ย้อนไปเมื่อ 73 ปีที่แล้ว อาณาจักรเซ็นทรัลที่ยิ่งใหญ่เริ่มต้นจากร้านชำของครอบครัวสกุลเจ็งที่อพยพมาจากมณฑลไหหลำ ประเทศจีน

ณ ร้านชำร้านเล็กๆ ที่ขายของเบ็ดเตล็ดและสรรพสินค้าอุปโภคบริโภคครบครัน ทั้งหนังสือ ของใช้ เสื้อผ้า กาแฟ อาหาร 

ในวันนั้น ใครจะรู้ว่าที่นี่จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของห้างสรรพสินค้าชั้นนำของไทยโดยตระกูลจิราธิวัฒน์ที่ทุกคนรู้จักในเวลาต่อมา 

ทายาทรุ่น 4 จิราธิวัฒน์กับการปั้นสาขาใหม่ด้วยโจทย์ใหม่ Central : The Original Store จากเซ็นทรัลสาขาแรก, เต้-บรม พิจารณ์จิตร

แม้จะเป็น Central of Community สาขาขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในย่านธุรกิจอันคึกคักหลายย่านอย่างสีลม ชิดลม ราชประสงค์ ฯลฯ แต่ ณ วันนี้ทายาทรุ่นสี่ของจิราธิวัฒน์ เต้-บรม พิจารณ์จิตร ผู้มีผลงานปั้น Central Embassy และเป็นเจ้าของ SIWILAI มัลติสโตร์สัญชาติไทย เลือกที่จะใช้เวลา 3 ปีรีโนเวตอาคารเก่า 5 ชั้น ปั้นเป็นสาขาใหม่ เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ ในพื้นที่ Shop House เดิมของตระกูลจิราธิวัฒน์กลางย่านเจริญกรุง

ด้วยพื้นที่ขนาดเล็กแตกต่างจากเซ็นทรัลสาขาอื่น และคอนเซปต์ที่ไม่เหมือนห้างสรรพสินค้าแห่งไหน ทำให้ The Cloud อยากชวนทุกคนมาฟังเรื่องราวการสืบทอดธุรกิจของทายาทรุ่นสี่ที่ต้องเล่าย้อนไปถึงวันวานในย่านเจริญกรุงไปด้วยกัน

ทายาทรุ่น 4 จิราธิวัฒน์กับการปั้นสาขาใหม่ด้วยโจทย์ใหม่ Central : The Original Store จากเซ็นทรัลสาขาแรก, เต้-บรม พิจารณ์จิตร

ธุรกิจ : ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล

ประเภทธุรกิจ : ค้าปลีก

อายุ : 73 ปี

ผู้ก่อตั้ง : เตียง จิราธิวัฒน์, สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ และ วันชัย จิราธิวัฒน์

ทายาทรุ่นสอง : ครอบครัวจิราธิวัฒน์

ทายาทรุ่นสาม : ครอบครัวจิราธิวัฒน์

ทายาทรุ่นสี่ : ครอบครัวจิราธิวัฒน์

Goods Old Day 

เจริญกรุงเป็นย่านเก่าแก่ที่มีถนนสายแรกของไทย ขึ้นชื่อว่าเป็น New Road อันเป็นจุดเริ่มต้นสู่ความเจริญอย่างโมเดิร์นแบบโลกตะวันตก ทั้งการเริ่มใช้ไฟฟ้า บาร์แจ๊สแห่งแรก ร้านอาหารญี่ปุ่นร้านแรก

รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นกิจการแรกของเซ็นทรัลด้วย

ก่อนหน้านี้ คุณเตียง และ สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ เปิดร้านชำชื่อ ‘เข่งเซ้งหลี’ ในตึกแถวทรงสามเหลี่ยม ที่อำเภอบางขุนเทียน เขตธนบุรี ก่อนจะจดทะเบียนเป็น ‘เซ็นทรัล เทรดดิ้ง’ และย้ายมาทำกิจการที่ถนนเลขที่ 1266 เจริญกรุง ใน พ.ศ. 2493

ทั้งสองคนมองว่าไม่ได้อยากเป็นพ่อค้าอย่างเดียว แต่อยากขายสรรพสินค้าที่ทำให้เมืองไทยโมเดิร์นขึ้น จึงเริ่มจากการขายหนังสือและนิตยสารจากต่างประเทศ จากนั้นก็นำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศอื่นๆ มาจำหน่าย ทั้งสินค้าแฟชั่นและเครื่องสำอางจากฝรั่งเศส สเวตเตอร์ขนสัตว์ เสื้อสปอร์ต ถุงเท้า เปตติโคท เนกไท โบว์ไท บัตร ส.ค.ส. ของอเมริกัน เครื่องเล่นจากอังกฤษ ของชำ และข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือนอื่นๆ ในยุคนั้น

ทั้งชาวกรุงเทพฯ และชาวต่างชาติมักจะมาที่นี่เพื่อซื้อสินค้านำเข้าหรือมองหาไอเดียและแรงบันดาลใหม่ๆ จากต่างประเทศ มากกว่าเพื่อการจับจ่ายใช้สอย เซ็นทรัล เทรดดิ้ง จึงเปรียบเป็นประตูสู่โลกกว้างและแหล่งวัฒนธรรมนานาชาติสำหรับชาวไทย

ทายาทรุ่น 4 จิราธิวัฒน์กับการปั้นสาขาใหม่ด้วยโจทย์ใหม่ Central : The Original Store จากเซ็นทรัลสาขาแรก, เต้-บรม พิจารณ์จิตร

อาคารดั้งเดิมมีลักษณะเป็น Shop House ชั้นบนเป็นที่นอน ชั้นล่างเป็นร้านค้า นอกจากขายของเบ็ดเตล็ดแล้วยังขายกาแฟและอาหารตามสั่ง ทำให้ห้างเซ็นทรัลสาขาแรกนี้จึงกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญในยุคแรกที่ความทันสมัยย่างกรายเข้ามา

ตั้งชื่อภาษาจีนว่า ตงหยาง (中 央) ที่แปลว่า ศูนย์กลาง

ภาษาอังกฤษคือ เซ็นทรัล (Central)

Central of Neighborhood 

หากสังเกตจะเห็นว่า ทุกสาขาของเซ็นทรัลมักต่อด้วยชื่อย่านเสมอ เซ็นทรัล ลาดพร้าว เซ็นทรัล บางนา เซ็นทรัล สีลม เพราะการพัฒนาชีวิตผู้คนในแต่ละย่านเป็นหัวใจของเซ็นทรัล

แม้ เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ จะมีลุคแตกต่างจากเซ็นทรัลสาขาอื่น แต่เต้บอกว่า “สำหรับผม โครงการนี้ไม่ได้ต่างจากที่เคยทำมาในอดีตเลย เรายังคงทำสิ่งเดิม แก่นเดิมคือ เริ่มจากการตั้งคำถามว่าเราจะพัฒนาชีวิตผู้คนและย่านนี้ได้อย่างไร” 

ทายาทรุ่น 4 จิราธิวัฒน์กับการปั้นสาขาใหม่ด้วยโจทย์ใหม่ Central : The Original Store จากเซ็นทรัลสาขาแรก, เต้-บรม พิจารณ์จิตร

ดังนั้น สาขาที่รีโนเวตจากอาคารเก่าในพื้นที่ 1,200 ตารางเมตรนี้ จึงไม่ต่างจากสาขาที่เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ สิ่งที่แตกต่างออกไป คือการตีโจทย์ให้เหมาะสมกับพื้นที่และคนในเจริญกรุง เพื่อสร้างคุณค่าใหม่สำหรับดึงผู้คนและนักลงทุนเข้ามาในย่านนี้เพิ่มขึ้น 

การคิดคอนเซปต์จึงเริ่มต้นจากย่าน ซึ่งเต้เล็งเห็นความพิเศษของพื้นที่บริเวณนี้

“ย่านนี้คือ Creative District ดังนั้น Let’s do something creative.” 

Modern Context in Old Space

การจำลองให้เหมือนสาขาแรกเป๊ะไม่ใช่ตัวเลือกของเต้ สำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่ เขาเชื่อว่าเราไม่สามารถลอกเลียนแบบสิ่งที่มีคุณค่าในอดีตให้ออกมาเหมือนเดิมทุกประการอยู่แล้ว

“สิ่งที่เราทำ คือ Build Something from the past in the context of the modern day. เราอยากคงสปิริตของอดีตไว้ มีกลิ่นอายของวันเก่า แต่ไม่ลอกเลียนแบบมาทั้งหมด ไม่อยากทำสิ่งที่เห็นกันบ่อยแล้วจากยุคนั้น อะไรที่สวยงามในอดีตก็เก็บไว้ในอดีต อยากปรับให้เข้ากับบริบทความเป็นโมเดิร์นในวันข้างหน้ามากกว่า”

The Original Store จึงเป็นการผสมผสานโลกใบเก่าและใหม่เข้าด้วยกัน สร้างสิ่งใหม่ในพื้นที่เก่า คงโครงสร้างพื้นฐานของตึกเก่าไว้ กิมมิกเล็กจิ๋วที่ไม่เกินจะสังเกตเห็นก็เช่นอิฐ Terracotta ที่ถอดแบบจากเซ็นทรัล ชิดลม ซึ่งเป็นสาขาเก่าแก่ เพื่อเล่าเรื่องการเติบโตของเซ็นทรัลในยุคก่อตั้งที่ผ่านมา พร้อมกับสร้างประสบการณ์และคุณค่าใหม่ให้เหมาะกับเจริญกรุงที่กำลังเติบโตเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative District) ซึ่งเต็มไปด้วยร้านอาหาร คาเฟ่ แกลเลอรี่ และโรงแรมบูติกเปิดใหม่ 

เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ ถือเป็นการนำตำนานแห่งเซ็นทรัลจากยุค 1950 กลับมาในรูปแบบทันสมัย เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมแห่งใหม่ที่นำเสนอนิตยสารและหนังสือในบริบทของยุค สินค้าที่ระลึก นิทรรศการ ห้องสมุดและศูนย์บริการค้นคว้าข้อมูล พื้นที่จัดกิจกรรม ร้านอาหาร คาเฟ่ และบาร์ดนตรี เป็นสถานที่แฮงเอาต์ เพื่อจุดประกายไอเดียและแรงบันดาลใจให้ชาวกรุงเทพฯ ยุคใหม่

Collective Experience that Goes Beyond Shopping

จากจุดเริ่มต้นที่เป็น Bookstore ขายหนังสือนำเข้าจากต่างประเทศ ก่อนจะขยับขยายจำหน่ายสินค้าหลากหลาย ในวันนี้ชั้นล่างสุดของ เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ จึงถูกตั้งใจทำให้เป็นร้านค้าจำหน่ายนิตยสารวินเทจ หนังสือไลฟ์สไตล์เกี่ยวกับยุค 1950 – 1970 ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก คาเฟ่ และบาร์แจ๊ส เพื่อถ่ายทอดประวัติศาสตร์ของร้านค้าแห่งนี้เมื่อหลายสิบปีก่อน

เมื่อเดินขึ้นบันไดไปชั้น 2 จะพบเดอะ โคโลฟอน รีเทล ไลบรารี่ (The Kolophon Retail Library) ที่นอกจากมีหนังสือนับพันเล่มยังเป็นฐานข้อมูลดิจิทัลของแวดวงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทั้งอาหาร การออกแบบ ศิลปะ แฟชั่น ธุรกิจ ฯลฯ แล้ว เป็นห้องสมุดแห่งแรกในกรุงเทพฯ ที่เป็นคลังข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะ ทั้งยังมีบริการค้นคว้าข้อมูลเชิงลึก เป็นศูนย์กลางความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ธุรกิจและงานออกแบบตกแต่งร้านค้าอีกด้วย

หากอยากซึมซับเรื่องราวในเจริญกรุงเพิ่มเติม ชั้น 3 และชั้น 4 คือพื้นที่จัดนิทรรศการและกิจกรรม Central Space ชั้น 3 เป็นทั้งพื้นที่จัดนิทรรศการหมุนเวียนเรื่องราวประวัติเซ็นทรัล และเป็นที่จัดนิทรรศการชั่วคราวอื่นๆ นิทรรศการปัจจุบันใน Central Space คือ ‘The Origins of Central Since 1950’ บอกเล่าประวัติศาสตร์ของกลุ่มเซ็นทรัลตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท เซ็นทรัล เทรดดิ้ง จำกัด จนกระทั่งขยายกิจการสู่ต่างประเทศ ส่วนชั้น 4 จะเป็นพื้นที่เปิดกว้างในการจัดแสดงนิทรรศการและอีเวนต์หมุนเวียน สำหรับใครก็ตามที่อยากจะริเริ่มสร้างสรรค์ 

เมื่อเต็มอิ่มกับเนื้อหาแล้ว ที่ชั้น 5 ยังสามารถแวะชิมเมนูอาหารไทยจากสูตรอาหารในหนังสือเก่านับพันเล่มซึ่งสะสมโดย เดวิด ทอมป์สัน (David Thompson) เชฟชาวออสเตรเลียแห่งร้านอาหาร Aksorn ผู้จะนำเสนออาหารไทยสูตรดั้งเดิมจากศตวรรษที่ 20 ตอนกลางให้คนใน พ.ศ. นี้ได้สัมผัสรสชาติอย่างเก่าก่อน

และยังมี SIWILAI Café ที่คอร์ตยาร์ดชั้นล่างสุด ซึ่งให้ความรู้สึกแตกต่างเมื่อมาคนละเวลากัน

กลางวันเป็นคาเฟ่ขายกาแฟในรูปแบบที่โมเดิร์นกว่าร้านกาแฟดั้งเดิมในร้านชำ

กลางคืนจะสลัดคราบร้านกาแฟเป็น SIWILAI SOUND CLUB เปิดแผ่นเสียงเก่าที่สะสมเอาไว้ เหมาะสำหรับดื่มด่ำค่ำคืนในบรรยากาศ Midnight at Charoenkrung ไม่ต่างจากคืนวันเก่าๆ ในยุค 90 ที่เซ็นทรัล สีลมคอมเพล็กซ์ เปิด Music Room ครั้งแรก

เหมือนได้ย้อนเวลากลับไปในอดีตโดยยังอยู่กับปัจจุบัน

Souvenir of Life 

เต้ให้คำนิยามว่า ที่นี่ไม่ได้เป็น Shopping Destination แต่ขาย Souvenir มากกว่าของที่ระลึกจากทั้งเรื่องราวของเซ็นทรัลและคนในย่าน

การคิดคอนเซปต์ให้ Beyond Shopping ได้นั้นมาจากการเรียนรู้หลายศาสตร์ ต้องเรียนรู้ Beyond Classroom และ Beyond Interest 

“ผมพยายามเก็บอาวุธให้ได้เยอะที่สุด ทั้งด้านการเงิน เศรษฐศาสตร์ ความคิดสร้างสรรค์ บางวิชาเราไม่ได้ชอบเรียนมาก แต่เรียนเพราะรู้ว่าต้องใช้ ไม่ใช่แค่เสพทุกอย่างที่เราชอบ ชอบไม่ชอบก็เสพหมด ประสบการณ์นอกห้องเรียนอย่างการเที่ยวช่วยให้เราซึมซับวงการดีไซน์และรีเทล ได้สัมผัสวัฒนธรรมของที่อื่น แล้วเอามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของเราได้”

เมื่อเก็บชั่วโมงบินสะสมความรู้หลายปี จึงรอบรู้จนคุยกับทุกวงการได้ ทั้งดีไซน์ ดนตรี ศิลปะ สำหรับเต้ หากอยากทำธุรกิจ ไม่จำเป็นต้องเลือกจบตรงสายธุรกิจอย่างเดียว เพราะมีศาสตร์อีกหลายอย่างที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจ 

แต่เมื่อรู้กว้างแล้วยังไม่พอ เขาว่าต้องคิดไกลด้วย

“เราคิดว่าทำยังไงให้ลูกค้ามาหาเราได้หลายครั้ง หลายเหตุผล ไม่ใช่แค่อาทิตย์หนึ่งมาได้ครั้งเดียว เลยมีกิจกรรมหลายอย่างเพื่อตอบโจทย์ กลางวันมาคาเฟ่ มาช้อปปิ้งได้ กลางคืนมาดินเนอร์หรือดื่มกับเพื่อนได้”

กิจกรรมและสินค้าที่นี่ยังสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ทั้งของที่ระลึก หนังสือ นิตยสาร วงดนตรี เมนูใหม่
การ Collaborate กับเชฟรับเชิญพิเศษ กิจกรรม Book Signing นิทรรศการและอีเวนต์ สร้างสรรค์ที่ไม่หยุดนิ่งเหมือนย่านในเมืองที่ไม่เคยหยุดโต 

ทายาทรุ่น 4 จิราธิวัฒน์กับการปั้นสาขาใหม่ด้วยโจทย์ใหม่ Central : The Original Store จากเซ็นทรัลสาขาแรก, เต้-บรม พิจารณ์จิตร
ทายาทรุ่น 4 จิราธิวัฒน์กับการปั้นสาขาใหม่ด้วยโจทย์ใหม่ Central : The Original Store จากเซ็นทรัลสาขาแรก, เต้-บรม พิจารณ์จิตร

Switch On-Off Family Mode 

สำหรับการจัดการกับความท้าทายการรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวนั้น เต้ให้ความเห็นว่าสิ่งสำคัญคือ การแยกแยะความสัมพันธ์ส่วนตัวของครอบครัวกับเรื่องการทำงานออกจากกันให้ได้ การเป็นครอบครัวทำให้มีความใกล้ชิด แต่เมื่อถึงเวลางานคืองานต้องมีวินัยทางอารมณ์ (Emotional Discipline) ไม่เอามาปะปนกัน 

“เราสามารถเถียงกันในห้องประชุมแล้วไปกินข้าวด้วยกันต่อ ต้องเข้าใจว่าอะไรคืออะไร”

เหนือสิ่งอื่นใด การสร้างวินัยเหมือนการฝึกกล้ามเนื้อที่ควรออกกำลังกายให้แข็งแรงเป็นประจำ จึงจะพร้อมในวันที่ลงสนามจริง เต้เล่าความหลังให้ฟังว่า “ถ้าคนเราขี้เกียจมาตลอด พอจะเริ่มมีวินัยตอนสามสิบ มันยาก ตอนเด็กๆ ผมทำงานตลอด ช่วงปิดเทอมก็มาทำงานที่ห้าง เสิร์ฟน้ำ ขายของ เปลี่ยนร้านไปเรื่อยๆ มานั่งรอแม่ตอนห้างปิด ซึมซับสายเลือดพ่อค้าแม่ค้า” 

การเติบโตกับเซ็นทรัลมาตลอดช่วยให้เต้เห็นภาพวัฒนธรรมองค์กรและพร้อมเมื่อต้องมาทำงานจริง
นอกจากนี้ ยังต้องรู้จัก เปิด-ปิดสวิตช์ความเครียดในงานด้วย สำหรับเต้ เขาบอกว่า 

“เมื่อประชุมเสร็จ ผมทิ้งเรื่องกังวลทั้งหมดไว้ข้างหลัง หมดวันก็จบ ถ้าคนไม่มีวินัยด้านความเครียด จะกังวลเรื่องงานมากเกินไปจนเป็นไมเกรนบ้าง ป่วยบ้าง” 

การทำงานจึงควรมีวินัยหลายมิติ ทั้งวินัยด้านอารมณ์ วินัยด้านการเงิน วินัยการทำงาน ต้องรู้ว่าจะสวมบทบาทใดตอนไหน… นักธุรกิจของบริษัท หรือลูกหลานของครอบครัว

 No End to This Long Road

“ไม่รู้ทำไมคนถึงกลัวความเหนื่อย ความยากในการทำงาน เพราะสำหรับผมค่อนข้างรู้สึกสนุกกับงาน” เต้เล่าว่าเขาสนุกกับเส้นทางระหว่างเดินทางไปถึงจุดหมาย ไม่มีถนนสายใดที่ตัน ทุกอย่างต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ

“อายุยี่สิบ สามสิบ เลือกทำอะไรก็ได้ เรียนรู้ทุกอย่าง ลองผิดลองถูก 

“สามสิบ สี่สิบ ต้องรู้ว่าเราอยากไปไหน แล้วลงลึกในสิ่งนั้น 

“สี่สิบ ห้าสิบ เริ่มมั่นคง พัฒนาและต่อยอด

ทายาทรุ่น 4 จิราธิวัฒน์กับการปั้นสาขาใหม่ด้วยโจทย์ใหม่ Central : The Original Store จากเซ็นทรัลสาขาแรก, เต้-บรม พิจารณ์จิตร
ทายาทรุ่น 4 จิราธิวัฒน์กับการปั้นสาขาใหม่ด้วยโจทย์ใหม่ Central : The Original Store จากเซ็นทรัลสาขาแรก, เต้-บรม พิจารณ์จิตร

“ระยะเวลาเจ็ดสิบกว่าปีของเซ็นทรัลนั้น เราต้องคิดค้นสิ่งใหม่อยู่เสมอ ซึ่งการจะคิดสิ่งใหม่ได้ ต้องทำงานหนัก Stay Hungry, Stay Foolish ไม่ใช่แค่ทำเพื่อทำ วัฒนธรรมการทำงานของเซ็นทรัล คือทุกคนต้องมีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย มีแรงผลักดันจากตัวเอง ในการทำงานหนักเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ผสานอยู่ทั้งในวัฒนธรรมองค์กรและวัฒนธรรมครอบครัว เป็นดั่งคติประจำใจในการทำงานของบริษัทมาตั้งแต่สมัยคุณเตียง ผู้ก่อตั้งที่ทุ่มเททำงานหนักกว่าคนอื่นจนประสบความสำเร็จเป็นตัวอย่างให้เห็นเรื่อยมา” 

สำหรับเต้ เขาบอกว่า งานคือไลฟ์สไตล์

“การทำงานมีทั้งวันที่สนุก วันที่ซีเรียส แต่ก็เป็นการเดินทางแสนยอดเยี่ยมที่เราตั้งใจแล้วว่าจะเดินทางไป ทุกคนต้องหาสมดุลของตัวเอง” 

Keep Vision Alives

เซ็นทรัลเป็นเครือบริษัทที่ใหญ่และมีพนักงานเยอะมาก ในฐานะคนหนึ่งที่เป็นทายาท เต้บอกว่า “เราต้องรู้ว่าตัวเราสร้างคุณค่าอะไรที่แตกต่างให้กับเซ็นทรัลได้ โดยยังคงสืบทอดวิสัยทัศน์เดิม คือการผลักดันเมืองไทยให้มีความโมเดิร์นขึ้นและยังคงเอกลักษณ์ของย่านไว้ได้ ไม่ได้คิดเรื่องกำไรเท่านั้น แต่คำนึงถึงสังคมไปด้วย”

สมัยก่อน คุณเตียงเป็นคนทำงานหนัก ยามค่ำคืนที่ทุกคนนอนหมดแล้ว มักนั่งทำงานโดยจุดตะเกียงที่มีแสงส่องนวลตอนกลางคืนเอาไว้ ที่ เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ จึงออกแบบไฟที่ตู้หนังสือให้มีแสงนวลเหมือนตะเกียงที่

คุณเตียงชอบใช้ทำงานยามค่ำคืน 

หากการทำธุรกิจเปรียบเป็นการเดินทางบนถนนเส้นหนึ่ง การเดินทางไกลจะราบรื่นได้ ต้องมีแสงนำทางอยู่ตลอดเส้นทาง

สิ่งที่ธุรกิจเชื่อมั่น สิ่งที่เป็นหัวใจของธุรกิจ ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี แสงนั้นก็ไม่เคยหรี่หายไปไหน

จากถนนสายแรกที่เริ่มกิจการแรกในวันนั้น ในวันนี้เซ็นทรัลยังคง Keep vision alives สร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เต้ใช้คำว่า “Making my own mark in my own way.” 

หากไปเยี่ยมเจริญกรุง เรายังคงเห็นแสงไฟดวงเดิมจากที่เดิม ส่องแสงนวลกลางย่านสร้างสรรค์อันเก่าแก่ ที่แม้เวลาเปลี่ยน พื้นที่เปลี่ยน แต่แก่นของสถานที่แห่งนั้นไม่เปลี่ยนไปเลย

Writer

Avatar

รตา มนตรีวัต

อดีตสาวอักษรผู้โตมาในร้านขายหวายอายุ 100 กว่าปีย่านเมืองเก่า เป็นคนสดใสเหมือนดอกทานตะวัน สะสมแรงบันดาลใจไว้ในบล็อคชื่อ My Sunflower Thought ขับรถสีแดงชื่อ Cherry Tomato ระหว่างวันทำงานในโลกธุรกิจ เวลาว่างซาบซึ้งในศิลปะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล