หาก Murakami เปิดร้านกาแฟ

“ลูกค้าที่เดินเข้ามาในร้านนี้ เขาคงหาความหมายอะไรในชีวิตมาเยอะแล้วล่ะ”

ประโยคนี้ทำให้เราชะงัก สัมผัสทั้งหมดที่ตอนแรกจดจ่ออยู่กับกาแฟเย็น ๆ ตัดกับอากาศร้อนของอยุธยา กลับมาจับจ้องอยู่ที่ พงษ์-พุทธิพงษ์ วณิชย์สุวรรณ์ เจ้าของร้าน Basic Space Coffee

“แต่ว่าบางจุดในชีวิตไม่ต้องหาความหมายก็ได้ เอาแค่ความรู้สึกก็พอ”

สำหรับพงษ์ การเดินเข้าร้านหมือนค่อย ๆ พลิกอ่านหนังสือของ Haruki Murakami ตรงที่ทั้งคู่เน้นตามอารมณ์ความรู้สึกไปเรื่อย ๆ มากกว่ามุ่งหาบทสรุป

“ร้านเราตกแต่งแบบไม่มีอะไรที่เฉพาะเจาะจง เพราะฉะนั้น อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ในร้านนี้” เรามองไปรอบ ๆ ร้าน เห็นทั้งปัจจุบันและอดีตกระโดดไปกระโดดมา เริ่มเห็นภาพตามว่าหาก Murakami เปิดร้านกาแฟ ก็คงมีบรรยากาศคล้ายที่นี่

ภาพวาดสไตล์การ์ตูนญี่ปุ่นตั้งอยู่ข้าง ๆ เครื่องเสียง

บนชั้นวางอุปกรณ์ทำกาแฟมีภาพถ่ายเก่าดูเก๋ของอากง คุณพ่อ และคุณแม่ของหนุ่มเจ้าของร้าน

เครื่องทำกาแฟตั้งอยู่บนโต๊ะขาสิงห์ที่ยืนต้อนรับลูกค้ามาตั้งแต่สมัยยังเป็นร้านอาหารตามสั่ง

ถึงสิ่งเหล่านี้จะจัดวางภายใต้ดีไซน์ที่ไม่เฉพาะเจาะจง แต่ทั้งหมดบ่งบอกว่า ร้านกาแฟนี้เป็นพื้นที่ของเขา

วันนี้เรามีโอกาสก้าวเข้ามานั่งจิบกาแฟภายในร้านจึงขอมอบพื้นที่บนกระดาษหน้าถัด ๆ ไปไว้บันทึกความทรงจำเกี่ยวกับร้านกาแฟแห่งนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นจนตอนนี้ที่ได้มีโอกาสมานั่งคุยกัน

Basic Space Coffee ร้านกาแฟออกแบบง่าย ๆ ในเมืองอยุธยา ที่ปรับมาจากร้านโชห่วยของแม่
รูปถ่ายคุณแม่และคุณพ่อของพงษ์

พื้นที่ร้าน

ชื่อ Basic Space Coffee ถือกำเนิดขึ้นตอนที่เขากำลังฟังเพลงของ The xx หนึ่งในวงดนตรีที่พงษ์ชื่นชอบ

‘Basic Space, open air. Don’t look away when there’s nothing there.’

พงษ์เล่าว่า ‘Basic Space’ มันโดนใจ เพราะสะท้อนตัวเขาในตอนนั้นได้ตรงเผง เขาเริ่มทุกอย่างจากระดับพื้นฐานทั้งหมด

Basic Space Coffee ร้านกาแฟออกแบบง่าย ๆ ในเมืองอยุธยา ที่ปรับมาจากร้านโชห่วยของแม่

ตอนที่ตัดสินใจเปลี่ยนร้านอาหารตามสั่งกึ่งโชห่วยของแม่ที่ทำมากว่า 30 ปีให้เป็นร้านกาแฟ พงษ์เป็นเด็กหนุ่มจบเกษตรผู้ไม่มีความรู้ด้านการออกแบบเลย แต่รู้แน่ ๆ ว่าต้องประหยัดงบไว้ลงทุนกับเครื่องชงกาแฟ เลยตัดสินใจเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วในบ้านมาใช้ ทั้งโต๊ะของอากง ขาเก้าอี้ของแม่ ยันขาเตียงเก่า เอามารีไซเคิลและเปลี่ยนรูปแบบให้ใช้งานได้ พอมีของครบก็รู้สึกทันทีว่าที่นี่คือพื้นที่ของเขา จึงเป็นที่มาของคำว่า Space ส่วนคำว่า Basic สื่อถึงการออกแบบง่าย ๆ ตามประสาคนที่ไม่ได้จบสถาปัตยกรรมศาสตร์ และดันพอดีกับความต้องการให้ร้านดูเรียบง่ายและมีบรรยากาศเป็นกันเองอีกด้วย

“Basic Space เหมือนเราเลยว่ะ เราไม่มีอะไรพิเศษเลย แบบก็เขียนมือเอง กาแฟก็หาความรู้เอง ก็เลยเอาชื่อ Basic Space นี่แหละ”

ต่อมาเพื่อนพงษ์ซึ่งเป็นสถาปนิกของ BodinChapa Architects กลับมาอยุธยาพอดี จึงติดต่อให้มาช่วยปรับปรุง Basic Space ใหม่ โดยให้โจทย์ใหญ่ ๆ ว่า Renovation และ Basic

ตัวสถาปนิกเองก็ชอบโจทย์นี้

“ผมชอบอะไรง่าย ๆ เราเห็นร้านกาแฟบางที่ในเกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน มันสวยได้ไงวะ มันคือบ้านไม่ใช่เหรอ แต่เป็นการจัดวางที่ได้รับการออกแบบ เลยปล่อยให้เพื่อนสถาปนิกคิดว่าอยากทำอะไร เพื่อนรู้ว่าเราพอใจกับสิ่งที่เรียบง่ายมาก แค่นี้พอแล้วไม่ต้องอะไรมากมาย แต่สุดท้ายในความเรียบง่ายมันมีรายละเอียดเยอะจริง ๆ ทุกข้อต่อ ทุกรอยเชื่อม มันคือความละเอียดของเพื่อนเราเลย”

แม้พงษ์จะเติบโตมาในครอบครัวที่รักการเก็บรักษาของเก่าอยู่แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเห็นเสน่ห์ของเก่าทุกชิ้นที่กลายเป็นพระเอกของร้าน ณ วันนี้ ด้วยความที่อยู่กันมาจนเคยชิน ตอนเขาเห็นหลังคาสังกะสีขึ้นสนิมซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของร้านเป็นครั้งแรก เขาบอกเพื่อนว่าอยากเปลี่ยน แต่เพื่อนก็ยืนกรานเก็บหลังคาเดิมไว้ เพื่อปกป้องความทรงจำของบ้านให้คงอยู่มากที่สุด

สุดท้ายร้านจึงเต็มไปด้วยความทรงจำ

Basic Space Coffee ร้านกาแฟออกแบบง่าย ๆ ในเมืองอยุธยา ที่ปรับมาจากร้านโชห่วยของแม่
หลังคาสังกะสี ความทรงจำของบ้าน

แล้วในความทรงจำที่เก็บไว้ทั้งหมด ชิ้นไหนกันที่เขารักที่สุด

พงษ์ตอบทันทีว่า โต๊ะขาสิงห์ที่เห็นในร้านและตัวที่กำลังใช้นั่งคุยกันเนี่ยแหละ เพราะทั้งโต๊ะและเก้าอี้เป็นสิ่งที่พ่อกับแม่ใช้ทำมาหากินจนตั้งตัวได้สมัยเปิดร้านอาหารตามสั่ง ปัจจุบันนี้โต๊ะขาสิงห์ก็เป็นจุดสนใจของคนที่แวะมาเยือน ทั้งลูกค้าใหม่และลูกค้าเดิมของคุณแม่ต่างเห็นแล้วนึกถึงโต๊ะกินข้าวที่บ้านและความทรงจำวัยเด็กของตัวเองกันทั้งนั้น

Basic Space Coffee ร้านกาแฟออกแบบง่าย ๆ ในเมืองอยุธยา ที่ปรับมาจากร้านโชห่วยของแม่
โต๊ะด้านขวามือคือโต๊ะขาสิงห์ในร้านซึ่งถูกผ่าครึ่งและนำมาใช้ใหม่อีกครั้ง

พื้นที่ในร้านที่เขาชอบที่สุด คือส่วนด้านหลังหรือพื้นที่บ้าน

“จริง ๆ ความทรงจำที่ดีที่สุดคือโซนบ้าน มันคือความทรงจำวัยเด็กทั้งหมด เลยไม่ได้ทำอะไรใหม่ ผมโตมากับร้านขายของชำ ตู้ขายของ เก๊ะเงิน ทุกอย่างเหมือนเดิมหมด เป็นโชคของผมที่ตื่นมาแล้วเจองานเลย ไม่ต้องเดินทาง พอเลิกงานเปิดประตูก็ถึงบ้านเลย เป็นความโชคดีที่บ้านกับร้านอยู่ที่เดียวกัน”

การที่ร้านตั้งอยู่ในอยุธยาก็มีผลต่อการสร้างร้านในบางมุมเหมือนกัน

มุมหนึ่ง เนื่องจากร้านตั้งอยู่บนเกาะเมือง ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร พงษ์จึงพยายามปรับปรุงร้านให้คงรูปแบบบ้านเดิมไว้ให้มากที่สุด เพื่อร่วมอนุรักษ์ความงามของเมืองโบราณแห่งนี้

ในขณะเดียวกัน พงษ์ก็ต้องการแสดงความเป็นตัวของตัวเอง โดยการอนุรักษ์บ้านและความทรงจำเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อแสดงให้เห็นว่าจริง ๆ แล้ว ที่อยู่อาศัยของชาวอยุธยาก็เป็นบ้านธรรมดา ๆ เหมือนตัวร้าน ไม่ใช่อิฐแดง เจดีย์เก่า และวัดอย่างที่นักท่องเที่ยวคิด

Basic Space Coffee ร้านกาแฟออกแบบง่าย ๆ ในเมืองอยุธยา ที่ปรับมาจากร้านโชห่วยของแม่
โต๊ะขนาดกะทัดรัดดัดแปลงจากราวบันไดสำหรับคนที่นั่งในร้าน

Basic Space Coffee บ้านและร้านกาแฟมุงหลังคาสังกะสี พื้นที่ไม่ใหญ่มาก มีที่ให้นั่งทั้งในและนอกร้าน

ถ้านั่งอยู่ในร้านจะได้ความเย็นจากแอร์ มีโต๊ะขนาดกะทัดรัดดัดแปลงจากราวบันไดเก่า คอยรองรับแก้วและแล็ปท็อป ได้ยินเพลงบรรเลงซึ่งพงษ์เลือกตามความอินในแต่ละวัน

ถ้านั่งอยู่นอกร้านจะได้ความเย็นจากพัดลมเพดานโบราณสีเขียว มีโต๊ะขาสิงห์สุดเก๋า ชวนให้นึกถึงความทรงจำวัยเด็กที่คอยหนุนศอกเวลาบทสนทนาบนโต๊ะกำลังออกรส มีเสียงรถแห่โฆษณาเป็นบางคราว เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเรามาถึงอยุธยาแล้ว

พื้นที่ในความทรงจำของพงษ์กับปัจจุบันซึ่งเป็นร้านกาแฟ เชื่อมเข้ากับวิถีชีวิตอยุธยาเป็นผืนเดียว 

พื้นที่ในแก้ว

ทุกครั้งที่เดินเข้าร้านกาแฟเรามักจะทำตัวไม่ถูก คล้ายคนไร้ศาสนาเดินเข้าวัดเป็นครั้งแรก

เพราะจริง ๆ แล้วไม่ชอบสั่งกาแฟ

ไม่ใช่เพราะไม่อยากดื่ม แต่รู้สึกว่าชื่อกาแฟจำยาก บางครั้งอยากได้กาแฟนมเยอะ แต่ดันสั่งเมนูนมน้อยจนท้อกับการสั่งกาแฟ สรุปเอาเองว่าเป็นเรื่องน่าปวดหัว และเลือกเดินตามทางคนขี้เกียจ โดยการสั่งโกโก้ที่ไม่ต้องเลือกเยอะมาตลอด

ตอนก้าวเข้าร้านนี้ครั้งแรกก็เช่นกัน เรากวาดตามองเมนูที่หลากหลายแล้วลังเลอยู่สักพักว่าจะสั่งอะไรดี

จังหวะนั้น นิ่ม-สุภาทิพย์ อ่อนบัวขาว เพื่อนผู้ร่วมก่อตั้งร้านมากับพงษ์ตั้งแต่ร้านยังเป็นบ้านก็ถามว่าปกติชอบกาแฟสไตล์ไหน เราตอบกลับไปด้วยความเขินอายเล็กน้อยว่าปกติไม่ค่อยกินกาแฟ เลยอยากให้แนะนำเมนูเด็ดเสียหน่อย ในใจคิดว่านิ่มคงจะแนะนำ ‘Cococano’ หรือ Americano สูตรพิเศษของร้านแน่นอน ซึ่งโดดเด่นด้วยการใช้น้ำมะพร้าวชงแทนน้ำเปล่า และเป็นเมนูที่คนพูดถึงเยอะ

แต่เปล่า

นิ่มกลับยิ้มน้อย ๆ แล้วถามต่อว่า ชอบนมไหม

เราพยักหน้า

ปกติชอบรสชาติสไตล์ผลไม้ขนม ๆ หน่อยไหม

เราพยักหน้าอีก ในใจสงสัยว่านิ่มจะจับคู่เรากับกาแฟแบบไหน

ถามเสร็จ นิ่มก็หันกลับไปทำกาแฟมา 1 แก้ว

สุดท้ายเราจึงได้ ‘Sunshine Latte’ มานั่งอยู่บนโต๊ะเป็นเพื่อน

Basic Space Coffee ร้านกาแฟออกแบบง่าย ๆ ในเมืองอยุธยา ที่ปรับมาจากร้านโชห่วยของแม่
‘Cococano’ หรือ Americano สูตรพิเศษของร้าน โดดเด่นด้วยการใช้น้ำมะพร้าวชงแทนน้ำเปล่า
Basic Space Coffee คาเฟ่ของลูกชายที่ดัดแปลงร้านอาหารตามสั่งกึ่งโชห่วยของแม่ เป็น Community Space ของเมืองอยุธยา
‘Sunshine Latte’ ที่สุดท้ายได้มานั่งเป็นเพื่อน

1 ปีก่อนเริ่มตั้งร้านกาแฟเป็นของตัวเอง พงษ์ก็ไม่ได้ต่างจากเราในวันนี้มากนัก เคยสั่งกาแฟผิด ๆ ถูก ๆ สั่งเอสเปรสโซเย็นที่ญี่ปุ่นกับสิงคโปร์ ด้วยความไม่รู้ว่าเป็นเมนูที่มีแค่ในไทยและเพื่อคนไทยโดยเฉพาะ สุดท้ายวันนั้นเขาจึงได้กาแฟดำมาแทน

แต่หลังจากได้ลองกาแฟดำแก้วนั้น โลกกาแฟของพงษ์ก็ขยายใหญ่ขึ้น และความสนใจในกาแฟของเขาเริ่มเข้มข้นขึ้นจนกลายเป็นความหลงใหล ซึ่งสุดท้ายนำไปสู่การแปลงบ้านเกิดที่อยุธยาให้กลายเป็น Basic Space Coffee

ถึงวันนี้พงษ์จะมีร้านกาแฟเป็นของตัวเองแล้ว เขาก็ยังไม่ลืมวันที่เคยสั่งกาแฟผิดบ้างถูกบ้าง พงษ์เกิดและโตที่อยุธยา จึงเข้าใจดีว่าคนละแวกนี้คงคิดไม่ต่างจากเขามากนัก ลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านเพียงต้องการดื่มกาแฟรสชาติดี ราคาเข้าถึงง่าย เพื่อให้มีแรงฟันฝ่ารุ่งเช้าอันแสนเร่งรีบไปได้แบบไม่ปวดหัว เพราะฉะนั้น หน้าที่ของร้าน คือย่อยความซับซ้อนของกาแฟให้เข้าใจง่าย โดยการถามคำถามพื้น ๆ กับลูกค้า เช่น กินกาแฟไหม ถ้ากิน ชอบกาแฟดำหรือกาแฟนม รูปแบบคำถามเดียวกับที่นิ่มถามเราในตอนแรก

ด้านนอกร้านเป็นโลกที่แสนจะวุ่นวายและเต็มไปด้วยการตัดสินใจ พงษ์จึงอยากให้ร้านของเขาแบ่งเบาภาระการตัดสินใจเรื่องกาแฟของลูกค้าให้ได้มากที่สุด เพื่อให้คนที่เข้ามานั่งจิบกาแฟในพื้นที่นี้รู้สึกสบายใจตั้งแต่เริ่มสั่งจนวางแก้ว

พงษ์ยังบอกอีกว่าคำขวัญของร้านคือ “กาแฟที่อร่อยที่สุด คือกาแฟที่ลูกค้าชอบ ไม่ใช่กาแฟที่ขายดี”

ถึง Americano จะเป็นกาแฟในกระแสนิยมปัจจุบัน แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นกาแฟที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าทุกคน เขาจึงให้ความสำคัญกับคำถามพื้นฐานเหล่านี้ และเราก็ได้เข้าใจว่าทำไมนิ่มถึงไม่แนะนำเมนูยอดนิยม แต่ถามต่อจนรู้ความชอบของเราจริง ๆ ก่อนแนะนำ Sunshine Latte ซึ่งชงขึ้นครั้งแรกในวันที่ฝนตกหนักเสียจนพงษ์ต้องภาวนาให้ฟ้าเปิดเพราะอยากขายกาแฟ

ท่ามกลางบรรยากาศอันน่าห่อเหี่ยวใจ สิ่งสดใสสิ่งเดียว ณ ขณะนั้น คือ ส้มในกาแฟที่เขากำลังคิดค้น กาแฟน้องใหม่เลยได้ชื่อว่า Sunshine Latte เพราะเป็นแสงตะวันในวันหมองหม่นนั่นเอง

แค่พื้นที่เล็ก ๆ ในแก้วก็เก็บแสงแดดไว้ได้เต็มเปี่ยม

ที่จริงแล้ว กลิ่นหอมอ่อน ๆ ของส้มที่แตะเพดานปาก ตามมาด้วยรสหวานจากนม อมขมหน่อย ๆ จากกาแฟของ Sunshine Latte คือรสชาติความหวังในถ้วยกาแฟนี่เอง

พื้นฐานของชีวิต

เรามาถึงร้านตอนเช้าเวลาประมาณ 9 โมงครึ่ง คนก็แน่นเต็มร้านแล้ว จึงกลับมาอีกทีช่วง 10 โมง ตอนนั้นขนมเค้กที่กะไว้ทานคู่กับกาแฟก็หมดเสียแล้ว ทั้งที่ลูกค้าเยอะขนาดนี้ เรากลับเห็นแค่พงษ์ นิ่ม และบาริสต้าอีกคนช่วยกันทำกาแฟ พงษ์และนิ่มบอกว่ายังไม่อยากรับพนักงานเพิ่ม เพราะอยากดูแลรสชาติกาแฟและลูกค้าด้วยตนเอง ที่สำคัญที่นี่คือบ้าน เขาจึงอยากชงกาแฟกับคนที่เป็นครอบครัว

Basic Space Coffee คาเฟ่ของลูกชายที่ดัดแปลงร้านอาหารตามสั่งกึ่งโชห่วยของแม่ เป็น Community Space ของเมืองอยุธยา

แมน-ณัฐวุฒิ คุ้มกัน บาริสต้าที่เราเห็นเป็นข้อยกเว้น เดิมทีเขาเป็นลูกค้าคนหนึ่งซึ่งแวะเวียนมาบ่อย แต่ปัจจุบันเขาคือส่วนหนึ่งของครอบครัวไปแล้ว

แมนเล่าว่าแต่ก่อนเขาเป็นคนเก็บตัว แต่พอได้เข้ามาในพื้นที่พื้นฐานของพงษ์ ก็เริ่มรู้สึกสบายใจที่จะค่อย ๆ เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ทุกครั้งที่ก้าวเข้ามาในร้านกาแฟแห่งนี้ ทุกคนต่างทิ้งสิ่งนอกกาย ไม่ว่าจะอายุ อาชีพ หรือตำแหน่งไว้ด้านนอก แล้วกลับมาคุยกันเรื่องพื้น ๆ อย่างชอบกาแฟอะไร รถติดไหม ร้านข้าวต้มร้านไหนอร่อย ชอบไปวิ่งที่ไหน เป็นต้น และด้วยความที่กระตือรือร้นเรื่องกาแฟเหมือนกันและคุยกันถูกคอ พงษ์จึงให้มาฝึกเป็นบาริสต้าที่ร้าน จนปัจจุบันกลายเป็นน้องชายคนเล็กของบ้าน โดยมี คุณแม่นวล-นวลจันทร์ วณิชย์สุวรรณ์ คุณแม่ของพงษ์รอทำกับข้าวให้ทุกวัน

ความสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกค้าคงจะเริ่มตั้งแต่การที่พงษ์มองว่าพื้นที่นี้เป็น Community Space ให้คนมานั่งคุยกัน รู้จักกัน อาจจะแค่ทักทายกันด้วยคำถามง่าย ๆ แต่ก็แสดงถึงความห่วงใยได้เป็นอย่างดี

สายสัมพันธ์อบอุ่นระหว่างเจ้าของร้านกับลูกค้า เริ่มโยงใยมาตั้งแต่ตอนที่คุณแม่ของพงษ์ขายอาหารตามสั่ง บางคราวจึงได้เห็นลูกค้าเดิมเข้ามาอุดหนุนกาแฟด้วย หรือบางทีเห็นกันตั้งแต่นั่งอ่านหนังสือสอบ จนจบมาเป็นทนายแล้วพาลูกมากินที่ร้านก็มี คุณแม่ได้เห็นการเติบโตของคนที่เดินเข้ามาในร้านตั้งแต่สมัยร้านอาหารจนปัจจุบัน

ดูเหมือนว่า ร้านกาแฟแห่งนี้จะเป็นที่รู้จักในแง่ดีไซน์ เพราะสร้างอยู่บนโครงเดิมของโชห่วยกึ่งร้านอาหารตามสั่งของคุณแม่ แต่น้อยคนจะรู้ว่ารากฐานจริง ๆ ของร้าน คือคำสอนของคุณแม่ที่ว่า “สุขทุกข์อยู่ที่ตัวเรา” แนวคิดที่พงษ์ซึมซับมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เขารู้ว่าความสบายใจและสิ่งธรรมดา ๆ ในทุก ๆ วันนี่แหละคือพื้นฐานของความสุข

Basic Space Coffee คาเฟ่ของลูกชายที่ดัดแปลงร้านอาหารตามสั่งกึ่งโชห่วยของแม่ เป็น Community Space ของเมืองอยุธยา

ตอนเริ่มเปิดร้านแรก ๆ ชงกาแฟพลาดไปหลายแก้ว ก็มีคุณแม่คอยให้กำลังใจ เป็นคนบอกว่าทำผิดก็ทิ้งแล้วทำใหม่ ไม่ต้องท้อ

จนกระทั่งวันนี้ร้านกาแฟของลูกเป็นที่รู้จัก คุณแม่ก็เป็นกำลังสำคัญหลังบ้านที่คอยช่วยทำเค้ก เลือกกล้วย และทำกับข้าวให้คนหน้าร้านมีแรงทำงาน นอกจากนี้ หากใครสั่งเมนู ‘โอเลี้ยง Homemade’ คุณแม่ก็จะลงมือชงด้วยตนเอง (แอบกระซิบว่าคุณแม่ถือเป็นบาริสต้าเก่าเชียวนะ เพราะขายกาแฟโบราณมาตั้งแต่เด็ก) ฉะนั้น ใครแวะไปร้านอยากให้ลองสั่ง จะได้ชิมฝีมือบาริสต้าพิเศษคนนี้สักครั้ง

คุณแม่บอกว่าส่วนที่เพลิดเพลินที่สุดของการทำงาน คือการได้ใช้เวลากับลูก ส่วนพงษ์เองก็บอกว่าความสบายใจที่สุดในการทำงานคือการได้อยู่ใกล้ ๆ แม่ที่บ้านของตัวเอง ณ Basic Space Coffee แห่งนี้

เราจิบ Sunshine Latte อีกครั้ง ในหัวประมวลความรู้สึกทั้งหมดจากบรรยากาศและเรื่องที่ได้ฟัง

Basic Space Coffee คาเฟ่ของลูกชายที่ดัดแปลงร้านอาหารตามสั่งกึ่งโชห่วยของแม่ เป็น Community Space ของเมืองอยุธยา

การใช้ชีวิตให้ผ่านไป 1 วัน เพียงให้วันนั้นจบลงอย่างธรรมดา ต้องใช้ความเข้มแข็งทางกายและใจมากกว่าที่ใคร ๆ อยากยอมรับ เพราะฉะนั้น ในวันที่ไม่มีอะไรเป็นใจ และต้องใช้พลังภายในมากกว่าปกติ คงดีไม่น้อยหากมีพื้นที่ที่เรารู้สึกปลอดภัยและสบายใจพอจะเดินกลับเข้าไปพักสักระยะ ก่อนออกมาเผชิญหน้ากับชีวิตจริงอีกครั้ง

พื้นที่นั้นอาจจะเป็นบ้าน พื้นที่ในอ้อมกอดของคนที่เรารัก หรือพื้นที่เล็ก ๆ ในถ้วยกาแฟก็ได้ ทุกคนต่างมีพื้นที่ที่ทำให้รู้สึกสบายใจในแบบฉบับของตัวเอง

Basic Space Coffee คือพื้นที่นั้นสำหรับพงษ์ คือพื้นที่ซึ่งมีพื้นฐานเป็นความทรงจำของบ้านและหลักการชีวิตที่แม่สอน เป็นทั้งที่อยู่และพื้นที่แบ่งปันกาแฟที่เขารักให้กับคนอยุธยา รวมถึงผู้ที่กำลังตามหาพื้นที่สบายใจอยู่นั่นเอง

Basic Space Coffee

ที่ตั้ง : 2/1 ถนนราเมศวร พระนครศรีอยุธยา (แยกเจ้าพระยา ริมคลองมะขามเรียง) (แผนที่

วัน-เวลาทำการ : วันอังคาร-อาทิตย์ (ปิดทำการวันจันทร์)​ เวลา 07.30 – 16.00 น.

โทรศัพท์ : 09 1871 2028

Facebook : Basic Space Coffee

Writer

Avatar

จันท์จุฑา ลดาวัลย์ ณ อยุธยา

ตอนเป็นเด็กหญิงคิดว่าถ้ามีพลังวิเศษไม่ได้ก็ขอเขียน ถ้าเขียนไม่ได้ก็ขอร้องเพลง ปัจจุบันเป็นนางสาวนักฝึกฝนตนเองให้ไวต่อความจริงใจ เพราะดันไปแอบชอบพลังวิเศษชนิดนี้ในตัวคน

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์