‘BASE Playhouse’ คือธุรกิจออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ทักษะยุคใหม่อย่าง Soft Skills ของมนุษย์ที่ฉีกภาพจำของห้องเรียนแบบเดิมๆ ทิ้งไปอย่างหมดสิ้น
เคยไหมที่ง่วงเหงาหาวนอน จ้องมองนาฬิการอเวลาเลิกเรียน จำใจเข้าเทรนนิ่งขององค์กรที่รู้ว่าเข้าไปจะไม่ได้อะไร แอบทำอย่างอื่นระหว่างเวิร์กชอปออนไลน์เพราะน่าเบื่อเกินกว่าจะทน โดนคุณครูในโรงเรียนตำหนิเพราะเขาประเมินศักยภาพอย่างฉาบฉวย ไม่เห็นคุณค่าแท้จริงที่ซ่อนอยู่ในตัวคุณ
ประสบการณ์แย่ๆ ที่ประชากรไทยจำนวนมากเคยสัมผัสมาร่วมกันเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ยากมากในห้องเรียนของ BASE Playhouse เพราะพวกเขาจริงจังกับการทำความเข้าใจผู้เรียนที่เป็นมนุษย์ หยิบจับองค์ประกอบของเกมมาผสมผสานการสอน สร้างสรรค์เป็นกระบวนการที่ผู้เรียน ทั้งวัยเรียนและวัยทำงาน ได้มีส่วนร่วม พร้อมพัฒนาทักษะสำคัญสำหรับอนาคตที่ไม่ค่อยมีสอนในโรงเรียนหรือองค์กรอย่างเป็นระบบ

ก่อตั้งโดย ม๋ำ-เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ และ แม็ก-ภีศเดช เพชรน้อย สองนักออกแบบการเรียนรู้ (Learning Designer) รุ่นใหม่ ผู้คลุกคลีอยู่กับการสอนและจัดเวิร์กชอปตั้งแต่สมัยเรียน เห็นช่องว่างของระบบการศึกษา และตัดสินใจสร้างธุรกิจเพื่อลงมือแก้ไขปัญหา
“ความเชื่อของเราคือกระบวนการเรียนรู้ที่ใช่จะปลดล็อกศักยภาพมนุษย์ให้ก้าวขึ้นไปเป็นตัวเองในแบบที่ดีขึ้นกว่าเดิม”
นี่คือรากฐานสำคัญของบ้านและโรงเรียนแห่งนี้
ในวันที่คุณค่าของผู้เรียนยังถูกวัดด้วยคะแนนสอบทางวิชาการเป็นหลัก ม๋ำและแม็กมองเห็นว่าโลกอนาคตที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ยากต่อการคาดเดา จะไม่ได้ต้องการคนเรียนเก่งอีกต่อไป หากแต่เป็นคนเก่งที่รู้จักตัวเอง มีทักษะชีวิตและการทำงานร่วมกับมนุษย์ผู้อื่น ทุกคอร์สของ BASE Playhouse จึงออกแบบมาให้ตอบโจทย์นี้ทั้งหมด
แม้เผชิญความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้การสอนแบบออฟไลน์เป็นไปได้ยาก แต่พวกเขาสามารถปรับตัว ออกแบบกระบวนการสอนออนไลน์ที่ทำให้คนยังอยากกลับมาเรียนอีกครั้ง พร้อมสร้างหน่วยสตาร์ทอัพใหม่ขึ้นเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีวัดผลทักษะที่เคยจับต้องได้ยากอีกด้วย
BASE Playhouse แก้โจทย์ที่ผู้สอน โรงเรียนและองค์กร ปวดหัวมาตลอดได้อย่างไร เราขอชวนคุณวางตำราการสอนเล่มหนาที่อาจคุ้นเคย เดินเข้าสนามฝึกสกิล และเรียนรู้จากสองผู้ประกอบการธุรกิจและสตาร์ทอัพการศึกษาที่แตกต่างนี้ไปด้วยกัน

Level 01
ทดลอง สร้างรากฐานอย่างกล้าหาญ
การตอกเสาเข็มแรกของ BASE Playhouse เริ่มต้นขึ้นจากสองคู่หูต่างขั้วที่เชื่อเรื่องการพัฒนามนุษย์ร่วมกัน แม้ไม่ได้ทำงานด้านการศึกษาโดยตรงในตอนแรก
ม๋ำคือเด็กกิจกรรมประจำโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาหลงใหลในเทคนิคเบื้องหลังยานยนต์และเครื่องบิน เลือกศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านนี้โดยเฉพาะ ก่อนเข้าทำงานในองค์กรชั้นนำแห่งหนึ่ง ด้วยทักษะการคิดเชิงเหตุผลแบบฉบับวิศวกรที่ถูกฝึกปรือมาอย่างดี
ส่วนแม็กเป็นเด็กกิจกรรมจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีที่เชื่อในพลังของเทคโนโลยีและเลือกทำงานสายนี้ โดยพกพาความใส่ใจ ประสบการณ์ อารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ ติดตัวไปในงานที่ทำด้วยเสมอ
ทั้งสองโคจรมาเจอะเจอกันในงาน TEDxBangkok 2016 ผ่านเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย และฟอร์มทีมขึ้นเพื่อทำโปรเจกต์ทดลองด้านเครื่องยนต์ที่ม๋ำครุ่นคิดอยู่ เสริมจากงานประจำ
“สุดท้าย ไอเดียนั้นเฟล เปลี่ยนไปลองทำอย่างอื่นก็ไม่เวิร์ก แต่จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นตอนครูที่โรงเรียนเก่าทักมาว่าอยากให้เราไปช่วยสอนน้องๆ มัธยมศึกษาเตรียมตัวแข่งขันการทำธุรกิจ” นักจัดกิจกรรมขาประจำของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ เล่าย้อนความ
เมื่อโอกาสเข้ามา ทั้งสองลองกลั่นประสบการณ์การทำกิจกรรมทั้งหมดที่เคยผ่านมา เพื่อออกแบบการสอนให้ไม่น่าเบื่อ ปรากฏว่าได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี เด็กๆ อยากเรียนต่ออีก
“มันเป็นไปได้ไหมที่ไอเดียนี้จะกลายเป็นธุรกิจ” แม็กเล่าคำถามสำคัญของม๋ำเมื่อ 5 ปีก่อน ที่ทำให้พวกเขาเริ่มการเดินทางครั้งใหม่เพื่อไขข้อสงสัย

“เราลองออกแบบ Prototype (ค่ายต้นแบบ) สองช่วง ช่วงแรกคือเช็กว่าสิ่งที่เราจะทำน่าสนใจและดีจริงไหม นั่งคิดกันตั้งแต่ต้นว่าต้องมีอะไรบ้างถึงทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นจริง
“หนึ่งคือคนสอน ซึ่งเราพอมีคนรู้จักอยู่ สองคือสถานที่ ตอนนั้นเราเจอว่าคณะวิศวะฯ มี Co-working Space อยู่ ลองติดต่อไปและวันต่อมาก็ Pitch ขอใช้สถานที่เลย ทำสไลด์เสร็จภายในหนึ่งวัน เป็นการ Pitching ครั้งแรกของ BASE ตอนนั้นรู้แค่ว่าต้องขอสถานที่นี้มาใช้ให้ได้” ม๋ำเล่า การ Pitch อย่างเร่งด่วนนั้นผ่านไปได้ด้วยดี
พอเปิดรับสมัครคนเข้าร่วมค่าย ‘Business for Youngsters’ สอนสร้างธุรกิจสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายรุ่นหนึ่งฟรี มีคนสมัครเข้ามา 300 คน ทะลุเป้า 30 คนที่ตั้งไว้เพื่อการดูแลที่ทั่วถึง
พอลองทดสอบช่วงที่ 2 ด้วยการตั้งราคาคอร์สขึ้นมาในรุ่นถัดไป ปรากฏว่าคนสมัครเต็มอีกครั้งหนึ่ง เรียนแล้วผลตอบรับดีทั้งสองรอบ ตอบทุกโจทย์ที่พวกเขาเคยสงสัย
เมื่อเห็นความเป็นไปได้ ม๋ำและแม็กรีบตามหาสมาชิกร่วมบุกเบิก โดยการถามตัวเองก่อนว่าพวกเขาต้องการศักยภาพและคนแบบใดเข้าร่วมทีม
“วิธีหาเหมือนเดิม เราลิสต์กันว่ารู้จักใครบ้าง พอได้ชื่อปุ๊บ เราขอขับรถไปคุยด้วยเลย” ม๋ำเล่า วิธีการนี้ทำให้เขาชักชวนนักจิตวิทยา ดีไซเนอร์ โปรแกรมเมอร์ และเพื่อนที่เรียนด้านนวัตกรรม ร่วมขบวนการได้สำเร็จ
“เราเห็นว่าปัญหาหลักของคนจะทำสตาร์ทอัพหลายที่คืออยากเริ่ม แต่หาคนไม่ได้ สิ่งที่เราเรียนรู้คือมันต้องกล้าเข้าหาและชักชวนคนที่เชื่อเหมือนกันให้ได้ อาจต้องดิ้นรนหน่อยช่วงแรก”
ปัจจุบัน ทีมงานชุดแรกยังทำงานอยู่ด้วยกันเกือบครบ และค่าย Business for Youngster จัดมาราว 30 รุ่นแล้ว

Level 02
เข้าใจความเจ็บปวดที่ยังไม่มีใครแก้
จุดเด่น 2 เรื่องที่ทำให้ BASE Playhouse โดดเด่นจากโรงเรียนหรือสถาบันอื่นๆ ในช่วงแรกคือ เนื้อหาและกระบวนการสอน
ด้านเนื้อหา พวกเขาค้นคว้าเทรนด์การศึกษาทั่วโลก และพบว่ารากฐานสำคัญสำหรับคนรุ่นต่อไปคือทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่จัดจำแนกง่ายๆ ได้เป็น 4C คือ Critical Thinking (การคิดอย่างมีเหตุผลและแก้ไขปัญหา), Creativity (การคิดสร้างสรรค์), Collaboration (การทำงานร่วมกับผู้อื่น) และ Communication (การสื่อสาร) จึงนำมาออกแบบเป็นหลักสูตรเสริมสร้างแต่ละทักษะ
“เราชวนผู้สอนสิบกว่าคนที่เรารู้จัก มานั่งถกกันว่าทักษะเหล่านี้สำคัญจริงไหม เราควรทำเรื่องนี้หรือเปล่า คำตอบที่ได้คือสำคัญมาก เพราะไม่ว่าจะทำงานอาชีพไหนหรือ AI เข้ามาเปลี่ยนโลก ทักษะชุดนี้จะยังจำเป็นอยู่ดี” แม็กเล่า
แม้หลายคนรู้ว่าสำคัญ แต่กลับยังไม่ค่อยมีใครเติมเต็มความต้องการนี้อย่างชัดเจน
“เราคุยกันตั้งแต่แรกว่าจำเป็นต้องทำเรื่องนี้ไหม จริงๆ เป็นหน้าที่ของโรงเรียนหรือเปล่า หลักสูตรแกนกลางก็มีเขียนไว้ว่าควรทำสิ่งนี้ แต่เราเจอปัญหาว่าโรงเรียนส่วนใหญ่ทำไม่ได้” ม๋ำอธิบาย

คำพูดนี้ไม่ได้เกิดจากการทึกทักเอาเอง แต่เขาและแม็กเคยรับบทเป็นครูพาร์ตไทม์ในโรงเรียนแห่งหนึ่งอยู่นาน 2 ปีระหว่างที่ทำ BASE Playhouse ไปด้วย เพื่อพัฒนาหลักสูตรทักษะผู้ประกอบการ และลองลงพื้นที่จริงเพื่อทำความเข้าใจว่าคุณครูในระบบเผชิญปัญหา ติดขัดเรื่องอะไรบ้าง
“เราเข้าไปเห็นตัวอย่างโรงเรียนที่ดีมาก คุณครูสอนด้วยชุดความคิดยุคใหม่ แต่พอเห็นโรงเรียนอื่นๆ เทียบกันแล้ว พบว่าคุณครูมีภาระและต้องจัดการเรื่องเอกสารหรือระบบเยอะกว่ามาก ทำให้เขาไม่มีเวลาโฟกัสกับการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียน บางที่ไม่ใช่ว่าคุณครูทำไม่ได้ แต่ผู้บริหารไม่ได้มีวิสัยทัศน์เรื่องนี้ เขามองไม่ออกจริงๆ ว่าหลักสูตรที่ควรเป็นคือแบบไหน แม้มีหลักสูตรแกนกลางเขียนไว้ แต่เขียนกว้างมากจนคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานความรู้ด้านนี้เอามาตีความต่อยาก
“สุดท้าย ครูที่ไฟแรงถูกระบบการศึกษาดับไฟ พังความตั้งใจของเขา เรามีผู้สอนใน BASE ที่เคยเจอระบบแบบนี้และบอกว่าจะไม่เป็นครูอีกแล้ว เขาอยากทำให้เด็กเก่งขึ้น แต่กลับต้องทำอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องเลย สรุปคือระบบปัจจุบันยังไม่เอื้อให้ครูและโรงเรียนทำสิ่งนี้ได้ดี”
เมื่อได้สัมผัสความเจ็บปวดโดยตรง พวกเขาจึงเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ และออกแบบเนื้อหาคอร์สพัฒนาทักษะยุคใหม่ ความรู้ทางธุรกิจและการค้นหาตัวเองได้อย่างตรงจุด ไม่ติดกับกฎเกณฑ์เดิมๆ ของโรงเรียน
คอร์สช่วงแรกเน้นที่ผู้เรียนระดับ ม.ปลาย และ ปวช. เพราะม๋ำและแม็กมองว่านักเรียน ม.ต้น น่าจะยังค้นหาความสนใจของตัวเองอยู่ อาจยังไม่ได้ใช้ทักษะเหล่านี้เต็มที่ ในขณะที่นักศึกษามหาวิทยาลัยค่อนข้างมีโอกาสเข้าถึงกิจกรรมต่างๆ และได้รับการสนับสนุนอยู่พอสมควรแล้ว
แต่ทำไปเรื่อยๆ ทั้งสองค้นพบว่าความต้องการไม่จำกัดอยู่เพียงระดับนักเรียนเท่านั้น ผู้ใหญ่ที่ทำงานในองค์กรก็ต้องการพัฒนาทักษะ และกลายเป็นลูกค้ากลุ่มใหม่ของ BASE ‘for Corporate’
“ช่วงแรกไม่ได้ติดต่อไปหาองค์กรไหน แต่บริษัทติดต่อเข้ามาหาเราเอง อาจเพราะ Position เราชัดแต่แรกว่าจุดเด่นคืออะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรมองหาและมันไม่มีใน Training แบบเดิมๆ”

Level 03
ออกแบบการเรียนรู้ที่ใช่ ไม่ต้องเหมือนใคร
“เราค่อนข้างซีเรียสในการทำความรู้จักผู้เรียน อยากรู้ว่าเขาเป็นใคร มีแรงจูงใจกับเรื่องอะไรบ้าง และอีกหลายคำถามที่บางทีคนและองค์กรก็งง เพราะไม่เคยโดนถามละเอียดแบบนี้มาก่อน” แม็ก Chief Learning Designer เล่ากระบวนการที่เป็นเหมือนสูตรเฉพาะตัวของธุรกิจ
หากเราไม่เข้าใจผู้เรียนจริง คงยากต่อการออกแบบกระบวนการสอนให้ดึงดูดความสนใจ ตราตรึงอยู่ในความทรงจำ และได้พัฒนาทักษะไปพร้อมกัน เชื่อว่าเราต่างเคยผ่านห้องเรียนที่มอบประสบการณ์ดีๆ เหล่านี้ให้ไม่ได้สักอย่าง เผลอๆ ทำให้เราเกลียดวิชานั้นมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ
“จากประสบการณ์ที่ทำมาตลอด เราตกผลึกกันว่ากระบวนการเรียนรู้ที่ ‘ใช่’ จะมี 5 องค์ประกอบ” ม๋ำช่วยสรุปแก่นสำคัญของหลัก Learning Design ที่เขาได้ค้นพบ
หนึ่ง สนุก (Fun)
สอง สดใหม่ (Fresh) เพราะโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก ต้องเท่าทันการเปลี่ยนแปลง
สาม มีความหมาย (Meaningful) ต่อตัวผู้เรียน รู้ว่าเรียนไปทำไม เอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
สี่ ปฏิบัติตามได้ (Practical)
สุดท้าย ต้องง่าย (Simple) ไม่ว่าเนื้อหาจะยากแค่ไหนก็ตาม

การสร้างประสบการณ์ให้ผู้เรียนรู้สึกถึง 5 องค์ประกอบนี้มีหลายกลยุทธ์ หนึ่งกระบวนท่าที่ BASE Playhouse เลือกใช้คือ Gamification หรือการถอดรหัสองค์ประกอบของเกมมาใช้งาน พร้อมแต่งเติมเรื่องราว เพื่อให้เกิดทั้งความสนุกและความรู้ ช่วยสร้างผลลัพธ์บางอย่างนอกเหนือตัวเกม เช่น ผลักดันให้เกิดพฤติกรรมใหม่ หรือเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร
ยกตัวอย่างที่ผ่านมา ในคอร์สทักษะความเป็นผู้นำ BASE Playhouse สร้างเกมขึ้นมาให้ 30 คนเล่นพร้อมกันทั้งห้องเพื่อปลดปล่อยศักยภาพความเป็นผู้นำออกมาเต็มที่เป็นเวลา 4 ชั่วโมง หรืออย่างคอร์ส Skill of Success ม๋ำและแม็กออกแบบเกมแนว RPG (Role-Playing Game) ให้คนฝึกรวมมิตรทักษะสำคัญไประหว่างทางตลอด 2 วันเต็ม
บางเวิร์กชอป พวกเขาสร้างโปรแกรมจำลองสถานการณ์และประมวลข้อมูล (Simulation) ขึ้นมาเพื่อใช้งาน
บางเวิร์กชอป มีการใช้บอร์ดเกมที่ออกแบบขึ้นใหม่โดยเฉพาะ หาจากที่ไหนไม่ได้อีก

ทั้งหมดนี้ ลงทุนทำเพื่อสร้างสภาวะจำลองที่ผู้เรียนได้ฝึกปรือฝีมือแบบไม่ต้องกลัวพลาด เกิดกระบวนการโต้ตอบและเรียนรู้ภายในเวลาอันสั้น เหมือนได้เข้าไปใช้เวลาอยู่ในโลกอีกใบ โดยมีรางวัลคือความรู้ (Knowledge) วิธีคิด (Mindset) และทักษะติดตัว (Skill) แม้ไม่เห็นผลทันตาในเวลาอันสั้น แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นหรือการเปลี่ยนแปลงที่ดีของชีวิตใครหลายคน
ความพิเศษอีกเรื่องคือ กระบวนการที่ใช้กับแต่ละกลุ่มผู้เรียนผ่านการคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วน และในแต่ละรอบอาจไม่เหมือนกันเลย แม้เป็นคอร์สเดียวกันก็ตาม
“เราทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและช่วยตีความว่าเขาจะต้องแก้ปัญหาที่เจออย่างไร บางครั้งองค์กรเข้ามาด้วยโจทย์ว่าอยากฝึกพนักงานเรื่อง Critical Thinking เราถามกลับว่าทักษะนี้จะใช้แก้ปัญหาอะไร คุยไปมา ปรากฏว่าสิ่งที่พวกเขาขาดจริงๆ คือ Communication
“หน้าที่เราคือการแปลความต้องการและหาสิ่งที่ใช่สำหรับผู้เรียน ถึงแม้ว่าจะเป็นคอร์สเดิม แต่ถ้าวิธีการมันไม่ตอบโจทย์ผู้เรียน เราจะเปลี่ยนฟอร์แมตหรือเกมเพื่อให้แก้ปัญหาได้จริงๆ นั่นคือจุดเด่นของเรา”

Level 04
สู้ความกลัว ปรับตัวสู่โลกออนไลน์
BASE Playhouse ใส่ใจประสบการณ์ของผู้เรียนมาก มากจนปลาย พ.ศ. 2562 พวกเขาตัดสินใจครั้งใหญ่ เช่าสถานที่โซน 24 ชั่วโมงของสามย่านมิตรทาวน์ เนรมิตเป็นออฟฟิศและสนามฝึกสกิลล์ที่มีอุปกรณ์ครบครัน บรรยากาศปลอดโปร่ง เอื้อต่อการเรียนรู้ ไว้จัดเวิร์กชอป ต้อนรับคนเข้ามาใช้พื้นที่ และสร้างคอมมูนิตี้แห่งการเรียนรู้
แต่เปิดตัวไม่นาน เรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น

“ความรู้สึกแรกคือเหนื่อยและยากแน่นอน”
“กลัวระดับหนึ่งเลย เพราะเราแคร์ประสบการณ์ผู้เรียนมากๆ พอคนเจอกันไม่ได้ มันเหมือนตัดคุณค่าหลักของธุรกิจไปเลย”
ผู้ประกอบการหลายคนคงเข้าใจความรู้สึกนี้ดี เมื่อข่าวการแพร่ระบาดและความรุนแรงของโควิด-19 ปรากฏให้เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ช่วงต้นปีก่อน
“เราต้องคิดใหม่เกือบหมด กลับมาถามตัวเองว่าเราจะสร้างทักษะให้คนผ่านทางออนไลน์แทนได้ไหม” แม็กเล่า การสอนเนื้อหาทั่วไปทางออฟไลน์ให้คนชอบและได้ความรู้ก็ถือว่ายากแล้ว พอโจทย์เป็นการฝึกทักษะทางออนไลน์ ยิ่งท้าทายขึ้นอีกระดับ
แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเราลองดูก่อน
“ช่วงนั้นมีคนติดต่อมาให้เราช่วยจัดสอนออนไลน์ คิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะลอง ปรากฏว่าทำได้และน่าพอใจด้วย เราแค่ต้องเลิกยึดติดกับความเชื่อว่าความสนุกหรือการโต้ตอบจะเกิดขึ้นต้องอยู่ที่วิทยากรหรือช่องทาง ถ้าโฟกัสกับหลัก Learning Design เราสร้างกระบวนการที่ดีได้นะ” ม๋ำและแม็กยืนยัน

การทดลองใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นของพวกเขามีหลากหลายรูปแบบมาก
เช่น PRACT คอร์สออนไลน์ใหม่ที่สอนเนื้อหาเป็นโมดูลสั้นๆ ครั้งละเพียง 15 – 20 นาที พร้อมภารกิจให้ผู้เรียนกลับไปทำให้เกิดเป็นนิสัย เพราะเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์จริงๆ ว่าเราไม่อาจโฟกัสกับหน้าจอได้นานนักหรอก
Hell Day ที่พวกเขาต้องออกแบบกระบวนการเพื่อช่วยบริษัทหนึ่งคัดเลือกนักศึกษาฝึกงาน โจทย์คือการสร้างพื้นที่ให้ 150 คนแสดงทักษะ 8 ด้านตลอดเวลา 24 ชั่วโมงไม่มีหยุด พร้อมวัดผล เรียกได้ว่ารีดเค้นความคิดสร้างสรรค์และตรรกะในการออกแบบอย่างสุดกำลัง
และ mappa แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ที่ช่วยเปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นพื้นที่เล่น รู้ สนุก ที่ทีม BASE Playhouse เข้าไปช่วยออกแบบระบบและกลไกของเกมให้กระตุ้นพฤติกรรมการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างพ่อแม่และเด็ก
คนอาจมองว่ากระบวนการทางออนไลน์แบบนี้จะสำเร็จต้องใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย แต่ม๋ำและแม็กมองว่าแก่นสำคัญจริงๆ อยู่ที่การเข้าใจผู้เรียนเหมือนเดิม
“ตอนออกแบบ เราไม่ได้เริ่มจากเรื่องเทคโนโลยีเลย แต่เราถามว่าผู้เรียนเป็นใคร อยู่ที่ไหน เข้าถึงโลกออนไลน์ได้แค่ไหน ประสบการณ์ที่เขาควรได้รับเป็นอย่างไร แล้วค่อยหาเทคโนโลยีที่เหมาะมาเสริม จากนั้นใช้ความสร้างสรรค์ต่อยอดให้มันพิเศษและสนุกขึ้นไปอีกภายใต้ข้อจำกัดที่มี”
เมื่อทำไป 2 – 3 งาน ทีม BASE Playhouse กอบกู้ความมั่นใจของตัวเองกลับมา แม้สถานการณ์สังคมยังไม่กลับคืนสู่ภาวะปกติ พวกเขากล้าออกแบบกระบวนการสอนออนไลน์และแนะนำองค์กรใหญ่ๆ มากขึ้น รวมถึงต่อยอดโมเดล ‘School Studio’ จับมือกับโรงเรียนอีกราว 5 แห่ง พัฒนาและดูแลหลักสูตร Entrepreneurship ให้นักเรียนโดยเฉพาะ
“Mindset เราเปลี่ยนไปจากปีที่แล้ว พอรู้ว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ เรากลัวน้อยลง นั่นคือความแตกต่างที่เกิดขึ้น” ซีอีโอกล่าว หลังทำงานหนักเพื่อฝ่าวิกฤตมาตลอดทั้งปี
แต่การปรับตัวของพวกเขาไม่ได้มีเพียงเท่านี้

Level 05
เปลี่ยนทิศทาง สร้างสิ่งใหม่
นอกจากขยายเป้าหมายผู้เรียนจากนักเรียนเป็นครอบคลุม ‘มนุษย์’ หลายช่วงวัยมากขึ้นอย่างชัดเจน ช่วงปีที่ผ่านมา BASE Playhouse สร้างบริการใหม่ขึ้นมาให้ตอบโจทย์ทั้งวงจรการพัฒนาศักยภาพและความสามารถของมนุษย์
“Pain Point ที่เราเจอมาตลอดจากการจัดเทรนนิ่ง คือเราวัดความสามารถของคนไม่ได้ นอกจากการสอบ ดู CV และสัมภาษณ์ เราตั้งคำถามขึ้นมาว่ามีวิธีไหนไหมที่ทำให้เราเห็นมิติความเก่งที่ซ่อนอยู่ของคนได้ครบ”
เมื่อจัดคอร์สออฟไลน์ไม่ได้และมีคำถามนี้ค้างคาอยู่ พวกเขาตัดสินใจเข้าร่วม Hackathon ของ StormBreaker Ventuer Accelerator ลองคิดสิ่งใหม่จนเกิดเป็นหน่วยสตาร์ทอัพในบริษัทชื่อ ‘SEEN’ แพลตฟอร์มที่เปลี่ยนการวัดผล Soft Skills ให้กลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น
เครื่องมือนี้จะช่วยให้โรงเรียนและองค์กรคัดเลือกบุคลากรที่เหมาะสม ทั้งทางด้านทักษะและความเข้ากันกับวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างตรงจุดมากขึ้น ในอนาคต เมื่อองค์กรจัดเทรนนิ่ง พวกเขาจะประเมินได้ว่าผู้เรียนพัฒนาขึ้นจริงไหม ด้านใดบ้าง และวางแผนการพัฒนาต่ออย่างเหมาะสม ครบถ้วนทุกประสบการณ์เรียนรู้
SEEN ยังอยู่ในช่วงทดสอบก่อนเปิดให้บริการภายในปีนี้ ถือเป็นสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีการศึกษา (EdTech) และบริหารบุคลากร (HRTech) ที่น่าจับตา ฉีกออกจากผู้เล่นที่มีอยู่ในตลาด
“เราเห็นคนไทยสร้าง EdTech เยอะขึ้น อาจเพราะเคยเจ็บปวดมาเหมือนกันหมดเลยอยากแก้ไข แต่มักไม่รอด เพราะเอาเทคโนโลยีมาช่วยกระจายการเข้าถึงการศึกษาเฉยๆ ทำเป็น E-learning เหมือนกันหมด แต่มันเป็นแค่ทางแก้หนึ่งเท่านั้น ถ้าคอนเทนต์หรือกระบวนการเรียนรู้ไม่ได้ออกแบบมาดี ถึงจะส่งหาคนเรียนถึงที่ แต่เขาไม่ได้อยากเรียนหรือมีส่วนร่วม สุดท้ายเขาไม่ได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นเหมือนเดิม
“EdTech ควรจะช่วยยกระดับประสบการณ์การเรียนรู้ ตั้งแต่กระบวนการไปจนถึงการวัดผล SEEN เป็นส่วนหนึ่งในนั้นที่เรากำลังทำ และเรายังอยากเห็น EdTech อื่นๆ ใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาประสบการณ์ให้ตรงจุดกันมากขึ้น มากกว่าแค่การกระจายความรู้”

Level 06
สร้างพื้นที่ของคนรุ่นต่อไป
5 ปีผ่านไป จากรากฐานที่แข็งแรง ปัจจุบัน BASE Playhouse ได้รับการต่อเติมให้กลายเป็นบ้านที่อบอุ่น มีชีวิตชีวาและเสียงหัวเราะ
จากสองคนที่เคยอยู่ขั้วตรงข้าม ทะเลาะกันทางความคิดประหนึ่งอยู่กลางสงคราม ม๋ำและแม็กเติบโตเรียนรู้ ซึมซับความเก่งกาจของกันและกัน จนกลายเป็นคู่หูที่มองโลกได้อย่างรอบด้าน
และยิ่งเข้มแข็งขึ้นไปอีก เมื่อพวกเขาขยายทีม ต้อนรับสมาชิกคนรุ่นใหม่ที่เต็มเปี่ยมด้วยพลัง และมองเห็นความสำคัญของการปลดล็อกศักยภาพมนุษย์เหมือนกัน รวมแล้วราว 20 ชีวิต มาร่วมเล่นและผจญภัยไปด้วยกัน
“เราบอกทุกคนในทีมเสมอว่า BASE เป็น Playhouse ของพวกเขาเหมือนกันนะ” พี่ใหญ่เล่าแนวทางการทำงานขององค์กร
“ทีมเราถือเป็นผู้เรียนที่ต้องออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เขาด้วย เป้าหมายเราไม่ใช่แค่ให้เขามาทำงาน รับเงินเดือนแล้วจบ แต่อยากให้พวกเขาได้เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกัน ลองสิ่งที่อยากลอง ใช้ความเป็นตัวเองฉีกกรอบเดิมๆ ภายใต้สภาวะที่เราพร้อมสนับสนุน เพราะสุดท้าย ทุกคนเป็นมนุษย์ที่กำลังเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา”
บางองค์กรมุ่งเน้นจะทำให้แต่คนภายนอก แต่กลับลืมคนที่อยู่เคียงข้าง
จากที่เคยพูดคุยใช้เวลากับพนักงานของ BASE Playhouse เรายืนยันว่าพวกเขาใส่ใจเหมือนกัน ทั้งในและนอกบ้าน
ภารกิจสำคัญต่อไปของม๋ำและแม็ก คือการผลักดันน้องๆ รุ่นใหม่ให้กล้าตัดสินใจแทนพวกเขามากขึ้น เปิดโอกาสให้เติบโตและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวเอง แม้ท้าทาย แต่ถือเป็นก้าวสำคัญของทุกสตาร์ทอัพที่กำลังขยับขยาย
นอกจากเชื่อพลังของคนรุ่นใหม่วัยทำงานในทีมแล้ว BASE Playhouse ยังสร้างพื้นที่อย่างโครงการ BASE Ambassador คัดเลือกน้องๆ ม.ปลาย และ ปวช. ที่พร้อมเรียนรู้และมีตัวตนที่ชัดเจนแตกต่าง มาติดอาวุธให้เขาก่อนเผชิญโลกแห่งความเป็นผู้ใหญ่ เพื่อพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่ากระบวนการเรียนรู้ที่ใช่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตคน
“เราทำมาสองรุ่น น้องบางคนกลับมาฝึกงานกับเรา แล้วเราเห็นสิ่งที่เราเคยสอนไปเมื่อปีก่อนๆ อยู่ในผลงานของเขาชัดมาก มันทำให้เห็นว่าทุกคนเติบโตก้าวกระโดดจริงๆ”
ใครอยากทำธุรกิจการศึกษา อาจต้องทำใจเผื่อไว้ว่าจะเห็นผลช้าหรือบางทีไม่เห็นด้วยซ้ำ
แต่คุณจะได้รับโอกาสเปลี่ยนความคิด ชีวิต และโลกทั้งใบของใครสักคน


Level 07
ปรับไม้บรรทัดของสังคม
อีกหนึ่งเรื่องที่ควรทำใจไว้ด้วย หากอยากประกอบธุรกิจการศึกษาที่แตกต่างในประเทศไทยคือ คนอาจเห็นคุณค่า แต่ไม่ให้ราคาอย่างที่ควรเป็น
“เราเคยถามตัวเองเหมือนกันว่าตั้งราคาแพงไปไหม แต่คนมักไม่รู้ว่าเบื้องหลังการออกแบบที่ดีมีต้นทุนอะไรบ้าง ประเทศเรามักมองว่าการศึกษาเป็นของฟรี ต่างจากหลายประเทศที่ให้คุณค่าเรื่องนี้มาก ยกให้ครูเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบการเรียนรู้จริงๆ แต่ในไทยยังไม่ได้มีค่านิยมแบบนั้น” ทั้งสองเผย
ความตั้งใจของม๋ำและแม็กในการสร้างธุรกิจการศึกษาที่อยู่ได้อย่างยั่งยืนมักถูกทดสอบจากค่านิยม รวมถึงระบบที่ดำรงอยู่ไม่แปรเปลี่ยนจากแต่ก่อน พวกเขาต้องต่อสู้อยู่กับไม้บรรทัดเดิมของสังคมที่ชี้ว่าคุณค่าของคนอยู่ที่การพิชิตข้อสอบให้ได้ ความรู้ทางวิชาการสำคัญที่สุด ทั้งที่จริงแล้ว ชีวิตมนุษย์หนึ่งคนยังมีอะไรให้เรียนรู้มากกว่านั้น
แต่ความพยายามของพวกเขาใช่ว่าจะสูญเปล่า

“ช่วงปีที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นความเชื่อใหม่ๆ เข้ามาอยู่ในระบบแล้ว เพราะเด็กๆ เข้าถึงข้อมูลและมีตัวเลือกเยอะขึ้น โรงเรียนก็เริ่มปรับตัว หลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 ไป จะเกิดการตั้งคำถามกับกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนว่าแบบเก่าได้ผลจริงไหม หรือถึงเวลาต้องเปลี่ยน และจะเปลี่ยนอย่างไรบ้าง
“เราวางไว้ว่า BASE Playhouse จะเป็นคนที่สร้างห้องเรียนแห่งอนาคตได้ชัดเจนที่สุด โดยการหยิบเทคโนโลยีที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วมาปฏิวัติประสบการณ์เดิมๆ ในห้องเรียน เราจะจับมือกับโรงเรียนมากขึ้น เพราะเป็นไม่กี่วิธีที่เราจะสเกลอิมแพคโดยไม่ต้องคาดหวังการเปลี่ยนโครงสร้างระบบการศึกษา” ม๋ำและแม็กเล่าสิ่งที่สังเกตเห็นและทิศทางอนาคตของธุรกิจไปพร้อมกัน
ทั้งสองเข้าใจเป็นอย่างดีว่าการพลิกโฉมการศึกษาควรแก้ที่โครงสร้างและนโยบาย แต่การทำให้สำเร็จต้องอาศัยพลังมหาศาล และไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกนานเพียงใดถึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เฝ้ารอ
แน่นอนว่าต้องมีคนขับเคลื่อนและแรงสนับสนุนในระดับนี้ด้วย พวกเขาไม่ได้เพิกเฉยและพยายามสร้างคอมมูนิตี้คนแวดวงการศึกษาให้เข้มแข็งขึ้นมาโดยตลอด แต่ในเชิงบริหารธุรกิจ ม๋ำและแม็กกำหนดทิศทางไว้ว่าจะสร้างและขยายผลการเปลี่ยนแปลงภายใต้ข้อจำกัด ผ่านสิ่งที่พลเมืองอย่างพวกเขาทำได้เลยวันนี้
“เราคุยกันเสมอว่าปัญหาที่เราแก้ได้คืออะไรบ้าง อาจเป็นแค่บางอย่างเล็กๆ แต่เชื่อว่าวันหนึ่งผลลัพธ์ของมันจะเปลี่ยนทั้งระบบในอนาคต เราไม่รู้หรอกว่าเด็กคนหนึ่งที่เราตั้งใจออกแบบกระบวนการให้วันนี้ วันหนึ่งเขาจะเป็นใคร ทำอะไรได้บ้าง”

นอกจากเด็กและโรงเรียนแล้ว องค์กรคืออีกหนึ่งกลุ่มสำคัญที่ต้องเปลี่ยนด้วยเหมือนกัน ทั้งการจัดอบรมให้พนักงาน และการพยายามทำ CSR ด้านการศึกษา แม้จะเป็นความหวังดี แต่กลับพบว่าใช้จ่ายกันไปอย่างสูญเปล่ามาก
“เราเห็นงบประมาณหลายล้านถูกใช้กับการจัดเทรนนิ่งหรือ CSR ที่ไม่เกิดการเรียนรู้อะไรเลย ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เหมาะกับผู้เรียน วัดผลไม่ได้ BASE Playhouse อยากให้คนรู้ว่ากระบวนการที่ดีและอิมแพคนั้นมีอยู่นะ เราออกแบบการสอนและวัดผลให้ได้ และโปรเจกต์ที่เราอยากทำมากๆ คือการสร้าง CSV (Creating Shared Value) ขององค์กร ที่ไม่ใช่ทำงานกับเด็กเพื่อภาพลักษณ์ แต่ทำเสร็จแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ”
Level 08
ร่วมกันสร้างบ้านที่เรารัก
หลังฝ่าฟันล้มลุกมา 5 ปี ม๋ำและแม็กยังคงต้องเรียนรู้อยู่ทุกวัน ก้าวสำคัญต่อไปของพวกเขาคือการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับธุรกิจที่มีหลายยูนิตและธรรมชาติแตกต่างกัน หัดถอยออกมาดูภาพรวมองค์กร บริหารให้ทุกทีมทำงานสอดคล้องกัน และเติบโตอย่างยั่งยืน
ฟังดูก็รู้ว่าเส้นทางที่แสนเหนื่อยรออยู่ข้างหน้า แต่ปัญหาที่พวกเขาอยากแก้นั้นสำคัญเกินกว่าจะนั่งกลัว ใจของพวกเขารู้สิ่งนี้ดี
“เส้นทางในอุตสาหกรรมนี้ไม่ง่ายและน่ากลัวมาก มีตัวแปรที่เราควบคุมไม่ได้เยอะ ถ้าใครอยากเข้ามาทำสตาร์ทอัพ อยากให้เช็กว่าใจเราพร้อมสู้จริงๆ ใช่ไหม ยอมแลกกับไลฟ์สไตล์เดิมหรือเงิน เพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างหรือเปล่า” ทั้งสองแบ่งปันข้อคิดถึงคนที่กำลังสนใจอยากร่วมอุดมการณ์ในวงการ
“ถ้าตอบว่าใช่ พร้อมทุ่มเท อยากให้ดูว่าเรากำลังจะแก้ปัญหาอะไรให้ใคร ส่วนตัวคิดว่าคนทำโซลูชันคอร์สออนไลน์เยอะมากแล้ว แต่ยังไม่ค่อยมีใครยกระดับกระบวนการเรียนรู้ให้ไปถึงจุดที่มีความหมายกับผู้เรียนจริงๆ ถ้าทำจุดนี้สำเร็จ มันจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมให้ไปต่อได้และทำให้ Ecosystem ดีขึ้นมาก”
ยังมีผู้คนจำนวนมากต้องเผชิญห้องเรียนที่ทำให้เบื่อหน่ายการเรียนรู้ เศร้าหมองกับห้องเรียนที่ไม่ตอบคำถามและข้อสงสัยในใจ ทุกข์ระทมกับห้องเรียนที่ไม่ช่วยให้ค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่อย่างมากล้น
ยังมีพ่อแม่ คุณครู โรงเรียนและองค์กร ที่แสวงหาหนทางสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ฝึกหัดทักษะใหม่ๆ ที่ทำให้คนสำคัญของพวกเขามีรากฐานชีวิตที่แข็งแรงและพัฒนาก้าวหน้า
ยังมีความต้องการอีกมากมายที่รอคนช่วยกันเติมเต็ม
ตราบใดที่คนเรายังต้องเติบโต BASE Playhouse จะเป็นหนึ่งในบ้านและโรงเรียนที่อบอุ่นและปลอดภัย พร้อมออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้แบบครบวงจร ให้อยู่ติดตัวคู่ความทรงจำและชีวิตคุณไปอีกพักใหญ่
ด้วยพลังของเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์
และความเข้าใจมนุษย์อย่างลึกซึ้ง

ขอบคุณภาพบางส่วนจาก BASE Playhouse