‘เบื้องหน้าที่ให้เห็น อาจไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็น’

บาส-ภาณุภัทร์ สุกัลยารักษ์ ในวัยเลข 3 ทำให้เราต้องมองเขาใหม่

จากอดีตมือกีตาร์วงดนตรีป๊อปอย่าง Better Weather เมื่อ 10 ปีที่แล้ว บาสหันหลังให้วงการบันเทิงมาทำสิ่งที่รักอย่างการเดินทางรอบโลก

เขาสร้างชื่อในฐานะนักเดินทางผู้เล่าประสบการณ์สนุกบนเพจ Go Went Go : เที่ยว เว้น เที่ยว ที่มีผู้ติดตามกว่า 7 แสนคน

บาส ภาณุภัทร์ สุกัลยารักษ์ เจ้าของเพจ Go Went Go ผู้ปกป้องอู่ข้าวอู่น้ำด้วยการทำแคมเปญ #saveการท่องเที่ยวไทย

และในห้วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ บาสกำลังซุ่มทำ #saveการท่องเที่ยวไทย แคมเปญช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เพื่อช่วยโปรโมตโรงแรมให้ฟรี แลกกับส่วนลดให้คนไทยเข้าถึงโรงแรมหรูในราคาย่อมเยาเมื่อสถานการณ์ไวรัสคลี่คลาย นั่นทำให้เรารีบนัดหมายเพื่อคุยกับเขาทันที 

เมื่อได้คุยแล้ว เรากลับค้นพบว่าตลอดระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่วันแรกที่บาสเปิดเพจของตัวเอง จนใครๆ ก็เรียกเขาว่า ‘บาส Go Went Go’ นั้น น้อยคนจะรู้ว่าบาสมีอีกหนึ่งบทบาทที่ประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน เขาเป็นทั้งผู้ประกอบการหนุ่มเจ้าของร้าน 20Something Bar มานานนับสิบปี เคยเปิดตลาดนัดกลางคืน 20Space และเป็นผู้ก่อตั้ง 20TV ช่องรายการไลฟ์สไตล์บนโลกออนไลน์ ที่มีทั้ง Go Went Go : เที่ยว เว้น เที่ยว, Walker Talker : เดินทางเล่าเรื่อง, แชร์โลมาเดะ และ อยู่บ้านไม่อดตาย by เชฟตี๋ อยู่ในนั้น

เหตุผลที่บาสจริงจังกับการทำธุรกิจพอๆ กับความฝันที่ได้ออกเดินทางรอบโลกก็คือ เขาเติบโตมาจากการหาเลี้ยงตัวเองตั้งแต่เด็ก หลังเข้าวงการบันเทิง เขาลองผิดลองถูก เปลี่ยนความชอบเป็นธุรกิจจนพบสิ่งที่เขาเชื่อมั่น

เขาบอกว่า หากทุกเช้าที่ตื่นได้วางแผน สร้างเป้าหมายใหม่ๆ ให้กับชีวิตและสิ่งที่ทำ คำว่ากลัวล้ม กลัวเจ็บ จะไม่มีวันอยู่ในพจนานุกรมของเขาแน่นอน 

และตอนนี้บาสได้โจทย์สมการที่ยั่งยืนต่อเส้นทางสายนี้แล้ว

ทำสิ่งที่ชอบ + ทำแล้วต้องได้เงิน = ธุรกิจที่มีความสุข

นี่แหละสมการของเขา

บาส ภาณุภัทร์ สุกัลยารักษ์ เจ้าของเพจ Go Went Go ผู้ปกป้องอู่ข้าวอู่น้ำด้วยการทำแคมเปญ #saveการท่องเที่ยวไทย

#Saveการท่องเที่ยวไทย

ตลอดการสนทนานี้เป็นบทสนทนาผ่านโทรศัพท์ เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าช่วงนี้คนไทยทุกคนต้องเลี่ยงการออกจากบ้าน เพื่อป้องกันตัวเองจาก COVID-19 ซึ่งบาสและเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้อง Work from home

ก่อนที่ไวรัสจะระบาดหนัก บาสเปิดตัวแคมเปญ #Saveการท่องเที่ยวไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว และกระตุ้นให้คนไทยออกไปเที่ยวกันอีกครั้งด้วยการโปรโมตโรงแรมให้ฟรี แลกกับการมอบส่วนลดให้คนไทยเข้าถึงได้ง่าย แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดในตอนนี้ทำให้แคมเปญของเขาต้องเลื่อนไป แต่แน่นอนว่าอุดมการณ์ที่อยากให้คนไทยเที่ยวในราคาถูกลงไม่ได้หายไปไหน เพราะหลังโรคระบาดคลี่คลาย สิ่งที่เขาตั้งใจไว้จะหวนกลับมาช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน

บาส ภาณุภัทร์ Go Went Go ผู้ปกป้องอู่ข้าวอู่น้ำด้วยการทำแคมเปญ #saveการท่องเที่ยวไทย

“เพราะการท่องเที่ยวไทยคืออู่ข้าวอู่น้ำ และเป็นผู้มีพระคุณ”

นี่คือนิยามที่บาสบอกเราว่าแคมเปญนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร 

“ผมทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและมีรายได้หลักจากตรงนี้ ฉะนั้น การท่องเที่ยวจึงมีบุญคุณ ในวันที่การท่องเที่ยวลำบาก ผมจึงอยากช่วยเหลือให้กลับมาหายใจคล่องอีกครั้ง และเข้าใจผู้ประกอบการที่ต้องเจอภาวะวิกฤตที่ขัดสนโดยไม่ทันตั้งตัว ยิ่งถ้ามองลึกเข้าไปอีก การช่วยผู้ประกอบการจะส่งผลต่อพนักงานให้เขามีงานทำ มีรายได้ พอมีรายได้ เพียงพอต่อการจับจ่ายใช้สอย เงินหมุนเวียนในประเทศ เหมือนต้นน้ำ ปลายน้ำ ที่ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจมันไม่เงียบ พอไม่เงียบ ก็จะกลับมาสู่ตัวเราและธุรกิจของเราเองในทางอ้อม”

แม้บาสมีโรงแรมที่พร้อมโปรโมตในมือกว่า 300 แห่ง แต่ตอนนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการกักตัวอยู่บ้าน ได้แต่รอวันที่สถานการณ์ดีขึ้น เขาไม่ได้ล้มเลิกการทำแคมเปญลดราคา เพียงขยับให้คนที่สนใจคอยเก็บส่วนลดไปใช้หลังจากที่สถานการณ์ดีขึ้น

ถึงตอนนั้นบาสเชื่อว่าคนคงจะเก็บกดจากการอยากออกไปเที่ยวและคงพูดกันระนาวว่า

“ไม่ไหวละโว้ยยย ต้องออกไปเที่ยวแล้ว” อย่างแน่นอน

“ผมมองว่า COVID-19 คือบทเรียนที่ดีของทุกองค์กร การที่ธุรกิจซบเซาด้วยโรคระบาด เป็นสิ่งที่องค์กรต้องปรับตัว บางโรงแรมไม่ได้สร้างแคมเปญขึ้นมาเพื่อสนับสนุนคนไทย แต่ทำเพื่อชาวต่างชาติโดยเฉพาะ ปัญหาเลยอยู่ที่ว่าคนไทยจะมองว่าแพง ทั้งที่ยังไม่เคยไปนอนด้วยซ้ำ หรือพูดง่ายๆ ว่าไม่คิดจะไปเลย ทำให้มีรายได้จากชาวต่างชาติช่องทางเดียว

“ผู้ประกอบการควรเริ่มทบทวนตัวเองด้วยการมีโปรโมชันให้คนไทยในอนาคต เพราะสถานการณ์ตอนนี้กระทบภาพรวมจนอาจทำให้เขารู้สึกว่าควรจะมีกลุ่มเป้าหมายรองเอาไว้ เพราะวันหนึ่งเคยรับคนจีนเป็นหลัก แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรที่คนจีนไม่สามารถเข้าประเทศไทย ผู้ประกอบการรายนั้นจะไม่เหลือลูกค้าสักคน กลับกันถ้านำบทเรียนจากเหตุการณ์ COVID-19 มาต่อยอดเพื่อรักษาฐานลูกค้าในประเทศบ้าง ก็ถือเป็นการมองการณ์ไกลที่ไม่เลว” บาสเล่า

ชีวิตลิขิตเอง

น้อยคนจะรู้ว่าบาสสนใจเรื่องธุรกิจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเดินทางสะสมประสบการณ์

บาสในวัยเด็กมีความฝันว่าอยากผจญภัยรอบโลก จินตนาการถึงความสนุกในต่างประเทศ บาสจึงบอกเราอย่างติดตลกว่า เด็กชายบาสคิดอยากรวยมากแค่ไหน เพราะคิดว่าเงินคือปัจจัยสำหรับต่อยอดความฝันครั้งนี้ได้ดีที่สุด 

เมื่อโตขึ้นทันรู้เรื่องบ้านเมือง พ.ศ. 2540 หรือยุคฟองสบู่แตก ก็ยิ่งตอกย้ำว่า ‘เงินคือคำตอบ’ ความฝันของบาสเลือนลาง เพราะธุรกิจที่บ้านมีปัญหา จากครอบครัวชนชั้นกลางที่พอกินพอใช้กลายเป็นไม่มีเงิน มิหนำซ้ำพ่อกับแม่ยังแยกทางกันไปมีครอบครัวใหม่ ทำให้บาสต้องออกมาอยู่คนเดียว เริ่มทำงานหาเงินจ่ายค่าหอพักและเลี้ยงตัวเอง ทั้งไปเป็นเด็กเสิร์ฟ เล่นดนตรีตามร้านอาหาร รวมไปถึงการเป็นแบ็กสเตจตามงานต่างๆ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเรียนจบ เขาได้รับโอกาสที่ดีจากผู้ใหญ่ จึงเข้าสู่วงการบันเทิงในฐานะนักแสดง พิธีกร วีเจ และศิลปิน เรียกได้ว่าเขาทำงานแทบทุกสายในวงการบันเทิง

จากที่เช่าหอเดือนละพันกว่าบาท พอเริ่มมีเงินมากขึ้น บาสค่อยๆ ย้ายไปอยู่ที่ใหม่ที่ดีขึ้น ขยับขยายไปเรื่อยๆ ตามความสามารถในการหารายได้จนซื้อคอนโดฯ เป็นของตัวเอง

ระหว่างทำงานในวงการ บาสเริ่มอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ซึ่งเขามองว่ามันเป็นด่านการทดลองว่าเขาจะเหมาะกับเส้นทางธุรกิจหรือเปล่า เขาเริ่มจากความชอบดื่ม มาเปิดเป็นร้านนั่งดื่มเล็กๆ เป็นของตัวเอง 

ตอนนั้นเขาคิดว่าทำเล่นๆ เอาไว้นั่งกินกับเพื่อน แต่ร้านก็เติบโตจนเข้าปีที่ 10!

บาส ภาณุภัทร์ Go Went Go ผู้ปกป้องอู่ข้าวอู่น้ำด้วยการทำแคมเปญ #saveการท่องเที่ยวไทย

Live and Learn

2 ปีแรกของการเปิดร้าน 20Something Bar บาสบอกว่าเป็นช่วงเวลาของการลองผิดลองถูก ไม่เคยต้องศึกษาอะไรจริงจัง แต่เลือกเข้าร้านหนังสือหาข้อมูลที่น่าจะเป็นประโยชน์มาอ่าน เพราะสมัยนั้นยังไม่มีความรู้ที่แพร่หลายในอินเทอร์เน็ต จึงใช้วิธีครูพักลักจำ

“ไม่คิดถึงคำว่ากำไร ไม่รู้จักคำว่าขาดทุน”

บาส ภาณุภัทร์ Go Went Go ผู้ปกป้องอู่ข้าวอู่น้ำด้วยการทำแคมเปญ #saveการท่องเที่ยวไทย

หากพื้นฐานของการทำธุรกิจคือการคิดกำไรขาดทุน แต่สำหรับบาสในตอนนั้น เขาไม่มีทั้งสองอย่าง เมื่อไม่ได้ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายเป็นกิจจะลักษณะ จึงไม่รู้ด้วยซ้ำว่าธุรกิจตัวเองคว้าน้ำเหลวหรือเปล่า คิดแค่ว่าถ้ายังมีเงินเหลือใช้ ไม่เดือดร้อน ก็ไม่น่ามีอะไรเสียหาย ซึ่งยังโชคดีที่บาสมีรายได้จากงานในวงการบันเทิง

เมื่อบาสอายุครบ 26 ปี เขาเริ่มหันมองธุรกิจที่ดูไม่เป็นรูปเป็นร่าง และคิดว่าหากทำทั้งทีทำไมไม่ทำให้ดีไปเลย จึงตัดสินใจลงสนามเดินสายธุรกิจอย่างเต็มตัวด้วยการออกจากวงการบันเทิงที่ทำมา 5 ปี เพื่อปรับตัวเองให้เข้ากับร้านเล็กๆ ที่อยากพัฒนาเป็นช่องทางหารายได้อย่างจริงจัง

บาสต่อยอดจากหนังสือที่อ่านและเริ่มกับการเรียนเพิ่มเติม โดยเลือกผู้สอนที่มีประสบการณ์ด้านนั้นจริงๆ

“เราไม่รู้หรอกว่าใครเก่ง ใครไม่เก่ง แต่เราจะรู้ได้ทันทีว่าเขาเชี่ยวชาญจริงก็ต่อเมื่อเขามีผลลัพธ์ เช่น บางคนเป็นโค้ชแต่ไม่เคยทำสิ่งนั้นสำเร็จเลย บางคนสอนทำยูทูป แต่ไม่ได้มีช่องยูทูปที่ประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับการเรียนธุรกิจการตลาด” บาสย้ำวิธีอาจารย์สอนทำธุรกิจ

เมื่อเปิดใจเรียน บาสก็กลายเป็นคนที่รู้เรื่องบัญชี ทำงบค่าใช้จ่าย และรู้จักคำว่ากำไร ขาดทุน อย่างถ่องแท้ 

เขาบอกว่า ในโลกของการทำธุรกิจ ไม่ได้มีแค่ว่าเงินเข้ามาเท่าไหร่ เงินออกไปเท่าไหร่ แต่ยังมีปัจจัยของค่าเสื่อมของทรัพย์สินในร้านที่ต้องหัก ซึ่งเมื่อมาลองคิดจริงๆ แล้ว เมื่อก่อนเขาอาจจะขาดทุนไปเยอะแล้วก็ได้

และจากที่หาเลี้ยงตัวเองมาโดยตลอด เมื่อเริ่มทำธุรกิจอย่างจริงจัง เขาก็มีรายได้เพียงพอส่งกลับให้ครอบครัว

ทำงานเป็นทำงาน แต่เที่ยวเว้นเที่ยว

“ถ้าเราคาดหวังอยู่กับการหารายได้ในช่องทางเดียว วันหนึ่งถ้าเกิดอะไรร้ายแรงจนกระทบเรา เราจะรู้สึกเครียด แต่ถ้าเรามีธุรกิจอื่นๆ อีก เราจะมีรายได้กับช่องทางนั้นด้วย ความเครียดก็จะไม่มาหาเรา พอมันไม่มา เราก็กล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ” 

เถ้าแก่บาสในวัย 30 ปี วางแผนกระจายความเสี่ยง เพื่อรับมือเหตุการณ์ที่เสี่ยงต่อธุรกิจของเขา สำหรับการทำร้านนั่งดื่มหรือ Pub and Restaurant นั้นถือว่ามีความเสี่ยงเยอะ เช่น การโดนสั่งปิดจากเหตุการณ์ที่ทางร้านไม่อาจควบคุมได้ ระหว่างนั้นบาสจึงหยิบความฝันมาปัดฝุ่นอีกครั้ง

การเที่ยวรอบโลกที่เขายังทำไม่สำเร็จ บาสศึกษาการทำช่องยูทูบเป็นของตัวเองจริงจัง ทั้งอ่านหนังสือ ศึกษาจากช่องยูทูปที่ประสบความสำเร็จ เรียนรู้การทำเพจในเฟซบุ๊กและการทำเว็บไซต์ เพื่อหวังต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ

บาส ภาณุภัทร์ สุกัลยารักษ์ เจ้าของเพจ Go Went Go ผู้ปกป้องอู่ข้าวอู่น้ำด้วยการทำแคมเปญ #saveการท่องเที่ยวไทย

ทำให้เขาพบกับยุคการเรียนรู้ที่มีข้อมูลน่าสนใจมากมายและยังได้มาฟรีๆ ใช้ทำมาหากินสร้างรายได้มาจนถึงทุกวันนี้

บาสใช้เวลาศึกษาไม่นานก็สร้างเพจท่องเที่ยวของตัวเองขึ้นมา และนำเงินก้อนที่เก็บสะสมมาตลอดการทำงานไปซื้ออุปกรณ์การถ่ายทำ จนเกิดทริปแรกของ Go Went Go : เที่ยว เว้น เที่ยว ณ ประเทศเกาหลีใต้ เพราะเป็นประเทศที่ไปไม่ยาก บวกกับยุคนั้นฐานคนดูยูทูบในเป็นเด็กเจเนอเรชันใหม่ๆ ที่ชื่นชอบประเทศเกาหลีใต้ จึงเก็บประเทศนี้มาวิเคราะห์ และสรุปได้ว่ากระแสเกาหลีกำลังมาแรงที่สุด!

ด้วยความที่ไม่ชอบทำอะไรคนเดียว ปีต่อมาเขาจึงชวนเพื่อนมาร่วมเป็นหุ้นส่วนเปิดช่อง 20TV เพราะรู้สึกว่าการทำอะไรคนเดียวจะได้ผลลัพธ์แค่ประมาณหนึ่ง แต่ถ้ามีคนอื่นที่เก่งในด้านอื่นๆ มาร่วมมือกัน ผลลัพธ์อาจเป็นอะไรที่ได้มากกว่าที่คิด 

จนตอนนี้ช่อง 20TV มีรายการเพิ่มขึ้นจาก Go Went Go : เที่ยว เว้น เที่ยว 3 รายการ ได้แก่ Walker Talker : เดินทางเล่าเรื่อง รายการท่องเที่ยวที่ต่างจาก Go Went Go ตรงที่ Go Went Go พาเที่ยวในต่างประเทศที่เป็น Dream Destination แต่ Walker Talker เป็น Mass Destination หรือสถานที่ที่คนส่วนใหญ่จับต้องได้ เช่น เที่ยวในประเทศ ประเทศที่คนไทยไปเยอะๆ หรือประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อมาขยายฐานจากกลุ่มเป้าหมายที่พลาดหรือเข้าไม่ถึง Go Went Go และยังมี แชร์โลมาเดะ รายการชวนชิมอาหารจากร้านเด็ดตามโลเคชันต่างๆ รายการทำอาหารกินเองที่บ้านอย่าง อยู่บ้านไม่อดตาย by เชฟตี๋ และเร็วๆ นี้เขากำลังวางแผนทำรายการใหม่ที่ผุดขึ้นจากความชอบและความสนุกรอให้ติดตามเพิ่มอีก

บาส ภาณุภัทร์ Go Went Go ผู้ปกป้องอู่ข้าวอู่น้ำด้วยการทำแคมเปญ #saveการท่องเที่ยวไทย

เลือกได้ไหม

แนวคิดกระจายความเสี่ยงของบาสในตอนนั้นส่งผลถึงวิกฤตในตอนนี้ ขณะที่ COVID-19 ระบาด ร้านของเขาต้องปิดชั่วคราว แต่เขายังพอมีรายได้อีกทางจากการทำยูทูปและทำเพจอยู่บ้าง และเพราะรู้ว่าคนต้องการดูอะไรที่สนุกๆ ทำให้ตอนนี้รายการต่างๆ ในช่องของเขามีคนดูมากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า

มีครั้งไหนบ้างที่ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คิด เราถาม

บาสเล่าถึงธุรกิจตลาดนัดกลางคืนชื่อว่า 20Space 

บาส ภาณุภัทร์ Go Went Go ผู้ปกป้องอู่ข้าวอู่น้ำด้วยการทำแคมเปญ #saveการท่องเที่ยวไทย

“การเปิดตลาดเป็นความท้าทายของเรา เพราะมีตัวแปรเป็นตัวเอง ผู้เช่า และลูกค้าที่มาเดิน ซึ่งตัวแปรมากขึ้นทำให้เขารู้สึกต้องคิดเยอะและเริ่มไม่มีความสุข กลายเป็นเกมที่ใช้เงินทุนสูงมาก ซึ่งเรายอมรับว่าประเมินตัวเองสูงไปในวันแรก คาดการณ์ว่าสักครึ่งปีคนน่าจะเริ่มติดและคงได้เงินคืนเท่าทุน แต่สุดท้ายกลับไม่เป็นตามที่หวังเลยหยุดทำ เพราะหากทำต่อก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง เพิ่มเงินทุน เพิ่มทุกอย่าง และจะกลายเป็นว่ายิ่งแย่

“ข้อดีคือผมเป็นคนที่รับความผิดหวังได้ดี ซึ่งเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่จะทำให้ไปต่อได้เร็ว ก่อนจะทำอะไร ผมคิดเสมอว่าในการลงทุน สมมติใช้เงินสองล้านบาท ถ้าหากขาดทุนเสียทั้งสองล้านบาทไป เรารับได้ไหม ถ้ารับได้และไม่เดือดร้อน เราจะทำ เพราะสุดท้ายถึงไม่สำเร็จ เราก็จะได้เรียนรู้อะไรมากมายแน่นอน” บาสเล่า

‘เหมือนได้ทำงานที่ไม่เหมือนทำงาน’ ซึ่งนั่นคือความสุขที่เขาต้องการ

บาส ภาณุภัทร์ Go Went Go ผู้ปกป้องอู่ข้าวอู่น้ำด้วยการทำแคมเปญ #saveการท่องเที่ยวไทย

“ผมจะมีความสุขกับทั้งสองอย่างทุกครั้ง อย่างแรกจะเกิดเมื่อมีผลตอบรับที่ดีกลับมา ทั้งจากลูกค้าที่ร้าน หรือจากผู้ชมรายการ มันทำให้รู้สึกดี อย่างที่สองมันจะตอบแทนมาในรูปแบบของตัวเงินที่ทำให้ผมมีกินมีใช้

“ถ้าผมเลือกว่าจะเอาแต่คำชม ไม่สนเงิน มันอาจจะได้คำชมเยอะกว่านี้ แต่ถ้าผมเลือกเงินเป็นหลัก โดยไม่สนว่าจะมีคนชมเยอะแค่ไหน ก็อาจได้เงินเยอะกว่านี้เหมือนกัน ซึ่งผมดันสนทั้งสองอย่าง ก็เลยกลายเป็นคนที่ทำอะไรกลางๆ แต่เป็นกลางๆ ที่มีความสุขมากนะ” บาสทิ้งท้าย

ก่อนวางสายจากบาส ฉันถามเขาว่า ช่วงอยู่บ้านแบบนี้ทำอะไรบ้าง

บาสรีบตอบด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น (มาก) ว่า เขารู้สึกสนุกทุกครั้งในการวางแผนชีวิตว่าแต่ละวันเขาจะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ดี และมองว่าช่วงนี้เป็นโอกาสดีอย่างหนึ่งในการพัฒนาตัวเอง

เขาอยากเก่งกว่านี้ในหลายๆ เรื่อง แต่ถ้ามีงานเยอะ เขามักจัดลำดับความสำคัญของการเรียนรู้ไว้ทีหลัง จนบางครั้งก็ลืม ฉะนั้นช่วงนี้คือนาทีทอง

หลังวางสาย เขาบอกว่าจะไปนั่งศึกษาเรื่อง SEO หรือ Search Engine Optimization ศาสตร์ที่ทำให้ธุรกิจออนไลน์ของเขาเข้าไปอยู่ในหน้าแรกๆ ของกูเกิลและยูทูปได้ ทั้งยังกำลังทำการบ้านเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ด้วยการหยิบหนังสือประวัติศาสตร์มานั่งอ่าน เพราะอยากรู้ว่าเวลาเดินทางไปในแต่ละแห่ง ที่ตรงนั้นมันเคยเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเล่าเรื่องในฐานะนักธุรกิจที่รักในการเดินทางต่อไป

บาส ภาณุภัทร์ สุกัลยารักษ์ เจ้าของเพจ Go Went Go ผู้ปกป้องอู่ข้าวอู่น้ำด้วยการทำแคมเปญ #saveการท่องเที่ยวไทย

ภาพ : ภาณุภัทร์ สุกัลยารักษ์

Writer

Avatar

พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ

นัก (ชอบ) เขียนบ้ากล้องที่ชอบถ่ายรูปตัวเองเป็นพิเศษ เสพติดเสียงธรรมชาติ กลิ่นฝน และสีเลือดฝาดบนใบหน้า ที่ใช้เวลาเขียนงานไปพร้อมๆ กับติ่งอปป้าอย่างใจเย็น