต่เด็ก”
ขอร้องล่ะ นาโอมิซัง!
“พอเรียนจบมหาลัย เพื่อน ๆ ไปเรียนต่อเมืองนอกกันหมด เราก็อยากไปแต่ไม่มีสตางค์”
ความฝันของบัทม์ในตอนนั้นคือไปเรียนเซรามิกตะวันออกที่ญี่ปุ่น แต่เส้นทางชีวิตของเขาก็พลิกผันเพราะหนังสือเล่มเดียว
“วันหนึ่งไปที่ห้องสมุดของ Japan Foundation แล้วเจอหนังสือ ‘รวม 30 ศิลปินเซรามิก’”
“ชอบทุกคนเลยเว้ย” เขาคิดในตอนนั้น “ก็เลยถ่ายเอกสารมาทั้งเล่ม”
ระหว่างนั่งรถเมล์จากห้องสมุดกลับมหาวิทยาลัย บัทม์เกิดนึกขึ้นได้ว่า ท้ายเล่มมีที่อยู่ของศิลปินแต่ละคน ตอนนั้นเองที่เขาเกิดความคิดหนึ่งขึ้นมา
“งั้นเขียนจดหมายขอเป็นศิษย์ดื้อ ๆ เลยแล้วกัน!” หลายคนอาจจะคิดว่าบ้า แต่สำหรับเขา นี่คือโอกาส
บัทม์ลงมือร่างจดหมายเป็นภาษาไทย 30 ฉบับ สำหรับส่งให้ศิลปินญี่ปุ่น 30 คน แล้วเดินตรงไปที่ คณะอักษรศาสตร์
“เราไปขอร้องเพื่อนญี่ปุ่นคนหนึ่ง ชื่อ นาโอมิ ที่เรียนเอกภาษาไทยให้ช่วยแปลจดหมาย”
“ญี่ปุ่นเขาไม่มีวัฒนธรรมรับแบบนี้” นาโอมิปฏิเสธทันที
“ช่วยหน่อยเหอะ ไม่เสียหายอะไรนี่ เดี๋ยวเลี้ยงข้าว” บัทม์ไม่ยอมถอย
นาโอมิหยุดคิดครู่หนึ่งก่อนยื่นข้อเสนอสุดท้าย “งั้น 2 จานนะ”
จดหมาย 30 ฉบับของอาจารย์บัทม์เลยได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นในที่สุด
Dear Sensei
ถึง เซ็นเซย์
ผมชื่อ บัทม์ แก้วงอก
ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อขอเรียนปั้นเซรามิกกับท่านเป็นระยะเวลา 2 ปี
ผมมีความตั้งใจที่จะทำให้คนไทยกลับมาใช้ชีวิตที่เกี่ยวข้อง ผูกพันกับเซรามิก เหมือนประเทศญี่ปุ่นหรือจีน เพราะที่ประเทศบ้านเกิดของผมยังนิยมการใช้ถ้วยชามจากเมลามีนและพลาสติกอยู่
ผมยินดีช่วยงานทุกอย่าง ไม่จำกัดอยู่แค่งานที่เกี่ยวข้องกับเซรามิก และไม่ต้องการเงินกลับประเทศไทย แต่ในกรณีที่ท่านไม่มีห้องให้อาศัย ขอความกรุณาเช่าบ้านให้ผมอยู่ด้วย
สุดท้ายนี้ เพื่อทดแทนพระคุณ ผมจะทำเซรามิกให้ดีที่สุดเมื่อกลับมาประเทศไทย
บัทม์ แก้วงอก
พ.ศ. 2540
*จำลองจดหมายจริงจากคำเล่าของบัทม์*
จดหมาย 30 ฉบับถูกส่งไปที่ต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่น
หลังจากนั่งคอยวันแล้ววันเล่า ในที่สุดก็มีจดหมายตอบกลับมา 30 ฉบับ
“แคนเซิลหมดเลย”
เรากำลังร่วมลุ้นจนตัวโก่ง เกือบหน้าทิ่มไถกับเสื่อทาทามิ เสียแรงที่นาโอมิอุตส่าห์แปลจดหมายให้จริง ๆ
“มีแค่ฉบับที่ 29 จาก อาจารย์คันจิ อาตาราชิ ที่รับ” ผู้ฟังกลับมานั่งหูผึ่ง หลังตรงอีกครั้ง
คันจิ อาตาราชิ ท่านนี้เป็นศิลปินเซรามิกที่พำนักอยู่ที่อิกะอูเอโนชิ หรือ เมืองอิกะ
เขา คือหนึ่งใน 30 ยอดฝีมือด้านเซรามิกของญี่ปุ่นในสมัยนั้น
และเขาไม่เคยรับใครเป็นศิษย์มาก่อนเลยในชีวิต
บัทม์มารู้ถึงเหตุผลที่เขายอมรับเด็กไทยไร้ชื่อคนหนึ่งเข้าเป็นศิษย์เอาทีหลัง ตอนที่เข้าใจภาษาแล้ว จากปากของ ‘โอก้าซัง’ หรือภรรยาของคันจิ อาตาราชิเซ็นเซ
“ครอบครัวนี้มีลูกชาย ชื่อ มานาบุ อายุ 27 ปี ซึ่งตั้งแต่วัยรุ่นก็อยู่และทำงานที่โตเกียวมาตลอด โอก้าซังอยากให้ลูกชายกลับมาสานต่องานเซรามิกจากพ่อ แต่ลูกชายกับพ่อดันไม่คุยกัน
“วันหนึ่ง โอก้าซังเปิดจดหมายเห็นเป็นเด็กไทยมาขอเป็นศิษย์ เลยบอกให้สามีรับไว้ก่อน เพื่อที่วันหนึ่ง พอผมสำเร็จวิชาจากอาจารย์แล้ว จะได้เรียกลูกชายให้กลับมาเป็นลูกศิษย์ผมแทน”
ด้วยเหตุนี้ บัทม์ แก้วงอก จึงกลายเป็นลูกศิษย์คนแรกและคนเดียวของ อาจารย์คันจิ อาตาราชิจวบจนทุกวันนี้
ฝึกวิชาบนยอดเขาอิกะ
บัทม์ยกถ้วยสาเกและถ้วยชาวานสไตล์อิกะ (ถ้วยที่ใช้ในพิธีชงชาของญี่ปุ่น) จากชั้นวางผลงานด้านข้าง เพื่ออธิบายให้เราเข้าใจศิลปะซึ่งเขาในวัย 27 ปีกำลังจะไปศึกษา
“เซรามิกสายอิกะ น่าจะโหดที่สุดในเกาะญี่ปุ่น แต่ว่างาน High-end ที่สุด”
เขาชวนให้เราสังเกตพื้นผิวและลวดลายบนถ้วยชาวาน
“นี่คือคราบที่เกิดจากฟืน ส่วนรอยด่างดวงตรงนี้ เกิดจากการเบียดกันกับจานอีกใบซึ่งเราควบคุมไม่ได้ นี่แหละคือเสน่ห์ของงานเตาฟืนแบบอิกะ”
“แล้วก็” อาจารย์บัทม์หยิบถ้วยสาเกขึ้นมา “งานดินอิกะไม่สนใจว่าแม่บ้านล้างจานได้หรือไม่ได้” เขาหยอกงานเซรามิกในมือ เพราะลักษณะเด่นอีกประการของอิกะ คือความหยาบและขรุขระแบบธรรมชาติของเนื้อดิน
เมื่ออธิบายจบจึงเล่าต่อถึงประสบการณ์สมัยไปเรียนญี่ปุ่นแรก ๆ
“6 เดือนแรกผมกับอาจารย์สื่อสารกันไม่ได้เลย เพราะผมไปด้วยภาษาญี่ปุ่นศูนย์ ส่วนเซ็นเซย์ภาษาอังกฤษศูนย์ ก็เลยใช้วิธีเขียนการ์ตูนคุยกัน”
ทุกวันบนสตูดิโอที่ตั้งอยู่บนยอดเขาเมืองอิกะ เขาไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากนวดดิน แล้วส่งให้อาจารย์ขึ้นรูป บัทม์จึงทำได้เพียงสังเกตวิธีการทำงานของอาจารย์ และบันทึกทุกอย่างที่ ‘ขโมยผ่านสายตา’ เป็นภาพลงในไดอารี่
แต่แล้ววันหนึ่งเซ็นเซย์ก็ค้นพบสมุดเล่มนี้ซึ่งบันทึกเทคนิคของท่านไว้อย่างละเอียด
“ตอนแรกคิดว่าโดนแล้ว เหมือนเราไปล้วงเคล็ดลับเขา”
แต่ผิดคาด วันนั้นหลังจากอ่านจบ เซ็นเซย์เรียกบัทม์ไปที่แป้น และเริ่มถ่ายทอดวิชาให้เป็นวันแรก
เล่นกับไฟ
การทำงานเซรามิก คือการทำงานร่วมกับธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ดิน น้ำ อากาศ และไฟ ซึ่งการทำงานกับธาตุตัวสุดท้ายนี่แหละที่ ‘โคตรมัน’ เพราะไฟคือเหตุที่ทำให้งานแต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกัน
“ผลงานที่ออกมาอาจจะไม่เหมือนกับที่คิดไว้ในหัวร้อยเปอร์เซ็นต์ เราต้องเผื่อที่ให้ไฟมันเถียงเราด้วย”
“ถ้าเผาเซรามิกช่วงฤดูร้อนก็จะได้สีเขียวแบบหนึ่ง แต่ถ้าเผาฤดูฝนก็จะเกิดสีเขียวอีกแบบหนึ่ง พูดง่าย ๆ ก็คือ ทั้งอุณหภูมินอกเตาและในเตามีส่วนต่อการปรับสีของเนื้อดินทั้งนั้น”
เตาเปรียบเสมือนพู่กันของศิลปินเซรามิก ส่วนไฟคือหลอดสี เพราะฉะนั้น ศิลปินเซรามิกที่ดีจะต้องฝึกประมาณอุณหภูมิของไฟด้วยตาเปล่า
ครั้งหนึ่ง คันจิ อาตาราชิ เซ็นเซย์ สาธิตทักษะนี้แก่บัทม์ขณะ ‘สูบบุหรี่’
ปลายบุหรี่ที่เพิ่งจุดเป็นสีอ่อน ๆ
“ขณะนี้ 700 องศา” เซ็นเซย์ประกาศต่อหน้าศิษย์ผู้กำลังทึ่งกับวิชาเบื้องหน้า
เขาดูดลมเข้าแรง ๆ อีกครั้ง
“ส่วนตอนนี้ 1,280 องศา”
บัทม์ยอมรับว่าเขาต้อง ‘ทิ้งทุกอย่าง” ที่เคยเข้าใจสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งเน้นเทคนิคแบบตะวันตกไปก่อน เพื่อรองรับเทคนิคฉบับแดนอาทิตย์อุทัยให้ได้มากที่สุด
“ตอนเรียนที่มหาวิทยาลัย แป้นหมุนจะหมุนทวนเข็มนาฬิกา ซึ่งเป็นทิศที่ใช้เหมือนกันทั่วโลก มีแต่ประเทศญี่ปุ่นนี่แหละที่หมุนตามเข็มนาฬิกา เพราะเขาถือว่าเป็นการหมุนตามแรงเหวี่ยงของจักรวาล”
นอกจากนั้นบัทม์ยังต้องเรียนรู้วัฒนธรรมการใช้ภาชนะเซรามิกแบบญี่ปุ่น ซึ่งต่างจากไทยและประเทศฝั่งตะวันตกโดยสิ้นเชิง
“ญี่ปุ่นเขาถือว่าภาชนะเซรามิกทุกชิ้นเป็นงานศิลปะ”
“เวลากินข้าว ทุกคนมีเซ็ตอาหารของตัวเอง ซึ่งประกอบด้วยถ้วยเล็กถ้วยน้อยหลากหลายแบบ ความกว้าง และความยาวของแต่ละชิ้นล้วนมีเหตุผลในตัวเองทั้งนั้น”
แต่ก็เพราะสามารถนำองค์ความรู้ทั้งแบบอเมริกาและญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ได้ เซรามิกของบัทม์ แก้วงอก จึงมีความน่าสนใจเฉพาะตัว
สำนักหนองเสือ
หลังจากสำเร็จการศึกษาจากญี่ปุ่นและกลับมาบ้านเกิดของตนได้ระยะหนึ่ง บัทม์ก็เริ่มมองหา Green Zone ที่กว้างพอสำหรับการทำเตาเผาขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับจำนวนชิ้นงานที่เขานั่งปั้นอย่างขะมักเขม้นในแต่ละวัน
ชื่อแรกที่ขึ้นมาหลังจากกดค้นหา คือ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี สตูดิโอที่เรานั่งกันอยู่ ณ ขณะนี้จึงถือกำเนิดขึ้น
ระหว่างก่อสร้างสตูดิโอแห่งใหม่ บัทม์บังเอิญค้นพบคุณสมบัติพิเศษบางประการของดินหนองเสือ
“ดินมันติดรองเท้ากลับบ้านมาด้วย ผมเลยแงะออกมาจากพื้นรองเท้า แล้วลองเอามาเผาดู ปรากฏว่า เฮ้ย! มันทนไฟนี่” ตั้งแต่นั้นต่อมา ผลงานทุกชิ้นของบัทม์สร้างสรรค์จากดินที่ขุดได้รอบ ๆ สตูดิโอทั้งหมด จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเขาไปโดยปริยาย
สตูดิโอหนองเสือไม่ได้สร้างเพื่อเป็นสถานที่ทำงานของบัทม์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นโรงเรียนเล็ก ๆ ที่แบ่งปันความรู้เกี่ยวกับเซรามิกแก่ผู้ที่สนใจอีกด้วย
เป้าหมายสำคัญของการเรียนการสอนของที่นี่ไม่ใช่เพื่อให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาออกไปปั้นเซรามิกได้อย่าง บัทม์ แก้วงอก แต่คือการให้พวกเขาได้ค้นพบสไตล์การปั้นเซรามิกที่มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง
ที่นี่ไม่ใช่เพียงที่ทำงานหรือพื้นที่จัดเก็บผลงานของบัทม์ แต่คือพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเซรามิก ซึ่งใครที่กลับไปจากที่นี่จะได้เห็นก้อนดินในมุมใหม่ไม่มากก็น้อย
คำว่า ‘สตูดิโอ’ จึงอาจจะแคบไป เราขอเรียกที่นี่ว่า ‘สำนักหนองเสือ’ คงจะเหมาะกว่า
ไม่ได้กินเพราะไม่ได้หา
ถึงตอนนี้ เราชวนบัทม์คุยเรื่องผลงานที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น จนได้รับโอกาสให้ไปจัดแสดงเดี่ยวที่กินซ่า ล้ำหน้าศิลปินญี่ปุ่นอีกเป็นแสนคน
ผลงานดังกล่าวคือ นิทรรศการ ‘ดินบ้านนอก’ ซึ่งจัดแสดงที่ Japan Foundation ใน พ.ศ. 2550
“ผมอยากจัดแสดงอะไรที่ทำให้เกิดความ Contrast กับสถานะของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่เจริญและร่ำรวยมากในตอนนั้น” บัทม์เล่าที่มาที่ไปของคอนเซ็ปต์ดินบ้านนอก
“พอดีว่าตอนนั้นผมอยู่ศาลายา ก็เลยใช้ดินและวิธีคิดจากศาลาบ้านนอกของตัวเองมาเล่าวิถีของคนที่อยู่ชายขอบ
“ทาง Japan Foundation ได้ฟังก็ซื้อไอเดียนี้ทันที เขาบอกว่าเดิมบ้านเขาก็มาจากดิน แต่ตอนนี้กลับเหินห่าง งานของผมเหมือนเอาดินกลับไปไว้ในบ้านเขาเหมือนเดิม”
ไม่น่าเชื่อว่าเขาใช้เวลาเพียง 1 เดือนในการสร้างสรรค์ผลงานซึ่งมีอยู่ละลานตาเต็มห้องจัดแสดง
“ผมเป็นคนไม่ทำงานนานเลย” เขาอธิบาย
“ความว่องไวช่วยเก็บความสดของงานไว้ ทำให้มีร่องรอยฉีกขาดและความขรุขระของผิวที่ไม่ประดิดประดอย เหมือนการทำงานแบบ Expressionism ผมอยากเก็บดินและไฟ ณ ขณะนั้นไว้ในผลงานให้คนที่มาชมนิทรรศการได้เห็น”
แต่ผลงานซึ่งบัทม์ใช้เวลามากที่สุด และรู้สึกว่าท้าทายที่สุด คือชิ้นที่ได้แรงบันดาลใจมาจากคำพูดของพ่อ
“ตอนนั้นผมอยู่ ป.5 จำได้ว่าพ่อยืนกอดอกถือแห รอปลาขึ้นฮุบบนผิวน้ำ อยู่ดี ๆ แกก็พูดขึ้นมาลอย ๆ ว่า “ไม่ได้กินเพราะไม่ได้หา”
เขาซึ่งนั่งเขียนดินเล่นอยู่ข้าง ๆ จำคำพูดนี้ได้ขึ้นใจ แม้ว่าตอนนั้นจะไม่เข้าใจความหมายก็ตาม คำของพ่อผุดขึ้นมาในความทรงจำอีกครั้ง ขณะกำลังเตรียมการสำหรับงาน ‘ดินบ้านนอก’
“เราอยากให้มีแหพ่อของจริงเป็นพื้นหลัง เลยกลับเพชรบุรีไปตามหาแหพ่อ ต้องไล่ถามคนรู้จักหลายคนกว่าจะได้แหจริงมาแสดง เลยต้องยกให้งานชิ้นนี้เป็นชิ้นที่หินที่สุด” แต่ก็เป็นชิ้นที่คนชื่นชมมากที่สุดเช่นกัน
ทุกวันนี้ ประโยค “ไม่ได้กินเพราะไม่ได้หา” สลักไว้บนผนังเหนือชั้นวางผลงานของผู้เป็นลูกชาย ณ สำนักหนองเสือ
ดอกไม้กับแจกัน
บัทม์ แก้วงอก ได้เรียนรู้อะไรจากการเป็นคนปั้นเซรามิกบ้างในชีวิตนี้ – เราถามเป็นคำถามสุดท้ายก่อนลากลับ
“โอ้ หลายอย่าง” เขาตอบทันที
“ข้อหนึ่ง มันสอนให้ผมเป็นคนที่เรียบง่าย”
“ข้อสอง ผมเคารพเสียงของมนุษย์เหมือนที่ผมเคารพเสียงของไฟและดิน เป็นสิ่งที่ทำให้แรงปะทะเสียดทานผมน้อยลง เมื่อก่อนผมโคตรซ่าเลย แต่ตอนนี้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ฟังทุกคนเพราะมีดินนำทาง”
“ข้อสาม ผมได้เดินทางไปทั่วโลกเพราะดิน ผมเกิดมาจากการโดนไม่เชื่อ พี่น้องเพื่อนฝูงไม่มีใครเชื่อสักคนว่าจะเป็นศิลปินเซรามิกได้ แต่ผมเชื่อดิน ก็เลยมี บัทม์ แก้วงอก ในทุกวันนี้”
นอกจากนี้ศิลปะเซรามิกยังให้อะไรกับชีวิตคู่ของเขา และภรรยาชาวญี่ปุ่นนักจัดดอกไม้อีกด้วย
“เวลามีการจัดแสดงงานคู่กัน ทำให้เราเรียนรู้ว่า บางทีดอกไม้ต้องเกรงใจแจกัน แจกันบางทีต้องเกรงใจดอกไม้ ถ้าต่างคนต่างตกแต่งแบบไม่ยอมงานของอีกฝ่าย ผลงานร่วมจะดูไม่เด่นทันที แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างประนีประนอมซึ่งกันและกัน คอยดูภาพรวมของผลงาน งานจะดูน่าสนใจขึ้นมาก”
ทุกวันนี้บัทม์มีความสุขกับการใช้เวลาทุกวันที่สำนักหนองเสืออยู่กับดินและเตาไฟ
“อาชีพนี้ทำได้ถึงอายุ 80 – 90 เลยนะ อาจารย์ผมอายุ 80 ปีแล้ว ก็ยังนั่งปั้นดินอยู่ทุกวัน” เขาบอก
“และผมก็คิดว่าศิลปะเซรามิกเองก็จะอยู่คู่กับเราไปอีกนาน อย่างที่อยู่คู่มนุษย์มาร่วมหมื่นปีไม่เปลี่ยนแปลง”
ก่อนกลับเรามีโอกาสดูบัทม์สาธิตการปั้นเซรามิก เขาซึ่งนั่งขัดสมาธิอยู่หน้าแป้นขึ้นดิน ดูสงบราวกับนั่งวิปัสสนา
เราลองเอาดินที่เหลือจากการสาธิตมา นวด กด และปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ ตามภาษาคนไม่รู้วิชา ก่อนจะนำกลับไปรวมกับกองใหญ่อีกครั้ง จนถึงตอนนี้ปลายนิ้วยังจำความนุ่มและเย็นของก้อนดินได้
เราเชื่อว่าวันหนึ่ง ความทรงจำเกี่ยวกับดินในครั้งนี้จะพาเรากลับไปที่สำนักหนองเสืออีกครั้ง
ทุ่งข้าวสีเขียวค่อย ๆ ไกลลิบลงเรื่อย ๆ เริ่มเห็นตึกสูงสลับกับบ้านเรือน และไฟสีแดงเป็นแถวจากท้ายรถที่ต่างมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ
เริ่มคิดถึงดินเสียแล้วสิ